เสขิยธรรม -
ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

เหรียญสองด้าน ของ "น้องอร" และ "ณัฐชนน"

พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
กลุ่มเสขิยธรรม skyd.org
กรุงเทพธุรกิจ ทัศนะวิจารณ์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

ในเวลาไล่เลี่ยกับข่าวเหรียญทองโอลิมปิกของ อุดมพร พลศักดิ์ หรือ "น้องอร" (ผู้ซึ่งบัดนี้กลายเป็น "วีรสตรี" ในวงการนักกีฬายกลูกเหล็กไปแล้ว) ถูกหยิบยกมาพูดถึง "ความสำเร็จ-ที่น่ายินดี" ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็มีข่าวเล็กๆ ของ "ความล้มเหลว-ที่น่าเสียใจ" ของเด็กไทยอีกคนหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในต่างแดนเช่นเดียวกัน ขึ้นมาเทียบเคียงอย่างไม่ตั้งใจ

          นั่นก็คือ ข่าวการกระโดดตึกฆ่าตัวตายเนื่องจากความเครียดและกดดันของ น.ส.ณัฐชนน เมฆี ผู้ได้รับทุนศึกษาต่อของรัฐบาล ตามโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุนการศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๗ ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ (คอมพิวเตอร์) ซึ่งกำลังเรียนพื้นฐานภาษา อยู่ ณ มหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนี

          ทุนที่ว่านี้ ก็คือ ทุนการศึกษาของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งใช้งบประมาณจากกำไรของการออกสลากหวยบนดิน ๒ ตัว ๓ ตัว มาสร้างเสริมโอกาสให้เด็กเรียนดีแต่ยากจนได้ศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งทุกฝ่ายเร่งรัดและเร่งรีบ ผลักดันกันออกมาในระยะก่อนหน้านี้นั่นเอง

          รายงานข่าวกล่าวว่า เมื่อวันที่ ๑๒ ส.ค. ณัฐชนนกินยาพาราเซตตามอลถึง ๔๐ เม็ด แต่เพื่อนๆ ช่วยกันนำส่งโรงพยาบาล และแพทย์ล้างท้องได้ทัน ก่อนที่เธอจะพยายามก่ออัตวินิบาตกรรมอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น ด้วยการกระโดดจากตึกที่พักรักษาตัวอยู่ และเสียชีวิตในวันถัดมา (๑๔ ส.ค.)

          รายละเอียดของข่าวกล่าวด้วยว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายเกิดจากความเครียดที่ต้องใช้ชีวิตในต่างแดน ทั้งที่ไม่เคยจากบ้าน และต้องเร่งรัดเรียนภาษาเยอรมัน ซึ่งเธอไม่มีพื้นฐานมาก่อนเลย

          ทั้งนี้ มีถ้อยแถลงของสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยว่า นางสาวณัฐชนน เมฆี ระบายความในใจกับคนใกล้ชิดว่า..ไม่สามารถรับความกดดันในการเรียนภาษาเยอรมัน ที่ไม่เคยเรียนมาก่อนได้ และไม่สามารถที่จะรับความรู้สึกที่ว่าตนเองตกต่ำ และไม่เก่งอย่างที่คิดไว้..

          ข่าวทั้งสองมีลักษณะร่วมบางประการที่ควรแก่การใส่ใจไม่ใช่น้อย...

          กล่าวคือ ต่างเป็นเรื่องของ "ผล" ที่เกิดขึ้นจาก "การแข่งขัน" ในยุคสมัยที่ทุกคนต้องพยายามแสวงหา ทั้งโอกาสและพื้นที่ทางสังคมของตนให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาผู้ซึ่งไม่มีสถานะ "เป็นพิเศษ" ทางสังคม อย่างหนึ่งอย่างใดมารองรับ

          ความพยายามของ "น้องอร" ซึ่งทุ่มเทให้กับการยกน้ำหนักมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน หรือความพยายามของ "ณัฐชนน" ซึ่งหากสืบค้นย้อนหลังไป ก็คงพบได้ไม่ยาก ว่าเธอเคย "ดิ้นรน" เกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษามาแล้วหลายรูปแบบ เพื่อผลสัมฤทธิ์ตามที่ขีดเส้นเอาไว้ต่างกันก็ตรงที่ "น้องอร" แบกรับ "น้ำหนัก" ของการ "แข่งขัน" เอาไว้ได้ ขณะที่ "ณัฐชนน" ต้องเผชิญชะตากรรมที่แม้เธอเองก็คงจะคาดไม่ถึง

          รางวัลของคนๆ หนึ่งจึงเป็น "จุดเริ่มต้น" อันโด่งดังอลังการ ขณะที่บทสรุปของอีกคนเป็นเพียง "จุดจบ" ที่อาจลบเลือนไปได้ในเวลาไม่นานนัก...

          วันนี้... หาก "วิถี" ของสังคมอยู่ที่ว่าเราจำเป็นจะต้องส่งเสริมให้มีการแข่งขันอันมีระบบ "แพ้คัดออก" เป็นพื้นฐาน ก็คงต้องพิจารณากันต่อไปว่า อะไรเป็นองค์ประกอบของความสำเร็จ และอะไรจะเป็นหลักประกันไม่ให้ผู้คนบนทางสายนี้ต้องบาดเจ็บหรือล้มตายเพิ่มขึ้นอีก

          รัฐในฐานะผู้กุมกลไกส่วนใหญ่ หรือเป็นศูนย์กลางองคาพยพ ซึ่งก่อตัว หรือเกาะกุมอยู่ในนามของประเทศชาติ หากจะเห็นดีเห็นงามไปกับระบบที่ต้องแก่งแย่ง-ช่วงชิง และต้องถีบดันตัวเองไปสู่ความสำเร็จ หรือต้องมุ่งไปที่ "ถ้วยรางวัลในอนาคต" เช่นนี้ ก็คงจะต้องเอาใจใส่ หรือใส่ใจกับสถานภาพของตัวเองให้มากขึ้น ว่าในฐานะผู้ออกกฎ-ผู้คุมกฎ ตนได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ปฏิญาณไว้กับสังคมอย่างไรบ้าง

          ขณะเดียวกัน สังคมหรือประชาสังคม อันเปรียบเสมือนเนื้อแท้ หรือแก่นแกนของการอยู่ร่วมกันเป็นรัฐชาติ ก็ย่อมจะต้องช่วยกันสอดส่อง หรือสังเกตต่อปรากฏการณ์เช่นนี้อย่างไม่อาจละเลย ชะล่าใจ หรือทอดธุระได้อีกต่อไป

          มิพักจะต้องกล่าวถึงผู้แสวงหาหนทางของการพัฒนาอันยั่งยืน หรือคุณภาพชีวิตทั้งส่วนตัวและส่วนรวมที่จะดำเนินไปด้วยสันติสุขและสันติภาพ อันหมายถึงการอยู่ร่วมกัน หรือเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ เพื่อจะก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเป็นสุข หรือทุกข์น้อยที่สุด ที่จะต้องเร่งรีบวิเคราะห์วิจารณ์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเอาจริงเอาจัง

          เพราะเอาเข้าจริง เรายังมีทั้ง "น้องอร" และ "ณัฐชนน" อยู่ในสังคม หรือกระทั่งเป็นคนใกล้ชิดของเราอีกนับไม่ถ้วน ทั้งที่กระโดดขึ้นไปบนสังเวียนเรียบร้อยแล้ว และที่กำลังชำเลืองดู หรือตั้งอกตั้งใจรอเวลาอยู่อย่างจดจ่อ...

          ทำอย่างไรที่สังคมของเราจะมี "พื้นที่" เพียงพอสำหรับทุกคน โดยที่บุตรหลานของเรา หรือสมาชิกในสังคม ไม่จำเป็นต้องจำใจหรือจำยอม แปรเปลี่ยน "การแข่งขัน" อันมีทั้ง น้ำใจ, กฎ-กติกา และมารยาท ให้กลายเป็น "การแก่งแย่ง-ช่วงชิง" ที่นำมาซึ่งความเจ็บปวดและทุกข์ทน ทั้งทางตรงและทางอ้อม

          เพราะที่สุดแล้ว แท่นรับรางวัลที่ ๑ คงมีพื้นที่ไม่มากพอสำหรับทุกคน และคงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่เราจะต้อง "มักง่าย" ปล่อยให้ "ณัฐชนน" คนที่ ๒ ที่ ๓ เกิดขึ้นอีก เพียงเพื่อการหาเสียงทางการเมือง หรือเพื่อหาทางประกาศชื่อเสียงของประเทศนี้บนเวทีโลก

          และคงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องออกมาแสดงความเสียใจซ้ำซาก ต่อการจากไปของเด็กในโครงการรับทุนการศึกษา อันเกิดขึ้น และกระทำไปอย่างฉุกละหุก จนเกิดความผิดพลาดใหญ่หลวงตามมา

          และคงไม่มีความจำเป็นใดๆ ให้นายกรัฐมนตรีต้องตื่นเต้นดีใจอย่างออกนอกหน้า ต่อการได้เหรียญทองโอลิมปิกของนักกีฬาไทย จนถึงกับต้องมีบัญชาให้รองนายกฯ "คว้า" เหรียญออกจากคอ "น้องอร" มาให้ชื่นชมกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างพิลึกและผิดมารยาท หากเรามีการส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬากันมากเพียงพอ กระทั่งเห็นว่าชัยชนะเป็นเรื่องที่สามารถจะเกิดขึ้นได้เสมอ หากมีการเตรียมการที่เหมาะสมมาตั้งแต่ต้น

          ในทางพุทธศาสนานั้น หากต้องการ "ผล" ก็มีแต่จะต้องสร้าง "เหตุและปัจจัย" อันควรแก่สิ่งที่ปรารถนาไปพร้อมกันเสมอ ด้วยว่า "ผล" เกิดมาจาก "เหตุ-ปัจจัย" และ "เหตุ-ปัจจัย" อันเป็น "กุศล" ย่อมให้ "ผล" เป็น "กุศล" ทุกคราวไป

          ชาวพุทธ และสังคมชาวพุทธจึงไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท ยิ่งรัฐบาลที่ผู้นำเป็นชาวพุทธก็ยิ่งจะประมาทไม่ได้เลย หาไม่แล้วเราทั้งหลายก็จะต้องดีใจหรือเสียใจกันต่อไปเช่นนี้..ร่ำไป!!.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว | ประเด็นร้อน | > ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :