เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เจตนาวิสามัญฆาตกรรมหรือว่าป้องกันตนเอง

โดย สมเกียรติ มีธรรม
มติชนรายวัน วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๑๒๙ คอลัมน์ กระแสทรรศน์

 

          หลักธรรมในพระพุทธศาสนามีความชัดเจนว่า ฆ่าคนเป็นบาปและมีโทษหนัก กรณี วิสามัญฆาตกรรมกับการฆ่าตัดตอนในหมู่ผู้ค้ายาเสพติดด้วยกัน คงไม่ต้องบอกกระมังว่าบาปหรือไม่ แต่ที่แตกต่างกันเห็นจะเป็นระดับความหนัก-เบาของบาปและการลงโทษผู้กระทำผิด ความแตกต่างที่ว่านี้อยู่ที่คุณธรรมของแต่ละปัจเจกบุคคล เหตุผลของการฆ่า และเจตนาของผู้ฆ่า

          พระพุทธศาสนาไม่ได้วัดคุณค่าของความเป็นคนที่โคตรตระกูล ชั้นวรรณะหรือว่ายศศักดิ์ แต่ดูกันที่คุณธรรมและจริยธรรมมากกว่าอื่นใด คนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐนั้น อยู่ที่การฝึกฝนพัฒนาตนเองทางด้านศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อเข้าถึงความดับแห่งทุกข์ ใครดับทุกข์ได้มากเท่าไหร่ ก็เป็นผู‰ประเสริฐยิ่ง ๆ ขึ้นไปเท่านั้น พระพุทธศาสนาพิจารณากันตรงนี้ครับ แต่คนที่จะรู้ได้ว่า ใครพัฒนาตนเองได้ถึงระดับไหน คงไม่ใช่คฤหัสถ์ที่มีบาปหนาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ แน่ แต่ต้องเป็นผู้ที่พัฒนาตนในระดับเดียว กัน หรือสูงขึ้นไปจึงจะหยั่งรู้ได้

          ผู้ที่พัฒนาตนไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์อย่างนี้ เขาเรียกอเสขะ คือผู้ที่ไม่ต้องศึกษาหรือเป็นผู้ที่จบการศึกษาพัฒนาตนแล้ว บุคคลเช่นนี้ก็จะหมดกิจที่ต้องพัฒนาตน มุ่งบำเพ็ญประโยชน์เพื่อคนอื่น สัตว์อื่น และสังคมอื่น ลองคิดดูก็แล้วกันครับว่า ผู้ที่ทำคุณประโยชน์เพื่อคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนกลับมาจะเป็นคนอย่างไร ประเสริฐเพียงไหน เอาแต่แจกของกินของใช้ให้คนยากคนจน แจกขนมนมเนยให้เด็กและคนแก่ แค่นั้นก็วิเศษแล้วครับ ทำไปนานๆ เดี๋ยวรัฐบาลก็ให้รางวัลเอง

          คุณค่าของความเป็นมนุษย์ก็อยู่ที่ตรงนี้แหละครับ ถ้าใครไปฆ่าคนดีมีคุณธรรมดังกล่าวมานี้เป็นผู้มีบาปหนา พระพุทธองค์ถึงกับไม่ให้เข้ามาบวชเลยทีเดียว ส่วนผู้ที่บวชก็พึงให้สึกเสีย ในแง่นี้ของกฎหมาย ผมไม่แน่ใจว่าเป็นยังไง ศาลเอาความดีของคนคนนั้นมาประกอบพิจารณาลงโทษด้วยหรือไม่

          การพิจารณาคดีที่เกิดจากการฆ่าในทางพระพุทธศาสนา อันดับแรกให้ดูที่ระดับของสัตภาวะ ถ้าสัตว์ชนิดไหนเป็นสัตว์ชั้นสูงมีคุณมากก็บาปมาก แต่ถ้าสัตว์ชนิดไหนเป็นสัตว์ชั้นต่ำ มีคุณน้อย บาปก็เบาบางไปตามระดับของสัตภาวะนั้น ๆ คนซึ่งเป็นสัตว์ชั้นสูงมีคุณมาก แน่นอนครับ บาปต้องหนักอยู่แล้ว

          ประการที่สองให้ดูที่ "เจตนา" ตัวนี้สำคัญมาก ถ้ามีเจตนาที่จะฆ่า ระดับความผิดก็จะสปีดสูงขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเอาคุณธรรมและความจำเป็นบางประการร่วมพิจารณาด้วย "เจตนา" ตัวนี้แหละครับ ถ้าเป็นสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงตรัสถามเลยครับว่า "ภิกษุ เธอคิดอย่างไร" ถ้าตอบว่ามีความจงใจคิดจะฆ่าก็ต้องอาบัติปาราชิก แต่ถ้าตอบว่าไม่จงใจคิดจะฆ่า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรอดพ้นจากความผิดและไม่บาปนะครับ ผิดและบาปเหมือนกัน แต่ผิดและบาปในสัดส่วนที่เบาบางกว่าการจงใจฆ่า ส่วนตัวที่จะชี้ชัดถึงความผิดและบาปที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ผลที่เกิดจากการกระทำตามเจตนานั้นๆ เช่น บาดเจ็บหรือตาย ตัวนี้บอกเลยครับว่า บาปจะหนักหรือไม่และจะลงโทษระดับไหน

          กรณีวิสามัญฆาตกรรมและฆ่าตัดตอนนั้นบาปหนักอยู่แล้วครับ เนื่องจากไปฆ่ามนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์ชั้นสูง มีคุณมาก แต่องค์ประกอบที่จะช่วยลดความหนัก-เบาของบาปอยู่ที่ตรงนี้ครับ อยู่ที่เจตนาของผู้ฆ่า อยู่ที่ความจำเป็นในการฆ่า และคุณธรรมความดีของคนคนนั้น ถ้าคนที่ลั่นไกปืนและรัฐบาล มีเจตนาที่จะฆ่าคนร้าย เนื่องจากเห็นว่าเขาเป็นภัยต่อสังคม รัฐบาลหมดปัญญาที่จะอบรมให้เขากลับตัวกลับใจเป็นคนดีได้ และรัฐบาลก็ไม่ต้องการเสียงบประมาณมากมายไปให้คนเหล่านี้อีก จึงส่งเสริมคนร้ายไปสู่สุคติอย่างไร้ความเมตตาปรานี อย่างนี้ก็บาปหนักแหละครับ ในกรณีเดียวกัน ถ้าคนที่ลั่นไกปืนและรัฐบาลจงใจฆ่าคนร้าย เนื่องจากเห็นว่าเขาเป็นภัยต่อสังคมเช่นกัน รัฐบาลก็หมดปัญญาจริงๆ ที่จะอบรมให้เขากลับตัวกลับใจเป็นคนดีได้ และรัฐก็ต้องใช้งบประมาณไปพัฒนาด้านอื่นอีกมากมาย ไม่พอที่จะเจียดมาให้การศึกษากับคนเหล่านี้ จึงส่งเขาไปสู่สุคติด้วยความเมตตาปรานีต่อคนร้าย ต่อคนในสังคมที่ต้องอยู่กันอย่างหวาดกลัว และไม่ต้อง การเห็นคนร้ายต้องไปก่อบาปอีก กรณีนี้บาปก็จะเบาบางลงมาตามความจำเป็นในการฆ่า ในทางตรงกันข้าม กรณีหลังหากรัฐบาลและคนลั่นไกปืนไม่จงใจที่จะฆ่าคนร้ายจริงๆ บาปก็จะยิ่งเบาบางลงไปอีกมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสองกรณีที่แรก

          แต่ที่เป็นปัญหามากก็คือคำว่า "เจตนา" นี้แหละครับ เพราะเราไม่สามารถล่วงรู้เจตนาของคนยิงได้เลยว่า จงใจ หรือไม่จงใจที่จะฆ่า ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลและผู้ที่ลั่นไกปืนยิงคนร้ายว่า มีความอาจหาญและมีคุณธรรมพอที่จะบอกความจริงในใจของตนอย่างตรงไปตรงมาว่าได้สั่งฆ่าหรือไม่ และขณะยิงมีจิตคิดจะฆ่าหรือไม่ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าจะได้คำตอบตรงตามจริงจากรัฐบาลและผู้ที่ยิงคนร้าย เหมือนกับได้คำตอบจากพระภิกษุสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงไต่สวนคดีความต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ จะอย่างไรก็ตาม ถ้าดูข่าวฆ่ากันตายรายวัน เสมือนหนึ่งสวรรค์ลงโทษไม่ให้ความชั่วร้ายแผ่เข้ามาทำลายความดีงามในสังคมอย่างโหดเหี้ยม หรือว่าเทวดาจะไม่ปรานีใครอีกแล้ว

          การเกิดขึ้นของศาล มีอัยการ และทนายความนั้น ก็อาจจะเป็นเพราะ เรามีความอาจหาญทางจริยธรรมและคุณธรรมน้อยไป จึงมีคดีความต่าง ๆ มากมายให้ศาลพิจารณาตัดสิน บางคดีต้องว่ากันนานไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี กว่าจะปิดคดีได้ก็หมดเงินไปไม่รู้เท่าไหร่ แต่ถ้าเรามีความอาจหาญทางจริยธรรม และมีคุณธรรมมากเหมือนพระภิกษุสงฆ์สมัยพุทธกาล ก็คงจะไม่เสียการเสียงานเสียเวลามาขึ้นโรงขึ้นศาลนานขนาดนี้หรอกครับ มีเพียงผู้ทรงคุณธรรมสี่ห้าท่านขึ้นไปก็ตัดสินได้แล้ว สมัยพุทธกาล คดีที่เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ ไม่ได้พิจารณากันนานเหมือนกับปัจจุบันนี้ ยิ่งสมัยที่พระพุทธองค์ทรงนั่งเป็นประธานไต่สวนเองด้วยแล้ว ใช้เวลาไม่เท่าไหร่ก็สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ แม้ว่าคดีนั้นจะมีผู้หนึ่งผู้ใดอยู่เบื้องหลังเป็นผู้สั่งฆ่า ก็สามารถสาวไปถึงผู้นั้นทันทีทันใด และรับโทษหนักพร้อมกันไปกับผู้ลงมือฆ่า เว้นเสียแต่ฆ่าผิดคนเท่านั้น ที่ผู้สั่งฆ่ามีความผิดและได้รับโทษเบากว่าผู้ลงมือฆ่า

          ในส่วนของคนร้ายกับคนร้ายก็เหมือนกันครับ โดยหลักการแล้วก็ไม่ต่างไปจากนี้เท่าใดนัก ผู้ฆ่าก็บาป และต้องได้รับโทษตามกรรมของตน แต่ถ้านำมาเปรียบเทียบกันระหว่างฆ่าคนดีมีคุณธรรมกับโจรผู้ร้าย แน่นอน...ฝ่ายหลังบาปย่อมเบาบางกว่าฝ่ายแรกเป็นไหน ๆ ไม่ยังงั้นพระพุทธองค์ก็คงให้บวช ผู้ที่บวชก็ให้บวชต่อไปสิครับ .

 

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :