เกาะติดวงสัมมนา "แก้วิกฤตพุทธศาสนา"
ถึงยุค "พระธรรมวินัย" ผสาน "ไอที"
มติชนรายวัน คอลัมน์การศึกษา
ฉบับวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๔๒๒ หน้า ๒๐
หมายเหตุ - เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีการสัมมนาเรื่อง "ความมั่นคงของพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย" โดยมีพระสงฆ์ ส.ส. ข้าราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กรมการศาสนา และพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมประมาณ ๑๐๐ คน ซึ่งในงานมีบรรยายพิเศษเรื่อง "วิวัฒนาการการศึกษาของพระภิกษุสงฆ์ในประเทศไทย" โดยพระเทพโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) และบรรยายพิเศษเรื่อง "การบริหารงานด้านพระพุทธศาสนาในประเทศไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน" โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสำนักงาน พศ. "มติชน" เห็นว่ามีสาระน่าสนใจจึงนำมาเสนอ
พระเทพโสภณ อธิการบดี มจร.
"ปัจจุบันพระสงฆ์ไทยส่วนใหญ่มีความรู้ไม่ทันต่อโลกยุคใหม่ เพราะขาดทักษะด้านภาษาอังกฤษ ส่งผลให้การศึกษาและการวิจัยด้านพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทย ล้าสมัยกว่าพระสงฆ์และนักวิชาการต่างชาติ จึงอยากเสนอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ รวมถึงการทำวิจัยของพระสงฆ์ให้ทันสมัย และเชื่อมโยงกับนานาชาติได้ อีกทั้งขณะนี้การศึกษาสงฆ์เน้นแต่ด้านวิชาการ นักธรรม-บาลี ในขณะที่การศึกษาสงฆ์ทั้งแผนกสามัญ แผนกธรรม และแผนกบาลี อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะหลัง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ ๙ ปี (ป.๑-ม.๓) มีผลบังคับใช้ จำนวนสามเณรก็ลดลง ๓๐-๔๐% เพราะเด็กที่เคยเข้ามาบวชเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม โดยเฉพาะสายสามัญ ถูกผู้ปกครองดึงตัวกลับไปเรียนโรงเรียนทั่วไป เพราะได้ยินจากครูโรงเรียนประถมศึกษาว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรมไม่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต่อไปอาจจะเกิดปัญหาขาดแคลนศาสนทายาทได้"
"จริงๆ แล้วคณะสงฆ์ได้ร่วมกับสำนักงาน พศ. จัดทำร่างกฎกระทรวงการศึกษาขั้นพื้นฐานของสงฆ์ขึ้นแล้ว เพื่อให้การจัดการศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้ง ๓ แผนกได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ร่างกฎกระทรวงนี้ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) แล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและฝ่ายการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ทราบว่าเบื้องต้นจากการตีความของทั้งสองฝ่ายดังกล่าวระบุว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ไม่สามารถประกาศใช้ได้ เพราะไม่มีเรื่องการศึกษาสงฆ์บรรจุไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ฉบับแก้ไข พ.ศ.๒๕๓๕ นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาและฝ่ายการเมืองเอง ก็ไม่มีแนวคิดสนับสนุนการบังคับใช้ร่างกฎกระทรวงนี้อยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่จะร่ำเรียนมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีความคิดแยกการศึกษาของประชาชนกับการศึกษาของสงฆ์ออกจากกันโดยเด็ดขาด ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ ที่ให้ส่งเสริม อุปภัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และประกาศใช้ร่างกฎกระทรวงนี้โดยเร็ว"
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
"ปัจจุบันการบริหารงานด้านพุทธศาสนาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เห็นได้จากปัจจุบันมีพระสงฆ์กว่า ๓๘๐,๐๐๐ รูปก็จริง แต่ส่วนใหญ่เป็นฆราวาสที่เข้ามาบวชแล้วสึกออกไป ต่างจากอดีตที่ฆราวาสบวชแล้วจะอยู่ในสมณเพศเป็นเวลานาน ดังนั้น การบริหารงานพระพุทธศาสนาจึงยึดหลักพระธรรมวินัยอย่างเดียวคงไม่ได้ จะต้องนำเอาเรื่องเทคนิคและเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริหารงานคณะสงฆ์ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะยังยึดพระธรรมวินัยเป็นหลัก และพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้บัญญัติห้ามไว้"
"เรื่องแรกที่จะเริ่มปรับปรุงคือ การจัดตั้งสถาบันอบรมพระสังฆาธิการที่บริเวณพุทธมณฑล โดยให้พระสงฆ์มาดูแลการบริหารจัดการกันเอง และนิมนต์พระสงฆ์ที่เป็นพระสังฆาธิการ เช่น เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ หรือพระที่เพิ่งได้รับตำแหน่งพระสังฆาธิการได้เข้ามาอบรมความรู้ด้านการปกครองและเทคโนโลยี ซึ่งจะขอให้ทาง มจร.จัดทำหลักสูตร และจัดหาพระสังฆาธิการที่ปกครองเก่งและดี มาเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้แก่พระสังฆาธิการทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ทั่วไป"
"ผมเคยได้ฟังเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง จ.นครปฐม รูปปัจจุบัน กล่าวในการประชุมพระสังฆาธิการที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า อาตมาไม่ได้คิดว่าจะเป็นเจ้าอาวาส อยู่ๆ เจ้าอาวาสรูปก่อนมรณภาพ เจ้าคณะผู้ปกครองก็ตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแทน จึงไม่รู้ว่าจะทำอะไรก่อนอะไรหลัง หรืออย่างกรณีอดีตเจ้าอาวาสวัดบึงทองหลาง ที่ถูกศาลตัดสินจำคุก ๑๖ ปี แต่ให้รอลงอาญา ๒ ปี เพราะถูกข้อหายักยอกทรัพย์วัดเข้ามูลนิธิที่ตัวเองดูแลอยู่ ซึ่งพระรูปนี้ระบุว่า ไม่ทราบมาก่อนว่าการนำเงินที่ได้รับบริจาคมาเข้าบัญชีมูลนิธิที่ดูแลโดยไม่ได้เข้าบัญชีวัด จะผิดระเบียบกฎหมายคณะสงฆ์ ซึ่งพระสงฆ์ที่ไม่มีความรู้เช่นนี้ยังมีอยู่อีกมาก อย่างไรก็ตาม ผมได้หารือกับผู้บริหารสำนักงาน พศ.ในเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มทำได้หลังปีใหม่ ซึ่งระยะแรกจะอบรมพระสังฆาธิการรุ่นเก่า และพระสงฆ์ที่เพิ่งรับตำแหน่งพระสังฆาธิการก่อน หากได้ผลดีต่อไปพระสงฆ์ที่จะเป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เป็นต้น จะต้องผ่านการอบรมนี้ก่อน จึงจะเข้ารับตำแหน่งได้ ส่วนเรื่องการประกาศใช้ร่างกฎกระทรวงการศึกษาขั้นพื้นฐานของสงฆ์นั้น จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ร่างกฎกระทรวงนี้มีผลบังคับใช้โดยเร็วต่อไป"..
|