เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
ระวังแดนสนธยา !

"ทีมข่าวศาสนา"
นสพ.ไทยรัฐ ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๑๖๖๑๑ วันอังคารที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖

 

          สอบตก !

          คือ ผลการประเมินการปฏิบัติราชการของ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ องค์กรน้องใหม่ที่เกิดขึ้น หลังจาก การปฏิรูประบบราชการเมื่อเดือน ต.ค. ๒๕๔๕

          ตลอดระยะเวลา ๑๐ เดือน นับตั้งแต่หน่วยงานนี้เกิดขึ้น เกือบจะไม่มีผลงานใดๆ โดดเด่นอย่างเป็น รูปธรรมปรากฏ ต่อสาธารณชนเลยก็ว่าได้ ทั้งๆที่คณะสงฆ์และ พุทธศาสนิกชน ต่างคาดหวังไว้มากว่าหน่วยงานแห่งนี้ จะต้องทำงานได้รวดเร็ว กระชับฉับไว เพราะไม่ต้องยุ่งยากผ่านขั้นตอนมากมาย เนื่องจากขึ้นตรงกับ นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว

          แต่เอาเข้าจริงเสียงสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการทำงานของหน่วยงานน้องใหม่แห่งนี้ ยิ่งหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ว่าชอบทำตัวเป็นเจ้านายของพระสงฆ์บ้าง ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามบ้าง ที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือเสียงติติงถึงขบวนการ “เหลือบ” ที่หาช่องทางทำมาหากินกับพระ ถึงขนาดมีการมองกันว่าหน่วยงานนี้เริ่มฉายแววความเป็นแดนสนธยา

          แม้กระทั่งการรณรงค์ในโครงการศีล ๕ เพื่อให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติโดยมีเป้าหมาย ช่วยแก้ปัญหาสังคม ที่ถูกชูขึ้นเป็นนโยบายหลัก แถมยังรณรงค์กันสุดฤทธิ์ ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพียงแค่การนำป้ายศีล ๕ ไปติดตามวัดต่างๆ แค่นั้น ติดแล้วก็จบกันไป ไม่มีการสานต่อแนวคิดให้ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้ ให้ประชาชนเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ไม่ต้องท่องจำศีล ๕ แบบนกแก้วนกขุนทอง

          ที่สำคัญคือขาด “ต้นแบบ” ที่จะให้ชาวบ้านยึดถือเป็นแบบอย่างเพื่อเดินตามรอย การประพฤติปฏิบัติตนตามครรลองที่ถูกที่ควร

          พระราชกวี ผช.เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส เลขาธิการศูนย์พิทักษ์ พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย หนึ่งในแกนหลักที่เรียกร้องให้มีสำนักพุทธฯ ยังระบุว่า “ศีล ๕ ที่สำนักพุทธฯรณรงค์กันอยู่ ไม่ได้ผลแน่นอน เพราะคนที่รณรงค์เอง ก็ไม่ได้ตั้งตัวอยู่ในศีล ๕ มีการทำผิดศีลกันมากมาย โดยเฉพาะการใช้อำนาจหน้าที่ ที่มีอยู่ไปแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเองแทน ที่จะเป็นประเทศชาติ”

          หันมามองถึงการปฏิบัติงานของหน่วยงานน้องใหม่แห่งนี้บ้าง ยิ่งเหมือนตอกย้ำความ ไม่แน่ใจของ คณะสงฆ์และ พุทธศาสนิกชน เพราะในวงเสวนา และสัมมนาของคณะสงฆ์หลายสำนัก พระสงฆ์นักวิชาการจาก มหาจุฬาฯ และมหามกุฎฯ ตลอดจนนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา มีการตั้งข้อสังเกตไปในแนวทาง ที่คล้ายคลึงกัน และฉายให้เห็นถึงความบกพร่องของสำนักพุทธฯ

          พ.อ.ทองขาว พ่วงรอดพันธ์ เลขาธิการ สมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ ระบุว่า ในการประชุมของสมาคมฯ กล่าวถึง การทำงานของสำนักพุทธฯ ว่า “การทำงานเป็นไปอย่าง ไม่มีประสิทธิภาพ ไร้วิญญาณที่จะทำงาน เพื่อพระพุทธศาสนา ทำงานไปวันๆ ไม่มีแผนปฏิบัติการใด อย่างเป็นรูปธรรม ที่จะรองรับการขับเคลื่อน ของคณะสงฆ์ อยากให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบงาน พระพุทธศาสนา ลงมาผ่าตัดโดยเร็ว ก่อนที่จะสายเกินไป”

          ขณะที่ นายกำพล ภู่มณี ส.ว.ปราจีนบุรี ประธานคณะอนุกรรมาธิการการส่วนร่วมของป ระชาชนในกิจการพระพุทธศาสนา กล่าวว่า “พระผู้ใหญ่อึดอัดการทำงานของสำนักพุทธฯ ที่ผ่านมาพระเคยนำเสนอแผนงานที่สำนักพุทธฯ ควรจะต้องทำไปตั้งแต่ มีการตั้งสำนักใหม่ๆ แต่ทุกวันนี้เรื่องเงียบหายไปหมด เคยทวงถามและเคยวิพากษ์วิจารณ์ แต่ถูกคนในสำนักพุทธฯ กลั่นแกล้ง ไม่ว่าจะเป็นการไม่นิมนต์ไปร่วมงานหรือ การนำวาระประชุมมาส่งล่าช้า”

          แม้กระทั่ง พระมหาโชว์ ทัสสนีโย ผอ.ส่วนธรรมนิเทศ มหาจุฬาฯ ก็ยังระบุ “ถ้าถามว่าลึกๆ แล้วถึงขนาดเป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนาพระพุทธศาสนาหรือไม่ ถ้าตอบคงใช่ การเติบโตของ พระพุทธศาสนาเหมือนต้นไม้ที่ควรเจริญเติบโต แผ่กิ่งก้านสาขาเต็มที่ แต่การทำงานของสำนักพุทธฯ กลับกลายเป็นการทำให้ต้นไม้กลายเป็นบอนไซไปคือ ไม่ตายแต่ก็เลี้ยงไม่โต”

          ยิ่งเมื่อเจาะลึกไปถึงการทำงานของสำนักงานพระพุทธศาสนายิ่งน่าห่วง เพราะบางหน่วยงานถูกตั้ง ข้อสังเกต และมีคำถามจากสาธารณชน อาทิ สำนักงานศาสนสมบัติกลาง มีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของศาสนสมบัติ โดยการนำศาสนสมบัติกลางและ ที่ดินไปจัดประโยชน์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่พระพุทธศาสนามากที่สุด แต่กลับถูกตั้งข้อสังเกตว่านำ ศาสนสมบัติกลางไปให้เช่ากับเอกชนในราคาถูกเหลือเชื่อ จนมีเสียงร่ำลือและ การตั้งคำถามถึงความโปร่งใส พร้อมข้อสงสัยถึงการเก็บข้อมูลศาสนสมบัติกลางไว้เงียบเชียบ กระทั่งแทบไม่มีการรายงานผลออกมาให้ปรากฏต่อสาธารณชน แม้แต่ตัวเลขศาสนสมบัติกลาง ที่ดิน จำนวนวัด ทั้งวัดที่มีพระสงฆ์และวัดร้างว่ามีกี่แห่ง กี่ที่กันแน่

          กองพุทธศาสนสถาน ซึ่งโดยปกติแล้วเกี่ยวข้องกับงบประมาณในการบูรณะวัดวาอารามต่างๆ ทั่วประเทศให้มีสภาพที่สวยสมบูรณ์เป็นมรดกและ ทรัพย์สินของพระพุทธศาสนาตราบนานเท่านาน แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงถึงการดำเนินงานแบบ ที่พระเองก็เหมือนตกอยู่ในสภาพน้ำท่วมปาก

          แม้แต่ สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม ด้วยความที่ต้องทำงานรับใช้ใกล้ชิด พระเถระชั้นผู้ใหญ่ในมหาเถรฯ และรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับการกระทำความผิดของพระ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามักไม่ได้รับความกระจ่างจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือการประชุมมหาเถรฯ แต่ละครั้งอย่างน้อยต้องมี เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อ สาธารณะ ๑-๒ เรื่อง แต่คนที่มีหน้าที่กลับ ออกมาระบุว่าประชุมไม่มีเรื่องอะไร ซึ่งส่งผลให้สาธารณชนมองมหาเถรฯ ด้วยความเข้าใจไม่ถูกต้องรวมทั้งลังเล ต่อบทบาทของมหาเถรฯ

          นอกจากนั้นงานที่คณะสงฆ์ต้องการให้เกิดก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้น นั่นก็คือการกระจายอำนาจ ไปสู่ภูมิภาค ให้มีการจัดตั้งสำนักพุทธฯ ลงไประดับจังหวัด ระดับอำเภอ เพื่อจะให้เกิดการต่อยอดงาน ด้านหลักของ พระพุทธศาสนา นั่นก็คือ การปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ การสาธารณูปการ การสงเคราะห์

          งานของคณะสงฆ์ ในส่วนภูมิภาคกลับไปอยู่ในมือ ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่มีงานล้นมืออยู่แล้ว งานของคณะสงฆ์ จึงเป็นแค่งานฝาก ไม่มีความสำคัญใดๆ แม้แต่เงินค่านิตยภัตของพระสงฆ์ ก็ยังค้างอยู่นานหลายเดือน เพราะไม่รู้ว่าใครหรือ หน่วยงานใดจะเป็นคนเบิก

          ยังไม่ต้องกล่าวถึงงานการพัฒนาพระสังฆาธิการ งานปฏิรูปกฎหมายที่ยังล้าหลังและไม่สอดคล้องกับ สภาพปัจจุบัน การส่งเสริมให้วัด บ้าน สถานศึกษาและชุมชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาประเทศ ฯลฯ

          ทีมข่าวศาสนา มองว่า การทำงานที่ดูเหมือนผิดรูปผิดรอย ตลอดจนเรื่องราวความไม่ชอบมาพากล หลายต่อหลายเรื่องราว ที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อคณะสงฆ์ ต่อพระพุทธศาสนาและ ประเทศชาติอย่างรุนแรง เนื่องจากสำนักพุทธฯทำงานเกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ ซึ่งส่งผลถึงศรัทธา ของประชาชน ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องสังคายนา การทำงานของหน่วยงานนี้ให้สมกับเป็นหน่วยงานน้องใหม่ ที่เกิดในยุคคิดใหม่ ทำใหม่

          อย่าให้สำนักงานฯน้องใหม่แห่งนี้ถูกมองว่าเป็นแดนสนธยาเลย !!! .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :