พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
กลุ่มเสขิยธรรม
หากข่าวที่กองฉลากจะหันมาขายหวย "๒ ตัว ๓ ตัว" ทั้งโต๊ดและเต็งแทนเจ้ามือหวยเถื่อนเป็นเรื่องจริง และความพยายามจะขายผ่านที่ทำการไปรษณีย์ กับเคาน์เตอร์ธนาคารของรัฐ ได้รับการ "เอื้ออาทร" จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ถูกร้องขอ ที่หลายคนเคยสงสัย ว่า "รัฐบาลประชานิยม" จะหาเงินจากไหนมาอัดฉีดแคมเปญใหม่ ๆ คงมีความกระจ่างขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
เพราะการใช้จ่ายอย่างไม่บันยะบันยังอย่างที่เห็น ๆ กันมานั้น ในที่สุดคงมีเพียงเงิน "ผิดทำนองคลองธรรม" ทั้งหลายนี่แหละ ที่จะรองรับแผนการหาเสียงชนิด "มือใหญ่ใจเติบ" เอาไว้ได้ และดูจะมีเพียงเงินอบายมุขเท่านั้น ที่คนถูกรีดนาทาเร้นมิอาจต่อสู้ขัดขืน ต่อสิ่งที่มักถูกตราหน้าว่า "ความลุ่มหลงมัวเมา" ของตน
ส่วนที่ว่า อยู่ ๆ ทำไม "หน่วยงานด้านอบายมุขของรัฐ" จึงกล้าหาญชาญชัยออก "สินค้าใหม่" ชนิดเข้ารกเข้าพง เลียนแบบพวก "นอกกฎหมาย" เสียเองอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมถึงขนาดนี้ คำตอบคงอยู่ที่ว่า เมื่อบ้านเมืองอยู่ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จ และฝ่ายอื่น ๆ ต้องพากันง่อยเปลี้ยเสียขาด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของท่านผู้นำไปเสียหมดแล้ว ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ "ความเก็บกดฝ่ายต่ำ" ของบางคนจะถูกระบายออก ทั้งเพื่อตอบสนองกิเลสส่วนตัว และเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง อันมิต้องคำนึงถึงความถูกต้องและเป็นธรรม
หากวันนี้ที่ทำการไปรษณีย์และธนาคารรัฐ "รับแทงหวย" ได้ ก็จะแปลกอะไรเล่า ที่ต่อไปสนามกีฬาแห่งชาติจะมีโต๊ะพนันฟุตบอล หรือรับพนันกีฬาอื่น ๆ ดังที่สนามม้า และเวทีมวย ลักลอบปฏิบัติกันอยู่บ้างแล้ว
และคงเป็นเรื่องธรรมดา ที่ต่อไปหน่วยงานต่าง ๆ จะตั้งซ่อง ตั้งโรงนวด เปิดร้านเหล้า-บาร์เบียร์ หรือให้ตำรวจ-ทหารตั้ง "ซุ้มมือปืน" เสียเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมดูแล ตลอดจนเพื่อเก็บภาษีรายได้เข้ารัฐ ด้วยข้ออ้างว่าเป็นความต้องการของตลาด และบางคนสามารถใช้อิทธิฤทธิ์ประเภท "คิดใหม่-ทำใหม่" ให้สามารถทำได้ อย่างถูกกฎหมายไปในที่สุด
แต่ปัญหาคงมิได้อยู่ที่ว่า ทำได้หรือไม่ และ แปลกหรือไม่แปลก หากคงอยู่ที่ความเหมาะสม และถูกต้องหรือไม่-เพียงใด เสียมากว่า...
เพราะจะว่าไปแล้ว ความ "ควร-ไม่ควร" มิได้ขึ้นอยู่กับเสียงในสภาไปเสียทั้งหมด เช่นเดียวกับ "การค้าเสรี" ก็ใช่ว่าจะสามารถทำอะไร "ล้ำเส้นศีลธรรม" ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งอื่น ต่อให้มี "กำไรสูงสุด" ก็ตามที
จริงอยู่ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของ "การค้าเสรี" อย่างเต็มตัว แต่ต้องไม่ลืมว่า หากผู้คนพลเมืองของรัฐ ผู้อยู่ในฐานะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ต้องตกอยู่ภายใต้อบายมุข และพากันลุ่มหลงสิ่งมอมเมาอย่างไม่ลืมหูลืมตาเสียแล้ว ภายใต้ "อบายมุขเสรี" ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของประชาชน ทั้งในการเสพบริโภค ด้านการผลิต ก็ใช่ว่าจะอยู่ในระดับที่แข่งขันกับใคร ๆ ได้
และในแง่ของรัฐบาล "ประชานิยม" ที่สามารถหางบประมาณทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งชอบธรรมและไม่ชอบธรรม มาตอบสนองแนวคิด "เอื้ออาทร" ได้อย่างต่อเนื่อง ก็ยังน่าสงสัยว่าในบั้นปลาย ประชาชนที่ด้านหนึ่งถูกรีดเค้นด้วยภาษี และอีกด้านถูกล่อลวงให้ต้องควักกระเป๋าด้วยอบายมุขหลากรูปแบบ อนาคตข้างหน้าความเอื้ออาทรนานาชนิดที่รัฐมอบให้ จะเพียงพอต่อการหล่อเลี้ยง "กายและจิต" ของพวกเขาละหรือ
ในด้านการเมืองการปกครอง รัฐบาลคณะหนึ่ง ๆ แม้จะมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่หากยึดกุมรัฐได้อย่างรอบด้าน ทั้งด้วยผลการเลือกตั้ง และจากเทคนิคในการจัดตั้งรัฐบาล กระทั่งมีอำนาจและมักใช้อำนาจที่มีอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว แม้จะไม่สรุปว่าเป็น "เผด็จการรัฐสภา" ตามนิยามศัพท์ประชาธิปไตย รัฐบาลดังกล่าวก็ดูจะอยู่ในฐานะที่มี "อำนาจสัมบูรณ์" และมี "อาญาสิทธิ์" ไม่ต่างจาก "เจ้าผู้ครองนครรัฐ" ในอดีตทีเดียว
จะต่างกันก็ตรงที่ นอกจากรากฐานทางปรัชญา และกลไกทางรัฐศาสตร์-นิติศาตร์แล้ว ประชาธิปไตยแทบจะไม่มีกรอบโครงทาง "ศาสนธรรม" เพื่อควบคุมการใช้อำนาจของผู้ปกครองที่มีประสิทธิภาพใด ๆ ไว้ให้เจ้าของคะแนนเสียงใช้ฉุดรั้ง หรือทักท้วง รัฐบาลซึ่งตนเลือกเข้ามาเอาเสียเลย
กลับกลายเป็นว่า เมื่อได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุด ก็มี "ความชอบธรรม" ที่จะทำอะไรก็ได้ แม้จะกระทำไปโดยลุแก่อำนาจ และปราศจากศีลธรรมก็ตาม
นี่ดูจะต่างจากพระราชามหากษัตริย์ในอดีต ที่ยังมี "ราชธรรม" หรือ "ทศพิธราชธรรม" เอาไว้สมาทาน ให้ศาสนธรรมเป็นทั้งเครื่องเตือนสติ และชี้วัดคุณค่าของผู้นำ "สมบูรณาญาสิทธิราช" อยู่ในที มิให้ออกนอกลู่นอกทาง หรือหลงระเริงจนอาจสร้างความเดือดร้อนต่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน
เพื่อให้เข้าใจตรงกัน จะขอยกเอา "ราชธรรม" ซึ่งอธิบายไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลศัพท์ ของพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) มาให้พิจารณาโดยไม่ต้องขยายความใด ๆ อีก ดังนี้
"ราชธรรม ธรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน, คุณสมบัติของนักปกครองที่ดี สามารถปกครองแผนดินโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี มี ๑๐ ประการ (นิยมเรียกว่าทศพิธราชธรรม) คือ ๑. ทาน การให้ทรัพย์สินสิ่งของ ๒. ศีล ประพฤติดีงาม ๓. ปริจจาคะ ความเสียสละ ๔. อาชชวะ ความซื่อตรง ๕. มัททวะ ความอ่อนโยน ๖. ตบะ ความทรงเดชเผากิเลสตัณหา ไม่หมกมุ่นในความสุขสำราญ ๗. อักโกธะ ความไม่กริ้วโกรธ ๘. อวิหิงสา ความไม่ข่มเหงเบียดเบียน ๙. ขันติ ความอดทนเข้มแข็งไม่ท้อถอย ๑๐. อวิโรธนะ ความไม่คลาดธรรม" (การเน้นคำเป็นของผู้เขียน)
เมื่อมองจากกรอบของ "ราชธรรม" และลองเทียบเคียงกับรัฐและผู้ปกครองที่เรากำลังประสบ ก็พบว่า เราทั้งหลายคล้ายกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่พิเศษยิ่ง และสำหรับบางคน ดูจะน่ากระอักกระอ่วนใจมิใช่น้อย เมื่อพบว่า "ราชธรรม" หลายข้อ ดูจะตรงกันข้ามกับผู้นำที่เราต่างพากันชื่นชมด้วยกรอบของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ภายใต้โลกานุวัตรของทุนนิยมและบริโภคนิยมในปัจจุบัน
เรากำลังอาศัยอยู่ในรัฐ ที่ผู้นำคล้ายจะมุ่งตรงไปสู่ความสำเร็จแบบโลกียะ อันฉาบทาไว้ด้วยตัณหาและมิจฉาทิฏฐิ อย่างไม่คำนึงถึงศีลและธรรม และไม่รับฟังแม้เสียงทักท้วงด้วยปรารถนาดีของวิญญูชน เรากำลังตกอยู่ภายใต้นโยบาย "ตบหัวแล้วลูบหลัง" นานัปการ ในนามของผลประโยชน์ส่วนรวม, ยุทธศาสตร์ชาติ และ ความ "เอื้ออาทร" เยี่ยงการตลาดแลกคะแนนเสียง เรากำลัง "อนุญาต" และให้สิทธิอันชอบธรรมของเรา แก่บุคคล หรือคณะบุคคล ที่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่ายังมี "ทำนองคลองธรรม" แค่ไหนและเพียงไร
ที่กล่าวมาทั้งหมดคงมิใช่เพียงเรื่องราวของวันวานและวันนี้เท่านั้น หากหมายรวมเอาวันพรุ่ง และอนาคตที่จะมาถึงเป็นสำคัญ
ว่า..วันนี้เรากำลังทำอะไร หรือยินยอมให้ใครทำอะไร ซึ่งที่สุดแล้วจะส่ง "ผล" ไปถึงวันข้างหน้า
วันข้างหน้า... ซึ่งบุตรหลานของเราจะต้องรับวิบากกรรม โดยที่ผู้นำรัฐคนไหนมิอาจรับผิดชอบใด ๆ ได้ ไม่ว่าด้วยชีวิต หรือความร่ำรวยที่เขาสะสมไว้ก็ตาม ..
|