สิ่งที่เห็น..และ (น่าจะ) เป็นไป
พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
กลุ่มเสขิยธรรม / skyd.org
๑
ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งมากเท่าใด "ฝักฝ่ายทางการเมือง" ก็ยิ่งปรากฏชัด เช่นเดียวกับ "ตัวตน" และ "กิเลส-ตัณหา" หรือกระทั่ง "สันดาน" ของ "นักการเมือง" ที่ส่อสะท้อนจาก พฤติกรรม-การแสดงออก ทั้งทางตรงและทางอ้อม อันวิญญูชนสามารถพิสูจน์ได้ จาก หน้าฉาก-หลังฉาก และการเทียบเคียงโดยกาลเวลา
ทำนองต้องเหลียวกลับไปมองชัด ๆ ว่าไอ้ที่พล่ามอยู่ในทีวี ในหนังสือพิมพ์ หรือบนเวทีปราศรัย น่ะใช่คนเดิมที่เคยได้ยินได้ฟัง "โทษสมบัติ" กันมาหรือเปล่า ?
หรือเวลาเพียงไม่กี่มากน้อย กับกระบวนการทางการตลาด ก็สามารถจับโจรใส่ตะกร้าล้างน้ำได้โดยง่ายดายถึงปานนี้ ?
เว้นไว้แต่ชนิด "พันธุ์แท้" บางจำพวก ที่เชื่อมั่นใน "ความสำเร็จเลว ๆ" ของตน จนสามารถยืนยันนั่งยันกับทุกคนได้ด้วยความหลงผิด ว่า.. "ผมนี่ล่ะที่เลวจนรับเละมาแล้ว จึงพร้อมจะนำพาพวกท่าน ให้เลวเสมอกันทั้งแผ่นดิน ด้วยการเลือกผมและพรรคของผมอีกครั้ง
" ที่ไม่ต้องใช้เทคนิคสร้างภาพใด ๆ ขึ้นมาอีก ด้วยว่าการมอมเมาและโหมประโคมจนครบสี่ปีที่ผ่านมา ช่วยให้ผู้คนและสังคม "ตาบอดตาใส" กันไปแทบหมดสิ้นเสียเรียบร้อยแล้ว
เรียกว่า "ดำ" และ "เทา" กันเกือบทั้งแผ่นดิน จน "สีขาว" กลายเป็น "รอยด่าง" ไปทันที ! !
เพราะเมื่อรัฐและทุนกลายเป็น "ชุมโจร" นักปราชญ์ราชบัณฑิตก็ย่อมกลายเป็นตัวประหลาดไปโดยปริยาย ที่ไม่ยอมหลบลี้หนีหน้า ก็จำต้องทนถูกว่าด่าประจานให้ได้ ไปวัน ๆ มิใช่หรือ ?
๒
ที่ว่ามาข้างต้นก็คือเรื่อง "กิเลส-ตัณหา-อวิชชา-มิจฉาทิฏฐิ" นั่นเอง
เพียงแต่เมื่อครอบงำ "ผู้นำ" และ "กลไก-โครงสร้าง" เอาไว้ได้ ก็กลับกลายเป็น "มหันตภัย" ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นไปทันที เช่นเดียวกับ "คลื่น" ในทะเลที่เมื่อมีขนาดเล็ก สูงเพียงแข้งเพียงเข่า ก็ช่วยเพิ่มสีสันบรรยากาศหาดขาวทรายสวยให้งดงามมีชีวิตชีวา พอแปรเปลี่ยนเป็นคลื่นยักษ์ "สึนามิ" จึงกลับกลายเป็น "หายนภัย" ไปได้ในพริบตา
ปัญหาคงอยู่ที่ว่า ความ "หลงผิด-จิตเสื่อม" นั้นเป็น "นามธรรม" และไม่แสดงผลวินาศสันตโรให้เห็นด้วยตาเนื้อจะแจ้งชัดเจนเท่ากับปรากฏการณ์ "รูปธรรม" อย่างราพนาสูรที่เขาหลักหรือที่บ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
เมื่อเหตุเภทภัยยังไม่แสดงอาการชัด ๆ บรรดาผู้ทำตัวเป็น "ดร.สมิทธ ธรรมสโรช" เมื่อ ๖ ปีก่อน จึงต้องเดือดร้อนกันเป็นทิวแถว จากบรรดานายทุนใหญ่-น้อย นักการเมือง และข้าราชการผู้รับใช้ "นักเลือกตั้ง-นักธุรกิจการเมือง" ผู้หวาดกลัวการเสีย "ผลประโยชน์ปัจจุบัน" หรืออามิสสินจ้างทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการทำนายภัยพิบัติ
ว่า..หลัง "สึนามิแห่งความหลงผิดในยุค CEO" จะมีอะไรเกิดขึ้น และจะมีอะไรติดตามมา
น่าสงสารก็แต่ คนมอแกน ชาวประมงขนาดเล็ก และคนรากหญ้าปลายอ้อปลายแขมริมทะเล "อันดามันทางการเมือง" นั้นแล ที่ต้องมาถูกบังตาด้วยวิถีประชานิยม และภาพหลอนแห่งการประชาสัมพันธ์ จนจำต้องตกตายไปตามกัน โดยไม่รู้แม้แต่น้อยว่า "ดร.สมิทธ ธรรมสโรช" ประเภท "ขาประจำ" ทั้งหลาย ได้เคยเตือนอะไรไว้บ้างแล้ว
เจ้าของรีสอร์ท-โรงแรม นักธุรกิจ-นักลงทุน หลาย ๆ รายเขายังพอมีประกัน หรือมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนทดแทน ชาวบ้านคนเล็กคนน้อยชายทะเลการเมืองในวันนี้และวันหน้าเล่า หากวันนั้นมาถึงแล้วจะเหลืออะไรไว้ก่อร่างสร้างตัว
๓
การเมืองหลังวันอาทิตย์ที่ ๖ กุมภาฯ เมื่อเหลียวหลังแลหน้า ว่าไปแล้วจะมีอะไรใหม่ ?
หากนักการเมืองอาชีพและพรรคเก่าพรรคใหม่อยู่ในสภาพที่ "เคยอยู่เคยเป็น" ขณะที่ ภาคประชาชน-ประชาสังคม ตกอยู่ในสภาพ "ลิงติดแห" ยุ่งเหยิงนัวเนียอยู่กับ ปัญหา-ข้อจำกัด และอุปสรรคเดิม ๆ พร้อม ๆ ไปกับฝ่ายทุนและสมุนรับใช้ ที่พากันงอกงามเติบโตและอิ่มหมีพีมันยิ่งขึ้น ด้วยวิถี "หน้าด้าน-ใจดำ-ศีลธรรมเสื่อม" ราวกับว่าโลกนี้ไม่เคยมี "ธรรมะ" และ "สัจจะ" เสียอย่างนั้น
หรือปรากฏการณ์เหล่านี้หมายความว่า ถึงคราวที่ธรรมะจะต้องล้มตายให้อธรรมงอกงามเติบโตด้วยด้วยสารกระตุ้นกิเลสตัณหาง่าย ๆ ชนิดสำเร็จรูป ประเภทเปิดถ้วยเติมน้ำร้อนก็รับประทานได้ ที่อาศัยการแค่การโฆษณาก็ขายดิบขายดี
ก็ใครเล่าจะเชื่อ ว่ายุคนี้ พ.ศ.นี้ "คาถาพระศรีอาริย์" หลอกว่าจะช่วยนั่นให้นี่ แบบนั้นแบบนี้ กระทั่งบอกว่า "จะไม่มีคนจนบนแผ่นดิน" ไปพร้อม ๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจทุนนิยมบริโภคอย่างไม่ลืมหูลืมตา กระทั่งล่าสุดถึงกับชวนกันรับหลักการ "พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิลึกพิสดาร พ.ศ
." ชนิดกล้าแบ่งแยกดินแดนเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ ก็ยังทะลึ่งมีคนหลงเชื่อ ชนิดหลับหูหลับตายอมรับ ว่า "ข้าวกับขี้" จะสามารถบริโภคอย่างเอร็ดอร่อยไปด้วยกันได้
อะไรจะปานนั้น ! ! !
๔
บทความชิ้นนี้คงไม่มีทางออกอันใดที่เป็นรูปธรรมในระยะสั้น ที่ช่วยกระตุ้นจิตสำนึกของ "ประชาชนเจ้าของสิทธิ์" ได้เท่ากับการชี้ชวนให้แสวงหา และกระตุ้นให้มี อุดมคติ-อุดมการณ์ และวิสัยทัศน์ ทั้งส่วนตัวและส่วนรวมชนิด "มองไกล-เปิดใจกว้าง" ทอดยาวไปถึงวันข้างหน้า ว่า "เราจะมีอนาคตร่วมกันอย่างไร ?" ไว้เป็นที่ตั้ง
เพราะ "อวิชชา-มิจฉาทิฏฐิ" นั้น ก็คล้ายกับหมอกเมฆหม่นมัว ที่ปกคลุมความจริงแท้ของสรรพสิ่ง มีแต่แสงสว่างแห่งปัญญาดอกกระมัง ที่พอจะช่วยส่องนำสรรพสัตว์ให้เห็นเป้าหมายปลายทางในบั้นปลายได้
ปัญหาคงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไร "ปัญญามวลรวม" จึงจะเกิดขึ้น กระทั่งมีพลัง หรือมีแสงสว่างเพียงพอสำหรับการใช้งาน
แทนที่จะกระพริบอยู่ที่นั่นที่นี่ จุดนั้นจุดนี้ ราวหิ่งห้อยในคืนแรม
กระบวนการที่จะรวมแสงให้กว้าง ให้เข้ม และมีระยะอันเพียงพอ ดูจะเป็นพันธกิจและภารกิจเฉพาะหน้าอันสำคัญมิใช่น้อย ในสถานการณ์อันเร่าร้อนและรุนแรงในปัจจุบัน ตลอดจนในอนาคตอันใกล้ ของผู้ร่วมชะตากรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนใด ๆ ก็ตาม
พร้อม ๆ กันนั้น ความรู้เท่าทันที่จะใช้ "สันติวิธี" ในทุกจังหวะก้าว ก็ดูจะจำเป็นไม่น้อยไปกว่ายุทธวิธีอื่น ๆ ไม่เช่นนั้นแล้ว กระแสแห่งความเร่าร้อนและรุนแรง ก็พร้อมจะกระหน่ำซัดและพัดพาเราทั้งหลายไปสู่วังวนเก่า ๆ เดิม ๆ เช่นที่ผ่านมา
ชนิดกระโดดจากกระทะร้อน ๆ ลงเตาไฟไปในที่สุด
๕
หลังวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ภายใต้ชัยชนะและความปลอดโปร่งโล่งใจ ด้วยไม่มีภาระติดค้างผูกพันเช่นการเลือกตั้งครั้งก่อน ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย ผู้ "มอบอำนาจ" และ "สิทธิ" ในการบริหารบ้านเมืองของตน ให้กับบุคคลและคณะบุคคลที่ตนเชื่อและไว้วางใจ คงมีโอกาสได้พบ "ตัวตน" และ "หน้าตา-ท่าที" ของใครบางคน ที่ผิดแผกไปกว่า "นายกรัฐมนตรี คนที่ ๒๓" ไม่มากก็น้อย
ยิ่งหากมีชัยชนะถล่มทลาย ได้เป็น "รัฐบาลพรรคเดียว" ด้วยแล้ว ที่เคยเห็นถลกแขนเสื้อนั่งขัดสมาธิรับประทานข้าวเหนียวไก่ย่างกับสมัชชาคนจน หรือที่เคยเห็นออกมาตะลอน ๆ ไหว้คนนั้นกอดคนนี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็เป็นอัน "ทำใจ" ไว้ล่วงหน้าได้ ว่า "มหกรรมละคอนเร่" จบลงแล้ว
และน่าจะจบลงอย่างสิ้นเชิง ! ! !
สิ่งที่จะติดตามมาในไม่ช้า หลังจากฝุ่นผงของการ "แบ่งเค้กผลประโยชน์" และ "งานเฉลิมฉลองชัยชนะ" ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งโดยตัว "ท่านผู้นำ" และครอบครัว ตลอดจนสมุนบริวาร ก็น่าจะเป็นการจัดกระบวนแถวและแนวทางการบริหารแบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ ชนิด CEO ไทย ๆ (ที่เรียกเป็นภาษาชาวบ้านได้ว่า "เถ้าแก่เจ้าอารมณ์") และการวางรากฐาน เสริมความมั่นคง-อุดช่องว่าง ลดความพลาดผิด ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เมื่อสี่ปีก่อน เพื่อการขยายตัวระดับกว้างและการหยั่งรากระดับลึก ของทุนนิยมบริโภค ชนิดที่จะเพิ่มรายได้ให้นายทุน (ในแวดวงห้อมล้อม) และเพิ่มหนี้สาธารณะแก่ประชาชนไปในเวลาเดียวกัน อย่างไม่ต้องซวดเซ ล้มลุกคลุกคลาน ห่วงหน้าพะวงหลัง ดังบางช่วงของสี่ปีที่แล้วมา
อภิมหาโครงการขนาดใหญ่และขนาดยักษ์ ทั้งที่จะเกิดขึ้นเพื่อถมเม็ดเงินลงไปกระตุ้นตลาด เพื่อสร้างความมั่นใจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของ "รัฐบาลใหม่" ก็น่าจะเป็นเรื่องจำเป็น เช่นเดียวกับการหว่านหรือรับปากว่าจะ "หว่านเศษเงิน" ลงไปให้คนทุกข์คนยาก ชนิดพอให้ "ไม่เสียคำพูด" ระหว่างการเลือกตั้ง
นอกเหนือไปจากนั้น ก็น่าจะเป็นการเตรียมทางหนีทีไล่สำหรับการลงจากหลังเสือแบบ "ล้มบนฟูก" เพื่อเกียรติประวัติ และการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับตนเองแบบ "เก็บสถิติ" เช่นเดียวกับความพยายามยื้อยุดถือดี ที่จะอยู่ให้ครบเทอม ดังที่ผ่านมา
๖
ที่ว่ามาในหัวข้อก่อนหน้านี้ คือการ "เหลียวหลังแลหน้า" ตามข้อมูลจากสื่อกระแสหลัก แต่ใครเล่าจะรู้ได้ ว่าเอาเข้าจริงจะมีอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง และเกิดขึ้นอย่างไร ภายใต้การตัดสินใจของ "ประชาชน"
ก็เพราะมิใช่พลังเงียบของมหาชนดอกหรือ ที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินมาแล้วหลายยุคหลายสมัย มิใช่พลังเงียบของผู้คนจำนวนมากดอกหรือ ที่เปลี่ยนแปลงอนาคตอันรุ่งโรจน์ของทรราช และโจรปล้นชาติ ให้หักเหไปสู่โซ่ตรวนและการจองจำ หรือการลงทัณฑ์อันสาสมตลอดมา
เพราะถึงที่สุดแล้ว "ประชาชน" ต่างหาก ที่จะกำหนดชะตากรรมของตนเอง หาใช่จะถูกกำหนดจากเล่ห์ลิ้นและลมลวงของใครหรือกลุ่มใดไม่
และหากจะมองให้ตลอดสายแล้ว "ชัยชนะชั่วครู่" หรือความเหนือกว่า และได้เปรียบอย่างฉ้อฉล ชั่วครั้งชั่วคราว ก็ใช่จะยั่งยืนไปกว่า "ความเป็นธรรม" โดยประการทั้งปวง
หลังจากวันที่ ๖ กุมภาฯ ผู้ชนะที่ปราศจากธรรมานุธรรมปฏิบัติอันเหมาะควรแก่ศาสนธรรม และปราศจากวุฒิภาวะ ตลอดจนมโนธรรมสำนึกอันเหมาสมกับความรับผิดชอบ ก็มีจะแต่หมุดหมายแห่งการผ่านทาง เพื่อพล่าผลาญเวลา และนับวันรอ "การตัดสิน" เท่านั้น
น่าเสียดายก็แต่ "วิวัฒนาการ" ของมนุษยชาตินั่นเอง ที่ต้องมาเสีย "จังหวะและเวลา" ไปกับ "อวิชชาและมิจฉาทิฏฐิ" อยู่เสมอ
และตลอดมา
|