ชีวิตมุสลิม... วิถีในปอเนาะ
สันติวิธี พรหมบุตร
กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย วันพุธที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
หลายต่อหลายครั้งที่โรงเรียนปอเนาะใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกโยงใยให้เกี่ยวข้องกับความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จนกลายเป็นความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ทั้งนับวันดูจะเป็นข้อกังขาของผู้คนซึ่งกำลังสับสนกับข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนปอเนาะมากยิ่งขึ้น สันติวิธี พรหมบุตร นำไปสัมผัสอีกแง่มุมหนึ่งของหลายชีวิตในปอเนาะ
ทุกครั้งที่เล่าถึงวัตรปฏิบัติและชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละวัน สีหน้าของ อับดุลก่อเดร หาดเด็น วัย ๒๕ ปี เปื้อนยิ้มในทันที และดูเหมือนเขาจะภาคภูมิใจเป็นที่สุดกับชีวิตที่ผ่านมาสองปีกว่าในโรงเรียนปอเนาะดาลอ ซึ่งเป็นโรงเรียนปอเนาะเก่าแก่ชื่อดังในย่านบ้านตันหยง ตำบลมะนังหยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
อาจไม่ใช่เพราะชื่อเสียงของโรงเรียนแห่งนี้อย่างเดียวที่ทำให้เขายืดอกอย่างภาคภูมิใจ แต่เพราะเขามีเป้าหมายสูงสุดในการกลับไปเป็นครูสอนศาสนาอิสลามยังบ้านเกิดที่เกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อีกต่างหาก
อับดุลก่อเดร เข้ามาเป็นศิษย์ในปอเนาะดาลอ เมื่อปี ๒๕๔๔ หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากจังหวัดนราธิวาส แม้ตามวุฒิการศึกษาที่มีอยู่เปิดโอกาสให้เขาสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐ หรือมหาวิทยาลัยเอกชนเฉกเช่นเพื่อนๆ คนอื่นได้ แต่อับดุลก่อเดรปฏิเสธที่จะเลือกเส้นทางเหล่านั้น เขากลับภูมิใจที่มีโอกาสเข้าร่ำเรียนวิชาการศาสนาอิสลามในโรงเรียนปอเนาะชื่อดังแห่งนี้
"เพื่อนๆ ของผมหลายคน ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ผมไม่ไป เพราะเลือกเส้นทางนี้ไว้นานแล้ว อยากทุ่มเททั้งกายและใจให้กับทางศาสนาอย่างเดียว ที่นี่สอนเกี่ยวกับศาสนาอิสลามทุกอย่างและยังรู้เกี่ยวกับภาษาอาหรับ ภาษายาวีอีกด้วย" อับดุลก่อเดร ย้ำถึงความตั้งใจจริง
ขณะที่ อับดุล กอเดช วัยเพียง ๑๓ ปี หนึ่งในสมาชิกใหม่เพียงเดือนเศษในปอเนาะดาลอ บอกว่า บ้านเดิมอยู่ที่อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนแถวๆ บ้านเกิด คุณพ่อและคุณแม่ ก็ส่งให้มาศึกษาศาสตร์แห่งศาสนาอิสลามยังโรงเรียนปอเนาะแห่งนี้ เนื่องจากเป็นปอเนาะที่มีชื่อเสียง
"ป๊ะ (หมายถึงคุณพ่อ) เป็นโต๊ะครูอยู่ในหมู่บ้าน เลยอยากให้ผมมาเรียนรู้ที่นี่ เพื่อกลับไปเป็นเหมือนป๊ะ ส่วนหนึ่งผมเองก็อยากมาเรียนด้วย ตั้งใจไว้ว่าหลังจากนี้ ๖ ปี คงจะกลับไปสอนศาสนาที่หมู่บ้านได้" หนูน้อยอับดุล ย้อนความและบอกความในใจว่า มาอยู่ปอเนาะดาลอใหม่ๆ รู้สึกคิดถึงเพื่อนและพ่อแม่ โชคดีที่มี่รุ่นพี่มาจากหมู่บ้านเดียวกันจึงพออุ่นใจและคลายเหงาได้บ้าง
ทั้งอับดุลก่อเดร และหนูน้อยอับดุล รวมทั้งเพื่อนๆ อีกกว่า ๗๐๐ ชีวิตในปอเนาะดาลอ ล้วนใฝ่ฝันที่จะนำความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลามกลับไปสอนให้กับเด็กๆ ในบ้านเกิด อาจมีอยู่บ้างที่ใฝ่ฝันจะสอบชิงทุนไปเรียนด้านศาสนาอิสลามยังมหาวิทยาลัยในประเทศตะวันออกกลาง หรือประเทศอียิปต์
แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาก็ล้วนต้องการนำความรู้ที่ได้จากการเพียรศึกษากลับไปสอนเด็กๆ ยังบ้านเกิดตัวเองเช่นกัน และกว่าจะถึงจุดนั้นได้ พวกเขาคงจะเข้มแข็งขึ้นอีกมาก เนื่องจากชีวิตความเป็นอยู่ที่โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามไม่สุขสบายนัก ทุกคนต้องอยู่อย่างสมถะ พึ่งพาตนเองทุกอย่าง พ่อแม่อาจจะส่งเงินค่าใช้จ่ายมาให้เป็นครั้งคราว แล้วแต่ทุนทรัพย์ของแต่ละคน
........................................................................................
กว่าสามร้อยปีมาแล้วที่โรงเรียนปอเนาะก่อกำเนิดในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา บทบาทของปอเนาะในอดีต ทำหน้าที่คล้ายศูนย์กลางให้การศึกษาของชุมชน สอนเฉพาะหลักสูตรเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม เช่น วิชาภาษามลายู ภาษาอาหรับ วิชานิติศาสตร์อิสลาม วิชาการพัฒนาจิตใจและจิตวิญญาณ
อุสต้าดการีม นาคนาวา (อุสต้าด หมายถึงครู) ผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนปอเนาะดาลอ ซึ่งคลุกคลีอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ร่วม ๓๐ ปีแล้ว เล่าว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพิ่งจะครบรอบ ๗๐ ปีของปอเนาะดาลอ แต่หากจะย้อนความว่ามีศิษย์ที่จบจากโรงเรียนแห่งนี้เท่าใด คงจะตอบได้ยาก เพราะก่อนหน้านี้มีการบันทึกรายชื่อลูกศิษย์ไว้ในสมุดหนากว่าหนึ่งนิ้ว บันทึกรายชื่อบรรทัดละหนึ่งคน แต่สมุดเล่มนั้นหายไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถย้อนจำนวนรายชื่อได้
ทุกวันนี้โรงเรียนปอเนาะดาลอมีนักเรียนตั้งแต่วัย ๑๓ ขวบ จนถึง ๒๘ ปี ร่วม ๗๐๐ คน ส่วนใหญ่มาจาก ๑๔ จังหวัดภาคใต้ และจากภาคกลาง เนื่องจากปอเนาะแห่งนี้เก่าแก่และมีชื่อเสียง บางคนเข้ามาเรียนจนกระทั่งแต่งงานมีลูกมีเมียและพามาสร้างบ้านสร้างเรือนอยู่ในปอเนาะแห่งนี้ก็มี เนื่องจากทางโรงเรียนอนุญาตให้สร้างบ้านสร้างครอบครัวได้ เป็นการให้อิสระนักเรียนอย่างเต็มที่
"แต่ละคนที่เข้ามาเรียนที่นี่จะเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้าเพียงแค่ ๒๕๐ บาทเท่านั้น จากนั้นก็ไปหากระต๊อบ หรือบ้านอาศัยอยู่เอง อาจซื้อต่อจากคนเก่าที่เรียนจบไปแล้ว หรืออาจสร้างใหม่ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก ส่วนอาหารการกินก็ต้องจัดการเองทั้งหมด จะทำเอง หรือซื้อสำเร็จรูปก็แล้วแต่" อุสต้าดการีม แจกแจง
สำหรับการเรียนการสอน มีหลากหลายวิชาให้เลือกเรียน แต่ละวิชาแบ่งย่อยเป็นเล่มๆ ตามลำดับ เล่มใหญ่หน่อยใช้สอนระดับสูง ส่วนเล่มรองลงมาใช้สอนระดับรองลงมา วิชาสำคัญๆ ได้แก่ วิชาตัฟเซร ว่าด้วยการขยายความหมายของคัมภีร์อัลกุรอาน เพราะอัลกุรอานถูกประทานลงมาจากพระเจ้าถึง ๖,๖๖๖ โองการ คนทั่วไปอาจอ่านได้ แต่คงไม่รู้ซึ้ง จึงต้องเรียนวิชานี้, วิชาฮาดี้ษ ว่าด้วยเรื่องวจนะของท่านศาสดาว่าท่านสอนให้ปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง
วิชาเตาฮีด ว่าด้วยเรื่องหลักศรัทธาของศาสนาอิสลาม เช่น พระเจ้ามีจริงหรือไม่, วิชาฟิกฮ์ ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น การละหมาดวันละ ๕ เวลา การถือศีลอด เป็นต้น, วิชาตาเซาวู้ฟ ว่าด้วยเรื่องการควบคุมจิตใจ ทำให้จิตใจเยือกเย็น อยู่อย่างสงบ ตั้งแต่การอยู่ในครอบครัวจนถึงการอยู่ร่วมในสังคม
"แค่ห้าวิชานี้ หากจะศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้จริงๆ คงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสิบปี แต่คนที่เข้ามาเรียนที่ปอเนาะดาลอ ส่วนมากเรียนหกถึงเจ็ดปี ก็ออกไปแล้ว มีบ้างเหมือนกันที่อยู่ยาวถึงสิบปี แต่ก็ไม่มากนัก" อุสต้าดการีม ประมาณคร่าวๆ และบอกว่า โรงเรียนปอเนาะไม่มีการแบ่งระดับชั้นเรียน แต่นักเรียนจะรู้ตัวเองว่ากำลังเรียนอยู่ระดับไหน เพราะหากเรียนแล้วไม่เข้าใจ สามารถลดระดับลงมาเรียนเล่มที่ง่ายกว่าได้โดยใช้วิจารณญาณของตนเอง ไม่มีการบังคับว่าต้องเรียนเล่มนั้นเล่มนี้
"วัตรปฏิบัติในแต่ละวัน นักเรียนต้องตื่นมาละหมาดประมาณตีสี่ครึ่ง จากนั้นเรียนสลับกับการละหมาดให้ครบห้าเวลา ไปจนถึงเวลาประมาณสี่ทุ่มครึ่งจึงได้เข้านอน" เขาอธิบายเพิ่มเติม
โรงเรียนปอเนาะดาลอไม่มีใบประกาศนียบัตรมอบให้ผู้ที่เรียนจบ เพราะถือว่าระบบดังกล่าว เป็นการเรียนแบบบริสุทธิ์ใจ เนื่องจากผู้เรียนลงจากบันไดบ้านมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ เขาก็ควรกลับไปด้วยความบริสุทธิ์ใจเช่นกัน ไม่หวังอะไร หวังเพียงแต่กลับไปปฏิบัติศาสนกิจให้ถูกต้องเท่านั้น แต่ถ้าหากต้องการนำความรู้ที่ได้ไปเรียนต่อยังต่างประเทศ โรงเรียนก็พร้อมจะออกใบประกาศนียบัตรให้
"ปอเนาะดาลอ สอนให้ทำความดีเป็นศรีแก่ตัว สอนให้เป็นคนดีของครอบครัว เป็นคนดีของสังคม ดังนั้น ชาวบ้านเขาจึงมองว่า เด็กที่จบไปจากปอเนาะแห่งนี้ เป็นคนดี เรียบร้อย จึงเป็นที่ยอมรับของสังคมและมีชื่อเสียงในเรื่องเหล่านี้" อุสต้าดการีม เล่าและสรุปอย่างภาคภูมิใจว่า ส่วนมากผู้ที่จบจากปอเนาะดาลอ มักไปเป็นครูสอนศาสนา เป็นโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม คอเตบ บางคนเก่งภาษาอาหรับ ก็ไปเป็นมัคคุเทศก์ หรือหากพ่อแม่มีกิจการอยู่แล้ว ก็ไปสานต่อกิจการนั้นๆ
.....................................................................................
การศึกษาและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้โรงเรียนปอเนาะหลายแห่งพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เช่นกัน โดยเฉพาะการแปรสภาพจากโรงเรียนปอเนาะ มาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งสอนวิชาสายสามัญควบคู่ไปกับการสอนวิชาศาสนาอิสลาม ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
นิมุคตาร์ วาบา ประธานชมรมการศึกษาเอกชนจังหวัดปัตตานี และผู้อำนวยการโรงเรียนดรุณศาสตร์วิทยา อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เล่าว่า โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามร้อยทั้งร้อย แปรสภาพมาจากโรงเรียนปอเนาะ เช่น โรงเรียนดรุณศาสตร์วิทยา ถือเป็นโรงเรียนแรกใน ๕จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปรับเปลี่ยนจากโรงเรียนปอเนาะมาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อีกทั้งยังเปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๕
"เฉพาะในปัตตานี มีโรงเรียนปอเนาะกว่าร้อยแห่ง ตอนนี้แปรสภาพเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามกว่า ๖๐ แห่ง ปิดตัวไปแล้วประมาณ 20 แห่ง ที่เหลือเป็นปอเนาะแบบดั้งเดิมอีก ๒๐ กว่าแห่ง" นิมุคตาร์ กะตัวเลขคร่าวๆ และให้เหตุผลที่ต้องแปรสภาพโรงเรียน ว่า เพราะต้องการยกระดับการศึกษาของเยาวชนมุสลิมให้ทัดเทียมกับเยาวชนในจังหวัดอื่นๆ
"หากเราไม่ยกระดับการศึกษาตรงจุดนี้จะทำให้เด็กมุสลิม หรือชาวมุสลิมมีส่วนร่วมในการเข้าไปพัฒนาบ้านเมืองน้อยมาก ในอดีตเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา มีคนมุสลิมทำงานในที่ว่าการอำเภอไม่กี่เปอร์เซ็นต์ หรืออาจไม่มีเลย เพราะไม่ได้รับการศึกษาวิชาสามัญ ทำให้ไม่สามารถไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ และก็ไม่สามารถมาสมัครสอบเข้าทำงานราชการได้" เขาแยกแยะถึงปัญหาการศึกษาในอดีตที่ผ่านมา
นิมุคตาร์ เทียบสัดส่วนของนักเรียนโรงเรียนปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ว่า ปัจจุบันเด็กหันมาเรียนโรงเรียนเอกชนศาสนาอิสลามมากยิ่งขึ้น จนทำให้นักเรียนในปอเนาะดั้งเดิมลดลงเป็นจำนวนมาก แต่ถือว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียนปอเนาะเป็นสัดส่วนที่สำคัญมากเช่นกัน เพราะในอนาคตพวกเขาต้องไปเป็นผู้นำศาสนาต่อไป
.........................................................................................
ทางเลือกหนึ่งของนักเรียนจากโรงเรียนปอเนาะ รวมทั้งนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หลังจบการศึกษาทุกระดับชั้นในประเทศไทยแล้ว คือ การเดินทางไปศึกษาต่อเฉพาะทางด้านศาสนาอิสลามยังมหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันออกกลางและประเทศอียิปต์
สายูดิง เด็งซียอ วัย ๑๘ ปี นักเรียนโรงเรียนดรุณศาสตร์วิทยา เล่าว่า เขาเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เมื่อปีที่แล้ว (๒๕๔๕) แต่ไม่สอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเฉกเช่นเพื่อนๆ คนอื่น เพราะต้องการเรียนรู้ด้านศาสนาอิสลาม เพื่อสอบชิงทุนไปเรียนต่อยังต่างประเทศ เนื่องจากเขามองว่า การเรียนวิชาการศาสนานอกจากจะนำพาชีวิตดีแล้ว ยังนำพาคนอื่นๆ ดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีด้วย
"ผมมาเรียนที่ดรุณศาสตร์วิทยา ตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ เรียนวิชาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามผ่านแปดชั้นแล้ว จากทั้งหมดที่มีอยู่สิบชั้น โลกของผมตอนนี้คาดหวังอยู่กับการเรียนและการสอนด้านศาสนาอย่างเดียว อยากไปเรียนต่อที่อียิปต์มากที่สุด" ความคาดหวังของสายูดิง
เขาบอกอีกว่า หากสอบชิงทุนไม่ได้ หรือมีเหตุให้ต้องระงับทุนไปเรียนต่อยังต่างประเทศ เขาก็พร้อมที่จะควักเงินส่วนตัวเดินทางไปเรียนต่อประเทศอียิปต์เอง เพราะมั่นใจในเป้าหมายที่ตั้งไว้ ว่า หากเรียนจบต้องมาเป็นครูสอนศาสนาผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เยาวชนรุ่นหลัง นั่นคือ การทำความดีอันใหญ่หลวงสำหรับเขา
ขณะที่ อดีตนักเรียนทุนและอดีตเลขาสมาคมนักเรียนไทยในประเทศอียิปต์อย่าง เสรี หิมมะ ซึ่งเพิ่งมารับตำแหน่งครูสอนศาสนาในโรงเรียนดรุณศาสตร์วิทยาได้สองปีกว่า เล่าว่า เขาเป็นศิษย์คนแรกของโรงเรียนดรุณศาสตร์วิทยาที่ได้รับทุนไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์ เมืองไคโร ประเทศอียิปต์ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ จนถึงปี ๒๕๓๙
"ไปตอนแรก ยังไม่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์ แต่ต้องไปเรียนชั้นไฮสคูลอยู่ที่เมืองอเล็กซานเดรีย ซึ่งห่างจากกรุงไคโร ประมาณ ๒๕๐ กิโลเมตร เพื่อปรับฐานความรู้ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เรียนอยู่สี่ปีเต็ม เริ่มรู้สึกอยากเปลี่ยนสถานที่เรียน" เสรี เล่าและบอกว่า เมื่อถึงเวลาจริงเขาไม่ได้เรียนที่อียิปต์ เพราะรู้สึกอยู่ที่นั่นนานเกินไป จึงตัดสินใจทิ้งทุน เพื่อไปเรียนยังที่อื่น
เสรี เดินทางไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยยารมูก เมืองเอรเบด ประเทศจอร์แดน ด้วยทุนส่วนตัว เขาเลือกเรียนด้านนิติศาสตร์ศาสนาอิสลาม ใช้เวลาเรียนเพียงสามปีครึ่ง ก็คว้าใบปริญญาได้สำเร็จ จากนั้นจึงบินกลับบ้านเกิดเมืองนอนเมื่อปี ๒๕๔๔ และสมัครเป็นครูสอนศาสนาที่โรงเรียนดรุณศาสตร์วิทยา อันเป็นสถานที่ที่เขาเคยเรียนอยู่เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว
"เดี๋ยวนี้ สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เทียบวุฒิให้แล้ว สามารถมาต่อปริญญาโทที่บ้านเราได้เลย เพื่อนๆ ที่จบมา ส่วนมากเป็นวิทยากรสอนอยู่ตามโรงเรียน แต่โอกาสเข้าทำงานราชการอื่นๆ ยังน้อยอยู่ ดังนั้น หากไม่เป็นครูสอนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ก็ต้องทำงานอิสระ" อดีตนักเรียนนอกบอก
.................................................................................
หลายชีวิตในโรงเรียนปอเนาะ ต่างมุ่งเส้นทางนี้ด้วยศรัทธา แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานสักเท่าใด แต่เพื่อการสืบทอดหลักคำสอนของศาสดาแล้ว พวกเขาไม่เกี่ยงว่า จะต้องใช้เวลานานสักกี่ปี และแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร บทบาทของโรงเรียนปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ก็ยังคงต้องเชื่อมโยงกับชุมชนอยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะโรงเรียนปอเนาะแบบดั้งเดิม ยังคงต้องเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณของชุมชนต่อไปเช่นเดิม แม้ว่าวันเวลาจะผ่านไปสักร้อยปีหรือพันปีก็ตาม ..
|