โดย พระมหาบุญช่วย สิรินธโร
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพุทธศาสนาและสังคมไทย จาก คอลัมน์ มองอย่างพุทธ มติชนรายวัน ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๑๔๔
นภาวการณ์ที่โลกทั้งโลกกำลังคุกรุ่นไปด้วยกลิ่นอายของสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่ยืดเยื้อมานาน ทั้งสงครามภายในประเทศที่เกิดจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ความเชื่อหรือผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ หรือแม้แต่สงครามที่กำลังเกิดขึ้นด้วยความพยายามของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตรกับอิรัก บุคคลผู้เกี่ยวข้องกับสงคราม ดูเหมือนจะเชื่อมั่นว่า สันติภาพหรือสันติสุขของคนในโลกจะเกิดขึ้นได้จริงก็ด้วยการทำสงคราม ต่างก็มุ่งมั่นที่จะทำสงครามเพื่อให้ชนะอีกฝ่ายหนึ่ง
แต่จากประวัติศาสตร์แห่งสงครามไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด ต่างนำมาซึ่งความไม่มั่นคงแก่มวลมนุษยชาติในด้านชีวิตและทรัพย์สิน มีมวลมนุษย์จำนวนมากทั้งทหารและประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องสังเวยชีวิตในสงคราม ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงสัตว์โลกอื่น ๆ ที่มีชีวิตอยู่ร่วมโลกนี้กับหมู่มนุษย์ สงครามยังสร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรในโลกอีกมากมายมหาศาล วิญญูชนผู้มีสติต่างรู้ซึ้งถึงความสูญเสียที่จะตามมาหลังสิ้นสุดสงครามได้เป็นอย่างดี
เหตุที่สงครามนำมาซึ่งความสูญเสียก็เพราะสงครามเป็นการใช้กำลังที่ไม่ถูกทาง เป็นการใช้กำลังไปในทางการทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการทำลายชีวิต
ในที่สุดสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรก็ตัดสินใจทำสงครามกับอิรักตั้งแต่เช้าวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๖ กล่าวคือได้ใช้กำลังที่ตนเองมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงทุนรอนต่าง ๆ เพื่อทำการประหัตประ หารทำลายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของชาวอิรัก แม้จะพยายามกล่าวอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นการเข้าไปปลดปล่อยชาวอิรัก แต่ก็คงไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงการทำลายชีวิตของชาวอิรักผู้บริสุทธิ์ได้อย่างแน่นอน
แท้จริงขึ้นชื่อว่าสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสง ครามระหว่างประเทศ สงครามภายในประเทศ หรือสงครามใด ๆ ก็ตาม ต่างก็เป็นความพยายามในการใช้กำลังที่มีอยู่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ มีหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องปฏิบัติของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศ แล้วทำไมดูเหมือนว่าเราไม่ได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อที่จะได้กำหนดท่าทีของประเทศต่อภาวะสงครามได้อย่างถูกต้อง และสอดคล้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาให้มากที่สุด
ใน เตสกุณชาดก ขุททกนิกาย พระพุทธองค์ได้แสดงกำลังของผู้ยิ่งใหญ่ ของผู้ซึ่งมีอำนาจในการบริหารปกครองบ้านเมือง หรือแม้กระ ทั่งความพยายามที่จะเป็นผู้ปกครองโลก ไว้ ๕ ประการ คือ
๑. กำลังแขน หรือกำลังกาย (พาหาพลัง หรือกายพลัง) ซึ่งหมายถึงความแข็งแรง ความมีสุขภาพกายดี มีสามารถและชำนาญในการใช้แขนใช้มือใช้ร่างกายใช้อาวุธ ตลอดถึงการมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สมบูรณ์พรั่งพร้อม
๒. กำลังโภคทรัพย์ (โภคพลัง) หมายถึงการมีทุนทรัพย์บริบูรณ์ พร้อมที่จะนำไปใช้ในการบำรุงคนตลอดถึงนำมาดำเนินการบริหารบ้านเมืองได้อย่างไม่ติดขัด
๓. กำลังอำมาตย์ หรือกำลังข้าราชการ (อมัจจพลัง) ซึ่งหมายถึงการมีที่ปรึกษา มีข้าราชการในระดับบริหารงานที่ทรงคุณวุฒิ ทรงคุณธรรม เก่งกล้าสามารถ และมีความจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อบ้านเมือง
๔. กำลังความมีชาติสูง (อภิชัจจพลัง) หมายถึงการเป็นผู้กำเนิดในตระกูลสูง เป็นขัติยชาติ ต้องด้วยความนิยมชมชอบ และเป็นที่เชิดชูของมหาชนในบ้านเมือง ตลอดถึงได้รับการฝึกอบรมมาแล้วเป็นอย่างดีตามประเพณีแห่งชาติตระกูลนั้น
๕. กำลังปัญญา (ปัญญาพลัง) หมายถึงความที่ทรงปรีชาญาณ หยั่งรู้ถึงเหตุและผล รู้ผิดและชอบ รู้ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ สามารถที่จะวินิจฉัยเหตุการณ์ทั้งภายในและภายนอก และดำริการต่าง ๆ ให้ได้ผลเป็นอย่างดี
เหตุการณ์ที่ผู้นำทั่วทั้งโลกกำลังมุ่งเน้นปฏิบัติการอยู่ในขณะนี้ คือการมุ่งใช้กำลังแขน หรือกำลังกาย ใช้กำลังโภคทรัพย์ ใช้กำลังอำมาตย์ หรือกำลังข้าราชการ และใช้กำลังความมีชาติสู่ง กล่าวคืออาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ในครอบครอง ใช้ทุนทรัพย์ ใช้ข้าราชการ (รวมไปถึงทหารตำรวจที่เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์) ตลอดถึงความเป็นผู้ได้รับการยอมรับจากมหาชนเป็นเครื่องมือดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ที่สำคัญคือขณะนี้ผู้นำเหล่านั้นได้ใช้กำลังที่มีไปในทางที่จะเบียดเบียนและทำลายชีวิตนั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้นำเหล่านั้นไม่ได้มีหรือใช้กำลังปัญญาเป็นเครื่องกำกับ เป็นเครื่องคอยควบคุมการใช้กำลังอื่น ๆ ที่มีอยู่
พระพุทธองค์ตรัสว่า กำลังแขนหรือกำลังกายแม้จะมีความสำคัญ แต่ก็จัดว่าเป็นกำลังขั้นต่ำสุดเพราะหากไม่มีกำลังอื่นๆ รวมถึงปัญญาคอยกำกับควบคุมเอาไว้ ก็อาจจะกลายเป็นกำลังอันธพาล นำไปสู่การทำลายล้างได้ง่าย ในขณะที่พระองค์ทรงสรรเสริญกำลังปัญญาว่าเป็นกำลังที่ประเสริฐที่สุด เป็นยอดของกำลังทั้งปวง เหตุเพราะกำลังปัญญาจะเป็นเครื่องกำกับ ควบคุม และนำทางกำลังอื่น ๆ ได้ทุกอย่าง
ท่าทีที่ถูกต้องและเหมาะสมของคนไทยต่อภาวะสงคราม น่าจะอยู่ที่การใช้ปัญญาพิจารณาปรากฏการณ์แห่งสงครามที่เกิดขึ้นนี้อย่างรู้เท่าทัน ใช้กระบวนการตามแนวพุทธธรรม กล่าวคือ กระบวนการที่ให้คนทุกคนตระหนักรู้ว่า สงครามก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นปัญหาต่อโลกและมวลมนุษยชาติ (รู้ทุกข์) แล้วช่วยกันค้นหาว่าแท้จริงสาเหตุแห่งสงครามคืออะไร มีอะไรเป็นเหตุปัจจัยสนับสนุนให้เกิดสงคราม (รู้สาเหตุแห่งทุกข์) จากที่รู้ว่าสงครามเป็นปัญหาและนำความสูญเสียมาสู่มวลมนุษยชาติ ก็ต้องร่วมกันสร้างเป้าหมายคือยุติสงครามให้ได้ (รู้นิโรธ) จากนั้นจึงร่วมกันแสวงหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาหรือยุติสงคราม ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกคนทุกฝ่ายในโลก (รู้ทางดับทุกข์)
นี่เป็นแนวทางแห่งปัญญา ที่ทุกปัญหาในสังคมและในโลกสามารถนำแนวทางนี้ไปปรับใช้เพื่อการแก้ไขได้
แน่นอนที่สุดว่า ในมุมมองแห่งพุทธ พระพุทธศาสนาที่ยืนยันหลักการว่าการเบียดเบียน การทำลายชีวิต ไม่ว่าชีวิตนั้นจะเป็นชีวิตคนหรือชีวิตของสัตว์โลกชนิดใดๆ ก็ตาม เป็นอกุศลกรรมที่ผู้เจริญควรงดเว้นตรงกันข้าม การกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อส่งเสริมให้ชีวิตเกิดความเจริญรุ่งเรือง งดงาม และมีความสุข การกระทำนั้นจัดเป็นกุศลกรรมที่ผู้เจริญควรสร้างสรรค์
ฝากชาวพุทธและชาวโลกทุกหมู่เหล่า ได้พิจารณาทบทวนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาดังกล่าว โดยคำนึงถึงกำลังปัญญา (ปัญญาพลัง) คือความมีปรีชาญาณ หยั่งรู้ถึงเหตุและผล กันให้มากยิ่งขึ้นเพื่อนำโลกนี้ให้ข้ามพ้นสังคมที่แห่งการเบียดเบียน สังคมแห่งการมุ่งร้ายทำลายล้างชีวิต สังคมที่มุ่งแก้ปัญหาด้วยสงคราม และมุ่งสร้างให้เกิดสังคมที่ดีงาม สังคมแห่งความเอื้ออาทรให้เกิดขึ้นในโลกใบนี้ให้ได้ ..
|