เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

๖๕ ปี "พระธรรมปิฎก"
มองอเมริกาผ่านธรรมทัศน์

ธนภณ สมหวัง มหาวิทยาลัยศรีปทุม
เซกชั่นศาสนา-ชุมชน มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๙๔๓๘ หน้า ๖

 

          ปัจจุบัน สังคมไทยและสังคมโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาและวิกฤตการณ์ต่างๆ อันเป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ วิถีชีวิตของมนุษย์และสรรพสิ่งได้ถูกกำหนดด้วยคุณค่าแห่งวัฒนธรรมบริโภคนิยมและการแข่งขัน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก ความรู้ความเข้าใจ ความรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่ครอบงำโลกทั้งโลก และการนำพาชีวิตและสังคมไทยให้อยู่รอดได้ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ นับเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญยิ่ง

          ในวาระมงคลวารครบ ๖๕ ปี ของพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (๑๒ มกราคม) พระมหาเถระผู้เป็นพระนักปราชญ์ของไทย นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ศึกษาและเผยแผ่ถึงแนวทางของท่าน ในการชี้ให้เห็นถึงภาวะแห่งความเป็นจริงของสังคมยุคปัจจุบัน ที่เชื่อมโยงกันทั้งโลกทั้งทางด้านข้อมูลข่าวสาร ทุน การค้า วัฒนธรรมและการนำหลักพุทธธรรมมาเป็นรากฐานในการแก้ปัญหาในยุคโลกาภิวัตน์

มองอเมริกาหยั่งถึงอารยธรรมของโลก

          กล่าวได้ว่า ในปัจจุบันไม่มีพระภิกษุสงฆ์ไทยรูปใด ที่จะอธิบายหลักพุทธธรรม โดยเชื่อมโยงสัมพันธ์และครอบคลุมถึงปัญหาและความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันในมิติต่างๆ อย่างรอบด้านและเป็นรูปธรรมเท่ากับพระธรรมปิฎก

          ผลงานหลายชิ้นของพระธรรมปิฎก ท่านได้สืบสาว วิเคราะห์เหตุปัจจัยความเป็นมาของรากฐากความคิดของระบบต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานของสังคมยุคปัจจุบัน และใช้หลักพุทธธรรมเป็นหลักในการวิเคราะห์ระบบเหล่านี้อย่างถึงแก่น ผลงานของท่านจึงครอบคลุมศาสตร์ต่างๆ อันเป็นรากฐานแห่งระบบของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นิติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ สิทธิมนุษยชน สันติภาพ และอื่นๆ

          นอกเหนือจากวิเคราะห์รากฐานความคิดของระบบต่างๆ ในสังคมปัจจุบันโดยตรงแล้ว กรณีศึกษาที่ท่านได้ยกมาเป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด เห็นจะได้แก่ การหยิบยกเอาสังคมอเมริกันมาอธิบายและวิเคราะห์ เพื่อให้เห็นถึงภูมิหลัง พัฒนาการ และสภาพของโลกยุคปัจจุบัน ผลงานหลักๆ เช่น มองอเมริกามาแก้ปัญหาไทย (๒๕๒๕), ทางสายอิสรภาของการศึกษาไทย (๒๕๓๔) การพัฒนาที่ยั่งยืน (๒๕๓๘), มองสันติภาพโลกผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัฒน์ (๒๕๔๒), พระธรรมทูตไทย : เบิกทางสู่อารยธรรมใหม่ (๒๕๔๕), รู้จักอเมริกา หันมาดูศักยภาพของไทย (๒๕๔๖) เป็นต้น

          เหตุผลในการยกเอาสังคมอเมริกันมาเป็นตัวอย่างดังกล่าวนี้ คงมิใช่เพราะท่านเห็นว่าอเมริกันประเทศผู้นำของโลก ที่มีความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ และขยายอิทธิพลไปทั่วโลก จนหลายๆ คนและหลายประเทศยึดถือเป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมของตนเท่านั้น แต่เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือการสะท้อนให้เห็นปัญหาของอารยธรรมปัจจุบันผ่านสังคมอเมริกัน ดังท่านกล่าวว่า

          "การที่ยกเอาตัวอย่างปัญหาในสังคมอเมริกันขึ้นมากล่าวนี้ มิใช่หมายความว่า สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่เลวร้ายกว่าสังคมอื่นๆ ยังมีหลายประเทศที่มีปัญหาสังคมที่เลวร้ายรุนแรงยิ่งกว่าสังคมอเมริกัน แต่สังคมอเมริกันนั้น ปรากฏตัวเด่นออกมาในยุคปัจจุบันว่า เป็นสังคมที่นิยมความเป็นอิสระเสรี มีสมานภาพ และเป็นตัวชูในเรื่องสิทธิมนุษยชน พร้อมกันนั้นผู้คนจำนวนมากในโลกปัจจุบันก็ชื่นชมเชื่อถือด้วยความไม่รู้ชัดเจนถ่องแท้ ถึงกับเหมือนจะเอาสังคมอเมริกันเป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์สังคมแห่งสันติสุข อีกทั้งสังคมอเมริกันนั้น ก็มีปัญหาพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะของตนที่จะต้องแก้ไขคลายปมอีกเป็นอันมาก บุคคลที่คิดสร้างสรรค์จะต้องรู้เข้าใจอย่างถูกต้องและเท่าทัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้หลงละเลิง เห่อเหิมและตกอยู่ในความประมาท แม้แต่ว่า ถ้าใครยอมรับสังคมอเมริกันว่าเป็นสังคมที่เจริญรุ่งเรืองดีมีความสุขที่สุด ก็จะได้คิดขึ้นว่า แม้แต่สังคมที่ถือว่าอยู่ในกฎกติกาพัฒนาแล้วอย่างสูงสุดของโลกเวลานี้ ก็ยังอยู่ห่างไกลจากความเป็นสังคมที่พึงปรารถนา" (สิทธิมนุษยชนฯ น.๑๗)

มองอเมริกันมาแก้ปัญหาของไทย

          ยิ่งไปกว่านั้น เหตุผลสำคัญยิ่งประการหนึ่งที่ทำให้ท่านวิเคราะห์สังคมอเมริกันเป็นพิเศษ ก็เพราะท่านเห็นว่า "[สังคมอเมริกัน] มีอิทธิพลส่งผลกระทบต่อชีวิต ต่อสังคมไทย ของเรา และต่อชะตากรรมของโลก... เป็นชนชาติ เป็นประเทศ และเป็นสังคมที่มีกำลังอำนาจทั้งทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน และคนไทยก็มีค่านิยมเลียนแบบวิถีชีวิตอย่างอเมริกันนั้นด้วย" (รู้จักอเมริกาฯ น.๑๒)

          ในหนังสือ "มองอเมริกามาแก้ปัญหาไทย" (๒๕๒๕) ที่ท่านได้วิเคราะห์ถึงสภาพของสังคมอเมริกัน โดยสืบถึงภูมิหลังของสังคมอเมริกันว่า สังคมอเมริกันและสังคมตะวันตกทั้งหมด มีภูมิหลังทางสังคมเดิมที่มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมอุตสาหกรรม อันเป็นวัฒนธรรมที่ชาวตะวันตกต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะความขาดแคลนต่างๆ เพื่อให้เกิดความพรั่งพร้อมขึ้น จนกลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม (industrial society) ที่ทำให้เกิดความพรั่งพร้อมบริบูรณ์ขึ้นในสังคมอเมริกัน ในช่วงท้ายวัฒนธรรมอุตสาหกรรมนี้ได้เป็นวัฒนธรรมที่มุ่งหมายหรือใฝ่ถึงความสำเร็จ (success culture) มากยิ่งขึ้น และในเบื้องปลายก็ได้กลายไปสู่วัฒนธรรมแห่งการแข่งขันและกลายเป็นสังคมนักบริโภค (consumer society) ที่มีความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ต่างๆ จนปัจจุบัน สังคมอเมริกันได้เป็นสังคมที่ผ่านอุตสาหกรรม (Post-industrial Society)

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสังคมอเมริกันจะมีความพรั่งพร้อมทางด้านวัตถุ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ชาวอเมริกันมีความสุขที่แท้จริง ในขณะเดียวกันระบบแข่งขันของวัฒนธรรมใฝ่สำเร็จก็ได้กลายเป็นสภาพที่บีบคั้นชีวิต ก่อให้เกิดความกดดันกลายเป็นความทุกข์ในชีวิตและสังคม ลักษณะดังกล่าวนี้จึงได้กลายเป็นวิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรม (cultural crisis) ที่ทำให้เกิดความสับสนในทางจิตใจ และก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "Young America Turns Eastward - อเมริกันคนหนุ่มสาวหันไปทางตะวันออก" คือ กระบวนการที่คนรุ่นใหม่ได้หันมาสนใจศาสนาในทางตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นศาสนาฮินดู พุทธศาสนานิกายต่างๆ (มองอเมริกาฯ น.๑๘)

          สภาพของสังคมอเมริกันดังกล่าวนี้ แตกต่างกันอย่างยิ่งกับสภาพภูมิหลังของสังคมไทย ที่มิได้มีภูมิหลังและรากฐานทางสังคมอุตสาหกรรม และไม่มีวัฒนธรรมอุตสาหกรรมแบบตะวันตก หากแต่สังคมไทยเป็นสังคมที่รับเอาแบบอย่างความเจริญของสังคมตะวันตก ก้าวขั้นตอนมาเป็นสังคมบริโภค ดังท่านได้พูดถึงการตามฝรั่งของคนไทย (มองอเมริกาฯ น.๙๒) ว่า

- "บางอย่าง เราตามแต่เปลือก ไม่ได้เอาเนื้อมาด้วย

- บางอย่าง เราตามฝรั่ง แต่ล้ำหน้าเลยฝรั่งไป

- บางอย่าง เราตามฝรั่ง แต่ตามไม่ครบกระบวน

- บางอย่าง ไปตามเรื่องที่ฝรั่งเองก็ผิดอยู่แล้ว ก็เลยผิดไปด้วย"

          ลักษณะดังกล่าวนี้ ลองวิเคราะห์ดูก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า มีส่วนไหนบ้างที่เราเป็นอย่างที่ว่านี้ แต่ผลแห่งการตามฝรั่งนี้ ทำให้นักวิจัยฝรั่งคนหนึ่งที่ท่านอ้างถึง คือ Norman Jacobs ซึ่งเข้ามาวิจัยเรื่องการพัฒนาในประเทศไทย แม้จะเป็นงานวิจัยเมื่อ ๓๐ ปีก่อน แต่ก็ทำให้เห็นภาพของการที่ประเทศไทยจะพยายามที่จะเจริญให้ทันสมัยอย่างประเทศตะวันตก ในหนังสือชื่อ "Modernization Without Development - ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา" ซึ่งมีความหมายว่า ประเทศไทยมีความทันสมัยจริง แต่ไม่ได้พัฒนา ดังท่านพระธรรมปิฎกกล่าวว่า "คำว่า ทันสมัยนั้นอย่างหนึ่ง พัฒนาก็อย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ประเทศไทยอาจจะมีความเจริญรุ่งเรืองในภายนอก ในทางวัตถุ มีตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทางมากมาย มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีระบบเศรษฐกิจแบบตะวันตกอะไรต่างๆ แต่ในแง่เนื้อหาแล้ว ไม่มีการพัฒนาเลย" (มองอเมริกาฯ น.๙๓).. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :