พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย (คพส.)
รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่ง ต่อโครงการลักษณะ "ประชานิยม" นับตั้งแต่กองทุนหมู่บ้าน สามสิบบาทรักษาทุกโรค บ้านเอื้ออาทร หรือล่าสุดคือ คอมพิวเตอร์เอื้ออาทร ที่ชื่อรุ่นว่า สินสมุทร และสุดสาคร
แม้ว่าหลายโครงการจะมีปัญหาด้านการจัดการ และอาจส่งผลต่ออนาคตของชาติ แต่ในแง่การตอบรับของประชาชน ก็นับได้ว่านำมาซึ่งผลดีทางการเมืองต่อรัฐ สร้างภาพรัฐบาลที่ห่วงใย "เอื้ออาทร" ต่อผู้ด้อยโอกาสให้ปรากฏ จนเป็นที่ยอมรับของไพร่บ้านพลเมืองทั่วไปไม่ใช่น้อย
ขณะเดียวกัน หลายเสียงก็กล่าวถึงความเอื้ออาทรของรัฐบาล และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ว่าอาจหลงลืม "ของใช้" อีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งนับวันจะมีความสำคัญกับชีวิตอาณาประชาราษฎร์ของ ฯพณฯ มากขึ้น และมากขึ้น นั่นก็คือ "โทรศัพท์มือถือ" (Cell Phone หรือ Mobile Phone) อันเป็นลมหายใจเข้าออกของผู้คนยุค "คิดใหม่ ทำใหม่" ทุกเพศ ทุกวัย และทุกชนชั้นวรรณะ
ทั้งที่จะว่าไปแล้ว โทรศัพท์มือถือ นับเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนในคณะรัฐมนตรีหลายท่าน และอาจกล่าวได้ว่า บางคนในรัฐบาลชุดนี้นี่เอง ที่ส่งมอบวัฒนธรรม "มือถือ" ให้กับสังคมไทย กระทั่งบุตรหลานของเราพากันสมาทานโทรศัพท์มือถือเป็นสรณะ
คือ "เป็นที่พึ่ง" นับตั้งแต่ลืมตาตื่น (ด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นนาฬิกาปลุก) กระทั่งฟังเพลงโปรด หรือส่งข้อความถึงคนรักก่อนเข้านอน
ไม่นับการสอบถามที่กิน ที่เที่ยว ดูหมอ ฟังขำขัน ตรวจผลฉลากกินแบ่ง ฟังราคาต่อรองการพนันฟุตบอล มวย หรือรายการ "ชิงโชค" อื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ส่งเสริมกิเลส (ราคะหรือโลภะ โทสะ และโมหะ) และตัณหา คือความอยากแทบทั้งสิ้น
โดยมีประเด็นสำคัญยิ่งอยู่ด้วยในทุกบริการตรงและบริการเสริม คือ การ "คิดเงิน" ค่าบริการ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงและทางอ้อม
กล่าวในด้านการตลาด การทำให้สินค้าชนิดหนึ่ง กลายเป็นสิ่ง "ขาดไม่ได้" ของผู้บริโภค (ไม่ว่าจะจำเป็นจริง ๆ หรือไม่) นับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด แต่หากกล่าวในทางพุทธศาสนา การพึ่งพิงอิงอาศัยสิ่งใดชนิดขาดไม่ได้ หรือเมื่อขาดแล้วเกิดทุกขเวทนา นับเป็น "อกุศล" ที่ต้องกำจัด หรือต้องจัดการให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อความเป็น "อิสระ" อันเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งต่อการบรรลุธรรม หรือการใช้ชีวิตอันปราศจากทุกข์ และเพื่อเหตุปัจจัยของทุกข์จะถูกดับลงเสียได้ในเบื้องต้น
คำถามเบื้องต้นก็คือ หากวันนี้โทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อวิถีชีวิตของผู้คนโดยทั่วไปเสียแล้ว รัฐบาลไม่มีโครงการจะ "เอื้ออาทร" ให้ราคาของ "เครื่อง" และ "ค่าบริการ" ถูกลงเลยบ้างหรือ
และคำถามประการต่อมา หากเกรงว่า "มือถือเอื้ออาทร" จะทำให้ผู้คนใช้โทรศัพท์มือถืออย่างฟุ่มเฟือย ผิดวัตถุประสงค์ จนอาจก่อปัญหาในระยะยาว ก็แล้วที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเล่า ไม่ควรแก่การที่รัฐบาลจะยื่นมือเข้ามาแก้ไขบ้างเลยกระนั้นหรือ กับพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ "อันเกินกว่าความจำเป็น" ของประชาชนทุกเพศทุกวัยอย่างที่เป็นอยู่
กล่าวกันว่า โดยเฉลี่ยวัยรุ่นใช้โทรศัพท์เพื่อกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน เช่น ติดต่อสื่อสาร โหลดเพลง โหลดเสียงเรียกเข้า โหลดภาพหน้าจอ โหลดข้อความภาพ โหลดโลโก้ ส่งข้อความ หรือบริการเสริมอื่น ๆ วันละ ๑ ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย หากคิดค่าบริการนาทีละ ๑ บาท ก็เป็นเงินประมาณเดือนละ ๑,๘๐๐ บาท ซึ่งเป็นสัดส่วนร้อยละ ๒๗.๖๙ ของเงินเดือนขั้นแรกของข้าราชการที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (ประมาณเดือนละ ๖,๕๐๐ บาท)
น่าสงสัยนัก ว่าเด็กนักเรียนประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย หรือกระทั่งนักศึกษาระดับวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยทั้งหลายนับแสน ๆ คน ที่อยู่ในฐานะเป็น "ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ" เหล่านี้ ควรค่าแก่การ "เอื้ออาทร" จากรัฐบาลหรือไม่
ทั้งนี้ยังมิได้กล่าวลึกลงไปว่า เด็ก ๆ เหล่านี้หาเงินมาจากไหนเพื่อเป็นค่าใช้บริการโทรศัพท์ หรือพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ "ต้อง" หาเงินมาโดยวิธีใด จึงจะเพียงพอต่อการที่บุตรหลานของตนจะไม่ต้องไป "หาเงิน" โดยวิธีการอันน่ารังเกียจ เพียงเพื่อเป็นค่าบริการโทรศัพท์ หรือเป็นค่าเครื่องโทรศัพท์ ที่ประหนึ่งจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องประดับของพวกเขาไปเสียแล้ว ด้วยเหตุที่มีรุ่นใหม่ ๆ ฟังก์ชั่นการใช้งานใหม่ ๆ ออกมาไม่เว้นแต่ละวัน
ด้วยกฎของอิทัปปัจจยตา ที่ทุกสิ่งเกี่ยวข้องโยงใย พึ่งพิงอิงอาศัย และส่งผลกระทบซึ่งกันและกันนั้น ถึงวันนี้ "โทรศัพท์มือถือ" ได้เบียดแทรกตัวเองเข้าสู่วิถีชีวิตของคนไทยแล้วในทุกบริบท และกำลังจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชีวิตและสังคมอย่างขนานใหญ่ยิ่งขึ้นทุกขณะ
หากข่าวที่เด็กสาวตัวน้อย ๆ ยินยอมขายตัวเพียงเพื่อจะมีโทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ แพง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในสื่อบางประเภทเป็นเรื่องจริง ก็นับได้ว่า กระบวนการทางการตลาดของสิ่งที่เคยเป็นเพียง "เครื่องมือสื่อสาร" ชนิดนี้ ได้ก้าวล่วงไปถึงก้นบึ้งทางจิตวิญญาณ "ความเป็นมนุษย์" และบ่อนเซาะจนผุกร่อนเสียแล้ว
และหากจะวิเคราะห์กันด้วยปฏิจจสมุปบาท อันเป็นห่วงโซ่ของการเกิดและดับทุกข์ ก็มีแต่จะต้องทำลายอวิชชาอันเป็นสาเหตุเบื้องต้นเสียก่อน คือทำอย่างไรผู้คนในสังคมจึงจะมีวิชชาที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการซื้อ การใช้ และการเกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ เพื่อที่จะไม่ต้องรับวิบากกรรม ทั้งในระดับปัจเจก และระดับสังคม อันเนื่องมาจากโทรศัพท์มือถือ ที่นับวันจะไม่ใช่เครื่องมือสื่อสารอีกต่อไป
ดูเหมือนว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ที่อาจเกินกำลังของบุคคลหรือองค์กรใด ๆ จะกระทำได้โดยง่าย หากมิได้มีความร่วมมืออันดีจากภาครัฐ คือรัฐบาลและข้าราชการภายใต้การดูแลของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร
สุดท้ายจึงต้องจบลงที่ว่า ถึงที่สุดแล้ว รัฐบาลจะมีท่าที "เอื้ออาทร" อย่างไร ต่อการใช้ "โทรศัพท์มือถือ" ของคนไทย ผู้ที่นับวันจะต้องอยู่ภายใต้ "การดูแลอย่างเบ็ดเสร็จ" จากภาครัฐมากขึ้นทุกที ...
|