วิถีพุทธในยุคบริโภคนิยม
พระไพศาล วิสาโล
มีขำขันเรื่องหนึ่งเล่ากันมาว่า ชายคนหนึ่งขับรถชนเสาไฟฟ้าอย่างแรงบนถนนสุขุมวิท คนขับตะกุยตะกายออกมาจากรถ พอเห็นสภาพรถบุบบี้ยับเยินก็ร้องว่า "โอ๊ย ! ! ! เบนฃ์ของฉัน เบนฃ์ของฉัน" ลุงคนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้เหตุการณ์ เห็นเช่นนั้นจึงพูดขึ้นว่า "พ่อหนุ่ม ห่วงรถเบนฃ์ ของเธอทำไม ? ห่วงแขนของเธอดีกว่า โน่นแขนของเธอกระเด็นไปอยู่โน่นแล้ว " ชายหนุ่มมองไปตามที่ลุงคนนั้นชี้ พอเห็นแขนของตัวก็ร้องลั่นว่า "โอ๊ย ! โรเล็กฃ์ของฉัน โรเล็กฃ์ของฉัน "
นี่เป็นขำขันที่เหมาะกับยุคบริโภคนิยมในเวลานี้มาก เพราะผู้คนนับวันจะเห็นวัตถุสำคัญยิ่งกว่าอวัยวะ เห็นทรัพย์มีค่ามากกว่าชีวิต โดยเฉพาะถ้าเป็นวัตถุหรือสินค้าที่ติดยี่ห้อดังด้วยแล้ว เขายอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาหรือรักษามันเอาไว้ เมื่อไม่กี่ปีก่อนคงได้ยินข่าวว่าวัยรุ่นคนหนึ่งในอเมริกายอมลงทุนฆ่าคนที่อายุไล่ ๆ กันเพราะต้องการได้รองเท้ายี่ห้อไนกี้ที่เด็กคนนั้นใส่ ถ้าเด็กคนนั้นใส่รองเท้ายี่ห้อบาจา เขาคงไม่สนใจ นี่เป็นลักษณะเด่นของยุคบริโภคนิยมในปัจจุบัน คือ นอกจากจะเห็นว่าความสุขอยู่ที่การบริโภคหรือการได้ครอบครองวัตถุแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะยึดติดหลงใหลกับแบรนด์เนมหรือยี่ห้อ เพราะมันเกี่ยวโยงกับภาพลักษณ์ของตน คือช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของตัวดูดี และทำให้รู้สึกภูมิใจกับตัวเอง เห็นว่าตัวเองมีคุณค่าขึ้นมา
กระแสลมที่พัดแรง
บริโภคนิยมเวลานี้มันไม่ใช่เป็นแค่เรื่องการเสพรสอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย หรือที่เรียกว่ากามคุณห้าเท่านั้น มันยังเป็นการเสพเพื่อผลทางใจ เช่น เพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเอง หรือรู้สึกว่าเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเก่า พูดอีกอย่างหนึ่งคือเพื่อมีตัวตนใหม่ที่น่าปรารถนา น่าชื่นชม อันนี้คือเหตุผลว่าทำไมธุรกิจเสริมทรวดทรงจึงเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วทั้งโลก เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็อยากไปเสริมจมูก เสริมหน้าอก ผ่าโน่น ลดนี่ ทั้งหญิงและชาย ทั้ง ๆ ที่สิ้นเปลืองเงินทองอย่างมาก แต่ก็ยอมหาเงินไปทุ่มเทกับเรื่องนี้ นักเรียนนักศึกษาหาเงินเองไม่ได้ ก็ไปขอพ่อแม่ ในอเมริกา เดี๋ยวนี้ของขวัญวันเกิดที่พ่อแม่นิยมให้แก่ลูกสาว ไม่ใช่เสื้อผ้า หรือโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นเงินสำหรับไปผ่าตัดเสริมทรง บางทีก็ให้เป็นของขวัญเมื่อลูกเรียนจบไฮสกูล อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างตัวตนใหม่ โดยการซื้อบริการผ่าตัดเสริมทรง จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระแสบริโภคนิยม คือแทนที่จะลงทุนลงแรงออกกำลังกายเพื่อให้น้ำหนักลดหรือให้ร่างกายดูดีขึ้น ก็ใช้เงินเนรมิต ถือว่าเป็นการเสพหรือการบริโภคอย่างหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน
ที่จริงเทคโนโลยีสำหรับเสริมทรวดทรงยังเป็นเรื่องที่เสี่ยง มีอันตรายอยู่ อย่างที่มีข่าวอยู่หลายครั้งว่ากินยาลดความอ้วนจนถึงตาย หรือเป็นโรคจิต บางทีก็มีข่าวว่าหน้าอกเน่าเพราะไปผ่าตัดเสริมทรงมา แต่คนก็ยังนิยมไปซื้อบริการ มานึกดูก็สวนทางกับหลักทางพุทธศาสนา พุทธศาสนาบอกว่า พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต พึงสละชีวิต เพื่อรักษาธรรมะ แต่สมัยนี้ตรงกันข้าม คือยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อรักษาอวัยวะ หรือยอมสละชีวิตเพื่อรักษาทรัพย์
อาตมาอยากขยายความสักหน่อยว่า ทำไมเราถึงต้องมาพูดเรื่องบริโภคนิยมกัน อาตมา คิดว่าตอนนี้เราปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า บริโภคนิยมเป็นกระแสที่มาแรงมาก เราจะเรียกยุคนี้ว่าเป็นยุคคอมพิวเตอร์ หรือยุคโลกาภิวัตน์อะไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับด้วยก็คือ ยุคนี้ เป็นยุคบริโภคนิยมโดยแท้ เพราะไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหนของโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งหมู่บ้านชาวเขาอันไกลโพ้น ไปจนถึงกลางป่าป่าอเมซอน กลางมหาสมุทรแปซิฟิก หรือในเทือกเขาหิมาลัย ไม่มีที่ไหนที่สามารถหลีกพ้นอิทธิพลของบริโภคนิยมได้เลย ตัวชี้วัดง่าย ๆ ก็คือโค้ก ที่ไหน ๆ ก็มีโค้ก แม้แต่บนยอดเขาเอเวอเรสต์หรือสุดขั้วโลกใต้ นอกจากนั้นจะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ล้วนสามารถรับสัญญาณรายการเอ็มทีวี (MTV) ซึ่งเป็นรายการเพลงที่แพร่หลายไปทั่วโลก แค่ติดตั้งจานดาวเทียมกระแสบริโภคนิยมก็จะเข้าไปถึงทันที ไหนจะสปอตโฆษณา ไหนจะรายการหนัง รายการบันเทิงหรือกีฬาซึ่งเป็นสินค้าบริโภคอย่างหนึ่งที่ทำกำไรมหาศาล
นี่คืออิทธิพลของบริโภคนิยมซึ่งกลายเป็นกระแสใหญ่ของโลก อย่าลืมว่าแม้เราจะบอกว่ายุคนี้เป็นยุคคอมพิวเตอร์ แต่ทุกวันนี้คอมพิวเตอร์ก็ยังไม่แพร่หลายในหลายทวีป เช่นอาฟริกามีเพียงหนึ่งในห้าพันคนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ แม้แต่โทรศัพท์ซึ่งมีมาเกือบร้อยปีแล้ว แต่มีเพียงครึ่งโลกหรือ ๓,๐๐๐ ล้านคนเท่านั้นที่เข้าถึงโทรศัพท์ได้ อีก ๓,๐๐๐ ล้านคนไม่เคยใช้หรือรู้จักโทรศัพท์มาเลย แต่คนกลุ่มหลังนี้ก็ยังได้รับอิทธิพลจากบริโภคนิยมไม่มากก็น้อย อย่างน้อยต้องเจอโค้กในที่ที่กล่าวถึง พูดได้ว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่มีอุดมการณ์ใดเลยที่สามารถแผ่คลุมทั่วทั้งโลกได้มากเท่าบริโภคนิยม ศาสนาคริสต์ก็สู้ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มีมิชชันนารีแผ่ไป ทั่วโลก แต่ยังมีหลายจุดที่เข้าไปไม่ถึง ประชาธิปไตย ก็เช่นเดียวกัน แม้จะประกาศว่ายุคนี้เป็นชัยชนะของโลกเสรี แต่ปรากฏว่าประชาธิปไตยก็ยังไม่สามารถแพร่ทั่วโลกได้ทั่วถึง ไม่ต้องดูอื่นไกล แค่สิงค์โปร์ เวียดนาม และจีนเราก็เห็นแล้วว่าประชาธิปไตยยังมีที่ทางจำกัดอยู่
แต่ทั้งหมดที่พูดถึงไม่มีที่ไหนที่หลีกหนีหรือหลุดพ้นจากอิทธิพลของบริโภคนิยมได้เลย บางคนถึงกับพูดว่าบริโภคนิยมเป็นศาสนาแรกและศาสนาดียวที่เชื่อมโยมโลกทั้งโลกได้ อาตมาจะอธิบายภายหลังว่าบริโภคนิยมนี้เป็นศาสนาได้อย่างไร คราวนี้มาทำความเข้าใจกันสักหน่อยว่าบริโภคนิยมหมายถึงอะไร เพราะมีคำ ๆ หนึ่งที่ใกล้เคียงกันมากคือ " วัตถุนิยม "
บริโภคนิยมสี่ความหมาย
บริโภคนิยมกับวัตถุนิยมต่างกันอย่างไร ? อย่าลืมว่าวัตถุนิยมเป็นสิ่งที่มีอยู่มานานแล้ว มีมาเป็นพัน ๆ ปีแล้ว สำหรับวัตถุนิยม อย่างน้อยก็อาตมาคิดว่า ๕,๐๐๐ ปี ที่แล้วมา โลกก็รู้จักวัตถุนิยมแล้ว แต่บริโภคนิยมเพิ่งเกิดขึ้นไม่เกินร้อยปีนี่เอง คราวนี้ก็ต้องแยกว่า บริโภค นิยมต่างจากวัตถุนิยมอย่างไรบ้าง
เมื่อพูดถึงความหมายของคำว่าบริโภค บางคนอาจสงสัยขึ้นมาว่า เอ๊ะ ! ทุกคนต้อง บริโภคอยู่แล้ว ทันทีที่มนุษย์เกิดมาก็ต้องบริโภคอยู่แล้ว ฉะนั้นคำว่าบริโภคมีความหมายแค่ไหน ? ในที่นี้ความหมายประการแรกของคำว่าบริโภค ก็คือการเสพสิ่งที่ตนเองไม่ได้ผลิต นี้เป็นความ หมายที่หนึ่ง คือว่าบริโภคไม่ได้หมายถึงแค่กินแค่ใช้อย่างเดียว แต่เจาะจงไปถึงการกิน ใช้ หรือเสพสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ผลิต อันนี้ถือเป็นของใหม่ สมัยก่อนจวบจนกระทั่งร้อยปีที่แล้ว แทบทุกอย่างที่ ปู่ย่าตายายของเรากินหรือใช้ ล้วนเป็นสิ่งที่ตนผลิตได้เอง ไม่ว่าเป็นข้าว เสื้อผ้า กระบุง ตะกร้าหรือบ้านเรือน ชาวบ้านล้วนผลิตหรือทำขึ้นมาด้วยตัวเอง ถ้าไม่ทั้งหมดก็เป็นส่วนใหญ่ มีคน ส่วนน้อยเท่านั้นที่บริโภคสิ่งที่ตนเองไม่ได้ผลิต เช่น ขุนนาง เจ้า หรือพระ แต่เมื่อมาถึงยุคนี้ เป็นครั้งแรกที่คนจำนวนมากหรือว่าคนค่อนโลกบริโภคสิ่งที่ตนไม่ใช่ผู้ผลิต แม้แต่ในชนบท เช่นหมู่บ้านที่อาตมาอยู่ ข้าวก็ซื้อ เพราะชาวบ้านปลูกมันสำปะหลัง เสื้อผ้าก็ต้องซื้อ ถังก็ต้องซื้อ แม้แต่กระติ๊บข้าวก็ซื้อกันแล้ว กับข้าวก็เช่นกัน ซื้อจากรถที่มาขายทุกเช้าแทบทั้งนั้น ที่พูดนี้หมายถึงคนชนบทนะ ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงในเมือง
บริโภคนิยมในความหมายแรก หมายถึงค่านิยมหรือแบบแผนที่ผู้คนส่วนใหญ่บริโภค หรือ เสพสิ่งที่ตนเองไม่ได้ผลิต กลายเป็นผู้บริโภคเต็มตัว นี้คือความหมายของคำว่าผู้บริโภคที่เราได้ยินเวลามีคนพูดถึง ชมรมผู้บริโภค สมาคมผู้บริโภค ผู้บริโภคในความหมายนี้คือ ผู้ที่เสพสิ่งที่ตนเอง ไม่ได้ผลิต เป็นความหมายธรรมดาที่ไม่เป็นบวกเป็นลบ
ความหมายที่สองของบริโภคนิยม คือ ค่านิยมใฝ่เสพมากกว่าใฝ่ผลิตหรืออยากได้ มาก กว่าอยากทำ บริโภคนิยมในความหมายนี้ชักจะไม่ค่อยดีแล้ว คนสมัยนี้อยากได้อะไรเยอะแยะ วัยรุ่นอยากได้โทรคัพท์มือถือ อยากได้กระเป๋ายี่ห้อดัง แต่พอถามว่ามีใครบ้างจะไปทำงานพิเศษเพื่อจะได้มีเงินไปซื้อของเหล่านั้น ปรากฏว่าแทบไม่มี ส่วนใหญ่คิดอย่างเดียวคือแบมือขอเงินพ่อแม่ หรือไม่ก็คิดทางลัดเช่น เล่นการพนัน และที่นิยมมากขึ้นทุกทีก็คือชิงโชค เดี๋ยวนี้โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ มีการชิงโชคเยอะแยะไปหมด ทั้งนี้ก็เพราะใคร ๆ ก็นิยมใช้ทางลัดแบบนี้กัน ค่านิยมแบบนี้ทำให้เกิดทัศนคติที่คิดใช้เงินแก้ปัญหาอย่างเดียว เห็นเงินเป็นทางลัดในการบรรลุความต้องการ ซึ่งจะพูดต่อไป
ในทำนองเดียวกันทุกวันนี้ใคร ๆ ก็อยากรวยกันทั้งนั้น แต่ถามว่าทำอย่างไรถึงจะรวย คำตอบก็คือซื้อหวย หรือไม่ก็ซื้อเครื่องลาง ของขลัง วัตถุมงคลหรือไปซื้อพระรุ่นดูดทรัพย์มา เท่านี้ก็เชื่อว่าจะรวยได้ แต่ไม่สนใจที่จะขยันหมั่นเพียรในการทำงาน
ค่านิยมเอาแต่ได้แต่ไม่อยากทำนี้ในที่สุดทำให้คนไม่สนใจที่จะทำอะไรที่ตนไม่ได้ประโยชน์ เดี๋ยวนี้เวลาเราจะไปชักชวนใครทำอะไรก็ตาม เช่นชวนไปปลูกป่า อนุรักษ์ธรรมชาติ หรือช่วยเหลือคนยากคนจน คนจำนวนไม่น้อยจะถามว่า "ทำแล้วฉันได้อะไร ?" อาจารย์ ประเวศ วะสี บอกว่านี่เป็นคำถามที่น่าเกลียดที่สุดของสังคมไทยในเวลานี้ อันนี้เป็นผลมาจากค่านิยม แบบบริโภคนิยมในความหมายที่สองคือ ฉันจะทำอะไรต่อเมื่อฉันได้ประโยชน์ ถ้าไม่ได้ก็ไม่ทำ และถ้าจะทำก็ทำให้น้อยที่สุด หรือไม่ก็ใช้ทางลัด เช่น โกง การพนัน หรือชิงโชคเป็นต้น
บริโภคนิยมในความหมายที่สาม คือค่านิยมที่ใช้เงินเพื่อบรรลุความต้องการแทนที่จะลงมือลงแรง อันนี้สืบเนื่องจากความหมายประการที่สอง คือ อยากได้แต่ไม่อยากทำ วิธีหนึ่งที่ไม่ต้องลงแรงทำก็คือใช้เงินซื้อเอาหรือใช้เงินเป็นทางลัด พูดอีกนัยหนึ่งคือ ขอเป็นผู้บริโภคมากกว่าผู้ผลิต เช่น อยากมีสุขภาพดี แทนที่จะหมั่นออกกำลังกาย กินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ก็ใช้ทางลัดคือ ซื้อยามากิน หรือนิ่งนอนใจว่าเจ็บป่วยเมื่อไหร่ค่อยไปให้หมอจัดการ มีเงินเสียอย่าง จะไปกังวลอะไร
แม้คนสมัยนี้จะห่วงสุขภาพตัวเองมากขึ้น แต่จำนวนไม่น้อยจะถามว่ามียาอะไรไหม ที่จะลดความอ้วนได้ มียาอะไรไหมที่ทำให้ไม่เป็นโรคกระเพาะ มียาอะไรไหมที่ทำให้ไม่เป็น โรคหัวใจ คิดแต่เรื่องยาเพราะมันง่าย ใช้เงินซื้อเอา อยากจะให้ตัวเองมีหุ่นดี แทนที่จะวิ่งหรือว่ายน้ำเป็นประจำ ก็นิยมไปจ้างหมอมาทำศัลยกรรม นี่คือทัศนคติที่ใช้เงินเพื่อบรรลุเป้าหมาย มากกว่าจะลงมือทำด้วยตนเอง ทัศนคตินี้ลามไปถึงการปฏิบัติในทางศาสนา คืออยากเข้าถึง สวรรค์ เข้าถึงนิพพาน ด้วยการทำบุญมาก ๆ หรือถวายเงินให้เกจิอาจารย์เยอะ ๆ แต่ไม่สนใจจะฝึกสมาธิภาวนาหรือทำกรรมฐาน ระยะหลังจึงมีการพยายามใช้เงินซื้อนิพพานกัน ขณะเดียวกันเกจิอาจารย์ก็พยายามทำให้นิพพานเป็นตัวเป็นตนจับต้องได้ คนจะได้ยอมจ่ายเงินไปสัมผัสกับนิพพาน การใช้เงินเพื่อซื้อสวรรค์มีมานานแล้ว แต่ระยะหลังถึงกับใช้เงินซื้อนิพพาน เห็นได้ว่าแม้แต่จุดหมายในทางศาสนาหรือทางจิตวิญญาณ ก็คิดว่าสามารถบรรลุได้ก็โดยใช้เงินเพียงแต่ซื้อพระ หรือทำบุญกับพระบางรูปเท่านั้น
การท่องเที่ยวเดี๋ยวนี้ก็เป็นการท่องเที่ยวแบบบริโภคนิยม คือใช้เงินซื้อประสบการณ์ แทนที่จะลงแรงให้เหนื่อยยาก สมัยก่อนเวลาจะเที่ยวป่า เราต้องแบกสัมภาระไปค้างแรมกลางป่า เดินกันสองสามวันกว่าจะถึงที่หมาย แต่เดี๋ยวนี้เที่ยวป่าง่ายนิดเดียว เพียงแต่ไปซื้อแพ็คเกจทัวร์ นั่งรถติดแอร์ ไปพักในโรงแรมหรือรีสอร์ตระดับห้าดาว เวลาไปไหนก็ไม่ต้องเดิน อยู่บนรถนั่นแหละ สามารถเห็นลิง เห็นช้าง ผ่านกระจก จะขึ้นเขา ก็ไม่ต้องขนของเอง เพราะมีกระเช้าลอยฟ้า หรือไม่ก็จ้างลูกหาบช่วยขนให้ นี่คือการท่องเที่ยวแบบบริโภคนิยม ได้ประสบการณ์ท่องป่าและสัมผัสกับธรรมชาติ โดยไม่ต้องเหนื่อยหรือปวดเมื่อย ขอให้มีเงินก็แล้วกัน
ทีนี้อยากเป็นลูกผู้ชายหรือ ? อยากเป็นคนทันสมัยหรือ ? ไม่ยากเพียงแค่ซื้อโค้ก (หรือกระทิงแดง) นั่งร้านสตาร์บั๊คส์ ก็สามารถเป็นอย่างที่ต้องการได้แล้ว สมัยก่อนจะเป็นลูกผู้ชายต้องพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถป้องกันสาวในหมู่บ้านไม่ให้คนที่อื่นมาลวนลามได้ หรือป้องกันไม่ให้โจรมาลักขโมยวัวควายในหมู่บ้านได้ แต่เดี๋ยวนี้เพียงแต่ซื้อสินค้ายี่ห้อดังก็รู้สึกเป็นชายชาตรีแล้ว แล้วถ้าอยากเป็นผู้ชนะล่ะ ? เดี๋ยวนี้เพียงแค่ซื้อไนกี้คุณก็รู้สึกเป็นผู้ชนะแล้วโดยไม่ต้องไปลงสนามแข่งกับใคร เพราะใส่ไนกี้แล้วคุณจะรู้สึกว่าคุณเป็นเหมือนไมเคิล จอร์แดน หรือเฉียด ๆ ไทเกอร์ วูดส์ ซึ่งถูกจ้างมาเป็นพรีเซนเตอร์ของรองเท้ายี่ห้อนี้ แล้วถ้าอยากเป็นคนภูมิฐาน น่านับถือ ก็ต้องไปหาหลุยส์ วิตตองหรือชาแนลมาสะพาย ถ้าไม่มีเงินซื้อก็ไปเช่ามาวันละ ๓๐๐ บาทก็ได้ นี่คือบริโภคนิยม ในความหมายที่ลึกลงไปกว่านั้นคือ การใช้เงินเพื่อบรรลุ ความสำเร็จมากกว่าการลงมือทำ
ค่านิยมแบบนี้ทำให้เกิดทัศนคติที่คิดใช้เงินแก้ปัญหาทุกอย่าง เห็นเงินเป็นทางลัดในการบรรลุความต้องการ ค่านิยมแบบนี้พอเป็นหนักเข้าก็นำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ดีไม่งามขึ้นมา เช่น นักเรียนนักศึกษาอยากสอบได้คะแนนดี ๆ กันทั้งนั้น แต่หลายคนไม่คิดจะตั้งใจเรียน คิดแต่ค่จะซื้อหนังสือเก็งข้อสอบที่ไหนดี หรือหนักกว่านั้นคือจะซื้อข้อสอบจากที่ไหนดี เดี๋ยวนี้การทุจริตข้อสอบกลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินดีมาก และแพร่หลายอย่างที่นึกไม่ถึง มีวิธีการสารพัด และเกิดขึ้นกับการสอบแทบทุกวงการ ไม่ใช่เฉพาะเอ็นทรานซ์เท่านั้น
ความหมายที่สี่ของบริโภคนิยมคือความคิดความเชื่อว่าความสุขอยู่ที่การบริโภค บางคนอาจสงสัยว่า ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาคนก็เชื่อว่าความสุขอยู่ที่การบริโภคทั้งนั้น ที่ทำสงครามกันมาหลายพันปีก็เพราะแย่งชิงทรัพย์สมบัติกัน ฟาโรห์ในอียิปต์หรือจักรพรรดิในจีนเวลาตายก็เอาทรัพย์สมบัติมากมายฝังไว้ในหลุมศพ เพราะต้องการเสพสิ่งเหล่านี้ต่อในสวรรค์หรือในชาติหน้า อันนี้ก็จริงอยู่ แต่ความสุขแบบบริโภคนิยมมันลึกกว่านั้น ไม่ได้หมายถึงความสุขทางกายหรือทางประสาทสัมผัสทั้งห้าเท่านั้น ตรงนี้คือจุดต่างระหว่างบริโภคนิยมกับวัตถุนิยม
มิติด้านจิตใจของบริโภคนิยม
วัตถุนิยมหมายถึงการกินอาหารเพราะติดในรสอร่อย ต้องการเครื่องปรับอากาศ เพราะมันให้ความเย็น หรือต้องการรถเบนฃ์เพราะไปไหนมาไหนสบาย ไม่เหนื่อย นี่เป็นความสุขอันเนื่องจากประสาททั้งห้า
แต่บริโภคนิยมลึกกว่านั้น จุดหมายของการบริโภคมิใช่ความสุขทางประสาททั้งห้าเท่านั้น แต่ต้องการมากกว่านั้น คือเมื่อได้บริโภคแล้วคุณรู้สึกว่าคุณได้เป็นอะไรบางอย่าง ความสุขจากการกินโค้กหรือสตาร์บั๊คส์ มิได้อยู่ที่รสอร่อยหรือกลิ่นหอมเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะมันให้ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนทันสมัย มีรสนิยม คนไม่ได้กินแม็คโดนัลด์เพราะต้องการความอร่อยมากเท่ากับอยากเป็นคนภูมิฐาน หรือรู้สึกเท่ บริษัทแม็คโดนัลด์เขายอมรับว่าผลิตแม็คโดนัลด์ ไม่ใช่เพื่อ ขายสารอาหารแต่เขาต้องการขายภาพลักษณ์ ถ้าคนไปกินแม็คโดนัลด์แสดงว่าเป็นคนทันสมัย ยืดอกเวลาสมาคมกับผู้คนได้ ตรงนี้ที่มันสนองสิ่งที่ลึกซึ้ง คือสนองความต้องการมี "ภาวะชีวิตใหม่"ที่น่าปรารถนา ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า "ภวตัณหา" คือทำให้คุณรู้สึกว่า คุณได้เป็นอะไรบางอย่างที่พึงปรารถนา คุณรู้สึกว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีคุณค่า คุณใส่ไนกี้ไม่ใช่เพราะไนกี้มันนิ่มเท้า แต่เพราะมันทำให้คุณรู้สึกว่าเป็นอะไรบางอย่างที่น่าปรารถนา เช่น เป็นผู้ชนะ คนจำนวนมากปรารถนา ที่จะมีรถเบนซ์ขับ ไม่ใช่เพราะว่ารถเบนซ์ขับนิ่มหรือปลอดภัย แต่เพราะมันทำ ให้คุณรู้สึกมีหน้ามีตา มีความภูมิฐาน ทำให้คุณภูมิใจและมั่นใจในตนเอง ตรงนี้เป็นเรื่องจิตใจ
บริโภคนิยมนับวันจะมีแรงดึงดูดตรงนี้ และนี้คือจุดที่ทำให้บริโภคนิยมต่างจากวัตถุนิยม เพราะวัตถุนิยมโดยทั่วไปแล้วหมายถึงความต้องการวัตถุเพื่อสนองตอบอายตนะทั้งห้าคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย พูดอย่างพุทธคือตอบสนอง "กามตัณหา" ซึ่งเป็นเรื่องความอร่อย ความสะดวกสบาย หรือรสชาติจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แต่คนสมัยใหม่ เข้าหาบริโภคนิยม เพื่อต้องการเป็นคนใหม่ ที่เขาคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา คือต้องการภาวะ ชีวิตใหม่ อันนี้เป็น การตอบสนองทางจิตใจซึ่งเป็นอายตนะที่หก
เห็นได้ว่าบริโภคนิยมไม่ใช่เรื่องของวัตถุล้วน ๆ แต่มีมิติทางจิตใจ ซึ่งทำให้มันมีแรงดึงดูดต่อผู้คนมาก อย่างไรก็ตามมันไม่ได้แค่ตอบสนองความต้องการทางจิตใจแบบพื้น ๆ เช่น เป็นคนภูมิฐาน หรือทันสมัยเท่านั้น มันยังตอบสนองความต้องการที่ลึกไปกว่านั้นซึ่งอาจเรียกว่าความต้องการทางจิตวิญญาณด้วย ซึ่งอาตมาจะได้ กล่าวต่อไป
เอาตรงนี้ก่อนว่าขณะที่วัตถุนิยมมุ่งตอบสนองอายตนะหรือประสาทสัมผัสทั้งห้า หรือกามตัณหา บริโภคนิยมตอบสนองลึกไปกว่านั้น คือตอบสนองภวตัณหา ทำให้รู้สึกเป็นคนใหม่ มีตัวตนใหม่ นิตยสารฉบับหนึ่งเคยสัมภาษณ์เด็กนักเรียนว่าอะไรที่ทำให้เขาภูมิใจในตนเอง ถ้าเป็นเด็กสมัยก่อนก็คงจะตอบว่า ขยันขันแข็ง ทำความดี ช่วยพ่อช่วยแม่ อะไรทำนองนี้ แต่เด็กที่เขาไปสัมภาษณ์ตอบว่า สิ่งที่ทำให้เขาภูมิใจและมั่นใจในตนเองคือการได้มีสเก็ตบอร์ด มีนาฬิกาทีช็อค หรือมีวีดีโอเกม นั่นเป็นการสัมภาษณ์เมื่อ ๕-๖ ปีก่อน เดี๋ยวนี้ก็ต้องตอบว่า ต้องมีโทรศัพท์มือถือชนิดที่ถ่ายรูปได้ ดาวน์โหลดริงโทนได้ด้วย ถ้าไม่มีแล้ว จะรู้สึกอายไม่มั่นในในตนเอง เคยมีการสอบถามความเห็นนักเรียนนักศึกษา เกือบร้อยละ ๙๐ บอกว่าชอบสินค้ายี่ห้อดัง เหตุผลข้อหนึ่งก็คือ "ใช้แล้วมั่นใจ" นี่ก็เหมือนกับที่สาวญี่ปุ่นคนหนึ่งบอกว่า ที่ถือกระเป๋าหลุยส์วิตตอง ใส่ส้อยบุลการี และสวมนาฬิกากุชชี่ก็เพราะว่า "มีใช้แล้วมันสบายใจ แล้วก็รู้สึกเชื่อมั่นในตัวเองด้วย"
จะเห็นได้ว่า ความภูมิใจในตนเองเดี๋ยวนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าได้ทำอะไร แต่อยู่ที่ว่ามีอะไรมากกว่า เพราะการ"มี"ทำให้เขาได้"เป็น"อะไรบางอย่าง สมัยก่อนเราจะเป็นอะไรก็ต่อเมื่อเราได้ทำ อะไรบางอย่าง ยกตัวอย่าง ผู้ชายสมัยก่อนจะเป็นลูกผู้ชายได้ ต้องสามารถปกป้องมิให้อันธพาลมา ลวนลามผู้หญิงในหมู่บ้าน หรือมาลักวัวลักควายในหมู่บ้าน จะเป็นลูกผู้ชายต้องพิสูจน์กันตรงนี้ ในสังคมชนเผ่าอย่างแอฟริกาคุณจะเป็นลูกผู้ชายได้ คุณต้องพร้อมเผชิญหน้ากับการถูกหนาม ทิ่มหนามแทงหรือล่าสิงโตได้ ในพิธีก้าวย่างผ่านวัย (rite of passase) คนที่เรียนทางสังคม วิทยาจะรู้ ในสังคมสมัยก่อน เด็กจะก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ได้ต้องผ่านการพิสูจน์ตนเอง เช่น เช่นไปอยู่ในป่าคนเดียว ไปทำสักทั่วทั้งตัว หรือผ่านการทำสงครามกับเผ่าอื่น ถ้าคุณผ่านกรรมวิธีเหล่านี้ได้ถึงจะได้รับการนับถือว่าเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นชายชาตรี แต่ในยุคบริโภคนิยม การเป็นชายชาตรีเป็นได้ง่ายมาก ถ้าคุณซื้อสินค้า ให้ถูกยี่ห้อให้ถูกแบรนด์เนม คุณก็เป็นได้แล้ว หรือจะเป็นเอกบุรุษก็ได้ถ้าซื้อแอโรว์มาใส่
ทุกสิ่งคือสิ่งเสพ
เมื่อได้อธิบายความหมายของบริโภคนิยมแล้ว คราวนี้ก็มาดูว่าสิ่งเสพหรือสิ่งบริโภคในกระแสบริโภคนิยมนั้นหมายถึงอะไรบ้าง สิ่งเสพอย่างแรกคือ วัตถุที่เป็นรูปธรรม เช่น เสื้อผ้า อาหาร โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ เป็นต้น สิ่งเสพประการที่สองคือ บริการ เช่น การนำเที่ยว การรักษาพยาบาล การอำนวยความสะดวก โดยไม่ต้องทำเอง เสพแบบนี้ต้องอาศัยการซื้อบริการซึ่งก็ต้องใช้เงินเช่นเดียวกับการเสพวัตถุ
สิ่งเสพประการที่สาม คือประสบการณ์ ประสบการณ์เป็นเรื่องนามธรรม เสพประสบ การณ์ เช่น ไปฟังคอนเสิร์ต ไปดูหนัง ไปเล่น"บัมปี้จัมพ์" ไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ หรือว่าไปเที่ยวทะเล ไปดูกะเหรี่ยงคอยาว มีเงินมากเท่าไหร่ ก็สามารถเสพประสบการณ์แปลก ๆ ได้มากเท่านั้น เดี๋ยวนี้มีเงินสักสองสามล้านก็สามารถไปสัมผัสยอดเขาเอเวอเรสต์ได้โดยเพียงแต่ซื้อแพ็คเก็จทัวร์ เทือกเขาหิมาลัยตอนนี้จึงมีคนพลุกพล่านมาก ขยะจึงเต็มไปหมด การบริโภคประสบการณ์เป็นกระแสใหญ่กระแสหนึ่งของบริโภคนิยม สามารถทำเงินให้อย่างมหาศาล นี้คือเหตุผลที่รัฐบาลพยายามรณรงค์เรื่องการท่องเที่ยว มีการเสนอสถานที่และประสบการณ์แปลก ๆ ให้ โดยเฉพาะ Unseen Thailand เป็นความพยายามที่จะหาเงินจากคนต่างชาติซึ่งกระหายประสบการณ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ
คงเห็นแล้วว่าบริโภคนิยมนั้นไม่เหมือนวัตถุนิยม วัตถุนิยมเป็นแค่การบริโภควัตถุ แต่บริโภคนิยมนั้นต้องการเสพอย่างอื่นด้วย รวมทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ประสบการณ์ หลายคนอยากนั่งสมาธิด้วยเหตุผลเพียงแค่ว่าอยากมีประสบการณ์ว่าสมาธินั้นเป็นอย่างไร อยากจะเสพ ประสบการณ์ที่แปลก ๆ จะได้ไปคุยกับเขาได้ อยากไปเมืองนอกก็เพราะอยากได้ประสบการณ์ อีกเหมือนกัน ประสบการณ์กลายเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่ขายได้และใช้เงินซื้อได้ นอกจากนั้นยังใช้เป็นข้ออ้างได้ด้วย วัยรุ่นหลายคนเวลาจะไปประกวดนางงามหรือสมัครเป็นนางแบบ ก็อ้างเหมือนกันว่าเพื่อหาประสบการณ์ ดูเหมือนว่าถ้าใครอ้างแบบนี้ก็จะดูดี เป็นที่ยอมรับของสังคม
สิ่งเสพประการที่สี่ซึ่งสำคัญไม่น้อยคือ สัญลักษณ์ โดยเฉพาะยี่ห้อหรือแบรนด์เนม เป็นสัญลักษณ์ที่ใคร ๆ ก็อยากเสพหรือมีไว้กับตัว จะซื้ออะไรก็ต้องดูที่ยี่ห้อก่อน คุณสมบัติอย่างอื่นเอาไว้ทีหลัง ก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเมืองไทย ในหมู่ร้านค้าต่างประเทศเป็นที่รู้กันดีว่าพอนักท่องเที่ยวไทยมาถึง ก็จะกวาดซื้อสินค้ายี่ห้อดังกันเป็นแถว สรรพคุณเป็นอย่างไรไม่สนใจ ซื้อยี่ห้อเอาไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นโรเล็กซ์ เวอร์ซาเช่ อะไรไม่สำคัญ ขอให้เป็นยี่ห้อดังไว้ก่อน เอาแค่ยี่ห้อก็พอ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นไนกี้ หลุยส์วิตตอง ชาแนล บริษัทเหล่านี้จึงไม่ได้ผลิตเฉพาะรองเท้าหรือเสื้อผ้า แต่ผลิตสินค้าเยอะแยะไปหมดเลยไม่ว่าเป็นเป้ น้ำหอม เข็มขัด สิ่งที่เขาขายจริง ๆ มิใช่อะไรอื่น แต่ขายยี่ห้อ เพราะคนซื้อก็ต้องการซื้อยี่ห้อ อยากได้ยี่ห้อหรือสัญลักษณ์เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเอง
สิ่งเสพประการที่ห้า คือข่าวสาร ไม่ว่าจะมาทางสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต ข่าวสารเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็อยากเสพ แต่ส่วนใหญ่ก็เพื่อสนองความตื่นเต้น หรือสนองความอยากรู้ มากกว่าที่จะนำมาใช้ประโยชน์ และที่เสพเพื่อสนองราคะและโทสะก็มีไม่น้อย เช่น รูปภาพหรือเรื่องราวในทางกามารมณ์และความรุนแรง
สามระดับของบริโภคนิยม
ทีนี้อยากพูดถึงบริโภคนิยมว่ามันแสดงตัวออกมาในลักษณะใดบ้าง พูดอย่างสรุปคือมีสามระดับ ระดับแรกคือระดับทัศนคติหรือจิตสำนึก คือค่านิยมใฝ่เสพมากกว่าใฝ่ผลิต ใช้เงินมากกว่าลงมือทำเอง และความเชื่อว่าความสุขอยู่ที่บริโภค ยิ่งเสพมากยิ่งสุขมาก ความสุข ในทัศนคติของบริโภคนิยมคือเส้นตรงที่พุ่งสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด คุณเสพมากเท่าไหร่คุณ ก็สุขมาก เสพน้อยก็สุขน้อย และคุณจะเสพได้คุณต้องมีเงิน เพราะฉะนั้นเงินจึงเป็นเรื่องใหญ่ เกิดทัศนคติที่ถือเงินเป็นใหญ่ เพราะเชื่อว่าความสุขอยู่ที่การบริโภค
ในระดับพฤติกรรม บริโภคนิยมจะแสดงอาการด้วยเสพไม่หยุดและมุ่งอวดมั่งอวดมี เนื่องจากต้องการให้ใคร ๆ ยอมรับในตัวตนของฉันหรือเห็นว่าตัวตนของฉันสูงเด่นในสายตาของ คนทั่วไป การบริโภคจึงต้องมีการอวดให้คนอื่นเห็น เพราะฉะนั้นเสื้อผ้าอาภรณ์จึงเป็นเรื่องที่ สำคัญเพราะเป็นสิ่งที่เปิดแสดงให้คนเห็นได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับรองเท้า นาฬิกา กระเป๋า รถยนต์ ของเหล่านี้มีไว้อวดกันทั้งนั้น รวมทั้งของในบ้านบางชิ้น บริโภคนิยมจะมีลักษณะ อวดมั่งอวดมี เคยได้ข่าวไหมเวลาคนไทยไปเจนีวา ประเทศสวิสซึ่งเป็นแหล่งผลิตนาฬิกาโรเล็กซ์ ถ้าคนหนึ่งซื้อสองแสน อีกคนหนึ่งจะซื้อทับไปเป็นสามแสน สมัยที่เศรษฐกิจยังไม่ฟุบ ผู้คนพากันแข่งกันซื้อแข่งกันมั่งมี เวลากินอาหารก็เช่นกัน กินเพื่ออวดรวยหรือเพื่อหน้าตา ไม่ได้สนใจคุณค่าที่แท้ของอาหาร คุณค่าแท้ของอาหารคืออะไร คือการเสริมสร้างบำรุงร่างกาย แต่พฤติกรรมบริโภคนิยมนั้นไม่ได้บริโภคเพราะความอร่อยเท่านั้น แต่เพื่อหน้าตา เพื่อความโก้เก๋ เพื่อความ ภูมิฐาน เสื้อผ้า
ข่าวสารก็เหมือนกัน เราควรบริโภคข่าวสารเพื่อะไร ? ตามหลักคุณค่าแท้ เราควรรับรู้ข่าวสารเพื่อให้เกิดความรู้สำหรับเอาไปใช้ประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น แต่คนจำนวนไม่ น้อยบริโภคข่าวสารเพราะอยากเสพความสนุก ความตื่นเต้น เกิดสงครามที่ไหนก็อยากดูว่าขีปนาวุธที่เขาใช้ถล่มกันนั้นแม่นยำแค่ไหน มีอำนาจการทำลายล้างสูงเพียงใด บางทีก็อยากดูว่าฉิบหายกันไปถึงไหนแล้ว หรือไม่ก็อยากรู้ว่าคนดังอย่าง มาดอนน่า ริคกี้ มาร์ติน บริตนีย์ สเปียร์ มีข่าวซุบซิบถึงเขาอย่างไรบ้าง ทุกวันนี้เราเสพข่าวสารเพื่อสนองอารมณ์ ความมัน และความตื่นเต้น ไม่ใช่เพื่อความรู้ เพราะฉะนั้นหนังสือพิมพ์รายวันส่วนใหญ่จึงมีแต่เรื่องที่ตื่นเต้น กระตุ้นอารมณ์ สนองความอยากรู้อยากเห็นเฉพาะตัว ส่วนเนื้อหาสาระที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมนับวันจะมีน้อยลง
ระดับที่สามคือระดับสังคม อาตมาได้พูดไปแล้วถึงบริโภคนิยมระดับทัศนคติ และพฤติกรรม ซึ่งเป็นเรื่องของบุคคล บริโภคนิยมยังปรากฏในรูปที่เป็นระบบสังคมหรือแบบแผนนโยบาย เช่น การทำทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้าไปหมด แม้กระทั่งความรัก ความมีน้ำใจ ก็ขายได้ โดยเฉพาะขายให้นักท่องเที่ยว เคยเห็นโฆษณาทางโทรทัศน์ไหมที่บอกว่าคนไทยมีน้ำใจ มีน้ำใจ เพื่ออะไร ก็เพื่อให้ฝรั่งมาท่องเที่ยวในเมืองไทยเยอะ ๆ อันนี้คือการเอาน้ำใจหรือรอยยิ้มของคนไทยมาขาย เรายังเอาวัฒนธรรมประเพณีมาขาย ทุกจังหวัดเดี๋ยวนี้ต้องมีประเพณี วัฒนธรรมประจำจังหวัดที่ขายนักท่องเที่ยวได้ ทุกจังหวัดต้องมีอย่างน้อยหนึ่งอย่าง นี่เป็น นโยบายรัฐบาลเพื่อขายนักท่องเที่ยว ไม่ว่านักท่องเที่ยวชาวไทยหรือต่างชาติ และกระบวนการ ดังกล่าวถูกกำหนดโดยพ่อค้าหรือข้าราชการชั้นสูงในจังหวัด โดยที่ชาวบ้านถูกกีดกันไม่ให้ มีส่วนร่วมยกเว้นมาแสดงให้นักท่องเที่ยวดูเท่านั้น ไม่ว่าประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีแห่เทียน เข้าพรรษา หรือประเพณีชักพระเดี๋ยวนี้ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าไปหมด การศึกษาก็เช่นกันกลายเป็นสินค้าที่ต้องซื้อต้องขาย ใครไม่มีเงิน ก็หมดโอกาสทางการศึกษา
แม้แต่บุญก็กลายเป็นสินค้า มีการเอาวิธีทางการตลาดมาใช้ เช่นคิดค้นบุญประเภทต่าง ๆ เหมือนกับที่แตกสินค้าออกมาเป็นหลาย ๆ ตัวเพื่อไม่ให้จำเจ มีเซลส์แมนมาชักชวนคนทำบุญโดยตนเองก็ได้เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญก็คือการทำให้คนเข้าใจว่าบุญจะได้มากก็ต่อเมื่อจ่ายเงินมาก ตามหลักพุทธศาสนาบุญไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินเลย ทำบุญโดยไม่ต้องใช้เงินก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ผู้คนถูกทำให้เข้าใจว่าบุญนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนเงินเหมือนกับสินค้า จะได้บุญมากหรือน้อย ขึ้นอยู่ กับว่าใช้เงินไปมากเท่าไหร่ บุญขั้นสูงหรือขั้นต่ำขึ้นอยู่กับว่าใช้เงินมากหรือน้อย ถ้าใช้เงินน้อยก็ ได้บุญระดับต่ำ ๆ เช่น อาจถูกหวยแค่ ๒-๓ ตัว หรือสอบเอ็นทรานซ์ได้ แต่ถ้าใช้เงินมากก็ได้บุญระดับสูง เช่น รอดตาย หายป่วย ร่ำรวย มีชื่อเสียง หรือถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง ถ้าอยากสัมผัสกับอายตนนิพพานอย่างที่วัดพระธรรมกายสอน ก็ต้องจ่ายเงินเป็นแสนเป็นล้าน บุญเหมือนกับสินค้าคือมีหลายระดับ และขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ซื้อ
ทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อมก็ถูกทำให้เป็นสินค้าเช่นกัน ถามว่าทะเลสาบสงขลาในเวลานี้ มีค่าแค่ไหน คนจำนวนไม่น้อยคิดเป็นจำนวนเงินเลยว่ามีปลา กุ้ง หอยกี่แสนตัน คิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ คือคิดเป็นตัวเงินหมด คุณค่าของป่าก็ถูกตีราคาเป็นตัวเงิน ตามปริมาณเนื้อไม้ที่จะเอาไปขายได้ แต่ไม่ได้มีการคิดถึงมิติทางจิตใจ มิติทางวัฒนธรรมหรือความยั่งยืนของวิถีชีวิตเลย แม้แต่อากาศและน้ำสะอาดซึ่งเป็นคุณค่าสำคัญจากป่าก็ถูกมองข้ามไป นี่เป็นประการที่หนึ่งคือนโยบายทางเศรษฐกิจที่ทำทุกอย่างให้เป็นสินค้า
ประการที่สอง บริโภคนิยมได้ถูกแปรออกมาเป็นนโยบายการพัฒนาที่สนองพฤติกรรม การบริโภค นโยบายการพัฒนาแทบทั้งหมดล้วนเป็นไปเพื่อการสนองการบริโภค หรือเป็นไป เพื่อบริโภคนิยม ถามว่าการสร้างถนน ผลิตไฟฟ้า สร้างเขื่อน ทำไปเพื่ออะไร ก็เพื่อกระตุ้นการผลิตและส่งเสริมการบริโภค แม้ว่าจะทำให้ชุมชนแตกสลาย วัฒนธรรมผันผวน ผู้ปกครองก็ไม่สนใจ การพัฒนาแทนที่จะส่งเสริมให้คนมีความสุขมากขึ้น กลับไปเน้นเรื่องการผลิตและกระตุ้นการบริโภค การวัดความเจริญของประเทศโดยดูจากการเติบโตของรายได้ประชาชาติ (GNP) ก็เพราะมุ่งสนองบริโภคนิยมนั่นเอง
ประการที่สี่ หมายถึงการที่บริโภคนิยมได้กลายเป็นวัฒนธรรมหรือแบบแผนของสังคม บริโภคนิยมไม่ใช่เป็นแค่"ไลฟ์สไตล์"หรือรูปแบบการใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นวัฒนธรรม พฤติกรรม หรือวิธีคิดของคนทั้งสังคมไปแล้ว นั่นคือเวลาผู้คนสัมพันธ์กับใครก็ต้องดูก่อนว่าคบแล้วจะได้ผลประโยชน์จากคน ๆ นั้นเท่าไหร่ จะแต่งงานก็ต้องคิดก่อนว่าจะจ่าย เท่าไหร่ ได้เท่าไหร่ จะเรียนอะไร ก็ต้องดูว่าจบแล้วจะได้เงินเท่าไหร่ ออกรถได้ภายในเวลากี่ปี วิชานี้ถ้าเรียนแล้วไม่รวยก็ขยับไปเรียนวิชาอื่นดีกว่า วิธีคิดแบบนี้ได้กลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมไปแล้ว ทำนองเดียวกันเวลามีโยมมาขอทอดกฐิน เจ้าอาวาสจำนวนไม่น้อยก็ต้องดูก่อนว่ารายไหนที่จะหาเงินมาทอดกฐินได้มากกว่ากัน รายไหนที่มีโอกาสหาเงินเข้าวัดได้มากที่สุดก็รับกฐินจากรายนั้น เพราะปีหนึ่งรับกฐินได้ครั้งเดียว นี่คือวิธีคิดและพฤติกรรมที่แพร่หลายทั้งโยมและพระ
ผลกระทบต่อธรรมชาติ สังคม และชีวิต
อาตมาขอใช้เวลามากสักหน่อยกับการอธิบายเรื่องบริโภคนิยม เพราะคิดว่ามันมีผลกระทบอย่างมาก ทั้งในแง่ธรรมชาติ สังคม และชีวิต
ในแง่ธรรมชาติ เมื่อทุกอย่างถูกทำให้เป็นสินค้า ทุกอย่างถูกนำไปส่งเสริมการผลิตและกระตุ้นการบริโภค ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำธารก็ย่อมถูกทำลาย ถ้าไม่เกิดปัญหามลพิษ ก็เกิดปัญหา การขาดแคลนทรัพยากร อ่าวไทยตอนนี้ก็แทบไม่เหลือปลาให้จับกิน ต้องใช้อวนลากอวนรุน ซึ่งทำลายระบบนิเวศอย่างมาก อีกทั้งทำลายพันธุ์ปลาอย่างรวดเร็ว ถามว่าถ้าปลาหมดแล้ว ทำอย่างไร คำตอบของชาวประมงเหล่านี้ก็คือย้ายไปที่อื่น หรือไม่ก็ไปทำอาชีพใหม่ไป เช่น ทำร้านน้ำแข็งหรือไปขายแฟรนซ์ไชน์ส้มตำที่ไหนก็ได้ แต่คนรุ่นหลังจะเดือดร้อนอย่างไรไม่ค่อยมีใครสนใจกัน
ในแง่ผลกระทบทางสังคมก็คือ ความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้รับผลกระทบ เกิดความเดือดร้อนโดยเฉพาะคนยากคนจน อย่างในทะเลสาบสงขลา เมื่อเรือประมงกวาดเอาปลากะตักโดยใช้วิธีที่ไม่คำนึงธรรมชาติ ปลาชนิดอื่นก็ถูกทำลายไป ชาวประมงรายย่อยก็ย่อมเดือดร้อน จับปลาไม่ได้ เมื่อมีการสร้างเขื่อน ก็มักตามมาด้วยการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ เมื่อมีการปิดป่าเพื่อให้เอกชนทำสวนป่ายูคาลิปตัส ชาวบ้านที่เป็นคนเล็กคนน้อยก็ไม่มีที่ทำกินหรือไม่มีโอกาส เข้าป่าเพื่อหาของป่า ชีวิตความเป็นอยู่ถูกกระทบกระเทือน เวลานี้คนจำนวนไม่น้อยถูกกระแส การพัฒนาทำร้ายเพียงเพื่อตอบสนองการบริโภคของคนจำนวนน้อย ชาวบ้านเหล่านี้ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ หรือสูญเสียทรัพยากรที่เขาได้เคยใช้ร่วมกับคนอื่น ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนรวยก็รวยขึ้น ขณะที่คนจนก็จนลง
ผลทางสังคมอีกประการหนึ่งก็คือทุนทางสังคมหมดไป ทุนทางสังคมได้แก่วัฒนธรรม ประเพณี คือความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อ อาตมาได้อ่านหนังสืองานศพเล่มหนึ่ง ผู้แต่งเล่าถึงชีวิตของแม่เมื่อเขายังเด็ก แม่เป็นคนอำเภอสทิงพระ ตอนเด็ก ๆ เห็นแม่ตำข้าวทุกวัน ลูกถามว่า แม่ตำข้าวทำไม แม่บอกว่าหมู่บ้านนี้มีคนไปใครมาเยอะ บางครั้งมีคนแปลกหน้าผ่านมา เขาไม่มีที่ไปเพราะสมัยนั้นไม่มีโรงแรม การคมนาคมก็ไม่ดี แม่บอกว่าแม่ตำข้าวเพื่อต้อน รับคนแปลกหน้าที่ต้องมาค้างคืนในหมู่บ้านก่อนที่จะเดินทางต่อไป ลูกก็ถามว่า "แล้วแม่ไม่กลัว คนพวกนี้มาเป็นโจรเป็นขโมยหรือ" แม่บอกว่า "เขาไม่ปล้นไม่ขโมยคนที่ให้ข้าวให้น้ำหรอก" ความเอื่อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตาแม้กระทั่งกับคนที่ไม่รู้จัก เป็นทุนทางสังคมอย่างหนึ่งซึ่งเมืองไทยเคยมีมาก แต่บริโภคนิยมได้ทำลายสิ่งนี้ไปเกือบหมดสิ้น เพราะคนไม่มีเวลาให้แก่กันแล้ว แม้กระทั่งพ่อแม่ก็ไม่มีเวลาให้กับลูก เพราะต้องตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินเพื่อให้ได้เงินเยอะ คิดว่ามีเงินเยอะแล้วก็จะสุขสบายไปเอง ความเชื่อและวิถีชีวิตแบบนี้ทำลายทุนทางสังคมไปเกือบหมดสิ้น หรือไม่ก็แปรทุนทางสังคมให้กลายเป็นสินค้า เพื่อดูดเงินจากนักท่องเที่ยว เช่น โฆษณาว่ามาท่องเที่ยวที่หมู่บ้านนี้กันดีกว่าเพราะผู้คนมีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พอคนแห่เข้ามา มาก ๆ ชาวบ้านก็มีน้ำใจไม่ไหวต้องเลิกไป หรือไม่ก็ต้องเรียกเงินเป็นค่าเสียเวลา ความเอื่อเฟื้อเผื่อแผ่ก็ต้องหมดไปในที่สุด
สังคมที่ไหนก็ตามอยู่ได้ก็เพราะทุนทางสังคม จะว่าไปแล้ว บริโภคนิยมหรือทุนนิยมทุกวันนี้ก็ต้องอาศัยทุนทางสังคม เช่น ความซื่อสัตย์ ธุรกิจและเศรษฐกิจดำเนินไปได้ไม่ใช่เพราะว่ามีน้ำ มีไฟ มีไม้ มีปลา มีทรัพยากรที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้เท่านั้น แต่ยังอยู่ได้เพราะความซื่อสัตย์และความไว้วางใจกันของคนในสังคม ลองคิดดูว่าถ้าผู้คนทุจริตทุกหย่อมหญ้า จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจ วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดกับเมืองไทยเมื่อปี ๒๕๔๐ เกิดจากอะไรหากไม่ใช่เพราะการทุจริตคดโกงอย่างมหาศาล ในสถาบันการเงิน ทั้งของเอกชนและของรัฐกันระดับมหาศาล เช่นการแอบให้เงินกู้แก่เพื่อนพ้องโดยไม่มีอะไรค้ำประกัน
เห็นแล้วยังว่าแม้กระทั่งทุนนิยมก็อยู่ได้ด้วยทุนทางสังคม อย่างน้อยก็ต้องอาศัยความไว้ เนื้อเชื่อใจกัน ปัญหาก็คือทุนนิยมและบริโภคนิยมเอาแต่ใช้ประโยชน์จากทุนทางสังคม แต่ไม่มีการบำรุงให้เกิดทุนทางสังคมเพิ่มเติม ของที่คุณใช้ไปเรื่อย ๆ แต่ไม่เติมกลับเข้าไป ย่อมมีแต่จะหดหายไปจนหมดในที่สุด เวลานี้บริโภคนิยมใช้ทุนทางสังคมไปมากแล้ว แม้แต่ศาสนาก็ถูกเอามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต แต่ไม่มีการบำรุงหรือสร้างขึ้นใหม่ชดเชย ทุนทางสังคมจึงเหลือน้อยมาก ผลก็คือเดี๋ยวนี้ผู้คนไม่อยากมีน้ำใจกัน ทุกคนอยากเอาเวลาไปหาเงิน แม้กระทั่งกับลูก ๆ ก็ไม่มีเวลาให้ เพราะเงินกลายเป็นใหญ่ ผลร้ายที่ตามมายังมีอีกหลายประการเช่น อาชญากรรมแพร่ระบาด การฆ่าตัวตายสูงขึ้น เช่นเดียวกับการเกิดปัญหาหย่าร้าง ปัญหาเด็กจรจัด มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน รวมทั้งปัญหาโรคจิตโรคประสาท
ตำแหน่งหน้าที่ในระบบยุติธรรมเวลานี้แทนที่จะช่วยผดุงความยุติธรรมในสังคม ทำให้ สังคมสงบสุข กลับกลายเป็นสินค้าอีกแบบหนึ่งไปแล้วคือ ถ้าคุณไปอยู่ในระบบนี้แล้วคุณสามารถเล่นแร่แปรธาตุให้กลายเป็นตัวเงินขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา ตำรวจ หรืออัยการ จะว่าไปตำแหน่งต่าง ๆ ในระบบราชการหรือการเมือง ล้วนเป็นช่องทางหาเงินได้ทั้งนั้น แม้กระทั่งเป็นหัวหน้ารปภ.ในทำเนียบ ไม่ต้องพูดถึงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือหรือนายกฯ คุณสามารถ แปรเป็นตัวเงินได้หมด ระบบมันเสียไปแล้ว เพราะระบบเหล่านี้จะอยูได้ก็ต่อเมื่อผู้คนเชื่อมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต แต่เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นแหล่งรายได้ที่คนข้างนอกพยายามแย่งชิงมาให้ได้ วิธีหนึ่งก็คือการซื้อตำแหน่ง ผลตามมาก็คือระบบบิดเบี้ยวไปหมด เวลานี้เมืองไทยบิดเบี้ยวไปทั้งประเทศ เราจึงได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่คอรัปชั่นกันมากที่สุดอันดับที่สี่ของเอเชีย เมื่อเร็ว ๆ นี้องค์กรความโปร่งใสสากลระหว่างชาติได้ทำดัชนีชี้วัดความคอรัปชั่น เขาจัดไว้ ๔๐อันดับ เดนมาร์กซื่อสัตย์สุจริตเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ ๓๓ รองลงมาคือ จากาต้า ไนจีเรีย และคาเมรูนซึ่งชาวบ้านเรียกว่าเป็นกาฬทวีป แม้แต่ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีความวุ่นวายมากกว่าเรา ก็ยังมีความโปร่ง ใสและซื่อสัตย์ มากกว่าเรา
ศาสนาบริโภคนิยม
บริโภคนิยมและการถือเงินเป็นใหญ่ได้ทำให้ระบบทุกอย่างผันผวนไปหมด ที่พูดมา ตั้งเยอะตั้งแยะต้องการจะบอกอะไร มันมีประเด็นเดียวที่เราน่าจะคิดกัน คือในเมื่อบริโภค นิยมมันมีผลเสียมากมายมากขนาดนี้ ทำไมมันถึงยังแพร่หลายได้เรื่อย ๆ ทำไมจึงเป็นลัทธิ ความเชื่อที่แพร่สะพัดไปทั่วโลกได้ ทำไมจึงมีอิทธิพลมากกมายในเมืองไทย ทั้ง ๆ ที่มีโทษมากมาย ถึงเพียงนี้
บางคนอาจจะตอบว่า เพราะมีกลุ่มผลประโยชน์ที่พยายามรักษาบริโภคนิยมเอาไว้ บรรษัทข้ามชาติต้องการขยายอิทธิพลก็เลยต้องเผยแพร่บริโภคนิยมให้คนหลงติดกับดัก อันนี้ก็ถูก แต่อาตมาคิดว่าตอบแค่นี้ยังไม่พอ อีกเหตุผลหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่า ถ้าพูดกันอย่างง่าย ๆ คือมันได้กลายเป็นศาสนาของคนจำนวนมากไปแล้ว เมื่อผู้คนไปยึดถือมันประหนึ่งศาสนาแล้ว ก็เลยไม่สามารถปฏิเสธสิ่งนี้ได้ เวลานี้บริโภคนิยมกลายเป็นศาสนาอย่างหนึ่งไปแล้ว อาตมา ไม่ได้พูดอย่างตีฝีปาก สิ่งใดจะเป็นศาสนาหรือไม่อาตมาคิดว่าต้องประกอบด้วยสามอย่าง
อย่างที่หนึ่ง คือท่าทีต่อสิ่งนั้น ใครก็ตามที่ยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ ยึดด้วยอำนาจอุปาทาน ยึดไว้ อย่างมั่นคง ยึดไว้อย่างเหนี่ยวแน่น ยอมเสียสละเวลาและทุ่มเทเพื่อสิ่งนั้น ขนาด ไม่เป็น อันหลับอันนอน นั่นแหละคือศาสนา คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนนับถือ พุทธศาสนาเป็นชีวิตจิตใจ เขายอมเสียสละทุ่มเททุกอย่างเพื่อพระศาสนา เวลาจะทำบุญก็ไม่เป็นอันกินอันนอน ยอมเสียเงินเสียทองหรืออุทิศลูกให้แก่พระศาสนาได้
ถามว่าเวลานี้คนจำนวนไม่น้อยเลยวันหนึ่ง ๆ อุทิศตัวให้กับบริโภคนิยมมากน้อยเพียงใด ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยอุทิศตัวให้กับบริโภคนิยมอย่างจริงจัง ไม่ได้หลับไม่ได้นอน แม้เมีย ขู่ว่าจะหย่าแต่ผัวก็ยังไม่เลิกหาเงินหรือทำกำไรอยู่นั่นแหละ ลูกจะบ่นจะร้องอย่างไรก็ไม่สนใจ เอาแต่ทำมาหากินเพื่อจะหาเงิน อุปาทานแบบนี้เป็นอุปาทานของศาสนา เป็นแรงยึดติดแบบศาสนา การเสียสละตนเพื่อบริโภคนิยมเป็นท่าทีแบบศาสนา
ประการที่สอง ดูที่แรงจูงใจ อย่างที่อาตมาในพูดไว้ว่า ทุกวันนี้ผู้คนเข้าหาบริโภค นิยมไม่ใช่แค่ต้องการความสุขทางกายเท่านั้น เขาต้องการมีเงินมาก ๆ มีของ เสพมาก ๆ ไม่ใช่เพราะต้องการความสะดวกสบายทางวัตถุเท่านั้น แต่เพราะต้องการตัวตนใหม่ ศาสนาทั้งหลายก็ล้วนเป็นไปเพื่อสร้างตัวตนใหม่ที่พึงปรารถนา ทางพุทศาสนาอาจเป็นข้อยกเว้นที่มุ่งพัฒนาบุคคลไปจนข้ามตัวตนได้ แต่ศาสนาจำนวนไม่น้อยยังเชื่อเรื่องตัวตนอยู่ ก็เลยมุ่งการสร้างตัวตนใหม่ ให้ประณีตหรือดีขึ้น บริโภคนิยมทำตรงนี้เหมือนกัน คนจำนวนมากต้องการวัตถุหรือสิ่งเสพมาก ๆ ก็เพราะต้องการเป็นคนใหม่ทั้งในความรู้สึกของเขาและในสายตาคนอื่น ที่สำคัญก็คือคนส่วนใหญ่เข้าหาบริโภคนิยมเพื่อความมั่นคงทางจิตใจ
ความมั่นคงทางจิตใจมีหลายขั้น ในขั้นพื้น ๆ คือ ขั้นที่ปลอดภัยจากอันตรายหรือ การคุกคาม อันนี้ไม่ใช่บริโภคนิยม บริโภคนิยมไม่ได้ทำหน้าที่อย่างนี้ แต่สนองความต้องการในจิตใจโดยให้สิ่งที่เราคิดว่าเป็นหลักประกันของชีวิต บริโภคนิยมทำหน้าที่ตรงนี้ คือ ถ้ามีวัตถุบางอย่างแล้วคุณจะรู้สึกมีความมั่นใจ เช่น ถ้าคุณมีเงินมาก ๆ ในธนาคาร คุณจะรู้สึกมั่นใจ ถ้ามีเงินน้อย เริ่มจะไม่มั่นใจแล้ว เหมือนขับรถ ถ้ามีประกันคุณจะรู้สึกมั่นใจในการขับ แต่ถ้าไม่มีประกันก็จะกลัว ตัวลีบ ยิ่งถ้าไม่มีพรบ.ประกันภัยบุคคลที่สามด้วยแล้ว จะขับไม่ค่อยสนุกแล้ว แต่ถ้ามีประกันชั้นหนึ่ง ก็จะขับเต็มที่ เหยียบคันเร่งด้วยความมั่นใจ เจอตำรวจที่ไหนก็ไม่กลัว มีอุบัติเหตุก็ไม่วิตก เดี๋ยวเรียกตัวแทนประกันมาจัดการก็เรียบร้อย หลักประกันทำให้เรารู้สึกมั่นคงในจิตใจ บริโภคนิยมทำให้เรารู้สึกว่ามีหลักประกันแบบนี้ จึงรู้สึกมีความมั่นคงในจิตใจ
ความมั่นคงในจิตใจที่ลึกที่สุดคือความรู้สึกว่าชีวิตของคุณมีคุณค่ามีความหมาย ตรงนี้บริโภคนิยมก็ให้สัญญาว่าชีวิตของคุณจะมีคุณค่าและความหมายถ้าคุณมีวัตถุสิ่งเสพมาก ๆ โดยเฉพาะสินค้ายี่ห้อดัง ๆ มันทำให้คุณรู้สึกว่าชีวิตมีเข็มมุ่ง มีเป้าหมาย เป้าหมายที่ว่าก็คือ ชีวิตนี้เราต้องรวยให้ได้ อย่างน้อยต้องมีคฤหาสน์ มีรถราคาสิบล้าน บริโภคนิยมทำให้นักเรียนมีเข็มมุ่งในการเรียน นักศึกษาจำนวนไม่น้อยในเวลานี้เรียนอย่างเต็มที่เพราะตั้งเป้าว่าจบแล้ว ต้องรวย แต่ก่อนไม่เคยนึกตรงนี้ เรียนไปเล่นไป บางทีก็หนีเรียน แต่พอมีจุดเป้าหมายในชีวิตว่าจะต้องรวย ก็เลยเรียนแบบทุ่มเท แม่บอกให้พักก็ไม่ยอมพัก เพราะตั้งเป้าว่าจะต้องเข้ามหาวิทยาลัยดัง ๆ จะได้รวยไว ๆ ลองสังเกตดูสำนักกวดวิชาทั้งหลายแทบไม่มีคนหนีเรียนเลย ทั้ง ๆ ที่เก็บแพงคนก็ยังแห่ไปเรียนกันมากมาย ผิดกับตอนเด็ก ๆ อยากจะหนีเรียน แต่โรงเรียนกวดวิชา ไม่มีใครหนีเลย ทั้งที่ ๆ ห้องเรียนก็แออัดยัดเยียด ทั้งนี้ก็เพราะเขามีเข็มมุ่ง คือ อยากสอบเอนทรานซ์ เข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ จบแล้วจะได้รวย คนจำนวนมากคิดอย่างนั้น บริโภคและวัตถุนิยมทำให้ชีวิตมีเป้าหมายและมีความหมาย ศาสนาก็ทำหน้าที่นี้เช่นกัน คือทำให้ชีวิตมีเป้าหมาย เพราะถ้ามีเป้าหมายแล้วชีวิตจะมีคุณค่า ถูกหรือผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่งลึกลงไปกว่านั้น อาตมาคิดว่าสัญชาตญาณของคนเราต้องการตัวตนที่มั่นคงและยั่งยืน สมัยก่อนความเชื่อเรื่องชาติหน้า ทำให้คนเราไม่กลัวตายเพราะเราถือว่าพอตายไปแล้วก็ไปเกิด ใหม่ได้ ระยะหลังคนไม่ค่อยเชื่อเรื่องชาติหน้าแล้ว ทีนี้จะทำอย่างไร เพราะลึก ๆ คนเราไม่ต้องการให้ตัวตนสิ้นสุดที่ชาตินี้ ปัญหานี้แต่ก่อนแก้ด้วยการเอาประเทศชาติมาแทนที่ชาติหน้า ประเทศชาติ เป็นตัวตนใหม่ที่จะคงอยู่เป็นนิรันดร์แม้เราจะตายไปแล้ว การมีประเทศชาติทำให้เราเชื่อว่าตายไปแล้วตัวตนของเรายังไม่ขาดสูญ เพราะมีชาติทำหน้าที่สืบต่อตัวตนของเรา ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงยอมตายเพื่อประเทศชาติได้ ทำให้ไม่กลัวตาย แต่ระยะหลังคนไม่ค่อยศรัทธาในชาติ เสียแล้ว ถ้าเช่นนั้นจะมีอะไรมาเป็นสิ่งที่สืบต่อตัวตนได้ คนจำนวนไม่น้อยเอาบริษัท มาเป็นตัวตนแทน จึงยอมตายเพื่อบริษัท ทุ่มเททำงานทั้งวันทั้งคืนเพื่อบริษัท โดยไม่สนใจลูกเมียอย่างในญี่ปุ่น พวกนี้ยอมตายเพื่อบริษัท ทุกเช้าจะมีการเข้าแถวร้องเพลงเชิดชูบริษัท คนไทยเรายังไม่ถึงขั้นนี้ เราจึงเอาอย่างอื่นมาแทน เช่นเอาชื่อเสียงวงศ์ตระกูลมาสำหรับสืบต่อตัวตนแทน ทำให้เรายอมตายเพื่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูล แต่เมื่อสิ่งนี้เริ่มคลายความศักดิ์สิทธิ์ ส่วนหนึ่งก็เพราะลัทธิปัจเจกนิยมมีอิทธิพลมากขึ้น ผู้คนก็หันไปเอาวัตถุมาเป็นสิ่งที่สืบต่อตัวตนแทน คิดจะฝากตัวตนไว้กับวัตถุแทน เพราะวัตถุนั้นมันมีลักษณะอาการที่มั่นคง ยั่งยืน บัญชีเงินในธนาคารก็ดี ตึกรามบ้านช่องก็ดี มันให้ความรู้สึกว่าเป็นตัวตนที่มั่นคง ถ้าเอาตัวตนไปผูกติดกับสิ่งนี้ ตัวตนของเราก็จะดูมั่นคงไปด้วย และอาจรู้สึกไปถึงขั้นว่ามันจะสืบต่อตัวตนของเราให้เป็นนิรันดร์ได้ ตรงนี้เป็นแรงผลักดันลึก ๆ ที่ทำให้ผู้คนนับถือบริโภคนิยม มันเป็นแรงผลักดันอย่างเดียวกับที่ทำให้ผู้คนเข้าหาศาสนา เป็นแรงผลักดันที่ลึกมาก สามารถเรียกได้ว่าเป็นแรงผลักดันทางจิตวิญญาณ
สมัยก่อนผู้คนเข้าหาศาสนาหรือเข้าหาพระเจ้า เพราะเชื่อว่าพระเจ้าจะเป็นสิ่งที่เขา สามารถฝากตัวตนเอาไว้ได้ มีหลายศาสนาที่บอกว่าตายแล้วจะไปพบกับพระเจ้า หรือตัวตนของเราจะไปรวมกับปรมาตมันซึ่งเป็นตัวตนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ศาสนาแบบนี้ช่วยให้ผู้คนเกิดความมั่นใจว่าตายแล้วตัวตนจะไม่สูญ แต่จะสืบต่อในลักษณะที่มั่นคงยั่งยืนเป็นนิรันดร์ ศาสนาแบบนี้ช่วยตอบสนองความต้องการส่วนลึกที่ต้องสืบต่อตัวตนอย่างถาวร ตอนหลังความเชื่อเหล่านี้เสื่อมอิทธิพลไป แต่สิ่งที่ยังไม่หมดไปก็คือความต้องการมีตัวตนที่สืบเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงหันไปฝากฝังตัวตนกับวัตถุแทนเพราะมันดูมั่นคงแข็งแรงดี วัตถุจึงกลายเป็นสรณะของคนสมัย ใหม่แทนศาสนา อันนี้คือความต้องการทางจิตวิญญาณที่อยู่เบื้องหลังความเฟื่องฟูของบริโภคนิยม
เนื่องจากผู้คนเข้าหาบริโภคนิยมเพื่อหวังที่จะได้รับการตอบสนองทางจิตวิญญาณอย่างที่กล่าวมา อาตมาจึงเรียกบริโภคนิยมว่าเป็นศาสนาอย่างหนึ่ง
ประการที่สามก็คือพิธีกรรมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาสนาทุกศาสนาต้องมีพิธีกรรม ต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บริโภคนิยมก็มีพิธีกรรมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน เทศกาลลดราคาหรือลดแลกแจกแถมเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของบริโภคนิยม มีแล้วไม่ไปได้ไหม ไม่ไปไม่ได้ พอถึงปลายปีก็มีเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ ต้นปีก็มีวันวาเลนไทน์ พวกนี้เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของบริโภคนิยมไปแล้ว เทศกาลนี้มาถึงเมื่อไหร่ ก็ต้องเข้าห้างไปช็อปปิ้งกัน ถ้าไม่ทำก็รู้สึกผิดปกติอยู่ไม่เป็นสุข
ส่วนพิธีกรรมประจำสัปดาห์ ก็คือการเข้าศูนย์การค้าทุกเสาร์อาทิตย์แทนการเข้าวัด นี่คือพิธีกรรมที่คุณขาดไม่ได้ พิธีกรรมอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ พิธีกรรมคอนเสิร์ต เวลานี้หนุ่มสาวไปคอนเสิร์ตเหมือนเข้าร่วมพิธีทางศาสนาเลย เวลาหนุ่มสาวไปฟังคอนเสิร์ตมันจะให้ความรู้สึกที่เรียกได้ว่าเป็น "ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ" เป็นความรู้สึกปีติ และลืมตัวตน เหมือนกับว่าตัวตนได้สลายไปในฝูงชน ตัวตนได้หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เมื่อตัวตนหลอมรวม เป็นหนึ่งเดียว จะรู้สึกโปร่งเบามากเลย ความทุกข์ทั้งหลายมลายหายไป เพราะไม่มีตัวตนให้ห่วงพะวงอีกต่อไป มันเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่ไม่ต่างจากการร่วมพิธีทางศาสนาที่มีคนเยอะ ๆ มันไม่ใช่แค่สนุกอย่างเดียว คนเฒ่าคนแก่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ จะว่าไปนี่ก็เป็นประสบการณ์อย่างเดียวกันเวลาไปร่วมชุมนุมประท้วงติดต่อกันนาน ๆ คนที่ร่วมเหตุการณ์แบบนี้ถึงจุดหนึ่งจะไม่ไม่กลัวตาย แต่จะยอมตายหากพวกของตัวถูกคนภายนอกก่อกวนหรือคุกคาม ในภาวะเช่นนั้นผู้คนยอมตายได้เพื่อเพื่อนฝูง ยอมตายได้เพื่อฝูงชน เพราะฝูงชนได้กลายเป็นตัวตนของตัวไปแล้ว คงไม่ต่างจากมดที่ยอมตายเพื่อปกป้องรังของมัน
คนเราเมื่อลืมตัวตนหรือเอาตัวตนไปฝากไว้กับฝูงชนแทน จะไม่กลัวตาย ใครที่เคยร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือร่วมคอนเสิร์ต จะรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน นี่คือสภาวะหรือประสบการณ์ที่สามารถจัดได้ว่าเป็น "ประสบการณ์ทางศาสนา" มันทำให้ผู้คนหลุดพ้นจากตัวตนเดิมที่คับแคบ กลายมามีมีตัวตนใหม่ที่มั่นคงและใหญ่กว่าเดิม ทำให้เกิดสภาวะที่อบอุ่น มั่นคง เบาสบาย นี่คือพิธีกรรมทางศาสนาของคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นการฟังเพลงจากเท้ปหรือจากซีดี จึงไม่ถึงใจเท่ากับไปฟังคอนเสิร์ตโดยเฉพาะเมื่อได้ร่วมเต้นกันเป็นพัน ๆ คน ดูโทรทัศน์ยังไงก็ไม่ให้ความรู้สึกเท่ากับการที่ไปเป็นส่วนหนึ่งของคอนเสิร์ต คอนเสิร์ตจึงกลายเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ของศาสนาบริโภคนิยม
แล้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบริโภคนิยมคืออะไร สมัยก่อนสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือพระธาตุ สมัยนี้ ต้อง เป็นลายเซ็นดาราใช่ไหม ยิ่งเป็นดารานอกยิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหญ่ เดี๋ยวนี้แม้แต่กางเกงชั้นในของดาราฟุตบอลอย่างเบ็คแคมที่ยังไม่ได้ซัก ใคร ๆ ก็อยากได้ เวลาเขามาเมืองไทยหรือไปเมืองจีน เสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ของเขาในโรงแรมมีคนแย่งกันประมูล ยอมจ่ายเงินเป็นหมื่นเป็นแสน พวกนี้ให้ความรู้สึกทางจิตใจแก่คนรุ่นใหม่ ไม่ต่างจากที่ชานหมากหรือน้ำบ้วนปากของเกจิอาจารย์ชื่อดังมีสำหรับคนเฒ่าคนแก่ ของใช้พวกนี้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปได้ก็เพราะคนรุ่นใหม่เห็นดาราเหล่านี้ไม่ต่างจากพระเจ้า พอนักร้องดนตรีเอ็กซ์แจเปนฆ่าตัวตาย วัยรุ่นญี่ปุ่นหลายคนก็ฆ่าตัวตายตามเหมือนกับพลีชีพเพื่อพระเจ้า
ที่ทางของศาสนาในยุคบริโภคนิยม
มาถึงจุดนี้แล้ว คำถามมีอยู่ว่า แล้วศาสนาจะไปอยู่ตรงไหน เราเคยเชื่อกันว่า ถ้าวัตถุนิยมหรือบริโภคนิยมมา ศาสนาหมด อาตมาก็เคยเชื่อเช่นนั้น แต่หลังจากที่ได้ศึกษาค้นคว้าและมีประสบการณ์ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ชักไม่ค่อยแน่ใจแล้วว่า บริโภคนิยมมาศาสนาจะหมด ยกตัวอย่างลาสเวกัส หลายคนคงนึกออกว่าเป็นแดนคาสิโน เป็นเมืองประโลมโลกแท้ ๆ เลย เต็มไปด้วยอบายมุขทุกอย่างเท่าที่จะมีได้ในโลกนี้ เช่น การพนัน ซ่องโสเภณี เหล้า แหล่งบันเทิงเริงรมย์ จะหายากหน่อยก็คือยาเสพติด ปรากฎว่าเมืองนี้มีโบสถ์ถึง ๕๐๐ แห่ง แสดงว่าแหล่งอบายมุขกับโบสถ์อยู่ด้วยกันได้ ศาสนาไม่หมด แต่ถูกเลี้ยงไว้เพื่อรับใช้บริโภคนิยม ลาสเวกัสต้องการโบสถ์ไปทำไม โบสถ์เป็นที่ต้องการมากในเมืองนี้เพราะว่าคนที่มาเที่ยวจากทั่วโลก เมื่อมาเล่นการพนันแล้ว มันต้องมีบางคนที่หมดตัวหรือล้มละลาย คนพวกนี้เวลาหมดตัวแล้วทำอย่างไร หลายคนคิดฆ่าตัวตาย บางคนก็อยากก่ออาชญากรรม เช่น ปล้นธนาคาร ตรงนี้แหละที่เป็นบทบาทของศาสนาในลาสเวกัส คือปลอบประโลมใจผู้คนจะได้ไม่คิดสั้น หรือไม่ก็ช่วยยับยั้งชั่งใจไม่ให้ไปปล้นใครเขา ถ้าอยากรวยก็ให้พยายามต่อไป อยากเล่นก็ไม่ว่า แต่อย่าฆ่ากันนะ บางทีก็ทำหน้าที่เตือนให้เพลา ๆ หน่อย อย่าเล่นแบบหน้ามืดตามัว นึกถึงครอบครัวบ้าง อย่าให้คนอื่นเดือดร้อนศาสนากลายเป็นตัวรับใช้บริโภคนิยม โดยทำให้ลาสเวกัสเป็นเมืองที่สงบสุข ไม่ค่อยมี อาชญากรรม พอไม่มีอาชญากรรม คนทั่วโลกก็นิยมไปเที่ยวไปเล่นการพนัน หลายคนก็ไปแต่งงานหรือฮันนีมูนกันที่นั่น ลองคิดดูว่าหากลาสเวกัสมีการฆ่าตัวตายไม่เว้นแต่ละวัน มีการปล้นจี้กันเกลื่อนเมือง ใครจะไปเที่ยว อบายมุขที่นั่นจะเจริญเฟื่องฟูได้อย่างไร ศาสนาทำหน้าที่เป็นตัวเบรกหรือเตือนสติผู้คน ทำให้สังคมสงบสุข เพื่อว่าเราจะได้บริโภคกันอย่างเต็มที่ นี่คือหน้าที่ของศาสนาในยุคบริโภคนิยม เป็นหน้าที่ที่จำเป็นต้องมีอยู่
อาตมาเคยไปญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นประเทศบริโภคนิยมอย่างยิ่ง แต่ปรากฏว่าศาสนาอยู่ได้ มีคนไปวัดเป็นประจำ หลายวัดมีคนเข้าไปสวดมนต์เยอะเยอะ ถามว่าเขามาสวดอะไร มาสวดขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาสนาเป็นที่ที่ให้ความหวังแก่เขา วัดจำนวนไม่น้อยเป็นที่ที่ให้ความหวังว่า คุณมีโอกาสรวย ถ้าคุณบวงสรวงอ้อนวอน ยิ่งอยากรวยมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากเท่านั้น เพราะยุคนี้มีความผันผวนมาก เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเฮงด้วย ในแง่นี้ศาสนาได้กลายเป็นตัวส่งเสริมบริโภคนิยมและวัตถุนิยมไปแล้ว
ในอีกด้านหนึ่งศาสนาก็ทำหน้าที่เสริมสร้างภาพลักษณ์หรือตัวตนให้ดูดีขึ้น เวลานี้ในอเมริกามีแฟชั่นใหม่ คือแฟชั่นสายประคำ สายประคำกำลังฮิตในอเมริกา นิตยสารไทม์เมื่อเร็ว ๆ นี้ลงภาพมาดอนน่า ริชาร์ด เกียร์ ริคกี้ มาร์ติน สวมสายประคำกัน ดูเหมือนจะเป็นสายประคำแบบพุทธมหายานหรือธิเบตด้วยซ้ำ อีกไม่นานวัยรุ่นทั่วโลกก็คงจะสวมสายประคำตามอย่างดาราดัง ๆ เหล่านั้น เดี๋ยวนี้พุทธศาสนากำลังเป็นที่นิยมในอเมริกามีดาราฮอลลีวู้ดหลายคนหันมานับถือ พุทธศาสนา ใครที่ชอบทำสมาธิภาวนา ก็ซื้อสายประคำมาใส่แบบธิเบต และมีความเชื่อว่าสายประคำแต่ละอย่างมีพลังบางอย่าง เช่น สีเขียวใส่แล้วการงานจะสำเร็จ สีม่วงใส่แล้วฉลาด สีน้ำตาลใส่แล้วบรรลุธรรมได้ง่าย
ตรงนี้คงเป็นคำตอบได้ว่าศาสนาในยุคบริโภคนิยมจะเป็นอย่างไร ศาสนาจะ ไม่สูญ แต่จะกลมกลืนกับบริโภคนิยม นี่พูดถึงศาสนาส่วนใหญ่ จะกลมกลืนกับบริโภคนิยม โดยมีการปรับเปลี่ยนหลักธรรมหรือเปลี่ยนจุดเน้นเพื่อให้สอดคล้องกับบริโภคนิยม พูดง่าย ๆ คือจะเป็น "ร่างทรงของบริโภคนิยม"กันมากขึ้น แม้ไม่ต้องพูดถึงธรรมกายเลยก็ได้ มีอีกหลายสำนักเลย ที่กลายเป็นร่างทรงของบริโภคนิยมไปแล้ว คือมีพระเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม แต่ว่าทั้งหมดนี้ล้วนตอบสนองบริโภคนิยม คือสนองความต้องการอยากร่ำรวย มีโชค ขณะเดียวกันก็เอาบุญหรือสัญลักษณ์ทางศาสนามาขาย เรื่องลดละกิเลสหรือความเห็นแก่ตัว เป็นอันเก็บไว้ก่อน ยิ่งนิพพานด้วยแล้ว ลืมไปได้เลย
นี้คือสิ่งที่กำลังจะเกิดกับพุทธศาสนาในเมืองไทย พุทธศาสนากำลังจะกลายเป็นร่างทรงของบริโภคนิยมมากขึ้น อย่าลืมว่าบริโภคนิยมตัวมันเองก็เป็นศาสนาอย่างหนึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนจะถือลัทธิบริโภคนิยมและสมาทานพุทธศาสนาไปในเวลาเดียวกัน ลัทธิบริโภค นิยมเวลานี้ไม่ได้เป็นแค่ไลพ์สไตล์หรือรูปแบบการดำเนินชีวิต มันไม่ใช่งานอดิเรกเหมือนกับการไปดูนกตกปลา เดินป่า หรือปั่นจักรยานเสือภูเขา งานอดิเรกอย่างนั้นเราสามารถทำไปพร้อม ๆ ในขณะที่ยังเป็นพุทธอยู่ได้ คุณยังเป็นพุทธอยู่ได้พร้อม ๆ กับที่ยังชอบเก็บของเก่าอยู่ แต่คุณทำอย่างนั้นกับบริโภคนิยมไม่ได้ เพราะบริโภคนิยมมันเป็นศาสนาหนึ่งไปแล้ว ถ้าคุณสมาทานศาสนา บริโภคนิยมอย่างเต็มตัวแล้ว คุณจะเป็นพุทธไม่ได้เลย และถ้าเป็นพุทธแล้วจะฝักใฝ่บริโภคนิยมอย่างเต็มตัวก็ไม่ได้
อยู่อย่างพุทธกลางกระแสบริโภคนิยม
อาตมามองลัทธิบริโภคนิยมเวลานี้คล้าย ๆ กับลัทธิผีในสมัยก่อน โดยหลักการสำคัญแล้วผีกับพุทธไปด้วยกันไม่ได้ แต่พุทธศาสนาเมื่อแพร่เข้ามาในเมืองไทยครั้งแรกนั้น ต้องเจอกับลัทธิผีซึ่งแพร่หลายมาก่อนแล้ว ทีนี้พุทธศาสนาจะทำอย่างไร ท่าทีของพุทธศาสนาคือไม่ต่อต้านหรือปฏิเสธลัทธิผี แต่พยายามกลมกลืนกับลัทธิผี โดยเอาความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์บางอย่างมาใช้ เอาผีบางตัวหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่างในลัทธิผีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา เช่น เอานาคหรือเจ้าพ่อเจ้าแม่ทั้งหลายเข้ามาเป็นผู้พิทักษ์พุทธศาสนา เช่นเดียวกับพระอินทร์ซึ่งมาจากคติพราหมณ์ก็ถูกกลืนเข้ามาเป็นพระอินทร์แบบพุทธ เป็นผู้พิทักษ์ความดี เวลาคนดีเดือดร้อน พระอินทร์ก็จะร้อนอาสน์ และต้องลงมาช่วยคนดี นี่เป็นคติพุทธที่เอาเทวดาแบบพราหมณ์มารับใช้ธรรมะ
อาตมาคิดว่าพุทธศาสนาเวลานี้ก็มีสภาพบางอย่างคล้าย ๆ กับสมัยก่อนตอนที่มาเจอลัทธิผีใหม่ ๆ ในดินแดนแถบนี้ ตอนนี้พูดได้ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนส่วนน้อย ศาสนาของคนส่วนใหญ่ในเมืองไทยตอนนี้คือบริโภคนิยม เราอาจจะบอกว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนา ประจำชาติก็ได้ แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือพุทธศาสนายังมีบริโภคนิยม เวลานี้ลัทธิบริโภคนิยมได้ครอบพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ จนเรียกได้ว่าบริโภคนิยมเป็นศาสนาประจำชาติที่แท้จริงไปแล้ว ไม่เชื่อก็ลองเปรียบเทียบจำนวนสถานเริงรมย์กับจำนวนวัด อย่างในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีผับ บาร์ คาราโอเกะ และซ่องเกือบ ๑,๓๐๐ แห่ง ขณะที่วัดมีไม่ถึง ๕๒๐ วัด ยิ่งจำนวนโสเภณีทั่วประเทศด้วยแล้วมีเกือบสิบเท่าของจำนวนพระ
ในเมื่อศาสนาบริโภคนิยมเป็นศาสนาคู่แข่งกับพุทธศาสนาแล้ว เราจะมีท่าทีอย่างไรกับบริโภคนิยม เราคงปฏิเสธบริโภคนิยมอย่างเด็ดขาดไม่ได้ เราต้องเกี่ยวข้องกับบริโภคนิยมอย่างปฏิเสธไม่ได้ ปัญหามีอยู่ว่าแล้ว เราจะเกี่ยวข้องกับบริโภคนิยมอย่างไรถึงจะถูกต้องเหมาะสม
เมื่อพูดถึงวิถีพุทธในยุคบริโภคนิยม อาตมาคิดว่ามีอยู่สามดับ คือ วิถีพุทธระดับบุคคล และวิถีพุทธในระดับสังคม กับวิถีพุทธในเชิงธรรมะและสถาบันเมื่อเราตระหนักว่าบริโภคนิยมกับ พุทธศาสนามันไปด้วยกันไม่ได้ในแง่หลักการ ขณะเดียวกันเราก็ปฏิเสธบริโภคนิยมไม่ได้เพราะ มันคือความจริงของสังคมไทยเวลานี้ ในทางปฏิบัติคงมีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ปฏิเสธบริโภค นิยมได้ อาจมีคนบางคนหรือพระบางรูปเท่านั้นที่ทำได้ อย่างพระป่าหรือคนที่เป็นแกนกลางของ สันติอโศกคงทำเช่นนี้ได้ แต่คนอย่างนี้จะมีน้อย คนส่วนใหญ่จะต้องเกี่ยวข้องกับบริโภคนิยม อย่างน้อยคุณต้องใช้เงินซื้ออาหารและของใช้ ต้องดูโทรทัศน์หรือเจอโฆษณาที่กระตุ้นให้คุณบริโภคตลอดเวลา
ในเมื่อเราหรือคนส่วนใหญ่ต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม เราจะรักษาความเป็นพุทธไว้ได้อย่างไร และเราจะมีหลักการในการเกี่ยวข้องกับบริโภคนิยมอย่างไร หลักการที่คิดว่าสำคัญคือสันโดษ และหลักการอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกันเช่น เรื่องอิสรภาพ การพึ่งตน การฝึกตน อิสรภาพในที่นี้หมายถึงอิสรภาพทางจิตวิญญาณ พึ่งตนและฝึกฝนตนคือเรื่องไตรสิกขา อาตมาเชื่อว่าเราต้องจับหลักการนี้ให้ได้ ถ้าจะอยู่อย่างพุทธเราต้องยึดหลักตรงนี้ไว้ให้มั่นคง คราวนี้เราต้องมาดูว่า ถ้ายึดหลักดังกล่าวเอาไว้เราจะฝึกฝนตนอย่างไรถึงจะเจริญก้าวหน้า ถึงจะไม่ถูกบริโภคนิยมครอบงำ อาตมาคิดว่าคงต้องซอยออกมาสามส่วนคือศีล สมาธิ ปัญญา
ศีลเป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรม อาตมาคิดว่าลำพังศีลห้า คงไม่พอที่จะทำให้เราเผชิญ หน้ากับบริโภคนิยมได้ ศีลห้าไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่พูดจาส่อเสียด ไม่ดื่มน้ำเมา อาจมีศีลข้อสามและข้อสุดท้ายที่กันเราไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับ อบายมุขซึ่งกำลังเต็มบ้านเต็มเมือง แต่ว่าเท่านี้ยังไม่พอ อาตมาคิดว่าที่ผ่านมาเราไปยึดติดกับ ศีลห้ามากเกินไป แล้วคิดว่าเพียงศีลห้าเท่านั้นก็พอ ที่จริงในสมัยพุทธกาลให้ความสำคัญกับ กุศลกรรมบถสิบมากกว่าศีลห้าด้วยซ้ำ กุศลกรรมบถสิบครอบคลุมศีลสี่ข้อแรก และรวมถึงการวางจิตใจให้ถูกต้อง คือไม่คิดเอาของเขา หรือไม่โลภนั่นเอง แล้วก็ไม่มีจิตพยาบาทคือไม่โกรธ และที่สำคัญคือมีความเห็นที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ จะเห็นว่ากุศลกรรมบถสิบกว้างขวางและลุ่มลึกกว่าศีลห้ามาก
อาตมาคิดว่าถึงเวลานี้เราจำต้องมีวัตรปฏิบัติที่เข้มงวดที่จะช่วยให้เราต้านทานกับแรง ดึงดูดของบริโภคนิยมได้ อาตมายอมรับว่าบริโภคนิยมมีแรงดึงดูดมาก มันมีเสนห่ที่ดึงดูดใจผู้คนมาก เสน่ห์ของบริโภคนิยมมีอยู่สี่ประการคือ
๑. เสรีภาพ
๒. ความหลากหลาย
๓. ความสะดวกหรือความเพลิดเพลิน
๔. อำนาจหรือสถานภาพ
บริโภคนิยมทำให้เราเชื่อว่าเรามีเสรีภาพมากมายที่จะซื้อหาอะไรก็ได้ จะเสพอะไรก็ได้ จะมีไลฟ์สไตล์แบบไหนก็ได้ บริโภคนิยมให้เสรีภาพมากมายจนเรารู้สึกว่าเรามีอำนาจ แต่เสรีภาพที่ว่าเป็นเสรีภาพลวงตา เป็นเสรีภาพที่ในขอบเขตจำกัด เสรีภาพในยุคบริโภคนิยมคือเสรีภาพที่จะเลือกซื้อยาสีฟันยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งก็ได้ในจำนวนสองร้อยยี่ห้อที่มีขาย แต่ถ้าคุณไม่ใช้ยาสีฟัน คุณสามารถหาหรือทำยาสีฟันแบบอื่นมาใช้แทนได้หรือไม่ บริโภคนิยมทำให้เราคิดว่าเรามีเสรีภาพในการเดินทาง จะไปไหนมาไหนก็ได้ในเมืองไทยหรือในโลก แต่ถามว่าถ้าคุณไม่ใช้รถ คุณจะใช้เกวียนได้ในกรุงเทพฯ คุณไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ นั่นเป็นเสรีภาพแบบจำกัด แต่คนคิดว่าเป็นเสรีภาพจริง
ประการที่สอง คือความหลากหลาย ความหลากหลายทำให้เรารู้สึกว่าทำอะไรก็ได้ คนสมัยนี้ ต้องการความหลากหลาย อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่ามีเสรีภาพ จะฟังดนตรีแบบไหนก็มีให้เลือกฟังได้มากมาย ไม่ว่าลูกทุ่ง ลูกกรุง แจ๊ซ ป๊อป พังค์ เฮฟวี่ เรกเก้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ตราบใดที่มีคนพร้อมจะจ่ายเงินซื้อเท้ปหรือตั๋วเข้าชม แต่ถ้าไม่มีเงินก็หมดสิทธิ จะเล่นเองก็เล่นไม่เป็นเสียแล้ว
ประการที่สาม คือความสะดวกสบายและความเพลิดเพลิน บริโภคนิยมทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตนี้มีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่เราไม่ค่อยได้คิดว่าเราต้องสูญเสียอะไรไปบ้างเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย รถยนต์ทำให้เราเดินทางได้สะดวกขึ้น แต่กลับทำให้เราต้องมีเวลาว่างน้อยลงเพราะต้องทำมาหากินเพื่อไปผ่อนรถ รวมทั้งเสียเวลาดูแลรถ หาที่จอดรถเวลาเข้าเมือง ไม่ต้องพูดถึงการพึ่งลำแข้งตัวเองได้น้อยลง จะไปแค่ปากซอยก็ต้องขับรถแล้ว เดินเองไม่เป็น โทรศัพท์มือถือก็เช่นกัน เราติดต่อใครได้สะดวกขึ้นก็จริง แต่เราก็สูญเสียความเป็นส่วนตัวไปได้ และทำให้คนในครอบครัวเหินห่างกัน ไม่ค่อยมีเวลาพูดคุยหรือเจอหน้ากัน นอกจากนั้นยังทำให้เราคอยกันไม่เป็นแล้ว ใกล้ถึงเวลานัดแต่ยังไม่เห็นหน้าก็โทรไปถามแล้วว่าอยู่ไหน หลายคนต้องทะเลาะกันก็เพราะเวลาไม่พอใจอะไร ก็รีบโทรไปด่าแล้ว แทนที่จะสะกดกลั้นอารมณ์ไว้ก่อน แต่ก่อนเราต้องใช้โทรศัพท์สาธารณะหรือโทรศัพท์บ้าน กว่าจะเดินไปหาโทรศัพท์ อารมณ์ก็เย็นลงแล้ว แต่เดี๋ยวนี้โทรศัพท์มือถือทำให้ผู้คนระบายอารมณ์ดิบ ๆ ใส่กันมากขึ้นอย่างไม่ยั้ง
ประการที่สาม คืออำนาจ คุณซื้ออะไรก็ตามคุณจะรู้สึกว่าคุณมีอำนาจในสิ่งนั้น คุณซื้อหมาคุณก็มีอำนาจในตัวหมา คุณซื้อรถคุณก็มีอำนาจในตัวรถ คนสมัยนี้ต้องการมีอำนาจ และการได้เป็นเจ้าของอะไรสักอย่างหนึ่งทำให้รู้สึกมีอำนาจ แม้ไม่ได้ซื้ออะไรสักอย่าง เพียง แต่ไปใช้บริการก็รู้สึกมีอำนาจ เมื่อคุณอยู่บนรถทัวร์หรืออยู่บนเครื่องบิน คุณรู้สึกยืดได้เต็มที่ เพราะมีคนมาคอยให้บริการคุณ เสิร์ฟน้ำและอาหารให้คุณ จะสั่งอะไรเขาก็ต้องทำให้คุณ เรารู้สึกยืด แต่พอลงรถหรือลงจากเครื่องบินก็รู้สึกจ๋อยเพราะต้องหิ้วกระเป๋าเอง
ช็อปปิ้งเป็นยาเสพติดอีกอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธยาก แม้แต่พระเวลามาหาดใหญ่ยังต้องต่อสู้กับแรงดึงดูดให้ไปช็อปปิ้ง ในกระแสแบบนี้เราต้องมีวินัย หรือมีข้อวัตรในการช็อปปิ้ง เช่น กำหนดตัวเองว่าจะช็อปปิ้งได้เดือนละครั้งหรือเข้าศูนย์การค้าได้อาทิตย์ละครั้ง หรือว่าจะไม่เข้า ศูนย์การค้าตราบใดที่ยังไม่มีรายการสินค้าที่จะซื้อ ไม่ใช่ว่าเข้าไปถึงในนั้นแล้วจึงค่อยคิดว่าจะซื้ออะไร แบบนี้เสร็จทุกราย ต้องรู้ก่อนว่าจะซื้ออะไรแล้วจึงเข้าไป และต้องมีวินัยว่าจะไม่ซื้อของ ที่เกินจากรายการ หรือมีข้อกำหนดว่าถ้าหมดเงินแล้วจะไม่ซื้อหรือไม่ยืมใคร ต้องมีวินัยอย่างนี้ ถึงจะสู้กับบริโภคนิยมได้ ถ้าคุณไม่มีวินัยแล้ว พอเข้าไปในห้างหรือศูนย์การค้า ก็เสร็จเลย เจอประกาศลดครึ่งราคา ก็รีบซื้อไว้ก่อนทั้งที่ไม่รู้ว่าจะได้ใช้หรือเปล่า บางทีก็หลอกตัวเองว่าอีก ๒-๓ เดือนคงได้ใช้ หรือปีหน้าจะได้ใช้ แต่พอถึงเวลาจริง ๆ ก็ไม่ได้ใช้หรอกเพราะมันเก่าหรือตกรุ่นไปแล้ว ต้องไปซื้อของใหม่มาแทน เป็นอย่างนี้มาหลายรายแล้ว ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือเครดิตการ์ด เราต้องมีวินัยในการใช้มาก เพราะสามารถทำให้เราหมดเนื้อหมดตัวอย่างไม่รู้ตัว
นี่เป็นเรื่องที่เราต้องคิดกันให้จริงจัง นอกจากการใช้จ่ายเงินแล้ว การเลือกใช้เทคโนโลยีก็เป็นสิ่งสำคัญ บางครอบครัวมีข้อตกลงเลยว่าไม่ซื้อโทรทัศน์เข้าบ้าน หรือถ้ามีก็เปิดเฉพาะบางรายการ เพราะเดี๋ยวนี้โทรทัศน์กลายเป็นอุปกรณ์ล้างสมองให้กับบริโภคนิยมอย่างชัดเจน ยังไม่ต้องพูดถึงการกระตุ้นโทสะ
เรื่องอาชีพก็สำคัญเวลานี้มีอาชีพจำนวนมากที่ถึงแม้พุทธศาสนาไม่ระบุว่าเป็นมิจฉา อาชีวะ แต่มันเป็นวิธีการหาเงินที่ไม่ชอบ สร้างปัญหาแก่ส่วนรวม เช่น การปั่นหุ้น หรือการลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดศีลห้าอาชีพแบบนี้เราก็ควรหลีกเลี่ยงด้วย
เรื่องศีลสมัยใหม่เป็นเรื่องที่ชาวพุทธต้องให้ความใส่ใจกันมาก ไม่เช่นนั้นแล้วยากมากที่จะหลุดพ้นจากแรงยั่วยวนของบริโภคนิยมได้
อย่างไรก็ตามศีลหรือการกำกับพฤติกรรมอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีเรื่องของสมาธิด้วย สมาธิคืออะไร คือ เรื่องของสภาวะจิต ศีลอย่างเดียวถ้าไม่มีสภาวะจิตหล่อเลี้ยงก็อยู่ไม่ได้ คราวนี้คนเข้าหาบริโภคนิยมก็เพราะต้องการความสุขจากวัตถุ แต่จริง ๆ แล้วความสุขจาก จิตใจมันดีกว่ามาก ประณีตและโปร่งโล่งใจกว่ามาก ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ไม่ว่าจะรวยหรือจน ถ้าเรารู้จักทำสมาธิให้เข้าถึงความสงบทางจิตใจ ความสุขที่ประณีตจะเข้ามาแทนที่ความสุขอย่างหยาบ ๆ จากวัตถุได้ ถ้าเราได้สัมผัสกับความสงบเย็นในจิตใจเราจะรู้เลยว่าความสุข ทางวัตถุ มันหยาบ มันเทียบไม่ได้เลยกับความสุขทางจิตใจ เทียบไม่ได้กับความโปร่งเบาภายใน คนเรายอมตกเป็นทาสของบริโภคนิยมเพราะไม่สามารถเข้าถึงความสุขสงบเย็นทางจิตใจได้ แต่ถ้าหากเรา รู้จักการทำสมาธิซึ่งทำได้หลายแบบ โดยไม่ต้องนั่งหลับตาก็ได้ ถ้าเรารู้จักการทำความ สงบให้ บังเกิดกับจิตใจได้ เราจะเป็นอิสระจากบริโภคนิยมได้มากขึ้น เพราะความสุขของเราไม่อิงวัตถุ
ประการที่สาม ได้แก่การเสริมสร้างปัญญา ปัญญาคือความรู้ความเข้าใจ ในคุณค่า แท้คุณค่าเทียม หรือ ความรู้ความเข้าใจในความหมายของชีวิต เวลาจะซื้อของอะไร เราเคยคิด บ้างหรือเปล่าว่า ของชิ้นนั้นเราต้องการจริง ๆ หรือเปล่า เราเคยคิดถึงข้อดีและข้อเสียของการเข้าศูนย์การค้าบ้างไหม เราเคยคิดชั่งน้ำหนักระหว่างความสะดวกที่ได้รับจากโทรศัพท์มือถือกับสิ่งดี ๆ ที่เราต้องเสียไปหากซื้อโทรศัพท์มือถือมาใช้บ้างไหม เราคิดไหมว่าเราเสียเวลา แค่ไหน ในการไปศูนย์การค้าแต่ละครั้ง และสิ่งที่เราได้นี่มันคุ้มไหม เราเคยทบทวนไหมว่าของ ที่เราซื้อ ไปเราได้ใช้มากน้อยเพียงใด
อันนี้คือการใช้ปัญญาพิจารณาเพื่อเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสมและเป็นประโยชน์มากที่สุด โดยคำนึงถึงความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ เวลาเราจะเสพหรือบริโภคอะไรก็ตาม เราถามตัวเองหรือเปล่าว่า คุณค่าแท้กับคุณค่าเทียมอันไหนสำคัญกว่ากัน เราบริโภคอาหาร เพื่ออะไรกันแน่ เราสวมใส่เสื้อเพื่ออะไรกันแน่ เรามีคอมพิวเตอร์ เราใช้เคเบิลทีวีเพื่ออะไรกันแน่ เพื่อปรนเปรอกิเลสหรือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราให้ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่พิจารณาให้กระจ่างและรอบคอบ เราจะถูกความหลงชักจูงไป เมื่อเราไม่ถาม สติก็ไม่เกิด เมื่อสติไม่เกิดเราก็หลงไปตามแรงเย้ายวนของบริโภคนิยม อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดความกระจ่าง ซึ่งไม่ใช่ เรื่องที่ลึกซึ้งหรือยากเย็นเลย แต่เป็นเรื่องที่ปุถุชนธรรมดานี้สามารถเข้าใจได้ นี่เป็นเรื่องระดับ บุคคล
สร้างสังคมเข้มแข็ง ฟื้นพลังให้พุทธศาสนา
ทีนี้มาพูดถึงวิถีพุทธในระดับสังคม อาตมาคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ พุทธศาสนาที่สอนกันส่วนใหญ่ไปเน้นการปฏิบัติระดับบุคคลมาก โดยมองข้ามในระดับสังคม เราอย่าลืมว่าบริโภคนิยมกำลังมาแรงมาก ไม่ได้มาทางวัฒนธรรมอย่างเดียว แต่ยังมาพร้อมกับการรุกรานของอำนาจทุน ทุนนี้มีอำนาจมาก มันแย่งป่า แย่งน้ำ แย่งทรัพยากรต่าง ๆ ของชุมชนไป จนชาวบ้านเข้าไม่ถึง ขณะที่สิ่งแวดล้อมก็เสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ
เราเคยหวังพึ่งรัฐบาลว่าจะควบคุมทุนไม่ให้เข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ให้มา ทำลายวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน แต่ก็ต้องผิดหวัง รัฐบาลเวลานี้กลับเป็นเครื่องมือของ นายทุนเสียเอง กลายเป็นตัวรับใช้บริโภคนิยม ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องคิดถึงการสร้างสังคมให้ เข้มแข็งเพื่อต้านทานบริโภคนิยมที่เข้ามาโดยอาศัยนายทุนในท้องถิ่นและนายทุนต่างชาติ พวกนี้ ทำให้บริโภคนิยมสยายกรงเล็บแย่งชิงทรัพยากรจากชาวบ้านและสินทรัพย์ของชาติไป ทำให้ชาว บ้านไม่มีปลา ไม่มีน้ำ ไม่มีป่าที่จะเป็นหลังอิงได้ ในเมื่อเราพึ่งรัฐบาลไม่ได้ เราจึงต้องพึ่งสังคมหรือประชาชนด้วยกัน ดังนั้นการทำสังคมให้เข้มแข็งเป็นเรื่องจำเป็นมาก ทำอย่างไรสังคมถึงจะเข้มแข็ง อาตมาขอฝากเรื่องนี้ทิ้งไว้
ประการที่สามเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาโดยตรง คือการพยายามทำให้พุทธศาสนา เป็นแรงบันดาลใจทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคม เราจำเป็นต้องฟื้นฟูศาสนาเป็นการใหญ่และอย่างเร่งด่วน พุทธศาสนาในเวลานี้ไม่เอื้อทั้งสองอย่าง คนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพุทธศาสนานับวันมีแต่จะน้อยลง ส่วนคนที่เสียความรู้สึกกับพุทธศาสนาโดยเฉพาะคณะสงฆ์กลับมีมากขึ้น ในขณะที่สังคมมีปัญหามากมาย แต่พุทธศาสนาเวลานี้ไม่ได้เป็นแหล่งที่ผู้คนจะไปหาคำตอบหรือหาแรงบันดาลใจเลย คนส่วนใหญ่กลับนึกถึงเทคโนโลยี นึกถึงการทุ่มเงินลงไป โดยมีรัฐบาลหรือนายทุนเป็นตัวนำ พุทธศาสนาอ่อนกำลังลงมาก ด้วยเหตุนี้จึงจำต้องมีการฟื้นฟูพุทธศาสนากันอย่างเร่งด่วน ทั้งในเรื่องหลักธรรมคำสอน ยิ่งคณะสงฆ์ด้วยแล้ว ต้องมีการปฏิรูปกันอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการปกครองและการศึกษาของสงฆ์ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพระกับชาวบ้าน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องแก้ไข เพราะนับวันจะเหินห่างและไม่ใส่ใจกันและกัน ทำให้ตกต่ำย่ำแย่กันทั้งสอง ฝ่าย เรื่องนี้อาตมาได้พูดไว้ในที่อื่นแล้วจึงไม่ขอลงรายละเอียดที่นี่
การสร้างวิถีพุทธให้เกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคม เป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากการฟื้นฟูพุทธศาสนาทั้งในทางหลักธรรมและสถาบันให้เป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้คน อันที่จริงแล้วพุทธศาสนามีศักยภาพที่จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าบริโภคนิยมมาก โดยเฉพาะในด้านการตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณที่ลุ่มลึกและยั่งยืนกว่า บริโภคนิยมนั้นทำได้อย่างมากเพียงแค่ตอบสนองความต้องการชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น แต่สุดท้ายก็ไม่อาจระงับความหิวโหยได้อย่างแท้จริง มันไม่อาจแก้ปัญหาตัวตนที่คอยก่อกวนผู้คนอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถทำให้ผู้คนรู้สึกเต็มอิ่มกับชีวิตและเลิกดิ้นรนทะยานอยากอีกต่อไป ตรงข้ามกลับเพิ่มให้เกิดแรงทะยานอยากมากขึ้นและไม่รู้จักพอเสียที ในขณะที่พุทธศาสนาสามารถทำให้ผู้คนข้ามพ้นปัญหาตัวตนไปได้อย่างถึงที่สุด อย่างน้อยก็ทำให้ผู้คนรู้สึกพอและมีความเต็มอิ่มกับชีวิต แต่พุทธศาสนาเวลานี้ได้สูญเสียความสามารถที่จะทำเช่นนั้นไปเพราะสถาบันสงฆ์อ่อนแอและตกต่ำลงไปมาก ขณะที่หลักธรรมที่สอนกันส่วนใหญ่ก็จำกัดอยู่เพียงเรื่องของทานและศีล ขาดส่วนที่เป็นโลกุตตรธรรมหรือการสร้างอิสรภาพทางจิตใจ ในอีกด้านหนึ่งก็ละเลยมิติทางด้านสังคม ทำให้ชาวพุทธในปัจจุบันสนใจทำความดีแต่เฉพาะตัวบุคคล และเป็นความดีที่หวังผลประโยชน์แบบโลก ๆ คือ ได้งานดี มีเงินใช้ ไร้โรคา ครอบครัวผาสุก เท่านั้น เลยถูกบริโภคนิยมปิดล้อมให้มีที่ทางแคบลงทุกที
อย่างไรก็ตามศักยภาพในการเป็นพลังทางสังคมและจิตวิญญาณ เพื่อผลักดันให้เกิดชีวิตและสังคมที่ดีงามยังมีอยู่ในพุทธศาสนา ตรงนี้เป็นภาระที่เราจะต้องช่วยกันนำศักยภาพดังกล่าวออกมา โดยเริ่มจากการนำมาใช้ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับตนเองก่อนแล้วขยายไปสู่แวดวง ควบคู่กับการสร้างสังคมให้เข้มแข็ง ขณะเดียวกันก็ช่วยกันผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูพุทธศาสนาไปพร้อม ๆ กันด้วย ถ้าทำเช่นนี้ได้วิถีพุทธในยุคบริโภคนิยมจึงจะมีอนาคตที่หวังได้..
|