เสขิยธรรม -
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
สร้างวัดง่ายกว่าสร้างมหาวิทยาลัย
พระเทพโสภณ อธิการบดี มจร.

เรื่องและภาพ ไตรเทพ สุทธิคุณ
นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖

 

          พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เจ้าคณะภาค ๒ เป็นผู้นำกองทัพธรรมในการพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา โดยท่านได้นำหลักสูตรการเรียนการสอนออกสู่เมืองพุทธ ในเกาหลีใต้ ไต้หวัน ซึ่งท่านยังเป็นห่วงการเปลี่ยนศาสนา ที่น่าหวาดหวั่นมาก เพราะกลุ่มเผยแพร่ศาสนาที่ใช้วิธีการ ต่างๆ เปลี่ยนพุทธศาสนิกชน ถือว่าเป็นผลกระทบต่อประเทศ และชุมชนชาวพุทธมากที่สุด จำนวนพุทธศาสนิกชน ในบางประเทศลดน้อยลง วัฒนธรรมพุทธถูกทำลาย ด้วยเหตุนี้เองจึงได้ดำเนินการสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ รองรับพระสงฆ์มาเรียนได้ถึง ๑๐,๐๐๐ รูป

          นอกจากนี้ท่านยังอธิบายถึงการสร้างวัตถุมงคล ว่าเป็นสิ่งเดียวของคนไทยที่ต้องมีไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แทนพระพุทธเจ้า เนื่องจากประเทศไทยไม่มีต้นโพธิ์พันปี หรือพระบรมสารีริกธาตุในการนำมาเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ท่านได้ให้สัมภาษณ์แบบ คม ชัด ลึก ดังนี้..

 

ความคืบหน้าการสร้างมหาจุฬาฯ ที่วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยาเป็นอย่างไรบ้าง?

          โครงการจัดสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จ พระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร นั้น มีความคืบหน้า ของการก่อสร้างเสร็จสิ้นไปแล้วประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ สำนักงานอธิการบดี หอสมุดก็เหลือแค่การตกแต่งเพียงเล็กน้อย โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างอาคารเรียนรวม และหอฉัน ส่วนที่ยังขาดงบประมาณในการสร้างคือหอประชุมและกุฏิสงฆ์ แต่ได้มีผู้เสนอความจำนงสมทบทุนสร้างในบางส่วนแล้ว

พระสงฆ์ที่ไปเรียนจะพักประจำหรือต้องกลับวัด?

          อาตมาคาดการณ์ในปีหน้าสำนักงานอธิการบดีเสร็จ หอสมุดเสร็จ แล้วอาคารอื่นๆ ประมาณอีก ๔ หลังเสร็จแล้ว จะเปิดการเรียนการสอนได้ในต้นปี ๒๕๔๙ พระสงฆ์พัก ประจำประมาณ ๕,๐๐๐ รูป หรือ ประมาณ ๑ ใน ๓ ส่วนที่เหลือจะจำวัดอยู่ที่ใดก็ได้ หากหอฉันเสร็จก็จะมีการเรียน การสอนตลอดทั้งวัน เพราะปัจจุบันมีการเรียนการสอน เฉพาะภาคบ่าย เพื่อเป็นการตัดปัญหาในเรื่องของการฉันเพล ของพระสงฆ์ออกไป

งบประมาณในการก่อสร้าง มจร.มาจากไหนบ้าง?

          รัฐให้เพียง ๔๐% ที่เหลือมาจากการบริจาค ที่ดินได้การบริจาค มาจาก น.พ.รัศมี และนางสมปอง วรรณิสสร เจ้าของโรงพยาบาลสยาม ได้ถวายที่ดิน เนื้อที่ ๘๔ ไร่ ๑ งาน ๓๗ ตารางวา พระวิสุทธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม อุปถัมภ์สร้างหอฉัน จากเงินบูชา พระกริ่งจักรพรรดิ มูลค่า ๘๕ ล้านบาท

          อาคารหอสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ สมเด็จพระมหา รัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญให้ทุนก่อสร้าง ๖๕ ล้านบาท หลวงพ่อปัญญา เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ อุปถัมภ์สร้าง อาคารหอพักอาคันตุกะ ๔๒ ล้าน อาคารพิพิธภัณฑ์หอพระไตรปิฎก อยู่ในการอุปถัมภ์ของโยมยุวรี เอื้อกาญจนวิไล งบก่อสร้าง ๓๙ ล้านบาท

          ส่วนอาคารหอประชุม มวก. ๔๘ พรรษา มหาวชิราลงกรณ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า ๒๐๐ ล้านบาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระราชทานแต่งตั้ง ให้นายสิทธิกร บุญฉิม เป็นประธานจัดหาทุน ตามคำกราบบังคมทูล ของ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๖ ปรากฏตามหลักฐานหนังสือ มจร. ที่ ศธ ๑๗๐๐/๑๖๐ ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๖

          อย่างไรก็ตามอาตมาคิดว่าการสร้างวัดง่ายกว่าสร้างมหาวิทยาลัย เพราะว่าค่านิยมคนไทยสร้างโบสถ์ทุกคนก็อยากสร้าง สร้างศาลา การเปรียญทุกคนก็อยากสร้าง และการจะสร้างวัดก็จะมีจิตศรัทธา จะร่วมกันสร้างเป็นเรื่องเป็นราวได้เร็วกว่า

ความศรัทธาในการทำบุญสร้างมหาจุฬาฯ เกิดจากอะไรครับ?

          อาตมาคิดว่าไม่แปลก เพราะญาติโยมอาจมองเห็นว่า ทางมหาจุฬาฯ นั้นได้มีความตั้งใจในการก่อสร้างมหาวิทยาลัยให้กับพระสงฆ์ได้ศึกษา ส่วนเงินที่ได้รับบริจาคมาจากญาติโยมก็จะต้องมีการจัดสรรให้เป็น ระบบแบบมืออาชีพ การบริหารก็จะมีการทำเป็นระบบร่วมกับสาขาในประเทศกว่า ๒๐ แห่ง

ขอบเขตการสอนของมหาจุฬาฯ มีข้อจำกัดอะไรบ้างครับ?

          การเรียนการสอนที่พระสงฆ์เรียนแล้วไม่เหมาะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแขนงวิชาชีพ ไม่ว่าจะ แพทย์ พยาบาล หรือเป็นช่าง สถาปนิก จิตรกรรม วิชาเหล่านี้หากเรียนเพื่อ ต้องการความรู้เรียนได้ แต่ถ้าให้นำไปปฏิบัติคงไม่เหมาะสม อาตมาจะยกตัวอย่างให้เห็นอย่างเช่น การเรียนกฎหมาย แต่ถ้าต้องไปว่าความแล้วต้องเรียนภาคปฏิบัติด้วยทางมหาจุฬาฯ ก็จะไม่สอน ส่วนอัตราค่าหน่วยกิตก็จะไม่แตกต่างจากมหาวิทยาลัย รามคำแหงประมาณ ๒๕ บาทต่อ ๑ หน่วยกิต

          นอกจากนี้แล้วยังมีสถาบันสมทบเช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เขาก็ใช้เงินของเขาบริหาร เพียงแต่ใช้หลักสูตรการเรียนการสอน ของมหาจุฬาฯ โดยมีการแปลเป็นภาษาของประเทศเขา ทางมหาจุฬาฯ ยังจัดส่งพระอาจารย์วิชากรรมฐานไปสอนให้ด้วย พระที่สำเร็จการศึกษา ทางภาครัฐได้ตีค่าไว้แล้วว่ามีสิทธิเท่าเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ของรัฐ

การสร้างวัตถุมงคลเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างไร?

          การสร้างพระพุทธรูปจะองค์เล็กองค์ใหญ่ ก็ถือว่าเป็นการเผยแพร่ พระพุทธศาสนาได้เช่นกัน ถ้าเราไปดูตั้งแต่พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน อะไรจึงจะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ก็คือให้คนได้ยึดเหนี่ยวจิตใจ

สิ่งที่พุทธศาสนิกชนนับถือว่าเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้ามีอะไรบ้างครับ?

          ของบูชาในภาษาบาลีเขาเรียกเจดีย์ทั้งหมด จะแตกต่างจากภาษาไทย คำว่าเจดีย์ไม่ได้หมายถึงเจดีย์แหลมๆ แต่ในที่นี้เขาหมายถึงสิ่งที่เคารพบูชา ซึ่งเจดีย์จะมีอยู่ ๔ อย่าง

๑.พระธาตุเจดีย์ คือพระบรมสารีริกธาตุ

๒.บริโภคเจดีย์ ก็คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าเคยใช้สอย เช่นต้นโพธิ์

๓.สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนก็คือ ธรรมเจดีย์

๔.รูปเหมือนก็คือ อุเทษิกเจดีย์

          ในการนับถือบูชาองค์แทนพระพุทธเจ้าต่างกัน ประเทศศรีลังกานับถือต้นโพธิ์ พระธาตุเขี้ยวแก้วแทนพระพุทธเจ้า จึงไม่ค่อยสนใจพระพุทธรูป พม่าไหว้เจดีย์จริง ทั้งเมืองมีเจดีย์เต็มไปหมด คืออะไรที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าไม่ว่าจะเป็นอัฐิ กระดูกก็จะนำมาไว้ในเจดีย์ นอกจากนี้แล้วพม่าก็ยังได้ทำพระธรรมเจดีย์ ก็คือพระไตรปิฎกหินอ่อนเต็มไปหมด

          ส่วนประเทศไทยจะเน้นอะไร พระบรมสารีริกธาตุเราก็ยังไม่มี ต้นโพธิ์เป็นพันๆ ปีเราก็ยังไม่มี การนับถือพระพุทธรูปหรือพระไตรปิฎก ของคนไทยจึงมีเป็นจำนวนมากกว่าประเทศอื่นๆ

สิ่งเหล่านี้ถือว่าสำคัญต่อคนชาวพุทธมากน้อยแค่ไหน?

          ก็ถ้าเราไม่มีวัตถุมงคล ต้นโพธิ์ หรือพระบรมสารีริกธาตุบูชา ไว้เป็นหลักยึด ถามว่าวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชาคุณไปไหน คนลังกาวันวิสาขบูชาไปไหว้พระธาตุ ไปไหว้ต้นโพธิ์ เมืองไทยก็จะมีการเวียนเทียน รอบโบสถ์ ก็เพราะในโบสถ์มีพระพุทธรูป ฉะนั้นจึงมีการไปไหว้พระพุทธชินราช หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อวัดไร่ขิง และเมื่อพวกเขามีหลักยึดในใจ องค์ใหญ่ๆ เอาแขวนติดตัวไม่ได้จึงสร้างพระองค์เล็ก จำลองขึ้นมา กระจายไปทั่วประเทศ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวพุทธในประเทศไทยในการใช้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ

ท่านคิดอย่างไรเมื่อวันนี้มีการสร้างวัตถุมงคลจนกลายเป็นพุทธพาณิชย์กันมากขึ้น?

          การที่จะไม่ให้เป็นพุทธพาณิชย์ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะต้องเข้าไปควบคุม หมายถึงว่าทางฝ่ายของผู้สร้างเองก็ต้องรู้ถึงวัตถุประสงค์ที่ทำวัตถุมงคลนี้เพื่ออะไร เหมือนอย่างหลวงพ่อขอม ท่านก็จะสร้างพระองค์เล็กๆ ให้คนบูชา ปัจจัยที่ได้จากการเช่า บูชาจะนำเอาไปใช้จ่ายอะไรก็ต้องระบุให้ชัดเจน

ในส่วนของอักขระเลขยันต์และพระคาถาต่างๆ ทางมหาจุฬาฯ จะช่วยกันอนุรักษ์ได้อย่างไร?

          วิชาเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการสืบทอด ทางมหาจุฬาฯ จะสืบทอดเฉพาะที่เป็นตำราที่ได้มีการบันทึกเอาได้เท่านั้น แต่ถ้าเป็นวิชา ที่ต้องมีการปฏิบัติแต่ไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรตรง นี้ทางมหาจุฬาฯ ยังเจาะเข้าไปไม่ถึง ประกอบกับบุคลากรของเรามีไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของวัดและพระเกจิอาจารย์เป็นผู้สืบทอดวิชากันไป ตามความเหมาะสมของครูบาอาจารย์

เหตุใดคนไทยส่วนหนึ่งนับถือพระพุทธมากกว่าพระธรรม?

          การนับถือแบบนี้ไม่ถือเป็นความผิดของผู้นับถือ มันเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ เองต้องช่วยกันทำความเข้าใจว่า มันมีอะไรมากกว่านี้ เพราะปัญหาและศรัทธา ต้องไปด้วยกัน ศรัทธาเป็นการดึงคนเข้าหาพระศาสนา เมื่อเกิดความศรัทธาแล้วก็พร้อมที่จะรับในเรื่องการเรียนธรรมะฟังธรรมะกันมากขึ้น

          ถ้ามีศรัทธาอย่างเดียวก็จะไม่มีความรู้ความเข้าใจว่างมงายหรือไม่งมงาย แต่หากมีแต่ปัญญาไม่มีสงสัยก็จะไม่มีปฏิบัติ ดังนั้น ศรัทธากับปัญญาต้องไปคู่กัน และถ้าเมื่อใดไปยึดติดกับความขลังความศักดิ์สิทธิ์แสดงว่ามีศรัทธามากไป ปัญญาน้อยจะกลายเป็นงมงาย แต่พวกที่มีปัญญามากไปชอบวิพากษ์วิจารณ์ธรรมะ ไม่ลงมือปฏิบัติแบบนี้ก็จะกลายเป็นเพ้อเจ้อฟุ้งซ่าน

เมื่อพระสงฆ์สนใจสร้างวัตถุมงคลมากกว่าการสอนพระธรรมถือว่าผิดวินัยสงฆ์หรือไหม?

          เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า พระที่อยู่ในวัดมีหลายประเภท เพราะ น้อยรูปที่จะมีพระสงฆ์สอนอะไรได้หลายๆ อย่าง อาตมาจะยกตัวอย่าง เช่น หลวงพ่อคูณท่านก็ยังสอนในเรื่องของการเลิกยาบ้า ยาเสพติด ซึ่งท่านก็เริ่มต้นมาจากการสร้างวัตถุมงคล แต่ภายหลังท่านก็หยุดสร้าง ก็หมายความว่าในตัวบุคคลคนหนึ่งที่จะมีความสามารถหลากหลายน้อย

          ดังนั้น พระที่อยู่ในวัดจึงต้องการหน้าที่การเผยแผ่พระพุทธศาสนา คนไหนช่วยสอน คนไหนช่วยขัดเกลา คนไหนต้องดึง เราจะเห็นได้ว่า บางวัดเน้นวัตถุมงคล บางวัดก็เน้นกรรมฐาน ก็เป็นการรับผิดชอบ ในการดึงคนเข้าวัดที่แตกต่างกันไป ซึ่งก็เหมือนการผลิตสินค้า ว่าขั้นตอนไหนต้องแปรรูป อันไหนต้องมาประกอบ จนออกมาเป็นสินค้า ก็เปรียบเหมือนคนที่ช่วงต้นๆ ต้องเอาไปวัดนี้ พอดีขึ้นก็ให้ไปอีกวัดหนึ่ง เหมือนการสร้างบ้านจะให้สร้างเสร็จตามลำพังมันก็เป็นไปไม่ได้

ท่านเป็นพระสงฆ์หนุ่ม กลัวผู้หญิงเข้ามายุ่งเกี่ยวบ้างไหม?

          สังคมเขามีความเหมาะสมอยู่แล้ว หมายความว่า สังคมพระต้องมีการปฏิบัติตัวอย่างไร การที่พระสงฆ์ก็เป็น ผู้หนึ่งที่ต้องเป็นแบบอย่างในการเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า จะเห็นได้ว่าในวัดของแต่ละวัดก็จะมีขอบเขตว่าผู้หญิงสามารถ เข้ามาได้แค่ไหน หรือแม้แต่ในมหาจุฬาฯ เองก็เหมือนกันที่ผู้หญิงก็ เข้าได้อยู่ในเขตกำหนด จริงๆ กติกามันมีวางกรอบเอาไว้หมดแล้ว จะทำได้ไม่ได้อยู่ที่พระสงฆ์เราเองมากกว่าจะเคร่งครัดระเบียบสงฆ์ได้มากน้อยแค่ไหน

ทุกวันนี้พุทธศาสนาเสื่อมลงหรือเปล่าครับ?

          ในตะวันตกตอบรับพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี ๑๖ % ที่ไม่มีศาสนาก็เข้ามานับถือศาสนาพุทธ เข้าวัดกันมากขึ้น เพียงแต่พระสงฆ์ของเราที่จะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นยังน้อยไป จะเห็นได้ว่าพระสายหลวงพ่อชาที่ออกไปเผยแผ่ศาสนาก็ได้รับการตอบรับ ได้อย่างดี ขณะเดียวกันพุทธสายเซ็น สายทิเบตนำศาสนาไปเผยแผ่ในยุโรป อเมริกา ออสเตเรียประสบความสำเร็จอย่างมาก

          การเสื่อมของพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้ทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ปัจจัยภายนอกถ้าเราทำหน้าที่แล้วมันต้านได้ ก็คือทั้งศึกษา ทั้งปฏิบัติ ทั้งเผยแผ่ ทั้งปกป้อง ฉะนั้นประเทศชาติเราจะล่มจม เอกราชจะหาย คนในประเทศจะต้องปกป้องเอกราชด้วย ศาสนาพุทธจะอยู่ได้คนภาย ในประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่ง .. .

 

ชาติภูมิพระเทพโสภณ

พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อายุ ๔๘ ปี พรรษาที่ ๒๗

ชื่อเดิม นายประยูร นามสกุล เกิดวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๘

บรรพชาเป็นสามเณร วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ณ วัดสามจุ่น ต.ดอนปรู อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี

พระอุปัชฌาย์ พระครูศรีคณานุรักษ์ วัดดอนบุปผาราม อ.ศรีประจันต์

อุปสมบท วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธร มหาเถร ป.ธ.๙) วัดสามพระยา
พระกรรมวาจาจารย์
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสร มหาเถร ป.ธ.๙) วัดชนะสงคราม
พระอนุสาวนาจารย์
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺญมหาเถร ป.ธ.๙) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

สมณศักดิ์

พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระเมธีธรรมาภรณ์

พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น พระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวรมุนี ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับพระราชทาน เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโสภณ วิมลปริยัติกิจ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

วุฒิการศึกษา

พ.ศ. ๒๕๑๒ สอบได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดสุวรรณภูมิ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

พ.ศ. ๒๕๑๓ สอบได้ ป.ธ.๓ สำนักเรียนคณะ จ.สุพรรณบุรี

พ.ศ. ๒๕๑๙ สอบได้ ป.ธ.๙ สำนักเรียนวัดประยุรวงศาวาส

พ.ศ. ๒๕๒๐ สอบได้ประโยคครูพิเศษมัธยม (พ.ม.)

พ.ศ. ๒๕๒๑ พธ.บ. (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขาปรัชญา จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๕๒๓ สำเร็จปริญญาโท (M.A.) สาขาปรัชญา จาก มหาวิทยาลัยเดลี (University of Delhi)

พ.ศ. ๒๕๒๕ สำเร็จ M.Phil. สาขาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยเดลี

พ.ศ. ๒๕๒๗ สอบได้ประกาศนียบัตรภาษาฝรั่งเศส (Diploma in French) จาก มหาวิทยาลัยเดลี

พ.ศ. ๒๕๒๘ สำเร็จปริญญาเอก (Ph.D.) สาขาปรัชญา จาก มหาวิทยาลัยเดลี

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
> นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :