เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

"กุบูร์"
ประตูสู่โลกหลังความตายของคนมุสลิม...

ผู้จัดการรายวัน ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘

          ตายแล้วไปไหน? ...เป็นคำถามโลกแตกที่มนุษย์เพียรหาคำตอบตั้งแต่พวกเขารู้จักความตาย

          พุทธศาสนาเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด โดยเชื่อว่ามีการพิจารณากรรมดีชั่วเมื่อตายไปในยมโลกด้วยเป็นความรับผิดชอบของท่านยมบาล ที่จะส่งผู้นั้นไปสวรรค์หรือนรกตามผลกรรมที่เขากระทำ

          แต่เมืองไทยไม่ได้มีศาสนาเดียว เรายังมีศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างสันติมานานหลายร้อยปีร่วมกับคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ

          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาอิสลามที่มีผู้นับถือมากรองจากพุทธ จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่าพี่น้องชาวไทยมุสลิมเขามีความเชื่อ และประเพณีปฏิบัติเกี่ยวกับวิญญาณและชีวิตหลังความตายอย่างไร...

 

ความตายและความเชื่อของอิสลาม

          ชายผู้หนึ่งนอนเหยียดยาวอยู่บนบ้าน แววตาของเขาเผยถึงความทรมานจากโรคที่รุมเร้า

          ผู้คนนั่งล้อมรายล้อมต่างมีสีหน้าไม่สบายใจ...

          "ลาอิลาฮะอิลลัลลา" ผู้อาวุโสท่านหนึ่งเอ่ยขึ้น ..."ลาอิลาฮะอิลลัลลา" ชายคนนั้นกล่าวตาม

          พวกเขากำลังกล่าวถึงพระเจ้า ขณะที่หนึ่งในผู้ที่แวดล้อมอ่านคัมภีร์อยู่อย่างสงบ บางคนก็เอาน้ำหยอดให้คนป่วย... "อินนาลิลาฮิวะอินนาอีลัยฮิลาญิอูน" ทุกคนรำพึง เมื่อเพื่อนของเขาจากไป

 

          เหตุการณ์นี้คือฉากความจริงที่ อาจารย์บูดีมาน แยนา ผู้เชี่ยวชาญหลักนิติศาสตร์อิสลามบอกเราว่าเป็น "การพักผ่อน" ของคนมุสลิม มิใช่การสิ้นสุดของชีวิตตามสัญชาตญาณที่มนุษย์เชื่อกัน

          "ความตายคือการพักผ่อน ไม่ใช่ไปสู่ทุกข์ เป็นการพักผ่อนระหว่างสองกลุ่มคน คือคนที่ปฏิบัติในศีลในธรรม เขาพักผ่อนเพื่อจะได้ผลตอบแทนที่ดี ส่วนคนที่อยู่ในอธรรม จะพักผ่อนเพื่อหยุดสักทีในสิ่งที่เขาทำ นี่คือแนวคิดที่ท่านศาสดาให้โดยมีวัจนะไว้" อาจารย์บูดีมานกล่าว

          สอดคล้องกับ ธีระพันธ์ ช่วงพิชิต นักเขียนผู้สนใจวัฒนธรรมประเพณีและตัวเขาเองก็เป็นมุสลิมเช่นกัน บอกกับเราว่า "ความตายของมุสลิมใกล้ชิดและอบอุ่น เราไม่แยกออกจากวิถีชีวิต เพราะถูกสอนมาตลอดให้มีความรู้สึกสัมพันธ์กัน แตกต่างจากสังคมในศาสนิกอื่นที่มองในทางอวมงคล"

แต่ในความต่างก็มีความเหมือนพุทธในบางข้อ เขายังเล่าอีกว่ามุสลิมเรียนรู้ความตายโดย "ให้เขาได้เพ่งพินิจผ้าห่อศพที่เตรียมสำหรับตัวเองทุกวัน จะเป็นมงคลกับชีวิต เป็นการสำรวมตนเองความตายไม่ห่างไกลเลย"

          คนมุสลิมเชื่อในโลกปัจจุบัน หรือ "ดุนยา" ขณะมีชีวิต และหลังความตายเชื่อว่าวิญญาณจะไปอยู่ในโลก "บัรซัค" เพื่อรอวันพิพากษาสุดท้ายในโลก "อาคิเราะห์" พบพระเจ้าที่มาตัดสินความผิดและถูก

          เทียบให้เข้าใจง่าย "บัรซัค" หมายถึงยมโลก แต่อิสลามไม่มีการกลับชาติมาเกิด ผู้ตายจะรอคอยการตัดสินในวันสิ้นโลกเท่านั้น ต่างกับพุทธที่เชื่อแตกต่างคือต้องมาใช้กรรมในวัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป

          เรื่องราวทั้งหมดนี้ชาวมุสลิมถือคัมภีร์อัล-กุรอานและวัจนะศาสดาเป็นเกณฑ์ ไม่แปลกที่จะเห็นการอ้างอิงคัมภีร์เสมอในเวลาที่เราคุยกับชาวมุสลิมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้

          กุศล เอี่ยมอรุณ นักเขียนผู้สนใจเรื่องนี้อีกคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า "ตามความเชื่ออิสลาม พูดถึงความตายว่าถึงอาญิรของอัลเลาะฮ์ (ซบ.) ทุกอย่างเป็นการงานของอัลเลาะฮ์ (ซบ.) ลุ่มลึกตรงที่ว่ามีรากจากศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว ความตายมองในแง่มุสลิมถือว่าหมดสิ้น พระเจ้าให้ชีวิตเท่านี้ ทางพุทธคือหมดเวรหมดกรรม"ก่อนเสริมว่า "ที่แน่ๆ ตายไปอยู่กุบูร์ วันสิ้นโลกจะฟังพิพากษา เชื่อว่าด้านซ้ายขวามีคนจดความดีความชั่ว"

 

เดินทางสู่ "กุบูร์" การ "พักผ่อน" เพื่อรอวันสิ้นโลก

          พิธีเกี่ยวกับความตายของชาวมุสลิมเริ่มขึ้นเมื่อรู้ว่าผู้ป่วยนั้นอาการหนักไม่รอดแน่แล้ว ญาติจะมาเยี่ยมพร้อมกับนักศาสนา จะมีสอนให้คนตายกล่าวว่า "ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะฮ์ (ซบ.)..." เป็นภาษาอาหรับดังเหตุการณ์ข้างต้น เพื่อให้คนผู้นั้นอยู่ในศีลธรรมก่อนสิ้นชีวิต

          ถ้ามองในแง่ชาวพุทธ จุดร่วมตรงนี้คือการให้ความสำคัญกับสภาวจิตของผู้ป่วยใกล้สิ้นใจ ...ใช่หรือไม่ที่เราเชื่อเช่นกันว่าหากก่อนตายจากไปอย่างสงบ ผู้นั้นย่อมพบสิ่งดีในโลกหน้า

          อาจารย์บูดีมาน บอกเราเกี่ยวกับพิธีศพว่า "กฎหมายอิสลามเรียกเรื่องทำพิธีศพว่า อัยบาดับกานียะ* คือการทำความดีเชิงพฤติกรรม ไม่ใช่เหมือนละหมาดที่จะอ่าน เป็นพฤติกรรมล้วน การอ่านจะเสริมเท่านั้น มีหลักการว่าพฤติกรรมการเคารพสักการะจะไม่เกิดกับมนุษย์อื่น"

          ที่อาจารย์บูดีมานพูดนั้น เป็นที่มาของการที่ชาวมุสลิมจะไม่กราบผู้ตายหรือรูปเคารพอื่นใด... จะแสดงความเคารพต่อพระเจ้าเท่านั้น "การจัดพิธีจะมีสิทธิของผู้ตายที่พึงได้" อาจารย์กล่าวถึงสิทธิ ๔ อย่างคือ การทำความสะอาดร่างด้วยการอาบน้ำ การห่อร่างให้มิดชิด การละหมาดขอพรจากพระเจ้า และสุดท้ายคือฝัง

          ถ้าพูดแบบลูกทุ่งเรียกได้ว่าเป็นไฟต์บังคับ หรือเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิมที่มีชีวิตอยู่ข้างหลังต้องกระทำให้กับผู้จากไป โดยขั้นตอนนั้น มีรายละเอียดเล็กๆ ต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น แต่หลักใหญ่นั้นสิทธิ ๔ อย่างจะมีการปฏิบัติไม่แตกต่างกัน พิธีกรรมนี้ยังแบ่งหน้าที่ด้วย โดยกำหนดให้ญาติเพศเดียวกับผู้จากไป ลงมือตั้งแต่การทำความสะอาดร่างจนถึงขั้นสุดท้าย ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของผู้ชายเท่านั้นคือการฝัง

          "อิสลามให้เกียรติผู้ตายมาก เชื่อว่ามีความรู้สึกเหมือนคนมีชีวิต การทำความสะอาดร่างก็มีพฤติกรรมย่อย ไม่ใช่ทำแบบใดก็ได้ จะมีแบบว่าทำอย่างไร เป้าหมายคือเห็นความสำคัญของความสะอาดทั้งคนอยู่และตาย" อาจารย์บูดีมานกล่าว

          อาจารย์อับดุลชะกูร์ บินชาฟิอีย์ ผู้เชี่ยวชาญนิติศาสตร์อิสลามอีกท่าน อธิบายว่า "เมื่อคนตายแล้ว ญาติพี่น้องจะจัดการศพตามหลัก มือจะเอาขวาทับซ้าย...ขั้นตอนทำความสะอาดจะใช้สถานที่มิดชิด มีผ้าปิดในส่วนที่ควร โดยวางร่างไว้ที่สูง สองชำระสิ่งสกปรกออก สาม เอาน้ำรดทั่วร่างกาย หลังจากนั้นรดด้วยน้ำใบพุทราและน้ำสะอาด ๓ ครั้ง ใช้น้ำพิมเสนรดโดยเริ่มจากด้านขวา แล้วอาบน้ำละหมาด และจบด้วยการล้างเท้าด้านขวา ซ้าย เสร็จแล้วซับให้แห้ง" ...ก่อนจะห่อร่างด้วยผ้า แล้วนำไปที่มัสยิดเพื่อทำละหมาด...จบด้วยการฝังในที่สุด

          อาจน่ากลัวสำหรับคนที่ไม่เคยสัมผัสพิธีกรรมความตายของมุสลิม แต่สำหรับคนมุสลิม "ความตายเป็นจุดเริ่มต้น เทียบศาสนาอื่นไม่ต่างกัน โลกที่เรียกในปัจจุบันนี้คือโลกหนึ่ง และมีโลกหน้าหลังพิพากษาตัดสิน ชีวิตนี้เป็นเพียงทางผ่านสู่โลกการตัดสินที่เป็นชีวิตนิรันดร์ นั่นคือเป้าหมายที่แท้จริง" ธีระพันธ์กล่าว

          "เป็นการพักเพื่อเดินทางใหม่ ยังมีอีกหลายบท มีการตอบแทน การสอบสวนรออยู่ เป็นความเชื่อ คนที่เรียนวิทยาศาสตร์เยอะจะไม่เชื่อ พิสูจน์ไม่ได้ ...ความเชื่อคือความเชื่อ เราพยายามสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับศาสนาเรา.." อาจารย์บูดีมานเอ่ย

 

"ชะหีด" สิ่งที่ต้องทำความรู้จักหลังคำว่า "ญิหาด"

          "ยกเว้นที่ตายชะหีด ไม่ต้องทำขั้นตอนนี้" (การทำความสะอาดร่างผู้ตาย) ... ประโยคของอาจารย์อับดุลชะกูร์ ชวนให้คิดถึงเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลในใจให้กับพี่น้องมุสลิมทางใต้เมื่อปีก่อน

          เรากำลังพูดถึงกรณีที่มัสยิดกรือเซะ และเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ ครานั้นนอกจากควันปืนและความเศร้าของคนร่วมชาติ หากสังเกตสักนิด สิ่งที่ปรากฏอีกอย่างคือสิ่งที่คนมุสลิมปฏิบัติต่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ โดยเฉพาะคนที่เข้าไปยึดมัสยิดต่อสู้กับอำนาจรัฐ หลังเหตุการณ์สงบ บางคนไม่มีการอาบน้ำหรือทำพิธีกรรมใดๆ ละหมาดแล้วฝังทันที จนสื่อและหลายคนตีความและตั้งคำถามว่า หมายถึงอะไร...

          ความไม่เข้าใจนี้ เป็นหลักฐานว่าคนไทยพุทธและมุสลิมยังไม่รู้จักกันอย่างแท้จริง ทั้งที่เราอยู่ด้วยกันมานานตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว (กรมท่าขวาที่ติดต่อค้าขายกับชาวอาหรับมีขุนนางเป็นชาวมุสลิม)

          อาจารย์อับดุลชะกูร์ บอกว่าชะหีดคือความเชื่อในการตายที่ประเสริฐ "คือคนตายในการต่อสู้ในแนวทางพระเจ้า ตายในสนามรบที่ปกป้องศาสนา นั่นคือตัวบท ส่วนใครจะไปตีความว่าแบบไหนคือชะหีด เป็นอีกประเด็นหนึ่ง"

          ธีระพันธ์ให้ความเห็นว่า "ชะหีดคือการตายในวิถีทางพระเจ้าโดยอุทิศชีวิต ต้องผ่านกระบวนการที่เรียกว่า "ญิหาด" คือการกระทำเพื่อศาสนาอิสลามก่อน การต่อสู้คือจีฮัด ก่อนรู้จัก "ชะหีด" ควรรู้จัก "ญิหาด" มาก่อนเพราะก่อนจะมาถึงชะหีด คือต่อสู้แล้วเสียชีวิต"

          จริงๆ แล้วภาพญิหาดในสายตาของคนต่างศาสนิกเป็นกลุ่มคลั่งศาสนา แต่ความจริงญิหาดไม่ใช่เช่นนั้น และยังมีหลายแบบ "ญิหาดที่ลำบากที่สุดคือต่อตัวเอง สู้กับอารมณ์หรือความเป็นตัวเรา การพูดถึงชะหีดหมายถึงความตายเท่านั้น เบื้องต้นคือญิหาดกับตนเอง ภาวะโลภ โกรธ หลง ทุกวันนี้เรามองเพียงความตาย นั่นไม่ใช่ความหมาย ทุกคนต้องต่อสู้อยู่แล้ว เบื้องต้นคือต่อตนเองและภาวะรอบข้าง" เขาขยายความ

          แต่ก็พูดถึงการตีความว่า "การจากไปของคนที่กรือเซะและตากใบมีความต่างในกระบวนการศาสนา สภาวะการเสียชีวิตทั้งสองที่ไม่มีใครสามารถวินิจฉัยได้ว่า คนเหล่านั้นเสียชีวิตในวิถีอิสลามหรือไม่ ปัจจุบันชาวบ้านผู้สูญเสียรู้สึกว่าลูกหลานตายในวิถีอิสลาม แต่สังคมไม่ได้ตอบรับสิ่งนั้นทั้งหมด ในสังคมไทยไม่มีใครตอบได้ว่าอยู่ในวิถีหรือไม่"

          เขาพูดถึงการตั้งคำถามอีกแบบ "ถ้าถามว่าเป็นธรรมหรือไม่จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งทันที กรณีเดิมไม่มีใครตอบได้เว้นแต่ตัวผู้เสียชีวิต ว่าเป้าหมายคืออะไร อุดมการณ์คืออะไร ศาสนาอิสลามหรือความเป็นรัฐอิสระ ถ้าเพื่ออิสลามก็คือธำรงศาสนา ถ้าหมายถึงรัฐปัตตานีก็เป็นอีกมิติหนึ่ง"

          ด้านอาจารย์บูดีมานนั้นบอกโดยสังเขปว่า "สำหรับคนที่ละเว้นไม่ต้องทำครบ ๔ อย่าง (สิทธิของผู้ตาย) คือคนตายในสนามรบเท่านั้น นี่คือข้อกังขาของสังคม...เหตุการณ์กรือเซะหรือตากใบ พ่อแม่บางคนไม่อาบน้ำ ไม่ละหมาด ไม่จัดการพิธีศพ ขุดหลุมฝังเลย เขาว่าลูกเขาตายชะหีด บางคนปรึกษานักวิชาการ บางคนไม่ นี่คือจุดด้อยที่ไม่มีใครศึกษา ทำตามความรู้สึกว่าลูกฉันถูกยิง ตายชะหีด ความจริงในหลักนิติศาสตร์อิสลามคนที่ไม่ต้องปฏิบัติ ๔ อย่างนั้น คือคนที่ตายในสนามรบเท่านั้น ไปสู้เพื่อปกป้องแผ่นดิน ศาสนาของพระเจ้า แต่เขาไม่เข้าใจ ขึ้นอยู่กับเขา รายละเอียดคงต้องคุยทีหลัง"

          "มันแบ่งได้หลายชะหีด ชะหีดที่ไม่ตายในสนามรบก็มี อย่างคนจมน้ำก็เรียกชะหีด คนตายคลอดบุตรก็เรียกชะหีด เพราะความประเสริฐของคนเหล่านี้จะถูกลบบาปโดยพระเจ้าในส่วนนั้น" ดังนั้นทั้งหมดจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในการตีความ...

          "เราตีความเหตุการณ์ที่กรือเซะว่าเขาแสดงตนเป็นศัตรูไม่ได้ เขาสูญเสียอนาคตและลูกหลาน เมื่อพิจารณาว่าสิ่งนั้นลูกหลานทำตามแนวทางพระเจ้า เขาก็ทำแบบนั้น ไม่มีใครวินิจฉัยว่าผิดหรือถูก" ธีระพันธ์ยังชี้ถึงกรณีตายชะหีด ซึ่งมีข้อยกเว้นจากสิทธิ ๔ ประการเพียงข้อเดียวคือ "กลับมาหน้าที่ของมุสลิม เมื่อมีการตาย หน้าที่คนที่อยู่คือชำระล้าง ห่อผ้าให้มิดชิด ละหมาดอุทิศส่วนกุศลแล้วนำไปฝัง ถ้าวิถีทางชะหีดแล้วเขาไม่ต้องอาบน้ำ ถือว่าสะอาด แต่ที่เหลืออีกสามข้อต้องทำ เท่านั้นเอง"

          ดังนั้น "เมื่อพ่อแม่ผู้ตายมั่นใจเช่นนั้นก็ไม่ใช่ไปตีความว่าเขาเป็นศัตรูของรัฐ คนละกรณี ไม่ใช่หน้าที่เราจะไปตีความ ที่ควรถามคือเป็นธรรมหรือไม่กับคนเสียชีวิต สังคมต้องตอบว่าเขาได้ความเป็นธรรมหรือไม่ ในการปฏิบัติก่อนตายหรือหลังตาย"

 

"กุบูร์" เขตแดนที่คนต่างศาสนิกสามารถเรียนรู้

          กุบูร์นั้นแปลตรงตัวก็คือ สุสาน นั่นเอง เทียบกันก็คือป่าช้าของชาวพุทธ หรือสุสานของชาวคริสต์ เรื่องของพิธีความตายที่ไม่มีใครอยากสัมผัสนี้ จะจบลงที่สุสาน กรณีของสุสานมุสลิมจะมีลักษณะเฉพาะค่อนข้างชัด และที่กุบูร์นี้เอง คือปลายทางของชีวิตชาวมุสลิมที่จะไปสู่โลก "บัรซัค" เพื่อรอการตัดสินสุดท้าย

          "หัวใจงานศพคือการนำสู่ความใกล้ชิดพระเจ้า ทั้งสองฝ่ายคือคนตายและอยู่ต้องผ่านกระบวนการแสวงความใกล้ชิดพระเจ้า หน้าที่คนข้างหลังคือฝังผู้จากไปให้ถูกขั้นตอนและเร็วที่สุดตามกระบวนการ บางคนพิจารณา ๒๔ ชม. ท่านศาสดากล่าวว่าเป็นหน้าที่ ต้องทำไม่ว่าจะก่อนหรือหลัง ๒๔ ชม. ก็ได้ กรณีมีความจำเป็นเช่น มีคดีความหรือสงสัยก็สามารถชะลอเพื่อพิสูจน์ได้ ที่หมอพรทิพย์ออกมาพูดว่าตรวจสอบไม่ได้นั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องคอย ต้องพิสูจน์"

          แม้มุสลิมจะให้เกียรติกับร่างผู้ตายก็ไม่ใช่การยึดติด ดูได้จากการฝังศพที่ห้ามไม่ให้จับจองหลุม "ผลตอบแทนการกระทำไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ตอบแทนกับวิญญาณที่เขาปฏิบัติ อย่างกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตรที่หายไป ภรรยาเขาจะเข้าใจว่าไม่ซีเรียสกับร่างกาย หายก็หาย" อาจารย์บูดีมานยกตัวอย่าง

          "ในคดีถ้าชันสูตรทำได้ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมยิ่งต้องทำ" อาจารย์บูดีมานเสริม ก่อนพูดถึงกุบูร์ "หลุมศพต่างไปในแต่ละที่ อาหรับส่วนมากเป็นของตระกูล ขุดเป็นอุโมงค์ลงไปแล้วเป็นช่องตั้งศพตามสภาพที่ดินซึ่งซื้อมา เพราะน้อยที่จะมีสุสานสาธารณะแบบบ้านเรา ทุกคนซื้อที่ดินทำสุสาน หันกลับมาดูในบ้านเราตอนนี้ ก้อนหินต่างๆ (ลักษณะเหมือนกับป้าย) ที่ตั้งบนสุสาน ตามหลักไม่ควรตั้ง ถือเป็นการครอบครอง คนอื่นมาฝังไม่ได้ นั่นคือสุสานสาธารณะขึ้นชื่อว่าเป็นของทุกคน ฝังได้ซ้ำซาก อาจทำแค่เครื่องหมายก็พอ"

          การปลูกต้นไม้ดอกไม้บนหลุมนี้หลักคิดมาจากการปฏิบัติของศาสดา "ในสมัยศาสดาท่านผ่านสุสานแห่งหนึ่ง แล้วพบทูตพระเจ้า บอกว่าศพนี้กำลังถูกลงโทษ ท่านนบีจึงเอาต้นไม้ปัก เพื่อต้นไม้นี้อาจทำให้โทษลดลง คนปักต้องเป็นคนดีด้วย"

          ถ้าถามถึงค่าใช้จ่ายในพิธีกรรมนี้หลายคนอาจไม่น่าเชื่อกับตัวเลข อาจารย์อับดุลชะกูร์เล่าว่า "ค่าใช้จ่าย ผ้าห่อ ๔๕๐ บาท ไม่มีอย่างอื่น อาจมีค่าขุด แต่ถ้าเป็นในหมู่บ้านจะช่วยเหลือกัน ถ้าในเมืองอาจมีการจ้าง ต่างกันไปตามสภาพสังคม" เขาขยายว่า "ส่วนมากคนตายไปมีเงินเหลือ บางคนมีไม่เกิน ๑ พัน ตอนนี้มาละหมาดคิดวันละร้อย ฯลฯ เป็นความคิดตัวเอง ต้องแยกกับหลักการจริง จ้างให้ไหว้พระทางพุทธเองผมก็เชื่อว่าไม่เอาเหมือนกัน ในกฎหมายอิสลามมีบทหนึ่งที่เรียกว่าความจริงใจ การกราบไหว้ต้องมีสมาธิ เราละหมาดได้ทุกคน ความจริงใจมีไหม สิ่งเหล่านี้จะตัดทอนผลบุญ"

          ขณะที่ธีระพันธ์เล่าว่า "เพี้ยนหรือไม่ที่เห็นปัจจุบัน จริงๆ มุสลิมไม่มีการจับจองที่ ไม่มีต้นทุนเรื่องความตาย ปัจจุบันมีเช่นค่าแรงในการขุดหลุม สังคมมุสลิมจริงๆ จะเกื้อกูลต่อกัน การขุดหลุมฝังเป็นหน้าที่ต้องมาช่วยกัน ใช้คำว่าเป็น "วายิบ" เป็นข้อปฏิบัติ ถ้ามีการตายในชุมชนต้องมีตัวแทนจากครอบครัวไปร่วมอย่างน้อย ๑ คน แต่สังคมที่เสื่อมสลายภาพนี้จึงลดลง มูลค่ามีขึ้น ถ้าดั้งเดิมทั้งหมดยังเกื้อกูลต่อกัน ไม่มีราคาค่างวด"

          ส่วนในเรื่องการจ้างละหมาดเขาบอกว่า "ที่เคยประสบมีการให้เงินตอบแทนเล็กน้อย อย่าง ๒๐ บาท กับแขกที่มาร่วมเจ้าภาพอาจจ่ายให้ เป็นเรื่องตอบแทน แก่นแท้จริงๆ ไม่มี เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องเกื้อกูลกัน มุสลิมเป็นของกันและกัน เป็นธรรมดาของสังคมที่เปลี่ยนไป สังคมเมืองจะเห็นมาก ถ้าชนบทสิ่งเหล่านี้จะไม่ถูกทำลาย" เขายังบอกว่าในสังคมมุสลิมยังคงเป็นหน้าที่เฉพาะเพศและลูกหลาน ถึงร้อยละ ๘๐

          ส่วนถ้าเสียชีวิตในโรงพยาบาล "ศพจะถูกนำกลับบ้าน ยกเว้นรพ.บางแห่งพร้อมก็จะอำนวยความสะดวกเฉพาะสถานที่ ญาติจะไปทำที่นั่นแล้วมาสุสาน แต่เกือบทั้งหมดจะนำมาที่บ้านก่อนแล้วผ่านกระบวนการ"

          เราเรียนรู้อะไรจากกุบูร์ได้บ้าง? "กุบูร์ไม่ใช่สถานที่เที่ยว แต่เป็นสถานที่ที่ทำให้มนุษย์สังวร เหมือนไปยืนหน้าเชิงตะกอน สิ่งที่ได้คือการสังวรว่าไม่มีความจีรัง การไปกุบูร์ในทัศนะของมุสลิมไปเพื่ออุทิศกุศล ไม่สามารถไหว้ได้ เรายังเรียนรู้จากกระบวนการปฏิบัติต่อผู้ตาย เข้าไปเพื่อดูวิถีชีวิต แต่ก็ต้องมีคนให้ความรู้ด้วยดีกว่าไปลำพัง" เขาสรุป

          ขณะที่กุศล เอี่ยมอรุณ มองว่า "กุบูร์คนมุสลิมถือเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่จะไปทำอะไรก็ได้ ตามหลักตอนเดินในนั้นเขาห้ามข้ามหลุมศพด้วยซ้ำ เพราะเชื่อว่าคนที่อยู่ในหลุมไม่ได้ตายแค่เข้าไปอยู่อีกโลก เขาเชื่อวันสิ้นโลก เมื่อวันนั้นมาถึงต้องออกมาเพื่อฟังคำตัดสินเรื่องการทำดีทำชั่วอย่างไร"

          "กุบูร์สำคัญในกรุงเทพฯ ก็ที่มัสยิดต้นสน ถ้าไปดูจะเห็นหลุมศพจุฬาราชมนตรีและขุนนางหลายคน ตั้งแต่สมัยกรุงแตกลงมา น่าทึ่งมาก ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์สังคมไทยช่วงรอยต่ออยุธยาถึงรัตนโกสินทร์"

          คงต้องปิดท้ายด้วยคำพูดของธีระพันธ์ที่ว่า "ไม่ใช่หน้าที่มุสลิมที่จะให้คนอื่นมาเข้าใจเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจผู้อื่นด้วย มุสลิมต้องออกมาทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างโดยมีจุดยืนของตัวเอง ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าส่วนใหญ่มีจุดยืนเข้มแข็งพอ แต่ส่วนหนึ่งไม่ออกมาทำความรู้จัก ต้องออกมาเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสงบ เราจะได้ไม่ต้องถามว่าอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ เพราะในประวัติศาสตร์อยู่ร่วมกันมานานแล้ว"

          คงไม่เสียหาย...หากจะลองเปิดใจ ลดอคติ ทำความรู้จัก เพื่อเราจะเรียนรู้กันมากขึ้น ขจัดสิ่งที่เรียกว่า "ใกล้ตาแต่ไกลใจ" โดยเฉพาะรัฐบาลใหม่ควรมองและทำความเข้าใจข้อนี้อย่างยิ่ง

          เมื่อเรารู้จักและเข้าใจ ทำสิ่งดีๆ ต่อกันแล้ว คำตอบสุดท้ายที่ออกมาก็คือ "สันติภาพ" นั่นเอง

          มิฉะนั้น มีสักพันกุบูร์ ร้อยสุสาน ก็คงไม่พอบรรจุศพผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง...

*หากผิดพลาดประการใดเรื่องทับศัพท์ภาษาอาหรับต้องขออภัยมา ณ ที่นี้
**ขอขอบคุณท่านอิหม่ามแห่งมัสยิดต้นสนที่เอื้อเฟื้อข้อมูล.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :