๑
คงไม่ "มากเกินไป" ที่จะนำ "กรณีตากใบ" และ "ความตาย ๘๕ ศพ" มาพูดถึงอีกครั้ง
หลังจากที่ "หลายต่อหลายแง่มุม" ถูก "หลายฝ่าย" หยิบยกขึ้นมา กล่าวถึง, วิเคราะห์ และวิพากษ์วิจารณ์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่แทบมิอาจหาคำตอบ หรือข้อยุติใดๆ ได้
ปล่อยให้ "บางอย่าง" ค้างคาความรู้สึกและความคิดของผู้คน ไม่ว่าจะมากมโนธรรมสำนึก หรือชมชอบการใช้ความรุนแรงก็ตาม
"บางอย่าง" ที่คล้ายฝ่ายหนึ่งอยากซุกเก็บไว้ในซอกลึกของความล้มเหลว และ "หลายฝ่าย" อยากให้มีการแก้ไขและสรุปบทเรียนอย่างเป็นรูปธรรม
แต่ "ทุกฝ่าย" คงปฏิเสธได้ยาก ว่านี่มิใช่ "ร่องรอย" สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่มนุษย์กระทำต่อเพื่อนมนุษย์ อย่างที่สิ่งมีชีวิตอื่นไม่อาจหรือไม่สามารถกระทำได้
"ชีวิต" นั้นมี "คุณค่า" เสมอ ไม่ว่าจะถูก "กำหนด" ให้สูงส่งหรือต่ำต้อยสักเพียงใดก็ตาม
ด้วยว่าการ "เทียบเคียง" หรือ "ตัดสิน" ที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันนั้น มักเกิดขึ้นภายหลัง และกระทำต่อกันในระดับปุถุชน ผู้ยังยึดมั่นใน รัก-โลภ โกรธ และหลง โดยมีอวิชชาเป็นเจ้าเรือน
หาใช่วิสัยของอริยบุคคล หรือผู้ที่จะก้าวสู่กระแสแห่งการหลุดพ้นไม่
"การตาย" และ "ความตาย" ที่ตากใบ จึงแปรเปลี่ยนจากความสูญเสียของปัจเจกบุคคลและผู้เกี่ยวข้องขึ้นเป็น "โจทย์ใหญ่" ในความเป็นมนุษย์
"มนุษยชาติ" ซึ่งปราศจากเชื้อสาย-เผ่าพันธุ์ ศาสนา-ความเชื่อ หรือข้อจำกัดแห่งพรมแดน
"มนุษยชาติ" ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
"มนุษยชาติ" ซึ่งใครหรือคณะใดก็ตาม ไม่มีสิทธิ์กระทำให้บาดเจ็บและสูญเสีย ไม่ว่าจะโดยข้ออ้าง หรือเหตุผลใดๆ ก็ตาม
๒
ด้วยกลไกของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน จะมากจะน้อย รัฐและอำนาจรัฐ ย่อมมีบทบาทหน้าที่ "แทน" ปวงชน ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข, ในการรักษาชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ ตลอดจนทำนุบำรุงธรรมชาติแวดล้อมและศรัทธาความเชื่อของผู้คนในชาติ ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่าง "ปกติสุข"
แต่จะด้วยเหตุผลหรือความตั้งใจอื่นใดก็ตาม ถึงบัดนี้ปฏิบัติการทั้งทางตรงและทางอ้อมของรัฐ และหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนส่วนงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง กลับตอกลิ่มแห่งความแบ่งแยกแตกต่าง ลงใน "หัวใจ" ของผู้คนร่วมแผ่นดิน
ด้านหนึ่ง คือการปล่อยปละละเลยการรักษาชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่รัฐเรียกว่า "ผู้บริสุทธิ์" หรือผู้ที่รัฐเชื่อว่า "ไม่เกี่ยวข้อง" กับปฏิบัติการ "ก่อการร้าย"
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง กลับใช้ความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อผู้ที่รัฐเชื่อมั่นว่ามีส่วนร่วมกับ "ความไม่สงบ" ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างละเลยหรือเจตนาละเว้น ที่จะใช้กลไกของ "กระบวนการยุติธรรม" ซึ่งตราไว้ในข้อตกลง ทั้งของไทย และในระดับนานาชาติ หรือวิธีปฏิบัติที่นานาอารยประเทศให้การยอมรับ ตลอดจนปฏิบัติกับผู้คนในอาณัติ
พร้อมๆ กันนั้น ก็กลับมีการปลุกระดมมวลชน และโฆษณาชวนเชื่อ หลากหลายระดับและวิธีการ อันมีนัยให้เกิดความระแวงสงสัย รู้สึกแบ่งแยก หรือเน้นความแตกต่าง ระหว่างความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ และประวัติศาสตร์..ความเป็นมา
ทั้งที่ผลิตตรงโดยรัฐ และผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่รัฐสามารถบังคับบงการได้
ภายใต้ความเชื่อมั่นและข้อสรุปของนายกรัฐมนตรี โฆษกรัฐบาล ตลอดจนการแถลงข่าวของหน่วยงานต่างๆ ในระยะหลัง ว่ากำลังมีความพยายาม "แบ่งแยกดินแดน" และมีการ "ก่อการร้าย" ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน
ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง ยังไม่มีองค์กรก่อการร้ายใดๆ ออกมาประกาศความรับผิดชอบ หรือยืนยันปฏิบัติการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม
และรัฐเองก็ไม่สามารถแม้แต่จะระบุตัวบุคคล หรือองค์กรผู้กระทำผิด ตลอดจนผู้มีส่วนร่วมในการกระทำต่างๆ ด้วยการแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือต่อสาธารณชน
ขณะเดียวกัน ในความสับสนคลุมเครือ ปฏิบัติการของรัฐ และความรุนแรงสืบเนื่อง ในลักษณะตอบโต้ หรือก่อกวน กลับสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของทุกฝ่าย อย่างแทบไม่สามารถประเมินค่าได้
ดังมีรายงานข่าวเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ว่า
"
มีรายงานข่าวจากหน่วยข่าวทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สรุปเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ๔ จังหวัด ประกอบด้วย ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ จนถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ รวม ๑๐ เดือน มีเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๖๓๔ ครั้ง แยกเป็น จ.นราธิวาส ๒๙๒ ครั้ง จ.ปัตตานี ๑๗๒ ครั้ง จ.ยะลา ๑๓๑ ครั้ง และจังหวัดสงขลา ๑๙ ครั้ง
หน่วยข่าวยังระบุอีกว่า สำหรับเดือนตุลาคมมีเหตุร้ายรวมทั้งสิ้น ๙๓ ครั้ง แยกเป็น จ.นราธิวาส ๔๔ ครั้ง ปัตตานี ๒๙ ครั้ง ยะลา ๑๖ ครั้ง และสงขลา ๔ ครั้ง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต ๖ นาย ได้รับบาดเจ็บ ๒๑ นาย ทหารเสียชีวิต ๒ นาย บาดเจ็บ ๔ นาย เจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ เสียชีวิต ๗ คน บาดเจ็บ ๑๓ คน ในขณะที่ประชาชนเสียชีวิต ๒๐ คน ได้รับบาดเจ็บ ๓๓ คน เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ๔๗ มีเหตุร้ายที่เกิดขึ้นมีจำนวน ๕๔ ครั้งเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดเหตุสลายการชุมนุมที่ตากใบเมื่อวันที่ ๒๕ ต.ค. ๔๗ มีเหตุฆ่ารายวันเกิดขึ้นในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๔๗ ถึงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๔๗ มียอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ยิงรายวันจำนวน ๓๕ คน ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนผู้บริสุทธิ์
" (ผู้จัดการออนไลน์)
ซึ่งปฏิเสธมิได้ว่า ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวข้างต้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเป็นผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ของความล้มเหลว ในการปฏิบัติงานของฝ่ายรัฐ ที่ปฏิบัติต่อ "โจรกระจอก" และ "ผู้คนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้" อย่าง "บ้ามาก็บ้าไป" ด้วยท่าทีแข็งกร้าวและตาต่อตาฟันต่อฟัน อย่างปราศจากการแยกแยะ หรือจำแนกแจกแจง
นับแต่เหตุการณ์ปล้นปืน ๔ มกราคม กระทั่งมาถึงกรณีกรือเซะ ๒๘ เมษายน และ "โศกนาฏกรรม ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗"
๓
ดูเหมือนว่า "รัฐบาลนี้" กำลังนำพารัฐไทยและคนไทยจำนวนหนึ่งให้ติดอยู่ใน "วงจรและกับดักแห่งความรุนแรง" อย่างไม่น่าให้อภัย
จะด้วยความอหังการ หรือโง่เขลาก็ตาม
แต่บัดนี้
รัฐบาลไทยได้ทำให้ "การแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดภาคใต้" หรือ "การก่อตั้งสาธารณรัฐปัตตานี" ซึ่งย้อนหลังไปเพียง ๔ - ๕ ปี มีสภาพหลงเหลือแค่อาการฝันเฟื่องของคนกลุ่มเล็กๆ หรือเป็นนิยาย 'ขอทุน' น้ำเน่าหลงยุคขององค์กรที่แทบเอาตัวเองไม่รอด ให้กลับกลายมาเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจของคนหนุ่มสาวเคร่งศาสนา หรือมีการพูดถึงกันอย่างจริงจังในหลากแวดวงและหลายระดับความคิด
รัฐบาลไทยได้ทำให้ "เขตปกครองพิเศษ" หรือกระทั่ง "กระทรวงกิจการอิสลาม" ที่เคยเป็นข้อเสนอในแวดวงวิชาการเล็กๆ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงโดยอดีตนายกรัฐมนตรีประเทศเพื่อนบ้าน และนักวิชาการอิสลามศึกษา กระทั่งมีการวิเคราะห์วิจารณ์กันในวงกว้าง อย่างหนาหูหนาตา
รัฐบาลไทยได้ทำให้ "องค์ความรู้ด้านมุสลิมและอิสลามศึกษา" ได้กลายเป็น "วาระแห่งความเร่งด่วน" ที่ทุกฝ่ายจะต้องหันกลับมาศึกษา และค้นคว้าทบทวน อย่างไม่เคยมี หรือไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เช่นเดียวกับการ "ยกระดับ" ปัญหา "โจรกระจอก" ให้กลายเป็น "สงครามก่อการร้าย" ด้วยปฏิบัติการทางทหาร ชนิด "บ้ามาก็บ้าไป" และการประกาศจำกัดเวลาออกนอกเคหสถาน ตลอดจนการประกาศกฏอัยการศึก ซึ่งให้อำนาจแก่หน่วยงานติดอาวุธและฝ่ายความมั่นคงรัฐ กระทั่งสามารถกระทำย่ำยี "สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน" ของผู้คนใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ตามอำเภอใจ
พร้อมๆ กับที่รัฐบาลไทย ได้จุดประกาย "จิตสำนึกในความเป็นมุสลิม" และความจำเป็นที่จะต้องผนึกกำลังกันเพื่อรักษา "วิถีชีวิต-วิถีวัฒนธรรมอิสลาม" ให้ลุกโชนขึ้น เพื่อแสวงหา "เอกภาพแห่งความเป็นมุสลิม" ที่กำลังถูกรัฐและผู้มีอำนาจในแผ่นดิน กระทำย่ำยี ดูหมิ่นถิ่นแคลน และเหยียบย่ำรังแก อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในใจบรรดา "มุสลิมไทย" ขนาดนี้มาก่อน
และพร้อมๆ กันนั้น รัฐและผู้เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐบางกลุ่มก็โหมกระพือความคลั่งชาติ(ที่จำเพาะแต่ความเป็นไทย โดยปฏิเสธเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์อื่นๆ ซึ่งอยู่ร่วมแผ่นดิน) ศาสนา(ที่ลดทอนให้เหลือเพียงศาสนาพุทธ) พระมหากษัตริย์(โดยไม่เคยสำเหนียกถึงพระราชปณิธานและพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้อง) และระดมปลุกเร้าแนวคิดทำลายจุดร่วม ยกระดับจุดต่าง ให้ขยายตัวขึ้นเป็น "ขบวนการชาตินิยมใหม่" ที่หลงไหลและเชิดชูบูชา "ท่านผู้นำ" และนโยบาย "ประชานิยม-ธนาธิปไตย" ของบางพรรคการเมือง อย่างไม่ลืมหูลืมตา
นี่คือความชาญฉลาดในการสร้างความแตกแยกภายในชาติ หรือความโง่เขลาเบาปัญญาที่บ่อนเซาะความสมานฉันท์อันเคยเป็นแบบอย่าง และเป็นที่กล่าวถึงของวิญญูชนทั่วโลก ก็มิอาจทราบได้
๔
หากอาณาประชาราษฎร์และขอบเขตแห่งดินแดน ตลอดจนศรัทธาความเชื่อ และอุดมคติร่วม ทั้งในระดับปัจเจกและสังคม เป็นส่วนประกอบที่สำคัญแห่งความเป็นรัฐชาติ "แบบไทยๆ"
โดยมีองค์พระประมุข ทั้งฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักร เป็นศูนย์รวมแห่งความเคารพสักการะ อันผู้ใดจะละเมิดมิได้ แล้ว
ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่กลายพันธุ์ไปเป็น "ธนาธิปไตย-ทักษิณาธิปไตย" ซึ่งแฝงไว้ด้วย "ที่มา" ของบุคคลและคณะบุคคล ในลักษณะ "หัวมังกุท้ายมังกร" เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็นับวันก็จะยิ่งเสมือนหนึ่ง เปลี่ยนไปเป็น "เชื้อโรค" ที่ร้ายแรงยิ่ง
เพราะนอกเหนือไปจากแนวโน้มแห่งความป่วยไข้ และอาการเสื่อมทรุด ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ฯลฯ แล้ว "รัฐบาล" ก็คล้ายจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้น "พยาธิสภาพ" อื่นๆ ให้เกิดมากขึ้นและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
ทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม
ทั้งที่เกิดขึ้นจากอหังการ-มมังการ และอวิชชา-มิจฉาทิฏฐิ และที่เป็น "ลักษณะจำเพาะบางประการ" ของท่านผู้นำและสมุนบริวาร
กระทั่งอดคิดไปไม่ได้ว่า เอาเข้าจริง เราทั้งหลายกำลังปล่อยให้แผ่นดินเกิดกลียุค บ้านเมืองอยู่ในมิคสัญญียิ่งขึ้นทุกขณะ
เพียงเพราะเราปล่อยปละละเลย เพลิดหลง และยินดีไปกับการกระตุ้นเร้า ของ "บางคน-บางพวก" ด้วยความประมาท และขาดการสำรวมระวัง
กระทั่ง "สูญเสียพรหมจรรย์" และจำต้องติด "โรคร้าย" กันเสียทั่วหน้า
ชนิดไม่รู้ว่าจะเสียใจหรือสมเพชตัวเองดี
ว่าก็ว่าเถอะ คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ และนกกระดาษ ๖๒ ล้านตัว จะรักษา "โรคภูมิคุ้มกันทางชีวิตและสังคมบกพร่อง" ได้จริงหรือ?...