การปฏิรูปและฟื้นฟูพุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์
พระไพศาล วิสาโล
ปาฐกถาในการสัมมนาระหว่างประเทศว่าด้วยศาสนาและโลกาภิวัตน์
เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๔๖ ณ มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่
อาตมารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่คณะผู้จัดการประชุมครั้งนี้ เลือกให้อาตมาเป็นหนึ่งในบรรดาผู้กล่าวนำต่อที่ประชุมระดับนานาชาติ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลกเป็นจำนวนมาก
อาตมาไม่เคยมีประสบการณ์ในการประชุมระหว่างศาสนาระดับโลกเช่นนี้มาก่อน อีกทั้งไม่มีคุณวุฒิในทางวิชาการที่คู่ควรแก่การประชุมลักษณะนี้ มีสิ่งเดียวเท่านั้นกระมังที่ทำให้อาตมาเหมาะที่จะมีส่วนร่วมในการประชุมครั้งนี้ นั่นก็คือความตระหนักถึงคุณค่าของการทำความเข้าใจระหว่างศาสนา ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ศาสนาต่าง ๆ สามารถอยู่ร่วมกันด้วยดีบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกันเท่านั้น หากยังเอื้อให้แต่ละศาสนาเรียนรู้ที่จะปรับตัวและพัฒนาตน โดยอาศัยบทเรียนจากศาสนาอื่น รวมทั้งจากคำชี้แนะและคำวิพากษ์วิจารณ์อันสร้างสรรค์ในกระบวนการเสวนาวิสาสะระหว่างศาสนา อย่างเช่นการประชุมครั้งนี้
คงไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า การประชุมลักษณะนี้มีความสำคัญมากเพียงใดสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นที่รู้กันดีว่ากระแสโลกาภิวัตน์ได้ทำให้โลกเล็กลง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ผู้คนสนิทสนมหรือเป็นมิตรกันมากขึ้น ในทำนองเดียวกันกระแสโลกาภิวัตน์แม้จะทำให้ศาสนาต่าง ๆ มาบรรจบพบกันใกล้ชิดอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าศาสนาทั้งหลายจะมีไมตรีต่อกันมากขึ้น การมาใกล้ชิดกันยิ่งกว่าเดิมอาจหมายถึงโอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันมากขึ้นก็ได้ อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการต้องมาปะทะสังสรรค์กันในโลกที่เล็กลงแล้ว ผลอีกประการหนึ่งจากกระแสโลกาภิวัตน์ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทางสังคมเศรษฐกิจและการเมือง ศาสนาทั้งหลายพบว่าตัวเองได้มาอยู่ในบริบทแวดล้อมอย่างใหม่ที่ไม่เคยประสบพบเห็นมาก่อน การทำความเข้าใจบริบทอย่างใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นภารกิจอย่างหนึ่งของศาสนาทั้งหลาย อาตมาเข้าใจว่านี้ก็เป็นวัตถุประสงค์สำคัญของการประชุมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน อาตมาเชื่อว่าการช่วยให้ศาสนาทั้งหลายมีความเข้าใจในโลกยุคโลกาภิวัตน์ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ศาสนามีบทบาทสร้างสรรค์ต่อโลก รวมทั้งช่วยให้เกิดการอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างศาสนา อันจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพในโลก ใช่หรือไม่ว่า เป็นเพราะศาสนา (หรือศาสนิกชน) เป็นอันมากไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก จึงไม่สามารถปรับตัวให้สมสมัยได้ หาไม่ก็โอนอ่อนผ่อนตามความเปลี่ยนแปลง จนสูญเสียสารัตถะทางศาสนาไป เหลือเพียงรูปแบบหรือสถาบันที่ไร้ความหมาย ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ เมื่อพบกับภาวะถดถอยเสื่อมทรุด แทนที่จะหาทางปรับปรุงตัวเอง กลับเกิดความตื่นตระหนก รู้สึกถูกคุกคาม ปักใจเชื่อว่าตนตกเป็นเหยื่อ จึงมองหาตัวการและตอบโต้ด้วยปฏิกิริยาโกรธเกรี้ยวก้าวร้าว บ่อยครั้งก็ใช้ความรุนแรงกับศาสนาอื่นหรือคนกลุ่มอื่นซึ่งถูกตีตราว่าเป็นตัวการสร้างปัญหาทั้งมวล ปฏิกิริยาดังกล่าวได้ทำให้ศาสนาเป็นอันมากกลายเป็นตัวปัญหาของโลก แทนที่จะเป็นทางออกให้แก่โลก ตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมของศาสนานั้น ๆ
ที่กล่าวมานี้ไม่ยกเว้นแม้กับพุทธศาสนาในประเทศไทย ซึ่งสมัยหนึ่งเคยมีความเชื่อมั่นในตนเอง ถึงกับเปิดโอกาสให้มิชชันนารีมาสอนศาสนาคริสต์ในวัดพุทธ จวบจนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ มิชชันนารีต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า คนไทยตั้งมั่นอย่างยิ่งในพุทธศาสนา ยากที่จะเปลี่ยนให้มานับถือศาสนาคริสต์ได้ ทั้ง ๆ ที่มิชชันนารีเหล่านั้นมีเสรีภาพอย่างมากในการเผยแพร่ศาสนา อย่างไรก็ตามมาถึงปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าพุทธศาสนาไทยได้สูญเสียความเชื่อมั่นลงไปมาก เมื่อมีเหตุอื้อฉาวเกี่ยวกับพระสงฆ์ปรากฏเป็นข่าวติดต่อกันตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชาวพุทธจำนวนมากเริ่มเกิดความหวาดระแวงศาสนาอื่น ที่ลุกขึ้นมากล่าวโทษอย่างชัดเจนว่าศาสนาอื่นเป็นตัวการสร้างเหตุอื้อฉาวเหล่านี้ก็มีไม่น้อย ข้อหาดังกล่าวดูจะได้ผลไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากเวลามีการโจมตีพระสงฆ์หรือฆราวาสคนใดที่มีทัศนะทางพุทธศาสนาต่างไปจากตน หรือขัดผลประโยชน์ของตน ข้อหาที่นิยมใช้กันก็คือ กล่าวหาว่าคนเหล่านั้นรับแผนศาสนาอื่นมาบ่อนทำลายพุทธศาสนา
ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ดังกล่าวมิได้เกิดกับศาสนาคริสต์เท่านั้น หากรวมไปถึงศาสนาอิสลามด้วย ดังเมื่อปลายปีที่แล้วมีการเผยแพร่หนังสือไปตามวัดและสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศหลายครั้งหลายครา แสดงความวิตกที่ผู้หญิงมุสลิมเริ่มคลุมหน้ามากขึ้น อีกทั้งตามสถานีรถไฟ สนามบินก็มีที่ทำละหมาดทุกหนแห่ง หนังสือดังกล่าวเรียกร้องต่อชาวพุทธว่า " พวกเราต้องลุกขึ้นต่อสู้" เพราะว่า "วันหนึ่งข้างหน้าเรา ชาวพุทธ ๙๕ % อาจเป็นคนชั้นสองถูกปกครองโดยคนส่วนน้อยต่างศาสนา" กระแสระแวงอิสลามอาจไม่เข้มข้นเท่านี้หากว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงสำคัญที่สุดกระทรวงหนึ่งของไทย มิใช่เป็นผู้นำชาวมุสลิม
ปฏิกิริยาดังกล่าวโดยเนื้อแท้ก็คือปฏิกิริยาต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ซึ่งถูกเร่งด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ จนพุทธศาสนาเองปรับตัวไม่ทัน ในขณะที่ศาสนาอื่นเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น ทั้งโดยแรงหนุนจากปัจจัยภายในประเทศและจากนอกประเทศ ความไม่เข้าใจในความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ประกอบกับการติดยึดในความสำเร็จแต่อดีต ได้ทำให้ชาวพุทธจำนวนมากไม่สามารถอธิบายความเสื่อมทรุดของพุทธศาสนาได้ นอกจากการกล่าวหา "มือที่สาม" หรือปักใจเชื่อว่ามีการวางแผนบ่อนทำลายพุทธศาสนาอย่างเป็นขบวนการ (Conspiracy Theory)
ไม่มีอะไรทำให้พุทธศาสนาเสื่อมทรุดได้มากเท่ากับชาวพุทธเอง ความข้อนี้พระพุทธองค์ได้ตรัสเตือนกว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้วว่า "เรือจะล่มก็เพราะต้นหน (หาใช่เพราะลมพายุไม่) " ปัจจัยภายนอกแม้จะทรงพลังเพียงใด ก็ไม่สำคัญเท่ากับปัจจัยภายใน "เมื่อมือไม่มีแผล ...ยาพิษก็ไม่สามารถทำอันตรายได้" (ธรรมบท) ฉันใดก็ฉันนั้น หากพุทธศาสนามีความเข้มแข็งมั่นคง ภัยคุกคามใด ๆ จากภายนอกก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความเสื่อมทรุดของพุทธศาสนาไทยดังปรากฏทุกวันนี้ มิได้เป็นเพราะฝีมือของศาสนาอื่น ๆ หรือเพราะความทันสมัย หรือเพราะกระแสโลกาภิวัตน์ หากเป็นเพราะความอ่อนแอของพุทธศาสนาไทย หรือพูดให้ถูกต้องคือเพราะการปล่อยปละละเลยของชาวพุทธไทยด้วยกันเอง
ว่าด้วยสถาบันสงฆ์
ย้อนกลับไปเมื่อหนึ่งศตวรรษที่แล้ว พระสงฆ์ไทยมีบทบาทอย่างสำคัญ ในการผลักดันประเทศสู่ความทันสมัย ด้วยการนำการศึกษาแผนใหม่ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีการนำเอาวิชาการแผนใหม่และระบบโรงเรียนมาสู่กุลบุตร ขณะเดียวกันก็นำเอาภาษาไทยมาแทนที่ภาษาขอมในการศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางศาสนา อย่างล้ำหน้าสถาบันสงฆ์อื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ แต่มาถึงปัจจุบัน สถาบันสงฆ์กลับเป็นฝ่ายไล่ตามฆราวาสในแทบทุกทาง ไม่เฉพาะในด้านเทคโนโลยี ความรู้ทางโลก หากรวมถึงวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยม
แต่ไม่มีอะไรที่บ่งบอกถึงความเสื่อมทรุดของพุทธศาสนา ได้ชัดเจนมากเท่ากับการประพฤติมิชอบของพระสงฆ์ รวมถึงความขัดแย้งและแบ่งฝักแบ่งฝ่ายไปทั่ววงการสงฆ์ ท่ามกลางความไร้ประสิทธิภาพและปล่อยปละละเลยของผู้นำสงฆ์ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งหมดนี้มีผลในการบั่นทอนศรัทธาของพุทธศาสนิกชนอย่างมาก และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งของการเติบใหญ่ขยายตัวของลัทธิพิธีต่าง ๆ ซึ่งมีฆราวาสเป็นผู้นำ แต่ปัญหาของพระสงฆ์มีมากกว่านั้นและเกิดขึ้นมานานแล้ว เห็นได้จากการที่พระสงฆ์ไม่สามารถเป็นแรงบันดาลใจในทางจริยธรรม แก่ชนชั้นกลางในเมืองมาไม่น้อยกว่า ๗๐ ปีแล้ว แบบอย่างทางศีลธรรมของผู้คนกลับได้มาจากพ่อแม่ปู่ย่าหรือครูบาอาจารย์ในโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ผู้คนเข้าวัดกันน้อยลง พระสงฆ์ยังคงเก็บตัวอยู่แต่ในวัด โดยมีบทบาทจำกัดอยู่แค่เรื่องพิธีกรรม หาได้มีความสัมพันธ์กับสังคมหรือชีวิตของผู้คนมากไปกว่านั้นไม่ จึงแทบไม่มีอิทธิพลใด ๆ ต่อสังคม
นี้ไม่เพียงสะท้อนถึงการสูญเสียความเป็นผู้นำทางจริยธรรมของพระสงฆ์เท่านั้น หากยังบ่งบอกถึงการสูญเสียความเป็นผู้นำทางสติปัญญาของท่านด้วย พุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยนั้น มีแกนกลางอยู่ที่พระสงฆ์ เมื่อสถาบันสงฆ์อ่อนแอลง ก็หมายความว่าคำสอนทางพุทธศาสนาก็มีอิทธิพลน้อยต่อวิถีชีวิตของผู้คนตามไปด้วย
การปฏิรูปการปกครองสงฆ์
ปัญหาดังกล่าวสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบการปกครองคณะสงฆ์ซึ่งรวมศูนย์สู่ส่วนกลาง โดยที่ในแต่ละระดับของการปกครองก็ให้อำนาจรวมศูนย์ที่ตัวบุคคล อย่างปราศจากการตรวจสอบใด ๆ ระบบการปกครองดังกล่าวซึ่งสถาปนามาแต่ ๑๐๑ ปีที่แล้วในยุคก่อร่างสร้างชาติเพื่อต่อต้านลัทธิอาณานิคม มาถึงปัจจุบันนี้เห็นได้ชัดว่า นอกจากจะไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาระดับท้องถิ่น ซึ่งมีความหลากหลายและซับซ้อน เกินกว่าที่จะจัดการด้วยการออกคำสั่งจากส่วนกลางแล้ว ยังไม่มีความโปร่งใส ดังนั้นจึงเอื้อต่อการใช้อำนาจในทางมิชอบ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดระบบพวกพ้องและการวิ่งเต้นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากผู้มีอำนาจ สิ่งที่ตามมาก็คือการปกครองที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนรวม
การปฏิรูปสถาบันสงฆ์จำต้องเริ่มต้นด้วยการกระจายอำนาจให้มากขึ้น อันดับแรกคือการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง เพื่อให้พระสงฆ์ในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ทำงานได้คล่องตัวและตอบสนองต่อปัญหาเฉพาะท้องที่ได้มากขึ้น ทั้งนี้โดยให้การบริหารคณะสงฆ์ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับภาคลงไปถึงระดับตำบลเป็นไปในรูปคณะกรรมการ โดยมาจากการเลือกสรรของพระสงฆ์หรือผู้แทนสงฆ์ในเขตปกครอง
อันดับต่อมาคือการกระจายอำนาจจากบนลงล่าง กล่าวคือแทนที่จะมีแต่การสั่งการจากบนลงล่างเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องเปิดช่องให้พระสงฆ์ระดับล่าง มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และกลั่นกรองการบริหารของส่วนกลาง โดยการจัดตั้งสังฆสภาในทุกระดับตั้งแต่ระดับประเทศลงไปถึงระดับตำบล สมาชิกสังฆสภาได้มาจากการเลือกตั้งจากพระสงฆ์หรือผู้แทนสงฆ์ในเขตปกครองแต่ละระดับ
โครงสร้างดังกล่าวจะทำให้ผู้บริหารคณะสงฆ์ทุกระดับมีความรับผิด (accountability) ต่อพระสงฆ์โดยรวมมากขึ้น ทำให้การบริหารมีความโปร่งใสมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เอื้อให้พระสงฆ์ไม่ว่าระดับใดหรือที่ใดก็ตาม สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดความเป็นไปในคณะสงฆ์ได้ วิธีนี้นอกจากสอดคล้องกับหลักการบริหารในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งมีความซับซ้อนและหลากหลาย เกินกว่าที่คนเพียงคนเดียวหรือไม่กี่คนจะดูแลให้ทั่วถึงได้แล้ว ยังสอดคล้องกับหลักการในพระธรรมวินัยที่เน้นความเป็นสังฆะ คือการรับผิดชอบร่วมกันโดยสงฆ์ทั้งหมด
การปฏิรูปความสัมพันธ์กับรัฐและสังคม
ขณะที่ความสัมพันธ์ภายในคณะสงฆ์จะต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั้น ความสัมพันธ์กับสถาบันภายนอกก็จำต้องมีการปฏิรูปด้วยเช่นกัน พุทธศาสนาแบบเถรวาทไม่ว่ายุคใดสมัยใด ดำรงอยู่ได้ด้วยดีก็ต่อเมื่อพระสงฆ์ ผู้ปกครอง และประชาชน มีความสัมพันธ์กันอย่างได้ดุลยภาพ มิติหนึ่งของดุลยภาพดังกล่าวก็คือ พระสงฆ์ต้องไม่เหินห่างจากประชาชน และไม่ใกล้ชิดกับผู้ปกครองหรือรัฐมากเกินไป เพราะพระสงฆ์มีหน้าที่แนะนำสั่งสอนประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยการอุปถัมภ์บำรุงและการกำกับดูแลจากประชาชนด้วย
การปฏิรูปคณะสงฆ์ในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ได้ทำให้คณะสงฆ์ทั้งประเทศเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐมากขึ้น โดยที่บางสมัยพระมหากษัตริย์เป็นสังฆราชโดยพฤตินัยเลยทีเดียว แม้ว่าสถาบันสงฆ์มีความจำเป็นต้องพึ่งอำนาจรัฐในการสร้างเอกภาพภายในคณะสงฆ์ โดยเฉพาะการควบคุมการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่หลายทศวรรษที่ผ่านมาการพึ่งพิงอยู่กับความอุปถัมภ์ของรัฐ ได้ทำให้คณะสงฆ์นอกจากจะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองแล้ว ยังขาดแรงจูงใจที่จะปฏิรูปตนเอง เพราะรู้ดีว่าถึงอย่างไรรัฐก็ยังจะให้ความอุปถัมภ์อยู่ดี ผลก็คือคณะสงฆ์กลายเป็นสถาบันที่แน่นิ่ง ขาดพัฒนาการ ตรึงติดอยู่กับแบบแผนและขนบธรรมเนียมของศตวรรษที่ ๑๙ (อาทิ แบบแผนการปกครองที่ถอดแบบจากยุคล่าอาณานิคม) ในขณะที่สถาบันอื่น ๆ ของประเทศได้พัฒนาตนเองเพื่อพร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ไม่มากก็น้อยแล้ว
รัฐสมัยใหม่นั้นเป็นประหนึ่งเครื่องจักรที่ดำรงอยู่เพื่อตัวมันเอง รัฐสมัยใหม่หาได้สนใจศาสนาไม่ การอุปถัมภ์คณะสงฆ์จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐเอง หาใช่เพื่อประโยชน์ของพระศาสนาไม่ ดังนั้นคณะสงฆ์จึงไม่ควรหวังว่าการพึ่งพิงอิงแอบรัฐจะเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนาโดยรวม ตรงกันข้ามมีแต่จะทำให้คณะสงฆ์และพระศาสนาอ่อนแอเรียวลง ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่คณะสงฆ์จะต้องวางระยะห่างจากรัฐมากขึ้น โดยพึ่งพิงรัฐน้อยลง
กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมคือ คณะสงฆ์ควรมีอิสระในการบริหารและการปกครองตนเองมากขึ้น รัฐควรมีบทบาทน้อยลงในกระบวนการแต่งตั้งผู้บริหารคณะสงฆ์ รวมไปจนถึงกระบวนการเลื่อนสมณศักดิ์ ซึ่งในปัจจุบันแยกไม่ออกจากตำแหน่งผู้บริหารคณะสงฆ์ คณะสงฆ์ควรมีสำนักงานบริหารคณะสงฆ์ ของตนเอง แทนที่จะให้กลไกรัฐ คือกรมการศาสนาในอดีต และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในปัจจุบัน มาเป็นสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมดังที่เป็นอยู่ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือการมีอิสระในทางสติปัญญา ทุกวันนี้กล่าวได้ว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือกรมการศาสนาเดิม เป็นแหล่งข้อมูลและความเห็นในเชิงวิชาการเพียงแหล่งเดียวก็ว่าได้ของคณะสงฆ์ที่ส่วนกลาง แม้แต่ข้อมูลเกี่ยวกับวัดและพระสงฆ์ทั่วประเทศ มหาเถรสมาคมก็ต้องขอจากสำนักงานดังกล่าว ความเป็นอิสระทางสติปัญญาของคณะสงฆ์จะมีไม่ได้หากขาดสถาบันทางวิชาการของตนเอง
การพึ่งพิงรัฐให้น้อยลง เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับประชาชน มีความกระชับแน่นมากขึ้น ขั้นตอนนี้มีความสำคัญต่อการปฏิรูปคณะสงฆ์ เพราะความเสื่อมของคณะสงฆ์และพุทธศาสนาในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพึ่งพิงรัฐและห่างเหินจากภาคประชาชน จำเป็นอย่างยิ่งที่คณะสงฆ์จะต้องกลับมาใกล้ชิดกับประชาชนให้มากขึ้น การปรับความสัมพันธ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดขึ้นจาก ๒ ทิศทาง คือ คณะสงฆ์โน้มเข้าหาประชาชนมากขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องโน้มเข้าหาคณะสงฆ์ด้วย
ประชาชนโน้มเข้าหาคณะสงฆ์ก็ด้วยการเข้ามาช่วยรับผิดชอบกิจการคณะสงฆ์ หรือมาเป็นผู้อุปถัมภ์คณะสงฆ์มากขึ้น อาทิเช่น งบประมาณด้านการปกครองและการศึกษา แทนที่จะให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบดังกล่าวเช่นปัจจุบัน ควรมีองค์กรภาคประชาชนเข้ามาทำหน้าที่นี้แทน โดยอาจใช้องค์กรที่มีอยู่ อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (ซึ่งจะต้องมีการปฏิรูปให้เป็นตัวแทนของประชาชนมากขึ้น มิใช่กลไกรัฐดังปัจจุบัน) หรือตั้งขึ้นใหม่เช่น ประชาคมจังหวัด โดยมีหน้าที่ทำนุบำรุงกิจการด้านศาสนาและคณะสงฆ์ด้วย นอกเหนือจากความรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อมในจังหวัด
อีกทางเลือกหนึ่งคือจัดตั้งคณะกรรมการพุทธบริษัทแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่นี้โดยตรง ประกอบด้วยผู้แทนจากประชาชนภาคต่าง ๆ ทั้งภาคภูมิศาสตร์และภาคเศรษฐกิจสังคม ตลอดจนผู้แทนคณะสงฆ์ และสถาบันแม่ชี นอกจากระดับชาติแล้ว ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการพุทธบริษัทในระดับจังหวัดและอำเภอด้วย คณะกรรมการดังกล่าวควรมีบทบาทมากกว่าการหางบประมาณสนับสนุนคณะสงฆ์ในพื้นที่ หากควรมีหน้าที่สนับสนุนทางด้านบุคคลากร และวิชาการแก่คณะสงฆ์ด้วย รวมไปถึงร่วมกับคณะสงฆ์ในการกำหนดนโยบายและแผนเกี่ยวกับการพระศาสนาและคณะสงฆ์ในพื้นที่
องค์กรภาคประชาชนดังกล่าวนอกจากมีหน้าที่สนับสนุนกิจการด้านพุทธศาสนาและคณะสงฆ์แล้ว อาจมีส่วนร่วมในการพิจารณาสมณศักดิ์สำหรับพระสงฆ์ในพื้นที่ของตนด้วย อย่างน้อยก็มีส่วนในการเสนอชื่อพระสงฆ์ที่สมควรได้รับการยกย่อง โดยมีกรรมการระดับชาติเป็นผู้พิจารณาและเสนอให้รัฐเป็นผู้แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ วิธีนี้จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการยกย่องพระสงฆ์ที่มีคุณงามความดีและความสามารถด้วย
ที่กล่าวมาเป็นการปรับบทบาทของภาคประชาชนโดยโน้มเข้าหาพระสงฆ์มากขึ้น พร้อมกันนั้นพระสงฆ์ก็จำต้องปรับบทบาทเพี่อโน้มเข้าหาประชาชนมากขึ้นด้วยเช่นกัน เริ่มต้นด้วยการ "เปิด"วัดให้ชุมชนเข้ามีส่วนรับผิดชอบมากขึ้น ไม่ว่าด้านการศึกษา การก่อสร้าง รวมทั้งดูแลเรื่องการเงิน เพื่อให้มีความโปร่งใสมากขึ้น แต่เท่านั้นยังไม่พอ สิ่งที่ควรทำมากกว่านั้นก็คือ การเข้าไปส่งเสริมให้สังคมมีความเข้มแข็งทางด้านศีลธรรม เช่น สนับสนุนให้ประชาชนมีการรวมกลุ่มศึกษาธรรมและทำสมาธิภาวนาร่วมกัน จัดกิจกรรมส่งเสริมจริยธรรมแก่เยาวชนในชุมชน ควบคู่กันไปก็คือการส่งเสริมการพัฒนาชุมชน โดยเปิดวัดให้ประชาชนมาประชุมปรึกษาหารือกันในเรื่องปัญหายาเสพติด การอนุรักษ์แหล่งน้ำ การแก้ปัญหาหนี้สิน เป็นต้น นอกจากนั้นพระสงฆ์ยังควรเป็นผู้นำในการจัดตั้งและสนับสนุนกลุ่มบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เช่น กลุ่มอนุรักษ์ป่า สหกรณ์ร้านค้า กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น การสนับสนุนดังกล่าวทำได้ตั้งแต่การกระตุ้นให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกัน การเป็นที่ปรึกษาทั้งด้านธรรมะและทักษะ ไปจนถึงการช่วยเหลือด้านวัสดุอุปกรณ์ หรือใช้วัดเป็นที่ประชุม เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์ในพื้นที่ โดยอาจจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาให้ความสนับสนุนทางด้านวิชากา รและข้อมูลข่าวสาร แก่พระสงฆ์ที่ทำงานดังกล่าว
กิจกรรมเหล่านี้แม้จะเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็มิได้ห่างไกลจากบทบาทดั้งเดิมของพระสงฆ์ในชุมชน ในอดีตพระสงฆ์มีบทบาททั้งในทางธรรมและทางโลก สอนธรรมและสอนวิชาช่างไปพร้อมกัน บางครั้งก็นำชาวบ้านไปช่วยกันตัดถนนสร้างสะพาน มีเฉพาะยุคใหม่นี้ที่แยกเรื่องทางโลกและทางธรรมออกจากกัน จนเข้าใจไปว่าพระมีหน้าที่สอนศีลธรรมและประกอบพิธีกรรมเท่านั้น
จำต้องย้ำในที่นี้ว่า การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชนนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อความเจริญมั่นคงของพุทธศาสนา ทั้งนี้ก็เพราะประชาชนจะมีความเข้าใจในธรรมะมากน้อยเพียงใด นำมาปฏิบัติในชีวิตหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการชี้แนะจากพระสงฆ์ ขณะเดียวกัน พระสงฆ์จะสามารถบำเพ็ญศาสนกิจได้มากน้อยเพียงใด ประพฤติตามพระธรรมวินัยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการอุปถัมภ์และกำกับดูแลของประชาชน หากประชาชนไม่ใส่ใจในเรื่องพระสงฆ์ หรือไม่รู้ระเบียบวินัยของพระสงฆ์ ก็เท่ากับส่งเสริมให้ท่านประพฤตินอกรีตกันมากขึ้น ดังเห็นได้ในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ประชาชนไม่ใส่ใจในกิจการพระสงฆ์ ก็คือความเข้าใจว่าศาสนาเป็นเรื่องของพระสงฆ์และกรมการศาสนาเท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรื้อฟื้นความเข้าใจว่า ศาสนาและพระสงฆ์นั้นเป็นเรื่องของประชาชนด้วย
การปฏิรูปการศึกษาสงฆ์
ปัญหาของคณะสงฆ์ไม่ว่าเรื่องใด หากสาวไปถึงที่สุดก็จะพบว่า ล้วนเกี่ยวของกับปัญหาการศึกษาสงฆ์ทั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่ในอดีตจุดแข็งสำคัญที่สุดของคณะสงฆ์อยู่ที่การศึกษา พระสงฆ์ในอดีตเป็นผู้นำชุมชนได้ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากเป็นผู้มีการศึกษาสูงกว่าชาวบ้าน วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนได้ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้คนมาศึกษาหาความรู้กันที่วัด ไม่เฉพาะทางธรรม หากรวมถึงวิชาการทางโลก แต่ทุกวันนี้พระสงฆ์กลับมีความรู้ตามหลังฆราวาสมากขึ้นทุกที การศึกษาของคณะสงฆ์ตกต่ำลงอย่างมากตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แม้กระทั่งความรู้ทางด้านศาสนา พระสงฆ์ก็มีน้อยมาก ดังเห็นได้จากผลสอบของพระสงฆ์สามเณรทั้งด้านปริยัติธรรมตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการสอบความรู้ทางด้านบาลี ปัจจุบันพระเณรสอบตกมากกว่าร้อยละ ๘๐ มิพักต้องกล่าวถึงคุณวุฒิของเจ้าอาวาส ซึ่งคาดว่ามีถึงร้อยละ ๙๐ ที่จบแค่ระดับประถมศึกษา และการศึกษาระดับนักธรรมตรี ซึ่งเป็นขั้นต่ำสุด เท่านั้น
ที่ร้ายยิ่งกว่าความรู้จากตำราหรือปริยัติศึกษา ก็คือความรู้ความเข้าใจในทางธรรมอันเกิดจากการทำสมาธิภาวนา การศึกษาของคณะสงฆ์ได้ละเลยเรื่องนี้มาตลอดกว่าร้อยปีที่ผ่านมา ทำให้สมาธิภาวนาของของพระสงฆ์ไทยตกต่ำลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ชีวิตพรหมจรรย์นั้นจะเจริญงอกงามได้ต้องอาศัยความสุขสงบทางด้านจิตใจเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เมื่อละเลยสมาธิภาวนา ย่อมเป็นการยากที่จะดำรงตั้งมั่นได้ในชีวิตพรหมจรรย์ แม้จะครองเพศบรรพชิต แต่ก็อยู่อย่างไม่มีความสุข เต็มไปด้วยความเครียดและกดดัน หากไม่สึกหาลาเพศไป ก็ไปหาความสุขทางวัตถุหรือทางกามมาทดแทน ผลก็คือพระสงฆ์เป็นอันมาก หันไปสะสมลาภสักการะ หมกมุ่นกับความบันเทิงเริงรมย์จากโทรทัศน์ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ตลอดจนเข้าหาอบายมุข และแย่งชิงสมณศักดิ์กัน
กล่าวได้ว่าการศึกษาคณะสงฆ์ในปัจจุบันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และถึงเวลาต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง น่าสังเกตว่าทั้ง ๆ ที่การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของพระสงฆ์และของพุทธศาสนา แต่กลับเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจน้อยมาก เกือบ ๒ ศตวรรษที่ผ่านมา คณะสงฆ์ไทยมีการปฏิรูปการศึกษาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และการปฏิรูปครั้งนั้นก็เกิดขึ้นเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว
การปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังเท่านั้นที่จะทำให้พระสงฆ์สามารถดำรงความเป็นผู้นำในสังคมไทยได้ อย่างน้อยก็ในทางจริยธรรมหรือในทางสะอาด สว่าง และสงบ ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้พุทธศาสนาสามารถเข้าไปมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คนยุคใหม่ ซึ่งกำลังต้องการทางออกจากความเครียดและความเร่าร้อนของสังคมยุคบริโภคนิยมได้
การปฏิรูปการศึกษาที่จะกอบกู้คณะสงฆ์ได้ก็คือ การปฏิรูปให้เกิดการประสานระหว่างปริยัติศึกษากับสมาธิภาวนา สมาธิภาวนาต้องถูกบูรณาการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในระบบทุกระดับของคณะสงฆ์ ขณะเดียวกันปริยัติศึกษาจะต้องมิใช่การเรียนจากตำราโดยเน้นการท่องจำ หากช่วยให้ผู้เรียนรู้จักคิด และสามารถนำธรรมะมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้ด้วย จะทำเช่นนี้ได้หมายความว่าจะการศึกษาของสงฆ์จะต้องให้ความรู้ทางธรรมควบคู่กับทางโลก โดยให้ความรู้ทางโลกเป็นฐานแก่ความรู้ทางธรรม และเป็นช่องทางให้นำความรู้ทางธรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้คนได้อย่างสมสมัย
นอกจากนั้นยังควรส่งเสริมให้เกิดการประสานระหว่างการศึกษาในรูปแบบและนอกรูปแบบ การศึกษานั้นถูกเข้าใจมานานว่าจำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น และคณะสงฆ์ก็รับเอาความคิดนี้มาปฏิบัติจนลืมไปว่าการศึกษานั้นสามารถเกิดขึ้นได้นอกห้องเรียน เช่น จากวิถีชีวิตหรือความเป็นอยู่ในวัด การศึกษาประการหลังนี้เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ดังได้ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นเพื่อให้เกิดวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตน ด้วยเหตุนี้คณะสงฆ์จึงควรให้ความสำคัญกับปัจจัยส่วนนี้ ด้วยการจัดสรรและปรับปรุงสภาพแวดลอมในวัด วิถีชีวิต และความสัมพันธ์ภายในวัดให้เอื้อต่อการฝึกฝนพัฒนาตนทั้งในด้านพฤติกรรมและจิตใจของพระสงฆ์สามเณรด้วย ในอดีตการศึกษานอกรูปแบบดังกล่าว มีบทบาทในการสร้างคุณภาพให้แก่พระสงฆ์ไทย ได้ยิ่งกว่าการศึกษาจากตำราหรือการศึกษาในรูปแบบเสียอีก ดังนั้นจึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องรื้อฟื้นขึ้นมาให้มีความสำคัญและคุณค่าสมสมัยอีกครั้งหนึ่ง
ว่าด้วยหลักธรรม
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้างคณะสงฆ์เพื่อให้เกิดพระสงฆ์ที่มีคุณภาพ สามารถเป็นผู้นำทั้งในทางธรรมและสังคม อันเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามในกระบวนการฟื้นฟูพุทธศาสนานั้น การให้ความสำคัญแก่ศาสนบุคคลเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่เพียงพอ อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือ ศาสนธรรม หรือคำสอนในทางพุทธศาสนา วิกฤตของพุทธศาสนาในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ที่ความอ่อนแอของสถาบันสงฆ์เท่านั้น หากยังอยู่ที่หลักธรรมคำสอนซึ่งทุกวันนี้ มีบทบาทน้อยมากในทางสร้างสรรค์ต่อวิถีชีวิตของผู้คน หรือความเป็นไปในสังคม การละเลยที่จะนำหลักธรรมนั้นไปใช้กับชีวิตและสังคมเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าว แต่สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ หลักธรรมที่นำไปเผยแผ่สั่งสอนและประพฤติปฏิบัติกันนั้นยังมีความคลาดเคลื่อนคับแคบ ซึ่งสามารถสรุปด้วยคำของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ปราชญ์คนสำคัญทางด้านพุทธศาสนาของไทยเวลานี้ก็คือ "ลงร่องและแข็งทื่อ คลาดเคลื่อนและไขว้เขว เคลือบพอกและปะปน ถดถอยและล้าหลัง"
หลักธรรมคำสอนเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดโลกทัศน์และการดำเนินชีวิต หลักธรรมคำสอนที่คลาดเคลื่อนไขว้เขวย่อมนำไปสู่ โลกทัศน์ และวิถีชีวิต ที่ผิดทางห่างไกลจากจุดหมายของศาสนา และหากหลักธรรมคำสอนนั้นลงร่องแข็งทื่อและถดถอยล้าหลัง ย่อมไม่เอื้อให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างเหมาะสมและเท่าทัน ผลก็คือศาสนานั้นขาดพลังในการปรับตัวและเผชิญหน้ากับยุคสมัยได้ รวมถึงการขาดพลังในการตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณของผู้คน อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ผู้คนหันไปสมาทานบริโภคนิยมกันมากมายในเวลานี้
ในการฟื้นฟูพุทธศาสนาให้มีพลังสร้างสรรค์ต่อชีวิตและสังคม โดยเฉพาะในทางจริยธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้หลักธรรมทางพุทธศาสนาหลุดพ้นจากภาวะดังกล่าว ทั้งนี้โดยอาศัยวิธีการต่อไปนี้คือ การรื้อฟื้นหลักธรรมสำคัญที่ถูกละเลยหรือเข้าใจคลาดเคลื่อน การขยายหลักธรรมให้มีความหมายกว้างขึ้น การหยิบยืมแนวคิดอื่นมาเสริมหลักธรรมเดิม และการสังเคราะห์หลักธรรมเพื่อเป็นเครื่องมือทำความเข้าใจโลกสมัยใหม่
การรื้อฟื้นโลกุตตรธรรม
พุทธศาสนาไทยได้มีการปรับเปลี่ยนอย่างสำคัญเมื่อ ๑๕๐ ปีที่แล้วเพื่อเผชิญหน้ากับวิทยาศาสตร์และคริสต์ศาสนาจากตะวันตก ในครั้งนั้นพุทธศาสนาไทยได้ปรับตัวด้วยการทำให้มีความเป็น "วิทยาศาสตร์" มากขึ้น โดยเน้นคำสอนที่เป็นเหตุเป็นผล ประจักษ์ผลได้ด้วยตนเอง ขณะเดียวกันก็ตัดทอนคำสอนที่เกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาริย์ นรกสวรรค์ ในกระบวนการดังกล่าว คำสอนเกี่ยวกับนิพพานและโลกุตตรธรรม (ภาวะเหนือโลก เป็นอิสระจากความผันผวนปรวนแปรของชีวิต) ได้ถูกลดทอนความสำคัญไปด้วย เพราะถูกมองว่าเป็นเรื่องชาติหน้าอันไกลโพ้น
การปรับตัวดังกล่าว แม้ทำให้พุทธศาสนาเป็นที่ยอมรับของชนชั้นนำ ที่ได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่ก็ทำให้พุทธศาสนาขาดความลุ่มลึกทางด้านจิตวิญญาณเป็นลำดับ พุทธศาสนากลายเป็นแค่ระบบศีลธรรมซึ่งเน้นประโยชน์แบบโลกย์ ๆ เช่น ทรัพย์ เกียรติยศ การมีมิตรสหาย มีชีวิตไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ในแง่นี้พุทธศาสนาจึงไม่ต่างจากระบบศีลธรรมในทางโลก (secularism) ที่สอนให้คนทำดีละชั่วเหมือนกัน
หัวใจของพุทธศาสนาอยู่ที่การทำจิตให้บริสุทธิ์ เป็นอิสระจากทุกข์ แม้อยู่ในโลกแต่ก็ไม่ทุกข์ไปกับความผันผวนปรวนแปรในโลก คำสอนทางด้านโลกุตตรธรรมดังกล่าว เป็นสิ่งที่ต้องรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในฐานะที่เป็นหลักธรรมสำหรับการดำเนินชีวิตในโลกนี้ ที่ทุกคนทุกเพศสามารถจะใช้ปฏิบัติได้แม้จะอยู่ในเมืองหรือในบ้าน ไม่จำกัดว่าต้องเป็นพระสงฆ์หรือต้องหลบลี้หนีโลกเท่านั้นถึงจะปฏิบัติได้ ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้ที่บุกเบิกในการนำโลกุตตรธรรมกลับมาสู่วิถีชีวิตของชาวพุทธสมัยใหม่ ด้วยการแนะให้ทำงานด้วย "จิตว่าง" หรือทำโดยปราศจากความยึดมั่นถือมั่นใน "ตัวกูของกู" ซึ่งช่วยให้ปล่อยวางจากทุกข์ได้แม้จะทำงานอย่างเต็มที่
คำสอนดังกล่าวทำให้ชาวพุทธสามารถพัฒนามิติทางด้านจิตวิญญาณได้ โดยไม่ต้องหนีโลกหรือละทิ้งความรับผิดชอบทางโลก ขณะเดียวกันก็สามารถเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ได้โดยไม่ตกเป็นทาสของมัน คำสอนดังกล่าวช่วยให้ชาวพุทธสามารถเผชิญกับลัทธิบริโภคนิยมได้โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของมัน การรื้อฟื้นคำสอนดังกล่าวทำให้สมาธิภาวนาเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรื้อฟื้นกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตด้วย
การรื้อฟื้นจริยธรรมทางสังคม
พุทธศาสนาในความเข้าใจของคนทุกวันนี้คือคำสอนเกี่ยวกับเรื่องจิตใจและเน้นที่ปัจเจกบุคคล แต่แท้จริงแล้วพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับเรื่องสังคมมาก มีหลักธรรมมากมายที่พูดถึงการจัดระเบียบสังคมและสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกิดชีวิตที่ดีร่วมกัน และเน้นถึงหน้าที่ของบุคคลที่พึงมีต่อสังคมส่วนรวม การสนใจแต่เรื่องตัวเองเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาไม่สรรเสริญ แม้การฝึกฝนพัฒนาตนเป็นสิ่งดี แต่ก็ต้องไม่ทิ้งความรับผิดชอบต่อส่วนรวม หลักการนี้จะเห็นได้ชัดจากวินัยของพระสงฆ์ ซึ่งเน้นความเป็นสังฆะอย่างมาก ความคิดที่ว่า "ทำตนให้ดีแล้วสังคมจะดีไปเอง" เป็นสิ่งที่ปราศจากพุทธวจนะใด ๆ รองรับ
การรื้อฟื้นจริยธรรมทางสังคมของพุทธศาสนาหมายความว่า ชาวพุทธจะต้องใส่ใจกับความเป็นไปของส่วนรวม ช่วยกันดูแลสมบัติของสาธารณะ ไม่นิ่งดูดายเมื่อสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม อาชญากรรมแพร่ระบาด หรือมีการฉ้อราษฎร์บังหลวง ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันปรับปรุงสภาพสังคมให้เอื้อต่อชีวิตที่ดีงามด้วย การเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ การกดขี่ขูดรีด ไม่ว่าโดยรัฐหรือโดยกลุ่มบุคคล ย่อมเป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่อาจยอมรับหรือทนนิ่งเฉยได้ เพราะเป็นการบั่นทอนสังคมโดยรวม อีกทั้งขัดแย้งกับหลักธรรม
การรื้อฟื้นจริยธรรมทางสังคมตามนัยดังกล่าว ย่อมนำไปสู่การรวมกลุ่มเพื่อช่วยกันดูแลรับผิดชอบส่วนรวม และช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเข้มแข็งในทางจริยธรรม มิใช่สังคมที่อ่อนแอเพราะต่างคนต่างอยู่หรือนิ่งดูดายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับยุคปัจจุบัน เพราะช่วยให้พุทธศาสนาและสังคมไทย สามารถเผชิญหน้ากับลัทธิปัจเจกนิยมแบบสุดขั้ว ซึ่งกำลังแพร่ระบาดมาพร้อมกับลัทธิบริโภคนิยม อันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์ สังคมหรือศาสนาใดที่ขาดพลังในการต้านทานลัทธิดังกล่าว ย่อมถูกกัดกร่อนบ่อนทำลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การขยายหลักธรรมให้มีความหมายกว้างขึ้น
พุทธศาสนาเกิดขึ้นในรัฐโบราณขนาดเล็กและเมื่อแพร่มายังประเทศไทย ก็เติบโตตั้งมั่นและสืบต่อในสังคมแบบหมู่บ้านเป็นเวลาหลายศตวรรษ ก่อนที่จะมาดำรงอยู่ในสังคมมหานคร สิ่งหนึ่งที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันก็คือ จริยธรรมที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล ในสังคมแบบหมู่บ้านที่ทุกคนล้วนรู้จักกันและมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว จริยธรรมดังกล่าวย่อมเพียงพอที่จะรักษาชุมชนให้ผาสุกได้ อย่างไรก็ตามเมื่อสังคมมีความซับซ้อน ผู้คนมิได้มีความสัมพันธ์กันแบบตัวต่อตัวเท่านั้น หากยังสัมพันธ์กันผ่านระบบหรือกลไกต่าง ๆ ของสังคม การที่สังคมจะมีความผาสุกได้ จึงต้องอาศัยจริยธรรมที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสังคม มีหลักธรรมหลายข้อในพุทธศาสนาที่น่าขยายจากจริยธรรมระหว่างบุคคลกับบุคคล มาเป็นจริยธรรมระหว่างบุคคลต่อสังคมได้ ในแง่นี้จะเป็นการเสริมกับจริยธรรมทางสังคมที่มีอยู่เดิม ซึ่งสมควรรื้อฟื้นขึ้นใหม่ดังที่เพิ่งกล่าวมาแล้ว
นอกจากการขยายความหมายให้มีมิติทางสังคมมากขึ้นแล้ว การขยายความหมายให้ครอบคลุมกับสภาพความหลากหลายซับซ้อนของสังคมปัจจุบัน ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน อาทิ เช่น ศีล ๕ ซึ่งเป็นจริยธรรมพื้นฐานของชาวพุทธ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดทอนการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และเพื่อสร้างความผาสุกในสังคม ปัจจุบันมีการเบียดเบียนที่ซับซ้อนและหลากรูปแบบที่ศีล ๕ ครอบคลุมไปไม่ถึง เช่นการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการเอาเปรียบขูดรีดทางเศรษฐกิจผ่านการผลิตและบริโภคที่ไม่ถูกต้อง ทางออกประการหนึ่งก็คือ ตีความศีล ๕ ให้ครอบคลุมถึงการเบียดเบียนดังกล่าวด้วย เช่น ศีลข้อ ๑ ซึ่งว่าด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ ให้ครอบคลุมถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือการสนับสนุนอุตสาหกรรมทหาร อีกทางหนึ่งที่ทำได้ก็คือการนำเอาสาระของศีล ๕ มากำหนดเป็นแนวปฏิบัติ (guideline) และข้อปฏิบัติ ที่มีรายละเอียดครอบคลุมถึงการเบียดเบียนแบบใหม่ เช่นแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี หรือข้อปฏิบัติว่าด้วยการบริโภคที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการประกอบอาชีพที่ไม่ส่งเสริมการเอาเปรียบผู้อื่น (เช่น การปั่นหุ้น หรือลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการขูดรีดแรงงานเด็ก)
ไม่เฉพาะศีลเท่านั้น หลักธรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตก็ควรมีการขยายความให้ครอบคลุม และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคมสมัยใหม่ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดชีวิตที่ดีงามและสังคมที่ผาสุก กล่าวโดยสรุปก็คือขยายความให้ครอบคลุมประเด็นซึ่งกำลังเป็นปัญหาของสังคมสมัยใหม่ดังต่อไปนี้ ๑) การบริโภค ๒) เงิน ๓) กามารมณ์ ๔) ความสัมพันธ์ ๕) เทคโนโลยี ๖) อัตลักษณ์ ๗) ความเครียดและความเบื่อหน่าย ๘) ความโดดเดี่ยว ๙) ความตาย
การหยิบยืนแนวคิดจากที่อื่นมาเสริมหลักธรรมเดิม
การหยิบยืมแนวคิดหรือคำศัพท์จากวัฒนธรรมอื่นมาใช้ในพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่มีมาแต่สมัยพุทธกาล เช่น คำว่า กรรม นิพพาน แต่ถูกนำมาตีความใหม่ให้เข้ากับหลักการทางพุทธศาสนา และเมื่อพุทธศาสนาแพร่มายังเมืองไทย ความเชื่อเรื่องผีและไสยศาสตร์ก็ถูกกลืนมาเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา จนผีกลายเป็นผู้ปกป้องพุทธศาสนา หรือเป็นสื่อพาคนเข้าหาธรรมในพุทธศาสนา ด้วยวิธีนี้พุทธศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อผู้คนสมัยนั้นได้อย่างกว้างขวาง
ในทำนองเดียวกันการที่พุทธศาสนาจะมีอิทธิพลต่อสังคมปัจจุบันได้ ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหยิบยืมแนวคิดหรือคำศัพท์จากวัฒนธรรมอื่นมาใช้ หรือทำให้มีความหมายใหม่ที่สอดคล้องกับพุทธศาสนา ตัวอย่างได้แก่ แนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ อิสรภาพ และเสมอภาค ซึ่งแม้จะมาจากตะวันตก แต่กระแสโลกาภิวัตน์ก็ได้ทำให้กลายเป็นคุณค่าสากลไปแล้ว ที่ผ่านมาชาวพุทธมีท่าทีปฏิเสธแนวคิดเหล่านี้ เพราะเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมกิเลสหรือเอาตัวเองเป็นใหญ่ แต่ท่าทีที่แยบคายกว่านั้น น่าจะได้แก่การนำเอาแนวคิดหรือคำเหล่านี้ มาให้ความหมายใหม่ ในแง่ที่ส่งเสริมความดีงาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน เสรีภาพและอิสรภาพเป็นแนวคิดที่ดึงดูดใจผู้คนมาก การที่บริโภคนิยมมีเสน่ห์ต่อผู้คนทั่วโลกก็เพราะมันเชิดชูและเพิ่มพูนเสรีภาพของผู้คน แม้จะเป็นเพียงเสรีภาพในการบริโภคก็ตาม ตรงกันข้ามกับศาสนาซึ่งเต็มไปด้วยข้อห้ามมากมายในความรู้สึกของคนสมัยใหม่
ด้วยเหตุนี้จึงควรที่พุทธศาสนาจะหาทางนำคำหรือแนวคิดเหล่านี้ มาเป็นสื่อในการพาผู้คนเข้าหาธรรม เช่น การเน้นอิสรภาพในทางจิตใจให้โดดเด่นขึ้นมา ในทำนองเดียวกันคำว่าสิทธิ ก็ควรทำให้มีความหมายกว้างขึ้น ไม่เฉพาะการเคารพสิทธิของผู้อื่นเท่านั้น แต่รวมถึงการปกป้องสิทธิของผู้อื่นด้วย ซึ่งจะเป็นการเสริมกับแนวคิดเรื่องเมตตากรุณา ที่ขาดไม่ได้ก็คือการขยายแนวคิดนี้ให้มีมิติทางด้านจิตใจด้วย ได้แก่สิทธิในการพัฒนาตนเอง หรือสิทธิที่จะพ้นทุกข์ ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน ที่ไม่ควรละเลยทอดทิ้งให้สูญเปล่า
การสังเคราะห์หลักธรรมเพื่อทำความเข้าใจโลกสมัยใหม่
มีหลักธรรมทางพุทธศาสนาหลายประการที่ช่วยให้เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตและโลกได้ดีขึ้น อาทิ หลักไตรลักษณ์ หรืออิทัปปัจจยตา อย่างไรก็ตามโลกยุคใหม่มีความซับซ้อนมากขึ้นและมีปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ที่หลักธรรมดั้งเดิมอาจมีข้อจำกัดหรือไม่เพียงพอที่จะการช่วยทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องนำหลักธรรมที่มีอยู่มาสังเคราะห์ สำหรับเป็นเครื่องมือในการพิจารณาปรากฏการณ์สมัยใหม่ เพื่อที่ชาวพุทธจะสามารถวางท่าทีได้ถูกต้องต่อปรากฏการณ์เหล่านั้น อาทิ ระบบทุนนิยม ลัทธิบริโภคนิยม โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ หรือเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น เครื่องมือดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพิจารณาแง่มุมทางด้านจริยธรรมของปรากฏการณ์ดังกล่าว ว่าสอดคล้องกับหลักการพุทธศาสนาหรือไม่ ควรส่งเสริมหรือคัดค้านเพียงใด และควรนำมาใช้เพื่อส่งเสริมชีวิตที่ดีงามหรือไม่และอย่างไร ในการสังเคราะห์หลักธรรมเพื่อจุดหมายดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องมีการหยิบยืมแนวคิดอื่นมาช่วยด้วย รวมทั้งการขยายความหลักธรรมให้มีความหมายกว้างขึ้นดังได้กล่าวมาแล้ว การนำหลักปฏิจจสมุปบาท (ซึ่งมักใช้อธิบายความทุกข์ในจิตใจ) มาผสานเข้ากับหลักอารยวัฒิ (หลักความเจริญของอริยชน) และทฤษฎีระบบ (Systems Theory) เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสังเคราะห์หลักธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ระบบที่ซับซ้อนในสังคมสมัยใหม่
การปฏิรูปคณะสงฆ์และการฟื้นฟูหลักธรรมให้พ้นจากภาวะลงร่องแข็งทื่อ คลาดเคลื่อนไขว้เขว เคลือบพอกปะปน และถดถอยล้าหลัง เป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นฟูพุทธศาสนาให้เป็นพลังในทางจริยธรรมและทางสติปัญญา แก่สังคมไทยและสังคมโลก นี้เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้พุทธศาสนามีอนาคตมั่นคงในโลกยุคใหม่ ในยุคที่กระแสบริโภคนิยมกำลังไหลเชี่ยวด้วยอำนาจของโลกาภิวัตน์ หากพุทธศาสนาไม่มีการปรับตัวให้กลับมามีความเข้มแข็งทั้งทางสังคมและทางจิตวิญญาณ ย่อมพ่ายแพ้ต่อบริโภคนิยม และกลายเป็นร่างทรงของบริโภคนิยมไป ดังเห็นได้จากพุทธพาณิชย์ที่แพร่สะพัดตามวัดวาอาราม และจากวิถีชีวิตของพระสงฆ์และฆราวาสที่หลงติดอยู่ในวังวนแห่งวัตถุและการบริโภค ขณะเดียวกันถ้าพุทธศาสนาไม่สามารถเป็นพลังทางสติปัญญาและจริยธรรมให้แก่สังคมไทย สังคมไทยย่อมอ่อนแอ ง่ายที่จะถูกอำนาจทุนแย่งชิงทรัพยากรและเบียดบังผู้คน จนเกิดความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า อาจนำไปสู่มิคสัญญีได้
กล่าวได้ว่าทุกวันนี้ไม่มีศาสนาใดที่ทรงพลังยิ่งกว่าศาสนาบริโภคนิยม มันได้สร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรม และนักบวชของตนเองขึ้นมาอย่างพร้อมมูล ที่สำคัญกว่านั้นก็คือมันสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณของผู้คนได้ อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่งแม้เพียงชั่วคราวก็ตาม การที่ผู้คนสมาทานบริโภคนิยมทั่วทั้งโลก เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงความล้มเหลวของศาสนา ในการตอบสนองความต้องการทางจิตใจของผู้คน
การแพร่หลายของบริโภคนิยมทั่วทั้งโลก ยังสะท้อนถึงความล้มเหลวของศาสนาในการเผชิญหน้ากับบริโภคนิยม ส่วนหนึ่งก็เพราะศาสนาทั้งหลายไม่รู้จักบริโภคนิยมอย่างเพียงพอ บริโภคนิยมในปัจจุบันมิใช่เป็นแค่ลัทธิวัตถุนิยมธรรมดาเท่านั้น หากกำลังมีสถานะหรือบทบาทดังศาสนาหนึ่ง ที่ให้สัญญาว่าจะนำความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณมาให้ ทุกวันนี้มันไม่เพียงให้ความพึงพอใจทางประสาททั้ง ๕ หรือความสุขทางกายเท่านั้น แต่มันได้ก้าวไปสู่การให้ความสุขทางจิตใจ ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นอาณาบริเวณของศาสนา
ผู้คนเข้าหาบริโภคนิยม ไม่ใช่เพราะต้องการอยาก "มี" วัตถุสิ่งเสพเท่านั้น ลึกลงไปกว่านั้นเขายังอยาก "เป็น" ด้วย คือ เป็นคนทันสมัย เป็นคนฉลาด เป็นผู้ชนะ เป็นคนที่มีคุณค่าฯลฯ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เขาต้องการมีตัวตนใหม่ที่ดีกว่าเดิม ศาสนาเกือบทุกศาสนามีจุดหมายสร้างตัวตนใหม่ให้แก่ผู้คน นี้ก็เป็นวัตถุประสงค์ของบริโภคนิยมเช่นกัน แต่แทนที่จะใช้วิธีควบคุมพฤติกรรมและพัฒนาจิต บริโภคนิยมเสนอตัวตนใหม่แก่ผู้คนด้วยวิธีการ ๒ ประการใหญ่ ๆ คือ
๑) สร้างตัวตนใหม่ด้วยสินค้าแบรนด์เนม ทุกคนวันนี้ผู้คนหลงใหลสินค้าแบรนด์เนมกันทั้งโลก ก็เพราะต้องการดูดซับคุณค่าหรือสัญลักษณ์ จากแบรนด์เนม หรือยี่ห้อดังมาเป็นส่วนหนึ่ง ของตัวตน เพื่อให้ตัวตนดูดี มีค่า น่าปรารถนา และเพื่อเกิดความภาคภูมิใจในตัวตน สินค้าแบรนด์เนมในแง่หนึ่งจึงไม่ต่างจากเครื่องรางของขลัง หรือวัตถุมงคลในทางศาสนา ซึ่งทำให้ผู้คนมั่นใจในชีวิต แต่ลึกลงไปสินค้าแบรนด์เนมยังมีหน้าที่มากกว่านั้น คือสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้แก่ผู้คน หรือสร้างความเป็นคนใหม่ขึ้นมาจากคนเดิมที่ไม่น่าภาคภูมิใจ
๒) สร้างตัวตนใหม่ด้วยการปรับแต่งร่างกายให้ดูดี ตัวตนในทัศนะของผู้คนเป็นอันมาก แนบแน่นอยู่กับร่างกาย การมีตัวตนใหม่จึงหมายถึงการมีร่างกายใหม่ ร่างกายใหม่จะได้มาส่วนหนึ่งก็ด้วยการตกแต่งให้เป็นไปตามใจปรารถนา จะเห็นได้ว่าสินค้าส่วนใหญ่ที่โฆษณาในปัจจุบันเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย เช่น แชมพู ยาดับกลิ่น เครื่องประทินผิว ตลอดจนเสื้อผ้าอาภรณ์ เป็นต้น ไม่เฉพาะของผู้หญิง แต่รวมไปถึงของผู้ชาย ยิ่งไปกว่านั้นการสร้างตัวตนใหม่ในปัจจุบัน ก้าวไปถึงขั้นเปลี่ยนเปลี่ยนร่างกายด้วยศัลยกรรม ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมทั้งหญิงและชาย การตกแต่งและเปลี่ยนแปลงร่างกายนี้ ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่การมีโอกาสที่ดีกว่าในการทำงานเท่านั้น หากยังมีเป้าหมายที่ลึกลงไปกว่านั้นคือเพื่อความสุขทางจิตใจที่ได้มีตัวตนใหม่
พุทธศาสนาจะเผชิญกับบริโภคนิยมได้ มิใช่ด้วยการให้คำมั่นสัญญาว่า จะนำโชคลาภและความมั่งมีศรีสุขมาแก่ผู้คน แม้นั่นจะเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ผู้คนเข้าวัดในเวลานี้ สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือความสามารถในการตอบสนองความต้องการทางจิตใจในส่วนลึกของผู้คน ความลุ่มลึกในทางจิตวิญญาณของพุทธศาสนาที่สามารถสื่อถึงคนร่วมสมัยได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งสำหรับการฟื้นฟูในยุคโลกาภิวัตน์ อย่างไรก็ตามภารกิจของพุทธศาสนายังมีมากกว่านั้น
พุทธศาสนากำลังเผชิญกับการท้าทายสำคัญจากกระแสโลกาภิวัตน์ แต่ในเวลาเดียวกันกระแสโลกาภิวัตน์ก็นำโอกาสใหม่ ๆ มาให้แก่พุทธศาสนาด้วย อาทิ เช่น การทำให้ผู้คนรู้สึกว่าตนเองเล็กลง ควบคุมอะไรได้น้อยลง ประสบกับความผันผวนและไม่แน่นอนมากขึ้น ภาวะเหล่านี้ได้ทำให้ผู้คนมีศรัทธาน้อยลงในรัฐและสถาบันทางโลก และมีแนวโน้มหันมาหาพุทธศาสนามากขึ้น ทั้งในฐานะระบบปฏิบัติที่ให้ความสงบและลดความเครียด หรือให้สิ่งยึดเหนี่ยวแก่จิตใจ หรืออาจเข้าหาเพราะต้องการเครื่องปลอบประโลมใจก็ได้ สำหรับคนยากคนจน โลกาภิวัตน์หมายถึงความยากจนและการเข้าถึงสิ่งจำเป็นต่อชีวิตได้น้อยลง อันเป็นผลจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization) การเปิดเสรีทางการเศรษฐกิจ (liberalization) และการลดข้อจำกัดทางการค้า (deregulation) ซึ่งเป็นมนตร์ ๓ ประการของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ความยากจนบีบคั้นดังกล่าว เปิดช่องให้ศาสนาเข้าไปมีบทบาทในการสงเคราะห์ผู้คน อันเป็นบทบาทที่เคยเป็นของสถาบันศาสนาในอดีตหากแต่ถูกรัฐช่วงชิงเอาไปเป็นเวลาช้านาน ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงความโดดเดี่ยวอ้างว้างของผู้คนในสังคมสมัยใหม่ ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ ปัญหาดังกล่าวเปิดโอกาสให้ศาสนาเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือ ด้วยการจัดหากลุ่มก้อนหรือชุมชนให้คนเหล่านี้ได้รู้สึกถึงการมีสังกัดทางสังคม
การฟื้นตัวของศาสนาต่าง ๆ เป็นอันมากทั่วโลกในช่วง ๓ ทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่สถาบันศาสนาเข้าไปมีบทบาทในการสนองความต้องการของผู้คนทั้งทางด้านวัตถุ สังคม และจิตใจ อย่างได้ผล และที่ทำเช่นนั้นได้ ก็เพราะการรู้จักปรับตัวของศาสนาเหล่านั้นอย่างเท่าทัน กับสภาพการณ์ของสังคมร่วมสมัย เป็นการปรับตัวทั้งในด้านสถาบันและหลักธรรมคำสอน อันนำไปสู่การปรับบทบาททั้งทางสังคมและทางจิตวิญญาณ ทำให้ศาสนาเป็นอันมากกลับมามีพลังสร้างสรรค์ ทั้งต่อวิถีชีวิตของผู้คนและต่อความเป็นไปในสังคม
ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่พุทธศาสนาหรือศาสนาใด ๆ จะอยู่นิ่งเฉย ปล่อยให้สถานการณ์ต่าง ๆ เข้ามาครอบงำกำหนด อนาคตของศาสนาใด ๆ ก็ตามอยู่ที่การปฏิรูปตัวเอง ปัญหาอยู่ที่ว่าจะปฏิรูปอย่างไร แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือมีความตระหนักหรือไม่ที่จะปฏิรูปตัวเอง..
|