โอวาทปาฏิโมกข์
จุดยืนของชาวพุทธ ใน "สังคมพหุลักษณ์"
โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
อนุศาสนาจารย์ ศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์
กระแสทรรศน์ มติชนรายวัน วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๙๔๙๒
กล่าวสำหรับชาวพุทธโดยทั่วไป เมื่อนึกถึง "วันมาฆบูชา" ก็นึกถึง "โอวาทปาฏิโมกข์" เมื่อนึกถึงโอวาทปาฏิโมกข์ก็นึกถึง "หัวใจพระพุทธศาสนา"
แต่ที่จริงยังมีเนื้อหาอีกบางส่วนของ โอวาทปาฏิโมกข์ที่เราไม่ค่อยจะพูดถึงกัน ทั้งที่เนื้อหาส่วนนั้นก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่าส่วนที่เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา
เราอาจแบ่งเนื้อหาของโอวาทปาฏิโมกข์ออกเป็น ๒ ส่วนคือ
ส่วนที่ ๑ เป็นการประกาศหลักการสำคัญอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ๓ ประการ ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใส
ส่วนที่ ๒ เป็นการประกาศจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา และจุดยืนของชาวพุทธในการดำรงอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิดความเชื่อ ขอคัดมาให้อ่านดังนี้
"ขันติคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพานเป็นบรมธรรม ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ที่นั่งที่นอนอันสงัด ความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"
ใจความสำคัญก็คือการแถลงว่า นิพพาน (ความพ้นทุกข์) เป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา (บรมธรรม) การไม่เบียดเบียนไม่ทำร้าย ไม่กล่าวร้ายผู้อื่น คือจุดยืนของชาวพุทธ ในการดำรงอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิดความเชื่อ
ถึงแม้เนื้อความแห่งโอวาทปาฏิโมกข์จะไม่ได้กล่าวถึงสังคมที่หลากหลายทางความคิดความเชื่อ แต่ถ้าเราพิเคราะห์เนื้อหาของโอวาทปาฏิโมกข์อย่างสัมพันธ์กับบริบทแวดล้อม เช่น กาลเทศะหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ข้อสรุปข้างต้นก็ไม่น่าจะเป็นการสรุปเกินความจริง
ในแง่ "กาละ" พระพุทธเจ้าเลือกแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในวันเพ็ญเดือน ๓ ซึ่งเป็น "วันศิวาราตรี" หรือวันกระทำพิธีลอยบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์ อันเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือในสมัยนั้น
แน่นอนว่า พระพุทธศาสนามีความเห็นต่างจากศาสนาพราหมณ์หลายเรื่อง เช่น เสนอคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมที่เป็นการปฏิเสธอำนาจพรหมลิขิตและระบบวรรณะ ๔ เสนอคำสอนเรื่องอนัตตาที่ขัดกับความเชื่อเรื่องอัตตา กระทั่งปฏิเสธการลอยบาปในแม่น้ำตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์
แต่ความเห็นต่างทั้งหมดนี้ก็ดำเนินไปด้วยความชัดเจนในสัจจะและเหตุผล ที่นำเสนอบนจุดยืนที่จะไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียนฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่าง
ในแง่ "เทศะ" พระพุทธองค์แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ณ ป่าไผ่อันร่มรื่น ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แห่งมคธรัฐ ถวายให้เป็นวัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนา นามว่า "เวฬุวนาราม" ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากนครราชคฤห์
เป็นที่รู้กันว่า ในนครราชคฤห์นั้นมีเจ้าสำนักความคิดต่างๆ ประกาศลัทธิความเชื่อของตนอยู่จำนวนมาก
ดูจากพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ที่มาประชุมฟังโอวาทปาฏิโมกข์ ก็ล้วนแต่เคยสังกัดลัทธิความเชื่ออื่นมาก่อน
นั่นคือ ๑,๐๐๐ รูป มาจากกลุ่มฤๅษีชฎิลสามพี่น้องและบริวารที่เคยถือลัทธิบูชาไฟมาก่อน
อีก ๒๕๐ รูปเป็นกลุ่มของพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะที่เคยอยู่ในสำนักของอาจารย์สัญชัย ซึ่งเป็นเจ้าสำนักความคิดที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในนครราชคฤห์
ดังนั้นเนื้อความแห่งโอวาทปาฏิโมกข์ ที่ย้ำการไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ไม่กล่าวร้าย ที่พระพุทธองค์แสดงแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งอดีตเคยสังกัดลัทธิความเชื่ออื่น (ซึ่งท่านเหล่านั้นก็คงเข้าใจบรรยากาศความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ ที่เป็นอยู่ในเวลานั้นอยู่แล้ว)
จึงเป็นการปรกาศจุดยืนของชาวพุทธ ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับฝ่ายที่มีความคดความเชื่อที่แตกต่าง
ณ วันนี้ โลกได้ก้าวมาไกลจากกาละและเทศะที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาฏิโมกข์มากแล้ว ความหลากหลายทางความคิดความเชื่อของสังคมเมื่อสองพันกว่าที่แล้ว กับสังคมยุคดิจิตอลเป็นความหลากหลายที่ซับซ้อนกว่ากันอย่างไม่อาจเทียบกันได้เลย
แต่กระนั้นความจริงที่ว่า สังคมหรือโลกมีความเป็น "พหุลักษณ์" (pluralism) หรือมีลักษณะหลากหลายยิ่งเป็นความจริงที่ชัดเจนมากขึ้น ท่าทีที่เคารพต่อความแตกต่างหลากหลาย จึงยิ่งมีความจำเป็นต่อการผดุงสันติสุขของสังคม และสันติภาพของโลก
จุดยืนของชาวพุทธตามนัยแห่งโอวาทปาฏิโมกข์ ทำให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่สร้างเงื่อนไขแห่งความรุนแรง แต่เป็นศาสนาแห่งสันติภาอย่างแท้จริง
พินิจโอวาทปาฏิโมกข์ จึงเห็นความเก่าเพียงในแง่ของ "กาละ" แต่ในแง่ "สารัตถะ" ยังคงความใหม่และทันสมัยอยู่เสมอ..
|