จากปอเนาะถึงมหาวิทยาลัยอิสลาม
นิธิ เอียวศรีวงศ์
คอลัมน์ กระแสทรรศน์
มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๒๙๒ หน้า ๖
กระบวนการ "ไถ่ถอนศาสนา" ออกจากสังคมหรือที่เรียกในภาษาฝรั่งว่า secularization เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนสู่ความทันสมัยที่เกิดขึ้นในทุกสังคมทั่วโลก แต่สังคมที่รอดพ้นจากความรุนแรงของกระบวนการ "ไถ่ถอนศาสนา" ที่สุดคือสังคมมุสลิม (ยกเว้นในสังคมของไม่กี่ประเทศ เช่นตุรกี หรืออิหร่านในสมัยชาห์)
การที่สังคมมุสลิมผ่านกระบวนการ "ไถ่ถอนศาสนา" ออกจากสังคมน้อย เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของสังคมมุสลิมในโลกปัจจุบัน ทั้งนี้แล้วแต่ใครจะมอง และมองจากแง่ไหน
แต่ผมมองเห็นจุดแข็งของเขา และคิดว่าจุดแข็งบางอย่างให้บทเรียนที่มีคุณค่าแก่คนที่อยู่นอกประชาคมอิสลามด้วย โดยเฉพาะถ้าเราไม่ยึดมั่นแต่ว่า แบบอย่างของเราเท่านั้นที่ดีที่สุด
โดยเหตุบางประการในประวัติศาสตร์ไทย ทำให้ระบบการศึกษาของประชาคมมุสลิมในภาคใต้ ไม่ตกอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐไทยสมัยใหม่อย่างรัดกุมเท่ากับระบบการศึกษาของคนไทยทั่วไป ระบบการศึกษาที่เป็นอิสระมากกว่านี้ถูกรัฐไทยระแวงสงสัยตลอดมา มีความพยายามที่รัฐจะเข้าไปกำกับควบคุมอยู่เสมอ โดยอาศัยการให้รางวัลควบคู่กันไปกับการลงโทษ
แต่ระบบการศึกษาดังกล่าวมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับประชาคมมุสลิมทั่วโลก ไม่ได้มีเส้นทางเดี่ยวภายใต้การสนับสนุนหรือห้ามปรามของรัฐเท่านั้น เช่นเพราะได้เรียนภาษาอาหรับ, มลายู, และอังกฤษ ทำให้ผู้ที่จบโรงเรียนปอเนาะมีโอกาสชิงทุนไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศมุสลิมอื่นๆ ฉะนั้นแม้ไม่มีมหาวิทยาลัยอิสลาม (มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาตามอุดมการณ์อิสลาม) ในเมืองไทย เส้นทางการศึกษาของศิษย์เก่าปอเนาะก็ไม่ได้ติดตันอยู่เพียงแค่จบมัธยม
หรือเงินทุนอุดหนุนโรงเรียนปอเนาะ ส่วนหนึ่งก็ได้จากซากัต (Zakat หรือส่วนแบ่งสังคมสงเคราะห์ที่มุสลิมผู้มีทรัพย์พึงจ่ายเพื่อช่วยเหลือสังคม) ของประเทศมุสลิมอื่นๆ
และด้วยเหตุดังนั้น แผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษา เช่น ยกฐานะศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนของจังหวัดปัตตานี, ยะลา, สตูล และนราธิวาสขึ้นเป็นวิทยาลัยชุมชนก็ตาม การจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่นราธิวาส, ยะลา และสตูล ก็คงเป็นนโยบายที่จะสร้างเครือข่ายการศึกษาของมุสลิมให้เต็มระบบภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐไทย โดยทำให้การศึกษาระดับหลังมัธยมเข้าสู่ระบบของรัฐเต็มรูปแบบ
สอดคล้องกับความเห็นของรัฐมนตรีกลาโหมที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า การศึกษาของมุสลิมในภาคใต้ควรนำไปสู่วิชาชีพชั้นสูง เช่นวิศวกรรมศาสตร์, แพทยศาสตร์, หรือศาสตร์อื่นๆ ในโลกสมัยใหม่ซึ่งมีตำแหน่งงานรองรับในตลาด หรือเพิ่มความสามารถในการอาชีพ
อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวด้วยว่า ในความเป็นจริงนั้น มุสลิมที่เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอิสลามในต่างประเทศ ก็ได้เรียนวิชาชีพชั้นสูงเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ก็มีปัญหาบางประการที่ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพในเมืองไทยได้ เช่นจบแพทย์จากประเทศเหล่านั้นแล้วไม่ได้รับใบประกอบโรคศิลปะในเมืองไทย เป็นต้น
สิ่งที่น่าสังเกตในนโยบายของกระทรวงศึกษาฯที่จะตั้งสถาบันอุดมศึกษาขึ้นมาต่อยอดก็ตาม หรือในคำสัมภาษณ์ของท่านรัฐมนตรีกลาโหมก็ตาม ล้วนมาจากความคิดถึงระบบการศึกษาซึ่งถูก "ไถ่ถอนศาสนา" ออกไปแล้ว นั่นก็คือวิชาความรู้สำหรับประกอบอาชีพ หรือวิชาความรู้นั้นไม่ได้มีฐานจากความเชื่อในศาสนา สองสิ่งนี้แยกออกจากกันได้ เพราะไม่เกี่ยวโยงกันแต่อย่างใด
จึงไม่แปลกอะไรที่ข้อเสนอการตั้งมหาวิทยาลัยหลายต่อหลายแห่งในภาคใต้ตอนล่างนั้น ไม่มีความคิดถึงการตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามเลย ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนแต่ศาสนาอิสลาม หากเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนวิชาการชั้นสูงเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป เพียงแต่วิชาความรู้ที่สอนนั้นต้องมีฐานเชื่อมโยงอยู่กับศาสนธรรมของอิสลาม ซึ่งผมจะกล่าวถึงข้างหน้า
อันที่จริงมหาวิทยาลัยที่มีอยู่มากมายในเมืองไทยนั้น ก็หาได้เสนอวิชาความรู้ให้เชื่อมโยงกับศาสนธรรมของพุทธไม่ จึงเป็นธรรมดาที่ผู้บริหารการศึกษาย่อมคิดไปไม่ถึงว่าควรมีมหาวิทยาลัยอิสลามเกิดขึ้น
จุดยืนของมุสลิมที่มีต่อการศึกษาและการแสวงหาความรู้นั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และเป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เขานิยมส่งลูกหลานไปเรียนปอเนาะ จนถึงเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศมุสลิม
ในฐานะคนนอกศาสนาอิสลาม ผมคงอธิบายเรื่องนี้ละเอียดไม่ได้ จะพูดถึงเฉพาะเป้าหมายของการศึกษา เท่าที่ได้อ่านพบจากงานของนักปราชญ์ในศาสนาอิสลามได้เขียนไว้เท่านั้น
ก่อนอื่นควรเข้าใจด้วยว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญแก่การศึกษาและการแสวงหาความรู้อย่างยิ่ง ถือกันตามคำสอนว่าการศึกษาหาความรู้เป็นสิ่งที่มุสลิมควรทำตราบจนสิ้นลมหายใจ
แต่ความรู้ไม่ได้มีคุณค่าในตัวเอง การมีความรู้มากเฉยๆ ไม่มีประโยชน์ในสายตาของอิสลาม แต่ความรู้นั้นต้องเพิ่มสมรรถนะในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า มูฮัมหมัด อิคบัล (นักปราชญ์และกวีปากีสถาน) อธิบายว่า ความรู้หรือ ilm ในภาษาอาหรับ คือความรู้ที่มีฐานอยู่บนประสาทสัมผัส ความรู้ชนิดนี้ให้อำนาจทางกายภาพ ฉะนั้นความรู้หรืออำนาจทางกายภาพนี้จึงต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ din หรือศาสนาอิสลาม ถ้าความรู้หรืออำนาจไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ din ก็ย่อมเป็นสิ่งชั่วร้าย
ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่ต้องทำให้ความรู้เป็นอิสลาม (Islamize knowledge) ถ้าความรู้อยู่ภายใต้กำกับของ din ความรู้ก็จะเป็นพรอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ
ในทางปฏิบัติ รับใช้พระผู้เป็นเจ้าหมายถึงการมีศีลธรรม, มีความยุติธรรม และมีความกรุณา นักปราชญ์บางท่านอธิบายว่าคุณลักษณะสามประการนี้ สรุปรวมก็คือการมีความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลกับคนอื่น นับตั้งแต่ญาติพี่น้องไปจนถึงสังคมโดยรวมนั่นเอง
การศึกษาของอิสลามจึงไม่ใช่การฝึกวิชาชีพเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการฝึกวิชาชีพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตนเองในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า หรือรับผิดชอบต่อสังคมได้มากขึ้น
หนึ่งในลักษณะเด่นของระบบการศึกษาอิสลามก็คือ ควรแสวงหาความรู้และเผยแพร่ความรู้แก่คนอื่นไม่ใช่เพื่อได้รับเงินตอบแทน แต่เพื่อประโยชน์ของสังคม และเพื่อความพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า (Afzalur Rahman, Islam : Ideology and the Way of Life)
ผมเชื่อว่า แม้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่จะเปิดขึ้นในภาคใต้ตอนล่าง ไม่มีอุดมการณ์อิสลามกำกับ ก็คงจะมีนักศึกษามุสลิมเข้าเรียนอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะหากสร้างเงื่อนไขการรับสมัครและสอบแข่งขัน ให้เอื้อต่อการศึกษาที่ชาวมุสลิมได้รับมาจากโรงเรียนปอเนาะ
ฉะนั้น ประเด็นจึงไม่ใช่ว่านโยบายของกระทรวงศึกษาจะล้มเหลว ไม่อาจเชื่อมโยงระบบการศึกษาของมุสลิมให้เข้ากับระบบการศึกษาของประเทศได้
แต่ผมคิดว่าน่าเสียดาย ที่ระบบการศึกษาอันหนึ่งซึ่งยังไม่ถูก "ไถ่ถอนศาสนา" และมีพลังอย่างเข้มแข็งในสังคมมุสลิมไทย จะถูกกลืนหายไปกับระบบการศึกษาซึ่งแยกศาสนธรรมออกจากวิชาความรู้ อันเป็นระบบการศึกษาที่รัฐสนับสนุนอยู่เวลานี้ ไม่ใช่น่าเสียดายแก่ชาวมุสลิมเท่านั้น แต่น่าเสียดายแก่คนไทยทั่วไปทั้งหมดด้วย
เพราะโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้และปรับใช้ระบบการศึกษา ซึ่งเชื่อมโยงกับศาสนธรรมก็สูญหายไปแก่สังคมไทยโดยรวมด้วยเหมือนกัน..
|