เสขิยธรรม -
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ข่าวดีและข่าวร้ายสำหรับชาวพุทธ
พระไพศาล วิสาโล
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย

คอลัมน์ มองอย่างพุทธ
มติชนรายวัน วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๒๙๑ หน้า ๖

 

          เมื่อเดือนที่แล้วมีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง ซึ่งได้รับความสนใจจากสำนักข่าวชั้นนำทั่วโลก ข่าวนั้นก็คือ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ๒ แห่ง ในสหรัฐอเมริกาได้บทสรุปตรงกันอย่างมิได้นัดหมายว่า ชาวพุทธมีความสุขและความสงบใจมากกว่าคนกลุ่มอื่น ข้อสรุปดังกล่าวมิได้มาจากการทำแบบสอบถามอย่างที่มักนิยมทำกันในเวลานี้ แต่เกิดจากการตรวจสอบหรือวัดการทำงานของสมองนักวิทยาศาสตร์พบว่าในหมู่คนถือพุทธนั้น สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกที่ดีๆ จะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากกว่าสมองของคนกลุ่มอื่น ซึ่งก็หมายความว่าความสุขและความรู้สึกนึกคิดในทางบวกจะเกิดขึ้นกับคนถือพุทธมากกว่า นอกจากนั้นเขายังพบอีกว่า ชาวพุทธมีแนวโน้มจะตื่นตระหนกตกใจหรือโกรธน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น

          ฟังแล้วคนไทยอย่าเพิ่งปลื้ม เพราะชาวพุทธที่เขานำมาตรวัดสมองนี้เป็นชาวพุทธในอเมริกา และเป็นผู้ที่ชอบทำสมาธิภาวนา บทสรุปจริงๆ ของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ๒ แห่ง นี้ก็คือสมาธิภาวนานั้นช่วยให้ใจสงบ ระงับความโกรธ และควบคุมความกลัวได้ อานิสงส์ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเฉพาะเวลาทำสมาธิเท่านั้น หากยังเกิดขึ้นต่อเนื่องแม้จะเลิกทำสมาธิแล้ว

          ข้อสรุปย่อหน้าหลังนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ คนไทยหรืออย่างน้อยผู้ที่สนใจใฝ่ธรรมเขารู้มานานแล้ว แต่ดูเหมือนว่านี้จะเป็นครั้งแรกๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างชัดเจน ระหว่างสมาธิภาวนากับการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก แถมยังไปไกลถึงขั้นสรุปว่าชาวพุทธมีความสุขและใจสงบยิ่งกว่าคนกลุ่มอื่น

          ถ้าถือว่านั่นเป็นข่าวดี ข่าวร้ายก็คือเมื่อ ๒-๓ เดือนก่อน มีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งแพร่ไปทั่วโลกข่าวนี้ให้ความรู้สึกตรงข้ามกับข่าวแรก และโยงมาถึงเมืองไทยโดยตรง นั่นคือข่าวที่ว่าพระสงฆ์ไทยเป็นโรคจิตกันมากขึ้นที่ถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายก็มีไม่น้อย จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลสงฆ์ผู้หนึ่งเปิดเผยว่า มีพระสงฆ์ไทยจำนวนมากป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคเครียดและและวิตกกังวล

          คงไม่มีข่าวใดที่จะตัดกันมากเท่านี้อีกแล้ว ในดินแดนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศบริโภคนิยมสุดๆ ชาวพุทธที่นั่น(ซึ่งเกือบร้อยทั้งร้อยเป็นฆราวาส) เป็นผู้ที่มีความสุขมากกว่าใครๆ ขณะที่ในประเทศซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นเมืองพุทธ พระสงฆ์ซึ่งเป็นลักษณ์แห่งความสงบกลับมีความเครียดและปัญหาจิตใจกันมากขึ้น แม้จะไม่มีการทำสถิติพระสงฆ์ไทยที่มีปัญหาทางจิต แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าพระสงฆ์ไทยเป็นกลุ่มคนที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย ก็เป็นตัวชี้วัดระดับความเครียดของพระสงฆ์ไทยได้ไม่น้อย

          อ่านข่าวทั้งสองแล้ว คงอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับวงการพระสงฆ์ไทย? วิถีบรรพชิตน่าจะเป็นวิถีแห่งความสงบ แต่เหตุใดพระสงฆ์ไทยจึงมีปัญหาทางจิตใจกันมากขึ้น? คุณหมอแห่งโรงพยาบาลสงฆ์ตั้งข้อสังเกตว่า การเมืองในวัดและความขัดแย้งระหว่างพระสงฆ์ที่แบ่งเป็นกลุ่มๆ หรือตามภูมิลำเนา เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง

          ข้อสังเกตนี้สามารถโยงไปถึงปัญหาการปกครองสงฆ์ ไม่เฉพาะในระดับวัดเท่านั้นหากสัมพันธ์ไปถึงระดับประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปกครองสงฆ์ทุกวันนี้มิได้ใช้อำนาจเป็นหลัก เมื่อมีปัญหาใดเกิดขึ้นในวงการสงฆ์ไม่ว่าระดับใดก็ตาม วิธีที่นิยมใช้กันก็คือ การออกกฎหรือคำสั่ง(ดังกฎมหาเถรสมาคมฉบับล่าสุด ซึ่งว่ากันว่ามีขึ้นเพื่อห้ามพระเที่ยวห้างหรือใช้โทรศัพท์มือถือ) แต่นั่นยังไม่ร้ายเท่ากับปัญหาที่ว่าการใช้อำนาจนับวันจะอิงคุณธรรมน้อยลงเรื่อยๆ กลายเป็นการใช้อำนาจแบบอัตตาธิปไตย คือเอาความเห็นหรือผลประโยชน์ของผู้ปกครองเป็นหลัก

          ผลประโยชน์และเส้นสายได้มามีอิทธิพลต่อการปกครองสงฆ์ยิ่งกว่าหลักคุณธรรม ทำให้วงการสงฆ์เต็มไปด้วยการแก่งแย่งผลประโยชน์ (ตั้งแต่เงินค่าสวดไปจนถึงรายได้จากการขายวัตถุมงคลและเงินก่อสร้างโบสถ์) ยิ่งผลประโยชน์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับสมณศักดิ์และตำแหน่งปกครองด้วยแล้ว วัดและคณะสงฆ์จึงกลายเป็นวงการที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง จะขับเคี่ยวในทางสมณศักดิ์และตำแหน่งปกครอง ไม่เว้นแม้แต่ระดับเจ้าอาวาส

          การปรับปรุงการปกครองสงฆ์เพื่อให้คุณธรรมเป็นหลักยิ่งกว่าผลประโยชน์ เป็นเรื่องสำคัญการทำให้คณะสงฆ์รวมศูนย์อำนาจน้อยลง กระจายอำนาจมากขึ้น และปกครองในรูปกลุ่มบุคคลแทนที่จะอิงตัวบุคคลเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยลดระบบเส้นสาย และทำให้การปกครองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประการต่อมาคือ ทำให้คณะสงฆ์มีความโปร่งใสมากขึ้น ทั้งในด้านการบริหารและการเงินตั้งแต่ระดับวัดเข้าไป

          แต่ทำแค่นั้นหาพอไม่ สิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้คือการปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ การละเลยสมาธิภาวนา เน้นแต่ด้านปริยัติ เป็นจุดอ่อนสำคัญของการศึกษาสงฆ์ตลอด ๘๐ ปีที่ผ่านมา การที่สมาธิภาวนาขาดหายไปจากชีวิตของพระสงฆ์ ทำให้ท่านขาดความสุขประณีตที่จะมาหล่อเลี้ยงชีวิตพรหมจรรย์ และดังนั้นจึงเข้าหาความสุขทางวัตถุมากขึ้น หมกมุ่นในลาภสักการะ และถลำสู่วังวนแห่งการแก่งแย่งผลประโยชน์ รวมถึงการวิ่งเต้นในทางสมณศักดิ์ จนไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของญาติโยม

          การศึกษาที่เน้นปริยัติ หากสอนให้ผู้เรียนรู้จักคิดและสามารถนำธรรมะมาใช้กับชีวิตและสังคมได้ ก็ยังไม่นับว่าสูญเปล่า เพราะผู้เรียนสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง แต่การศึกษาของสงฆ์ในปัจจุบันเป็นปริยัติศึกษาแบบท่องจำล้วนๆ แถมเนื้อหายังล้าสมัย ห่างไกลจากชีวิตและสังคมสมัยใหม่ จึงไม่ทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจใฝ่รู้ เรียนอย่างแกนๆ เพียงเพื่อให้จบ การศึกษาแบบนี้สร้างความทุกข์ แก่พระเณรเป็นอันมากจนเป็นโรคเครียดกันมิใช่น้อย

          การศึกษาและการปกครองอย่างที่เป็นอยู่นี้แหละ ที่ทำให้พระสงฆ์ไทยทั้งหนุ่มและชราเป็นโรคเครียดกันมาก จนนำไปสู่ปัญหามากมายรวมถึงการหาทางออกที่ไม่พึงประสงค์ เช่นการหมกมุ่นกับความบันเทิงเริงรมย์จากโทรทัศน์และวีซีดี ทั้งโป๊และไม่โป๊ การเข้าหาอบายมุข การสะสมลาภสักการะ และการแย่งชิงอำนาจกันมิพักต้องพูดถึงเรื่องเอื้อฉาวต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
> นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :