พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร
กลุ่มศึกษาและติดตามปัญหาเหมืองลิกไนต์อำเภอเวียงแหง
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย
ารพัฒนาแหล่งพลังงานถือเป็นนโยบายสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐ แต่หลายครั้งโครงการพัฒนาแหล่งพลังงาน ได้นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อน แก่ประชาชนจำนวนมาก แม้ปัจจุบันจะมีข้อกำหนดให้มีการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วก็ตาม และล่าสุดจะมีความพยายามเพื่อให้มีการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ก่อนที่โครงการพัฒนาทั้งหลายจะเริ่มต้นดำเนินการ เพื่อให้สามารถเลือกทางเลือกในการพัฒนาที่ไม่มีหรือมีผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด
กรณีโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง โครงการพัฒนาแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ที่มีปริมาณสำรองในการทำเหมืองประมาณ ๑๕ ล้านตัน ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะใช้วิธีการทำเหมืองเปิด (Open cast mining) สิ่งที่น่าสนใจก็คือในที่สุดเราจะสามารถเลือกทางเลือกที่เหมาะสมได้หรือไม่ อย่างไร เพราะไม่ว่าจะเป็นกระบวนการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม(ซึ่งกำลังดำเนินการ) หรือการศึกษาเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ล้วนแล้วแต่มีข้อน่าสงสัยทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ไม่นับการนำเสนอภาพลักษณ์ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) พยายามดำเนินการมาเป็นระยะเวลากว่า ๕ ปี ทั้งความพยายามที่จะสร้างความประทับใจให้คนเวียงแหงโดยการเป็นเจ้าภาพปิดทององค์พระธาตุแสนไห พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองเวียงแหง การปรับบริเวณโดยรอบองค์พระธาตุด้วยอิฐตัวหนอน (ที่บอกว่า) เป็นผลิตผลจากขี้เถ้าถ่านหิน เพื่อแสดงให้คนเวียงแหงเห็นว่าแม้แต่ขี้เถ้าที่รู้กันโดยทั่วไปว่าแย่ที่สุดที่ไม่มีใครอยากได้ก็ยังเป็นประโยชน์ รวมถึงการพาผู้นำในเวียงแหงไปศึกษาดูงาน (ส่วนที่ดีเพียงด้านเดียวของ) เหมืองถ่านหินแม่เมาะ ซึ่งต้องลงท้ายด้วยการพาไปเที่ยวชายหาดที่พัทยา (ซึ่งดูอย่างไรก็ไม่เกี่ยวข้องกันเลย) ทุกครั้งไป
โครงการการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ จากโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ของศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อมเขต ๑๐ ลำปาง โดยนายชัชวาลย์ จันทรวิจิตร หากดูผิวเผินจะเห็นว่าเป็นโครงการน่าสนใจ คงจะนำผลการวิจัยมาเป็นทางเลือกที่ทุกฝ่ายยอมรับ แต่หากดูโครงการโดยละเอียดแล้วก็ยิ่งน่าเป็นห่วง ว่าโครงการนี้จะเป็นเครื่องมือให้รัฐ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) นำมาเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรม และการยอมรับ ในการดำเนินโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหงมากยิ่งขึ้น
มีข้อสังเกตสำหรับโครงการวิจัยการกำหนดขอบเขต และแนวทาง การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ จากโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง จ.เชียงใหม่ อยู่ ๓ ประการ คือ
๑. หลักการและเหตุผลในการศึกษาบางอย่าง มีข้อสรุปที่เป็นงานวิจัยกรณีเมืองถ่านหินลิกไนต์แล้วหลายกรณี โดยเฉพาะเหมืองถ่านหินที่แม่เมาะ
๒. โครงการวิจัยมีข้อสรุปแล้วว่ามีเหมืองถ่านหินเวียงแหงแน่นอน
๓. โครงการวิจัยเป็นเพียงการศึกษาเพื่อหารูปแบบและกระบวนการ เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจดำเนินโครงการพัฒนาในอนาคต (ไม่ใช่เลือกทางเลือกกรณีเหมืองถ่านหินเวียงแหง)
ประการที่หนึ่งที่ว่า หลักการและเหตุผลในการศึกษาบางอย่าง มีข้อสรุปที่เป็นงานวิจัยกรณีเมืองถ่านหินลิกไนต์แล้วหลายกรณี โดยเฉพาะเหมืองถ่านหินที่แม่เมาะ นั้น เพราะโครงการวิจัยสรุปในหัวข้อความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๑ หน้า ๒) ในลักษณะที่ยังเป็นเพียงข้อสงสัยเท่านั้น ว่า "การทำเหมืองในลักษณะอย่างนี้อาจทำให้เกิดปัญหาน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ ทำให้เกิดฝุ่น และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก่อให้เกิดเสียงดังจากการขุดและขนส่งแร่ นอกจากนี้ยังอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพ หรือสุขภาวะของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงประชาชนได้รับรู้ชัดเจนแล้ว จากผลสรุปงานวิจัยกรณีเหมืองถ่านหินหลายกรณีว่า การทำเหมืองถ่านหินก่อปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดอย่างแน่นอน ไม่ใช่อาจจะก่อปัญหา อย่างที่อ้าง
ประการที่สองที่ว่า โครงการวิจัยมีข้อสรุปแล้วว่ามีเหมืองเวียงแหงแน่นอน นั้น เพราะเหตุว่า โครงการได้สรุปในหัวข้อความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา(เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๑ หน้าที่ ๒ เช่นกัน) ว่า "(ระยะที่ ๑) เพื่อศึกษาถึงขอบเขตแนวทางในการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพในทุกมิติ ทั้งทางกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ และศึกษาถึงการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (ระยะที่ ๒) ในทุกมิติเพื่อจะได้สามารถป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า และเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ และเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา ตลอดจนวางแผนในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ" และวัตถุประสงค์โคงการวิจัย ข้อที่ ๔ หน้าที่ ๒ คือ "เพื่อเป็นกระบวนการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา ทั้งผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการ" ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โครงการวิจัยมีข้อสรุปเรียบร้อยแล้วว่าโครงการเหมืองเวียงแหงต้องเกิดขึ้นแน่นอน ดังนั้นจึงต้องศึกษาเพื่อหาทางป้องกันปัญหา ไม่ใช่ศึกษาเพื่อที่จะเลือกว่าจะให้โครงการเหมืองเวียงแหงเกิดขึ้นหรือไม่ นับว่าน่าเห็นใจคนเวียงแหงเละคนเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่มีสิทธิที่จะเลือกว่าจะเอาเหมืองหรือไม่เอาเหมือง ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า คนแม่เมาะมีความทุกข์ และเดือดร้อนอย่างไรจากเหมืองแม่เมาะ ที่คนแม่เมาะไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเช่นกัน
ประการสุดท้ายที่ว่า โครงการวิจัยเป็นเพียงการศึกษาเพื่อหารูปแบบและกระบวนการ เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจดำเนินโครงการพัฒนาในอนาคต (ไม่ใช่เลือกทางเลือกกรณีเหมืองถ่านหินเวียงแหง) ก็จะเห็นได้จากที่ระบุไว้ในวัตถุประสงค์ข้อที่ ๕ หน้าที่ ๒ ที่ว่า "เพื่อพัฒนารูปแบบและกระบวนการในการนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เชิงปริมาณ ได้เก่การประเมินความเสี่ยง ระบาดวิทยา พิษวิทยา และข้อมูลทางสังคมวิทยา และการมีส่วนร่วมของประชาชนมาประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจเลือกทางเลือก บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผลที่เป็นทียอมรับของทุกฝ่าย" แสดงว่า โครงการวิจัยต้องการเพียงจะพัฒนารูปแบบและกระบวนการ เพื่อการตัดสินใจเลือกทางเลือกโครงการพัฒนาในอนาคตเท่านั้น ไม่ได้มุ่งเพื่อเป็นทางเลือกแก่รัฐในการตัดสินใจในกรณีเหมืองถ่านหินเวียงแหง ว่าควรจะพัฒนาเหมืองเวียงแหงเพื่อนำถ่านหินมาใช้ประโยชน์หรือไม่ โดยวิธีการอย่างไร และเมื่อใด เป็นต้น
โดยส่วนตัวรู้สึกชื่นชมสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขมาโดยตลอด โดยเฉพาะครั้งได้ร่วมงานวิจัยการศึกษา เพื่อกำหนดเกณฑ์ประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรณีตึกสูงเมืองเชียงใหม่ (ซึ่งทำในระหว่างที่เทศบาลนครเชียงใหม่มีโครงการสร้างตึก ๑๒ ชั้น) ซึ่งเป็นเหตุให้เทศบาลนครเชียงใหม่ต้องทบทวนโครงการ แต่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง กรณีโครงการการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ จากโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง จ.เชียงใหม่ เพราะโครงการวิจัยนี้มีข้อสมุติฐานอยู่ที่เหมืองเวียงแหงเกิดขึ้นแล้ว
งานวิจัยไทบ้าน ของคณะนักวิจัยช้าวบ้านปากมูนได้ให้บทเรียนแก่สังคมนี้มากมายหลายเรื่อง คณะผู้วิจัยซึ่งเป็นชาวบ้านผู้เข้าใจบริบทของชุมชน พื้นที่ วัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น เมื่อพวกเขาได้มีโอกาสศึกษาโดยการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองแล้วนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ก็ทำให้ได้องค์ความรู้ที่เป็นจริง และที่สำคัญที่สุดคือพวกเขาได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยแล้ว ในขณะที่งานวิจัยของนักวิชาการหลายโครงการชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและองค์การอนามัยโลกจึงได้มอบรางวัลแก่งานวิจัยไทยบ้าน เพื่อยกย่องและเชิดชูความสามารถและความพยายาม ตลอดถึงองค์ความรู้ที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน เพื่อแสดงให้เห็นว่างานวิจัยไม่ใช่ของแตะต้องไม่ได้สำหรับชาวบ้านอีกต่อไป แต่งานวิจัยนั้นได้อยู่ในวิถีชีวิตมาตลอด เพียงแต่ไม่ได้นำวิทยาการวิจัยที่ลอกเลียนมาจากตะวันตกมาใช้ และการรายงานผลการวิจัยก็ไม่ได้จัดทำเป็นรูปแบบและการอ้างอิงเป็นเล่มหนังสือ แต่นำเสนอผลการวิจัยแบบท้องถิ่นเพื่อให้งานวิจัยสนองตอบท้องถิ่น โดยที่ไม่มีผลประโยชน์เรื่องขาดทุนหรือกำไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนักวิชาการที่ยึดถือทฤษฎีตะวันตกยังไม่เข้าใจ และไม่พยายามที่จะเข้าใจด้วย
งอยากให้ประชาชนได้ช่วยกันติดตามผลการวิจัยของโครงการนี้อย่างใกล้ชิด ว่าในที่สุดแล้วประโยชน์ตกอยู่กับใคร อยู่กับนักวิจัยหรืออยู่กับชาวเวียงแหงและชาวเชียงใหม่โดยรวม และในขณะเดียวกันก็ขอเรียกร้องให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) [Health Systems Research Institute (HSRI)] ในฐานะแหล่งทุน ได้ติดตามและประเมินโครงการนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งอาจให้ทุนวิจัยแก่ชาวบ้านในการศึกษาวิจัยให้เห็นข้อเท็จจริงที่อาจถูกปกปิดไว้อย่างรอบด้าน เป็นองค์ความรู้แบบชาวบ้าน เพื่อใช้เป็นข้อมูลเป็นทางเลือกในการตัดสินใจต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้คนเวียงแหงและคนเชียงใหม่ ต้องเป็นทุกข์และเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาที่ไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชน อย่างกรณีเมืองแม่เมาะ กรณีเขื่อนปากมูล กรณีเขื่อนบางประกง กรณีโรงไฟฟ้าบ่อนอกและบ้านกรูด และกรณีอื่น ๆ ที่ผ่านมา
|