เสขิยธรรม -
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

วัดต้นแบบ 'โอเทค' ๑ วัด ๑ ศูนย์คอมพิวเตอร์

ไอที ไทยโพสต์ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗

          วัดบัวงาม พระอารามหลวง อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ราว ๑ ชั่วโมง นอกจากยังคงเป็นศูนย์รวมของชาวบ้านย่านนี้แล้ว

          วัดบัวงามยังกำลังเป็นสิ่งที่จับต้องได้ในการช่วยให้ช่องว่างทางเทคโนโลยีนั้นแคบลงจริงๆ ด้วยบทบาทการเปิดสอนคอมพิวเตอร์ให้กับชุมชน และเยาวชนในพื้นที่มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙

          พระครูสุนทรปริยัติคุณ เจ้าอาวาสวัดบัวงาม กล่าวว่า ในปีแรกที่เริ่มเปิดสอน มีคอมพิวเตอร์ ๑๐ เครื่อง มูลค่าเกือบ ๕ แสนบาท ซึ่งมาจากความศรัทธาของประชาชนที่ช่วยบริจาคเงิน ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด ๕๑ เครื่อง ราคาเครื่องละ ๒๓,๐๐๐ บาท คุณสมบัติของเครื่องเป็นเพนเที่ยมโฟ ๑.๘ กิกะเฮิรตซ์

          ส่วนวิชาที่ทางวัดสอนมีทั้งการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์และสอนประกอบ ซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ และติดตั้งโปรแกรม มีพระลูกวัด ๓ รูป เป็นผู้สอน และกำลังอบรมพระผู้สอนเพิ่มอีก ๕ รูป ส่วนจำนวนผู้เข้ามาเรียน มีทั้งนักเรียน ข้าราชการ และชาวบ้าน ประมาณปีละ ๗๐๐ คน โดยเฉพาะช่วงปิดเทอม มีนักเรียนจากจังหวัดต่างๆ มาเข้าค่ายอบรมคอมพิวเตอร์ที่วัดนี้จำนวนมาก

          เมื่อเข้ามาสำรวจเว็บไซต์ของวัด ที่ http://www.geocities.com/watbuangam พบข้อมูลที่มาที่ไปของการเปิดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์อย่างน่าสนใจ

          วัดบัวงามได้ริเริ่มโครงการคอมพิวเตอร์สร้างคุณธรรมนำปัญญา โดยมีแนวการให้ความรู้ เริ่มต้นจากการพัฒนาคนให้คิด ทำ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง สอดคล้องกับหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเพื่อชีวิตและสังคม ตามหลักของสัมมาทิฐิ คือการรู้เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ในการเรียนรู้นั้นหากผู้สอนสอนในลักษณะให้เลียนแบบ คือทำตามที่บอก ผู้เรียนจะมีกรอบของความคิดที่คับแคบ ไม่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือพัฒนาความรู้เท่าที่ควร แต่ถ้าเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดเอง จะทำให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ได้กว้างไกล ดังคำกล่าวที่ว่า "ถ้าท่านให้ปลาแก่คนจน เขาจะมีปลากินเพียงมื้อเดียว หากท่านสอนวิธีจับปลาให้เขา เขาจะมีปลากินตลอดชีวิต" ฉะนั้นการให้ผู้เรียนจดจำแบบเดิมจึงเป็นเสมือนกับให้ปลากับคนจนนั่นเอง เมื่อโลกเปลี่ยนไปก็จะปรับตัวตามไม่ทัน ถ้าหากใช้วิธีการสอนให้ผู้เรียนได้มีวิธีคิด ได้คิดด้วยตนเองตามหลักของพุทธภาษิตที่ว่า "อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน" จึงได้ชื่อว่าเป็นการสอนวิธีจับปลาให้ โดยครูผู้ให้ความรู้ เป็นผู้คอยแนะแนวทางที่ถูกต้อง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้น ผู้เรียนสามารถคิดหาวิธีการปรับตัวตามได้

          การอบรมคอมพิวเตอร์ของวัดได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนปี ๒๕๔๑ ที่มีผู้สนใจสมัครเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถบริการได้อย่างทั่วถึง พระครูสุนทรปริยัติคุณ จึงมีแนวคิดที่จะสร้างอาคารขึ้น เพื่อจัดการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์โดยตรง และโครงการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ เพื่อใช้ในการสอนคอมพิวเตอร์และกิจกรรมอื่นๆ ของทางวัด เป็นอาคาร ๒ ชั้น กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๕๒ เมตร วางศิลา ใช้งบก่อสร้าง ๙.๓ ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง ๕ เดือน หรือแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๑

          สำหรับหลักสูตรและเนื้อหาวิชาที่เปิดสอน มีตั้งแต่ความรู้พื้นฐาน อย่างคอมพิวเตอร์เบื้องต้น ประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของคอมพิวเตอร์ การเรียนรู้ตัวเครื่องหรือที่เรียกว่าฮาร์ดแวร์ หน่วยประมวลผลกลาง หน่วยความจำ หน่วยแสดงผล เพื่อให้สามารถใช้งานตั้งแต่เปิดปิดเครื่อง ไปจนถึงการดูแลรักษาเครื่องได้ ขณะเดียวกัน เมื่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ มีการพัฒนาไปตามความต้องการของผู้ใช้งาน ทางวัดก็จัดสอนโปรแกรมใหม่ๆ ให้ผู้เข้าอบรมได้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นวินโดวส์ ๙๕ มาเป็น ๙๗ รวมไปถึงการใช้โปรแกรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อให้การใช้คอมพิวเตอร์ได้ประโยชน์สูงสุด

          เรื่องดีๆ มีให้เล่าขาน และล่าสุด น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ได้เข้ามาเยี่ยมชมที่วัดบัวงาม ซึ่งมีชื่อศูนย์คอมพิวเตอร์อย่างเป็นทางการว่า "ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศคอมพิวเตอร์สร้างคุณธรรมนำปัญญา" ว่า กระทรวงไอซีทีจะใช้ศูนย์คอมพิวเตอร์ของวัดบัวงามเป็นวัดต้นแบบ ดำเนินโครงการ ๑ วัด ๑ ศูนย์คอมพิวเตอร์ (One Temple One Computer Center : หรือโอเทค Otech) ให้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์ของชุมชน โดยระยะแรกจะเริ่มจากวัดที่พร้อมเข้าโครงการ ๑๐๐ วัด ซึ่งกระทรวงไอซีทีจะจัดทำผ้าป่าคอมพิวเตอร์ด้วยการเปิดรับบริจาค และส่งมอบให้วัดละ ๒๐ เครื่อง มีบุคลากรของกระทรวงไอซีทีเป็นผู้ฝึกอบรมการใช้งานให้

          วัดที่เข้าร่วมโครงการต้องมีความพร้อม เช่น เป็นศูนย์กลาง มีเครือข่ายโทรศัพท์ที่รองรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เจ้าอาวาสต้องมีแนวคิดการพัฒนาด้านไอทีให้กับชุมชน รวมถึงมีพระลูกวัดที่พร้อมจะเป็นผู้สอนคอมพิวเตอร์ให้กับชุมชน ถือเป็นโครงการที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้ครั้งใหญ่ในระดับรากหญ้า และเป็นลักษณะพิเศษของสังคมไทย แตกต่างไปจากสังคมประเทศอื่น... .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
> นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :