กู้วิกฤตคำสอน ดำรงพุทธศาสนาให้คู่โลก
ชนิตร์นัยน์ ณ บางช้าง
มืองไทยได้มีโอกาสจัดงานใหญ่ระดับโลก ในฐานะเป็นเจ้าบ้านและยังเป็นประเทศที่นับถือ "พุทธศาสนา" เป็นศาสนาประจำชาติด้วย ทำให้เกิดความคิดที่จะให้งานประชุมนานาชาติแห่งพุทธศาสน์ศึกษาครั้งที่ ๑๓ นี้มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการศึกษาวิจัยพุทธศาสนา การตีพิมพ์งานวิจัย คัมภีร์ต่างๆ ในภาษาดั้งเดิม ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนักวิชาการทางพุทธศาสนา จัดการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธด้วยกันในงานนี้
งานนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๘-๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๕ โดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานในการเปิดประชุม พร้อมกับทรงรับเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ในการจัดประชุมครั้งนี้ด้วย
ในงานนี้มีพระจากเกาหลี...เมืองโสมได้เข้ามาร่วมงานด้วยในชุดภิกษุณีสีเทา พร้อมกับศีรษะที่ "ไร้ผม"
แฮ จู จอง จากมหาวิทยาลัยดองจุ๊ก (Dongguk University) เล่าให้ฟังว่า ต้องการมางานนี้พร้อมกับ "ผม" ที่หายไปเนื่องจากการบวชเป็นพระ! ไม่ใช่บวชชี ทั้งๆ ที่เป็นผู้หญิงก็บวชเป็นพระเพื่อมาเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้
พระแฮ จู จอง ขอชี้แจงให้เห็นว่า พุทธศาสนาสอนให้ทั้งสองเพศมีความเท่าเทียมกัน พระและชีมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในเกาหลี ผู้หญิงก็สามารถบวชเป็นพระได้ เป็นภิกษุณีนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามเมื่ออยู่ในวัดก็ต้องแยกจากกัน
"มีเพียงบางสิ่งที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น การเป็นพระสังฆราช หรือเรียกว่า จอง จิง (Jong Jeong) เจ้าคณะหรือสังฆราชที่ภิกษุณีทำไม่ได้ นอกนั้นภิกษุณีสามารถทำได้ทุกอย่าง เราจึงอยากมาประชุมเพื่อให้ทุกชาติได้เห็นว่า ความคิดของเราเป็นอย่างนี้ อยากให้ชาติอื่นได้เห็นถึงความคิดของภิกษุณีด้วย"
นั่นซินะ...นับว่าเป็นเกียรติที่ให้ไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งภายในงานจะมีการพูดคุยกันถึงเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่แต่ละคนมีความสนใจ ฟังจากพระสงฆ์มาแล้วก็ต้องฟังเสียงจากฆราวาสในงานบ้าง งานในครั้งนี้จะมีพวกฝรั่งชาติตะวันตกค่อนข้างมาก ซึ่งน่าแปลกใจว่าทำไมชาติตะวันตกถึงสนใจในหลักธรรมมะและพุทธศาสนามากกว่าชาติอื่นๆ
อเล็กซานเดอร์ วินน์ (Alexander Wynne) อายุ ๒๘ ปี เป็นนักศึกษาระดับดอกเตอร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) ในอังกฤษ เชี่ยวชาญภาษาบาลีสันสกฤตทางพุทธศาสนา ได้เล่าถึงการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ว่า
"ผมมาเมืองไทยเป็นครั้งแรก แต่พบว่าเมืองไทยนั้นน่าสนใจมาก โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมและศาสนาพุทธที่ยังฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของคนไทย"
ดอกเตอร์จากมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ระดับโลกยังเล่าต่อไปว่า แม้จะไม่ได้เป็นชาวไทยแต่กลับชอบปรัชญาของพุทธ โดยเฉพาะในเรื่อง "ธรรมะ" ของพระพุทธเจ้า
"ผมเคยศึกษาด้านคำสอนของพระพุทธเจ้า ชอบหัวใจของชาวพุทธที่สอนเรื่อง "ชีวิต" ไม่ใช่สอนเรื่องนอกเหนือธรรมชาติ หรือเรื่องที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่ได้สอนเรื่องพระเจ้าหรือสิ่งที่ไม่เห็นตัวตน แต่สอนเรื่องหลักธรรมมากกว่า อย่างเรื่อง "กรรม" คือการกระทำที่เราจะได้ผลตามที่เราทำออกไป ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลกัน ไทยพุทธสอนเรื่องตำรา เรื่องจิตใจมากกว่าเรื่องพิธีกรรม"
อเล็กซานเดอร์ทิ้งท้ายไว้ว่า เพราะความที่ศาสนาพุทธไม่ได้ยึดติดกับพระเจ้า จึงถือว่าเป็นศาสนาที่ให้ "เสรีภาพ" อย่างแท้จริง พุทธศาสนาไม่เคยทำ "สงครามเพื่อศาสนา" หรือมีกฎข้อบังคับห้ามนับถือสิ่งอื่น ต้องนับถือเพียงสิ่งเดียว ซึ่งไม่มีเสรีภาพอย่างแท้จริง เมื่อมีเสรีภาพก็จะก่อให้เกิดความคิดหลากหลาย เกิดสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบ และนำมาสู่การเกิดปัญญาอย่างแท้จริง
ด้านทิดหนุ่มจัสติน แมคดาเนียล (Justin Mcdaniel) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยโอไฮโอ (Ohio University) ได้เสริมให้ฟังว่า ตนเคยอยู่ที่สมุทรสงครามมาก่อน อีกทั้งยังได้เคยบวชเรียนที่จังหวัดอุบลราชธานีกับพระอาจารย์สายวิปัสสนาด้วย
"ผมเคยบวชตอนอายุประมาณ ๒๑ ปี ช่วงปี ๒๕๓๖ แล้วก็โชคดีได้ศึกษาธรรมะกับพระอาจารย์หลายรูป อย่างหลวงพ่อสมบูรณ์ ที่วัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี สาเหตุที่เลือกศาสนาพุทธเพราะว่าศาสนาพุทธสอนเกี่ยวกับตนเอง ไม่ได้ขึ้นกับใคร ตนเป็นที่พึ่งของตนเท่านั้น การจะศึกษาธรรมะได้ก็ไม่ได้ขึ้นกับพ่อแม่หรือคนอื่น ขึ้นกับตัวเอง จะได้บุญหรือไม่ก็ขึ้นกับตัวเอง"
ทิดจัสตินยังร่ายยาวต่อไปว่า เพราะความตั้งใจจึงทำให้ข้ามน้ำข้ามทะเลข้ามมหาสมุทรมาบวชเรียนที่เมืองไทยนี่เลย ต้องมาปรับชีวิตกันใหม่หมด นั่งสมาธิ พร้อมกับสวดมนต์ด้วยภาษาบาลี!
แล้วอย่างนี้ทิดผมทองสวยจากเมืองมะริกันอย่างจัสตินก็ต้องมีภาษาเป็นอุปสรรคอย่างแน่นอน ทิดหนุ่มหัวเราะก่อนตอบว่า ภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับเขา
"ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ผมตั้งใจแล้ว ผมอยากศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ผมต้องปฏิบัติตามศีลของพระให้ได้"
ถ้าปฏิบัติตามภารกิจของพระสงฆ์ตามที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนจริง ทิดจากเมืองเสรีภาพมองผู้ที่ปฏิบัติภารกิจสงฆ์เสื่อมไปหรือเปล่า ยิ่งสมัยนี้เป็นสมัยที่มีข่าวค(ร)าวของพระสงฆ์องค์เจ้าไม่ค่อยดีนัก จัสตินให้ความเห็นว่า
"ไม่เกี่ยว ผมนับถือพุทธศาสนา นับถือธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้นับถือคน ดังนั้นปัญหาที่ว่าศาสนาเสื่อมมันไม่ใช่ เพราะคนปฏิบัติก็คือคนที่อาจละกิเลสไม่ได้ แต่ถามว่าศาสนาเสื่อมหรือไม่ ไม่เกี่ยวกัน"
ส่วนมาริโกะ วอลเตอร์ (Mariko Walter) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ได้คุยให้ฟังถึงตนเองว่า แม้จะเป็นชาวอาทิตย์อุทัยโดยกำเนิด แต่ก็ศึกษาพุทธศาสนามาแล้ว ๒๐ ปี โดยเรียนพุทธศาสนาจากยูออฟเคนท์ (U of Kent) ในอังกฤษ
"ในญี่ปุ่นจะมีเรื่องวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสนา ทำให้เกิดเป็นประเพณีที่เคร่งครัดเช่นเดียวกับไทย อย่างไรก็ตาม "แก่นแท้" ของพระพุทธศาสนายังคงอยู่ ซึ่งคนก็ปฏิบัติตาม ขณะที่โลกตะวันตกจะเป็นการเรียนพุทธศาสนาจากแก่นแท้ ไม่มีตัววัฒนธรรมอื่นมาเกี่ยวข้องกับคำสอน ทำให้ได้ยึดหลักมากกว่าผู้ปฏิบัติธรรม"
มาริโกะซังยังเล่าต่อไปว่า แม้จะมีตัวประเพณีเป็นตัวบังคับอย่างไร แต่ที่สำคัญก็คือจิตใจของผู้ปฏิบัติธรรมะว่าจะข่มจิตใจได้หรือไม่
"ในญี่ปุ่นก็เหมือนไทย เหมือนพระในคาทอลิก หรือพระในนิกายอื่นๆ มีเหตุการณ์ที่ผิดศีลที่ว่าทำให้ศาสนาเสื่อม แต่แท้จริงอยู่ที่ใจมากกว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในสหรัฐเหมือนกัน สรุปว่าเกิดได้ทุกที่"
มาริโกะทิ้งท้ายไว้ว่า การมาประชุมในครั้งนี้ดีใจที่ได้มาแลกเปลี่ยนทั้งความคิดเห็นในสิ่งที่เป็น "หัวใจ" ของพุทธศาสนาจริงๆ ไม่ใช่เอาเรื่องประเพณีหรือเรื่องอะไรมาเกี่ยวข้อง เพราะทุกวันนี้ชาวพุทธไม่ว่าจะเชื้อชาติใด จะพยายามเอาความเชื่อของตนเข้าไปผนวกกับพุทธศาสนา เกิดการเบี่ยงเบนคำสอน
"สรุปว่าประชุมกันสักทีก็จะทำให้ได้คำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ไม่สับสน เข้าใจตรงกันทั้งโลกและเป็นสากลนั้นเอง"
แม้ว่าจะต่างชาติต่างภาษา แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีร่วมกันก็คือ "ธรรมะ" ซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อจะให้ทั้งโลกรักษา "ธรรม" ให้อยู่คู่กับสัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพนี้ให้พ้นทุกข์ แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม
|