๑
และแล้ว "เทศกาล" ก็ผ่านไปอีกครั้ง
โดยมิอาจฉุดรั้งความสุขสมและรื่นรมย์ (หรือหม่นเศร้า?)เอาไว้ได้
ด้วยเงื่อนไข "เวลา" และ "ภาระ-หน้าที่"
ซึ่งทุกคนจำเป็นต้องเกี่ยวข้อง-รับผิดชอบ
ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง
ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุ สภานภาพ หรือตำแหน่งหน้าที่ใดๆ
โดยกฎธรรมชาติ "เวลา" นั้นไม่หยุดนิ่ง และกลืนกินสรรพสิ่งอยู่เป็นนิจ
และ "เวลา" นี้เอง ที่เป็นปัจจัยสำคัญ กำหนดให้ความปรารถนาสามัญ แปรเปลี่ยนเป็น สุข - ทุกข์ ภายใต้กรอบแห่งความสำเร็จหรือล้มเหลว ของการเดินทางสู่เป้าหมายที่พึงหวัง ใน "เงื่อนเวลา" ที่กำหนดไว้
ได้ตามปรารถนาตามเวลาที่คาดไว้
ก็เป็นสุข
ไม่ได้ดังหวัง ไม่ได้ดังเวลาที่ตั้งใจ
ก็เป็นทุกข์
๒
ชีวิตในชนบท กับวิถีการผลิตโดยอาศัยธรรมชาติ อาจผูกพันกับเวลาบ้าง แต่ยังยืดหยุ่นอยู่มาก เพราะบางคราวฤดูกาลก็ปรวนแปร ไม่มีใครกำหนดสิ่งใดได้จริงจัง
พาให้ "สุข-ทุกข์" ของผู้คน "ยืดหยุ่น" ตามไปด้วย
นั่นออกจะต่างจาก ชีวิตเมือง และ วิถีธุรกิจ-อุตสาหกรรม อันซับซ้อน ซึ่งมนุษย์สร้างและกำหนด-พัฒนาเงื่อนไขต่างๆ ขึ้น อย่างเต็มไปด้วยรายละเอียดและข้อจำกัด เสมือนพันธนาการที่ไร้หนทางปลดปล่อย
ยิ่งชีวิตเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯ ซึ่งนับวันจะเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งด้วยแล้ว ทั้ง "เวลา" และ "ภารกิจ" ดูจะยิ่งผูกมัดรัดตรึงจนใครๆ ก็แทบมิอาจปฏิเสธได้
เป็นชีวิตที่ผูกพันอยู่ด้วย "เวลา" และ "ภาระ" โดยแท้
"ทุกข์" เช่นใดนั้นมิต้องกล่าวถึง
คำถามคงอยู่ที่ว่า แล้วจะ "สุข" กันได้อย่างไร?
๓
เมื่อเรามิอาจฉุดรั้งเวลาและผลักภาระรับผิดชอบออกไปได้
ทั้งไม่อาจถ่วงดึง "เทศกาลแห่งความสุข" ให้อยู่กับเราดังปรารถนา
ก็คงมิแต่ "สติ" ที่ "เท่าทัน" และ "ปัญญา--ความรู้แจ้ง" กระมัง ที่จะช่วยให้เราฝ่าข้ามข้อจำกัดของกฎธรรมชาติและกรอบขังที่มนุษย์สร้างขึ้นออกไปได้
หรืออย่างน้อยที่สุด ก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับ "ข้อจำกัด" เหล่านั้นอย่างมีทุกข์น้อยที่สุด
เพราะ "สติ--ความระลึกได้" และ "ปัญญา--ความรู้แจ้ง" จะช่วยให้เราสามารถมองเห็น สัมผัส และก้าวผ่าน "สรรพสิ่ง" ได้ "ตามความเป็นจริง" โดยมี "ท่าทีที่เหมาะสม"
ตามศักยภาพที่เรามีอยู่
ใน "กระแสแห่งการเปลี่ยนผ่าน" อันยิ่งใหญ่ หากไม่ยกระดับตนเองให้เป็นเช่น "มหานาวา" อยู่ "เหนือกระแส" และใช้ "สติ-ปัญญา" เป็น "เข็มทิศ-หางเสือ" เสียแล้ว เราทั้งหลายก็ง่ายที่จะถูกกำหนด ลดให้เหลือฐานะเพียง "เศษสวะ" เล็กๆ เคลื่อนไหลไปตามยถากรรม ตามแต่ "กระแส" จะพาไปเท่านั้น
มหานาวาแห่งโลกุตรธรรม เป็นเช่นใด เข็มทิศ-หางเสือ ของ สติ-ปัญญา เป็นเช่นใด ชาวพุทธย่อมทราบกันดีอยู่แล้ว
หากยังไม่ทราบก็เป็นเรื่องที่พึงค้นคว้าศึกษา และปฏิบัติขัดเกลาเพื่อพัฒนาตนมิใช่หรือ?..