เสขิยธรรม -
เสขิยบุคคล
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

ไม่ใช่กิจของสงฆ์ :
พระมหา ดร.บุญช่วย สิรินฺธโร

รัชดา ธราภาค
ภาพ: ฐานิส สุตโต
กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย เสาร์สวัสดี ฉบับที่ ๒๗๙ วันเสาร์ที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๗


          "ปัญหามีอยู่ทั่วไป ถ้าพระไม่เห็นก็ไม่รู้จะทำอะไร"

          ไม่ใช่แค่ทำงาน แต่คือการนำเอาธรรมะเข้าไปสู่กิจกรรม อย่างเช่นกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ก็ต้องอธิบายได้ว่า เมื่อคุณมีสัจจะ ความเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นหลักธรรมทางศาสนาอย่างไร

          ปัญหาของคนในเมือง คือความรู้สึกขาดข้างใน สิ่งที่ทำได้คือการทำบุญ ถวายสังฆทาน ซึ่งก็ทำได้ชั่วครั้งชั่วคราวในช่วงวิกฤติ ช่วงสอบ วิธีการก็คือไปซื้อถังเหลือง หิ้วเข้าวัดถวายพระ ถามว่าในถังมีอะไร ไม่มีใครรู้ ...ของเขาวางขายอยู่แล้ว ไม่รู้หรอกว่ามันกินได้กินไม่ได้ เขาขายเป็นชุด ซื้อ ๙ ชุด ๙๙ โอโห เลขดีจังเลย ใส่ไปปรากฏว่าพระฉันไม่ได้ เพราะเป็นอาหารบูด

          คนรุ่นใหม่ถูกพูดถึงว่าไม่ใส่ใจปัญหาสังคม สถาบันการศึกษาถูกตั้งคำถามด้วยเช่นกัน ว่ามีส่วนมากน้อยเพียงใด ในอันที่จะปลูกฝังความรู้สึกห่วงใยต่อสถานการณ์รอบตัว ให้เกิดกับเยาวชนคนรุ่นนี้

          แล้วในรั้วสถาบันการศึกษาของสงฆ์ล่ะ ?

          "ยังมีคำถามอยู่มากจากทั้งแวดวงของพระรวมถึงคนทั่วไป ว่างานแบบไหนควรจะเป็นบทบาทของพระ"

          พระมหา ดร.บุญช่วย สิรินฺธโร ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บอกว่า 'กิจของสงฆ์' เป็นประเด็นยังเป็นข้อถกเถียง

          ในวันก่อน การบวชเรียนเป็นอีกโอกาสสำหรับผู้ใฝ่เรียนแต่มีฐานะยากจน ถึงวันนี้ รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติให้การเรียนฟรี ๑๒ ปีเป็นสิทธิของประชาชนชาวไทยทุกคน การศึกษาทางธรรมยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจหรือไม่ ?

          บรรยากาศการเรียน การทำกิจกรรมในสถานศึกษาของสงฆ์เป็นอย่างไร ? ผู้บวชเรียนในบวรพุทธศาสนาจะเกี่ยวข้องกับสังคมที่อุดมไปด้วยปัญหาซับซ้อนอย่างวันนี้ อย่างไร ? กิจกรรมแบบไหนเรียกว่า 'ใช่' หรือ 'ไม่ใช่' กิจของสงฆ์ ?

          คนทั่วไปรับรู้เรื่องในวงการสงฆ์ไม่มาก จะได้รู้ได้เห็นจากที่เป็นข่าวอยู่บ้าง สาระก็ออกไปในทางไม่ค่อยเป็นมงคล

          ฟังมุมมองของ ดร.บุญช่วย สิรินฺธโร ซึ่งอีกบทบาทคือ ผู้อำนวยการ 'สถาบันโพธิยาลัย' องค์กรไม่เป็นทางการ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อการทำกิจกรรมของกลุ่มบรรชิตผู้มีไฟในงานพัฒนา

.... .... ....

โพธิยาลัยค่อนข้างได้รับความสนใจทั้งจากแวดวงนักพัฒนาและวิชาการ งานของสถาบันเป็นอย่างไร

          โพธิยาลัยก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๔๒ ครั้งแรกคิดถึงการหาที่พูดคุยกันของพระนักพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมาทำงานกันอย่างโดดเดี่ยว ก็คิดว่าน่าจะมีการรวบรวมดูว่ามีใครทำอะไร อยู่ที่ไหน ทำอย่างไร และมีปัญหาอุปสรรคอย่างไรกันบ้าง จุดที่คิดว่าน่าจะมีการทบทวนกัน คือเรื่องการประยุกต์พุทธธรรมเข้าไปในงานพัฒนา เหมือนว่าต้องกลับมาย้ำว่างานของเราไม่ใช่ไปตามราชการหรือเอ็นจีโอทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมา พอกระแสมันเข้ามา เราก็อาจจะสนุกไปกับงาน ถ้าได้มาทบทวนกันอยู่เรื่อยๆ ก็น่าจะดี

ขอบเขตการทำงานของโพธิยาลัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือใช่หรือไม่ มีพระทำงานพัฒนาอยู่เยอะมั้ย

          เดิมเราเริ่มจากเครือข่ายพระนักพัฒนาภาคเหนือ ๘ จังหวัด ต่อมาเพิ่มเป็น ๙ คือจังหวัดตาก ซึ่งก็พบว่ามีพระที่ทำงานในพื้นที่อยู่พอสมควร บางรูปทำเรื่องเอดส์ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องป่า เรื่องน้ำ วังปลา ส่งเสริมอาชีพชาวบ้าน กลุ่มเยาวชน เยาวชนก็อาจจะสนใจเรื่องวัฒนธรรม ดนตรีพื้นบ้าน กลุ่มมีหลายลักษณะ อาจจะจัดตามความสนใจ หรือแบ่งตามพื้นที่ เช่น กลุ่มแพร่ น่าน เชียงราย รวมๆ ก็คงประมาณ ๔๐-๕๐ กลุ่ม บางกลุ่มอาจจะมีสมาชิกซ้ำกัน เพราะคนกลุ่มเดียวกันอาจจะทำหลายเรื่อง บางกลุ่มงานชักจะเยอะ บอกไม่ไหว ขอหยุดสักพัก นับจำนวนชัดๆ ไม่ได้ ก็จะประมาณนี้

สถาบันมีสถานภาพตามกฎหมายหรือเปล่า

          ไม่มีอะไรเลย ระยะแรกๆ พอรวมตัวกันได้ เราก็ลองเขียนโครงการขอทุนจาก SIP (โครงการลงทุนทางสังคม) เขาก็มองว่าเราไม่ใช่องค์กรชาวบ้าน ทั้งที่พระในเครือข่ายก็เป็นพระที่ทำงานกับชาวบ้านทั้งนั้นนะ

องค์กรภายนอกอาจจะมองว่าพระอยู่วัด น่าจะมีทุนจากที่ญาติโยมถวายอยู่แล้วหรือเปล่า

          มันก็เป็นปัญหาเรื่องการยอมรับ เพราะยังมีคำถามจากทั้งแวดวงของพระรวมถึงคนทั่วไป ว่างานแบบไหนควรจะเป็นบทบาทของพระ พระอยากทำงานพัฒนา อยากทำเรื่องพิพิธภัณฑ์ เรื่องภูมิปัญญา เขามองว่าไม่ใช่เรื่องของพระ ขณะที่เรามองว่า ถ้าพระไม่ทำแล้วใครจะทำ ดังนั้น การที่จะหาทุนจากพระ หรือองค์กรทางศาสนายังไม่ง่าย แต่พอทำไปสักพักก็ได้ทุนสนับสนุนจากทั้ง SIP รวมทั้งทาง สกว.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ที่พระอาจารย์เกียรติศักดิ์ กิตฺติภทฺโท เป็นผู้ประสานงานโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นอยู่ก่อน ก็ชวนกันมาคุยว่างานของเรามันเข้าเรื่องมั้ย พระทำวิจัยได้หรือเปล่า ถึงได้กลายเป็นโพธิยาลัยเพื่อสนับสนุนงานวิจัยในระยะแรก ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า ศูนย์ประสานงานโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นโพธิยาลัย

          ถ้าพูดถึงโพธิยาลัยก็ต้องบอกว่า ไม่มีสถานภาพทางกฎหมาย แต่มีโครงสร้าง มีคนทำงาน ภายใต้การสนับสนุนของ สกว.ซึ่งให้เจ้าหน้าที่มา ๒ คน คอยดูแลติดตามโครงการ ประสานงานในพื้นที่ รวมทั้งการเงิน การบัญชี

ในช่วงหลังดูเหมือนมีการขยายงานเพิ่มขึ้น?

          พอภาระที่เราทำมันเริ่มจะมากกว่างานวิจัย รวมทั้งมีพระที่ไม่ได้อยากเน้นงานวิจัย แล้วก็ไม่ถนัดด้วย แต่อยากเข้ามาร่วมตรงนี้ ก็เลย เอ๊ ถ้าอย่างนี้ มันดูเป็นสถาบัน ก็ใช้ว่าเป็นสถาบันโพธิยาลัย ก็มีองค์กรต่างๆ เข้ามาสอบถาม ให้การสนับสนุน อย่างเช่น พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน))

          ช่วงหลังมีองค์กรที่สนใจอยากให้เราทำงานเชิงรุก ก็คือโครงการชุมชนเป็นสุข ของ สสส.(สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เรียกว่า โครงการบ้านจุ้มเมืองเย็น ก็มีเครือข่ายพระทำอยู่ใน ๑๕ พื้นที่ แล้วก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ทำร่วมกันมา ๑ ปี เข้าสู่ปีที่ ๒ ก็มีชุมชนใกล้เคียงอยากทำ ดูเหมือนงานเริ่มขยายออก และของเดิมก็ทำในเชิงลึกมากขึ้น

พระทำวิจัยกันอย่างไร

          งานวิจัยเป็นลักษณะที่เราต้องสำรวจก่อนว่ามีพระอยู่ที่ไหน ทำอะไรกันอยู่บ้าง ซึ่งเราก็พบว่ามีพระที่ทำงานเสียสละ และมีความคิดดีๆ มากเลย แต่ท่านก็ทำของท่านไป ก็มองว่า เราน่าจะสามารถช่วยให้ท่านมีโอกาสได้ใช้สิ่งที่ทำ แล้วนำมาทบทวนเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ ก็เลยเกิดลักษณะของงานวิจัยที่เกิดจากตัวพระนักพัฒนาเอง เพื่อยกระดับงานที่มีให้เป็นงานวิจัย ซึ่งในส่วนแนวคิดทฤษฎีคงต้องค่อยๆ เรียนรู้ เพราะเราเองก็ถนัดด้านการทำงาน แต่พอให้ถอดองค์ความรู้ ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งเดิมเราก็ทำแบบลองผิดลองถูก แต่ตอนนี้ได้เอาแนวคิดทฤษฎีมาจับ มันก็เห็นภาพเชิงซ้อนบางอย่าง ที่เป็นประโยชน์กับการนำไปใช้ รวมทั้งได้เห็นแนวทาง วิธีการทำงาน การแก้ปัญหาของกลุ่มอื่นๆ แล้วได้นำไปปรับใช้ รวมถึงการสร้างงานใหม่ๆ

ทำให้มีการพัฒนางานใหม่เพิ่มขึ้น?

          มีการพัฒนางานจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่ๆ อย่างเช่นพระนักพัฒนาภาคเหนือ ที่เราไม่เคยเห็นกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ จะมีก็แต่กลุ่มออมทรัพย์ของกระทรวงมหาดไทย หรือของกรมการพัฒนาชุมชน หรือเครดิตยูเนี่ยนขององค์กรพัฒนาเอกชน พระก็เห็นชาวบ้านทำตามที่มีองค์กรมาสนับสนุน แต่พอมีการชวนกันไปเรียนรู้เพิ่มขึ้น ชาวบ้านและพระก็ได้กลับมาชวนกันคิดว่าเราน่าจะปรับงานเดิมกันอย่างไร หรือเอาข้อดีของสิ่งที่ได้ไปดูอย่างไร พระได้เรียนรู้ร่วมกับญาติโยม ก็เป็นการพัฒนางานเดิมของตัวเอง

เรื่องว่า "เป็นกิจของสงฆ์หรือไม่" ยังเป็นประเด็นหรือเปล่า

          ในภาคเหนือที่เราทำงานอยู่ เรื่องเหล่านี้คลี่คลายไปเยอะ ความเข้าใจมีมากขึ้น องค์กรที่มาทำงานร่วมกับเราเพิ่มขึ้น สิ่งที่เราพยายามสื่อออกไป โดยใช้สื่อ อย่างเช่นรายการวิทยุ ที่อาตมาเป็นคนทำ ก็สร้างความเข้าใจเรื่องการทำงานของพระมากขึ้น ว่าไม่ใช่แค่พระทำงาน แต่คือการนำเอาธรรมะเข้าไปสู่กิจกรรม อย่างเช่นกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ก็ต้องอธิบายได้ว่านี่คือธรรมะในพุทธศาสนา เมื่อคุณมีสัจจะ ความเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นหลักธรรมทางศาสนา

ท่านจัดรายการวิทยุด้วยหรือคะ

          จัดประจำทุกสัปดาห์อยู่ที่ สวท.(สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย) โดยจะใช้โทรศัพท์แล้วเข้าไปในพื้นที่ที่พระทำงานอยู่ จัดนั่งคุยกันเป็นวง หาชาวบ้าน เยาวชน พระ มาช่วยกันอธิบายออกอากาศ ว่างานที่ทำอยู่ใช้ธรรมะข้อไหน สร้างความสามัคคี บ้านเรามีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็คือสังฆหวัตถุ เรามีความจริงใจต่อกันมากขึ้นก็คือธรรมะใช่มั้ย ฆราวาสธรรม ก็สามารถอธิบายได้จากกิจกรรมที่มีอยู่ เด็กๆ ก็พูดได้ว่ามีธรรมะอะไรเกิดขึ้นในชุมชนของเขา ซึ่งตรงนี้มันช่วยทำให้ธรรมะในพุทธศาสนาไม่ใช่ธรรมะลอยๆ แต่เป็นธรรมะในชีวิตผ่านกิจกรรมที่ทำอยู่ แล้วสามารถอธิบายได้ว่า เกิดธรรมะขึ้นจริงอย่างไร ก็คิดว่ามันทำให้ความเข้าใจของคนมีมากขึ้น

จากการทำงานตรงนี้ ท่านมองว่าเรามีพระที่สนใจงานพัฒนาเพียงพอหรือไม่ มีการสร้างพระนักพัฒนารุ่นใหม่ๆ บ้างหรือเปล่า

          งานตรงนี้มันเป็นประโยชน์มาก ถ้ามองในแง่การทำให้มีพระรุ่นใหม่ๆ เพราะเดิมเรามีข้อมูลตรงนี้น้อย รู้เป็นจุดๆ รู้อยู่ไม่กี่คน แต่พอเราออกรวบรวม พบว่ามีพระทำงานอยู่เยอะแยะไปหมดเลย ซึ่งมันก็เป็นฐาน เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับพระนิสิตรุ่นใหม่ๆ เรียนแล้วอยากไปฝึกงานที่ไหน ก็รู้พื้นที่ รู้ชุมชน รู้ลักษณะงานที่ตรงกับความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสังคมสงเคราะห์ การศึกษาอิสระ สังคมวิทยา และอื่นๆ เรามีวิชาเรียนที่เกี่ยวกับพุทธศาสนากับสังคม พุทธศาสนากับสิ่งแวดล้อม พุทธศาสนากับปัญหาด้านต่างๆ อยู่แล้ว แต่อยู่ๆ จะไปศึกษาเรียนรู้ของจริงได้จากไหน เดิมเรารู้อยู่ไม่กี่ที่ ถามกันขึ้นมาทีก็พระครูสุภาจารวัตร ท่านอยู่ยโสธรนู้น.. ไกลเหลือเกิน จะไปศึกษาอย่างไรจากท่าน แต่งานตรงนี้ ทำให้เรามีที่สำหรับพระรุ่นใหม่ๆ ได้ไปดูงาน ฝึกงาน ไปเรียนรู้จริงจากในพื้นที่ ทั้งด้านเทคนนิค กระบวนการทำงาน รวมถึงการฝึกการเก็บรวบรวมข้อมูลไปด้วย ได้องค์ความรู้ที่เอากลับไปทำงานต่อได้

พระนักพัฒนาส่วนใหญ่เริ่มต้นทำงานอย่างไร สถาบันการศึกษาของสงฆ์เอื้อต่อการสร้างพระที่ใส่ใจปัญหาสังคมสักแค่ไหน

          ตัวพระที่ทำงานพัฒนาที่เราเคยไปศึกษาข้อมูล ส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชน ซึ่งทำให้เห็นปัญหาในชุมชนของตัวเอง ที่ญาติพี่น้องและคนในชุมชนต้องเผชิญอยู่ และเมื่อเห็นภาพของปัญหาชาวบ้านแล้ว ในฐานะที่เป็นลูกหลานของคนในชุมชนก็ยื่นมือเข้าไปช่วย

สถานภาพสงฆ์ก็เอื้อต่อการทำงานลักษณะนี้?

          ใช่ เพราะศรัทธาที่มีเอื้อต่อการทำงาน แต่ถ้าไม่ใช่คนในชุมชนจริงๆ ก็สังเกตได้ว่า แบ็กกราวนด์ส่วนใหญ่มาจากการเป็นคนชนบท เป็นคนจนในชุมชนนั่นแหล่ะ เมื่อไปอยู่ที่ไหน เห็นปัญหาของที่นั่น ก็จะเริ่มคิดว่าเป็นพระแล้วจะช่วยอะไรได้บ้าง แล้วหยิบบางเรื่องขึ้นมาทำ อย่างพระอาจารย์ที่วัดศรีสุพรรณ เป็นพระที่เชียงรายแล้วมาอยู่ในชุมชนนี้ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในชุมชนที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินเครื่องเขินขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบัน ถูกกลืนโดยระบบเศรษฐกิจ ทำให้เหลือแต่รายใหญ่ๆ เป็นบริษัทใหญ่ๆ เป็นคนมีสตางค์ที่จะสามารถดำเนินกิจการเหล่านี้ต่อไปได้ แต่ถ้าเป็นช่างฝีมือตัวเล็กๆ อยู่ยาก หรือไม่ก็ถูกกลืนเข้าไปอยู่ในระบบธุรกิจ การสร้างสรรค์งานก็เริ่มถดถอย กลายเป็นการผลิตเชิงอุตสาหกรรม เป็นงานหยาบๆ กลุ่มคนในชุมชนเหล่านี้ก็มาคุยกันว่าวัดน่าจะช่วยได้ ก็คือให้มีสถานที่เพื่อสามารถมารวมกลุ่ม คุยกัน สร้างสรรค์งานฝีมือ จนกลายเป็นการจัดงานเครื่องเงิน เป้าหมายก็คืออยากสืบทอดภูมิปัญญา เรื่องราวที่เป็นงานฝีมือของคนล้านนาจริงๆ ที่วัดสามารถมีบทบาท ส่วนผลิตแล้วจะเอาไปขายได้อย่างไร หน่วยงานอื่นที่พอจะช่วยได้ก็คงต้องเข้ามา

ระบบกระจายพระเป็นอย่างไร เหมือนระบบกระจายแพทย์หรือไม่ โอกาสที่พระจะได้กลับไปประจำวัดในชุมชนบ้านเกิดมีแค่ไหน

          ไม่มี พระที่บวชสมัยก่อนก็คือเรียนกับครูบาอาจารย์ในพื้นที่ ระยะหลังจะถูกดึงเข้ามาเรียนในสถาบันในระดับอำเภอ ในจังหวัด เหมือนการศึกษาทั่วไป แต่ขึ้นอยู่กับสถาบันว่าให้โอกาสที่พวกเขาจะได้กลับไปเรียนรู้เรื่องราวในชุมชนท้องถิ่นสักแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนของตัวเอง หรือชุมชนแห่งอื่นๆ ซึ่งก็มีลักษณะของความเป็นชนบทคล้ายๆ กัน เขาก็ได้คิดเปรียบเทียบกับพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง

หลังเรียนจบแล้วทำอย่างไร

          ส่วนหนึ่งก็มากระจุกในเมือง อย่างในกรุงเทพฯ นี่ก็จะเห็นว่าพระเต็มไปหมด ทั้งท่านเจ้าคุณ พระครู เต็ม..ไปหมด

ไม่มีการกำหนดโควตา?

          ไม่มี อยู่เท่าไหร่ก็อยู่ได้ อยู่นานเท่าไหร่ก็ได้

ที่วัดสวนดอกของท่านเป็นอย่างไร

          เราตั้งกติกาไว้ ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่มีที่พักด้วย ที่นี่อยู่ได้ ถ้ามาเรียนปริญญาตรีและโท หลังจากเรียนจบส่งงานรับปริญญาให้ออกจากวัด ยกเว้นเราเห็นว่ามีฝีไม้ลายมือจะช่วยงานด้านไหนให้ที่นี่ได้ก็จะขอให้ช่วยงานเราต่อ ดังนั้น ใน ๑ ปี ก็จะมีพระเวียนกันเข้ามา เรียนมัธยมก็ ๓ ปี เรียนมหาวิทยาลัยต่อก็อยู่ได้อีก ๔ ปี แต่ถ้าไม่เรียนต่อ จะไปเรียนที่อื่นหรือกลับบ้านก็ต้องออกจากวัด ปีหนึ่งที่นี่จะมีพระเวียนออกเวียนเข้าประมาณ ๔๐-๕๐ รูป

ฟังดูราวกับว่าการศึกษาของสงฆ์ขยายตัวเพิ่มขึ้น จำนวนผู้บวชเรียนเพิ่มขึ้นหรือ

          ก็ไม่เสียทีเดียว ยังต้องขวนขวาย เพราะปัจจุบันการศึกษาขยายตัวขึ้น โรงเรียนขยายโอกาสมีมากขึ้น เข้าถึงพื้นที่มากขึ้น ก็มีเด็กมาบวชน้อยลง ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติมากๆ ในพื้นที่ก็ต้องพยายามแสวงหา โดยเฉพาะการจัดบวชบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ซึ่งก็ถือว่า เอาละ บวชแล้ว ครึ่งหนึ่งอยู่ ครึ่งหนึ่งสึกก็ยังโอเค เพราะในโรงเรียนเอง ครูก็อยากได้เด็ก เพราะถ้ามาบวชกันหมดโรงเรียนก็ไม่มีเด็กเรียน ก็เป็นการแย่งชิงกันอยู่ ซึ่งในส่วนของวัดเอง มองในแง่หนึ่งก็เป็นการสืบทอดพระศาสนา มันจำเป็นต้องมีคนมาบวชเพื่อที่จะมาเรียนรู้และเผยแพร่พระพุทธศาสนาต่อไป

จำนวนผู้บวชเรียนเป็นอย่างไร

          ถ้าพูดถึงจำนวนมันลดลงอยู่แล้ว ประชากรไทยเพิ่มเป็น ๖๐ กว่าล้าน ถ้าเทียบกับตอนที่ประเทศไทยมีประชากร ๔๐ ล้าน สถิติพระไม่เคยเพิ่ม เมื่อไหร่ก็ ๓๐๐,๐๐๐ ในช่วงพรรษา ช่วงออกพรรษาลดลงไปอีก

พูดถึงพระนักพัฒนา เราจะนึกถึงบทบาทของพระในชนบทมากกว่าพระในเมือง?

          มันอยู่ที่ความตั้งใจ และการมองปัญหาว่าเราเห็นปัญหาอะไรมากกว่า ในเมืองยิ่งปัญหาเยอะ

พระตอบโจทย์ของเมืองได้สักแค่ไหน

          ชุมชนเมืองมีรากฐานความเป็นชุมชนดั้งเดิมอยู่ในหลายพื้นที่ อย่างชุมชนเครื่องเงินเครื่องเขินที่พูดถึง หรือถ้าเป็นชุมชนใหม่มีปัญหามาก ปัญหาหนึ่งที่สำคัญก็คือปัญหาเรื่องการอยู่การกิน ความเข้าอกเข้าใจในการใช้ชีวิต เรื่องเหล่านี้คนในเมืองขาดอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการขาดในแง่ของการเรียนรู้จากพื้นฐานของทรัพยากรที่มีอยู่ ในชุมชนชนบทระดับหนึ่งเขาเรียนรู้ได้จากการใช้ชีวิต ขณะที่เด็กในเมืองแทบไม่มีโอกาส เมื่อขาดโอกาส การใช้ชีวิตก็เปลี่ยนไป เด็กจากชนบทเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่รู้วิธีการที่จะอยู่จะกิน ก็หันไปพึ่งพาตลาด แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าอันไหนควรกินอันไหนไม่ควรกิน ไปศูนย์การค้า ไปร้านแมค โดนกรอกหูตลอดเวลาว่าสิ่งเหล่านี้มันดี แต่ถามว่ามันดีจริงหรือเปล่า นี่คือปัญหาของคนในเมือง

          อีกอันคือความรู้สึกขาดข้างใน สิ่งที่ทำได้คือการทำบุญ ถวายสังฆทาน ซึ่งก็ทำได้ชั่วครั้งชั่วคราวในช่วงวิกฤติ ช่วงสอบ นี่คือเด็กที่เข้ามาอยู่ในเมือง รวมทั้งคนในเมืองที่รู้สึกขาดอะไรบางอย่าง ขาดความมั่นใจก็ทำแบบนี้ แล้วรู้หรือเปล่าว่าทำถูกทำผิด เขาไม่รู้นะ บอกไม่ได้ วิธีการก็คือ จะทำสังฆทานใช่มั้ย ก็ไปซื้อถังเหลือง หิ้วเข้าวัดถวายพระ ถามว่าในถังเหลืองมีอะไร ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเปิดดู รู้จากฉลากที่เขียนไว้ข้างถัง แต่ไม่รู้ว่ามันใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ เด็ก มช.ก็เหมือนกัน จะทำบุญตักบาตรตอนเช้าก็มาตลาดพยอม ของเขาวางขายอยู่แล้ว ไม่รู้หรอกว่ามันกินได้กินไม่ได้ เขาขายเป็นชุด ซื้อ 9 ชุด 99 โอโห เลขดีจังเลย ใส่ไปปรากฏว่าพระฉันไม่ได้ เพราะเป็นอาหารบูด

คนทำบุญแล้วก็สบายใจกลับไป?

          สภาพของปัญหาแบบนี้มีอยู่ทั่วไป พระเห็นหรือเปล่า ถ้าไม่เห็นก็ไม่รู้จะทำอะไร แต่ถ้าเห็น เราก็ทำงานอยู่ตอนนี้หลายเรื่อง โดยเฉพาะในส่วนของงานคุ้มครองผู้บริโภค ในวัดเองพระเณรเราก็เอามานั่งคุยกัน ว่าเราจะดูแลตัวเองอย่างไรในเรื่องการอยู่การกิน ส่วนนี้มันก็มีหลักการของพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว พระก่อนจะฉันอาหารก็พิจารณาเป็นภาษาบาลี ฟังไม่รู้เรื่อง ใจความก็คือว่า ขณะนี้เรากำลังจะฉันอาหาร ไม่ใช่เพื่อความเอร็ดอร่อย ไม่ใช่เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่ใช่เพื่อการประดับการตกแต่ง.. อะไรพวกนี้ แต่เราจะฉันอาหาร เพื่อสามารถยังชีวิตนี้ให้คงอยู่ต่อไป เพื่อการพัฒนาคุณธรรมของเราให้มากขึ้น นี่ของดีทั้งนั้น แต่เราไม่ค่อยเข้าใจกันหรอก แล้วถ้าจะฉันแบบนี้ หรือแม้แต่คุณจะกินแบบพุทธเนี่ย คุณจะกินอาหารชนิดไหน กินแมคได้มั้ย ไม่ได้แล้ว ถ้าพิจารณาแบบนี้ คุณจะพัฒนาชีวิตเพื่อทำสิ่งที่ดีต่อไป ถ้ากินพิซซ่ามันก็ไม่ใช่

จะนำพุทธธรรมสอดแทรกในวิถีชีวิตของคนเมืองได้อย่างไร

          ในงานคุ้มครองผู้บริโภค เราพบว่ามันใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ในขณะที่ สคบ.อย.เน้นเรื่องกฎหมาย ถ้าถูกกฎหมายถือว่าโอเค มีฉลากรับรองกินได้ใช้ได้หมด แต่คุณไม่ได้เข้าไปดูเชิงลึกว่า ถ้าคุณกินบะหมี่สำเร็จรูปทุกวัน กินมันฝรั่งทอดทุกวัน จะเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่ก็ อย.รับรองนะ แต่มันทำให้ขาดโอกาสในการรับสารอาหารอย่างอื่นที่มีประโยชน์ อันนี้เริ่มต้นก็คือขาดโอกาส ขณะเดียวกัน ตัวมันเองก็มีพิษ ดังนั้น กฎหมายช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เรื่องภูมิปัญญาก็เรื่องใหญ่ แล้วเราไม่ค่อยได้รับคำอธิบายในเชิงนี้เท่าไหร่ การกินอาหารของคนเมืองเหนือ มันเหมาะกับคนเมืองเหนือ การกินแกงฮังเล แกงโฮะ แกงแค มันเหมาะมากสำหรับคนเมืองเหนือ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

          สุดท้าย คือหลักศาสนา หลักพุทธน่ะสำคัญ การใช้เสื้อผ้า ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็ใช้อย่างฟุ่มเฟือย ใช้อย่างไม่รู้จักบะยะบะยัง ในตู้เสื้อผ้าเต็มไปหมด แต่ไม่ค่อยได้ใช้ อย่างนี้เป็นต้น จริงๆ แล้วการใช้เสื้อผ้าอาภรณ์ ก็เพื่อปกปิดร่างกาย พระสวดเช้าเย็นมีการทบทวนเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลา แต่ก็อยู่ที่พระเองจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้หรือไม่ด้วยนะ รู้แต่บาลี อ่านแต่บาลี แต่ไม่เข้าใจความหมายก็ไม่ได้เอามาใช้ประโยชน์ คุณค่าที่แท้จริงในหลักศาสนาเท่านั้นที่พูดถึงเรื่องนี้ ไม่มีในกฎหมาย ไม่มีในภูมิปัญญา

มีวิธีการอย่างไร

          เขาเรียนรู้เรื่องพวกนี้ คนที่เข้ามาทำกิจกรรมกับเรา

ทำอย่างไรกับกลุ่มนักศึกษา

          ถ้าพากันมาถึงที่วัดบอก "พระอาจารย์หนูจะมาถวายสังฆทาน" ถามว่าจะถวายอะไร ถังสังฆทานไม่ต้องหิ้วมานะ มีเยอะแล้ว

รออยู่ที่วัดแบบนี้ เรียกว่าเป็นการตั้งรับหรือเปล่า แล้วคนรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยจะเข้าวัดกันสักเท่าไร

          เรามีกิจกรรมที่ตลาด มีการทำงานเชิงรุก ร่วมกับ สสจ. ซึ่งเขามีการไปตรวจ หรือเราอาจจะให้เด็กไปสำรวจ มีมาบอกว่า (ทำท่ากระซิบกระซาบ) พระมีการเดินเวียนด้วยนะ (หัวเราะ) อะไรประมาณนี้ เราก็จะต้องช่วยกันดูแล พอไปสำรวจแล้ว เรื่องกฎหมายก็เป็นของ สสจ. (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) พอไปหาเทศบาล บอกเป็นพื้นที่ของ อบต.สุเทพ พอไปหา อบต.สุเทพบอกว่า ไม่ใช่ๆ เป็นของเทศบาล เพราะเขาตั้งบนถนน ฟุตบาทขึ้นไปนี่เป็นของ อบต.แต่ลงถนนกลายเป็นของเทศบาล อ้าว ทำไงดีวะ ก็ออกอากาศแล้วกัน แล้วให้คนที่เจอปัญหาโทรเข้าไป ก็โทรกันเข้าไปเยอะ สรุปได้ว่า ตลาดพยอมมีปัญหา เป็นการเริ่มต้นที่จะมาคุยถึงปัญหาเพื่อช่วยกันหาทางแก้ไข ในส่วนของนักศึกษา ก็มีการไปคุยกับองค์กรนักศึกษา เขาบอกว่าไม่รู้เรื่องนี้ แต่ก็สนใจ

ดูเหมือนท่านจะเป็นพระเมือง?

          ไม่รู้เหมือนกัน แต่ชอบชนบท เรียนรู้จากชนบทเยอะกว่า เรียนรู้จากครูบาอาจารย์จากพระที่เป็นพระนักพัฒนา ไปที่ไหนไม่ค่อยได้ไปพูด ไม่ได้เป็นพระวิทยากร แต่ไปนั่งแอบฟัง เก็บข้อมูล เราก็ไปที่นั่นที่นี่ มีภาคีที่มาช่วยกัน อย่างอาจารย์กาญจนา แก้วเทพ (คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ) ก็มาช่วยพระในการทำวิจัย อาจารย์ให้เราเห็นความสำคัญในหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับงานวิจัย กลุ่มองค์กรที่เป็นภาคีทำงานร่วม เราก็ขอให้มาช่วยดูงานวิจัยให้พระบ้าง มาช่วยเติมตรงนั้นตรงนี้ พอเขาขอเรามาบ้าง เราก็ปฏิเสธไม่ได้ ภาคกลางเรียกว่าลงแขก บ้านเราเรียกว่า เอามื้อ คือเราไปช่วยเขา เขากลับมาช่วยเรา

ความสนใจ และเครือข่ายคนทำงานเหล่านี้เริ่มต้นได้อย่างไร

          สมัยเป็นพระนิสิตอาตมาเป็นนักกิจกรรม ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ไปสอนพุทธศาสนาในโรงเรียน เราอยากฝึกฝนตัวเองก็จัดโครงการขึ้นไปบนดอย เอาของไปช่วยชาวบ้าน ไปเทศน์ จะชอบทำกิจกรรมลักษณะนี้ พอไปเรียนหนังสือที่อินเดีย ๖ ปี เราก็เห็นอะไรมากขึ้นอีก เห็นบทบาทของศาสนา ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มองค์กร ทั้งของพุทธ ฮินดู และอื่นๆ ในเชิงวัฒนธรรมก็เยอะมาก สนใจเรื่องของกิจกรรมขององค์กรพระพุทธศาสนา สายของท่านทะไลลามะ แล้วก็ทำกิจกรรมกับกลุ่มนักศึกษาด้วยกันเอง เป็นประธานกลุ่มนักศึกษาไทยที่นั่น เป็นเลขาธิการของกลุ่มนักศึกษาชาวพุทธ

          พอกลับมาก็เป็นผู้บริหาร มาสอนเรื่องปัจจุบัน อย่างพุทธศาสนากับเหตุการณ์ปัจจุบัน หรือปัญหาปัจจุบันกับทางออก หรือถ้าพูดถึงพระไตรปิฎก ก็จะพูดถึงส่วนที่มีความสำคัญกับปัจจุบัน เช่น นิเวศวิทยาในพระไตรปิฎก กิจกรรมการเรียนของนักศึกษา จะไม่ค่อยใช้วิธีบรรยาย แต่จะเป็นการคุยกัน อยากเรียนรู้เรื่องอะไรก็ใช้หลักสูตรเป็นฐาน แล้วมาคุยกัน แล้วพยายามจะให้พระได้ไปเรียนรู้จากข้างนอก จากจุดนี้ และความสนใจของเรา ก็มีคนเห็น เขาก็ติดต่อเข้ามา เอ้อเนี่ย ชาวบ้านกำลังมีปัญหาอยู่หน้าศาลากลาง พระอาจารย์มาคุยกันหน่อยมั้ย เอ้า ก็ไป พอไปแล้วก็กลายเป็น พระสงฆ์เพื่อคนจน ก็ขยับมาเรื่อยๆ

สนใจงานพัฒนาและชนบท ทำไมไม่เลือกที่จะอยู่ในพื้นที่

          (นิ่งคิด) ..เรียกว่ามาไกลเกินกว่าจะกลับไปอยู่แบบนั้น เพราะถ้ามองดูสถานะของเราขณะนี้ และมองคนที่อยู่ระดับนี้ที่จะช่วยให้มันมีระดับของการทำงานต่อไปได้ มันไม่ค่อยเห็น ถ้ามันมีคนน่ะได้ แต่นี่มองว่า เอาล่ะ การทำงานในระดับพื้นที่เราทำได้ ไม่มีปัญหา แต่ในระดับพื้นที่ก็จะมีขอบเขตในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่พอจะขึ้นมาในระดับที่จะพูดคุยกับคนทั่วไป เออ มันต้องมีอีกระดับหนึ่ง

ตรงนี้ทำอะไรได้เยอะกว่า?

          ทำอะไรได้เยอะกว่า

เป็นคนเชียงใหม่หรือเปล่าคะ

          เป็นคนพะเยา

บวชเรียนมาตลอด?

          บวชตั้งแต่อายุ ๑๓ หลังจบ ป.๗

สมัยนั้นถ้าจะบวชเรียนนี่ชาวบ้านว่ายังไง ครอบครัวว่าอย่างไร

          เป็นภาวะที่เห็นชอบร่วมกัน เหมือนกับว่ามีลูกมีหลานก็น่าจะให้บวชสักคน พี่ชายมี ก็ไม่มีใครได้บวช อันที่สองก็คือว่า โอกาสของการเรียนมันน้อยนะ ลูกพ่อแม่เนี่ยค่อนข้างเรียนดี แต่ฐานะยากจน ในขนาดที่ว่าได้รับแจกเสื้อผ้าน่ะ เวลามหาดไทยหรือใครเขามาแจก บ้านเราจะเป็นเด็กที่ได้รับแจก ป.๕-๖-๗ ก็เกือบจะไม่ได้เรียนแล้วนะ ช่วงนั้นเป็นการขยายโอกาส ซึ่งเพิ่งเริ่ม พอเริ่มปั๊บ ทางโรงเรียนก็สร้างอาคาร ยังไม่มีโต๊ะเก้าอี้ นักเรียนที่จะเข้ามาเรียน พ่อแม่ต้องมีโต๊ะเก้าอี้มาเอง ของเรามันไม่ได้ มันไม่มีจริงๆ บังเอิญโชคดีมีคนบริจาค เราก็ได้นั่งเรียนในโต๊ะเก้าอี้ชุดบริจาค ก็เลยเป็นเหตุผลว่า หลังจาก ป.๗ แล้วก็น่าจะเรียนต่อ แล้วเพื่อนๆ ที่เรียนอยู่ด้วยกันในชุมชนก็บวชกันเยอะ ในรุ่นเดียวกันบวช ๕ คน เป็นงานปอยใหญ่ ก็ไปบวช ทางครอบครัวก็ยินดี

ไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตมีทางเลือกอื่นนอกจากเป็นพระ?

          ก็มี แต่รู้สึกว่าเรายังทำงานได้ ยังไม่มีอะไรติดขัดถึงขั้นที่ต้องไป โดยส่วนตัวคิดว่า เออ ก็ได้ทำงานมีประโยชน์ ประโยชน์ส่วนตัวเราไม่เท่าไหร่ ไม่เคยรู้สึกว่าอะไรจะต้องเป็นประโยชน์ส่วนตัวนะ ก็มองประโยชน์คนอื่น ฉะนั้นสถานะแบบนี้มันทำได้ แต่ถ้าถามว่าจะอยู่จนเฒ่าจนแก่หรือเปล่านี่ไม่รู้ เมื่อไหร่ที่ในสถานะแบบนี้มันทำอะไรไม่ได้อย่างที่เราอยากจะทำก็ไม่แน่ แต่โดยรวมๆ ถือว่ายังพอใจกับตรงนี้ แล้วก็ไม่ค่อยมีใครมาอะไรสักเท่าไหร่ ท่านเจ้าอาวาสก็ไม่ได้มาตำหนิติเตียนอะไร รู้ว่ามันไปโน่นไปนี่ ก็ปล่อยๆ

ยังมีปัญหาเรื่อง 'กิจของสงฆ์' อยู่อีกหรือไม่

          จะมีอยู่หน่อยก็ตรงการทำงาน ที่เมื่อส่วนที่เราทำงานใกล้ชิดอยู่ด้วยคือเอ็นจีโอถูกมอง เราก็พลอยถูกมองไปด้วย โดนบอกว่าเป็นพระเอ็นจีโอ

ดีหรือไม่ดี?

          ที่จริงพระพุทธเจ้าก็เป็นเอ็นจีโอ ใช่มั้ย ไม่ใช่องค์กรรัฐน่ะ (หัวเราะ)

แต่ตรงนี้ฟังดูไม่ได้เป็นเสียงที่ชื่นชมสักเท่าไร

          ก็ความหมายของเอ็นจีโอในรัฐบาลนี้ เป็นความหมายที่ไม่ค่อยดี ทั้งที่จริงๆ เอ็นจีโอกับจีโอ (Governmental Organization) ก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่เมื่อความหมายตรงนี้ค่อนข้างลบ พอพูดถึงแบบนี้ก็ออกจะลบ แต่เขาก็ไม่ถึงกับว่าเราลบนะ เป็นประเด็นเรื่องแซวๆ กันเล่นๆ อะไรทำนองนี้ ซึ่งมันก็แฝงอะไรอยู่ แต่ไม่คิดว่าเป็นปัญหา เพราะเรารู้ว่าเราทำอะไร เป้าหมายเราคือไม่เป็นรัฐ ไม่เป็นเอ็นจีโอ เราทำงานโดยใช้หลักพุทธธรรมเป็นหลัก อันไหนที่รัฐหรือเอ็นจีโอทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ค่อยดี เราก็เข้าไปทำ ถ้าหากเรื่องนั้นมันเป็นผลประโยชน์ เป็นความสุขความเจริญของคน.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :