เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

โลกมุสลิมเศร้า
สหรัฐขู่ฟ้อง UN
องค์กรสิทธิ-นานาชาติจี้สอบ 'สังหารหมู่ตากใบ'
แฉยัดใส่รถตั้งใจฆ่า

ข่าวการเมือง กองบรรณาธิการ ไทยโพสต์ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๗


 

          นานาชาติ-องค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องไทยสอบสวนโศกนาฏกรรมที่ตากใบ โลกมุสลิมเศร้าสะเทือนใจ พรรคฝ่ายค้านในมาเลย์ประณามสังหารหมู่

          ขณะที่สหรัฐแสดงความกังวล ขู่จะฟ้องสหประชาชาติ "ทักษิณ" ไม่ตอบคำถามอ้างข่าวเท็จ ยันเจ้าหน้าที่ทำดีที่สุด จะไม่มีการลงโทษ แต่หลายฝ่ายจี้นายกฯ แสดงความรับผิดชอบ กรรมการสิทธิมนุษยชนระบุมาจากนโยบายผิดพลาด ส.ว.ยำใหญ่ ลงพื้นที่พิสูจน์ แฉผ้าใบคลุมยีเอ็มซีต้นเหตุฆ่า ๗๘ ศพ หมอพรทิพย์เผยถูกลอยแพ

          ได้เกิดปฏิกิริยาจากนานาประเทศ โดยเฉพาะสังคมมุสลิมรวมทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ต่อการใช้กำลังสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จนเป็นผลให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น ๘๘ ศพ โดยเฉพาะการตายหมู่ ๗๘ ศพ ที่ทางการอ้างว่าเป็นอุบัติเหตุจากการเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาไปสอบปากคำยังค่ายทหาร

          สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บรรดากลุ่มสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่สหรัฐแสดงความวิตกต่อกรณีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม มาเลเซียแสดงความหวังว่าไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายได้ และอินโดนีเซียแสดงความกังวลว่าสถานการณ์กำลังตึงเครียดยิ่งขึ้น

          องค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) ได้เรียกร้องให้ทางการไทยตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นไต่สวน นายที. กุมาร ผู้อำนวยการเอไอฝ่ายเอเชีย-แปซิฟิกในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจที่หน่วยงานความมั่นคงของไทยใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อชาวมุสลิมในภาคใต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก"

          คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชีย (เอเอชอาร์ซี) ในฮ่องกง วิจารณ์นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ว่าสนับสนุนให้กองกำลังความมั่นคงสลายการชุมนุมอย่างโหดร้ายทารุณ "ข้อเท็จจริงที่ว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเนื่องจากการยิงกระสุนจริงเข้าใส่ฝูงชนและมีการยิงแก๊สน้ำตา รวมทั้งกรณีเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจบนรถบรรทุกภายหลังถูกจับกุม เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจและไม่อาจแก้ตัวใดๆ ได้โดยสิ้นเชิง"

          "ประเทศไทยต้องเปิดการไต่สวนโดยอิสระในเรื่องนี้" นายบาซิล เฟอร์นันโด ผอ.บริหารของเอเอชอาร์ซีกล่าว "มีการปกปิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ รัฐบาลไทยต้องพูดความจริง" และว่าการควบคุมที่หย่อนยานต่อฝ่ายทหารและตำรวจ และการขาดการดำเนินการต่อกรณีสังหารอย่างนองเลือด ก่อนหน้านี้ได้เปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง"

          ขณะเดียวกัน สหรัฐได้แสดงความวิตกกังวลและเรียกร้องให้มีการสอบสวนถึงการเสียชีวิต "ถือเป็นความรับผิดชอบของทางการไทยที่จะต้องปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมอย่างมีมนุษยธรรม เราเรียกร้องให้มีการไต่สวนอย่างเต็มที่ในเรื่องสภาพของการเสียชีวิต" โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ นายเอ็ดการ์ วาสเกซ กล่าว "สหรัฐมีความกังวลต่อการเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องในภาคใต้ของไทย เราหวังว่ารัฐบาลไทยจะจัดการกับสถานการณ์นี้ในลักษณะที่ไม่ทำให้ความตึงเครียดขยายวง"

          สหรัฐยังเตือนว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จะนำเหตุการณ์รุนแรงทางภาคใต้ของไทยเสนอต่อ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ

นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย นายอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี กล่าวว่า ตนรู้สึกวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ "ถ้ามีอะไรที่เราช่วยได้ เราจะช่วย หากไม่มีอะไร เราก็หวังว่ารัฐบาลไทยจะสามารถรับมือวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามและความรุนแรงขยายตัว

          ด้านพรรคพาสซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวเคร่งอิสลามของมาเลเซียชี้ว่า มุสลิมในภาคใต้ของไทยอาจลุกฮือขึ้นต่อสู้ "นี่เป็นการสังหารหมู่อย่างแท้จริงและน่าเศร้าสลด คนกลุ่มหนึ่งเพียงแต่ชุมนุมโดยสงบ เรื่องนี้จะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อความรู้สึกของประชาชนในภาคใต้ของไทย" มุฮัมมัด ฮัตตา ประธานคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ของพรรคพาร์ตี้ อิสลาม ซี-มาเลเซีย กล่าว "กรณีล่าสุดนี้จะทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพและความไม่พอใจมากขึ้น เราเกรงว่าประชาชนจะลุกฮือต่อต้านรัฐบาล"

          นายฮัตตากล่าวด้วยว่า ทุกฝ่ายควรใช้ความอดกลั้น และเริ่มต้นเจรจาถึงข้อเรียกร้องของชาวมุสลิมที่ต้องการการปกครองตนเองในภาคใต้ของไทย "กองทัพควรยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งหมดในภาคใต้ของไทย และบรรดาผู้นำการเมืองควรกลับสู่โต๊ะเจรจา"

          อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ระบุว่ารู้สึกเศร้าใจกับกรณีการเสียชีวิตและรู้สึกวิตกต่อความตึงเครียดที่ยิ่งทบทวีขึ้น "อินโดนีเซียมั่นใจว่ารัฐบาลไทยจะดำเนินการไต่สวนอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความกระจ่างต่ออุบัติเหตุอันน่าเศร้านี้" โฆษกผู้หนึ่งของกระทรวงต่างประเทศกล่าว

          กลุ่มโจรพูโลได้ประกาศผ่านทางเว็บไซต์ว่าปฏิบัติการแก้แค้นจะเกิดขึ้นแน่นอน โดยพูโลระบุว่าเป้าหมายคือกรุงเทพฯ "จะเผากรุงเทพฯ เหมือนที่ปัตตานีถูกเผา"

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อปฏิกิริยาของนานาชาติ เมื่อมีการตั้งคำถามต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงการที่องค์กรมุสลิมโลกและสหรัฐประณามไทยเรื่องสิทธิมนุษยชน นายกฯ ปฏิเสธด้วยสีหน้าเคร่งเครียดว่าไม่จริง ไม่มี พูดเอง ข่าวเท็จ อเมริกาไม่ได้พูดอะไรเลย อย่าเอาข่าวเท็จมาถาม อเมริกาไม่มีอะไรเลย เราอธิบายแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของเรา เหตุการณ์ที่เกิดขึ่นเป็นอุบัติเหตุระหว่างขนส่ง ไม่ได้ตั้งใจทำร้าย

          นายกฯ กล่าวว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ที่ตากใบ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในโอกาสต่อไป ซึ่งจริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ดีที่สุด แต่ที่ประชาชนเสียชีวิตอาจเป็นเพราะอดอาหาร อดน้ำ และตากแดดจึงอ่อนเพลีย เมื่อขึ้นรถแล้วอาจขาดอากาศหายใจ ถือเป็นอุบัติเหตุ

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการไปบรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงวันเดียวกัน นายกฯ ได้กล่าวย้ำเรื่องอุบัติเหตุ อีกทั้งเปิดเผยถึงแผนผู้ก่อความไม่สงบที่มีเป้าประสงค์แบ่งแยกดินแดนที่ตนจะยอมไม่ได้เด็ดขาด

          นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ทั่วโลกให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ที่อำเภอตากใบ แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องภายในประเทศที่รัฐบาลจะต้องหาทางแก้ปัญหา ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศก็จะชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ผ่านทางสถานทูตไทยประจำประเทศต่างๆ

กก.สิทธิฯ ชี้นโยบายรัฐผิดพลาด

          ยังมีปฏิกิริยาจากองค์กรต่างๆ ภายในประเทศที่น่าสนใจเช่นกันตลอดวันพุธที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลและห่วงใยอย่างยิ่งต่อกรณีความรุนแรงดังกล่าว ตลอดจนสถานการณ์ที่จะเป็นไปในอนาคต ขณะเดียวกันก็ได้เสนอแนะแนวปฏิบัติต่อนายกรัฐมนตรี รวม ๖ ข้อ คือ ๑.จากภาพและข้อมูลรายละเอียดที่รับทราบจากสื่อต่างๆ ทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ เป็นการใช้ความรุนแรงที่น่าจะเกินกว่าที่ควรจะกระทำ และจะต้องมีผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงควรอย่างยิ่งที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระ เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว และหากผลการตรวจสอบพบว่าเป็นความประมาทเลินเล่อหรือความผิดของผู้ใด ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

          ๒.การควบคุมตัวและการดำเนินการเกี่ยวกับผู้กระทำผิดกฎหมาย หรือผู้ต้องสงสัยว่าจะกระทำผิดกฎหมาย จะต้องดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีผู้ทำผิดกฎหมาย จะต้องคำนึงถึงและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในเรื่องสิทธิของผู้ต้องหา โดยเคร่งครัด

          ๓.รัฐบาลควรอย่างยิ่งที่จะดำเนินการให้มีการจำแนกผู้ที่มิได้กระทำผิดกฎหมาย หรือผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว แล้วปล่อยตัวให้เป็นอิสระจากการถูกควบคุมตัวโดยพลัน

          ๔.การแก้ไขเยียวยาความเสียหายและความบอบช้ำของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นความเสียหาย หรือความบอบช้ำทางชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ความรู้สึก โอกาสในการประกอบอาชีพ หรือทางอื่นๆ จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเข้ามารับผิดชอบดำเนินการในส่วนนี้โดยเร่งด่วน และเพียงพออย่างเป็นรูปธรรม

          ๕.รัฐบาลควรประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา ๒๒.๐๐-๐๖.๐๐ น. ได้ส่งผลกระทบต่อการกรีดยางซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนเกือบทั้งหมดในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลาปัจจุบัน ซึ่งเป็นเทศกาลถือศีลอดของประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่จะได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งความไม่สะดวกในการเดินทางไปพบญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เพื่อจัดเตรียมและรับประทานอาหารร่วมกันตามธรรมเนียมประเพณี

          ๖.เมื่อพิจารณาในภาพรวม จะเห็นว่าทุกฝ่ายต่างตกเป็นเหยื่อจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลในเรื่องนี้ ทำให้ประชาชนคนไทยต้องมาเผชิญหน้าและฆ่าฟันกันเอง รัฐบาลจึงควรพิจารณาทบทวนและปรับเปลี่ยนแนวนโยบายในเรื่องนี้ให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์และความเป็นจริงโดยพลัน

          นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องทบทวนนโยบายในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ทั้งหมด คณะกรรมการสิทธิ์ได้ย้ำมาตลอดว่าการบริหารประเทศเป็นเอกสิทธิ์ของรัฐบาล และเราไม่ได้เข้าไปแทรกแซง เพียงแต่ต้องการให้รัฐบาล หรือผู้ใช้อำนาจ ได้ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้สิทธิและปกป้องสิทธิของตัวเอง

          คุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า คณะกรรมการจะจัดส่งทีมลงพื้นที่ในวันศุกร์นี้เพื่อรับฟังข้อมูล พร้อมกับเยี่ยมญาติผู้เสียชีวิต รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และผู้ที่ถูกคุมขัง เพื่อให้กำลังใจและสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น นำมาเป็นแนวทางในการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ทุกฝ่ายหายข้องใจ และหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก

          "ขอให้รัฐบาลตระหนักถึงทุกการตัดสินใจ เพราะทุกการตัดสินใจอยู่ในสายตาประชาคมโลก อีกทั้งความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไม่ได้อยู่ที่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่การเคารพสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมและศาสนาที่มีความแตกต่างกัน รัฐบาลก็ต้องเคารพ" คุณหญิงอัมพรกล่าว

          นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ขณะนี้ภาพพจน์สิทธิมนุษยชนของไทยในสายตาประชาคมโลกแย่ลงมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศมุสลิมจะรู้จักประเทศไทยในด้านความรุนแรงมากขึ้น ที่สำคัญการตายหมู่ในครั้งนี้แตกต่างจากกรณีมัสยิดกรือเซะ เพราะที่กรือเซะเป็นการต่อสู้ แต่ที่ตากใบเป็นการชุมนุมประท้วง โดยคนที่เสียชีวิตอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และเป็นการตายอย่างทรมานจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ทั้งที่น่าจะหลีกเลี่ยงความสูญเสียได้

          "อยากให้รัฐบาลจัดการปัญหาภาคใต้โดยยึดถือรัฐธรรมนูญให้มากกว่ากฎอัยการศึก"

          แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของผู้ร่วมประท้วง เพราะจากข้อมูลที่รับทราบ ผู้เสียชีวิตอย่างน้อย ๗๘ ศพเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจระหว่างที่มีการจับกุม และเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาในสภาพที่แออัดยัดเยียดอย่างไร้มนุษยธรรม นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้ทางการอนุญาตให้ผู้ที่ถูกจับกุมภายใต้กฎอัยการศึกจำนวน ๑,๓๐๐ คน ได้พบกับทนายความและญาติ และได้รับการรักษาพยาบาล และให้การรับรองว่าบุคคลเหล่านี้จะไม่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำที่ดูถูกเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำที่ป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม รวมถึงการลงโทษที่รุนแรง

          เช่นเดียวกับสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่เรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนเรื่องนี้

          วันเดียวกัน เครือข่ายนักศึกษาภาคใต้ นำโดยสหพันธ์นักศึกษาทักษิณ (สนท.) และองค์การมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ประมาณ ๒๐ คน ได้จัดขบวนเดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ผ่าน พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อผู้ที่เสียชีวิตและปล่อยผู้ที่ถูกจับกุม เปิดเผยข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะวิธีการสลายการชุมนุม การเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธฯ รวมทั้งเปิดเผยรายชื่อผู้เสียชีวิตและผู้ถูกจับกุมทั้งหมด ให้รัฐบาลทบทวนและปรับเปลี่ยนมาตรการในการแก้ปัญหาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงและนำไปสู่การต่อสู้

          นายไพศาล พรหมยงค์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ต่อจากนี้ไปจะทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความจริงใจ วันนี้รัฐบาลต้องเอาความจริงมาพูด ต้องใช้ความยุติธรรมและความชอบธรรมในการแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่ตนข้องใจ ก็คือการเพิ่งมาเปิดเผยเรื่องผู้เสียชีวิต ๗๘ ศพ ซึ่งหาก พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ไม่แถลง ก็ไม่แน่ใจว่าความจริงจะปรากฏหรือไม่ และหากนายกรัฐมนตรีเพิ่งมารู้เรื่องนี้พร้อมประชาชนทั่วไป ก็แสดงว่าหน่วยงานภาครัฐกำลังมีปัญหา เพราะแม้แต่ตัวนายกฯ ก็ยังถูกปิดบัง

          "ยิ่งการที่รัฐบาลอ้างว่าคนตายเพราะร่างกายอ่อนเพลีย เนื่องจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนด้วยแล้ว ยิ่งสร้างความขมขื่นให้กับชาวมุสลิม คนมุสลิมแม้จะถือศีลอดก็สามารถทำงานหนักๆ ได้ เขามีภูมิต้านทานดี ยิ่งเป็นคนหนุ่มๆ ด้วยแล้วยิ่งไม่น่าจะเป็นไปได้" นายไพศาลกล่าว

          ส่วนที่กรุงเทพฯ เครือข่ายองค์กรประชาธิปไตยและองค์กรสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ศูนย์ข้อมูลสิทธมนุษยชนและสันติธรรม (สสธ.) ศูนย์ประสานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (ศยป.) กลุ่มเพื่อนประชาชน กลุ่มสันติภาพเชียงใหม่ ร่วมแถลงประณามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ และเรียกร้องให้รัฐบาลออกมารับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวน อนุญาตให้องค์กรระหว่างประเทศ เช่น หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN) หรือองค์การกาชาดสากล เข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปล่อยผู้ที่ควบคุมไว้ทั้งหมดเพื่อลดบรรยากาศการเผชิญหน้า

          ข้อเรียกร้องยังเสนอให้พักงานหรือโยกย้ายข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแม่ทัพภาคที่ ๔

          "นอกจากนี้ ทางเครือข่ายองค์กรประชาธิปไตยเห็นว่า มีความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศ จะต้องพิจารณาทบทวนตัวเอง ว่ายังมีความชอบธรรมที่เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาภาคใต้อยู่อีกหรือไม่"

          เครือข่ายองค์กรประชาธิปไตยประกาศว่าจะตั้งคณะทำงานติดตามและพิสูจน์ข้อเท็จจริงกรณีนี้ และจะจัดเวทีไต่สวนสาธารณะ เชิญผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทุกฝ่าย ทั้งชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน นักวิชาการ ฯลฯ เข้าร่วมเวที

          ที่รัฐสภา น.พ.เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย และนายนิติ ฮาซัน ประธานสภาศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.อุบลราชธานี ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ว.นครราชสีมา ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ส.ว.กทม. ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะการเสียชีวิตหมู่ ๗๘ ศพระหว่างถูกนำไปสอบปากคำ

          "ทำไมราชการจึงโยนผู้ชุมนุมไปทับซ้อนกันบนรถจีเอ็มซีหลายชั้น ซึ่งขนาดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังให้เกียรติเชลยสงครามไม่ทำเหมือนอย่างนี้" น.พ.เหวงระบุ และว่า เหตุการณ์ครั้งนี้นายกฯ ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้นำรัฐบาล โดยออกมาขอโทษครอบครัวผู้เสียชีวิต

          นายนิติ ฮาซัน กล่าวว่า วันศุกร์ที่ ๒๙ ต.ค. องค์กรมุสลิมทั่วประเทศจะทำพิธีละหมาดที่ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อขอพรให้ผู้เสียชีวิต และขอให้การแก้ปัญหาภาคใต้เป็นไปอย่างสันติ

นายกฯ ชี้แจงวุฒิสภา

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันพุธ มีการตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับปัญหาชายแดนภาคใต้ ๘ กระทู้ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าชี้แจง

          นายกฯ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ตากใบถือเป็นเหตุสุดวิสัย รัฐบาลไม่สบายใจ แต่เจ้าหน้าที่ได้ทำดีที่สุดแล้ว ทั้งนี้ นายกฯ ได้เท้าความถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๔๗ เป็นต้นมา พบว่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อน โดยเฉพาะปัญหาด้านการศึกษา มีการตั้งโรงเรียนปอเนาะ ตาฎีกา เต็มไปหมด สอนศาสนาโดยไม่มีหลักสูตร มีคนกลุ่มหนึ่งบิดเบือนแนวคำสอนของศาสนาเพื่อประโยชน์ของตนเอง ใช้เยาวชนเป็นเครื่องมือก่อความรุนแรงเป็นลำดับ

          จนมาถึงเหตุการณ์ล่าสุด ที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน ๖ คนนำปืนของทางราชการไม่มอบให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบตามคำขู่ แล้วสร้างเรื่องว่าถูกปล้น จึงถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จ ต่อมาก็มีม็อบมากดดันให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ตนจึงบอกว่าถ้าเจ้าหน้าที่ยอมตามก็เท่ากับแพ้ จึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนในการสลายม็อบ จนถึงจุดหนึ่งที่หากปล่อยไว้จะเกิดจลาจลเผาเมือง จึงต้องจับกุม สาเหตุที่มีการตายมากเพราะขาดอากาศหายใจ เป็นจุดบกพร่องที่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน

          "วิธีการควบคุมฝูงชนถูกต้อง แต่มีความผิดพลาด เพราะรถมีน้อย เอาคนเข้าไปในรถมากเกินไป เรารู้สึกเสียใจและพยายามดูแล แต่กลับมาตายในสิ่งที่ไม่ควรตาย ก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อเป็นบทเรียน แต่ขอยืนยันรัฐบาลใช้ความละม่อมไม่ได้ใช้ความรุนแรง"

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายกฯ จบคำชี้แจง ก็เดินทางกลับทันที ทำให้สมาชิกตะโกนขึ้นกลางห้องประชุมด้วยความไม่พอใจว่า ทำไมนายกฯ ถึงหนีไปอย่างนั้น อย่างนี้จะให้มาพูดทำไม ขณะที่นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า ถ้าไม่ให้สมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง ก็จะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป ส่วนนายพิเชฐ พัฒนโชติ ส.ว.นครราชสีมา เรียกร้องให้ประธานที่ประชุมคือนายสุชน ชาลีเครือ ใช้ความเป็นประธานอย่างมีศักดิ์ศรี เพราะเวทีวุฒิสภาไม่ใช่ที่แถลงข่าว ควรเปิดให้มีการซักถามมากกว่านี้

          จากนั้น ส.ว.หลายคนก็ลุกขึ้นอภิปรายอย่างเผ็ดร้อน นายฟัดรุดดีน บอตอ ส.ว.นราธิวาส อภิปรายว่า การแก้ไขปัญหาในภาคใต้อย่าใช้ความสะใจ แต่ต้องใช้สติ ตอนแรกมีข่าวบอกว่าจับกุม ๓๐๐ คน แต่ทำไมภายหลังถึงบอกว่ามี ๑,๓๐๐ คน แล้วที่เสียชีวิต ๘๔ คนใครจะรับผิดชอบ ล่าสุดทราบว่ามีศพโผล่ในแม่น้ำเพิ่มอีกน่าจะถึง ๑๐๐ ศพ เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ

จี้ชี้แจง "ผ้าใบ" อุปกรณ์ฆ่า

          น.พ.ประสิทธิ์ พิทูรกิจจา ส.ว.นครสวรรค์ อภิปรายว่า รัฐบาลจะจ่ายเงินให้แก่ญาติผู้เสียชีวิต ๘๔ คนได้อย่างไร จะดูแลให้ความคุ้มครองข้าราชการทุกกระทรวงที่ถูกข่มขู่ไม่ให้ไปรับราชการในภาคใต้อย่างไร และในฐานะที่เป็นแพทย์ ไม่ค่อยเชื่อว่าทั้ง ๗๘ คนจะเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ น่าจะมีการตรวจสอบให้ละเอียดถึงสาเหตุการตายที่แน่นอน

          นายดำรง พุฒตาล ส.ว.กรุงเทพฯ อภิปรายว่า ได้รับแจ้งจากเพื่อนว่าการขนผู้ชุมนุมไปยังค่ายทหารจะใช้รถยีเอ็มซี โดยใช้ผ้าใบคลุมทั้งหมด ขณะที่ภายในปอดของผู้ถูกจับก็มีแก๊สน้ำตาอยู่ จึงทำให้อากาศไม่พอหายใจ แต่จากการติดตามอ่านข่าวไม่พบเรื่องการใช้ผ้าใบคลุมรถ จึงอยากให้เกิดความกระจ่างในเรื่องนี้

          นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพฯ เสนอว่ารัฐบาลควรตั้งผู้ที่เป็นกลางคือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความยุติธรรม ปัญหาอยู่ที่ว่ารัฐบาลกล้าหรือไม่ ทั้งนี้ ตนก็ได้ข่าวเหมือนนายดำรงว่ามีการใช้ผ้าใบคลุมรถ เป็นความจริงหรือไม่

          "ถ้าความจริงคือท่านจับคนนอนทับกัน มัดมือไขว้หลัง เอาผ้าใบคลุมปิด มือปาดเหงื่อไม่ได้ นี่คือความผิดของรัฐบาลที่กระทำต่อประชาชน ความยุติธรรมต้องมีแล้ว ใครจะรับผิดชอบบ้าง ท่านจะแก้ปัญหาอย่างไรนึกออกหรือยัง แต่ผมนึกออกแล้ว" นายแก้วสรรกล่าว

          นายสมพงษ์ สระกวี ส.ว.สงขลา อภิปรายว่า ที่บอกว่าสลายการชุมนุมด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้า แต่กลับมีผู้ต้องหาบินไปโดนกระสุนปืนตายไป ๖ ศพ นอกจากนี้ยังมีภาพการใช้พานท้ายปืนตบหน้า เตะด้วยท็อปบู๊ต แต่รัฐบาลกลับพูดอีกอย่าง อย่างนี้ถือว่าตบหน้าประชาชน

          ภายหลัง ส.ว.หลายคนอภิปรายตำหนิรัฐบาลอย่างรุนแรง ก็เป็นการพิจารณากระทู้ถามทั่วไป ๘ กระทู้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ ถามนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายกฯ กลับไปแล้ว โดยนายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายชี้แจงแทน ย้ำว่าการเสียชีวิตที่ตากใบเป็นเหตุสุดวิสัย เจ้าหน้าที่ได้ทำดีที่สุดแล้ว หากมองว่าเจ้าหน้าที่กระทำรุนแรงปัญหาจะไม่จบ เพราะบางส่วนมีความตั้งใจทำงานแต่ก็เสียขวัญ

          นายโภคินกล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์คนเสียชีวิตจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ก็รู้สึกตกใจและเสียใจ ขออย่าได้นำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน กรณีที่มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก ยอมรับว่าการเคลื่อนย้ายไม่มีความชำนาญและรถมีจำนวนจำกัด จึงเป็นไปได้ที่จะเกิดอุบัติเหตุ แต่ที่คิดว่าไปอุดจมูกนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนแล้ว ส่วนข้อเสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้ามาตรวจสอบนั้น รัฐบาลคงไปสั่งไม่ได้

กรรมาธิการสอบที่เกิดเหตุ

          ภายหลังการประชุม ส.ว.หลายคนยังให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ นายทองใบ ทองเปาด์ ส.ว.มหาสารคาม ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เปิดเผยว่า ได้หารือกับ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ส.ว.กทม. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ มีข้อสรุปเลื่อนการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากวันที่ ๒๙ ตุลาคม เป็นวันที่ ๒๘ ตุลาคมแทน เพราะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และยังมีผู้ถูกคุมขังที่ค่ายอิงคยุทธฯ อีก ๑,๓๐๐ คน จึงจำเป็นต้องไปดูว่าสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของคนที่ถูกคุมขังเป็นอย่างไร เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดกรณีขาดอากาศและเสียชีวิตเหมือนที่ยัดคนขึ้นรถไป นอกจากนี้จะไปดูสถานที่เกิดเหตุ และสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการยึดอาวุธปืนที่งมขึ้นมา

          น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.อุบลราชธานี กล่าวว่า มีความผิดปกติที่ผู้ชุมนุมไม่ได้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ แต่ตายในลักษณะของการถูกขนย้าย มองในแง่มนุษยธรรมต้องดูช่วงระยะเวลาการขนย้ายจาก อ.ตากใบ ไปที่ค่ายอิงคยุทธฯ ประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในการดูแลประชาชนเหล่านั้น เพราะเท่าที่ทราบจากข่าวคือมีการมัดมือมัดเท้า และเป็นลักษณะของการเข้าไปบรรจุอยู่ในรถสิบล้อ มีการนอนทับกัน ๒-๓ ชั้น ซึ่งสภาพเช่นนี้ถือเป็นสภาพที่ขาดการดูแลประชาชนเหล่านั้น ทั้งที่ไม่ได้เป็นโจรผู้ร้าย นอกจากนี้การเสียชีวิตในสภาพที่ขาดอากาศหายใจ เหมือนกับถูกอุดปากอุดจมูก ดังนั้นการเสียชีวิตดังกล่าวจะต้องมีคนรับผิดชอบ

          นายฟัครุดดีน บอตอ ส.ว.นราธิวาส กล่าวว่า รัฐบาลประกาศว่ามีผู้เสียชีวิต ๘๔ คน แต่ผู้ใหญ่บ้านได้แจ้งมาที่ตนว่ามีคนหายนับร้อยคน ดังนั้นรัฐบาลต้องหาผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น

          "ติดใจที่ว่าเหตุใดกระบวนการนำผู้ต้องหาขึ้นรถจึงนำคนยัดเข้าไปซ้อนกัน เพราะเป็นคนไม่ใช่ไก่ที่ติดไข้หวัดนกจะได้โยนขึ้นรถไปอย่างนั้น ขณะนี้สถานการณ์ในพื้นที่ค่อนข้างลำบาก หากรัฐบาลแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการสะใจเช่นนี้ จะหาความร่วมมือจากประชาชนลำบากมาก เพราะทุกหมู่บ้านมีคนเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นไทยมุง โดยเป็นเด็กนักเรียนและชาวบ้านที่ชวนกันไปดูเหตุการณ์แล้วออกมาไม่ได้เพราะถูกล้อมหมด"

          นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ว.นครราชสีมา ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า กรณีนี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะทุกคนที่เสียชีวิตอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ดังนั้นตนจะร่วมกับ ส.ว.หลายคนเดินทางไปที่ จ.นราธิวาส เพื่อตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการปกปิดกันมากขึ้น

          แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การเดินทางไปชันสูตรศพที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตนไม่ทราบมาก่อนว่ามีผู้เสียชีวิตถึง ๗๘ ศพ จึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพราะมีแพทย์ไปด้วยเพียง ๒ คน รวบรวมข้อมูลได้เพียงคร่าวๆ ทำการชันสูตรศพโดยดูจากสภาพศพภายนอก

          "ส่วนใหญ่พบว่าศพมีเลือดออกบริเวณใต้ตาขาว มันคือลักษณะของการขาดอากาศ ในมุมแพทย์การขาดอากาศจริงๆ มีหลายหัวข้อ แปลได้ว่ามีตั้งแต่ไม่มีอากาศข้างนอก ทางเดินหายใจอุดตัน" พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าว และว่า จากข้อมูลที่รวบรวมได้ พอจะระบุได้ว่าผู้เสียชีวิตในช่วงเวลา ๒๑.๐๐-๒๔.๐๐ น.

          รอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ในการแถลงข่าวผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๖ ต.ค. เบื้องต้นตนได้รับข้อมูลว่าจะมีผู้ใหญ่มาแถลงทั้งหมด แต่สุดท้ายไม่มีใครมา ตนจึงต้องแถลงร่วมกับนายมานิตย์ สุธาพร รองปลัดยุติธรรม และรองแม่ทัพภาคที่ ๔

          พลเอกสิริชัย ธัญญสิริ ผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) เปิดเผยว่า ได้ตั้งคณะทำงานพิสูจน์ข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ โดยมีนายศิวะ แสงมณี รองผู้อำนวยการ สสส.จชต. เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาการทำงานต่อไป คาดว่าจะทราบผลภายใน ๑ ถึง ๒ วัน และจะแถลงให้ประชาชนทราบ

          ด้านท่าทีของพรรคฝ่ายค้าน นายบัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้ช่องทางของรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๓ ที่นายกฯ แจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอเปิดอภิปรายทั่วไปในปัญหาสำคัญที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส.และ ส.ว.โดยไม่มีการลงมติ

          ส่วนที่ ส.ส.พรรคไทยรักไทยระบุว่านักการเมืองฝ่ายค้านอยู่เบื้องหลังการชุมนุมนั้น นายบัญญัติกล่าวว่า วันนี้ควรหันหน้ามาพูดกันอย่างสร้างสรรค์ดีกว่ามากล่าวหากันซึ่งไม่เป็นความจริง

          นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายของรัฐบาล ฝ่ายค้านเคยเตือนตั้งแต่ต้นว่าอย่าใช้วิธีนอกกฎหมาย เช่น การอุ้ม ฆ่าทิ้ง ซึ่งกลายเป็นของปัญหาจนทุกวันนี้ ที่กล่าวหาว่าผู้ตายติดยาเสพติดก็ต้องพิสูจน์ให้ปรากฏข้อเท็จจริง อย่าเหมารวมโดยไม่มีหลักฐาน อย่าบิดเบือน ความจริงจะช่วยทุเลาปัญหาไม่มากก็น้อย แต่ถ้ายิ่งโกหกก็ยิ่งเจ็บแค้น อย่างเช่นกรณีกรือเซะที่เคยกล่าวหาว่าเป็นพวกติดยาเสพติด แต่ตรวจสอบแล้วไม่ใช่ แต่รัฐบาลไม่กล้าแถลง

          พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผบ.สส. กล่าวว่า อยากให้ประชาชนรับรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง เพราะไม่หวังดีต่อประเทศ ประชาชนจะได้รู้ว่าที่ไม่สงบเกิดจากกลุ่มคนเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ต้องอดทน เวลาทำงานทีก็ถูกต่อว่า แต่เรื่องความมั่นคงเรายอมไม่ได้ทุกกรณี

          "ที่นี่ประเทศไทยนะครับ เกี่ยวกับความมั่นคง การเสียดินแดนยอมไม่ได้อยู่แล้ว มาก่อความไม่สงบก็ยอมไม่ได้ ฉะนั้นต้องฝากพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ว่าช่วยดูแลสามีหรือลูกที่ถูกชักจูงไป โดยอาจจะมีการชักจูงหลายแบบ รวมถึงการใช้อามิสสินจ้างมาชักจูงด้วย รวมทั้งที่ผมสังเกตดู เอาไว้รอผลการพิสูจน์ออกมาก่อนแล้วจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร" พล.อ.ชัยสิทธิ์กล่าว และว่า องค์กรเอกชนที่จะออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ จะต้องมีเหตุผลด้วย... .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :