เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
สงครามที่เป็นธรรม
โดย ดวงเด่น นุเรมรัมย์
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

จาก มติชนรายวัน คอลัมน์ศาสนาและชุมชน วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๑๕๑ หน้า ๖

 

          สงครามระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรกับประเทศอิรัก ดำเนินไปอย่างเข้มข้นและมีความดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ กองทัพฝ่ายรุกกำลังเดินหน้าเข้าสู่กรุงแบกแดดซึ่งเป็นจุดที่จะพิสูจน์ว่า เหตุผลเรื่องอาวุธเคมีหรือชีวภาพ ที่พยายามอ้างในการสู้รบครั้งนี้ จะเป็นไปตามที่บอกกับชาวโลกหรือไม่

          ก่อนหน้านี้ ประเด็นหนึ่ง ที่อเมริกายกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการทำสงครามต่อต้านครั้งนี้ก็ "เพื่อความชอบธรรม" หรือเป็นการทำ "สงครามที่เป็นธรรม"

          สงครามที่เป็นธรรมนั้น สามารถนิยามได้ว่าเป็นสงครามที่ไม่ขัดกับศีลธรรม หรือแม้กระทั่งเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมที่หากไม่ปฏิบัติแล้วจะเกิดความเสียหาย ทั้งนี้พิจารณาภายใต้เงื่อนไขหนึ่งๆ ของการเริ่มต้น และการปฏิบัติสงคราม

          สำหรับนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับสงครามที่เป็นธรรมส่วนใหญ่ยอมรับว่า บุคคลแรกที่บันทึกเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติทางศีลธรรมในการสงคราม คือ นักบุญออกัสติน ออกัสตินให้ทรรศนะว่า สงครามเป็นผลมาจากบาปในโลกนี้ กล่าวคือ ตามความเชื่อในศาสนาคริสต์ อดัมกับอีฟซึ่งเป็นมนุษย์คู่แรกของโลกได้กระทำการฝ่าฝืนและไม่เชื่อฟังคำสั่งของพระเจ้า จึงเกิดบาปและความชั่วร้ายต่างๆ ตามมา และสงครามก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากบาปที่มนุษย์คู่แรกกระทำไว้

          ตามความคิดเห็นของออกัสติน ความรุนแรงกับสงครามเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะเป็นบาป และเหตุที่สงครามเป็นบาปก็เพราะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า และความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกันเอง

          ออกัสตินให้ทรรศนะว่า สงครามที่เป็นธรรมเป็นความชั่วร้ายที่สุดทางกายภาพประการหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นในโลก แต่มันได้รับการยินยอมให้เกิดขึ้นอย่างชอบธรรมต่อเมื่อสอดคล้องกับสภาวะ และเพื่อการปกป้อง แต่เมื่อใดก็ตามที่มีผู้ถูกคุกคามหรือเหยื่อผู้บริสุทธิ์ ต้องเปรียบเทียบกันระหว่างสิทธิของเหยื่อผู้บริสุทธิ์ กับสิทธิของผู้รุกราน ว่าสิทธิของฝ่ายใดจะมากกว่ากัน ซึ่งในกรณีนี้สิทธิของเหยื่อผู้บริสุทธิ์ย่อมเหนือกว่าผู้ที่รุกรานโดยปราศจากความชอบธรรม จึงทำสงครามตอบโต้ได้แต่การใช้กำลังทางกายภาพจะต้องยุติธรรม กล่าวคือเป็นการป้องกันตัว ไม่ใช่การคุกคามหรือรุกราน

          อีกทั้งการทำสงครามนั้นจะต้องนำมาใช้โดยสถาบันที่มีอำนาจถูกต้องตามกฎหมาย และการทำสงครามนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความรัก ออกัสตินมองว่าเงื่อนไขข้อนี้สำคัญที่สุด กล่าวคือ เหตุที่การทำสงครามต้องอยู่บนพื้นฐานของความรักเนื่องจากมนุษย์มีศักดิ์ศรี แม้ว่าจะเป็นศัตรูก็มีศักดิ์ศรี ดังนั้นต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่ไม่จำเป็น และต้องประนีประนอมกับศัตรูให้เร็วที่สุด

          นอกจากนี้ ออกัสตินยังย้ำความคิดที่ว่า เหตุจูงใจสำคัญในการทำสงครามก็เพื่อฟื้นฟูสันติภาพเขากล่าวว่า

          เราไม่ได้แสวงหาความสงบเพื่อที่จะสู้ แต่เราสู้เพื่อที่จะมีความสงบ ดังนั้นจงมีความสงบเมื่อต่อสู้ ท่านจะได้พิชิตทุกคนที่ท่านสู้ด้วย และทำให้พวกเขาได้ไปสู่สันติสุข

          จากการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีสงครามที่เป็นธรรมจาก The Internet Encyclopedia of Philosophy (๑๙๙๘) พบว่าตามหลักสากล ทฤษฎีสงครามที่เป็นธรรมประกอบด้วย ๒ ส่วน (ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาละติน) คือ Jus Ad Bellum และ Jus In Bello กล่าวคือ

๑. Jus Ad Bellum ("Right to [go to] war") คือ การคำนึงถึงความชอบธรรม ซึ่งต้องปฏิบัติก่อนที่จะมีการประกาศสงคราม ประกอบด้วยสาระสำคัญ ๕ ประการคือ

๑.๑ สาเหตุอันชอบธรรมในการก่อเหตุ (Just Cause) การที่จะประกาศสงครามได้นั้นต้องมีเหตุผลอันชอบธรรม เป็นต้นว่า การต่อสู้ป้องกันตัวจากการรุกรานของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เป็นธรรม คุ้มครองประชาชนผู้บริสุทธิ์ ปกป้องสิทธิเสรีภาพและรัฐจากการถูกล่วงล้ำสิทธิ ตลอดจนเป็นการลงโทษผู้กระทำผิด

๑.๒ อำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย (Lawful Authority) การตัดสินใจประกาศสงครามต้องเป็นไปโดยผู้ปกครองประเทศที่มีอำนาจเหมาะสม ตลอดจนองค์กรซึ่งเป็นที่ยอมรับของสากล โดยผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง

๑.๓ จุดมุ่งหมายที่ชอบธรรม (Just Intent) คือความมุ่งมั่นในการทำสงครามเพื่อที่จะนำมาซึ่งสันติภาพ ไม่ใช่เป็นการทำสงครามเพื่อล้างแค้น หรือเพื่อเกียรติศักดิ์ของผู้ร่วมสงคราม

๑.๔ มาตรการสุดท้าย (Last Resort) ก่อนการประกาศสงครามต้องแน่ใจว่าประเทศนั้นๆ ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อขจัดข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาทางการทูตเป็นสิ่งที่ต้องนำมาใช้เป็นอันดับต้นๆ จนถึงที่สุดแล้ว เมื่อไม่มีวิถีทางใดที่ดีไปกว่าการลงโทษผู้รุกรานจึงจะประกาศสงครามได้

๑.๕ ความหวังที่จะได้รับชัยชนะ (Reasonable Hope of Success) จุดมุ่งหมายของการทำสงคราม คือ ต้องทำสงครามจนได้ชัยชนะได้เร็วที่สุด และหากทราบดีว่าผลของการสู้รบนั้นคือไม่สามารถไปสู่ความสำเร็จหรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ก็ต้องหาทางสกัดกั้นหรือขจัดความรุนแรง เพราะหากฝืนสู้รบไปก็เป็นการไร้ประโยชน์และจะมีแต่ผลเสียติดตามมา

๒. Jus In Bello ("[What is] right war") คือการปฏิบัติประพฤติตนท่ามกลางภาวะสงคราม ประกอบด้วยสาระสำคัญ ๒ ประการคือ

๒.๑ การแยกแยะความแตกต่าง (Discrimination) กล่าวคือ ผู้ทำหน้าที่ในการรบต้องแยกระหว่างประชาชนที่บริสุทธิ์กับทหารของฝ่ายตรงข้าม หลีกเลี่ยงความรุนแรงที่โหดร้ายป่าเถื่อนและไม่เป็นธรรม อีกทั้งเชลยศึกต้องได้รับการปฏิบัติอย่างดีและมีเกียรติ รวมทั้งทรัพย์สินของคู่สงคราม ต้องไม่ถูกทำลายให้ได้รับความเสียหายมากเกินความจำเป็นอีกด้วย

๒.๒ ความเป็นสัดส่วน (Proportionality) หมายถึงความพอเหมาะพอดีในการใช้กำลังในสงครามซึ่งประเทศหนึ่งๆ ควรจะใช้กำลังที่พอสมควรในการบรรลุถึงเป้าหมาย รวมถึงการตระหนักถึงเงื่อนไขในการใช้กำลังอาวุธเพียงเพื่อให้สงครามยุติลงเท่านั้น การใช้อาวุธร้ายแรงซึ่งมีอานุภาพทำลายล้างสูง ถือเป็นการใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วน

          ปัจจุบันแนวคิดสงครามที่เป็นธรรมเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และมีอิทธิพลต่อนักคิดและนักปรัชญาบางกลุ่มในอันที่จะแสวงหาข้อยุติเกี่ยวกับความชอบธรรมในการทำสงคราม ตลอดจนการสร้างเงื่อนไขบางประการเพื่อให้การทำสงครามเป็นที่ยอมรับได้ แต่อย่างไรก็ดี แนวคิดสงครามที่เป็นธรรมก็มิได้เป็นที่ยอมรับสำหรับกลุ่มสันตินิยม (Pacifism) .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :