การควบคุมคุณภาพของภิกษุณีสงฆ์
กรณีศึกษาโครงการอบรมนวกภิกษุณี พรรษา ๒๕๔๖
ภิกษุณีธัมมนันทา*
หลายปีก่อนเมื่อผู้เขียนเดินทางไปกรุงเดลลีกับนักธุรกิจสตรีผู้หนึ่ง เธอกำลังไปศึกษาตลาดการค้าผ้าในประเทศอินเดีย ผู้เขียนได้เป็นเพื่อนไปดูการทำสินค้าหลายแห่งกับเธอด้วยความรู้สึกอึดอัดใจเล็กน้อย ทุกครั้งที่เธอหยิบสินค้าใดขึ้นมา เช่นหยิบกระเป๋ามาดู เธอก็จะรูดซิปไปมาอย่างรุนแรง จนผู้เขียนเกรงว่าเธอจะไปทำให้กระเป๋าเสีย ตอนที่แวะรับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน ก็เลยมีโอกาสถามเธอว่า ทำไมเธอต้องทดสอบอย่างรุนแรง เธออุทานว่า " อ้าว ! ก็นี่ล่ะQC." เธอหมายถึง quality control การตรวจสอบคุณภาพสินค้า ถ้ากระเป๋าใบใดที่เธอหยิบขึ้นมาทดสอบลองรูดซิปดูแล้วไม่ผ่าน เธอก็จะไม่สั่งซื้อ สินค้าที่เธอตกลงใจที่จะซื้อจะต้องเป็นสินค้าที่เธอมั่นใจแล้วมันจะต้องทนมือทนเท้า คือทนต่อการใช้งานอย่างสมบุกสมบัน
เรื่องภิกษุณีสงฆ์ก็เช่นกัน อาจจะเปรียบได้ว่าเป็นสินค้าตัวใหม่ บรรดาประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องภิกษุณีเป็นเรื่องใหม่ ผู้ที่จะก้าวเข้ามาเป็นภิกษุณีก็ต้องมีคุณภาพที่จะต้องอดทนฟันฝ่าคลื่นลมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นธรรมดาโลก ภิกษุณีสงฆ์จะต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า มีคุณค่าและทำให้สังคมมั่นใจว่า เมื่อมีภิกษุณีสงฆ์ สังคมจะได้รับประโยชน์ เมื่อนั้นภิกษุณีสงฆ์ก็จะอยู่รอดในสังคมของประเทศนั้น ๆ
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ คุณภาพของภิกษุณีสงฆ์เอง ในการที่จะได้เข้ามาฝึกฝนเรียนรู้พระวินัย สตรีผู้นั้นจะต้องผ่านการอบรมเป็นสิกขมานา (คือสามเณรีที่อบรมเข้มข้นในอนุธรรม ๖ ประการ) หลังจากนั้นจึงจะได้รับการพิจารณาอุปสมบท (คือบวชเป็นภิกษุณี) หลังจากอุปสมบทแล้ว ก็ยังต้องอบรมฝึกฝนกับอุปัชฌาย์ ซึ่งทางฝ่ายภิกษุณีเรียกว่า ปวัตตินีอีก ๒ ปี เป็นอย่างต่ำ ตรงนี้เป็นข้อแตกต่างไปจากพระภิกษุที่ต้องได้รับการอบรมจากอุปัชฌาย์ ๕ ปี แต่สำหรับพระภิกษุเมื่ออายุครบบวชก็ไม่ต้องฝึกอบรม ๒ ปีก่อนดังเช่นสิกขมานา ในบางกรณีอาจารย์จะไม่อนุญาตให้ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้น ๆ ออกไปอยู่ตามลำพังแม้หลังการอบรม ๕ ปีหรือ ๒ ปีแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง การฝึกฝนอบรมนี้ก็มิได้ถือเคร่งครัดนัก เพราะจำนวนอุปัชฌาย์ที่ได้รับการแต่งตั้งมีจำนวนจำกัด บางครั้งอุปัชฌาย์ก็ได้รับนิมนต์มาให้การอุปสมบทแล้วก็เดินทางกลับวัดของตน พวกภิกษุหรือภิกษุผู้บวชใหม่ก็มิได้ติดตามไปด้วย แต่อยู่กันตามลำพังในวัดนั้น โดยอาจจะมีพระพี่เลี้ยงเป็นผู้ดูแลอบรมสั่งสอนต่อมา การขาดการอบรมจากอุปัชฌาย์ นี่เองที่เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่มาแห่งปัญหาในวงการสงฆ์
ในกรณีของผู้เขียน หลังจากที่ได้รับอุปสัมปทาที่ประเทศศรีลังกาเมื่อ ๒๘ กพ.๒๕๔๖แล้วไม่สามารถที่จะอยู่ปรนนิบัติรับใช้อุปัชฌาย์ได้เพราะพระภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ผู้เป็นมารดาอายุ ๙๕ ปีอยู่ในวัยชราและมีสุขภาพบอบบางเต็มที แต่ก็ยังมีความเคารพในพระวินัยที่กำหนดให้นวกภิกษุณีรับใช้อุปัชฌาย์อย่างน้อย ๒ ปี โดยเฉพาะเรื่องการบวชภิกษุณีก็ยังเป็นเรื่องที่สังคมยังถกเถียงกันอยู่ ผู้เขียนตระหนักถึงความเปราะบางของสถานการณ์ จึงตั้งใจยิ่งที่จะรักษาเงื่อนไขของพระวินัยจนถึงที่สุด ขอขอบคุณพระเดชพระคุณหลวงพ่อสุมังคโลมหาเถระ เจ้าอาวาสวัดพระทองแห่งดัมบุลลา ในศรีลังกา ที่ได้เมตตาอนุญาตให้พระอาจารย์ภิกษุณีระหะตุงโคฑะ สัททา สุมนา (อุปัชฌาย์ ของผู้เขียน) ได้มาจำพรรษาที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ประเทศไทย
หลังจากที่ได้ปรึกษากับอุปัชฌาย์ถึงรายละเอียดในการฝึกอบรมแล้ว ท่านแนะว่าเราจะต้องมีภิกษุณีสงฆ์ (อย่างน้อย ๕ รูป) อยู่ด้วยกันในช่วงเข้าพรรษาเพื่อจะได้สวดปาติโมกข์ด้วยกัน การสวดปาติโมกข์ถ้าไม่เป็นสงฆ์จะทำไม่ได้ ในเมื่อเราจะต้องมีภิกษุณีสงฆ์ ผู้เขียนก็เลยคิดต่อไปว่า ในเมื่อผู้ขียนเองจะได้มีโอกาสฝึกฝนกับอุปัชฌาย์แล้ว ก็ควรจะขยายโอกาสนี้ให้กับภิกษุณีบวชใหม่อื่น ๆ ด้วยที่จะได้รับการฝึกฝนร่วมกันตามแบบเถรวาท
เป้าหมายของการอบรม
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งพระทัยที่จะประดิษฐานพระพุทธศาสนานั้น ท่านประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัท ๔ กล่าวคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกา โดยคาดหวังว่า พุทธบริษัททั้ง๔นี้จะได้ศึกษาพระธรรม และนำพระธรรมไปปฏิบัติ และประการสุดท้าย หากมีคนนอกมาจ้วงจาบก็สามารถที่จะแก้ต่างได้ คือสามารถจะแสดงความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมข้อนั้น ๆ ได้
พระพุทธองค์ยังทรงพยากรณ์ต่อไปด้วยว่า พระศาสนาจะเสื่อมเมื่อพุทธบริษัททั้ง๔ไม่เคารพยำเกรงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิกขาและสมาธิ และอีกแห่งหนึ่งทรงพยากรณ์ไว้ว่า เมื่อพุทธบริษัท๔ไม่เคารพซึ่งกันและกัน
ภิกษุณีสงฆ์จะต้องตั้งใจที่จะเข้ามารับใช้พระศาสนา รับผิดชอบภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยพระบรมศาสดา และในการที่เราแต่ละคนจะปฏิบัติหน้าที่ของเราได้เต็มที่เราจะต้องได้รับการฝึกฝนอย่างดี กล่าวคือ
๑. ภิกษุณีจะต้องรู้และปฏิบัติจริยาวัตรของภิกษุณีอย่างถูกต้อง
๒. จะต้องเป็นภิกษุณีที่ดีในการอบรมบ่มเพาะทางใจ
๓. จะต้องมีการศึกษา จะต้องรู้พระธรรมวินัย
๔. จะต้องมีความสามารถ เพื่อว่าจะได้แลกเปลี่ยนสั่งสอนในสิ่งที่ได้เรียนและปฏิบัติแก่ผู้อื่น
เมื่อมีเป้าหมายเช่นนี้ เราจึงเปิดตัวโครงการการอบรมภิกษุณีนานาชาติเป็นโครงการนำร่อง
ภิกษุณีที่อยู่ในพรรษา
เมื่อโครงการเป็นรูปเป็นร่างขึ้น วัตรทรงธรรมกัลยาณีเป็นแหล่งที่เอื้อทั้งสถานที่และสัปปายะอื่น ๆ รวมไปจนถึงการถวายค่าพาหนะสำหรับนิมนต์ภิกษุณีมาจากประเทศศรีลังกาและไต้หวัน สมาชิกชาวคณะวัตรทรงธรรมกัลยาณีให้ความสนับสนุนอย่างพร้อมเพรียง ในเรื่องการเดินทาง และ อาหาร ของฉันของพวกภิกษุณีสงฆ์ตลอดพรรษา
โครงการนี้เอื้อที่จะให้การฝึกอบรมแก่ภิกษุณีแม้ในนิกายอื่น ๆ แต่การฝึกอบรมจะเป็นการฝึกอบรมแบบเถรวาท ผู้เข้าร่วมโครงการในพรรษา ๒๕๔๖ มีพระอุปัชฌาย์จากศรีลังกาคือ ภิกษุณีระหะตุงโคทะ สัทธา สุมนา (อายุ ๖๒ ปี) ภิกษุณีสุเปชลา จากศรีลังกา (อายุ ๒๖ ปี) ภิกษุณีสันตินี จากอินโดนีเซีย (อายุ ๓๘ ปี) ภิกษุณีสุทินนา จากศรีลังกา (อายุ ๖๖ ปี) ภิกษุณีธัมมนันที จากเวียตนาม (อายุ ๓๓ ปี) ภิกษุณีธัมมนันทา จากประเทศไทย (อายุ ๕๙ ปี) สามเณรีธัมมธารี จากประเทศไทย (อายุ ๔๓ ปี)
ภิกษุณีระหะตุงโคทะ สัทธา สุมนา จากวัดดุสิตาราม เมืองเอเหลิยาโคทะ ศรีลังกาเป็นอุปัชฌาย์องค์แรกของผู้เขียน ได้รับนิมนต์มาในฐานะอาจารย์ผู้สอนพระวินัย ท่านบวชเป็นทศศีลมาตามา ๔๒ ปี และอุปสมบทที่พุทธคยาเมื่อ พศ. ๒๕๔๑ ได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในสองของอุปัชฌาย์ของศรีลังกา และได้รับนิมนต์มาร่วมในโครงการในฐานะเป็นพระอาจารย์หลักในเรื่องพระวินัย พิธีกรรม และวิถีชีวิตของภิกษุณี
ภิกษุณีสุเปชลา เป็นชาวศรีลังกา บวชรับศีล ๑๐ เป็นทศศีลมาตามาตั้งแต่วัยรุ่นและรับการอุปสัมปทาที่ไต้หวันปี พศ.๒๕๔๓ ได้เข้าร่วมในโครงการในฐานะสมาชิกโครงการ เป็นภิกษุณีที่เสียงไพเราะ ญาติโยมที่มาที่วัดพากันติดใจเวลาที่ท่านให้ศีลทุกวันอาทิตย์
ภิกษุณีสันตินี จากอินโดนิเซีย เป็นอนาคาริกา (ผู้ละบ้านเรือน) อยู่หลายปีก่อนที่จะเข้ารับพิธีอุปสัมปทาที่ไต้หวันคราวเดียวกับท่านสุเปชลา นับเป็นภิกษุณีรุ่นแรกของอินโดนิเซียที่ไปอุปสมบทคราวเดียวกัน ๓ รูป ท่านรับผิดชอบวัดภิกษุณีที่เล็มบัง และมีสำนักงานอยู่ที่เมืองหลวง และยังต้องดูแลที่ดินที่มีผู้ถวายภิกษุณีรวมอีก ๓ แห่ง ภิกษุณีสันตินีเข้าร่วมโครงการในฐานะสมาชิกโครงการผู้เข้ารับการอบรม
ภิกษุณีสุทินนาเป็นชาวศรีลังกา ได้บรรพชาเป็นสามเณรีจาก พระอาจารย์คุณรัตนะมหาเถระ จากเวอร์จิเนียตะวันตก สหรัฐอเมริกา ได้รับอุปสมบทเป็นภิกษุณีใน พศ.๒๕๔๕ ที่วัดดัมบุลลาของพระอาจารย์สุมังคโลมหาเถระ ก่อนที่จะมาบวชเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ในช่วงพรรษาก็รับหน้าที่ช่วยสอนภาษาอังกฤษให้กับสมาชิกวัตรด้วย
ภิกษุณีธัมมนันที ชาวเวียตนาม บวชเป็นแม่ชีตั้งแต่จบปริญญาตรีและไปปฏิบัติกัมมัฎฐานอยู่ที่พม่า ๙ ปี ได้รับการอุปสมบทใน พศ.๒๕๔๕ พร้อมกับท่านสุทินนาที่ศรีลังกา เข้าร่วมโครงการในฐานะสมาชิกโครงการผู้เข้ารับการอบรม
ภิกษุณีธัมมนันทา ชาวไทย ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีในศรีลังกา พศ.๒๕๔๖ เข้าร่วมโครงการในฐานะนวกภิกษุณีผู้เข้ารับการอบรมและเป็นเจ้าภาพผู้จัดการอบรม
สามเณรีธัมมธารี เป็นสามเณรีในฝ่ายเถรวาทรูปที่ ๕ ในประเทศไทย ได้รับการบรรพชาจากศรีลังกา ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เข้าร่วมการอบรมเฉพาะในชั้นเรียนภาษาอังกฤษและความรู้ทั่วไป
ภิกษุณีที่เข้ารับการอบรม เข้าร่วมทั้งในชั้นเรียนและกิจกรรมทุกประเภทที่ทางโครงการจัดให้ บางครั้งไม่มีบุคลากรเพียงพอในการแปลสำหรับภิกษุณีนานาชาติ แต่ทุกรูปมีความตั้งใจดังนั้นข้อบกพร่องเหล่านั้นจึงมิได้เป็นอุปสัคต่อการเรียนรู้ ในช่วง ๓ เดือนมีกิจกรรมการเรียนการสอนหลากหลาย ทั้งการเรียนพระวินัย การฝึกพิธีกรรม และกิจกรรมของสงฆ์ ชั้นเรียนที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเพื่อสังคมและวิชาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทัศนศึกษาอันเป็นการเสริมความรู้และประสบการณ์ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และศาสนา กิจกรรมเพิ่มเติมนอกจากนั้นเป็นงานสังคม การเรียนการสอนภาษาอังกฤษ การเย็บปักถักร้อย มารยาทกิริยา ท่าทางของนักบวช และการทำงานในสวนร่วมกันซึ่งเป็นงานที่เป็นการละวางความยึดมั่นถือมั่นในตนส่วนหนึ่ง และสร้างเอกภาพอีกส่วนหนึ่ง
การฝึกอบรมด้านพระวินัย
มีการเรียนพระวินัยวันละ ๒ ชม.ทุกเช้า พระอาจารย์สัทธา สุมนาจะอธิบายพระวินัยจากอรรถกถาซึ่งเป็นภาษาสิงหล โดยมีภิกษุณีสุทินนาช่วยแปลเป็นภาษาอังกฤษสำหรับภิกษุณีต่างชาติ อรรถกถาที่ใช้เป็นอรรถกถาพระวินัยในส่วนภิกษุปาติโมกข์ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาอรรถกถาในส่วนภิกษุณีปาติโมกข์ นอกจากนี้ยังใช้อรรถกถาพระภิกษุณีวินัยจากเทปของพระอาจารย์ภิกษุณีหวูหมิน แห่งไต้หวัน
นอกเหนือจากการเรียนพระวินัยในชั้นเรียนแล้ว พวกภิกษุณีก็ได้ฝึกอบรมการสวดพระปาติโมกข์ ภิกษุณีปาติโมกข์มีความยาวกว่าพระภิกษุปาติโมกข์ ครั้งแรกที่สวดใช้เวลาถึง ๒ ? ชม. ต่อมาสามารถสวดทำเวลาได้เร็วขึ้น แต่ก็ยังใช้เวลา ๒ ชม. ในขณะที่พระภิกษุในประเทศไทย สามารถทำเวลาสวดปาติโมกข์ภายใน ๔๕ นาที
ในช่วงท้ายพรรษา พวกภิกษุณีทุกคนได้รับโอกาสสวดปาติโมกข์ซึ่งเป็นหัวใจของการฝึกฝน การสวดปาติโมกข์ไม่ใช่สิ่งที่จะเล่าเรียนและสวดได้ในเวลาข้ามคืน และแน่นอนที่สุดมิใช่สิ่งที่จะปฏิบัติได้เองหากขาดการชี้แนะจากอาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญ การสวดปาติโมกข์จะกระทำทุก ๒ อาทิตย์ คือขึ้น/ แรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ และจะสวดได้เมื่อมีคณะสงฆ์ ๕ รูป ดังนั้นโครงการอบรมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีสำหรับพวกภิกษุณีทุกรูปที่มาจากประเทศต่าง ๆ ที่จะฝึกการสวดปาติโมกข์ ได้เรียนวิถีชีวิตตามแบบภิกษุณีที่ถูกต้องและสามารถอยู่ในคณะสงฆ์ได้อย่างราบรื่น
นอกเหนือจากการฝึกฝนอบรมการสวดพระปาติโมกข์แล้ว ยังต้องมีการนิมนต์ให้พระภิกษุผู้ใหญ่มาให้โอวาทแก่ภิกษุณีสงฆ์ด้วย ในการนี้ผู้เขียนได้ไปกราบนมัสการท่านเจ้าคุณพระประโทนเจติยาภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระประโทนซึ่งเป็นวัดที่ใกล้ที่สุด เพื่อขอให้จัดพระผู้ใหญ่มาอบรมให้โอวาทแก่ภิกษุณีตามเงื่อนไขในพระวินัย ท่านเจ้าคุณฯเมตตาส่งพระศรีธีรวงศ์ ปธ.๙ พรรษา ๒๐ รองเจ้าอาวาสผู้มีความเชี่ยวชาญในพระธรรมวินัยได้มาให้โอวาทแก่พระภิกษุณี ท่านเจ้าคุณพระศรีธีรวงศ์กรุณาให้โอวาทเป็นภาษาไทย และผู้เขียนแปลเป็นภาษาอังกฤษให้แก่คณะภิกษุณีต่างชาติ
เมื่อเสร็จสิ้นพรรษา ก็มีการจัดการรับผ้ากฐินโดยคณะภิกษุณีสงฆ์เป็นครั้งแรก คณะภิกษุณีก็ได้ฝึกฝนการรับผ้ากฐินเพื่อให้สามารถทำให้ถูกต้องตามประเพณีอย่างแท้จริง
ก่อนเข้าพรรษา พระภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ เจ้าอาวาสวัตรทรงธรรมกัลยาณี มรณภาพลง ก็เลยเป็นเหตุปัจจัยให้พระภิกษุณีที่มาได้ฝึกสวดพระอภิธรรมหน้าศพทุกวันตลอด ๑๐๐ วัน ก่อนการถวายเพลิง ตอนท้ายทุกรูปก็เลยสวดพระอภิธรรมได้คล่อง
พระภิกษุณีได้มีโอกาสศึกษาขั้นตอนจัดการงานศพ ทั้งภิกษุณีและสามเณรีรวมทั้งสิ้น ๘ รูป นั่งขนาบไป ๒ ข้างโลงศพบนรถที่นำศพไปขึ้นเมรุ ในเวลาชักศพเนื่องจากผู้ตายเป็นภิกษุณี การที่ให้ภิกษุณีสงฆ์เป็นผู้เดินนำหน้าศพจึงเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับบริบท และขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ภิกษุณีได้มีประสบการณ์ตรงในพิธีศพของไทย
ก่อนการถวายเพลิง มีการถวายผ้าไตรหน้าศพก็ได้นิมนต์ให้พระภิกษุณีผู้มีอาวุโสสูงสุดให้เป็นผู้รับผ้าไตรด้วย นอกจากนี้พระธรรมเสนานี เจ้าคณะจังหวัดนครปฐมได้เมตตาให้เกียรติมารับผ้าบังสุกุล โดยคุณชวน หลีกภัย อดีต พณฯนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ทอดผ้า และพระเดชพระคุณยังได้เมตตาแจกประกาศนียบัตรสำหรับภิกษุณี ๕ รูป จากต่างประเทศที่มาร่วมโครงการอบรมในพรรษาครั้งนี้ด้วย
การเป็นชาวพุทธเพื่อสังคมและการเรียนรู้อื่น ๆ
เพื่อเตรียมให้ภิกษุณีมีความรู้เกี่ยวกับสังคม จึงวางหลักสูตรให้เปิดกว้างเพื่อการทำความเข้าใจกับสังคมได้ ได้นิมนต์ภิกษุณีหมินโห ซึ่งเป็นผู้แทนจากวัดโฝกวางซันในไต้หวันมาให้ความรู้เรื่องวิถีโพธิสัตต์และการทำงานเพื่อสังคม วันสุดท้ายของหลักสูตร ภิกษุณีทุกรูปได้รับประกาศนียบัตรสำหรับหลักสูตรเร่งรัดที่สาขาของโฝกวางซันในกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ยังจัดทัศนศึกษาให้ภิกษุณีสงฆ์ได้มีโอกาสไปเยี่ยมผู้หญิงที่บ้านเกร็ดตระการ ปากเกร็ด ทำให้ได้สัมผัสและรับรู้ปัญหาของผู้หญิงที่พลัดเข้าไปในการค้าทางเพศ ภิกษุณีธัมมนันที ชาววียตนาม แต่เคยอบรมกัมมัฏฐานในพม่านาน ๙ ปี จึงพูดภาษาพม่าได้ ได้ให้คำปลอบโยนและสั่งสอนแก่สตรีพม่าเป็นที่น่าประทับใจยิ่ง
ภิกษุณีสงฆ์ได้เรียนประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ประวัติเกี่ยวกับสตรีในพุทธศาสนาฯลฯ โดยมีจุดประสงค์ที่จะเอื้อให้ภิกษุณีเข้าใจบริบทเรื่องราวของการอุปสมบท เมื่อมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้น ก็จะทำให้ภิกษุณีที่อุทิศตนเข้ามาเดินบนเส้นทางสายนี้จะมีความตระหนักและมุ่งมั่นที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณค่า
ในช่วงเวลาบ่าย ภิกษุณีสงฆ์ได้มีโอกาสเรียนการฝีมือจากอาจารย์มารดารัตน์ ษัฏเสน มีการเรียนการแกะสลักผลไม้ สบู่ ตลอดจนการทำดอกไม้และการปั้นดินเหนียว ภิกษุณีสนุกสนานและมีความกระตือรือล้นในการเรียนเหล่านี้ เพราะเป็นการฝึกทั้งทักษะและความเพียร
ภิกษุณีผู้เข้าอบรมเห็นว่าควรจะมีชั้นเรียนที่สอนการสนทนาภาษาไทยพื้นฐาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภิกษุณีได้มีโอกาสทักทายพูดคุยกับญาติโยมชาวไทยที่มาดูแลภิกษุณีสงฆ์ตลอดพรรษา
กิจกรรมสังคม
ในระหว่างโครงการอบรมฯ ภิกษุณีได้มีโอกาสไปเยี่ยมนมัสการพระภิกษุผู้ใหญ่ในจังหวัดนครปฐมและราชบุรี ล้วนได้รับการต้อนรับด้วยไมตรีจิตและความเมตตาอย่างยิ่ง
นอกจากนี้พระภิกษุณียังให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและออกรายการโทรทัศน์ช่อง ๓ ผู้ที่เป็นญาติธรรมมักจะเดินทางมาร่วมทำบุญจากกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง ชาวบ้านที่รอบ ๆ วัตรให้การดูแลอย่างดีมากโดยเฉพาะเมื่อภิกษุณีออกบิณบาตในวันอาทิตย์และวันพระ
โครงการอบรมจัดทัศนศึกษาเพื่อให้ภิกษุณีได้รับความรู้และประสบการณ์โดยตรง ได้ไปชมกรุงศรีอยุธยา พระนครเก่าเป็นการทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในประเทศไทย ได้ไปชมสะพานข้ามแม่น้ำแคว และชมพิพิธภัณฑ์ทหารชาวอังกฤษและออสเตรเลีย ที่ถูกเกณฑ์แรงงานในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ นอกจากนี้ยังได้ไปเยี่ยมวิทยาลัยมหาปชาบดี ซึ่งเป็นวิทยาลัยของแม่ชีที่อำเภอปักธงไชย จ.นครราชสีมา โดยได้อาศัยความเมตตาของ ดร.ไพเราะ และคุณทิพวัลย์ ทิพยทัศน์ ที่อาศรมมาตาซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
เมื่อผู้เขียนได้รับนิมนต์ให้ไปแสดงธรรมในช่วงเข้าพรรษาก็ได้นิมนต์ภิกษุณีสงฆ์ทั้งหมดไปด้วย เพื่อเป็นการให้การศึกษาแก่ท่าน ทำให้ท่านได้เห็นภาพของงานกิจกรรมทางศาสนาที่เป็นหน้าที่ของภิกษุณี ภิกษุณีได้ไปเยี่ยมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ รร.สาธิตจุฬาฯ สำหรับที่ รร.สาธิตจุฬานั้น นักเรียนรุ่นเล็ก ๆ สนใจตั้งคำถามภิกษุณีมากมาย เป็นที่น่าประทับใจ
ขณะเดียวกันภิกษุณีรับนิมนต์ไปสวดพระปริตเนื่องในงานวันเกิด เช่นวันคล้ายวันเกิดของธิดาของท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ดร.วิลาสินี เป็นต้น
บุคคลภายนอกมักกล่าวหาว่า พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้นขาดความตระหนักต่อปัญหาสังคม โครงการอบรมนี้จึงจัดกิจกรรมพาภิกษุณีออกไปสัมผัสปัญหาสังคม โดยพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องเมตตา กรุณา อันเป็นธรรมะที่จะช่วยให้ภิกษุณีสงฆ์เอื้อต่อสังคมได้ดีขึ้น
การฝึกการทำงาน
ทุกเย็นภิกษุณีจะทำงานร่วมกับชุมชนในวัตร แม้จะมีวินัยเคร่งครัดที่จะต้องรักษาเช่น ไม่พรากของเขียว ไม่ขุดดินฯ แต่ภิกษุณีก็สามารถจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของวัดได้ เช่นการโกยใบไม้ ทำความสะอาดลานวัด ภิกษุณีรูปหนึ่งเห็นว่า ไม่ควรทำงานเช่นนี้เพราะเป็นงานของคนสวนหรือคนรับใช้ พระอาจารย์จึงสอนให้รู้จักหน้าที่ว่า วัตรนี้เป็นวัตรพระผู้หญิง ภิกษุณีจะต้องมีความรับผิดชอบทำงานในส่วนที่จะเอื้อต่อภาวะของการเป็นพระด้วย การเน้นการทำงานโดยแรงกายจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ เพื่อเป็นการแสดงออกของการละวางตัวตนในระดับหนึ่ง เป็นยาที่จะบำบัดความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนที่วิเศษ
เวลาอาหารเป็นกิจกรรมร่วมของชุมชนสังฆะ ซึ่งเป็นความพร้อมเพรียงและความตรงต่อเวลา ภิกษุณีแต่ละรูปจะฉันในบาตร โดยญาติโยมจะจัดอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ ภิกษุณีที่อาวุโสสูงสุดจะอยู่หัวแถว และจะตักอาหารตามลำดับอาวุโส
ภิกษุณีจึงเรียนรู้การเคารพในอาวุโสในกิจกรรมทุกประเภท ผู้อาวุโสจะอยู่ด้านขวาเสมอทั้งในการจัดลำดับนั่งการสวดมนต์ การเดินบิณฑบาต การฉันอาหารฯลฯ ภิกษุณีที่มีพรรษาใกล้ ๆ กันสามารถนั่งเก้าอี้ตัวเดียวกันได้ แต่จะไม่นั่งเก้าอี้เดียวกับภิกษุณีผู้มีอาวุโสสูงกว่าหลายพรรษา ภิกษุณีจึงจำเป็นต้องอยู่ด้วยกันเป็นคณะสงฆ์จึงจะได้รับการฝึกฝนอบรมให้ถูกต้องตามพระวินัย ผู้ที่อยากบวชเป็นภิกษุณีแต่ไม่ปรารถนาจะอยู่กับหมู่คณะคงต้องพิจารณาประเด็นนี้เป็นสำคัญ ภิกษุณีบวชใหม่แต่ไม่อยู่กับคณะสงฆ์ไม่มีครูบาอาจารย์สั่งสอนอบรม ก็จะยังติดยึดอยู่กับวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ ไม่ต่างอะไรกับฆราวาส นานไปก็จะทำให้ฆราวาสสูญเสียศรัทธาได้
เมื่อดำเนินโครงการไปช่วงหนึ่งตระหนักว่า ทั้งผู้อบรมและผู้จัดอบรมจำเป็นที่จะต้องมีความคาดหวังจากโครงการร่วมกัน การยอมรับอาวุโสในคณะภิกษุณีสงฆ์เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์สามารถรู้ว่ามีอิสระที่จะตักเตือนว่ากล่าวเมื่อศิษย์ขาดความเข้าใจในพระวินัย โดยไม่ปล่อยให้เกิดความขัดใจกันโดยใช่เหตุ
ในตอนค่ำหลังทำวัตรเย็นแล้ว ภิกษุณีสงฆ์จะได้มีเวลาที่จะพูดคุยทักทายกับชุมชนสังฆะ ทั้งที่เป็นภิกษุณี สามเณรีและอุบาสิกา การสนทนาในวงเล็กเปิดโอกาสให้ ภิกษุณีที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษนักได้มีโอกาสฝึกฝนการแสดงธรรมแบบภาษาอังกฤษ ใน ตอนปลายพรรษาทุกรูปรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการแสดงธรรม
เครือข่ายนานาชาติ
ท่านสุทินนา ชาวศรีลังกาก่อนที่จะอุปสมบทเคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ จึงได้นิมนต์ให้ท่านได้สอนภาษาอังกฤษแก่ชุมชนสังฆะที่วัตร เป็นที่ชัดเจนว่าในการอุปสมบทภิกษุณีนั้น เนื่องจากยังต้องอาศัยการอุปสมบทต่างชาติ ภาษาอังกฤษจึงกลายเป็นความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะช่วยให้เราติดต่อกับโลกภายนอก เมื่อมีการติดต่อกับโลกภายนอกจะรู้สึกว่าการทำงานเรื่องภิกษุณีสงฆ์มิใช่เรื่องที่โดดเดี่ยวอีกต่อไป
เมื่อภิกษุณีสัทธา สุมนา นำเสนอเรื่องราวการดำเนินชีวิตของภิกษุณีในศรีลังกา เราได้ทราบว่าท่านต้องเดินทางไกลถึง ๕ ชม. ทุก ๆ ๒ สัปดาห์ เพื่อไปลงปาติโมกข์กับภิกษุณีอื่น ๆ ที่ดัมบุลลา ดังนั้นสมาชิกวัตรทรงธรรมกัลยาณี จึงเริ่มโครงการหาทุนเพื่อช่วยสร้างอุโบสถสำหรับภิกษุณีที่เมืองเอเหลิยาโคทะ ที่ตั้งของอารามของท่าน อารามนี้จะได้กลายเป็นศูนย์กลางเพื่อให้ภิกษุณีในบริเวณนั้นทำสังฆกรรม ได้ลงปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน เมื่อได้สนับสนุนให้ภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกาได้มีอุโบสถเพื่อประกอบสังฆกรรม คณะสงฆ์ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นจากประเทศไทยหรือประเทศอื่นใด ก็ย่อมได้รับความสะดวกสบายร่วมกัน
ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ศรีลังกาจะต้องมีความรับผิดชอบในการพัฒนาภิกษุณีผู้อาวุโส ที่สามารถจะเป็นอุปัชฌาย์ให้แก่ภิกษุณีนานาชาติได้ การสร้างกำลังภิกษุณีสงฆ์กลุ่มนี้ขึ้นมา จะเป็นขบวนการที่จะผลักดันให้เกิดภิกษุณีสงฆ์นานาชาติขึ้นได้ง่ายขึ้น โดยที่ทุกคนตระหนักในความรับผิดชอบของภิกษุณีสงฆ์ที่พระพุทธองค์ทรงฝากฝังพระศาสนาไว้กับพวกเรา คนที่จะเข้ามาเป็นภิกษุณีจะต้องมีความตั้งใจมั่นคง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีงามให้เกิดขึ้นในสหัสวรรษใหม่
พระผู้ใหญ่ในแต่ละประเทศก็จับตามองดูดอกไม้ดอกน้อย ๆ ที่เริ่มเบิกบานในภิกษุณีสงฆ์ เมื่อภิกษุณีเองได้พิสูจน์ตนเองว่าสามารถปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และได้รับความศรัทธาเลื่อมใสให้เกิดขึ้นในบรรดาประชาชน แน่นอนที่สุดพระผู้ใหญ่เหล่านี้ย่อมให้การสนับสนุนและดูแลน้องในพระศาสนา ในระหว่างที่ผู้เขียนไปอุปสมบทที่ศรีลังกา ข่าวการอุปสมบทนั้นเดินทางรุดหน้าไปก่อนที่ผู้เขียนจะไปถึง เมื่อเข้าไปกราบพระผู้ใหญ่หลายรูป ท่านบอกว่ารู้แล้วว่าผู้เขียนมา หลายรูปให้กำลังใจให้รักษาพระธรรมวินัยให้มั่นคง หลวงพ่อสุมังคโลมหาเถโร ผู้เป็นผู้บุกเบิกการอุปสมบทภิกษุณีในศรีลังกาใน พศ.๒๕๔๑ให้การต้อนรับผู้เขียนอย่างอบอุ่น ผู้เขียนได้กราบเรียนท่านให้จัดหลักสูตรอบรม ๓ เดือนให้แก่สามเณรีนานาชาติที่มาขอการบรรพชาอุปสมบทด้วย
ความคาดหมายในอนาคต
ผู้เข้าร่วมโครงการอบรมฯ ให้คะแนนเรื่องอาหารและที่อยู่สูงสุด แต่ขาดตกบกพร่องดูแลต้อนรับไปบ้าง เนื่องจากความคาดหวังที่ไม่ตรงกันทั้งฝ่ายเข้ารับการอบรมและผู้จัด ภิกษุณีบางรูปคาดหวังว่าการทำงานเช่นการดูแลทำความสะอาดจะต้องเป็นงานของฆราวาสเท่านั้น แต่หลักสูตรการอบรมเป็นการเตรียมภิกษุณีสำหรับการที่จะดูแลสังคมด้วย เพื่อจะได้มีมุมมองที่จะเอื้อต่อการรับผิดชอบต่อสังคม ในด้านผู้จัดเองขาดการได้ข้อมูลว่ามีความคาดหวังอย่างไรจากผู้เข้าร่วมการอบรม ผู้เข้ารับการอบรมไม่มีเป้าหมายหรือความเข้าใจที่ชัดเจน การจัดโปรแกรมเป็นไปตามสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับบุคลากรที่อาสาสมัครเข้ามาทำงาน โดยมีกำลังคนเข้ามาช่วยหลังจากที่โครงการอบรมเริ่มต้นไปแล้วด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้เองจึงดูราวกับว่าโครงการอบรมไม่มีการวางโครงการไว้ล่วงหน้า แต่ในตอนท้ายดูเหมือนว่าทุกสิ่งเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ทั้งผู้จัดและผู้เข้ารับการอบรมพอใจที่ได้มีโอกาสใช้เวลาร่วมกัน และทุกคนเห็นพ้องกันว่าการอบรมพระวินัยเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ
ในบทบาทของผู้เข้ารับการอบรม ผู้เขียนได้รับการอบรมฝึกฝนอย่างดียิ่ง และรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณแก่พระอุปัชฌาย์ คือภิกษุณีสัทธา สุมนา ไม่สามารถที่จะหาคำใดมากล่าวที่จะครอบคลุมความรู้สึกได้อย่างแท้จริง เมื่อย้อนไปมองดูจึงเห็นว่าการอยู่ร่วมกันในสังฆะเป็นสิ่งจำเป็น และสำคัญสำหรับการพัฒนาทางจิตวิญญาณ
โครงการอบรมนี้ สำหรับในพรรษาปี ๒๕๔๗ ได้ขยายออกไปมีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น ๒๘ ท่าน เป็นภิกษุณีจากศรีลังกา ออสเตรเลีย และประเทศไทย รวม ๕ รูป สามเณรีจากไทย ๒ รูป ลาดัค ๒ รูป แม่ชีศีล๑๐ เป็นชาวไทย ๑ มาเลเซีย ๑ ดอนชี (เขมร) ๕ แม่ชีไทย ๑ นอกนั้นเป็นอุบาสิกาเขมรและมาเลเซีย
ด้วยความตระหนักในจุดอ่อนในพรรษาที่ผ่านมา พรรษานี้ก็มีการวางแผนการเรียนการสอนที่ดีขึ้น มีบุคลากรมากขึ้น จึงหวังว่าการเรียนการสอนจะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้วยความตระหนักว่าการศึกษาพระธรรมและการอบรมฝึกฝนตนเท่านั้น ที่จะเป็นฐานกำลังอันมั่นคงในการทำงานรับใช้พระศาสนา
ขณะเดียวกันตลอดพรรษา ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีจะมีโครงการสอนสารัตถะพระพุทธศาสนาภาคภาษาไทยทุกวันอาทิตย์ ๑๓ - ๑๖ น. หากท่านผู้อ่านสนใจก็จะติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ๐๓๔ - ๒๕๘๒๗๐.
* บทความสำหรับการประชุมศากยะธิดาครั้งที่ ๘ ในการประชุมสตรีชาวพุทธนานาชาติ กรุงโซล ประเทศเกาหลี ๒๘ มิ.ย. - ๒ ก.ค. ๒๕๔๗
..
|