โครงการอบรมสตรีชาวพุทธ
เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะกายใจ
หลักการและเหตุผล
สตรีเป็นศูนย์รวมของครอบครัว เป็นหัวใจของบ้าน ปัญหาที่สังคมเผชิญอยู่ขณะนี้หลายประการมักมีรากของปัญหาจากภายในครอบครัว ในฐานะที่ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่ (ร้อยละ ๙๕ เป็นชาวพุทธ) หากสตรีมีความเข้าใจและซาบซึ้งในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา สามารถนำไปเป็นพื้นฐานการดำเนินชีวิต สามารถเป็นหลัก ให้คำแนะนำ และเป็นหลักใจให้แก่สมาชิกในครอบครัว ก็จะเป็นการปูพื้นฐานคุณธรรมให้แก่ครอบครัวอย่างมีคุณภาพ สร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในครอบครัวอันเป็นจุดเล็กที่สุดของสังคม เป็นการสร้างสังคมที่มีสุขภาวะทั้งทางกายและใจ แม้จะมีอุปสัคใดๆ ก็จะพาครอบครัวไปได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
ประวัติความเป็นมา
มูลนิธิพุทธสาวิกา ได้จัดการอบรมสตรีชาวพุทธนานาชาติติดต่อกันมาเป็นเวลา ๓ ปี (Buddhist Women in Residence BWR) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นโครงการอบรมตลอด ๓ เดือน ในช่วงเข้าพรรษา
พ.ศ. ๒๕๔๕ มีผู้เข้ารับการอบรม ๒๐ คน เป็นชาวไทย และเขมร
พ.ศ.๒๕๔๖ มีภิกษุณีเข้ารับการอบรม ๖ รูป จากประเทศไทย ศรีลังกา อินโดนิเซีย และเวียตนาม
พ.ศ.๒๕๔๗ มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งภิกษุณีและอุบาสิกา ๓๐ คน จากประเทศไทย ศรีลังกา อินเดีย (ลาดัค) เขมร มาเลเซีย และออสเตรเลีย
การอบรมที่ผ่านมามุ่งเน้นบรรพชิตและสตรีผู้สนใจที่จะบวช แต่ในปีนี้ จะเปิดกว้างสำหรับสตรีไทยทั่วไป ที่ต้องการความรู้ในพุทธศาสนา ทั้งในแง่ปริยัติและปฏิบัติ สร้างฐานคุณธรรมเพื่อใช้เป็นแนวทางชีวิตที่ดี ฝึกอบรมสมาธิเพื่อเป็นการฝึกจิต สร้างความตื่นตัวในความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ตลอดจนการรักษาสมดุลย์กายและจิตอันจะนำมาซึ่งสุขภาวะที่ดีของพลเมืองในชาติ
จุดประสงค์
- . สร้างกลุ่มสตรีชาวพุทธที่มีองค์ความรู้ทางพุทธศาสนา
- . สร้างกลุ่มสตรีชาวพุทธที่จะถ่ายทอดคุณธรรมสู่เยาวชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
- . สร้างกลุ่มสตรีชาวพุทธที่มีความเอื้ออาทรต่อสังคม
- . เป็นการสืบพระศาสนาโดยสร้างพุทธบริษัทฝ่ายสตรีให้เข้มแข็งขึ้น
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- . ผู้เข้าอบรมเข้าใจและสามารถอธิบายหลักคำสอนพระพุทธศาสนาได้
- . ผู้เข้าอบรมเข้าใจ และสามารถแนะนำแนวทางการฝึกสมาธิขั้นพื้นฐานได้
- . ผู้เข้าอบรมนำสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นได้ สามารถกลับไปเป็นผู้นำของชุมชนได้
- . ผู้เข้าอบรมสามารถเข้าใจและคลายความทุกข์ของตนเองได้ในระดับหนึ่ง
- . ผู้เข้าอบรมได้รับการพัฒนาให้มีสุขภาพกายและจิตดีขึ้น
- . ผู้เข้าอบรมสามารถเป็นผู้นำ จะนำคุณธรรมไปดำเนินชีวิต เป็นตัวอย่างแก่คนอื่นได้ และสอนคนอื่นได้
กลุ่มเป้าหมาย
สตรีชาวพุทธที่สนใจ ๒๐ คน
คุณสมบัติของผู้เข้าอบรม
๑. เป็นสตรีชาวพุทธ อายุ ๑๘-๕๕ ปี
๒. ระดับการศึกษา ขั้นต่ำ ม.๓ หรือผ่านการปฏิบัติธรรมอย่างน้อย ๑ ปี
๓. มีศักยภาพที่จะพัฒนาเพื่อความเป็นผู้นำในการส่งเสริมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม
- . มีสุขภาพกายและจิตดี และจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการอบรม
- . มีเวลาเข้าร่วมอบรมตลอดโครงการ
- . มีความสามารถในการอยู่ร่วมกับอื่น เคารพครูบาอาจารย์ และมีทัศนคติที่ดีกับผู้อื่น
- . สามารถเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆของวัตร
- . สามารถรับมังสะวิรัตตลอดโครงการ
ผู้รับผิดชอบ
มูลนิธิพุทธสาวิกา
วิทยากร
ภิกษุณีธัมมนันทา (รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) และคณะวิทยาการผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มเครือข่าย เช่น เสมาสิกขาลัย สันติประชาธรรม INEB แผนพัฒนาจิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
แนวการฝึกอบรม แบ่งเป็น ๓ ส่วน
๑. เนื้อหาทางธรรม
๒. เนื้อหาเชิงสังคม จิตวิทยาแนวพุทธ สตรีนิยมแนวพุทธ พุทธศาสนาเพื่อสังคม
๓. การฝึกทักษะต่างๆ ทั้งเพื่อการอยู่ร่วมกัน ความเป็นผู้นำ ทักษะในการดูแล สุขภาวะทั้งทางกายและจิต
สถานที่ติดต่อ
๑๙๕ ถนนเพชรเกษม ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม ๗๓๐๐๐
โทร. ๐ ๓๔๒๕ ๘๒๗๐ โทรสาร ๐ ๓๔๒๘ ๔๓๑๕
อีเมล
เว็บไซต์ www.thaibhikkhunis.org
ระยะเวลา
๓ เดือน (๒๐ ก.ค.-๒๓ ต.ค.๒๕๔๘)
อบรมอาทิตย์ ละ ๕ วัน หยุด วันอาทิตย์ และวันพระ
ตัวอย่างตารางเวลาการอบรมในแต่ละวัน
- ๕.๓๐ น.
ทำวัตรเช้า ฝึกสมาธิ ฝึกเดินจงกรม (ฝึกการปฏิบัติจิต และวิถีชีวิตพุทธ)
- ๗.๓๐ น.
อาหารเช้าร่วมกัน (ฝึกความพร้อมเพรียง ฝึกการอยู่ในกลุ่ม ฝึกความเอื้ออาทร)
- ๙ -๑๑ น.
เข้าชั้นเรียน หลักพระพุทธศาสนา ( พุทธประวัติ, หลักคำสอน อริยสัจ ๔, หลักกรรม, ปฏิจจสมุปบาท, ฯลฯ)
- ๑๑.๐๐ น.
ฝึกโยคะ (ฝึกกายให้สัมพันธ์กับจิต)
- ๑๑.๓๐ น.
อาหารกลางวัน พร้อมเพรียงกัน (ฝึกสวดมนต์ให้พร)
- ๑๓.๐๐ น.
การฝีมือ (ฝึกการทำงานอย่างมีสติ) ตัวอย่าง ปั้นดิน พับกระดาษ โอริกามิ, ทำดอกไม้, การฝีมือ สามารถเลือกได้หลายแบบ
- ๑๔.๐๐ น.
เกมส์ (ฝึกการอยู่ร่วมกัน, ฝึกความเป็นผู้นำ, ฝึกการทำงานเป็นทีม ฯลฯ)
- ๑๕.๐๐ น.
ฝึกชี่กง (พัฒนากาย) ฝึกการเป็นผู้สอนชี่กง (ฝึกความเป็นผู้นำ)
- ๑๖.๐๐ น.
ฝึกนวดศีรษะ (ดูแลกาย เหมาะสำหรับดูแลผู้สูงอายุ) ฝึกเป็นผู้สอน การนวด (ฝึกความเป็นผู้นำ)
- ๑๗.๐๐ น.
ทำงานโยธา (ฝึกการอุทิศแรงกายให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และฝึกการละวางอัตตา)
- ๑๙.๐๐ น.
ทำวัตรเย็น ทำสมาธิ (ฝึกการสวดมนต์ และการนำสวดมนต์)
- ๒๐.๐๐ น.
เข้ากลุ่ม ปรึกษา สนทนาธรรม/ ร่วมชมวีดิทัศน์ ธรรมะประยุกต์/ ประวัติศาสตร์ พุทธศาสนา ฯลฯ..
|