เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
สงครามในความรู้สึก
โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

คอลัมน์ ชั่ว ๆ ดี ๆ
มติชนรายวัน วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๑๕๐

 

          ผมเชื่อว่าตัวเองคงไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกหดหู่ใจขณะเฝ้าตามข่าวสงครามอิรักทางจอโทรทัศน์... เพราะสิ่งที่เราเห็นแท้จริงแล้วก็คือการถ่ายทอดสดการฆ่ากันระหว่างมนุษย์นั่นเอง

          แม้เราจะไม่ค่อยได้เห็นภาพคนตายอย่างชัดเจน แต่เราก็รู้ว่ามีคนตายไปไม่น้อย และตายในวินาทีเดียวกันกับภาพควันระเบิดที่พวยพุ่งขึ้นมาบนจอ ตายในห้วงยามเดียวกันกับภาพเปลวเพลิงที่เราเห็นโหมลามอยู่ตามตึกรามบ้านช่อง หรือตายพร้อมภาพปืนใหญ่กระตุกตัวส่งเสียงกึกก้องคำราม

          ใช่...เทคโนโลยีข่าวสารแห่งยุคปัจจุบันทำให้เราได้รับรู้สภาพเหล่านี้ ในเวลาเดียวกับที่เหตุการณ์เกิดขึ้น และกลายเป็นประจักษ์พยานของเรื่องร้ายไปโดยไม่รู้ตัว

          แต่ก็อีกนั่นแหละการที่สงครามถูกถ่ายทอดสด ย่อมทำให้จอทีวีกลายเป็นสนามรบไปอีกแบบหนึ่ง ทุกฝ่ายต่างพยายามแถลงข่าว หรือนำเสนอภาพเหตุการณ์ เพื่อคัดหางเสือความคิดของผู้ชมให้หันไปในทิศทางที่ฝ่ายตนต้องการ

          ใครไม่รู้เคยกล่าวไว้ว่า "สัจจะคือผู้ถูกสังหารรายแรกในสงคราม" เรื่องนี้ผมคิดว่ามีมูลอยู่พอสมควร ภาพที่เราเห็นบนจอทีวีนั้นเป็นเพียงภาพบางส่วน และต่อให้เรื่องราวยุติลงในวันหน้าบางทีเราก็อาจจะไม่มีวันได้ทราบความจริงทั้งหมดเลย

          อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวสงครามในอิรักของเครือข่ายโทรทัศน์ต่าง ๆ แม้จะไม่ได้เสนอความจริงอย่างครบถ้วน แต่ก็ให้ข้อเท็จจริงหลายอย่างที่เป็นภาพของสงคราม และให้มากพอที่จะทำให้เราเกิดอาการปั่นป่วนทางความคิดจิตใจได้ทั้งวัน

          สิ่งแรกสุดที่เราสามารถตรวจสอบได้คือดีกรีความเป็นมนุษย์ของตัวเอง... เราแปลบปลาบในหัวใจทุกครั้งหรือไม่ที่เห็นเปลวไฟม้วนตลบขึ้นมาจากซอกมุมต่าง ๆ ของกรุงแบกแดด หรือว่าเราแค่รู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ กระทั่งหงุดหงิดที่กองทัพอเมริกันและพันธมิตรไม่บุกเข้ายึดเมืองหลวงของอิรักเสียที

          พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ...ข่าวสงครามทำให้เราต้องถามตัวเองว่าเป็นแค่ผู้ชมโทรทัศน์ที่กำลังสนุก กับ "รายการพิเศษ" หรือเป็นสมาชิกของมนุษยชาติที่ร้อนหนาวไปกับโศกนาฏกรรมของเผ่าพันธุ์ ?

          แน่ละ สำหรับทหารที่เข้าสู่สนามรบโดยตรง สภาพจิตย่อมแตกต่างออกไปจากเราท่านซึ่งเป็นได้อย่างมากแค่ผู้รู้เห็นเหตุการณ์

          ไม่เพียงแต่พวกเขาจะเห็นความตายของคู่ต่อสู้หรือความตายของตนเป็นเรื่องธรรมดาเท่านั้น... คนเราเมื่อถูกส่งไปฆ่าคนอื่นหรือไปถูกคนอื่นฆ่า ย่อมต้องมีสิ่งเชื่อถือบางอย่างที่มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว

          ฝ่ายสหรัฐเรียกสงครามครั้งนี้ว่าปฏิบัติการ "เสรีภาพอิรัก" ซึ่งมีความหมายทางการเมืองอย่างเต็มเปี่ยม และแทบไม่ต่างอะไรกับสงครามอุดมการณ์ในอินโดจีนเมื่อสามสี่ทศวรรษก่อน

          เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ไม่ว่านักการเมืองอเมริกันจะมีวาระแฝงเร้นอันใดก็ตาม สิ่งที่ทหารอเมริกันยึดถือไว้อธิบายให้ตัวเองฟังในสนามรบ ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย... ซึ่งเป็นภารกิจที่ "ยิ่งใหญ่" พอที่จะทำให้พวกเขาเข้าไปทำอะไรในประเทศอื่นได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ

          กล่าวสำหรับทางฝ่ายอิรักก็เช่นกัน การรุกเข้ามาของกองทัพอเมริกันและพันธมิตร ย่อมทำให้ระบอบการปกครองของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น กลายเป็นประเด็นรองไปทันที เฉพาะหน้าพวกเขามีแต่ภารกิจอัน "ศักดิ์สิทธิ์" ในการปกป้องปิตุภูมิ

          แต่เอาเถิด...ทหารอเมริกันหรือทหารอิรักจะเชื่อมั่นศรัทธาในสิ่งใดก็ยกไว้ก่อน ถือเสียว่ามันเป็นความจำเป็นทางจิตใจของคนที่อยู่ต่อหน้าความเป็นความตาย

          ประเด็นสำคัญสำหรับคนที่เฝ้าจอโทรทัศน์อยู่นับร้อยล้านในโลก น่าจะใหญ่กว่านั้นเยอะและเกี่ยวข้องอนาคตของมนุษยชาติทั้งปวง

          เคลาสวิทซ์...นักการทหารเยอรมันผู้โด่งดังเคยกล่าวไว้ว่า "สงครามคือสิ่งสืบเนื่องมาจากการเมือง โดยอาศัยวิธีการอื่น" (War is the continuation of politics by other means.) ถ้าเราเอาประโยคนี้มาครุ่นคิด ก็คงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าแล้วการเมืองที่นำมาสู่การทหารในอิรักมันคืออะไรกันแน่

          ทำไมอยู่ดีๆ อภิมหาอำนาจผู้ทรงพลังที่สุดในโลก จึงมีนโยบายการเมืองที่จะไม่อดทนกับระบอบการปกครองที่ต่างกัน และถือตนว่ามีสิทธิอัน "ชอบธรรม" ที่จะยกกำลังเข้าไปปลูกฝัง "เสรีภาพ" ให้กับประเทศเล็กประเทศน้อยทั้งหลาย

          แล้วพูดก็พูดเถอะ...อะไรจะเกิดขึ้นกับโลก ถ้าหาก "ประชาธิปไตย" ที่ถูกนำเข้าจากภายนอกเช่นนี้ถูกมัดรวมไว้อย่างแน่นหนากับลัทธิเสรีนิยมใหม่ ทั้งในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

          ครับ ผมเกรงว่าเรื่องทั้งหมดมันจะไม่หยุดอยู่ที่อิรัก เพราะโลกนี้ยังมีระบอบการปกครองที่หลากหลายอยู่มาก ยังไม่ต้องเอ่ยถึงวิวัฒนาการทางสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้หลายแห่งไม่อาจเข้าสู่โลกาภิวัตน์ได้อย่างเต็มเนื้อเต็มตัว

          เป็นไปได้ไหมว่าจากนี้ไปอีกหลายๆ ปี เปิดทีวีช่องไหนก็จะมีแต่ถ่ายทอดสดสงคราม .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :