เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
ความจริง-ความลวง และความหลง
ของ..การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
กลุ่มเสขิยธรรม / skyd.org

 

          และแล้ว วันที่ ๒๙ สิงหาคม ของชาวเมืองหลวง ก็ถูก "ปลุกเร้า" หรือถูก "กระทำ" ให้กลายเป็น "วันตัดสิน" หรือ "วันชี้ชะตา" ชาวกรุงเทพฯ ไปได้ในที่สุด ทั้งที่จะว่าไปแล้ว วันก่อนหน้า หรือวันหลังจากนั้น ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ไม่ว่าจะมองในฐานะของความเป็น "คนกรุงเทพฯ" หรือ ความเป็น "คนไทย" ก็ตาม

          ทั้งนี้ แทบไม่ต้องนับรวมความเป็นหนึ่งในมนุษยชาติ หรือ "ส่วนหนึ่ง" ของธรรมชาติทั้งมวล ที่ดูเหมือนว่าจะถูกกระทำให้พากันหลงลืม จนความสัมพันธ์ที่แท้จริงเหล่านั้นขาดหายไปแล้วแทบหมดสิ้น

          และหากใครสักคนให้ความสนใจกับอิทธิพลและผลของการโฆษณาชวนเชื่อ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ อาจนับเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าตื่นตาตื่นใจได้ไม่น้อย กับการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนับสิบราย (จากจำนวนกว่ายี่สิบราย) พากันโหมประโคมประชาสัมพันธ์เพื่อแนะนำตัวและชี้ชวนให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง "ตัดสินใจ" เลือกตนเข้าไปเป็น "ผู้ว่าฯ" ของมหานครที่กล่าวกันว่า "มีปัญหานานับปการ" ติดอันดับต้นๆ ของโลก อย่างสนุกสนานและอึกกะทึกครึกโครมยิ่ง

          อย่างน้อยที่สุด ก็น่าสนใจว่า เพียงชั่วเวลาสั้นๆ การ "โฆษณา-ประชาสัมพันธ์" เพียงอย่างเดียว ก็ทำให้ "ใครสักคน" ดูดีและน่าเชื่อถือ หรือ "น่าเลือก" ขึ้นมาได้อย่างน่าประหลาด แม้ว่าก่อนหน้านั้น "เขา" หรือ "เธอ" เหล่านี้ อาจเป็น "ใครสักคน" ที่ไม่เคยรู้จัก หรือเพียงแค่เคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง จากข่าวสารบ้านเมือง ที่เอาเข้าจริงก็ดูจะไกลตัวเสียเหลือเกิน

          ไม่น่าเชื่อ ว่าเพียงไม่กี่วันการ "โหมประโคม" และการ "ทำซ้ำ" ของการสื่อและส่งข่าวสารจาก "ผู้สมัครรับเลือกตั้ง" ก็ทำให้เกิด "ตัวตน" หรือ "อัตตลักษณ์" ที่ใกล้ชิด เป็นกันเอง และน่าเชื่อถือขึ้นมาได้ มิหนำซ้ำ ยังทำให้เกิด "พลวัต" หรือ "กระแส" ของความน่าเชื่อถือศรัทธาแบบ "ทบทวี" ชนิดที่เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า หากไม่ตัดสินใจเลือก "คนๆ นั้น" ก็จะทำให้เรา "แปลกแยก" หรือ "ไม่อินเทรนด์" กับเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงได้อีกต่างหาก

          และหากว่าที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ใช่หรือไม่ว่า ช่วงเวลาสั้นๆ ของการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ก็คือภาพย่อ หรือ "ตัวแทน" ของปรากฏการณ์ "ปกติ-ประจำวัน" อื่นๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นเอง

          ไม่ว่าจะเป็นการ "โฆษณา-ประชาสัมพันธ์" เพื่อ "หาเสียง" ของภาครัฐ หรือการ "โฆษณาขายสินค้า-บริการ" ของธุรกิจเอกชน ที่ต่างก็พากันตั้งหน้าตั้งตาสร้าง "มายาคติ" หรือ "ความจริงเสมือน" ทำนองเดียวกันนี้ อยู่อย่างไม่ลดละ เพื่อ "ผลประโยชน์โดยตรงและแอบแฝง" ของตน ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง

 

          และหากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปรากฏการณ์ที่ "ถูกสร้างขึ้น" จริง ในส่วนของ "วันที่ ๒๙ สิงหาคม" ซึ่งบัดนี้เสมือนจะกลายเป็น "วันชี้ชะตาคนกรุงเทพฯ" ไปแล้วนั้น ในสายตาของ "ชาวพุทธ" คงจะต้องพิจารณาปรากฏการณ์ต่างๆ นั้น ให้มากไปกว่าความเป็น "พลเมือง" หรือ "ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง" เพียงประการเดียวเป็นแน่ ด้วยว่ายังมีบางแง่มุมให้ "พิจารณาโดยแยบคาย(โยนิโสมนสิการ)" อยู่ด้วยเช่นกัน ว่า…

          เอาเข้าจริง ด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน "เรา" จะสามารถกำหนดชะตากรรมของคนกรุงเทพฯ หรือเมืองกรุงเทพฯ ได้แค่ไหนและอย่างไร?

          เพราะจากข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้ง หรือจากการหาเสียงของผู้สมัคร พบว่า ส่วนใหญ่พูดถึง "ปัญหา" และสภาพที่ "ปลอด" หรือ "ปราศจากปัญหา" ของกรุงเทพฯ ตามที่ตนจินตนาการหรือเชื่อว่าน่าจะเป็นอย่างแยกส่วนออกเป็นเศษเสี้ยวแทบทั้งสิ้น

          และจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม "สาเหตุ" ของปัญหาต่างๆ มักถูกละไว้ หรือแทบไม่กล่าวถึงเอาเสียเลย

          หลายเรื่องที่คนกรุงเทพฯ มีส่วนในการสร้างปัญหา ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จึงถูกกวาดเข้าเก็บไว้ใต้พรม หรือถูกหลับตาเสียข้างหนึ่ง เพื่อแสร้งว่าไม่เห็น หรือไม่เน้นเป็นสาระสำคัญ (เพราะอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อหัวใจของผู้ใช้สิทธิ์เอาได้ง่ายๆ กระมัง?)

          ขณะเดียวกัน ภาพฝันและเป้าหมายของการทำงานที่ถูกกล่าวถึง ว่าหากตนได้รับความไว้วางใจ ก็จะนำพากรุงเทพฯ และคนกรุงเทพฯ ไปพบกับความสะดวกสบาย หรือสภาพปลอดปัญหา(ที่กำลังประสบ)หลากแบบหลายประการนั้น ส่วนใหญ่ก็มักไม่มีคำอธิบายถึง "วิธีการ" เอาไว้ให้ "ร่วมคิด-ร่วมพิจารณา" แต่อย่างใด

          ไม่นับการกล่าวถึงแต่การพัฒนากรุงเทพฯ ที่เน้นแต่ด้านวัตถุ อย่างปราศจากมิติทางศาสนธรรมเอาเลยก็ว่าได้

          และ… ไม่นับการพูดถึง "กรุงเทพฯ" อย่างโดดเดี่ยวเป็นอิสระ อย่างลอยอยู่ในอวกาศ ชนิดที่แทบไม่เกี่ยวข้องกับบริบทต่างๆ ของ "จังหวัดอื่นๆ" หรือ "ประเทศไทย" เอาเสียเลย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการร่วมใช้คน ใช้เงิน ใช้ทรัพยากร หรือในการบริหารที่หลายด้านต้อง "มีส่วนร่วม" ระหว่างกันและกัน ยกเว้นผู้สมัครบางคนที่อิงแอบอยู่กับพรรคการเมืองซึ่งกุมอำนาจบริหารประเทศเอาไว้ ที่ระยะแรกยังเน้นช่องทางความร่วมมือกับรัฐบาลกลาง ก่อนที่จะบ่ายเบี่ยงภายหลัง เมื่อพบว่านั่นจะเป็นเหตุให้คะแนนนิยมต้องลดลงมาในที่สุด

          หากนี่มิใช่เล่ห์กลของการหาเสียง หรือกโลบายแสวงหาคะแนนเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง ก็นับว่าเป็นจุดบกพร่องที่จะนำไปสู่ "ทางตัน" ของการทำงานในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ "กรุงเทพมหานคร" ในบั้นปลายเป็นแน่

          เพราะถึงที่สุดแล้วก็เท่ากับว่า ผู้อาสาเข้ามาทำงานให้คนกรุงเทพฯ มิได้มองภาพรวมของกรุงเทพฯ หรือทำความเข้าใจกับคนกรุงเทพฯ อย่างที่เป็นจริง ซึ่งจะเป็นสาเหตุสำคัญของการลดทอนความสามารถ หรือศักยภาพในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ยังรุมเร้าผู้คนและมหานครแห่งนี้เอาไว้อย่างแน่นหนาสาหัส

 

          ในทางพุทธศาสนานั้น นอกเหนือจาก "หลักแห่งความเกี่ยวพันโยงใยซึ่งกันและกัน" ของเหตุและปัจจัย ทั้งด้าน "การเกิด" และ "การดับ" ที่เรียกว่า "กฎอิทัปปัจจยตา" แล้ว ยังมี "กรอบคิด" หรือเค้าโครงในการวิเคราะห์ที่สำคัญยิ่ง เกี่ยวกับ "เหตุและผล" ซึ่งถือได้ว่าเป็น "หัวใจ" ของพระพุทธศาสนา ที่เป็นทั้ง "ความจริง" และเป็น "เครื่องมือ" หรือ "อุปกรณ์" ที่จะนำพุทธบริษัทให้เข้าถึง "ความจริงแท้" ที่เป็น "อิสระ" จาก "ปัญหา" หรือ "ความทุกข์" ได้ในบั้นปลาย

          นั่นก็คือ "อริยสัจจ์ ๔ (ความจริงแท้ ๔ ประการ)" ที่ประกอบไปด้วย ปัญหา(หรือ ทุกข์) สาเหตุของปัญหา(หรือ สมุทัย) สภาพปราศจากปัญหา(หรือ นิโรธ) และวิธีการ-กระบวนการ ที่จะออกจากปัญหา(หรือ มรรค) โดยกำหนดภารกิจหรือ "ท่าที" ต่อ "ความจริงแท้" ดังกล่าวไว้ว่า ต้องกำหนดรู้ในปัญหา ต้องละสาเหตุ ต้องทำให้แจ้ง หรือทำให้บรรลุ ในสภาพอันปราศจากปัญหา และปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังและสม่ำเสมอในวิธีการ-กระบวนการ ของการแก้ปัญหานั้นๆ

          กล่าวให้ง่ายเข้าก็คือ หากจะวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ต้องไม่ละเลยที่จะทำความเข้าใจปัญหานั้นๆ อย่างรอบคอบรอบด้าน พร้อมทั้งสืบสาวโยงใยไปหาสาเหตุ เพื่อยุติหรือหยุดสาเหตุที่ค้นพบ ด้วยวิธีการที่เหมาะสมอย่างเอาจริงเอาจัง ในขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้ง หรือลืมเลือน บริบท ตลอดจนความโยงใยของปัญหานั้น กับปัญหาอื่นๆ ทั้งในลักษณะที่ต่างก็เป็นปัญหาหรือเป็นสาเหตุของกันและกัน หรือส่งผลกระทบระหว่างกันและกัน

          และในส่วนของวิธีการ หรือหนทางที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย อันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของความสำเร็จนั้น ท่านเรียกว่า "มรรค" หรือ "มรรคมีองค์ ๘" ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้ คือ ๑. สัมมาทิฏฐิเห็นชอบ ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ๓. สัมมา-วาจา เจรจาชอบ ๔. สัมมากัมมันตะ ทำการชอบ ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ อันสรุปรวมได้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ "ไตรสิกขา" นั่นเอง

          ก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า เอาเข้าจริง ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. หรือกระทั่งผู้ที่กำลังประกาศตัวเป็น "ว่าที่" ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิก "สภา" อื่นๆ ในปัจจุบัน มีคุณสมบัติของ "ผู้แก้ปัญหา" ที่อยู่ในแนวทางของพระบรมศาสดาสักแค่ไหนและ…เพียงใด!!

          หรือเขาและเธอเหล่านั้นทำได้เพียงการสร้างมายาคติ หรือภาพลวงตา ที่มุ่งปลุกเร้าให้ผู้คนลืมตัว, หลงผิด และตัดสินใจพลาด เพื่อ "ลงคะแนน" เลือก "นักเลือกตั้ง-นักสร้างภาพ" เหล่านั้น เข้ามาอาศัยสภาต่างๆ ยกระดับตนเอง หรือแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบโดยมิได้เกรงกลัวหรือละอายต่อบาปแต่ประการใดๆ อย่างที่เป็นอยู่

          หรือว่าเอาเข้าจริง วันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ นี้ ก็จะเป็นได้เพียงหนึ่งในบรรดาพิธีกรรมอันไม่อาจหาสาระอันใดได้ ของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน(ชนิดไทยๆ) ที่นับวันแต่จะแสร้งกระทำการไปให้ครบสูตร และมิหนำซ้ำยังพากันออกห่าง ทั้งจากศีลธรรม และเนื้อหาสาระ ตลอดจนแนวทางของระบอบประชาธิปไตยเองไปทุกที

          กระทั่งในที่สุดนอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้แล้ว ยังเป็นสาเหตุของความคลาดเคลื่อนเลือนหลงจากหลักการ และความดีงามยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้น…ทุกๆ ที.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :