หลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลี
ผู้เปิดประตูความรอบรู้เมืองพะเยา ประพันธ์ ผลเสวก
สโมสรศิลปวัฒนธรรม ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๑ หน้า ๔๘
อายุพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลี เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖ ล่วงเข้า ๘๗ ปีแล้ว แต่พระเดชพระคุณยังผ่องใสด้วยศีลและธรรม หลวงพ่อกล่าวติดตลกว่า
"ทางศาสนานั้นแม้อายุหกสิบเจ็ดสิบแล้วก็ยังไม่มีเกษียณเหมือนทางราชการอื่นๆ แต่เมื่ออายุมากเข้าเขาก็โยกมาให้เป็นที่ปรึกษา คงเห็นว่าอาตมายังทำงานได้ ช่วยเหลือวัดและพระศาสนาได้"
กล่าวจบตอนหนึ่งหลวงพ่อก็หัวเราะอย่างเบิกบาน ก่อนที่จะเล่าถึงความเป็นมาของความสนใจในประวัติศาสตร์และตำนานของอาณาจักรภูกามยาว หรือนัยหนึ่งพะเยา อาณาจักรเก่าแก่แห่งหนึ่งของหัวเมืองภาคเหนือ
"สักเมื่อราวปีพุทธศักราชสองพันห้าร้อย อาตมาเกิดสนใจในเรื่องราวของท้องถิ่นและเริ่มเขียนประวัติความเป็นมาของเมืองพะเยาตั้งแต่ปีสองพันห้าร้อย เมื่อเริ่มเขียนหนังสือจึงเริ่มค้นคว้าจากบันทึกในสมุดข่อยโบราณและหนังสือสมัยอดีตทุกเล่ม อาศัยว่าอาตมามีความรักและสนใจในภาษาโบราณจนอ่านเขียนได้คล่องอยู่แล้ว จึงอ่านจากบันทึกสมุดข่อยบ้าง พงศาวดารโยนกบ้าง ตำนานเมืองของท่านเสฐียรโกเศศก็ได้อ่าน ก็พอรู้ว่าถิ่นที่เป็นเมืองพะเยาเดี๋ยวนี้เมื่อก่อนเป็นหัวเมืองเล็กหัวเมืองน้อยกระจัดกระจายกันอยู่ และพอดีกับที่ตอนนั้นนายวรการ บัญชา ได้ลงมารณรงค์หาทุนสร้างโรงพยาบาลพะเยา ก็เลยขอให้อาตมารวบรวมและเรียบเรียงประวัติความเป็นมาของเมืองพะเยาขึ้น"
หลวงพ่อระลึกถึงเรื่องราวหนหลังเมื่อเริ่มสนใจการค้นคว้าและการเรียบเรียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผูกพันต่อเนื่องกันมายาวนานกว่า ๔๐ ปี ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระโสภณธรรมมุนี จนบัดนี้หลวงพ่อก็ยังสืบค้นและเขียนเป็นหนังสือขึ้นมาทั้งเล่มเล็กเล่มใหญ่อีกนับไม่ถ้วน จนกลายเป็นแหล่งศึกษาอย่างดีของบรรดาครูบาอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาที่สนใจเรื่องของเมืองพะเยา
หนังสือประวัติศาสตร์เมืองพะเยาที่หลวงพ่อรวบรวมขึ้นในปี ๒๕๐๐ นั้น กล่าวถึงความเป็นมาของเมืองเก่าแก่ชื่อภูกามยาว โดยกล่าวถึงพ่อขุนเงิน ปฐมกษัตริย์แห่งนครเงินยางเชียงแสน มีพระราชบุตร ๒ พระองค์ คือขุนชิน หนึ่ง และขุนศรีจอมธรรม หนึ่ง เมื่อพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ทรงเจริญวัย พ่อขุนเงินทรงพิจารณาเห็นว่า ถ้าให้พระราชโอรสทั้งสองประทับอยู่ในราชสำนักเดียวกัน ต่อไปภายหน้าเกรงจะเป็นข้าศึกแก่กันและกัน จึงแบ่งพระราชสมบัติเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งพระราชทานแก่ขุนศรีจอมธรรม พระราชโอรสองค์ที่สอง และให้ไปครองเมืองภูกามยาว คือพะเยาทุกวันนี้
อีกส่วนหนึ่งพระราชทานแก่ขุนชินและให้อยู่ในราชอาณาจักรเงินยางต่อไป เมื่อพ่อขุนศรีจอมธรรมได้รับคำสั่งจากพระราชบิดาแล้ว ก็พาเอาหมู่บริวารพลโยธาหาญออกจากเมืองหิรัญเงินยาง ไปสู่เมืองภูกามยาว และตั้งเมืองขึ้นที่เมืองเก่าที่ร้างแล้วในตำบลต๋ำ เมื่อตรวจดูดีแล้ว พ่อขุนศรีจอมธรรมจึงให้สร้างเมืองขึ้นใหม่แล้วเสด็จขึ้นครองเมืองต่อไป
พ่อขุนจอมธรรมขึ้นครองราชย์ได้ ๓ ปี มีพระราชโอรสองค์หนึ่ง ให้พระนามว่า "ขุนเจื๋อง" และอีก ๓ ปีต่อมาก็มีพระราชโอรสอีกองค์หนึ่ง ให้นามว่า "ขุนจองหรือขุนชิง"
ขุนเจื๋องนั้นต่อมามีบทบาทยิ่งใหญ่หลังจากได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาที่เมืองพะเยาแล้ว ได้ไปช่วยลุงที่เมืองหิรัญนครเงินยางจากการโจมตีของพวกแกว (ญวน) จนเอาชนะได้อย่างงดงามและได้ขึ้นครองราชย์แทนลุงอีกแห่งหนึ่งที่นครเงินยางเชียงแสน
ต่อมาได้สละราชสมบัติที่เมืองพะเยาให้กับพระราชโอรสชื่อลาวเงินเรืองต่อไป นั่นเป็นเรื่องราวของพะเยายุคต้น
หนังสือเรื่องราวของพะเยายุคต้นนี้ เป็นจุดแรกที่หลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลีให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น และนำไปสู่การค้นหาร่องรอยหลักฐานอื่นๆ ที่มีทั้งศิลาจารึก ศิลปวัตถุ และการค้นหาทางโบราณคดี ที่ยืนยันว่าพะเยาในอดีตเคยเป็นถิ่นอาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ด้วยเหมือนกัน
ในหนังสือ "พระเด่นเมืองพะเยา" เขียนโดยพระมหาศรีบรรดร ถิรธัมโม ได้กล่าวถึงตัวตนจริงๆ ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลีเอาไว้ว่า พระนักปราชญ์แห่งเมืองพะเยาท่านนี้มีความเป็นปราชญ์รวม ๓ ประเด็นด้วยกัน คือ
หนึ่ง เป็นปราชญ์ในฐานะส่งเสริมทางด้านการศึกษา
สอง เป็นปราชญ์ในฐานะผู้สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้
สาม เป็นปราชญ์ในฐานะเป็นองค์แห่งความรู้
ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังได้แจกแจงถึงรายละเอียด ที่ท่านผู้เขียนมองเห็น ในทัศนะของท่านเองไว้ในแต่ละประเด็น คือในประเด็นปราชญ์ในฐานะส่งเสริมทางด้านการศึกษา เกิดจากสมัยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อจำพรรษาอยู่ที่วัดอุโมงค์คำหรือวัดสูง ในขณะดำรงสมณศักดิ์พระครูพินิตธรรมประภาส หลวงพ่อมีความปรารถนาอยากจะให้พระภิกษุสามเณรชาวพะเยา มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ทัดเทียมกับพระภิกษุสามเณรในจังหวัดอื่นๆ ที่มีการเปิดสอนไปแล้ว แต่จะให้รองบประมาณในการจัดสร้างคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากรัฐบาลมีเป้าหมายไปที่ลูกหลานชาวบ้านมากกว่า จึงละเลยการจัดการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร
หลวงพ่อจึงคิดหาหนทางเอาเอง
แรกทีเดียวคือการขออนุญาตก่อตั้ง ซึ่งหลวงพ่ออาศัยว่าหลังจากเรียนจบชั้น ป.๔ และสอบได้นักธรรมตรีจากสำนักวัดสางใต้ที่บ้านเกิดของท่านแล้ว ท่านได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และสอบได้นักธรรมและเปรียญธรรม ๕ ประโยค จากการศึกษาและการสอบที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามแล้ว หลวงพ่อได้รู้จักใกล้ชิดกับพระผู้ใหญ่มากหน้าหลายท่าน จึงได้ทำจดหมายขอให้สนับสนุนการเปิดโรงเรียนสอนพระภิกษุสามเณรชาวพะเยา เช่นเดียวกับที่ท่านได้ไปพบเห็นจากโรงเรียนที่จังหวัดลำพูน
พระผู้ใหญ่ทุกท่านได้สนับสนุนเต็มที่
หลวงพ่อจึงได้ใบอนุญาตให้เปิดโรงเรียนสอนพระภิกษุสามเณรได้ตามต้องการ ได้ใช้ชื่อว่าโรงเรียนพินิตประสาธน์ เปิดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ สอนทั้งบาลีและวิชาสามัญของโลก เช่นเดียวกับโรงเรียนเมธวุฒิกร จังหวัดลำพูน
หลังจากนั้นหลวงพ่อได้รับการอนุเคราะห์จากชาวพะเยาที่มีฐานะดี ร่วมก่อสร้างอาคารเรียนขึ้นมาได้หลังหนึ่ง มีนักเรียนเริ่มแรกทั้งพระเณรและเด็กรวม ๕๐ คน เก็บค่าเล่าเรียนคนละ ๕๐ บาทต่อเดือน
เริ่มเรียนชั้น ป.๕ ขึ้นไป แต่พอถึง ป.๗ นักเรียนต้องไปสอบเทียบที่โรงเรียนพะเยาพิทยาคม เพราะรัฐบาลยังไม่รับรองวิทยฐานะ
ขณะนั้นหลวงพ่อต้องออกเทศน์หาเงินมาร่วมสนับสนุนการก่อสร้างอาคารไปด้วย เนื่องจากเงินที่ได้จากญาติโยมยังไม่พอ
ทำอย่างนี้อยู่หลายปี และยังต้องเป็นครูสอนนักเรียน และหารายได้มาเลี้ยงดูพระภิกษุและสามเณรในโรงเรียนแห่งนี้อีกด้วย
นักเรียนทั้งหมดมี ๕๐ คน แต่ครูมีเพียง ๒ คนเท่านั้น
แต่นักเรียนจากโรงเรียนแห่งนี้ก็ได้รับคำยกย่องชมเชยจากหลายหน่วยงาน
นอกจากการศึกษาที่เริ่มด้วยตัวพระเดชพระคุณหลวงพ่อเองแล้ว หลวงพ่อยังได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหลายแห่ง ทั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมของวัดศรีโคมคำ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ สมัยพระครูบาปัญญา ปัญโญ ซึ่งเมื่อเปิดสอนได้ระยะหนึ่งก็ต้องล้มเลิกเพราะมีอุปสรรคปัญหาหลายเรื่อง เมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลีได้เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำแล้ว จึงฟื้นฟูขึ้นมาใหม่เมื่อปี ๒๕๑๙ และเจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้
หลวงพ่อเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา และตั้งใจไว้ว่าในอนาคตพะเยาจะต้องเติบใหญ่เป็นเมืองการศึกษา เมื่อมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยต้องการขยายวิทยาเขตออกไปยังหัวเมือง และสนใจที่จะเปิดการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับพระภิกษุขึ้นที่พะเยา และเล็งเห็นว่าวัดศรีโคมคำซึ่งตั้งอยู่ติดกว๊านพะเยาน่าจะมีความเหมาะสม เมื่อนำความไปหารือหลวงพ่อก็ยินดี และช่วยเหลือทุกประการจนสามารถเปิดได้เมื่อปี ๒๕๓๔
ในฐานะปราชญ์แห่งวัฒนธรรมการเรียนรู้นั้น ผลงานที่ชัดเจนที่สุด คือความพยายามที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองพะเยาขึ้นที่วัดศรีโคมคำ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ เนื่องจากก่อนหน้านั้นเมื่อประมาณปี ๒๕๐๕ หลวงพ่อได้พบปะกับอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ที่วัดศรีโคมคำ และอาจารย์ไกรศรีได้ปรารภกับหลวงพ่อว่า ที่เมืองพะเยานั้นมีพระพุทธรูปหินทรายและจารึกอยู่มาก เนื่องเพราะเป็นเมืองใหญ่ที่เก่าแก่มาก น่าจะได้จัดเก็บไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้ศึกษา
หลวงพ่อจึงได้ตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ และเที่ยวเก็บพระพุทธรูปหินทรายและจารึกโบราณ มาเก็บไว้ที่ศาลารายของพระอุโบสถพระเจ้าตนหลวงจนเต็มไปหมด ไม่มีที่ทางจะเก็บได้อีก และยังไม่มีการจัดเป็นหมวดหมู่
หลวงพ่อคิดถึงการสร้างพิพิธภัณฑ์มาโดยตลอด เรื่องนี้หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่แจ่มใสว่า
"ในปี ๒๕๓๗ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงนำคณะนักเรียนนายร้อยทหารบกขึ้นมาที่จังหวัดพะเยา และเสด็จมาที่วัดศรีโคมคำ ทางวัดจึงได้จัดโต๊ะ แล้วนำเอาโบราณวัตถุที่เก็บได้จากท้องที่ต่างๆ ของเมืองพะเยาให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทอดพระเนตร เวลานั้นอธิบดีกรมศิลปากรได้กราบทูลขอสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองพะเยา เพื่อใช้เป็นที่เก็บโบราณวัตถุอันมากมาย สมเด็จพระเทพฯ ทรงยินดีให้สร้าง แต่ขอที่จะไม่เป็นประธาน แต่ยังไม่มีการสร้าง เพราะติดขัดตรงที่ดินเป็นสิทธิครอบครองของวัด ไม่อาจยกให้เป็นของกรมศิลปากรได้ แต่ต่อมาคุณมงคล บุญวงศ์ รองอธิบดีกรมศิลปากรเวลานั้นได้ถูกโยกย้ายไปรับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และพอดีกับที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีโครงการที่จะรองรับการจัดแสดงโบราณศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของท้องถิ่น จึงเปิดโอกาสให้วัดศรีโคมคำสร้างหอวัฒนธรรมในท้องถิ่นขึ้นมาได้ ด้วยงบประมาณการก่อสร้างที่สนับสนุนโดยกระทรวงวัฒนธรรม อาคารหลังนี้คือหอวัฒนธรรมนิทัศน์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙"
ที่นี่หลวงพ่อได้เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร เข้าไปช่วยจัดห้องแสดงเกี่ยวกับเมืองพะเยา ตั้งแต่อดีตดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันให้รวมถึง ๑๖ ห้อง รวมทั้งลานแสดงศิลาจารึกที่เก็บรวบรวมได้จากท้องที่ต่างๆ อีกมากมาย
แม้ชาวต่างชาติก็สามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเมืองพะเยาได้อย่างลึกซึ้ง
เวลานี้หลวงพ่อมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหอวัฒนธรรมนิทัศน์อีกตำแหน่งหนึ่ง และปัจจุบันจึงเสมือนแหล่งความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองพะเยา ด้วยความพยายามและความสามารถของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลี
ในฐานะเป็นปราชญ์หรือองค์แห่งความรู้ หลวงพ่อเป็นพระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถสูงอย่างน่าทึ่ง หลวงพ่อสามารถอ่านและเขียนภาษาไทยล้านนาได้อย่างแตกฉาน และยังสามารถออกแบบแปลนแผนผังอุโบสถ วิหาร และกุฏิแบบล้านนาได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย
การแต่งค่าวซอของหลวงพ่อก็คมคาย แสดงถึงความสามารถทางด้านกวีพื้นบ้านที่ไม่ด้อยกว่ากวีเอกใดๆ ฝีมือการเขียนค่าวซอของหลวงพ่อที่ผู้สนใจจะหาอ่านได้มีหลายเล่ม เช่น ค่าวซอเที่ยวหลวงพระบาง ค่าวซอเที่ยวเวียดนาม
พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลีได้เขียนและเรียบเรียงหนังสือไว้หลายเล่ม คือ
๑. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยา
๒. ตำนานเมืองเชียงแสน
๓. อัตถคัมภีร์พุทธโฆษาจารย์และพระราชกำหนด (กฎหมาย)
๔. เมืองพะเยา
๕. พระพุทธรูปและเมืองโบราณของเมืองพะเยา
๖. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง
๗. จดหมายพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เรื่องการสร้างวิหารพระเจ้าตนหลวง
๘. ศรีโคมคำ (พระเจ้าตนหลวง) และพญาเจื๋อง
๙. ความเป็นมาของพะเยาในอดีต
๑๐. ตำนานเมืองเชียงแสน
ฯลฯ
รวมแล้ว ๒๕ เล่ม สำหรับเล่มล่าสุดคือ ๑๐๐ ปี เหตุการณ์เงี้ยวก่อการจลาจลในมณฑลพายัพ พ.ศ. ๒๔๔๕ หลวงพ่อได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในเชิงวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ
"ในห้วงเวลาปีสองพันสี่ร้อยสี่สิบห้า เป็นช่วงที่ฝรั่งทำป่าไม้มีอิทธิพลอยู่ทางภาคเหนือมาก ในจังหวัดแพร่ พะเยา น่าน เชียงใหม่ มีบริษัททำไม้ของฝรั่งทั้งนั้น พอดีกับที่ราชการส่วนกลางจะส่งข้าราชการจากส่วนกลางขึ้นไปปกครองหัวเมืองภาคเหนือมาก ฝรั่งและข้าราชการส่วนมากไม่เข้าใจธรรมชาติของคนในท้องถิ่นภาคเหนือ ที่ยังมีผู้คนต่างเผ่าพันธุ์อยู่มากมายทั้งไทยใหญ่ เงี้ยว ต่องซู่ ฮ่อ และอีกสารพัด คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งอยู่ในบังคับอังกฤษ และในบังคับสยาม จึงทำให้เกิดการขัดแย้งกันมาก มีการข่มเหงรังแกกันบ่อยๆ ทำให้เงี้ยวในถิ่นต่างๆ รวมตัวกันต่อต้านผู้ปกครองจากส่วนกลาง และลุกฮือขึ้นกลายเป็นกบฏเงี้ยว เข้ายึดหัวเมืองภาคเหนือหลายแห่ง กลายเป็นจลาจลเงี้ยวในปีพุทธศักราชสองพันสี่ร้อยสี่สิบห้า"
หลวงพ่อนั่งนิ่งเงียบอยู่พักหนึ่งเพื่อรวบรวมความคิด ก่อนวิเคราะห์ปัญหาของเหตุการณ์เงี้ยวก่อจลาจลเมื่อร้อยปีที่แล้วต่อไปอีกว่า
"ตอนนั้นเป็นช่วงปฏิรูปการปกครอง บ้านเมืองสับสนมาก ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้ปกครองก็มาจากเมืองหลวงขาดความเข้าใจในท้องถิ่น คนในท้องถิ่นไม่พอใจในการปกครองของผู้ปกครอง เมื่อสะสมมากๆ เข้าก็ระเบิดออกมาอย่างรุนแรง เป็นผลกระทบไปทั่วทุกตัวคน ที่สังเกตได้คือเงี้ยวที่ก่อจลาจลจะไม่ทำอะไรคนในท้องถิ่น แต่จะประหัตประหารต่อเจ้านายที่มาจากส่วนกลาง รวมทั้งบุตรภริยาและบริวารหรือผู้ที่ตั้งใจต่อต้านเท่านั้น"
หนังสือเรื่อง "๑๐๐ ปี เหตุการณ์เงี้ยวก่อการจลาจลในมณฑลพายัพ พ.ศ. ๒๔๔๕" ซึ่งเรียบเรียงโดยพระธรรมวิมลโมลีเล่มนี้ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิดของหลวงพ่อ เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕ คิดว่าน่าจะไม่มีจำหน่ายที่ไหน ทั้งที่เป็นหนังสือที่น่าสนใจมาก รูปภาพประกอบก็เป็นภาพเก่าที่มีค่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลี กรุณาเล่าถึงการเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ด้วยวาจา หลังจากหนังสือได้รับการตีพิมพ์ไปแล้วว่า ข้อเขียนส่วนหนึ่งได้จากการจดบันทึกของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา ผู้เป็นพระนักประวัติศาสตร์ของเมืองพะเยา และเคยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างพระวิหารพระเจ้าตนหลวง พระครูศรีวิราชวรปัญญาเป็นทั้งพระนักเขียนและนักวิชาการ ท่านพระครูเป็นนักบันทึกเหตุการณ์ที่บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองพะเยาไว้อย่างละเอียด ชนิดวันต่อวัน ในช่วงที่เกิดการจลาจล เนื่องจากเมื่อเงี้ยวเข้าปล้นเมืองนั้นท่านต้องหลบหนีไปลำปาง ในระหว่างทางท่านพระครูจดบันทึกไปตลอดทุกวัน พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลีได้ค้นหาหลักฐาน จากบันทึกของท่านพระครูศรีวิราชวรปัญญามาประกอบการเรียบเรียง
เรื่องราวในหนังสือ "๑๐๐ ปี เหตุการณ์เงี้ยวก่อการจลาจลในมณฑลพายัพ พ.ศ. ๒๔๔๕" ซึ่งตีพิมพ์แจกจ่ายเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลี ปีที่ ๘๕ เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ยังมีบทสำคัญอีกบทหนึ่งที่กล่าวถึง "คดีเรื่องปู่ผิวหรือแสนผิว" ซึ่งเป็นชาวเผ่าต่องซู่หรือไทยเขิน ที่เข้าไปอยู่เมืองพะเยาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อเติบใหญ่ได้เป็นพ่อค้าใหญ่และเป็นคนของพระยาอุดรประเทศทิศ เจ้าเมืองพะเยาเวลานั้น และเจ้าเมืองพะเยาเห็นว่าเป็นผู้รู้ราชการดี จึงแต่งตั้งให้เป็นแสนเมืองฮอมกรมการเมืองพะเยา รับราชการต่อมาถึง ๓๐ ปี แต่กลับเป็นที่เปิดเผยในเวลาต่อมาว่าแสนเมืองฮอมหรือปู่แสนผิวเป็นคนในบังคับอังกฤษด้วย
กรณีปู่แสนผิวทำให้รัฐบาลสยามกับอังกฤษเกิดขัดแย้งกัน เนื่องจากปู่แสนผิวเอาใจไปฝักใฝ่กับขบถเงี้ยว เพราะมีความเห็นใจเงี้ยวที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ขบถเงี้ยวถูกกองทหารเจ้าราชบุตร เจ้าราชภาติกวงษ์ และหลวงพิทยุทธยรรยง จากลำปางขึ้นไปปรามได้ในวันเดียว และสืบทราบว่าปู่แสนผิวคนในบังคับสยามสมรู้ร่วมคิด จึงเข้าจับกุมคุมตัวปู่แสนผิวและส่งตัวขึ้นศาลทหารเมื่อ ๑๕ พ.ย. พ.ศ. ๒๔๔๕ ศาลทหารตัดสินให้ประหารชีวิตฐานล่วงละเมิดพระราชกำหนดบทพระอัยการลักษณะอาญาหลวงมาตรา ๑๒ ลักษณะขบถศึกมาตรา ๑๕ ให้ถอดแสนเมืองฮอมออกเสียจากตำแหน่งยศลงเป็นไพร่ แล้วเอาไปประหารชีวิต และได้ประหารเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖
เรื่องนี้มิสเตอร์เบคเกต กงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่ ออกโรงคัดค้านก่อนประหารชีวิต โดยอ้างว่าปู่แสนผิวเป็นคนบังคับอังกฤษ ทั้งที่ได้ออกหนังสือสำหรับปู่แสนผิวอ้างว่า เป็นคนบังคับอังกฤษก่อนปู่แสนผิวจะเสียชีวิตเพียง ๑ ปี ซึ่งเป็นการผิดต่อธรรมเนียมประเพณี และเมื่อพระจรรยายุกตกฤติ อธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศนครเชียงใหม่ แสดงหลักฐานว่าส่างผิวหรือปู่แสนผิวเป็นคนในบังคับสยาม มิสเตอร์เบคเกตก็จำนนต่อหลักฐานชาติกำเนิด เรื่องก็เงียบไปพักหนึ่ง
ต่อมามีความพยายามยื่นฟ้องใหม่ และมิสเตอร์เบคเกตพยายามกดดันให้ส่งเรื่องเข้ากรุงเทพฯ เจตนาจะเอาเรื่องให้ได้ อุปทูตอังกฤษเวลานั้นก็เป็นไปด้วย ทำหนังสือไปยังเสนาบดีต่างประเทศเวลานั้น (คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) มีใจความตอนหนึ่งว่า "ไม่มีความปลอดภัยแก่คนอังกฤษในภาคเหนือของสยาม จากการโหดร้ายรุนแรงไม่เป็นธรรม กระทำให้บาดเจ็บ กระทั่งตายด้วยน้ำมือของข้าราชการสยามผู้โง่เง่า ขอให้ยุติการกระทำเช่นนี้โดยรีบด่วน โดยลงโทษผู้กระทำผิดเป็นตัวอย่าง"
อุปทูตอังกฤษขอความพอใจในเรื่องนี้ ๓ ประการ คือ
๑. ให้เนรเทศเจ้าราชบุตรไปอยู่กรุงเทพฯ ๑๕ ปี ให้ขอโทษและมีคำติโทษลงไว้ในราชกิจจานุเบกษา
๒. ให้เนรเทศเจ้าราชภาติกวงษ์ออกจากเมืองเหนือและถอดออกจากตำแหน่งด้วย ๒ ปี และขอให้ลงในราชกิจจานุเบกษาด้วยเช่นกัน
๓. จ่ายเงินทำขวัญแก่ญาติของแสนผิวเป็นเงิน ๕,๐๐๐ รูปี (ต่อมาขอเพิ่มเป็น ๑๓,๒๖๑ รูปี) ระหว่างเนรเทศห้ามรับงานใดๆ ทั้งสิ้น และออกจากกรุงเทพฯ ไม่ได้
ในหนังสือเล่มนี้ของหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลี บอกว่าเมื่อมหาอำนาจอังกฤษเรียกร้องอย่างนี้เป็นการกดดันรัฐบาลสยาม ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากปฏิบัติตาม แต่ก็มีการลดหย่อนบ้างตามที่รัฐบาลสยามขอผ่อนปรน
เป็นการยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า เวลานั้นมหาอำนาจตะวันตกพยายามจะหาเรื่องกับรัฐบาลสยามอยู่ตลอดเวลา และเหตุการณ์ในเวลานั้นเต็มไปด้วยความซับซ้อนยากที่จะเข้าใจ ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลีได้ใช้ความพยายามอยู่นานปีจึงเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ ซึ่งถือเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองเหนือเล่มหนึ่ง
เหตุการณ์ขบถเงี้ยวในปีพุทธศักราช ๒๔๔๕ ในเมืองพะเยา มีให้ชมในหอวัฒนธรรมนิทัศน์ ของวัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งมีพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลีเป็นผู้อำนวยการอยู่
เวลานี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลีอายุ ๘๗ ปีเศษแล้ว แต่ยังแข็งแรงและหน้าตาสดใส ความทรงจำกระจ่างแจ้ง สามารถบอกเล่าเรื่องราวที่หลวงพ่อเกี่ยวข้องได้แม่นยำทุกช่วงตอน มีความรู้ความคิดที่ทันยุคทันสมัยตลอดเวลา และยังมีกำลังที่จะทำงานเพื่อท้องถิ่นเมืองพะเยาไม่เสื่อมถอย
พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลีเป็นแบบอย่างปราชญ์แห่งยุคสมัยที่หาได้ยาก..
|