เสขิยธรรม
ประเด็นร้อน
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

อย่าให้รัฐนำเราเข้าสงคราม

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ()
พิมพ์ครั้งแรกใน A-DAY WEEKLY ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

          นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แปรสภาพเป็นพื้นที่ซึ่งรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ดังปรากฎว่าได้เกิดการเข่นฆ่าไม่เว้นแต่ละวัน และในขณะเดียวกัน ก็เกิดการอุ้มฆ่าและหายสาปสูญของราษฎรไม่เว้นวันด้วย นำไปสู่ความไม่พอใจของราษฎรต่อรัฐบาลอย่างกว้างขวาง ส่วนรัฐบาลก็ไม่ไว้วางใจประชาชนสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

          หากเชื่อคำที่หมอประเวศ วะสี กล่าวไว้ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็กำลังดำเนินเข้าสู่สถานการณ์สงครามจรยุทธ์โดยตรง

          เฉพาะจากตัวเลขที่รัฐบาลประกาศไว้ ภายในช่วงเวลาเพียง ๑๐ เดือน ได้เกิดเหตุการณ์ “ความไม่สงบ” ขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้นถึง ๙๐๖ ครั้ง ยังผลให้มีผู้เสียชีวิต ๒๗๐ ราย และบาดเจ็บ ๔๒๓ คน โดยมีผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐถึง ๔๖ ราย และมีเจ้าหน้าที่ผู้บาดเจ็บอีก ๙๑ ราย

          อย่างไรก็ดี ตัวเลขของทางการนั้นแสดงยอดรวมของผู้เสียชีวิตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่ำกว่าความจริงไปมาก เพราะไม่ได้รวมผู้เสียชีวิตในวันที่ ๒๘ เมษายน ทั้งที่ในบริเวณมัสยิดกรือเซ๊ะและบริเวณอื่น ดังมีกรณีเด็กนักเรียน ๑๒ คน จากอำเภอสะบ้าย้อย เป็นตัวอย่าง รวมทั้งไม่ได้รวมผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมและจับกุมที่อำเภอตากใบในวันที่ ๒๕ ตุลาคม

          หากคำนึงถึงคนตายในกรณีเหล่านี้ ก็สรุปได้ว่าในรอบไม่ถึงหนึ่งปี สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้เสียชีวิตจาก “ความไม่สงบ” ไปแล้วอย่างน้อย ๔๖๗ ราย โดยเป็นพลเรือนจำนวนไม่ต่ำกว่า ๔๑๖ คน

          การเสียชีวิตของผู้คนจำนวนนี้เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ความจริงที่น่าเศร้ายิ่งไปกว่านั้นก็คือตัวเลขนี้ยังไม่ได้รวมผู้คนที่เสียชีวิตจากการ “อุ้มฆ่า” และ “หายสาปสูญ” เอาไว้ด้วย ทั้งที่คนกลุ่มนี้มีปริมาณมาก จนทำให้รองนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งยอมรับว่า เป็นต้นตอของการขยายตัวของความรุนแรงในพื้นที่โดยตรง

          ทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็น ตัวอย่างของบุคคลที่เชื่อได้ว่าเสียชีวิตด้วยเหตุจากการ “อุ้มฆ่า” และ “หายสาปสูญ” แบบนี้ แต่นอกจากทนายสมชายแล้ว ยังมีบุคคลที่ประสบชะตากรรมแบบเดียวกันนี้อีกมาก เพียงแต่เขาเหล่านั้นเป็นพลเรือนที่ปราศจากชื่อเสียง อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้การหายสาปสูญและล้มตายของเขาไม่มีค่าพอจะเป็นข่าวในสังคม

          (แต่แม้การหายสาปสูญของทนายสมชายจะเป็นข่าวใหญ่ในสังคม เขาก็ไม่ได้มีชะตากรรมแตกต่างจากพลเรือนที่เป็นเหยื่อของการ “อุ้มฆ่า” รายอื่นมากนัก เพราะรัฐไม่สนใจจะจับกุมผู้อยู่เบื้องหลังมาดำเนินคดีได้ ซ้ำยังปราศจากความละอายต่อบาป ถึงขั้นมอบรางวัลข้าราชการดีเด่นให้แก่นายตำรวจที่เป็นจำเลยของคดีนี้ไป เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา)

          ไม่มีใครรู้ชัดว่ามีผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูก “อุ้มฆ่า” และ “หายสาปสูญ” ไปแล้วเท่าไร เพราะทางราชการไม่เคยยอมรับว่ามีปัญหานี้ จึงไม่มีตัวเลขในเรื่องนี้ออกมาอย่างเป็น “ทางการ” ถึงแม้ตัวนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีจะรับรู้และแถลงอยู่บ่อยครั้งว่ามีปัญหานี้ในอัตราที่สูงมากก็ตามที

          หากเชื่อตามที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งระบุไว้ เฉพาะในรอบปีนี้ ก็มีคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หายตัวโดยลึกลับไปแล้วไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ ราย

          อย่างไรก็ดี ถ้าไม่เชื่อข้อมูลนี้ แล้วลองสมมติว่ามีผู้คนเผชิญชะตากรรมแบบนี้อย่างน้อยที่สุดวันละหนึ่งราย ก็หมายความว่าถึงตอนนี้ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีพลเรือนที่เสียชีวิตโดยทุกสาเหตุ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๗๒๐ คน

          คำถามคือรัฐคิดอย่างไรต่อความตายของผู้คนทั้ง ๗๒๐ คน?

          หากพิจารณาท่าทีของรัฐในช่วงที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่ารัฐมุ่ง “จัดการ” แต่ความตายซึ่งเกิดจาก “ความไม่สงบ” จนนำไปสู่การตั้งหน่วยเฉพาะกิจ เพื่อปราบปรามผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับความตายเหล่านี้ขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยอาศัยกำลังพลของกองทัพ, ตำรวจท้องที่ , หน่วยข่าวกรอง และการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจของพลเรือนขึ้นในพื้นที่ห่างไกล

          แต่ “ความตาย” จาก “ความไม่สงบ” เป็น “ความตาย” ที่ครอบคลุมชีวิตผู้คนเพียงส่วนเดียว เพราะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้เสียชีวิตในปริมาณที่กว้างขวางกว่านั้นไปมาก การมุ่งแก้ปัญหาแต่ “ความตาย” อันเกิดจาก “ความไม่สงบ” จึงหมายความว่ารัฐจงใจ“เพิกเฉย” ความตายของคนอีกกลุ่ม ทำให้แม้ผู้ตายจะเป็นพลเมืองของรัฐเดียวกัน อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน แต่ก็ได้รับการปฏิบัติจากรัฐผิดแผกไปจากกัน

          สำหรับรัฐแล้ว ปฏิกริยาต่อ “ความตาย” ของผู้คน ดูจะสัมพันธ์กับ “ผู้กระทำ” ความตายนั้น กล่าวคือรัฐสนใจแต่ความตายที่เกิดจากบุคคลซึ่งรัฐเห็นว่าเป็นศัตรูของความสงบเรียบร้อย แต่ไม่สนใจความตายที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม

          ความตายของผู้คนในวันที่ ๒๘ เมษายน เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นสภาวะข้อนี้ เพราะแม้จะมีหลักฐานที่ชวนให้เห็นความบริสุทธิ์ของผู้ตาย ดังปรากฎในนิตยสาร “ฟ้าเดียวกัน” ว่าหลายคนเป็นเพียงนักเรียนมัธยมปลาย บ้างเป็นเยาวชนดีเด่น และบ้างคือชายชราอายุกว่า ๖๐ ปี แต่ถึงบัดนี้ คนเหล่านี้ก็ตายไปโดยที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด

          น่าสนใจว่าหลังความตายของพลเรือน ๑๐๗ คน ไม่นาน รัฐบาลก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ แต่เมื่อกรรมการมีข้อสรุปว่าเจ้าหน้าที่กระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ รัฐบาลก็ไม่ได้พิจารณาความผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องอีกต่อไป อันเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเชื่อว่าเจ้าหน้าที่สามารถละเมิดชีวิตของราษฎรได้โดยเสรี

          แน่นอนว่าในสังคมที่อยู่ในระบอบการเมืองแบบราชาธิปไตย, อำนาจนิยม หรือสังคมชนเผ่า ย่อมไม่แปลกที่รัฐจะมีอำนาจวินิจฉัยชีวิตพลเมืองในลักษณะนี้ แต่หลักการของสังคมเสรีประชาธิปไตยนั้นไม่อนุญาติให้รัฐละเมิดชีวิตพลเมืองได้แบบนี้ ยกเว้นแต่ในกรณีที่กระบวนการยุติธรรมวินิจฉัยแล้วว่า พลเมืองรายนั้น เป็นอันตรายร้ายแรงต่อส่วนรวม

          อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา รัฐไม่เคยแสดงหลักฐานว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นบุคคลอันตรายร้ายแรง ถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรีเองก็ไม่เคยแม้แต่จะประกาศว่า คนตายทั้งหมดเป็นกลุ่มเดียวกับขบวนการก่อการร้าย จึงพูดได้อย่างชัดเจนว่าคนเหล่านั้นตายจากการใช้อำนาจและพละกำลังโดยอำเภอใจของรัฐบาล

          กระบวนการทั้งหมดนี้นำไปสู่ปัญหาทางการเมืองที่สำคัญสองข้อ

          ข้อแรก รัฐบาลมีความผิดทางการเมืองฐานฆาตกรรมพลเรือนในชาติ

          ข้อสอง รัฐบาลล้มเหลวทางการทหารในการต่อต้านขบวนการก่อการร้ายที่มีอยู่จริง

          แรงเหวี่ยงจากปัญหาทั้งสองข้อนำสังคมไปสู่สภาวะการณ์อันตราย เพราะการละเมิดชีวิตพลเรือนเป็นแรงกดดันให้รัฐต้องปกป้องตัวเองทางการเมือง จึงจำเป็นต้องทำให้คนตายกลายเป็นบุคคลผู้เป็นภัยอย่างยิ่งยวด ยังผลให้เกิดความคิดเรื่องปีศาจวิทยาแห่งการก่อการร้าย ซึ่งในท้ายที่สุด ก็นำไปสู่การสร้างความรับรู้รวมหมู่ว่าคนบางกลุ่มบางอัตลักษณ์มีสถานะเป็น “ปีศาจ” ของสังคม

          สภาวะการณ์ทั้งหมดนี้ไม่ได้ปรากฎให้เห็นเป็นรูปธรรมจนเห็นได้ชัด จึงไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนทำหน้าที่ผลิตและตอกย้ำความเป็น “ปีศาจ” ของสังคม ในทางตรงกันข้าม สภาวะการณ์ทั้งหมดนี้บังเกิดและพัฒนาขึ้นในระดับของความคิดอ่านและความรับรู้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็นำไปสู่การก่อรูปขึ้นของ “ระเบียบตรรกะแห่งความรุนแรง”

          กล่าวอย่างรวบรัดแล้ว “ระเบียบตรรกะแห่งความรุนแรง” ดำรงอยู่ในเชิงวิภาษเป็นสามลำดับขั้น ขั้นตอนแรกคือความเชื่อว่าการมีอยู่ของ “ปีศาจ” นั้นเป็นอันตราย ต่อมา จึงเริ่มเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกำจัด “ปีศาจ” ไปให้หมดสิ้น และขั้นตอนสุดท้าย คือยอมรับการขจัด “ปีศาจ” ด้วยกำลังและความรุนแรงชนิดที่เป็นรูปธรรม

          ระเบียบตรรกะแบบนี้ส่งผลให้สังคมสนับสนุนการต่อต้าน “ปีศาจ” ด้วยวิถีทางรุนแรง และขณะเดียวกัน ก็กดดันให้ “ปีศาจ” ต้องกันตัวเองออกจากรัฐและสังคมมากขึ้น รวมตัวกันเหนียวแน่นมากขึ้น และแข็งกร้าวมากขึ้นด้วย ยังผลให้ทุกฝ่ายไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากต้องเคลื่อนไหวภายใต้ “ตรรกะแห่งความรุนแรง” ที่ยิ่งนานก็ยิ่งขยายตัว

          ทั้งหมดนี้คือเงื่อนไขของสงครามที่กำลังเติบโตขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน เป็นสงครามที่มีความรุนแรงไม่น้อยไปกว่าสงครามระหว่างคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาในสังคมอื่น เป็นสงครามซึ่งอคติต่อผู้คนที่ “เป็นอื่น” ถูกขับดันให้ระเบิดออกมาอย่างเต็มที่ และเป็นสงครามที่ไม่มีฝ่ายไหนเห็นฝ่ายตรงข้ามเป็นคนและเป็นเพื่อนร่วมชาติอีกต่อไป

          พูดให้ถึงที่สุดแล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีความเป็นไปได้ทางตรรกะเป็นอย่างมาก ที่จะนำไปสู่สงครามระหว่างชาติพันธุ์ (ethnic war).. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :