วีณา โดมพนานดร
บทความพิเศษ มติชนรายสัปดาห์ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑๑๘๘ หน้า ๔๓
...วิถีแห่งธรรม คือ ทางแห่งสันติภาพ คือทางแห่งความสุข ผู้ใดก็ตามที่บรรลุถึงวิถีแห่งธรรม จะได้รับความสุขอันประมาณมิได้... (เอส เอน โคเอนก้า)
พระพุทธเจ้าในสายตานักปราชญ์โลก : พระศรีปริยัติโมลี
บนเส้นทางของชีวิตนักพัฒนา "เตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์" เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับมามากมาย ในการทำหน้าที่อยู่บนดอยสูง ที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย เธอให้ความรัก ความเมตตา แก่มวลหมู่ชาวเขา และผลแห่งการให้นั้น ส่งผลให้เธอเป็นผู้รับรางวัลจากทั้งในระดับประเทศและระดับสากล เช่น บุคคลดีเด่นแห่งชาติปี ๒๕๓๙ คนดีศรีสังคม ปี ๒๕๓๔ GOLDMAN ENVIRONMENTAL PRIZE 1994 GLOBAL 500 UNEP 1992 และปี ๒๕๓๘ เธอให้การต้อนรับ นางฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มาเยี่ยมเยือนถึงบนดอย
ปัจจุบันเธออายุ ๕๐ ปี ทำหน้าที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.เชียงราย อยู่อย่างขะมักเขม้น
หากจะบอกว่าชีวิตของเตือนใจถูกหล่อหลอมมาด้วยแนวทางแห่งพุทธคงมิผิดนัก เพราะแม้แต่เสียงสวดมนต์ของผู้อาวุโสในบ้านที่คุ้นเคยในวัยเยาว์ของเธอยังฟังว่าไพเราะเป็นนักหนา เมื่อรวมกับการปฏิบัติธรรมในลักษณะอื่น ๆ เธอจึงบอกว่า
"เกิดมาเป็นลูกของพระพุทธเจ้า น่าที่จะดำรงชีวิตตามคำสั่งสอนของท่าน ดิฉันจะนำพุทธมาใช้ในเรื่องของความเมตตาและการแบ่งปัน และบำเพ็ญประโยชน์ เริ่มตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ที่จะมีน้อง ๆ ข้างบ้านมาให้สอนหนังสือ คือเป็นสิ่งที่จะทำให้คนอื่นมีความสุข"
เมื่อถึงเวลาเลือกเส้นทางชีวิตเธอมีเป้าหมายชัดเจนว่า อยากศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลว่าจะต้องเรียนไปเพื่อประโยชน์ต่อคนในชนบท ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ
"จากการศึกษาธรรมะผ่านหนังสือของพระผู้ใหญ่หลายท่าน เช่น ท่านพุทธทาส ท่านปัญญานันทภิกขุ ซึ่งทำให้เห็นว่า ชีวิตคนเราเมื่อเกิดมาแล้ว ต้องอยู่อย่างมีคุณค่า มีความหมาย ไม่ใช่อยู่ตามกระแสไปวัน ๆ"
เมื่อจบการศึกษาแล้วจึงเลือกไปทำงานพัฒนาชาวเขาที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย
"เป็นงานที่ทำให้เรามีคุณค่า ได้จุดประกายความคิดให้ชาวบ้าน ได้ให้ความรักทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และเราก็ได้รับความรัก ความปรารถนาดีจากทุกคน อยู่แบบเกื้อกูลกัน ทำให้เห็นว่า นี่แหละชีวิตที่มีความหมาย และมีประโยชน์ที่สุดเลย"
ในระหว่างที่มุ่งมั่นกับการทำงานอยู่นั้น เธอมีวิธีใช้วิถีแห่งธรรมหล่อเลี้ยงและกำกับชีวิต รวมทั้งเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคอย่างแยบยล โดยพยายามเดินตามทาง "ทาน ศีล ภาวนา"
"ทาน คือ การให้ในการทำงานโดยไม่ได้หวังผลตอบแทน ซึ่งถ้าปฏิบัติต่อเนื่องจะเป็นการฝึกการลดความยึดติดด้วย ศีลนั้นรักษาได้พอสมควร ส่วนภาวนาด้วยการวิปัสสนาอย่างจริงจังให้เห็นจิตจะมาทีหลัง"
ตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่จะให้ความสำคัญกับ "ด้านใน" เป็นอย่างมาก
"เรื่องของจิตใจ เรื่องของตัวตนด้านใน เป็นเครื่องหล่อหลอมที่สำคัญมาก เพราะถ้าคนเราทำงานโดยใช้แต่ทางร่างกาย หรือทำงานที่ต่อสู้ หรือลุยอยู่อย่างเดียว โดยที่ไม่มีพลังด้านในมาคอยดูแลจิตใจของตัวเอง จะทำงานไม่ได้นาน เพราะเราจะมีความผิดหวัง สมหวังมากเกินไป คือ จิตมันจะฟูหรือแฟบเร็วไป"
เมื่อต้องฝ่าด่านความทุกข์หลักที่ยึดเพื่อปฏิบัติอยู่เสมอ คือ "วิธีคิด" แบบโยนิโสมนสิการ
"ทุกข์ครั้งใหญ่ที่สุดจะเป็นเรื่องเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ ที่ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถูกใส่ร้ายป้ายสีว่านำนักศึกษาเป็นกบฏ เพราะท่านเป็นเหมือนคุณพ่ออีกคนหนึ่ง คือ อ.ป๋วยกับคุณพ่อของดิฉัน (พล.ท.หม่อมหลวงขาบ กุญชร) เคยเป็นเสรีไทยด้วยกัน ท่านจะให้ความเมตตาเหมือนลูก ดิฉันจึงเจ็บปวดมากว่า ทำไมคนที่มีความปรารถนาดีต่อสังคมต้องเจอกับเหตุการณ์อย่างนี้"
"อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ต่อเนื่องกัน คือ ช่วงนั้นดิฉันเป็นบัณฑิตอาสาสมัครที่จะหมดเวลาการทำงานในเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๐ แต่ปรากฏว่าต้องถูกให้ออกจากพื้นที่ก่อนเวลา เพราะกระแสเรื่องคอมมิวนิสต์แรงมาก การที่ต้องถูกย้ายออกจากพื้นที่ ทำให้รู้สึกผิดหวังว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมือง ทำไมคนจึงไม่เชื่อมั่นในความดี"
ทางออกสำหรับใจที่เจ็บปวดขณะนั้นคือ
"อ่านหนังสือธรรมะเยอะมาก ทำให้มีวิธีคิดได้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้น เราต้องให้อภัยกัน และยึดหลักการทำงานที่ท่านพุทธทาสบอกว่า ต้องไม่ยึดในกรรมดี กรรมชั่ว คือ ทำดีโดยไม่ต้องยึดถือว่าจะต้องได้ความดีกลับคืน และในเวลาเดียวกันนั้นมีเพื่อนที่ต้องเจอกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายกว่าเรา ต้องเข้าป่าไปโดยไม่รู้อนาคตของตัวเอง ในขณะที่ดิฉันไม่ได้ถูกจำกัดเสรีภาพ และกำหนดชีวิตได้มากกว่า ทุกข์ของเราก็กลายเป็นทุกข์เล็กทุกข์น้อยไป
ดิฉันจึงรู้สึกว่าอยู่ได้ พอใจในความสุขที่มีอยู่ ที่สำคัญคือยังมีผู้ใหญ่ที่คอยช่วยเหลือให้ ยังสามารถทำงานได้อยู่ต่อไป แม้จะเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง ความกดดันของดิฉันจึงมีทางออก"
"ตอนนั้นดิฉันยังไม่สามารถเจริญสติได้ด้วยตนเอง จึงต้องใช้วิธีอ่านความคิดท่านผู้รู้จากหนังสือต่าง ๆ เพื่อจะทำให้เราได้สติ และทำให้คิดได้ ส่วนในทางอารมณ์ความรู้สึกท้อแท้ สิ่งที่ช่วยได้อย่างมากคือ บทเพลง หรือกวีที่ปลุกเร้าจิตใจให้อดทน"
เพลง Impossible Dream หรือเพลงของคาราวาน เป็นจำนวนหนึ่งในนั้น
"ดิฉันจะบอกกับตัวเองว่า ต้องทนให้ได้ เพราะเราเลือกทางของเราเอง"
นิทานชาดกเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มักจะนึกถึง
"เคยฟังนิทานชาดกเวลาที่ไปวัดในสมัยเด็ก ๆ จึงมักจะนึกถึงพระพุทธเจ้า ต้องผจญมารต่าง ๆ ตั้งมากมาย กว่าที่จะตรัสรู้ ต้องใช้ความอดทน เสียสละเป็นอย่างมาก เลยถือเป็นแบบอย่างของความอดทนต่อุปสรรค"
"สรุปแล้ว คือ ต้องฝึกจิตให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อยู่ได้ตลอดเวลา โดยไม่ยึดติดในความทุกข์ ไม่จมอยู่กับคำพูดที่ไม่ดี ความท้อแท้ ความผิดหวัง ทำอย่างไรให้จิตใจมีความสมดุล และมีสติปัญญาที่เหมาะกับการทำงานต่อไป"
ตัวอย่างการใช้ "ปัญญา" กับโจทย์ที่ต้องเผชิญ
"ดิฉันเจอปัญหาว่า ทำไมสิ่งที่พยายามนำเสนอต่อสังคม เรื่องงานที่เกี่ยวกับพี่น้องชาวเขา เรื่องสิทธิมนุษยชน ที่พวกเขาควรจะมีสถานที่ถูกต้องตามกฎหมาย มักจะถูกคนมองว่า เราไม่คิดเรื่องความมั่นคงของประเทศ ดิฉันก็ว่าเราอาจจะสื่อสารกับสังคมน้อยเกินไป อาจจะยังทำการบ้านไม่พอ คนจึงยังไม่เข้าใจ ฉะนั้น จึงไม่ควรโกรธหรือไปเสียใจกับผู้ที่ยังไม่รู้-ไม่เข้าใจ
จะต้องดูตัวเองว่าสิ่งที่เราทำอาจยังบกพร่องอยู่ ยังไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะสื่อสารได้ คือพยายามที่จะทำความเข้าใจ และฟังคนที่คิดต่างจากเราให้มากขึ้นว่า ที่ไม่เห็นด้วยกับเราเขามีเหตุผลอย่างไร"
ประสบการณ์จากเวทีการเมืองเป็นอีกขวากหนามหนึ่งที่ผ่านมาได้
"ตอนที่ลงสมัคร ส.ว. ที่ จ.เชียงราย ในช่วงหาเสียงจะมีกลุ่มที่ออกมาต่อต้าน ปล่อยข่าวว่าดิฉันไปรับเงินต่างชาติมา ๒๐ ล้านบาท ทำให้เห็นได้ว่าเมื่อเราเข้ามาสู่การเมือง เราต้องพร้อมที่จะถูกสาดโคลน ดิฉันจะพยายามกำหนดจิตให้ทันในความไม่ชอบ-ไม่พอใจเขา พอรู้เท่าทันความรู้สึกพลุ่งพล่านจะสงบไป ก็จะไม่แสดงอะไรออกมาในเชิงตอบโต้ คิดว่าเขาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย"
ผลของความกล้าและการต่อสู้แบบอหิงสาในครั้งนั้น ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีจากประชาชนทุกสาขาอาชีพ ในจังหวัด เพราะเธอได้รับเลือกด้วยคะแนนอันดับที่ ๑
"ที่อัศจรรย์ใจคือ ดิฉันได้อธิษฐานต่อพระรัตนตรัยและพ่อขุนเม็งรายไว้ว่า ถ้าการได้ตำแหน่ง ส.ว. นี้จะเป็นโอกาสให้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติก็ขอให้มีกัลยาณมิตรให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล แล้วก็มีคนมาช่วยหลาย ๆ อาชีพจริง ๆ แม้กระทั่งในฝ่ายของนักธุรกิจ"
ไม่เฉพาะแต่ในยามที่ต้องต่อสู้กับความทุกข์เท่านั้น ที่มีธรรมะเป็นเพื่อน แม้ในแต่ละขณะของชีวิตในเวลาปกติ เธอยังหมั่นปลุก "สติ" ให้ตื่นอยู่ตลอด
"การมีสติคือ การอยู่กับปัจจุบันตลอด ไม่ว่าจะคิด จะพูด หรือจะทำอะไร ต้องมีสติกำกับตลอด ซึ่งต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่างน้อยพอพูดอะไรออกไปแล้วทำให้คนอื่นเสียใจไปแล้ว ถ้าเรารู้ตัวเร็วก็จะไปขอโทษเขาเร็ว"
"ถ้าฝึกปฏิบัติไปตลอดจะรู้เท่าทันอารมณ์ รู้เท่าทันจิต เช่น ได้ฟังอะไรที่ไม่พอใจ จะกำหนดทันทีว่า กำลังโกรธอยู่ จะทำให้ไม่หลงไปตามนั้น คือ ไม่ยึดติดในอารมณ์ต่าง ๆ แต่ให้รู้เท่าทันว่ากำลังพอใจ ไม่พอใจ กำลังเบื่อ กำลังเหนื่อย กำลังท้อแท้ ถ้ามีสติที่รู้เท่าทันกิเลสที่ครอบงำจิตใจอยุ่ในขณะนั้น เราจะไม่แสดงออกเช่นนั้น จะรู้สึกดีขึ้น แจ่มใสขึ้น
"เมื่อครั้งที่ได้รับรางวัลโกลด์แมน (รางวัลทางด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก) พอดิฉันรู้ว่าได้รางวัลก็ตั้งสติได้ว่านี่ไม่ใช่รางวัลของเรา แต่ว่าเป็นรางวัลที่จะทำให้กระบวนการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการยอมรับ มันไม่สิ่งที่จะไปยึดติดว่าเป็นของเรา ตอนนั้นคนที่โทรศัพท์มาบอกยังแปลกใจเลยว่า ไม่ตื่นเต้นเลยหรือ"
"การได้รับรางวัลนี้ทำให้ดิฉันนึกถึงโลกธรรม ๘ เรื่องของคู่กัน มีลาภ เสื่อมลาภ มีสรรเสริญ มีนินทา มียศ เสื่อมยศ มีสุข มีทุกข์ เราจะเห็นว่ามันเป็นชีวิต ถ้าเราได้สิ่งใดมาก็ต้องพร้อมที่จะรู้ว่าวันหนึ่งมันจะจากไป ถ้าเป็นชาวพุทธจริง ๆ ต้องทำใจให้รู้ว่า นี่คือ สมดุลของชีวิต"
ในหน้าที่การงานปัจจุบันนี้
"เวลาฟังเพื่อนวุฒิสมาชิกอภิปรายในสภา บางครั้งอาจมีผู้ถูดแบบน้ำท่วมทุ่ง ไม่ชอบใจ ก็จะเตือนตัวเองให้ตั้งใจฟังมากขึ้น ซึ่งอาจได้ค้นพบสาระอะไรบางอย่างจากการพูดของเขาได้ แม้แต่เวลาที่เครียดกับการทำหน้าที่ ถ้ารู้เท่าทันได้เร็วจะไปทำอย่างอื่นให้ผ่อนคลาย"
และที่สำคัญการหลง ๆ ลืม ๆ จะน้อยลง
"การเจริญสติ ทำให้ระลึกรู้อยู่เสมอว่า กำลังคิด พูด หรือทำอะไรอยู่ ซึ่งจะช่วยได้มาก ไม่ใช่ว่าจะไม่ลืมเลย แต่จะน้อยลง หรือถ้ากำลังกังวลว่าของนี้อยู่ที่ไหน ถ้ารู้ว่าเรากำลังกังวลและอยากจะหาของให้เจอ ตั้งสติให้ได้เดี๋ยวจะหาเจอ หรือว่ากำลังรีบ รู้ว่ากำลังรีบ-รีบได้แต่จะไม่ร้อน ทำเร็วได้แต่ไม่ร้อนรน"
"การฝึกจิตเป็นการทวนกิเลส ที่จะต้องใช้พลังจิตมากเลย ใหม่ ๆ จะรู้สึกเหนื่อยมาก แต่ถ้าปฏิบัติมากขึ้น จะรู้เท่าทันมากขึ้น จะมีพัฒนาการในการเตือนตัวเองได้มากขึ้น"
มาถึง ณ วันนี้ จึงอยากจะบอกกับใคร ๆ ว่า
"การศึกษาธรรมะไม่ใช่เพื่อหนีโลก ไม่ใช่เพื่อที่จะไม่อยู่ร่วมกับคนในสังคม การปฏิบัติธรรมตามหลักพุทธอย่างแท้จริงคือ การนำมาใช้ในชีวิตและการทำงาน"
และสำหรับธรรมะในชีวิตของเธอเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความ "อิสระ"
"เพราะว่าจะไม่ยึดติดในความดี ความชั่ว ลาภ ยศ สรรเสริญใด ๆ จิตของเราจะเป็นจิตที่เป็นนาย เป็นบัวที่อยู่ใต้น้ำ แต่ไม่เปียกน้ำ ในเรื่องของส่วนรวมจะไม่มีอคติต่อทั้งในเรื่องความแตกต่างทางศาสนา ภาษา วัฒนธรรม จะเคารพและเปิดกว้างที่จะเรียนรู้และอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ นี่คืออิสระที่แท้จริง
ชีวิตจึง "สุข" และ "สำเร็จ" บนทางที่เลือกแล้ว ..
|