วิภา อุดมฉันท์
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๐๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๑๕๙ หน้า ๗
ช่วงนี้หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และทีวีทุกช่องถูกครอบครองโดยข่าวสองข่าว คือ ข่าวสงครามอิรักและข่าวไข้หวัดมรณะหรือ SARS ข่าวอิรักดังมาก่อนเกือบครึ่งเดือน ข่าว SARS ตามมาติดๆ แต่ทำท่าว่าจะแซงขึ้นหน้า เพราะอเมริกามัวแต่อืดอาดไม่ยอมเด็ดหัวซัดดัมอย่างที่ตั้งใจสักที ตอนนี้ SARS เลยมาแรง คนก็ตามข่าวกันไม่รู้จักเบื่อ ยิ่งตามก็ยิ่งตื่นเต้น ยิ่งตื่นเต้นก็ยิ่งติดตาม ฟังมาแล้วก็เอาไปคุยกันต่อ เรียกได้ว่าชีวิตคนไทยและคนทั่วโลกเวลานี้ไม่มีใครเหงา
น่าขอบใจบุชน้อย รวมทั้งเจ้าตัว SARS ที่ยังไม่มีใครรู้จัก ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านอย่างเราลืมเรื่องทุกข์เรื่องโศก เรื่องบาดหมางในครอบครัวไปได้เกือบทุกเรื่อง หลายบ้านบอกว่าลูกที่ไม่เคยพูดกับพ่อ หมู่นี้ก็เห็นคุยกันออกรสออกชาติ โดยเฉพาะเรื่องรบในอิรักคุยกันได้สนุกไม่แพ้หนัง
เหนือระดับปัจเจกอย่างเราขึ้นไป ความหงุดหงิดขัดใจกันในวงการเมืองก็ดูจะสงบเรียบร้อยขึ้น นายกฯ ไม่ต้องงอนเพราะถูกผู้สื่อข่าวรุมเร้าได้พักใหญ่แล้ว เหยื่อฆ่าตัดตอนตายไปอีกกี่คนก็ไม่มีใครหยิบขึ้นมาด่าว่ารัฐบาล แม้แต่ข่าวกำนันเป๊าะคนดังก็รอดหูรอดตาคนส่วนใหญ่ไปได้อย่างไรไม่รู้
หลายคนเลยคิดว่าข่าวดังระเบิดอย่าง SARS และอิรักนี้ก็ดี น่าจะมีบ่อยๆ สถาบันทางสังคมทุกสถาบันจะได้ปรองดองรักใคร่อย่างที่เห็น แล้วใครจะหาว่าข่าวเหล่านี้ทำให้คนเศร้าสร้อย โลกหมดสีสันก็ไม่ได้ เพราะเมื่อเช้านี้เองยังเห็นข่าวทางทีวี เอาหนังสือพิมพ์ของฮ่องกงมาออก พาดหัวข่าวตัวโตๆ "Fashion in a Time of Flu" ใต้หัวข่าวมีภาพสวยๆ ของหญิงสาวและเด็กหน้าตาน่ารัก หลายคนทุกคนมีหน้ากากอนามัยเป็นแฟชั่นรูปหมี ลายดอกไม้ ฯลฯ ดูแล้วน่าซื้อมาใส่ เด็กน้อยในรูปยังยิ้มแก้มปริเห็นตาหยีนิดเดียว
แน่นอน คนที่ได้ประโยชน์จากข่าวสงครามและข่าว SARS มีแน่นอน อย่างน้อยพ่อค้าขายหน้ากากก็คงไม่รังเกียจข่าวชนิดนี้ แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าใครๆ ก็ชอบและได้ประโยชน์ไปเสียทั้งหมด คนที่ได้มากและเห็นกันชัดๆ มีสองพวก พวกหนึ่งคือคนที่ต้องการอาศัยสถานการณ์กลบข่าวตัวเองพวกหนึ่ง กับคนที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากข่าวอีกพวกหนึ่ง
สงครามครั้งนี้ อเมริกาฉวยโอกาสสำแดงแสนยานุภาพทางทหารให้ชาวโลกทึ่ง เสร็จสงครามอิรักครั้งนี้ พ่อค้าอาวุธของอเมริกาคงรอรับออร์เดอร์ไม่หวาดไหว อเมริกายังถือโอกาสครั้งนี้สร้างภาพวีรบุรุษผ่านจอโทรทัศน์ให้ชาวโลก shock and awe ไปได้อีกนาน....นี่คือตัวอย่างของคนที่ฉวยประโยชน์จากข่าวตัวจริง
หมอหน่อยของเราก็ได้ไม่แพ้เขาเท่าไร ตั้งแต่ไข้หวัดมรณะระบาด ทุกคนพากันอยากฟังเธอพูด หมอจึงต้องออกมาแถลงผลงานของพรรคไม่เว้นแต่ละวัน
ในทางกลับกัน สถานการณ์เช่นนี้กลับดีสำหรับคนบางคนที่ไม่อยากออกทีวีและไม่อยากเป็นข่าว พวกที่มีคดีติดค้างกับประชาชนจะชอบสถานการณ์อย่างนี้มาก เมื่อเช้านี้บีบีซีรายงานว่า ติมอร์ตะวันออกประท้วงรัฐบาลออสเตรเลีย ขอให้ยืดเวลาการขับชาวติมอร์กว่าพันคนออกนอกประเทศ แต่ข่าวนี้ไม่เป็นข่าวแม้แต่ในออสเตรเลียเอง หรือถึงจะเป็นข่าวคนออสเตรเลียก็คงเฉยๆ เพราะมัวยุ่งอยู่กับการประท้วงสงคราม
ข่าวที่ควรจะเป็นข่าวแต่ไม่เป็นข่าว ผลเสียจะตกอยู่กับใคร ถ้าไม่ใช่ประชาชนที่ถูกทำให้ไม่รู้ข่าว เหตุก็เพราะถูกสื่อชักนำไปให้สนใจข่าวที่หวือหวากว่า เร้าใจกว่า ทั้งๆ ที่มันอยู่ไกลแสนไกล ไกลจนมองไม่เห็นและไม่มีใครรู้จักอย่างเจ้าตัว SARS
แล้วจะโทษประชาชนว่าโง่ได้ไหม ในเมื่อสื่อมวลชนรู้ดีที่สุดว่าสื่อหากินกับ "ความสนใจแบบปุถุชน" หรือ human interest ได้ดีที่สุด คำว่าปุถุชนพระท่านแปลว่า "คนหนา" คือมีม่านปิดบังดวงตาที่หนา ทำให้มองไม่เห็นแสงสว่าง สื่อมวลชนก็รู้ว่าคนหนาเป็นคนส่วนใหญ่ของโลก แต่สื่อก็ชอบเพราะการหากินกับข่าวปล้นฆ่า ข่มขืน โรคระบาด สงครามทำลายล้าง ความวิบัติหายนะ มันง่ายและคล่องกว่าข่าวประเภทตรงกันข้าม
นักสื่อสารมวลชนยุคหลังจบออกมาด้วยความรู้ที่ท่องกันต่อๆ ว่า สิ่งที่เรียกว่าคุณค่าข่าวหรือ news value นั้นก็คือข่าวที่เป็น human interest พวกเขาจำแล้วก็นำไปปฏิบัติโดยไม่มีโอกาสรู้เลยว่า นักข่าวรุ่นปู่รุ่นย่าของพวกเขานั้น วิญญาณของ news value อยู่ที่ความสำนึกถึงผลดีผลเสียที่ข่าวนั้นจะพึงมีต่อประชาชนและสังคมต่างหาก
เราไม่ตำหนิสื่อมวลชนที่ถูกสอนกันมาเช่นนี้ เรารู้ว่ามันเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจาก "ระบบ" แต่เราต้องเตือนสื่อที่มีปากกาอยู่ในมือว่า ระบบทุนนิยมเสรีในยุคไร้พรมแดนนั้น สำนึกที่ผิดของสื่อส่งผลกระทบลึกซึ้งเป็นพิเศษ กว้างไกลเป็นพิเศษ เพราะผลของมันถูกนำไปตอกย้ำซ้ำซาก จากสื่อทุกๆ สื่อ ในทุกรูปแบบและตลอดเวลา ไม่เหลือที่ให้ใครหนีรอดมันไปได้
สื่อมวลชนที่ดีต้องรู้ว่าใครคือผู้ได้และผู้เสียประโยชน์จากข่าว การเสนอข่าวตามๆ กันไปโดยไม่คิดอย่างอื่น นอกจากว่ามันเป็นข่าวที่ขายได้และยังมีผู้ต้องการ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการให้ความรู้กับสังคม และการสร้างปัญหาให้กับสังคมบางจนต้องใช้ปัญญาพิจารณาจึงจะมองเห็น
ในยุคที่ "ข่าว" ถูกทำให้เป็นสินค้าซึ่งต้องขายได้และขายดีอย่างทุกวันนี้ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อก็คือประชาชน ผู้ที่ได้ประโยชน์มักเป็นผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับประชาชน
ก็เพราะผลประโยชน์ของประชาชน กับผลประโยชน์ของฝ่ายตรงข้ามกับประชาชน มักเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันเสมอ ใครไม่เชื่อก็ลองสังเกตการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น สงครามไม่เกิดหุ้นพากันตกทั้งกระดาน พอสงครามระเบิดหุ้นพุ่งขึ้นทั่วโลก เวลาที่ประชาชนช่วยกันประหยัดไม่บริโภคฟุ่มเฟือย ฝ่ายตรงข้ามก็หน้าเศร้าบ่นว่าตลาดซบเซา พอยั่วยุให้คนใช้จ่ายอย่างไม่มีสติได้ ก็ร่าเริงใจชมว่าเศรษฐกิจดีตลาดคึกคัก
บังเอิญสื่อยักษ์ใหญ่ที่คนทั้งโลกต้องเงี่ยหูฟัง ถูกครอบครองโดยฝ่ายที่มีผลประโยชน์ตรงข้ามกับประชาชนทั้งหมด เมื่อปัจจัยสองอย่างนี้มาเจอกันสื่อจึงต้องคอยฉุกคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ทุกครั้งที่เกิดข่าวดังก้องโลก มักจะต้องมีคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ที่สื่อพึงตระหนัก อย่าลืมว่า การโกหกหลอกลวง กุข่าว โหมกระพือข่าวให้ลุกลามไปทั่วโลกทำได้ไม่ยากเลยในยุคนี้
พอเรามี news value อย่างหนึ่ง ครั้นเห็นคนอื่นทำอีกอย่างก็พากันกล่าวโทษ เวลานี้ทั่วโลกพากันประณามจีนว่าปกปิดข่าว SARS จนเป็นเหตุให้โรคลุกลามขยายวง ทางการจีนก็หาสะทกสะท้านไม่ จนวันนี้รัฐบาลจีนยอมให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าไปสำรวจสภาพไข้มรณะได้ก็จริง แต่ยังคงสั่งห้ามข่าวในประเทศไม่ให้เสนอภาพความน่ากลัวของ SARS อยู่นั่นเอง เมื่อถูกวิจารณ์มากๆ รัฐบาลจีนพูดว่า การเสนอข่าวร้ายมีแต่จะทำให้ประชาชนระส่ำระสาย กระเทือนต่อความมั่นคงทางสังคม ทางการจีนไม่มีนโยบายแพร่กระจายข่าว SARS ให้เป็นข่าวใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติได้หามาตรการควบคุมโรคโดยไม่ประมาท นัยว่าก่อนหน้านี้ พบ SARS ทั้งที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว แต่ปัจจุบันปักกิ่งกับเซี่ยงไฮ้ควบคุมได้ เหลือแต่ที่กวางโจวเท่านั้น
นี่คือจุดแตกต่างที่ชัดเจนของ news value ระหว่างจีนกับไทย ระหว่างสื่อมวลชนจีนกับสื่อมวลชนตะวันตก จะตัดสินว่าใครถูกใครผิดอย่างง่ายๆ คงไม่ได้ ภาษาวิชาการมีศัพท์อยู่คำหนึ่งคือ "externalities" แปลว่า ผลกระทบต่อภายนอก คำนี้น่าจะเป็นตัวชี้บ่งได้บ้างว่าสื่อกำลังทำหน้าที่ถูกผิดอย่างไร กล่าวคือสื่อกำลังสร้างผลกระทบที่ดีหรือไม่ดีอย่างไรให้กับประชาชน
ในกรณีของ SARS สื่อสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนจนเกินเหตุหรือไม่ ข่าวที่มีเนื้อหาวนเวียนซ้ำซาก ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมอะไรกับประชาชนหรือเปล่า ช่วยให้ประชาชนรู้จักวิธีป้องกันตัวเองดีขึ้นแค่ไหน หรือสักแต่ว่าเอาตัวเลขผู้สูญเสียชีวิตมารายงานเพิ่มเติมทุกวัน เพื่อคงระดับความฮอต ทำให้หนังสือพิมพ์ขายดี เพิ่มเรตติ้งให้กับรายการข่าว จนกว่าจะมีข่าวฮอตกว่านี้มาให้เล่น
เท่าที่เห็นอยู่ในขณะนี้ สื่อกำลังสร้าง externalities ที่เป็นด้านลบมากกว่า จะด้วยจุดประสงค์อะไร จะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม SARS ถูกเน้นความน่ากลัวจนเกินจริง แม้แต่ชื่อเรียกก็ทำให้คนตกใจจนลืมไปว่าอัตราส่วนคนที่ตายด้วยโรคนี้มีเพียงร้อยละ ๓-๔ ข่าว SARS ที่สื่อนำเสนอไม่ได้มีส่วนช่วยให้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคลดลง ไม่ได้ช่วยให้ใครป้องกันตัวเองได้จริง เวลานี้เราพากันตามข่าวด้วยความสนุกตื่นเต้น แต่ลองนึกภาพถ้า SARS มาเยือนคนไทยจริงๆ สื่อจะทำอย่างไรกับเรา และเราจะตกในภาวะอย่างไร เราอาจไม่ได้ป่วยตายด้วยโรค SARS ในที่สุด แต่ความกลัวและความวิตกกังวลที่สื่อสร้างให้สามารถกัดกินหัวใจเราให้ทรมานไม่แพ้เป็นโรค SARS เลยทีเดียว
พิจารณาตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา SARS คือปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่ง อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้มันเกิดเราไม่ทราบ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเรามีหน้าที่ต้องรับรู้ แล้วใช้ปัญญาแก้ไขที่ต้นเหตุ พุทธศาสนาไม่เคยสอนให้เราปรุงแต่งเหตุปัจจัยกันไปเองเรื่อยๆ จนถึงขั้นขาดสติ
ทุกครั้งที่มีข่าวฮอตสุดสุดระดับโลกเกิดขึ้น สื่อไทยไม่ควรตามกระแสสื่อโลก ต้องใช้วิจารณญาณรายงานข่าวแต่พอดี โดยเฉพาะข่าวที่ส่งผลด้านลบต่อจิตใจประชาชน ข่าวอิรักและข่าว SARS ไม่ใช่ข่าวดี เป็นข่าวร้ายที่มีผลต่อจิตใจในระยะยาว สื่อไม่ควรซ้ำเติมประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อซ้ำซากของสถานการณ์ ควรหันกระบอกไฟฉายส่องหาข่าวดีๆ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว" มาเสนอประชาชนเป็นปกติ
ส่วนประชาชนเรานั้น ถ้าดูข่าวฆ่ากันในอิรักทุกวันแล้วจิตใจหยาบกร้านลง ฟังข่าว SARS ทุกวันแล้ววิตกจริตหนักหน่วงขึ้น เป็นสิทธิของเราที่จะเลือกยุติการอ่านและฟังข่าวสักพักหนึ่ง เพราะนอกจากความจริงทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ความจริงอีกข้อหนึ่งที่ประชาชนควรรู้อย่างยิ่งก็คือ วงการสื่อมวลชนเองก็ยอมรับว่า
ทุกอย่างที่ผ่านสื่อล้วนบิดเบี้ยว ทุกอย่างที่ผ่านสื่อมักน่ากลัวกว่าความเป็นจริงเสมอ ..
|