เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

หยุด...มองใจตัวเอง

ปรีดา เรืองวิชาธร
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย
คอลัมน์ มองอย่างพุทธ
มติชนรายวัน
ฉบับวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๑๗๙ หน้า ๖

 

          รูปแบบของสังคมในปัจจุบันนี้ทำให้แต่ละคนล้วนแต่ต้องเผชิญกับความวุ่นวาย จนหาเวลาที่จะหยุดทบทวนเรื่องต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตน้อยมาก โดยเฉพาะการทบทวนถึงอารมณ์บางด้านข้างในจิตใจของตัวเองที่บางครั้งอาจแสดงออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อมีสิ่งเร้าจากภายนอกมากระตุ้น โดยที่เราไม่ปรารถนาและสร้างความทุกข์ให้ตามมา

          หากให้เวลากับเรื่องนี้สักนิด อาจทำให้เรารู้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะมีวิธีจัดการอย่างไร ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่เร่าร้อนเกินไปนัก

          การทำสมาธิภาวนาเป็นวิธีง่ายๆ วิธีหนึ่งที่สามารถช่วยได้ สำหรับผู้ที่ใหม่ต่อการทำสมาธิภาวนา การจะฝึกฝนปฏิบัติให้เข้าถึงความสงบ หรือแค่มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมสักช่วงหนึ่งอาจเป็นเรื่องยากและจะรู้สึกเบื่อต่อการฝึกฝนได้ง่าย

          จะทำอย่างไรดีหากเราต้องการจะฝึกฝนทำสมาธิภาวนา ให้ไม่น่าเบื่อเกินไป ในช่วงเวลาที่เรายังเป็นเพียงผู้กำลังเริ่มต้น และปฏิบัติได้โดยไม่คลาดเคลื่อนจากความมุ่งหมายในพุทธศาสนา

          บทภาวนาประกอบการทำสมาธิภาวนาที่จะนำเสนอนี้ เป็นบทพิจารณาง่ายๆ เหมาะที่จะนำไปกล่าวนำขณะทำสมาธิภาวนา โดยมีความมุ่งหมายเพื่อน้อมนำจิตใจไปสู่ความสงบและผ่อนคลาย ช่วยให้รู้ตัวทั่วพร้อมทั้งจิตใจและร่างกายได้ง่าย โดยเฉพาะในตอนเริ่มต้นของการฝึกฝน

          นอกจากนี้ ยังสามารถใช้พิจารณาเพื่อให้เห็นถึงความจริงของกฎธรรมชาติ อันจะทำให้เราสามารถแปรเปลี่ยนจิตใจที่ทุกข์ทนเศร้าหมอง ไปสู่จิตใจที่แช่มชื่นเบิกบาน

          บทภาวนาที่จะกล่าวถึงนี้ หากทดลองใช้ดนตรีที่อ่อนละมุน ประณีต ง่ายต่อการทำจิตใจให้สงบมาประกอบการทำสมาธิภาวนา โดยใช้เสียงดนตรีในระดับพอได้ยินชัดร่วมกับการบรรจงกล่าวบทภาวนาอย่างแช่มช้า และเว้นช่วงกล่าวบทภาวนา จังหวะ พร้อมกับเชิญเสียงระฆังให้สติเป็นช่วงๆ บททดลองนี้อาจจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นฝึกฝนการทำสมาธิภาวนา

          หากการทำสมาธิภาวนาผ่านไปสักช่วงเวลาหนึ่งแล้วพบว่า การกล่าวบทภาวนาและเสียงดนตรีนั้นไม่จำเป็นต่อการทำจิตใจให้สงบ ก็ไม่จำต้องใช้บทภาวนาอีกต่อไป

          บทเริ่มภาวนา

          ๑)...ได้โปรดวางภาระที่คั่งค้างในใจสักพัก ปล่อยวางเรื่องราวในอดีตที่ล่วงผ่านมาแล้ว ปลดปล่อยใจลงสักครู่ให้เป็นอิสระ จากเรื่องในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ขอพวกเราทั้งหลายระลึกอย่างตื่นรู้ว่าเราจะขอทำภารกิจสำคัญเพื่อชีวิตจิตใจที่มั่นคงและเป็นสุข ณ ที่นี่และขณะนี้

          บทภาวนาเพื่อความสงบของกายและใจ

          ๒)...ปลดปล่อยใจให้เป็นอิสระจากความครุ่นคิดกังวล ขอความรู้ตัวพร้อมมาเฝ้าติดตามลมหายใจ จากช่องปลายจมูกจนถึงท้อง หายใจเข้ายาวและเนิบช้าและประณีต พึงระลึกรู้ว่า ภาระหน้าที่สำคัญของเรา ณ บัดนี้ มีเพียงการเฝ้าติดตามลมหายใจอย่างตื่นรู้เท่านั้น

          ๓)...สังเกตและตระหนักรู้จิตใจในขณะนี้ หากใจกำลังแส่ส่าย ดิ้นรน ฟุ้งซ่าน หรือลังเลสงสัยในสิ่งใด เราเพียงรับรู้ด้วยการทักทายมันด้วยใจที่แย้มยิ้ม แล้วปล่อยเรื่องราวนั้นไป... ตระหนักรู้ถึงใจที่เป็นอิสระจากเรื่องราวต่างๆ ในขณะนี้ ...ตระหนักรู้ว่า อาการแส่ส่ายดิ้นรนของใจย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เป็นความจริงของธรรมชาติประการหนึ่ง

          บทภาวนาเพื่อบ่มเพาะความดีงามและแปรเปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นชีวิตที่เบิกบานและงดงาม

          ๔)...ขอเชื้อเชิญพวกเราทั้งหลาย สำรวจลึกลงไปในจิตใจ เพื่อมองหาธรรมชาติภายในที่งดงาม เป็นธรรมชาติภายในที่เราคุ้นเคย แสดงออกได้อย่างมั่นคงและเบิกบาน ขอพวกเรากำหนดรู้ถึงจิตใจหรือการแสดงออกนั้น.. ทบทวนความรู้สึกในใจว่าเป็นเช่นใดในขณะที่เราเคยมีจิตใจแบบนั้น หรือได้แสดงออกเช่นนั้น ... ซึมซับรับรู้ถึงจิตใจขณะนั้นไว้...

          ๕)...สังเกตและตระหนักรู้ถึงร่างกายและจิตใจในขณะนี้... ขอเชื้อเชิญให้สำรวจลึกลงไปในจิตใจ เพื่อมองหาธรรมชาติภายในที่ขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือที่เป็นทุกข์เจ็บปวด เป็นธรรมชาติภายในที่เราคุ้นเคย และแสดงออกได้เสมอ เมื่อเราสูญเสียการรู้ตัวทั่วพร้อม.. ขอให้กำหนดอย่างตระหนักชัดถึงจิตใจและการแสดงออกนั้น...ทักทายเขาด้วยใจที่แย้มยิ้มเช่นกัน ทักทายเขาดังกับว่าเขาเป็นมิตรเก่า สหายเก่า ตระหนักรู้แล้วปล่อยวางความรู้สึกนั้นลง...

          สำรวจ ทบทวน และพิจารณาต่อไปว่า จิตใจและการแสดงออกนี้เกิดขึ้นได้โดยง่าย และมีกำลังกร้าวแข็งเพราะเหตุใดหรือ เมื่อตระหนักรู้ชัดแล้ว ซึมซับรับรู้ไว้ในใจ...

          ๖)...พิจารณาในใจว่า ความจริงแล้วเราเองก็ไม่ได้ตั้งใจอยากจะให้ธรรมชาติภายในนี้ บังเกิดขึ้นมา แต่เป็นเพราะว่ามีเหตุปัจจัยหลายอย่างประกอบกันขึ้นมา จึงทำให้เราตกอยู่ในสภาพที่ทุกข์ทนนั้น..และ ธรรมชาติของจิตใจที่เป็นทุกข์นั้น เกิดขึ้นเพราะเราหลงยึดมั่นว่ามีตัวเรา ของของเรา ที่จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ถาวร ไม่แปรเปลี่ยน...

          ธรรมชาติของจิตใจที่เป็นทุกข์นั้นเกิดขึ้นเพราะเรารับรู้อย่างผิดพลาดมาตลอดจนหลงยึดมั่นว่ามีตัวเรา ของของเราที่ดำรงอยู่อย่างโดดๆ เป็นอิสระไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับสิ่งอื่น คนอื่นในโลกนี้ ด้วยความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้ จึงทำให้เราหลงยึดมั่นว่า มีตัวเรา มีของของเรา อันเป็นที่ตั้งให้เกิดความเห็นแก่ตัว เกิดความอยากทั้งหลายทั้งปวงขึ้นมา และนำไปสู่ความทุกข์ในที่สุด...

          ขอให้ทุกคนบอกกล่าวอย่างเป็นมิตรไปถึงภายในใจของทุกคนว่า เราจะพยายามเฝ้าระวังระไวให้รู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ก้าวดำเนินไปสู่เหตุปัจจัยอันจะทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง ขุ่นมัวหรือเป็นทุกข์เจ็บปวดอีก... ขอเวลาและโอกาสอันดีและเพียงพอในการฝึกฝนเพื่อแปรเปลี่ยนภายในนี้ให้เกิดขึ้นด้วยเถิด .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :