เสขิยธรรม -
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

พระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิด "ธรรมยุต"

สกู๊ปศาสนา นสพ.ไทยรัฐ ปีที่ ๕๕ ฉบับที่ ๑๗๐๗๐ วันเสาร์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๗

 

          ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๗

          นับเป็นวันสำคัญของชาติและคนไทย

          เนื่องเพราะเป็นวันพระราชสมภพ ครบ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปี่ยม ไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อ ปวงชนชาวไทยและประเทศ ชาติเป็นล้นพ้น

          พระอิจฉริยภาพในด้านต่างๆ เป็นที่ปรากฏแก่สายตาชาวโลก ถึงขนาดที่องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุคคลสำคัญของโลก ประจำปี ๒๕๔๗

          ขณะที่คนไทยทั้งประเทศได้ ถวายการเทิดทูนพระเกียรติ ว่าทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” โดย คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ ๑๔ เม.ย. ๒๕๒๕ จากพระปรีชาสามารถในการทรงคำ-นวณการเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๑๘ ส.ค. ๒๔๑๑ โดยไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว นับเป็นการพิสูจน์ การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ และครั้งแรกของชาติไทยต่อชาวต่าง ประเทศ และเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจยิ่งของชาติ

          ด้าน พระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงให้ ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าด้านอื่น ด้วยทรงใฝ่พระทัยในพระพุทธศาสนา เป็นอย่างยิ่ง และ ทรงเป็นผู้ ให้กำเนิดคณะสงฆ์ธรรมยุตนิกาย ขึ้นมาในประเทศไทยด้วย

          คณะสงฆ์ไทยคณะธรรมยุต ทั่วประเทศ และวัดธรรมยุตไทยทุก ภูมิภาคทั่วโลก จึงร่วมกันจัดงานเฉลิม พระเกียรติ แด่ พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ถือเป็นการจัดงานครั้งแรกอย่างเป็นทางการของคณะสงฆ์คณะธรรมยุตไทย

          พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสครบ ๒๐๐ ปี วันพระราชสมภพ กล่าวว่า “การจัดงานเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ได้ทรง บำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณูปการแก่ พระพุทธศาสนา คณะธรรมยุต และคณะสงฆ์ทั่วไป และประเทศชาติ โดยเฉพาะงานด้านพระศาสนา ทรงพระราชนิพนธ์ตำราต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นภาษามคธ และภาษาไทย และที่รู้จักแพร่หลายกันไปทั่วโลก คือบทสวดทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ที่พระภิกษุสามเณร และพุทธศาส�นิกชน ชาวไทยใช้สวดกันทั่วไปในปัจจุบัน

          ที่สำคัญ คือทรงแนะนำสั่งสอน คณะสงฆ์ ให้รู้จักนับถือ และปฏิบัติพระพุทธศาสนา ด้วยปัญญา หรือด้วยเหตุผล ไม่ใช่งมงาย” “สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้กัน คือ ทรงตั้งโรงพิมพ์ขึ้น ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อ พิมพ์หนังสือทางพระพุทธศาสนา นับเป็นโรงพิมพ์ของคนไทย แห่งแรกในประเทศไทย พร้อมทั้งได้ทรงประดิษฐ์ อักษรแบบใหม่ขึ้นสำหรับ ใช้แทนอักษรขอม เรียกว่า “อักษรอริยกะ” มีทั้งแบบตัว พิมพ์และตัวเขียน ใช้ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย และยังทรงพระราชดำริแบบ อักษรไทย สำหรับเขียนภาษาบาลีขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย เรียกว่าแบบ “การยุต” ซึ่งได้ใช้เป็นแบบในการพิมพ์ พระไตรปิฎกอักษรไทยครั้งแรกในประเทศไทย” พระพรหมมุนี เล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีต่อพุทธศาสนิกชนชาวไทย

          การคิดค้นหรือประดิษฐ์อักษรแบบใหม่ คืออักษรแบบไทยขึ้นใช้แทนอักษรขอม คือการ แสดงความเป็นชาติไทย ที่หมายถึงอิสระ เพราะการมีตัวอักษรของตัวเองคือสัญลักษณ์ของชาติ ที่ไม่ ต้องใช้อักษรของชาติอื่นมาเป็นอักษรประจำชาติ

          ทั้งการคิดค้นอักษรไทยสำหรับเขียนแทนอักษรภาษาบาลี การแปลภาษาบาลี เป็นภาษาไทย ทำให้ง่ายต่อความเข้าใจ และยังประโยชน์ต่อพระภิกษุสามเณรให้ศึกษาเล่าเรียน ในพระธรรมวินัย ทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระได้อย่างถูกต้องจริงจัง และเข้าใจง่าย

          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงเป็น ต้นแบบการนำ พระภิกษุสามเณรจาริก สู่ป่าเขาแสวงหาสถาน ที่วิเวกเจริญกรรมฐาน และนับเป็นจุดเริ่มต้นของพระฝ่ายกรรมฐาน ซึ่งปัจจุบันมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั้ง ในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก อาทิ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุธาวาส จ.สกลนคร พระโพธิญาณเถร (สุภัทโท) หรือหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

          นอกจากนั้นยัง ทรงเป็นผู้นำ ในการปกครองคณะสงฆ์ไทย ซึ่งเป็นแบบแผนในการปกครอง ที่ใช้กันอยู่จนทุกวันนี้ คือมี สมเด็จพระสังฆราช เป็นประมุขสงฆ์ มี เจ้าคณะใหญ่ หนเหนือ หนใต้ หนกลาง และหนตะวันออก ปกครองในแต่ละภาค

          งานเฉลิมพระเกียรติครบ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ภายใต้การขับเคลื่อนของ คณะสงฆ์คณะธรรมยุต โดย พระพรหมมุนี เป็นประธานจัดงาน พระพรหมเมธี วัดเทพศิรินทราวาส เลขาธิการคณะสงฆ์ คณะธรรมยุต พระธรรมกิตติเมธี วัดสัมพันธวงศ์ พระธรรมวรเมธี วัดราชบพิธฯ ผช.เลขาธิการฯ เป็นกำลังสำคัญประสานงานกับฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะกับรัฐบาลและมหาเถรสมาคม

          พระธรรมกิตติเมธี ในฐานะประธานฝ่ายเลขานุการ และประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า “การ จัดงานดังกล่าวถือเป็นการแสดงความกตัญญู กตเวที โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรง พระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้การจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสครบ ๒๐๐ ปี วันพระราชสมภพ อยู่ใน พระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างตราสัญลักษณ์เฉลิม พระเกียรติ ๒๐๐ ปีด้วย และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่คณะสงฆ์กับรัฐบาลประสานร่วมกันทำงาน โดยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับเป็นประธานกรรมการอำนวยการ จัดงานสมโภช ๒๐๐ ปี ในส่วนของฆราวาส จัดงานเฉลิมฉลองนี้ตั้งแต่วันที่ ๑๘-๒๔ ต.ค.นี้ ที่เมืองทองธานี”

          สำหรับคณะสงฆ์นั้น งานจะแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือส่วนของคณะธรรมยุต ซึ่งนอกจาก วัดธรรมยุตทั่วประเทศ จะจัดงานสมโภชตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ๒๕๔๗ จนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. ๒๕๔๗ แล้ว วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งถือเป็นวัด ที่พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเป็น วัดธรรมยุตวัดแรก จะมีงานสำคัญวันที่ ๑๘ ต.ค.นี้ ที่ตึกมนุษยนาควิทยาทาน โดยพระสงฆ์คณะธรรมยุต และพระสงฆ์ร่วมกันแสดง ความกตัญญูกตเวที และมีนิทรรศการแสดงถึงพระราชกรณียกิจ ทั้งในคดีทางโลกและคดีธรรม ขณะที่อีกส่วน คือ มหาเถรสมาคมร่วมเฉลิมฉลองจัดปฏิบัติธรรม ๓ วัน เริ่มวันที่ ๑๘ ต.ค. นี้ ที่พุทธมณฑล และให้วัดทั่วประเทศจัดสวดมนต์ถวายพระพรพร้อมกัน

          พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อประชาชนคนไทย รวมถึงพระปรีชาสามารถในการผสมผสาน ความเป็นเลิศทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ศีล สมาธิ กับวิทยาศาสตร์ ที่เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อย่างลงตัว ทั้งที่ศาสตร์ทั้ง ๒ ชนิด เปรียบเสมือนด้านคู่ขนานกัน

          นับเป็นโอกาสอันเป็นมหามงคล ที่คนไทยจะได้รวมพลังน้อมรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้... .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
> นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :