เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

คำแนะนำการถือศีลอด

มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๓๖๓ หน้า ๑๘


          เทศกาล “ถือศีลอด” หรือเดือนรอมฎอน ของชาวมุสลิมทั่วโลก เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๗ ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อรำลึกถึง “พระอัลเลาะห์” พระเจ้าแห่งศาสนาอิสลาม นั้น ชาวมุสลิมจะตั้งตนอยู่ในความดี ทำจิตใจให้เบิกบาน มีจิตที่เป็นกุศล คิดและทำแต่สิ่งดีๆ ซึ่งถือว่าได้บุญกุศล เป็นเดือนแห่งการทำความดี และเป็นประเพณีปฏิบัติที่ชาวมุสลิมจะต้องใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน นับจากนี้ ในการงดเว้นรับประทานอาหารตั้งแต่ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น จนกระทั่งถึงช่วงดวงอาทิตย์ตกดิน เฉลี่ยเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๑๒-๑๔ ชั่วโมง/วัน

          สำหรับการปรับเปลี่ยนวิธีรับประทานอาหารนี้ แม้จะกินเวลาเพียงแค่ ๑ เดือน แต่ในระยะแรกๆ ของการเริ่มถือศีลอด สภาพร่างกายของชาวมุสลิมบางคน อาจยังไม่พร้อมที่จะงด(อด)อาหาร หรือรับประทานอาหารผิดเวลา ซึ่งอาจจะกลายเป็นผลร้ายกับร่างกาย แทนที่จะกลับสร้างบาปได้

          เกี่ยวกับปัญหานี้ น.พ.สมัย ขาววิจิตร นายกสมาคมแพทย์มุสลิมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การงดอาหาร หรือรับประทานอาหารผิดเวลาของชาวไทยมุสลิมในช่วงเทศกาลถือศีลอดนี้ เวลาประมาณ ๑๒-๑๔ ชั่วโมง ที่ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารนั้น ทางการแพทย์ถือว่าร่างกายไม่เสียหายอะไร แต่หากเข้าสู่ช่วง ๑๖ ชั่วโมงขึ้นไป ร่างกายจะเริ่มอ่อนเพลียและดึงพลังงานที่สะสมในร่างกายมาใช้

          น.พ.สมัยกล่าวว่า สัปดาห์แรกร่างกายอาจจะอ่อนเพลีย หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม การถือศีลอดกลับมีผลดีต่อผู้เป็นที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือกระเพาะอาหาร เพราะเท่ากับร่างกายได้พักผ่อน ไม่ให้อวัยวะทั้งหัวใจ ปอด กระเพาะ ต้องทำหน้าที่หนักมากเกินไปจากการกินอาหาร ทั้งนี้จากสถิติที่ผ่านมาในช่วงเดือนนี้ พบว่าผู้ป่วยมุสลิมมีอาการหัวใจวายลดลง สาเหตุเพราะกินอาหารน้อย และพักผ่อนมากขึ้น

          “สำหรับวิธีกินอาหารของชาวมุสลิมในช่วงเดือนรอมฎอนนั้น ในแต่ละวันหลังดวงอาทิตย์ตกดิน ต้องทำให้ร่างกายค่อยๆ รับอาหาร คือ เริ่มจากการดื่มน้ำ หากเป็นน้ำอุ่น น้ำชา น้ำขิง จะช่วยให้ร่างกายดีขึ้น ต่อมาให้ตามด้วยของหวาน ซึ่งมีกลูโคสร่างกายสามารถดูดซึมให้พลังงานได้ทันที และควรกินช้าๆ จากนั้นจึงจะกินข้าว หรืออาหารหนักอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้กระเพาะอาหารได้ปรับตัว” น.พ.สมัยกล่าว และว่า ผลไม้หากจะกินในช่วงแรกพร้อมของหวาน ควรจะเป็นผลไม้ที่ให้แคลอรีสูง เช่น อินทผลัม ทุเรียน มะม่วง เป็นต้น เพราะมีความหวาน ยกเว้น ทุเรียน หากกินต้องระวัง อย่ากินปริมาณมากเกินไป โดยช่วงแรกหากกินอาหารหนักทันทีจะมีโทษต่อกระเพาะอาหาร และในช่วงกลางคืนที่สามารถกินอาหารได้ ควรจะกินอาหารประเภทเนื้อ นม ไข่ อาหารมีกะทิ ของหวานประเภทไอศกรีม เฉลี่ย ๑,๘๐๐ แคลอรี/วัน เพื่อการดำรงชีพตลอดทั้งวัน

          น.พ.สมัยกล่าวว่า การถือศีลอดยังเหมาะกับคนต้องการลดความอ้วน เพราะสามารถควบคุมอาหารได้ ช่วงกลางวันถือว่า แค่งดอาหารมื้อเที่ยงเท่านั้น ส่วนการออกกำลังกายควรออกแต่พอดี เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ เป็นต้น ด้านจิตใจมีการทำจิตอธิษฐานให้อยู่ในสิ่งที่ดีงาม ถือเป็นการล้างทั้งกาย และใจ โรคภัยก็จะไม่เบียดเบียน

          อนึ่ง ผู้ป่วยที่ต้องกินยา และอาหารระหว่างวัน ผู้เดินทางไกล หญิงมีประจำเดือน และนักกีฬา จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องถือศีลอด เพราะบุคคลเหล่านี้สามารถถือศีลอดชดเชยภายหลังได้.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :