เมื่อ "ปอเนาะ" ถูกมองในแง่ร้าย
ผลกระทบและแนวทางพัฒนาเชิงบูรณาการ
โดย อาหมัด เบ็ญอาหลี ผู้ตรวจราชการ สพท.นราธิวาส เขต ๒
เซกชั่นกระแสทรรศน์ นสพ.มติชนรายวัน
วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๙๔๗๗ หน้า ๖
ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ครั้งล่าสุด นับว่าร้ายแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบและต่อเนื่องยาวนานที่สุด
การปูพรมเพื่อค้นหาผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่ได้ X-ray ทุกพื้นที่ ทุกตารางนิ้ว ไม่เว้นแม้แต่สถาบัน "ปอเนาะ"
การตรวจค้นโรงเรียนสอนศาสนาหรือปอเนาะ มีผลกระทบต่อสถาบันและจิตใจชาวมุสลิมเป็นอย่างมาก สังคมจ้องมอง "ปอเนาะ" ด้วยสายตาที่เคลือบแคลงและภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป
การเสนอข่าวของสื่อที่แสดงให้เห็นว่าปอเนาะเป็นแหล่งซ่องสุมหรือแหล่งผลิตผู้ก่อการร้าย ถึงแม้เป็นเพียงการสร้างข่าวให้มีสีสัน แต่เป็นการพิพากษาซ้ำเติมปอเนาะที่ค่อนข้างรุนแรงและมองในแง่ร้ายมากเกินไป
หลายคนเมื่อเอ่ยถึง "ปอเนาะ" อาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้งเพียงพอ การรับรู้จึงเป็นไปตามจินตนาการ ประสบการณ์ และมุมมองของแต่ละคน
"ปอเนาะ" มีสถานะเป็นสำนักเรียน (School) ที่ให้การศึกษาเล่าเรียนวิชาศาสนาอิสลาม ผู้เรียนเข้ามาอยู่อาศัยในกระท่อมเล็กๆ เพื่อศึกษาธรรมะ โดยมี "โต๊ะครู" เป็นเจ้าของกิจการและเป็นผู้สอนหนังสือด้วยตนเอง ปอเนาะจึงพบเห็นได้โดยทั่วไปในจังหวัดทางภาคใต้
ชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่ล้วนมีความใกล้ชิดและผูกพันกับปอเนาะ เพราะปอเนาะเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง ที่เขาได้อยู่อาศัยและศึกษาเล่าเรียนรู้หลักธรรมศาสนา ตลอดถึงการดำเนินชีวิตตามแบบอย่างอิสลาม ปอเนาะจึงเป็นแหล่งซึมซับมิติทางด้านศาสนาอิสลามค่อนข้างสูง
ศาสนาอิสลามสอนให้มนุษย์มีการศึกษาตลอดชีวิต(Lifelong Education) มุสลิมทุกคนต้องศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา และปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด ดังปรัชญาของอิสลามที่ว่า "จงศึกษาตั้งแต่อยู่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ" หรือ "ผู้มีความรู้ มีหน้าที่สอนผู้ที่ไม่รู้" หรือ "ผู้ที่ดีเลิศ คือผู้ที่เรียนและสอนกุรฺอาน" ดังนั้น ปอเนาะจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นแหล่งเผยแผ่ศาสนาในคราวเดียวกัน
เป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว ที่ปอเนาะยังคงดำรงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์(Globalization) ปอเนาะจึงเป็นสถานะที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
ปัจจุบันปอเนาะที่มีความพร้อมได้แปรสภาพและจดทะเบียนเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.๒๕๒๕ เปิดสอนวิชาศาสนาควบคู่วิชาสามัญ ได้รับเงินอุดหนุนและความช่วยเหลือด้านต่างๆ จากรัฐบาล
แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งกว่า ๑๐๐ แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังคงเปิดสอนศาสนาเพียงอย่างเดียว และจัดการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม ยังคงใช้ชื่อว่า "ปอเนาะ" กรณีนี้ไม่ได้รับเงินอุดหนุนและความช่วยเหลือจากภาครัฐแต่อย่างใด ซ้ำยังถูกปล่อยปละละเลยให้พัฒนาไปตามยถากรรม จึงไม่มีอนาคตที่แน่นอน
บุคคลภายนอกจึงมองปอเนาะอย่างไม่เข้าใจ เพราะปอเนาะยังเป็นองค์กรปิด(Closed System Organtization) ไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากนัก การเข้มงวดกับบุคคลภายนอก และการสร้างรั้วรอบขอบชิด เป็นเพียงมาตรการในการควบคุมดูแลนักเรียน เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปัญหายาเสพติด การหนีเที่ยว การชู้สาว การลักขโมย ฯลฯ เพราะมีผู้เรียนหลากหลายกลุ่มอายุปะปนกัน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และคนชรา การเรียนการสอนจะแยกกันเด็ดขาดระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ผู้เรียนปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด การแต่งกายถูกต้องมิดชิดตามหลักศาสนา
ครูผู้สอนมีเพียงโต๊ะครู ภรรยา และบุตร หรืออาจมีครูช่วยสอนบ้างในบางวิชา เน้นรูปแบบการศึกษาตามอัธยาศัย หลักสูตรและตำราเรียนใช้ภาษายาวี(มลายู) และภาษาอาหรับการเรียนใช้วิธีท่องจำและเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง เน้นการสอนแบบบรรยายตามหลักทฤษฎีนิรันตรนิยม โดยมีครูเป็นศูนย์กลาง ไม่มีการจัดชั้นเรียนที่ชัดเจน การวัดผลประเมินผลไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับโต๊ะครูเป็นผู้ตัดสิน การจบหลักสูตรหรือออกจากปอเนาะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้เรียน
นักเรียนทุกคนเรียนฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ครูทุกคนจึงไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นการทำงานเพื่อตอบแทนเพราะผู้เป็นเจ้า(ผลบุญ)
การจัดตั้งปอเนาะใช่ว่าใครคิดจะตั้งก็ตั้งได้ ผู้ก่อตั้งจะต้องมีความรู้ทางศาสนาชั้นสูง มีความตั้งใจจริง มีจิตใจบริสุทธิ์ และตั้งมั่นในความเสียสละอย่างแรงกล้า
การเติบโตของปอเนาะขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของโต๊ะครูเป็นสำคัญ โต๊ะครูที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ประชาชนให้การยอมรับ มักจะมีผู้มาสมัครเป็นลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก ปอเนาะจะมีขนาดเล็ก หรือใหญ่ ขึ้นอยู่กับสถานภาพและความรู้ ความสามารถของผู้เป็นเจ้าของดังได้กล่าวแล้ว
การดำรงอยู่ของปอเนาะ ขึ้นอยู่กับความเลื่อมใสศรัทธาของผู้ปกครองนักเรียน ฉะนั้นเมื่อโต๊ะครูถึงแก่กรรม และไม่มีทายาทสืบต่อ หรือประชาชนเสื่อมความนิยม ก็จะล้มเลิกกิจการไปเอง จึงมักพบเห็นปอเนาะร้างมีปรากฏอยู่ทั่วไป
ถึงแม้ระบบการศึกษาได้พัฒนาไปมากแล้วก็ตาม แต่ผู้ปกครองบางส่วนยังคงนิยมส่งบุตรหลานที่จบการศึกษาภาคบังคับไปเข้าเรียนที่ปอเนาะ เพื่อศึกษาต่อทางด้านศาสนา
ปอเนาะจึงเป็นแหล่งรองรับเยาวชนที่พลาดโอกาสทางการศึกษา และเป็นที่พึ่งสุดท้ายของพวกเขา
นอกจากนี้ ปอเนาะเกือบทุกแห่งยังให้การอุปการะคนชราและผู้ยากไร้ ให้เข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก จึงเป็นภาระอันหนักหน่วงที่ปอเนาะทุกแห่งแบกรับอยู่ในขณะนี้
การมองปอเนาะอย่างสร้างสรรค์และเป็นธรรม จะเห็นได้ว่าปอเนาะมีส่วนสำคัญในการปลูกฝังให้เยาวชนมีคุณธรรม จริยธรรม และหล่อหลอมทางด้านจิตใจให้เป็นมุสลิมที่ดีและอยู่ร่วมในสังคมอย่างมีความสุข สถาบันปอเนาะจึงเป็นแหล่งผลิตบุคลากรที่มีคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติมาอย่างยาวนาน
ในเมื่อปอเนาะเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ของชุมชน การใช้ปอเนาะเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงกลไกลภาครัฐสู่ภาคประชาชน จึงเป็นทางเลือกที่ไม่ควรมองข้าม
เพื่อให้การบริหารจัดการปอเนาะได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน และสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลควรมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
๑.จดทะเบียนปอเนาะที่เหลืออยู่ทุกแห่ง ให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง เพื่อความสะดวกในการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
๒.ควรให้เงินอุดหนุนเป็นค่าตอบแทนแก่โต๊ะครูและครูสอนศาสนาตามความเหมาะสม เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีความรับผิดชอบสูง ทั้งด้านการจัดการเรียนการสอนและการอบรมจริยธรรม
๓.ควรให้การสนับสนุนด้านอาคารสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้นักเรียน และครุภัณฑ์ที่จำเป็นพร้อม ทั้งห้องสมุด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้เรียน
๔.สนับสนุนสื่อการสอนประเภทต่างๆ ทั้งที่เป็นภาษาไทย ภาษายาวี และภาษาอาหรับ
๕.ส่งเสริมการเรียนวิชาสามัญ(หลักสูตร กศน.) และงานอาชีพ ควบคู่กับศาสนาเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพตามความสมัครใจ
๖.ควรให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการการพัฒนาปอเนาะในด้านต่างๆ ดังนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ดูแลด้านการศึกษาและงานอาชีพ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้การสงเคราะห์คนชราและผู้ยากไร้ กระทรวงสาธารณสุข ดูแลด้านสุขภาพอนามัย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่งเสริมด้านการกีฬาและนันทนาการ
การแก้ปัญหาที่เอาจริงเอาจังของรัฐบาลยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาล ในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ อย่าลืมเจียดงบประมาณส่วนหนึ่งให้ปอเนาะได้รับการพัฒนาด้วย
เพื่อช่วยกันพยุงและสร้างศักยภาพปอเนาะให้เข้มแข็ง และจรรโลงรักษาสถาบันที่มีคุณค่าแห่งนี้ไว้สืบไป..
|