ชำแหละข้อผิดพลาด ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบครูฯ
บกพร่องมากกว่าที่คิด??
โดย นายชัยณรงค์ ไพรประดิษฐผล
นิติกร กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการศึกษา สำนักกรรมาธิการ ๒ ผู้จัดทำรายงานของคณะทำงาน
มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๓๙๖ หน้า ๔
หมายเหตุ - ในความผิดพลาดและบกพร่องในถ้อยคำและการอ้างอิงกฎหมายหลายประการ ในร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ตกไปนั้น ทางรัฐบาลได้ระบุว่ามีความผิดพลาดอยู่ ๑๓ จุด แต่กระนั้นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้พูดออกตัวทำนองว่าอาจมีข้อผิดพลาดมากกว่าที่วิเคราะห์กันก็ได้ ซึ่งอาจสอดรับกับบทรายงานพิจารณาศึกษากฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ทางคณะทำงานในคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร จัดทำไว้ซึ่งมีอยู่ ๒๒ ประเด็นด้วยกัน "มติชน" จึงขอนำเสนอเพื่อตอกย้ำให้เป็นบทเรียนของฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ทำหน้าที่กันอย่างจริงจังและไม่เล่นการเมืองกันอีกต่อไป
ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๘๕ วันพฤหัสบดีบดีที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๖ ที่ประชุมมีมติตั้งคณะทำงานคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาศึกษากฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยให้ถือเอาร่าง พ.ร.บ. ของนายนิสิต สินธุไพร และคณะที่ได้ผ่านการยืนยันของสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลักในการพิจารณานั้น บัดนี้ คณะทำงานได้ดำเนินการแล้ว ปรากฏผลดังนี้
๑.ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเลือกตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย นายเกรียงไกร ไชยมงคล นายยุทธศิลป์ ฐาปนะกุล นายนิสิต สินธุไพร นายสนั่น สุธากุล นายประกอบ รัตนพันธ์ นายพงษ์พิช รุ่งเป้า นายกฤษฎาง แถวโสภา โดยมี ศ.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นประธานคณะทำงาน
๒.คณะกรรมาธิการการศึกษา ได้เชิญนายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มาร่วมประชุมกับคณะทำงาน และนายกำพล วันทา นิติกร ๗ ว สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นผู้มาร่วมประชุมกับคณะทำงานแทน
๓.ผลการพิจารณาพบความไม่สมบูรณ์หลายแห่ง ซึ่งสามารถสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้
ประเด็นที่ ๑ คือเรื่องของถ้อยคำในบทนิยามศัพท์ โดยในมาตรา ๔ ควรให้มีบทนิยามศัพท์ คำว่า "ส่วนราชการ" เพิ่มขึ้น ซึ่งคำดังกล่าวมีบัญญัติอยู่ในมาตรา ๗๐ มาตรา ๗๑ มาตรา ๙๘ มาตรา ๑๐๔ และมาตรา ๑๑๖ เนื่องจากเมื่อนำกฎหมายไปใช้จะทำให้ผู้ปฏิบัติไม่เข้าใจว่า ส่วนราชการที่บัญญัติไว้นี้หมายความถึงส่วนราชการใดบ้าง ซึ่งถ้าให้ความหมายไว้ในบทนิยามศัพท์ ก็จะทำให้เข้าใจได้ชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
ประเด็นที่ ๒ คือการใช้ถ้อยคำระหว่างคำว่า "กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ" กับคำว่า "กรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ" ปรากฏในมาตรา ๗ วรรคสอง โดยมาตรา ๗ วรรคสอง ควรตัดคำว่า "ซึ่งเป็น" ออก เนื่องจากในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง (๔) ใช้ถ้อยคำว่า "กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ" ไม่ได้บัญญัติคำว่า "ซึ่งเป็น" นำหน้า ถึงแม้จะนำมาบัญญัติในวรรคสองและเป็นกรณีซึ่งอ้างมาจากวรรคหนึ่งก็ตาม ก็ไม่ควรใช้คำว่า "ซึ่งเป็น" เนื่องจากทำให้เกิดความฟุ่มเฟือย และผู้ทรงคุณวุฒิก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของใคร
ดังนั้น การใช้คำว่า "กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ" กับคำว่า "กรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ" อันเป็นการใช้ถ้อยคำที่ไปขัดกับมาตรา ๗ (๔) ซึ่งเป็นมาตราที่ได้บัญญัติไว้ก่อนและได้เขียนองค์ประกอบไว้โดยใช้คำว่า "กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ" แต่มาตราหลังๆ กลับใช้คำว่า "กรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ" ซึ่งไม่ถูกต้อง โดยในแง่ของการบัญญัติกฎหมายถือว่าผิด เพราะจะต้องใช้ถ้อยคำที่บัญญัติไว้แล้วตามถ้อยคำของมาตราก่อนหน้าเป็นกรอบ เพื่อให้การใช้ถ้อยคำบัญญัติเกิดความเชื่อมโยง สอดคล้องกันทั้งร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งประเด็นการใช้ถ้อยคำดังกล่าวได้ปรากฏใน ๕ มาตรา ดังนี้ มาตรา ๗ วรรค ๒ มาตรา ๘ มาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสี่ มาตรา ๑๔ และมาตรา ๒๑ วรรคสอง วรรคสามและวรรคห้า
ประเด็นที่ ๓ คือการใช้ถ้อยคำในมาตรา ๑๓ มีดังนี้
(๑) ด้วยเหตุผลเดียวกันกับที่อ้างในมาตรา ๗ ต้องตัดคำว่า "ซึ่งเป็น" ในมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสี่ ออกด้วย
(๒) ความในวรรคหนึ่งบรรทัดที่ ๒ ความว่า "และอาจได้รับเลือกได้อีก" ควรแก้เป็น "และอาจได้รับแต่งตั้งหรือเลือกใหม่ได้อีก" เนื่องจากความในวรรคนี้ได้อ้างถึงคณะกรรมการ ก.ค.ศ.สองกลุ่มคือ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและกลุ่มที่เป็นผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการแต่งตั้ง ส่วนกรรมการที่เป็นผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น มาจากการเลือกตั้ง ประกอบกับเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา ๑๓ วรรคสอง ซึ่งได้บัญญัติไว้ความว่า "ถ้ากรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาว่างลง ให้ดำเนินการแต่งตั้งหรือเลือกกรรมการแทน"
(๓) ความในวรรคสองบรรทัดที่ ๔ คำว่า "เหลือ" ควรแก้เป็น "เหลืออยู่" เพื่อให้สอดคล้องกับบรรทัดที่ ๕ ซึ่งใช้คำว่า "เหลืออยู่" และในวรรคสาม บรรทัดที่ ๒ ก็ใช้คำว่า "เหลืออยู่"
(๔) ความในวรรคสี่ บรรทัดที่ ๔ ความว่า "ได้รับแต่งตั้งใหม่" ควรเพิ่มความว่า "หรือเลือก" จึงจะได้ความว่า "ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกใหม่" เพื่อให้ความสอดคล้องกันทั้งมาตรา โดยบัญญัติว่า "แต่งตั้งหรือเลือก" เนื่องจากความนี้ใช้กับคณะกรรมการ ก.ค.ศ.สองกลุ่มคือ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและกลุ่มผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ประเด็นที่ ๔ คือการใช้ถ้อยคำในมาตรา ๑๖ วรรคสี่ ระหว่างคำว่า "เสียงหนึ่ง" กับคำว่า "หนึ่งเสียง" ซึ่งควรจะใช้คำว่า "หนึ่งเสียง" แทนคำว่า "เสียงหนึ่ง" เนื่องจากในวรรคเดียวกันบรรทัดที่ ๑ บัญญัติไว้ว่า "หนึ่งเสียง" แต่ในบรรทัดที่ ๒ บัญญัติไว้ว่า "เสียงหนึ่ง"
ดังนั้น เพื่อให้การใช้ถ้อยคำเป็นมาตรฐานเดียวกันจึงควรเลือกใช้ถ้อยคำบัญญัติก่อนหน้าคือคำว่า "หนึ่งเสียง"
ประเด็นที่ ๕ คือการใช้ถ้อยคำในมาตรา ๑๙(๑๐) ความว่า "พิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา" ควรตัดความว่า "อ.ก.ค.ศ." ออก เนื่องจากเป็นความที่ซ้ำกับความว่า "คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา" หรือใช้ความใหม่ว่า "(๑๐) พิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา "อ.ก.ค.ศ." ประจำเขตพื้นที่การศึกษา และมาตรการภายหลังจะบ่งชี้ว่าให้เรียกว่าอะไร ดังนั้น ตรงนี้จึงเป็นการใช้ถ้อยคำบัญญัติที่ไม่ถูกต้อง
ประเด็นที่ ๖ คือการใช้ถ้อยคำระหว่างมาตรา ๘ (๔) และมาตรา ๓๐(๔) ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ว่า มาตรา ๓๐(๔) เป็นคุณสมบัติทั่วไปของบุคคลผู้ซึ่งจะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูความว่า "(๔) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น"
มาตรา ๘ (๔) เป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ค.ศ.ความว่า "(๔) ไม่เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น"
ข้อพิจารณา ในมาตรา ๓๐(๔) "ผู้บริหารท้องถิ่น" สามารถเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ ใช่หรือไม่
ในมาตรา ๘(๔) "ผู้บริหารท้องถิ่น" หมายถึงบุคคลในตำแหน่งใด เนื่องจากผู้บริหารท้องถิ่นในปัจจุบันก็คือ สมาชิกสภาท้องถิ่นนั่นเอง
ประเด็นที่ ๗ คือการใช้ถ้อยคำระหว่างมาตรา ๓๐ ดังนี้
(๑) ในมาตรา ๓๐(๒) ควรเพิ่มเติมคำว่า "บริบูรณ์" ท้ายความว่า "มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี" เพื่อให้การใช้ถ้อยคำในการบัญญัติกฎหมายมีความชัดเจน สมบูรณ์
(๒) ในมาตรา ๓๐(๖) ควรเพิ่มเติมคำว่า "จาก" ระหว่างความว่า "ถูกสั่งให้ออก" กับ ความว่า "ราชการไว้ก่อน" เพื่อให้การใช้ถ้อยคำในการบัญญัติกฎหมายมีความชัดเจน ถูกต้อง สมบูรณ์
ประเด็น ๘ คือการใช้ถ้อยคำในมาตรา ๓๒ ระหว่างคำว่า "กระทรวงการศึกษา" กับคำว่า "กระทรวงศึกษาธิการ" โดยในมาตรา ๓๒ วรรคสอง ต้องแก้ไขจากคำว่า "กระทรวงการศึกษา" เป็นคำว่า "กระทรวงศึกษาธิการ" เพื่อให้สอดคล้องมาตรา ๓ ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕
ประเด็นที่ ๙ เรื่องของการแบ่งวรรคตอนที่คลาดเคลื่อน โดยมาตรา ๔๔ ความในบรรทัดที่ ๓ ตั้งแต่ความว่า "ผู้ใดจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด วิทยฐานะใด จะได้รับเงินเดือนอย่างใดตามมาตรา ๓๑ ให้เป็นไปตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด โดยให้ได้รับเงินเดือนในขั้นต่ำของอันดับ หรือวิทยฐานะ ในกรณีที่จะให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำหรือขั้นสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ หรือวิทยฐานะ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.ค.ศ." นั้น เห็นควรเป็นวรรคสอง ของมาตรา ๔๔
ประเด็นที่ ๑๐ คือการใช้ถ้อยคำระหว่างคำว่า "บรรจุ" กับคำว่า "บรรจุและแต่งตั้ง" เช่น ในมาตรา ๕๓(๒) บัญญัติว่า "การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชี่ยวชาญ ให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง โดยอนุมัติ ก.ค.ศ." ซึ่งหลายมาตราใช้ถ้อยคำระหว่างคำว่า "บรรจุ" กับคำว่า "บรรจุและแต่งตั้ง" จึงควรจะตรวจสอบอย่างละเอียด รอบคอบและครบถ้วนด้วย เพราะในประโยคบางแห่งสามารถใช้คำว่า "บรรจุ" แต่บางประโยคจะต้องใช้คำว่า "บรรจุและแต่งตั้ง"
ดังนั้น จึงควรเพิ่มคำว่า "และแต่งตั้ง" ในมาตรา ดังต่อไปนี้
๑๒.๑ มาตรา ๔๙ บรรทัดที่ ๖
๑๒.๒ มาตรา ๕๑ บรรทัดที่ ๖
๑๒.๓ มตรา ๕๔ วรรคสอง(๓) บรรทัดที่ ๒
๑๒.๔ มาตรา ๕๖ วรรคสอง บรรทัดที่ ๒ และ ๘ วรรคสาม บรรทัดที่ ๔ วรรคห้า บรรทัดที่ ๕
๑๒.๕ มาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง บรรทัดที่ ๕,๖ และ ๘
๑๒.๖ มาตรา ๖๓ วรรคหนึ่ง บรรทัดที่ ๔ วรรคสาม บรรทัดที่ ๑ และ ๒
๑๒.๗ มาตรา ๖๔ บรรทัดที่ ๔
๑๒.๘ มาตรา ๖๕ บรรทัดที่ ๕
๑๒.๙ มาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง บรรทัดที่ ๘ วรรคสอง บรรทัดที่ ๑
๑๒.๑๐ มาตรา ๖๗ วรรคหนึ่ง บรรทัดที่ ๗ และ ๙
๑๒.๑๑ มาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง บรรทัดที่ ๓
๑๒.๑๒ มาตรา ๗๓ วรรคห้า บรรทัดที่ ๒
๑๒.๑๓ มาตรา ๙๘ วรรคสอง บรรทัดที่ ๑,๔ และ ๕ วรรคสาม บรรทัดที่ ๒ วรรคสี่ บรรทัดที่ ๒ และ ๓
๑๒.๑๔ มาตรา ๑๐๐ วรรคห้า บรรทัดที่ ๘ วรรคหก บรรทัดที่ ๑ และ ๒
๑๒.๑๕ มาตรา ๑๐๒ บรรทัดที่ ๗
๑๒.๑๖ มาตรา ๑๐๔ วรรคสาม บรรทัดที่ ๒
๑๒.๑๗ มาตรา ๑๐๘ วรรคหนึ่ง บรรทัดที่ ๒ วรรคสอง บรรทัดที่ ๑ วรรคสาม บรรทัดที่ ๑
๑๒.๑๘ มาตรา ๑๐๙ วรรคสาม บรรทัดที่ ๓
๑๒.๑๙ มาตรา ๑๑๐ วรรคหนึ่ง บรรทัดที่ ๑,(๔) บรรทัดที่ ๒, (๕) บรรทัดที่ ๑, (๖) บรรทัดที่ ๒
๑๒.๒๐ มาตรา ๑๑๑ วรรคหนึ่ง บรรทัดที่ ๓
๑๒.๒๑ มาตรา ๑๑๒ บรรทัดที่ ๘
๑๒.๒๒ มาตรา ๑๑๓ บรรทัดที่ ๔
๑๒.๒๓ มาตรา ๑๑๔ วรรคหนึ่ง บรรทัดที่ ๒ วรรคสอง บรรทัดที่ ๒
๑๒.๒๔ มาตรา ๑๑๕ บรรทัดที่ ๑ และ ๓
ซึ่งนับรวมได้เป็น ๒๔ มาตรา ประมาณ ๔๐ แห่ง
ประเด็นที่ ๑๑ เป็นเรื่องสาระที่ไม่สมบูรณ์ในมาตรา ๕๓ สรุปได้ดังนี้
(๑) มาตรา ๕๓ (๒) การใช้ถ้อยคำระหว่างคำว่า "เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา" กับคำว่า "เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา" โดยในมาตรา ๕๓(๒) คำว่า "เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา" ซึ่งตกหล่นคำว่า "การ" ระหว่าง คำว่า "เลขาธิการคณะกรรมการ" กับคำว่า "อาชีวศึกษา" คำที่ถูกต้องจะต้องเป็นคำว่า "เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา" อันเป็นประเด็นที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษา ครั้งที่ ๘๕ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๖
(๒) มาตรา ๕๓(๓) ต้องเพิ่มผู้ดำรงตำแหน่ง "ผู้อำนวยการสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์" เนื่องจากทั้งสองตำแหน่งกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ ในเรื่องที่ว่าด้วยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งทั้งตำแหน่งที่กำหนดตามมาตรา ๓๘ ข (๒) และมาตรา ๓๘ ค (๑) ที่ได้ขาดตกหล่นไปสองตำแหน่งคือตำแหน่ง "ผู้อำนวยการสถานศึกษา" กับตำแหน่ง "ศึกษานิเทศก์" ไม่มีผู้ใดมีอำนาจแต่งตั้งได้ แม้ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการจะได้ชี้แจงว่า กระทรวงศึกษาธิการได้คิดแนวทางแก้ไขปัญหาไว้สองแนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ ๑ ให้เป็นอำนาจของ ก.ค.ศ.ที่จะสามารถพิจารณาวินิจฉัยตีความปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ตามมาตรา ๑๙ (๕) หรือ
แนวทางที่ ๒ ให้เป็นอำนาจโดยทั่วไปของ ก.ค.ศ.ในการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสั่งตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ ซึ่งจะมีกระบวนการในการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการ โดยพิจารณาก่อนว่าเป็นอำนาจของผู้ใด และให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งตามมาตรา ๕๓ (๓)
แต่แนวทางแก้ไขปัญหาสองแนวทางดังกล่าวนั้น น่าจะมิใช่แนวทางที่สามารถกระทำได้ เพราะกรณีมิใช่การที่จะให้ ก.ค.ศ.มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยตีความปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ตาม มาตรา ๑๙(๕) หรือเป็นกรณีที่จะใช้อำนาจในการบรรจุและแต่งตั้งของข้าราชการโดยทั่วไปของผู้บังคับบัญชา ตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ โดยพิจารณาว่าเป็นอำนาจของผู้ใด และให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง กระทำการมอบอำนาจให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สามารถสั่งบรรจุและแต่งตั้งสองตำแหน่งดังกล่าว ตามมาตรา ๕๓(๓) เนื่องจากบทบัญญัติตามมาตรา ๕๓(๓) เป็นการบัญญัติในเรื่องการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งของรองผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด แต่มิใช่การบรรจุและแต่งตั้งตำแหน่ง "ผู้อำนวยการสถานศึกษา" และ "ศึกษานิเทศก์" ซึ่งพิมพ์ตกหล่นไป เพราะทั้งสองตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้บัญญัติรับรองไว้อยู่แล้วตามมาตรา ๓๘ ข(๒) และมาตรา ๓๘ ค(๑) ซึ่งคณะทำงานได้มีการตรวจสอบพบและร่วมหารือกันก่อนแล้ว
(๓) มาตรา ๕๓(๖) การอ้างมาตรา ๓๘ ก.(๔) ถึง (๖) นั้น เป็นการอ้างอิงที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากอ้างข้อความในมาตรา ๓๘ ก.ผิดไปจากข้อเท็จจริง กล่าวคือ ตำแหน่งอาจารย์นั้นอยู่ในมาตรา ๓๘ ก.(๓) ดังนั้น ในมาตราดังกล่าว จะต้องอ้างถึงตั้งแต่ มาตรา ๓๘ ก.(๓) ถึง (๖) จึงจะเป็นการถูกต้อง
ประเด็นที่ ๑๒ คือการใช้ถ้อยคำที่ไม่ถูกต้อง ดังนี้
(๑) มาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง
(๑.๑) บรรทัดที่ ๑ ควรตัดคำว่า "และแต่งตั้ง" ออก เนื่องจากความในบรรทัดที่ ๒ มีคำว่า "และแต่งตั้ง" ซึ่งสมบูรณ์อยู่แล้ว
(๑.๒) บรรทัดที่ ๖ ต้องแก้คำว่า "ครู" เป็น "ครูผู้ช่วย" ตามมาตรา ๓๘ ก.(๑) ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มในตำแหน่งครูผู้ช่วย
(๑.๓) บรรทัดที่ ๗ ให้ตัดคำว่า "ปฏิบัติการ" ออก เนื่องจากครูปฏิบัติการไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้
(๒) มาตรา ๕๖ วรรคสาม ควรเพิ่มเติมคำว่า "จากราชการ" ในบรรทัดที่ ๕ ระหว่างความว่า "ให้ออก" กับความว่า "ตามมาตรา ๖๖" เป็น "ให้ออกจากราชการตามมาตรา ๖๖"
(๓) มาตรา ๕๖ วรรคสี่ การใช้ถ้อยคำระหว่างคำว่า "ทดลองปฏิบัติหน้าที่" กับคำว่า "ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ" โดย ปรากฏคำว่า "ทดลองปฏิบัติหน้าที่" ซึ่งบางประโยคใช้คำว่า "ทดลองปฏิบัติหน้าที่" แต่บางประโยคก็ใช้คำว่า "ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ" และเมื่อส่วนใหญ่ใช้คำว่า "ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ" แล้ว ก็ควรต้องใช้คำว่า "ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ" เช่นเดียวกัน ดังนั้น ควรเพิ่มคำว่า "ราชการ" หลังคำว่า "ปฏิบัติหน้าที่" ในบรรทัดที่ ๑ และบรรทัดที่ ๒
(๔) มาตรา ๕๖ วรรคห้า และวรรคหก ควรเป็นความในวรรคเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องของการแบ่งวรรคตอนที่คลาดเคลื่อน โดยในมาตรา ๕๖ วรรคห้า และวรรคหกนั้น เห็นว่าเป็นประโยคที่ติดต่อกันเป็นวรรคเดียวคือวรรคห้า ซึ่งอาจจะเป็นความคลาดเคลื่อนในเชิงธุรการจากการเคาะวรรคตอนระหว่างพิมพ์
ประเด็นที่ ๑๓ มาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง บรรทัดที่ ๘ ความว่า "ทั้งนี้ จะบรรจุให้มีตำแหน่งใด" นั้น เพื่อความถูกต้อง สมบูรณ์ของประโยคและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรานี้ ควรแก้ไขเป็นความใหม่ว่า "ทั้งนี้ จะบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด"
ประเด็นที่ ๑๔ คือการใช้ถ้อยคำของประโยคที่ไม่ถูกต้อง ในมาตรา ๕๙ วรรคสอง บรรทัดที่ ๓ ความว่า "ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตาม มาตรา ๕๓ สั่งบรรจุและแต่งตั้งตามนั้น..." ควรปรับปรุงแก้ไขเป็นความใหม่ว่า "ให้ผู้มีอำนาจ ตามมาตรา ๕๓ สั่งบรรจุและแต่งตั้งตามนั้น..."
ประเด็นที่ ๑๕ คือการใช้ถ้อยคำของประโยชน์ที่ไม่ถูกต้อง ในมาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ และมาตรา ๖๖ ความว่า "ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตาม มาตรา ๕๓ สั่งบรรจุผู้นั้น..." ควรปรับปรุงแก้ไขเป็นความใหม่ว่า "ให้ผู้มีอำนาจตาม มาตรา ๕๓ สั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้นั้น.."
ประเด็นที่ ๑๖ คือการใช้ถ้อยคำของประโยคที่ไม่ถูกต้อง มาตรา ๖๗ มีดังนี้
(๑) มาตรา ๖๗ วรรคหนึ่ง บรรทัดที่ ๒ ความว่า "ซึ่งระเบียบพนักงานนั้นบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา" เป็นข้อความของประโยคที่ไม่อาจเข้าใจได้ว่าหมายถึงอะไร
(๒) มาตรา ๖๗ วรรคหนึ่ง บรรทัดที่ ๑๐ ความว่า "โดยไม่มีตำแหน่งใด" ควรแก้เป็นความใหม่ว่า "ให้ดำรงตำแหน่งใด"
ประเด็นที่ ๑๗ คือการใช้ถ้อยคำของประโยคที่ไม่ถูกต้อง ในมาตรา ๑๐๔ มีดังนี้
(๑) มาตรา ๑๐๔ (๑) บรรทัดที่ ๘ และ ๙ ความว่า "ก็ให้มีอำนาจสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบได้" เพื่อความถูกต้อง ควรเพิ่มคำว่า "สวน" ระหว่างคำว่า "สอบ" กับคำว่า "ได้"
(๒) การอ้างอิงวรรคตอนไม่ถูกต้อง โดยควรแก้ไขจากคำว่า "วรรคหนึ่ง" เป็นคำว่า "(๑)" เนื่องจากความก่อนหน้าวรรคนี้คือ (๑) หากเจตนารมณ์ต้องการอ้างอิงความก่อนหน้าจะต้องอ้างอิงเป็น (๑)
ประเด็นที่ ๑๘ คือการใช้ถ้อยคำของประโยคที่ไม่เหมาะสม ในมาตรา ๑๐๖ บรรทัดที่ ๕ ควรตัดคำว่า "ทาง" ระหว่างความว่า "การสืบสวนหรือสอบสวนของ" กับความว่า "ผู้บังคับบัญชาเดิมก่อนวันโอน" ออกเสียเนื่องจากเป็นการใช้ถ้อยคำที่เป็นภาษาพูด
ประเด็นที่ ๑๙ คือการอ้างอิงเลขมาตราหรือส่วนของเลขมาตราคลาดเคลื่อนมีดังนี้ คือ
๑. มาตรา ๓๘ ก (๔) ถึง (๖) เพื่อให้มีความหมายรวมถึงตำแหน่ง "อาจารย์" ตามเจตนารมณ์ของมาตรานี้ ที่ถูกต้องจะต้องบัญญัติอ้างอิงเป็นว่ามาตรา ๓๘ ก (๓) ถึง (๖)
๒.ในมาตรา ๙๙ บรรทัดที่ ๓ ที่อ้างถึงเลขมาตรา ๙๘ ซึ่งที่ถูกต้องจะเป็นเลขมาตรา ๑๐๐
๓. มาตรา ๑๑๑ วรรคสุดท้าย บรรทัดที่ ๓ ที่อ้างเลขมาตรา ๙๗ ซึ่งที่ถูกต้องจะเป็นเลขมาตรา ๙๘ เพราะมาตรานี้เป็นเรื่องที่ว่าด้วยการสอบสวน หรือคณะกรรมการสอบสวนและผู้ถูกกล่าวหา
๔. มาตรา ๑๒๗ ที่อ้างเลขมาตรา ๑๒๙ ซึ่งที่ถูกต้องจะเป็นเลขมาตรา ๑๒๘
ประเด็นที่ ๒๐ คือการใช้ถ้อยคำระหว่างคำว่า "เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา" กับคำว่า "เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา" โดย ในมาตรา ๕๓ (๒) คำว่า "เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา" ซึ่งตกหล่นคำว่า "การ" ระหว่าง คำว่า "เลขาธิการคณะกรรมการ" กับคำว่า "อาชีวศึกษา" คำที่ถูกต้องจะต้องเป็นคำว่า "เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา" อันเป็นประเด็นที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษา ครั้งที่ ๘๕ วันพฤหัสบดีที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๖
ประเด็นที่ ๒๑ คือการใช้ถ้อยคำระหว่างสามคำ คือคำว่า "ก.ค.ศ." และ "อ.ก.ค.ศ. ชั่วคราว" กับคำว่า "ก.ค.ศ. เฉพาะกิจ" โดยในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีการใช้ถ้อยคำว่า "ก.ค.ศ." กับคำว่า "อ.ก.ค.ศ.ชั่วคราว" เป็นหลัก แต่ในบทเฉพาะกาลตามมาตรา ๑๓๓ วรรคท้าย ได้มีการใช้คำว่า "ก.ค.ศ.เฉพาะกิจ" ตามความดังนี้ "ให้ ก.ค.ศ. เฉพาะกิจซึ่งทำหน้าที่ ก.ค.ศ. มีมติกำหนดในเรื่องนั้นเพื่อใช้บังคับเป็นการชั่วคราวได้" ก.ค.ศ.ที่อ้างถึงนี้คือ "ก.ค.ศ.ชั่วคราว" แต่ในมาตรานี้ใช้ถ้อยคำว่า "ก.ค.ศ.เฉพาะกิจ" ด้วยเหตุนี้ ความในมาตรา ๑๓๓ วรรคสอง จึงควรแก้ไขจากคำว่า "เฉพาะกิจ" เป็นคำว่า "ชั่วคราว" เนื่องจาก มาตรา ๑๒๗ กำหนดให้มี ก.ค.ศ.ชั่วคราว ไม่ได้กำหนดให้มี ก.ค.ศ.เฉพาะกิจ
ที่ประชุมจึงได้ร่วมกันหารือกันและเห็นควรที่จะตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ เนื่องจาก ถ้อยคำที่ใช้ในการบัญญัติกฎหมายนั้น โดยปกติแล้วการใช้ถ้อยคำบัญญัติในมาตราหลัง จะต้องใช้ถ้อยคำบัญญัติเดิมก่อนหน้าเป็นหลัก เพื่อให้การใช้ถ้อยคำในร่างเกิดความเชื่อมโยงสอดคล้องกันทั้งร่าง และบทเฉพาะกาลนั้นก็ใช้ได้ครั้งเดียว ทั้ง ก.ค.ศ. เดิมก็ไม่เคยปรากฏการณ์ใช้ถ้อยคำว่า "เฉพาะกิจ" มีแต่คำว่า "ชั่วคราว" ด้วย
ดังนั้น ในบทเฉพาะกาลเองก็จะต้องใช้ถ้อยคำใดถ้อยคำหนึ่ง เช่นในบทเฉพาะกาล ของมาตรา ๑๒๘ วรรค ๒ ความว่า "ให้ ก.ค.ศ.ชั่วคราวมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ ก.ค.ศ. ตามพระราชบัญญัตินี้"
ประเด็นที่ ๒๒ คือสถานะทางกฎหมายที่ขัดแย้งกันของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เรียกโดยย่อว่า "สำนักงาน ก.ค.ศ." ระหว่าง "ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ...." กับ "กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖" ซึ่งออกตามกฎหมายแม่บทคือ "พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖" เนื่องจากตามร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ...มาตรา ๒๐ กำหนดให้สำนักงาน ก.ค.ศ. มีฐานะเทียบเท่ากรมอยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี แต่ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ ซึ่งออกตามกฎหมายแม่บทหรือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ ข้อ ๓ (๖) ได้กำหนดให้สำนักงาน ก.ค.ศ. มีฐานะเป็นเพียงส่วนราชการภายในของสำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ เท่านั้น
และมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อเนื่องว่า กฎหมายฉบับใดจะมีศักดิ์ทางกฎหมายใหญ่กว่ากันด้วยระหว่าง "กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖" ซึ่งออกตามกฎหมายแม่บทคือ "พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖" กับ "ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.... " ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ ..
|