เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

หยาดน้ำค้างเหนือป่าช้าตะกั่วป่า

วลัญช์ สุภากร
กรุงเทพธุรกิจ จุดประกายวันอาทิตย์
ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๖๐๔๔ วันอาทิตย์ที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘

 

          ชีวิตเหมือนหยาดน้ำค้าง เกิดแล้วก็สูญสลายไปตามกาลเวลา

          'เวลา' ที่ทุกคนแม้ยึดจับไว้ไม่ได้ แต่ก็สามารถใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้ โดยเฉพาะหากมีความกระตือรือร้นตั้งใจที่จะทำ แม้เพียงเสี้ยวนาทีหนึ่ง ก็ยังดีกว่าเหม่อลอยอยู่เป็นปี ความคิดริเริ่มของวัยรุ่นย่านอ่อนนุชกลุ่มหนึ่ง แต่ละคนอายุเพียง ๑๖-๑๘ ปี พวกเขาห้าคนอาสาสมัครลงไปกู้ภัยจากคลื่นยักษ์ถล่มภาคใต้ของไทยเป็นรุ่นแรก ๆ แม้ความคิดแรกเริ่มจะฟังแปร่งหูไปบ้าง ณัฐวุฒิ ชนรักษา นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพ อายุ ๑๖ ปี เริ่มเล่าให้ฟังว่า คืนวันที่ ๒๘ ธันวาคม (๒๕๔๗) เขาและเพื่อน ๔ คนนั่งคุยกันแถวบ้านในอ่อนนุชถิ่นประจำจนดึกดื่นค่อนคืนราวสามนาฬิกา กระทั่งพ่อออกมาตามและทราบจากพ่อว่ารายการวิทยุ 'ร่วมด้วยช่วยกัน' ประกาศรับอาสาสมัครลงไปช่วยกู้ภัยพิบัติจากคลื่น สึนามิ (Tsunami) ทางภาคใต้ พวกเขาเลยนัดกัน

          "ตอนแรกก็นึกสนุก อยากนั่งเครื่องบิน ประมาณนั้น"

          แต่ความคิดเช่นนั้นเปลี่ยนไปทันทีเมื่อเดินทางถึงพื้นที่มรณะ

          กลางดึกของคืนต่อมา (๒๙ ธันวาคม) ณัฐวุฒิและเพื่อนอีก ๔ คน ยศวี ทรงศิริ อายุ ๑๖ ปี ชยุต ชาติบุญเกิด อายุ ๑๘ ปี นนท์ เนียมนามสุข อายุ ๑๖ ปี และ สมโชติ บุญหลาย อายุ ๑๗ ปี ได้ขึ้นเครื่องบินสมใจ พวกเขาพร้อมอาสาสมัครร่วมร้อยชีวิต เดินทางไปถึงจังหวัดภูเก็ตราวสองนาฬิกา นอนคืนนั้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต แปดโมงเช้าวันรุ่งขึ้นพวกเขาต้องพร้อมสำหรับการเดินทางสู่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พื้นที่ที่ถูกคลื่นยักษ์โจมตีสาหัส

          สิบโมงเช้า กลุ่มอาสาสมัครพร้อมหน้ากันที่ตัวอำเภอ และได้รับการจัดแบ่งกำลังออกเป็น ๒ ชุด ชุดหนึ่งเดินทางไป วัดบางม่วง กำลังอีกชุดเดินทางไป วัดย่านยาว สองวัดสำคัญซึ่งเป็นเสมือนจุดบัญชาการใหญ่ในการดักรับศพจากตะกั่วป่าและบ้านน้ำเค็ม กั้นหัวกั้นท้ายพอดี

 

แรงใจตก

          แค่เข้าเขตหน้าวัดวันแรก ก็ได้กลิ่นศพแล้ว มองไปไม่มีที่เดิน มีแต่ศพนอนเรียงเต็มไปหมด ไม่มีผ้าห่อ เห็นสภาพทุกอย่าง และกำลังมีคนทยอยนำศพลงอีกเป็นจำนวนมาก ณัฐวุฒิ เล่าและว่า ผิดจากภาพแรกที่พวกเขาคิดกันไว้ที่จะมีโอกาสไปเดินหาศพตามชายหาด พลิกตามไม้รื้อตามบ้านผุพัง แต่ไปถึงกลับเจอศพโดยไม่ต้องหา หนำซ้ำศพเริ่มส่งกลิ่นเน่าแล้ว

          "วันแรกเจ้าหน้าที่ปล่อยให้เราเดินทำใจ ความจริงพวกผมกะว่าจะกลับตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เห็นศพ แต่ลงไปถึงวัดแล้ว จะถอยกลับก็ไม่ได้" ณัฐวุฒิ สารภาพ

          "เขาบอกให้หายใจลึก ๆ สักสองที จะได้ชิน วันแรกผมใช้ผ้าปิดปากสามสี่ชั้น แทบหายใจไม่ออก วันที่สองวันที่สามเริ่มรำคาญแล้ว" ยศวี ทรงศิริ เด็กหนุ่มที่ยอมรับว่าตัวเองเกเรไปหน่อยจนต้องดร็อปเรียน และกำลังจะเริ่มต้นการศึกษาใหม่กับโรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ เล่าถึงวันแรกกับงานอาสาสมัครกู้ภัยพิบัติสึนามิของเขา

 

แรงใจเปลี่ยน

          หลังจากเดินดูศพภายในวัดมาตลอดวัน พอช่วงเย็นพวกเขาก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ยกน้ำแข็งแห้งไปวางตามข้างศพต่าง ๆ เพื่อป้องกันศพเน่า วันรุ่งขึ้นพวกเขาก็ได้รับมอบหมายงานชิ้นใหม่และเริ่มเปลี่ยนทัศนคติ

          "จนมาอีกวันได้ไปป่าช้ากัน ก็ได้เจอพี่โอ๋ พูดเก่งมาก กะว่าพึ่งพาพี่เขาได้ ก็ได้อยู่ทีมเดียวกัน มีด้วยกันหกคน" ณัฐวุฒิ กล่าว

          พี่โอ๋ที่ณัฐวุฒิเอ่ยถึง คือ โอรส นุตสถาปนา สมาชิกสายแท็กซี่ของรายการวิทยุชุมชน ร่วมด้วยช่วยกัน ที่ตั้งใจสมัครในทันทีที่ทราบข่าวว่าจะมีการระดมอาสาสมัคร ลงไปช่วยกู้ภัยคลื่นสึนามิถล่มทางภาคใต้

          "วันที่สองพวกเราเริ่มทำงานที่ป่าช้า ก็ได้ยิ่งสัมผัสความทุกข์ของชาวบ้านมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านลำบากมาก พวกเราเจอป้าแก่ ๆ คนหนึ่งที่อำเภอ ผมทักแก 'ป้าโชคดีนะที่ป้าไม่เป็นไร' ป้าบอกป้าไม่โชคดีหรอก น่าจะตายให้พ้นตามลูกตามเต้าไป เพราะแกไม่เหลืออะไร บ้านก็ไป ลูกก็ไป แกเหลือตัวคนเดียว" โอรสเล่าถึงป้าคนหนึ่งจากบ้านน้ำเค็มที่ถูกคลื่นยักษ์กวาดราบเป็นหน้ากลองทั้งหมู่บ้าน กลืนชีวิตญาติพี่น้องคนที่แกรู้จักในหมู่บ้านไปกว่าแปดในสิบส่วน

          "ถึงวันนี้ความคิดคนละอย่างกันเลย เป็นความสงสาร อยากจะช่วยเขา คนเจ็บก็อยากให้เจอญาติ คนตายก็อยากให้ญาติได้รับศพกลับไป ศพเยอะมาก ศาลาวัดนี้นอนเรียงกันสี่ห้าร้อยศพ แล้วยังมีทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ เป็นความรู้สึกที่ทุกคนอยากจะช่วยกัน" ณัฐวุฒิ กล่าว

          "อยากอยู่ช่วยให้เขาได้ในสิ่งที่เขาตั้งใจไว้ บางคนมาตามญาติ มาถึงก็ดี ๆ พอเห็นศพก็ร้องไห้ บางคนไม่เจอ ก็เดินตามหา นึกถึงถ้าเป็นญาติเรา เป็นพ่อเป็นแม่เรา เป็นเพื่อนพี่น้องเรา เราก็อยากให้เขาได้กลับไป ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใด" โอรสกล่าว

          "บางคนมาจากภาคอีสาน สามสี่วัน เหมารถมาเป็นหมื่น เพื่อรอรับศพกลับ" ยศวี กล่าว

 

งานประจำวัน

          งานในป่าช้าที่เด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้รับมอบหมายในแต่ละวัน คือ การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลศพหลังจากที่แพทย์ชันสูตร และเก็บข้อมูลครบถ้วนแล้ว แต่ละศพมีเอกสารผูกข้อมือศพ ๑ ชิ้น ผูกที่ถุงห่อศพ ๑ ชิ้น และผูกที่เสาบนหลุมศพที่พวกเขาเรียกกันว่า "ติ้ว" อีก ๑ ชิ้น พวกเขาต้องตรวจสอบเอกสารทุกชิ้นให้ตรงกัน ก่อนนำศพลงฝังกลบชั่วคราวเพื่อป้องกันเชื้อโรค โดยมีทหารวันละ ๑๐๐-๑๕๐ นายมาช่วยเอาศพลงหลุม

          หลุมที่ว่านี้ใช้รถแทรกเตอร์ขุดลงไปในดิน มีลักษณะเหมือนคลองยาว ๆ เพื่อนำศพที่ผ่านขั้นตอนทางการแพทย์และบันทึกข้อมูลเรียบร้อยแล้วลงวาง แล้วฝังกลบ ด้านบนของหลุมมี "ติ้ว" ปักบอกตำแหน่ง เมื่อมีญาตินำเอกสารมายืนยันว่าศพหมายเลขใดเป็นญาติของเขาจริง ศพก็จะได้รับการขุดขึ้นมาให้ญาตินำไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป

          โอรสวาดแผนผังของการขุดหลุมที่มีลักษณะเหมือนคลองเพื่อฝังศพ โดยเริ่มจากด้านหนึ่งศาลาบัญชาการในวัด เจ้าหน้าที่ขุดคลองขนานกันไป ๒ คลองตลอดความยาวที่ดินวัด แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการฝังศพ คลองฝังศพสองสายนี้ถูกขุดเชื่อมกันทั้งสามด้าน จนมีลักษณะเหมือนตัวยูล้อมศาลาวัดไว้ตรงกลาง แต่จำนวนศพก็ยังทยอยเข้ามาไม่จบสิ้น จึงต้องข้ามถนนหน้าวัดไปขุดคลองในลักษณะนี้อีกหลายคลองด้วยกัน

          พวกเขาเรียกพื้นที่คลองฝังศพชั่วคราวแบบนี้ว่า "ป่าช้า"

 

ความชุลมุน

          ก่อนที่แรงงานคนและการตรวจเก็บรักษาศพอย่างเป็นระบบจะลงไปถึง ผู้เสียชีวิตจำนวน ๒๐๐ ศพแรกที่พบในพื้นที่ซึ่งเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องทำงานแข่งกับเวลา จึงมีกระแสข่าวแห่งความคลาดเคลื่อนของศพที่กลบฝัง ไม่ตรงกับหลักฐานบนหลุมศพเกิดขึ้น

          เด็กกลุ่มนี้และอาสาสมัครที่ได้รับมอบหมายงานในป่าช้าต้องแก้ไขใหม่ ด้วยการขุดสองร้อยศพแรกขึ้นมา นำไปให้หมอชันสูตรใหม่ แล้วนำมาฝังใหม่อีกครั้ง แต่หลังจากศพที่สองร้อยขึ้นไปก็ไม่มีปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้นอีก เนื่องจากการจัดเก็บเป็นระบบมากขึ้น

 

แรงกายหมด แรงใจยังอยู่

          แต่ละวันอาสาสมัครตื่นกันตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า ทำงานแม้จะดึกดื่นเพียงใด ก่อนแยกย้ายไปพักผ่อน จะมีการตั้งวงประชุมเพื่อสรุปการทำงานงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ซึ่ง แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ มอบหมายงานไว้เป็นผู้นำประชุม

          "มีอยู่คืนหนึ่ง พี่ผู้หญิงที่จัดประชุม เขาไม่ไหว ก็เป็นลมไปตอนประมาณตีสาม เป็นลมหลายคน พี่ผู้ชายอีกคน ผมนับถือเขาเพราะเขาทำงานโอเค เป็นลมนอนลงไปในหลุมเลย ผมผูกศพอยู่ เขาหงายลงไปเลย พวกผมไม่ได้วูบกัน แต่จะวูบเพราะหน้ากากปิดจมูก อึดอัดมาก แดดก็ร้อน ไม่ใส่ก็ไม่ไหวเหมือนกัน กลิ่นแรง" ณัฐวุฒิ กล่าว

 

อาหารการกิน-ที่หลับที่นอน

          ความสะอาดในพื้นที่กู้ภัยได้รับการให้ความสำคัญมาเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานกับศพ และทหารยกศพที่ต้องสวมถุงมือยางอ่อน ๒ ชั้น ถุงมือหนาอีกหนึ่งชั้น สวมชุดที่มีลักษณะคล้ายชุดช่าง-แว่นครอบตาเพื่อป้องกันผิวหนังจากสารคัดหลั่งของศพ รองเท้าบูตยาง

          เรื่องของอาหารการกินก็จะมีอาสาสมัครแผนกสวัสดิการ อย่างเช่น นนท์ และ สมโชติ เป็นธุระให้ บางครั้งอาสาสมัครสวัสดิการต้องลงพื้นที่เพื่อให้บริการทหารซึ่งทำหน้าที่ยกศพ เนื่องจากทหารถ้ามือเปื้อนศพแล้ว จะถูกห้ามใช้มือสัมผัสใบหน้าตนเอง หรือจับสิ่งของอื่น ๆ ต้องมีคนคอยเช็ดหน้าหรือเลื่อนหน้ากากจมูก แม้กระทั่งป้อนน้ำ

          อาหารการกินไม่มีขาด น้ำดื่มบรรจุขวดอย่างดี น้ำอัดลม ชาเขียว เครื่องดื่มบำรุงกำลัง อาหารกล่องจากชาวบ้าน อาหารอิสลาม

          เพราะมีทั้งอาสาสมัครลงไปทำงาน หน่วยกู้ภัย คนต่างถิ่นที่ลงไปตามหาญาติ ที่พักส่วนใหญ่ในพื้นที่ข้างเคียงจึงเต็มหมด หลายคนต้องนอนที่ศาลากลางจังหวัด หน่วยกู้ภัยนอนตามปั๊มน้ำมัน ตรงไหนว่างนอนได้เลย ผ้าห่อศพที่ยังไม่ได้ใช้ก็ใช้เป็นที่นอน

          "พวกผมค่อนข้างโชคดี นายกสโมสรไลอ้อนพังงาอนุเคราะห์สถานที่นอนให้ นอนได้ประมาณ ๕๐-๖๐ คน เป็นชั้นบนของร้านอาหารพุทธชาติ อยู่ข้างวัดย่านยาวประมาณ ๒๐๐ เมตร" ณัฐวุฒิกล่าว

          ใครไม่มีถุงนอน ก็ไปขอได้ที่วัด มีคนไปบริจาคไว้ให้ บางคนมาห้าวัน บางคนมาเจ็ดวัน ใช้เสร็จก็ส่งคืนวัด หมุนเวียนใช้กันต่อไป

          ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ก็มีความเอื้อเฟื้อมาก อาสาสมัครที่ลงพื้นที่หาศพ บางทีไม่สามารถกลับออกมาจากพื้นที่ ต้องนอนที่นั่น ชาวบ้านก็ชวนกินข้าว ชวนอาบน้ำ

 

สัจธรรมกลางแจ้ง

          ในระยะหลัง ๆ เมื่อญาติทยอยนำหลักฐานมารับศพ ศพจะได้รับการขุดขึ้นมาใส่โลงที่มีผู้บริจาคมาให้เพื่อนำกลับไป

          แต่สำหรับในรายที่บ้านอยู่ไกล เช่น บางคนอยู่เชียงราย และไม่มีทุนทรัพย์พอ ก็จะมีลุงสัปเหร่อช่วยจัดการเผาศพให้ในบริเวณป่าช้าด้วยการใช้ยางรถยนต์ ซึ่งมีผู้นำมาบริจาคไว้เป็นจำนวนมากอีกเช่นกัน เนื่องจากเมรุเผาศพของวัดชำรุดเสียหายจากการใช้งานหนัก และวัดน้อยใหญ่ในตัวเมืองก็มีคิวจองเต็มหมด

          "ล่าสุด ชาวปากีสถานนำหนังสือจากสถานทูตขอให้ขุดศพขึ้นมา และทำการฌาปนกิจในคืนนั้น ทุ่มกว่า ๆ สัปเหร่อกลับบ้านไปแล้ว แต่บังเอิญทางเขาเตรียมหมอศาสนามาด้วย ถัดมาวันรุ่งขึ้นมีชาวญี่ปุ่นมารับศพเด็กผู้ชาย จัดการเผาเอาเถ้ากระดูกกลับไป" โอรส กล่าว

          หกวันเต็ม ๆ ที่ได้ลงไปทำงานเป็นอาสาสมัครกู้ภัยสึนามิ เด็กกลุ่มนี้กลับมาพร้อมกับมุมมองใหม่ ๆ ในชีวิต

          "พวกเราคุยกันเรื่องปลง ชีวิตเกิดมาก็จบลงที่จุดนั้น ผู้หญิงสวยขนาดไหน ตายมาก็เป็นจุดนั้นเหมือนกัน ถ้าพูดในสายช่าง ก็คือว่า เด็กช่างมักตีกันจนเกิดการสูญเสีย เจ็บตาย ญาติ ๆ คนที่ตายจะเสียใจแค่ไหน เมื่อก่อนเราไม่รู้เลย เราทำเขาเมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าญาติเขาจะเป็นยังไง ที่นี่ (พังงา) เราเห็นว่าเมื่อมีคนตาย ญาติเขาจะเป็นอย่างไร เสียคนรักไปเป็นอย่างไร" ณัฐวุฒิ กล่าวแทนเพื่อน ๆ

          "ทีแรกที่ผมเห็นน้อง ๆ พวกนี้ ก็นึกในใจว่ามาทำไม แต่พอได้สัมผัสจริง ๆ ให้เขาได้ช่วยงานสังคม เขาจะเปลี่ยนไป ไม่ตีกันตาย ผมก็เคยเรียนช่าง โรงเรียนไหนตีกันเยอะ ๆ ส่งไปเลย เดี๋ยวเขาก็จะช่วยกันเอง อยู่กันไปก็เป็นเพื่อนกัน เราไปที่นั่นเด็กท้องถิ่นก็กวน ๆ เรา แต่พอเราไปคลุกคลีกับเขา คุยกับเขา ก็จะดีขึ้น ก็เป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องกัน ไปช่วยกัน กินข้าวด้วยกัน" โอรสคิดเช่นนี้

 

ทำงานอาสาสมัคร

          เสียงที่ได้ยินอยู่เสมอที่นั่นอย่างหนึ่ง ก็คือ คำว่า "อาสา" ไม่ได้บังคับว่าต้องอยู่นานเท่าใด จะกลับเมื่อใดก็ได้ แต่ที่นั่นแรงงานยังขาดอยู่จริง ๆ ยังคงต้องการแรงงานคนช่วยเหลือ

          โอรส บอกว่า แทบไม่น่าเชื่อที่จะมีคนนั่งรถทัวร์จากกรุงเทพฯ เพื่อลงมาเป็นอาสาสมัครอิสระ คือ ทำงานทุกอย่างที่วัดย่านยาวต้องการแรงงาน โดยอาสาสมัครแต่ละคนที่ลงมายังพื้นที่นี้จะได้รับการติดปลอกแขน มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย สำนักงานอาสากาชาด "ที่วัดย่านยาวจะมีกองบริการคอยประกาศ ต้องการคนห่อศพติดต่อที่นี่ด่วน ต้องการรถขนศพ ขอคนเก็บขยะติดเชื้อ ขอคนช่วยเก็บตัวอย่างศพ อาสาอิสระที่ได้ยินก็จะเข้าไปรับงานของแต่ละวัน"

          ณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า งานเกี่ยวกับศพไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ไม่ใช่สิ่งที่น่าขยะแขยง สักวันหนึ่งเราก็ต้องเป็น ตอนนี้เรามีชีวิตอยู่ เราไปช่วยเขาดีกว่า ขณะที่ยศวีใช้วิธีปรับสภาพใจด้วยการคิดว่า "ศพก็เหมือนคนนอนหลับ" ส่วนชยุตบอกว่า เขาไม่เคยทำงานที่มีความรับผิดชอบมากขนาดนี้ ดีใจที่ตนเองสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคม

          เด็ก ๆ กลุ่มนี้เดินทางกลับมาเพราะกำลังจะเปิดเรียน

          แต่ในพื้นที่ประสบภัยอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ยังคงต้องการแรงงานคน และช่างฝีมืออีกเป็นจำนวนมากในการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับผู้ประสบภัย รวมทั้งวัสดุก่อสร้าง โอรส บอกว่า ช่วงเวลานี้หากผู้ใดรวมตัวกันได้ ๑๐ คน สามารถแจ้งไปได้ที่กองบิน ๖ ดอนเมือง กองทัพอากาศ จะมีเที่ยวบินจัดส่งลงไปยังพื้นที่

          ชีวิตเหมือนหยาดน้ำค้าง เกิดแล้วก็สูญสลาย อาจดูสดใสในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่อาจทัดทานต่อเวลา หากช่วงเวลาที่สดใส ทำประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวมได้

          น้ำค้างก็คงไม่ระเหยไปอย่างไร้ค่า ..*

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :