เสขิยธรรม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

พระสงฆ์ควรพูดเรื่องการเมืองหรือไม่

ปฏิกิริยาพระสงฆ์ต่อ "พ.ต.ท.ทักษิณ"

สดจากหน้าพระ
นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๔๙๘๙

          การออกมาวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์ที่ชอบเทศนาธรรมอิงการเมืองและการบริหารประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นลักษณะเชิงต่อว่าการเล่นการเมืองไม่ใช่กิจของสงฆ์นั้น ทำให้พระสงฆ์จำนวนหนึ่งต้องออกมาตอบโต้

          เมื่อวันที่ ๒๑ ก.ค. ที่อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา พระสงฆ์กลุ่มเสขิยธรรม ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ได้จัดการเสวนาเรื่อง "บทบาทพระกับการเมืองไทย กรณีห้ามพระวิจารณ์การเมือง"

          พระศรีปริยัติโมลี รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ว่าคนที่พูด ก็มักจะพูดลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่น่าจะต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า ในสังคมไทย หลายเรื่องเคยเป็นกิจสงฆ์ แต่นานๆ เข้า เมื่อฆราวาสเอาไปทำเสียเอง ก็เลยลืม มองไปว่า ไม่ใช่กิจสงฆ์ สิ่งแรกที่ต้องมอง คือ เราเข้าใจการเมืองว่าอย่างไร ถ้าเป็นเรื่องการบริหาร การเลือกตั้ง การออกนโยบาย หรือการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็ต้องบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด แม้จะร่างเพื่อปฏิรูปการเมือง มีองค์กรอิสระมาทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่ความจริงแล้ว การปฏิรูปการเมือง จะทำโดย กฎหมายไม่ได้ แต่อยู่ที่การวางรากฐานทางศีลธรรมให้นักการเมือง ถ้าไม่ทำ ก็จะแก้ปัญหาการเมืองไม่ได้ และผลจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็เห็นอยู่ว่า รัฐบาลแข็งเกินไป พอพระจะเทศน์ ก็ไล่ให้ทิ้งจีวร

          "หลักสำคัญของประชาธิปไตย คือการต้องมีศีลธรรม การที่พระสอนศีลธรรมนักการเมือง ก็เพื่อทำให้การเมืองดีขึ้น ถือเป็นการวางรากฐานทางการเมือง เพราะถ้าศีลธรรมไม่ดี การปฏิรูปการเมืองก็ไม่ได้ผล มีองค์กรอิสระมาตรวจสอบก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะคนไม่มีหิริโอตตัปปะ (ความละอายต่อบาป) การเมืองไม่มีศาสนามันก็หายนะ และพระก็ต้องสอนการเมืองถูกต้องให้กับประชาชน มิฉะนั้นจะทำให้มีการคอร์รัปชั่นอย่างสมบูรณ์แบบ นโยบายประชานิยมก็อย่าสุดโต่งมากนัก ถ้าวางรากฐานได้ ประชาธิปไตยก็จะเข้มแข็ง เหมือนอย่างอินเดีย รัฐธรรมนูญใช้มาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว คนมีความตื่นตัวทางการเมือง ไม่มีการซื้อเสียง เพราะการเมืองของเขาพัฒนามาจากศีลธรรม" พระศรีปริยัติโมลี กล่าว

          ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีให้พระที่จะพูดเรื่องการเมืองไปตั้งพรรคพิเศษ รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ กล่าวว่า นายกฯ เป็นคนอย่างที่เรียกว่า ไวไฟ รู้อะไรก็มีปฏิกิริยาตอบสนองเร็วมาก ความจริงพระที่เทศน์ ก็ไม่ได้ทำให้ท่านเสียหาย พระที่มีข่าวถูกแบน ก็อ่อนอาวุโส มีแต่ท่านปัญญานันทภิกขุเท่านั้น ที่อาวุโส ซึ่งคิดว่า ที่มีความหวั่นไหว เพราะก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีก็เคยมีปัญหากับพระ คือตอนที่จะมีการเสนอให้ตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนา แล้วนายกรัฐมนตรีก็ออกมาไล่พระให้ไปอ่านพระไตรปิฎก เรื่องอย่ายึดมั่น ถือมั่น แล้วก็ถูกตอบกลับ แล้วก็มีเรื่อง พ.ร.บ.จัดรูปที่ดิน ที่สุดท้ายก็ต้องถอย นายกฯ จึงฝังใจและพูดไว้ก่อน ว่าอย่าออกมา ถ้ามาต้องทิ้งจีวร อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ต่อไปจะมีการห้ามพระเทศน์จริง ก็จะมีมาตรการดำเนินการกับรัฐบาล แต่ไม่อยากให้พระสงฆ์ทั้งหลายเป็นกังวล เนื่องจากขณะนี้ มีเจ้าของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ยินดีให้เช่าสัญญาณ เพื่อเป็นสื่อสำหรับศาสนา ทำการเผยแพร่ และขณะนี้ อยู่ในช่วงดำเนินการวางระบบ คาดว่าจะตั้งสถานีที่ วัดยานนาวา ส่งถ่ายทอดผ่านดาวเทียมไปทั่วประเทศ

          สำหรับเรื่องที่คนสงสัยว่ากิจจกรรมบางอย่างที่พระทำ เช่น การเดินขบวน การชุมประท้วง ถือเป็นกิจสงฆ์หรือไม่นั้น พระศรีปริยัติโมลี กล่าวว่า พระมีหน้าที่ตามพระสูตร คือ ศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติธรรม เผยแพร่ความรู้ และรักษาพระพุทธศาสนา เมื่อมีคนใส่ร้ายก็ต้องแก้ ในฐานะศาสนทายาท ก็ต้องมีหน้าที่ และอีกอย่างหนึ่ง พระอยู่ภายใต้กฎหมาย มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย คือการรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หมายถึงต้องทำหน้าที่พลเมืองทีดี และรู้ว่า ควรทำหน้าที่อะไร

          "อย่างตอนพฤษภาทมิฬ อาตมายังเสียใจที่ไม่ได้ออกมาสวดมนต์ช่วยคนในเหตุการณ์ เป็นกำแพงให้ยึดหลักอหิงสากัน เชื่อว่า ถ้าออกมา จะสามารถช่วยคนได้มาก เรื่องนี้ขอให้ญาติโยมคิดด้วยว่า การสนับสนุนพระสงฆ์ ทำไมสนับสนุนให้พระสร้างพระเครื่อง ปลัดขิก แล้วทำไมพระทำเพื่อบ้านเมืองต้องมาตั้งข้อสังเกตว่า เป็นกิจสงฆ์หรือไม่" รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ระบุ

          ด้านพระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานคณะกรรมการกลุ่มเสขิยธรรม กล่าวว่า ก่อนหน้าจะมีเรื่องนี้อาตมาเคยตั้งข้อสังเกตเรื่องหวยหงส์ ว่าแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ขาดหิริโอตตัปปะ หรือหน้าด้าน และรัฐบาลนี้ มีผู้นำที่สำคัญตัวว่า ตัวเองเก่ง ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นมีข้าราชการบางส่วนไปหาถึงวัด ที่สวนเมตตาธรรม จ.เชียงใหม่ ไปต่อว่าว่าไปวิจารณ์รัฐบาลได้อย่างไร จนต้องติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาล ว่าหากไม่หยุดพฤติกรรมนี้ จะแถลงข่าวว่า รัฐบาลคุกคามพระ เรื่องจึงได้เงียบหายไป เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า เรามีผู้นำที่คิดผิด เห็นผิด สำคัญผิด หรือที่เรียกว่า วิปลาสเสียแล้ว ยิ่งถ้าเอาทศพิธราชธรรม หรือภารกิจผู้ปกครอง มาเทียบการกระทำ ก็จะพบว่า ปัจจุบัน เรามีผู้นำที่เป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น ทาน นายกฯ ทำตัวเสมือนให้ทาน แต่เป็นทานจากภาษีประชาชน และเงินจากอบายมุข ซึ่งแจกไปจำนวนมาก โดยโครงการที่ไม่ผ่านกระบวนการทางสภา มควะ คือความเป็นคนอ่อนน้อม สุภาพนุ่มนวล ตรงข้ามกับนายกฯ โดยสิ้นเชิง อโกธะ คือไม่ลุแก่อำนาจ ข้อนี้สอบตก แล้วอย่างนี้ ถ้าพระจะไม่เอาราชธรรมไปเตือนจะเป็นอย่างไร

          พระกิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้การประชุมคณะรัฐมนตรียังต้องฟังนายกฯ เพียงคนเดียว และนายกฯ ถึงกับต้องให้อาหารทางปัญญากับรัฐมนตรี แสดงว่าครม.นี้ปัญญาไม่พอ แต่รัฐมนตรีก็ไม่ต้องน้อยใจ เพราะขณะนี้ ไม่มีใครมีปัญญาเท่ากับท่านนายกฯ แล้ว แม้แต่ น.พ.ประเวศ วะสี ก็ตาม และขณะนี้ประโยชน์ของชาติไม่น้อย ที่ถูกแทรกแซง เช่น เรื่อง FTA ก็ส่งผลต่อคนระดับล่างอย่างมาก ศาสนาก็ถูกแทรกแซง อย่างเรื่อง พ.ร.บ.จัดรูปที่ดิน หรือแม้แต่ว่า เราอาจมีรัฐบาลนี้ เป็นรัฐบาลแรกที่กระทำการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท โดยได้เสนอกฎหมายที่ไม่รัดกุม แต่ผ่านสภาด้วยเสียงข้ามากลากไป นี่เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้น

          "อาตมาอยากถามกลับว่า ทำไมเมื่อมีพระสงฆ์เสนอว่า ท่านควรเป็นนายกฯ สมัยที่สอง ทำไมไม่จับถอดจีวร และครั้งหนึ่ง เมื่อท่านเคยไปกราบหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ภาคอีสาน และพระท่านแนะนำให้รวมพรรคชาติพัฒนากับไทยรักไทย เพื่อให้รัฐบาลเข้มแข้งทักษิณจะได้เป็นนายกฯ ต่อไปอีก ทำไมไม่แนะนำให้หลวงพ่อคูณสึกด้วย" พระกิตติศักดิ์กล่าว

          ประธานกลุ่มเสขิยธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า ระบบตรรกะของนายกฯ บกพร่อง แต่กลับใช้ความบกพร่องนี้ ตีความหน้าที่ของผู้อื่นเสมอ ก็ควรแก่การพิจารณาได้แล้วว่า ในระบอบประชาธิปไตย เราควรจะไว้ใจหรือไม่ หากบุคคลผู้นั้น บกพร่องทางศีลธรรม หากมีการห้ามพระเทศน์เพราะเกี่ยวกับการเมือง ก็จะนำไปสู่ประเด็นอื่นๆ การใช้พระพุทธธรรมจะถูกแทรกแซง การทำหน้าที่ผู้เสียสละถูกเปลี่ยนดำเป็นขาวด้วยวาทกรรมที่ไม่รับผิดชอบ ถ้ายังเป็นอย่างนี้ ต่อไปสังคมจะเหลือแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ค้ากำไร ดังนั้น ในการเลือกตั้งในอนาคต ศาสนิกชนที่พยายามรักษาพระพุทธศาสนา ต้องแสดงพลังว่า เราจะปล่อยให้กลุ่มคนที่สนับสนุนอบายมุข ตระบัดสัตย์ เปลี่ยนดำเป็นขาวให้ควรได้รับความไว้วางใจมาทำงานอีกหรือไม่

          ถือเป็นเสียงสะท้อนจากพระสงฆ์สื่อถึงท่านนายกฯ ว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาซึ่งเป็นที่ทางธรรมของประชาชนจึงต้องมีส่วนร่วมกับการเมืองอย่างเลี่ยงมิได้

          เพราะหากนักการเมืองมีธรรมะในใจบ้านเมืองก็จะเป็นสุข .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
> นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :