และแล้ว ผู้พิพากษา รพินทร์ เรือนแก้ว ก็ต้องเสียชีวิตสังเวย "ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้" ไปอีกราย
ทั้งที่วัยและความรู้ความสามารถ น่าจะอยู่ทำประโยชน์ให้กับสังคม ครอบครัว และญาติมิตร ได้อีกนาน เป็นความ "สูญเสีย" ซึ่งไม่สมควร และไม่อาจประเมินค่าได้
แม้มิต้องกล่าวถึงตำแหน่งหน้าที่ของท่านผู้นี้เลยก็ตาม
ไม่ว่าใคร ก็ไม่ควรที่จะต้องตายไป ในความขัดแย้งซึ่งตนมิได้เกี่ยวข้อง
ในสงครามซึ่งตนมิได้ก่อ..
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่รายแรก และคงมิใช่รายสุดท้าย
ภายใต้หมอกเมฆมืดครึ้ม และการบาดเจ็บล้มตาย
ในสถานการณ์ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที
ว่ากันว่า ตัวเลขผู้สูญหาย และผู้บาดเจ็บล้มตาย ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ และฝ่ายอื่นๆ นับแต่เหตุการณ์ปล้นอาวุธจากค่ายทหารเมื่อ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ (ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเริ่ม "วงจรความรุนแรง" รอบใหม่ จากเดิมที่มีการสู้รบมาเป็นระยะ แต่ระดับความรุนแรงยังน้อยกว่า และไม่ต่อเนื่องดังที่เป็นข่าว) จวบจนปัจจุบัน น่าจะมีจำนวนหลายร้อยคน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ดังที่ไม่นานมานี้ ถึงกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต้องสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดซื้อที่ดินจำนวน ๖๐๐ ไร่ ให้เป็นที่ทำกินแก่หญิงม่าย จากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงใน ๓ จังหวัดภาคใต้
ขณะที่หนังสือพิมพ์ตลอดจนสื่ออื่นๆ ก็มีภาพ มีข่าวให้ผู้สนใจได้เสพได้บริโภคกันแทบทุกวัน ตลอดปี ๒๕๔๗ นับมาแต่ข่าวโจรกระจอก จนยกระดับขึ้นมาเป็นผู้ก่อการร้าย และโจรแยกดินแดน ในระยะต่อๆ มา
ผู้รับผิดชอบตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี เรื่อยมาจนถึงระดับเสนาบดี ขุนทหาร ขีดเส้นตายมาแล้วนับร้อยนับพันเส้น วางแผนปฏิบัติการณ์มาแล้วนับสิบนับร้อยแผน จนเชื่อว่าแม้ผู้อนุมัติหรือผู้ปฏิบัติการณ์เองก็อาจจำแผนงานทั้งหมดไม่ได้
กระทั่งปัจจุบัน ๓ จังหวัดภาคใต้ หลายพื้นที่ยังตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก มีเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ ทั้งทำงานในทางลับและเปิดเผย เข้ามาในพื้นที่นับพันนับหมื่นนาย(นาง และนางสาว?)
จะขาดก็แต่นักท่องเที่ยว พ่อค้า และนักลงทุน ที่พากันหลบลี้หนีหน้ากันไปจนกู่ไม่กลับ
พูดกันอย่างไม่เกรงใจก็คือ พื้นที่ดังกล่าวตกอยู่ในภาวะสงครามไปแล้วอย่างสมบูรณ์แบบ อย่างน้อยก็ในทางพฤตินัย
จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่หลังจากการตายของผู้พิพากษา รัฐมนตรีกลาโหมจะพูดออกมา ทำนองว่า เป็นความผิดของผู้พิพากษารพินทร์เอง ที่อยู่ในฐานะบุคคลระดับวีไอพี แต่ยังเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียว ไม่ขอรับการอารักขาจากเจ้าหน้าที่ จนเกิดเหตุร้ายขึ้นในที่สุด
กล่าวคือ ในสายงานความมั่นคง จะมากจะน้อยก็ "รู้ดี" ว่าขณะนี้แถบนั้นอยู่ในภาวะสงคราม เพียงแต่มี "บางอย่าง" ปิดปากเอาไว้ ไม่ให้พูด "ความจริง" โดยไม่ได้คำนึงถึงความสูญเสียที่จะตามมา
เรียกว่ารู้กัน "ภายใน" แต่ไม่ยอมบอกกล่าวประชาชน หรือแม้แต่เพื่อนข้าราชการต่างสายงาน ว่าระดับของความรุนแรงพัฒนาขึ้นไปสู่ระดับใดแล้ว และทุกฝ่ายควรวางท่าที หรือปฏิบัติอย่างไรให้เหมาะสม
และแม้ว่าสื่อมวลชนจะเสนอข่าวออกมาเป็นจำนวนมาก แต่สื่อของทางการ หรือการแถลงข่าวของรัฐกลับไม่มีข้อสรุปใดๆ ให้ชัดเจน ทั้งด้านความเป็นมา สภาพปัญหา และทางออกที่เหมาะสม อย่างที่ควรจะเป็น
เอาเข้าจริง สถานการณ์ความรุนแรงใน ๓ จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ละเอียดอ่อน และซับซ้อน ก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของฝ่ายความมั่นคงไม่กี่หน่วยงาน ทั้งที่ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมาก ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับรัฐชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก
เรียกว่างานนี้ยังใช้กรอบคิดเก่าๆ ว่า "ความมั่นคง" เป็น "ของรัฐ" และขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ "เฉพาะด้าน-เฉพาะทาง" โดยมิได้เหลียวแลหรือให้โอกาส ประชาคม-ประชาสังคม ได้เข้ามาร่วมรับผิดชอบบ้านเมือง หรือแผ่นดินที่พวกเขา(และเธอ)เป็นเจ้าของ
อันส่อสะท้อนถึงความล้มเหลวของการบริหารงานระบบ "เจ้าภาพ" หรือระบบ "CEO" ว่าเอาเข้าจริง ทั้งรูปแบบเก่าและใหม่ ก็ไปไม่ถึงไหน และทำให้เกิดความเสียหายได้หลายระดับ
ความเสียหายทางวัตถุ หรือความป่วยไข้ ฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีของรัฐและเอกชนอาจพอจะเยียวยา แต่ความเสียหายถึงชีวิต รัฐบาลจะใช้อะไรมาชดเชย?
ความตายของ คุณรพินทร์ เรือนแก้ว นั้น ในที่สุด แม้จะถือว่าเป็นข้าราชการระดับสูง ก็อาจแค่เป็นเหตุให้ "มีข่าว" หรือ "เป็นข่าว" และสร้างความ "ตื่นตัว" ให้กับผู้คนในบ้านเมือง ตลอดจนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับเมื่อครั้งมีการฆ่าและทำร้ายพระภิกษุสามเณรในพื้นที่ใกล้เคียงกันนี้ ซึ่งขณะนั้นรัฐถึงกับจัดกองกำลังติดอาวุธติดตามพระเณรออกบิณฑบาต แต่ปัจจุบัน อาการ "ล้อมคอก" ก็ได้ปลาสนาการไปแล้วแทบหมดสิ้น
ไม่นานความตายของผู้พิพากษาหนุ่มท่านนี้ ก็คงจะถูกลืม เช่นเดียวกับความตายของผู้คนอีกจำนวนมาก ที่ถูกกลืนกลบลบเลือนไปเสีย ด้วยข้อมูลข่าวสารที่มี "ความเสียหาย" มากกว่า หรือ "รุนแรง" ยิ่งกว่า
ใครจะรู้ ว่าหากท่าทีและแนวทางในการแก้ปัญหายังอยู่ในรูปแบบและวิธีการเช่นนี้ ในอนาคตจะไม่มี "ระเบิดพลีชีพ", "คาร์บอมบ์" หรือ "การจับตัวประกันไปตัดคอ" ให้ต้องบาดเจ็บล้มตายกันอีกเท่าใด
เมื่อฝ่ายรัฐทำได้กระทั่งการล้อมฆ่าในมัสยิด นับประสาอะไรกับชีวิตข้าราชการตุลาการหนุ่ม ในศาลจังหวัดปลายอ้อปลายแขม ที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อ หรือกลายเป็นมาตรวัดดีกรีความร้อนแรงของสถานการณ์ไปในที่สุด ในยุคสมัยที่เรามีผู้บริหารปากไวใจเร็ว และใช้ปากสนองอารมณ์ส่วนตัวโดยไม่ยั้งคิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน พร้อมๆ กับที่มีแม่ทัพนายกองบางคนเป็นปีศาจสงครามหลงยุค ซึ่งชิงฆ่าผู้อื่น เพียงเพราะความขลาดเขลาเกรงว่าตนจะถูกฆ่าด้วยวิบากกรรมในอดีต
ท้ายที่สุด ความตายของ คุณระพินทร์ เรือนแก้ว จึงอาจหลงเหลืออยู่เพียงแค่การเป็น "หมุดหมายเหตุการณ์" ประกอบบรรทัดสั้นๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ที่จะมาถึง ว่าเป็น "ตุลาการคนแรก" ที่ต้องจบชีวิตลง เพื่อสังเวยความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่นำโดย นายกรัฐมนตรี ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๗
ด้วยความซับซ้อนของปัญหา และเงื่อนไขอันจำกัดจำเพาะของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งโดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และสภาวการณ์ในปัจจุบัน คงมีแต่การยอมรับความเป็นจริง ซึ่งหมายรวมเอาความพลาดผิดในอดีต และข้อบกพร่องของปัจจุบัน มาวางลงตรงหน้า แล้วเชิญชวนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางตรงและทางอ้อม มาร่วมกันแก้ไขอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ อย่างเคารพในศักดิ์ศรี และยอมรับในความแตกต่างอย่างหลากหลายในทุกๆ ด้านดอกกระมัง ที่จะทำให้ "สัจจะแห่งปรากฏการณ์" ได้บังเกิดขึ้น จนสามารถสืบย้อนไปสู่สาเหตุ และเห็นเป้าหมาย ตลอดจนค้นพบทางออกอันสงบเย็นได้ในบั้นปลาย
รัฐบาลในฐานะของ "ผู้อาสาเข้ามาทำงานรับใช้ประชาชน" คงต้องตั้งอยู่ในความระวังสังวรถึงขอบเขตอำนาจที่ตนมี และที่ตนสามารถใช้ เพื่อ"บำบัดทุกข์บำรุงสุข" ให้กับทั้ง "ผู้ที่ลงคะแนนเลือก" และ "ไม่เลือก" พรรคหรือผู้สมัครจากพรรคของตน เพื่อการทำหน้าที่ด้วยความไม่ประมาท และอ่อนน้อมถ่อมตน ตามสมควรแก่ศักดิ์ฐานะ "ผู้รับใช้" ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยไม่หลงละเมอเพ้อพกไปว่า ตน "ยึดครองอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว" ย่อมจะทำอะไร หรือไม่ต้องทำอะไรได้ตามอำเภอใจ
หากผู้กุมบังเหียนของรัฐ ประพฤติธรรม และอยู่ในทำนองคลองธรรม ยิ่งกว่าการมุ่งสนองความอยากหรือ สนองอัตตาตนเอง ด้วยความยึดมั่นถือมั่น และความประมาทของตนแล้ว อย่างน้อยขุนพลอยพยัก และลิ่วล้อบริวารในระบบ CEO ก็คงจะตระหนักและสำเหนียก ถึงบทบาทตามศักดิ์ฐานะของตนให้มากขึ้น
ทำได้เช่นนั้น ก็อาจช่วยไถ่บาปความพลาดผิด และอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ต้องล่วงลับไปแล้วได้ตามสมควร เพราะอย่างน้อย คุณรพินทร์ เรือนแก้ว ก็จะได้อานิสงส์จากการประพฤติดีประพฤติชอบของผู้บริหารบ้านเมืองระดับสูงอยู่บ้าง
แทนที่จะต้องตกเป็นผู้ "รับเคราะห์" แต่เพียงฝ่ายเดียว ในฐานะที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา และมีผู้บริหารประเทศระดับสูง ซึ่ง "บกพร่องโดยสุจริต" เป็นนิตย์..ตลอดมา จนจวนจะครบ ๔ ปีเข้านี่แล้ว..