ปาฐกถา "วันปรีดี"
"ธีรยุทธ บุญมี" วิพากษ์ ยุค "ทักษิณ"-ทรท.
ยุค "ข้าพเจ้าถูกต้องแต่ผู้เดียว"
รายงาน หน้า ๒ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๑๙๔ หมายเหตุ - เป็นเอกสารประกอบการปาฐกถาของนายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในโอกาสวันปรีดี พนมยงค์ ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ตึกโดม ชั้น ๒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๖
บทนำ
"--เราทุกคนในปัจจุบันก็เหมือนคนที่อาศัยบ้านหรือประเทศเขาอยู่ โดยมีนายกฯทักษิณกับไทยรักไทยเป็นเจ้าของบ้าน--"
ขอเรียนสื่อมวลชนทุกท่านว่า ปาฐกถาในวันนี้ไม่ได้เป็นการสัมภาษณ์เพื่อวิเคราะห์สังคมหรือวิจารณ์รัฐบาลประจำปี ซึ่งปกติทำปีละ ๑ ครั้ง และในปีนี้ตั้งใจว่าจะทำเป็น ๒ ชิ้นแยกกัน คือ การวิเคราะห์แนวโน้มสังคม-วัฒนธรรม และการวิจารณ์เศรษฐกิจ-การเมือง ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการวิจัย รวบรวมข้อมูลค่อนข้างมาก ซึ่งคงจะทำในช่วงปลายปีนี้
อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งยังไม่อยากวิจารณ์รัฐบาลทักษิณคือ ความวิตกกังวลอย่างจริงใจที่อยากจะขอฝากน้อมเตือนมายังพี่น้องประชาชนไทยทุกคนว่า เราทุกคนในปัจจุบันก็เหมือนคนที่อาศัยบ้านหรือประเทศเขาอยู่โดยมีนายกฯทักษิณกับไทยรักไทยเป็นเจ้าของบ้าน คนไทยจะมีชีวิตอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร อยู่อย่างไร คิดอย่างไร ท่านไม่ว่า ไม่มีบ้านอยู่ท่านก็ปลูกบ้านเอื้ออาทรให้ เจ็บป่วยท่านก็มีโครงการ ๓๐ บาทให้ ไม่มีเงิน ไม่มีงาน ท่านก็แจกเงินให้ ผลิตสินค้า ๑ ตำบล ๑ ผลิตภัณฑ์ ไม่มีความรู้คอมพิวเตอร์ท่านก็ขาย "สินสมุทร" "สุดสาคร" ให้ในราคาถูก สิ่งที่เจ้าของบ้านขออย่างเดียว อย่าพูด อย่าวิจารณ์เกี่ยวกับงานหรือนโยบายของท่าน ฝ่ายค้านก็อย่าพูด สื่อมวลชนก็อย่าวิจารณ์ นักวิชาการก็สอนหนังสือไป องค์กรอิสระอย่าง TDRI ก็อย่ามาอวดรู้เรื่องเศรษฐกิจ หรือซาร์ส NGO ก็อย่ารับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหวเรื่องชาวบ้าน เพราะรัฐบาลทำทั้งหมดและทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว
อันนี้ทำให้ผมกังวลว่า เราจะย้อนยุคไปสู่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งประกาศว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" แต่ปัจจุบันเปลี่ยนคำประกาศเป็น "ข้าพเจ้าถูกต้องแต่ผู้เดียว" อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรพูดอะไรออกมาอีกต่อไปแล้ว เพราะเจ้าของบ้านอาจจะไม่ยอมให้เรามีบ้านให้คุ้มกะลาหัวอีกต่อไปก็ได้
ปาฐกถา วันปรีดี พนมยงค์
ประเด็นหลักที่เราจะพูดถึงในวันนี้คือ บทบาทคุณูปการของการเมืองภาคประชาชนต่อสังคมไทยปัจจุบันและอนาคต
องค์ประกอบต่างๆ ของการเมืองภาคประชาชน
การเมืองภาคประชาชนมีองค์ประกอบหลายส่วนคือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ สื่อมวลชนต่างๆ สถาบันวิชาการและปัญญาชนอิสระ กลุ่มสิทธิและกลุ่มเพื่อกิจกรรมเฉพาะต่างๆ และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ทั้งที่เป็นระดับโลก NGO และระดับท้องถิ่นคือ NGO ทั่วไป การเมืองภาคประชาชนนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อตามเป้าหมายที่ต่างกันแต่ก็เหลื่อมซ้อนกันอยู่
- การเมืองภาคปริมณฑลสาธารณะ(public sphere) มุ่งสร้างพื้นที่ เวที กลไกส่วนกลาง ซึ่งไม่ใช่รัฐสภาที่จะถกเถียงสร้างประเด็นต่างๆ ขยายสิทธิอำนาจต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
- การเมืองภาคประชาสังคม(civil society) หรือการเมืองภาคพลเมือง(citizen politics) ซึ่งมุ่งร่วมแข่งขันของบุคคล องค์กรต่างๆ ในสังคมที่จะถกเถียงและบรรลุข้อตกลงในประเด็นปัญหาต่างๆ หรือผลักดันบางประเด็นให้เป็นนโยบายของรัฐ
- การเมืองภาคประชาชน(peopls"s politics) หรือขบวนสังคมใหม่(new social movements) ซึ่งมุ่งเคลื่อนไหวสร้างจิตสำนึกคนในประเด็นผลประโยชน์ร่วมของมนุษยชาติ อันได้แก่สภาพแวดล้อมโลก การควบคุมทุนการเงินโลก หรือการคัดค้านโลกาภิวัตน์ การเคารพอำนาจสิทธิในวิถีชีวิตตัวตนของชุมชน บุคคล
ความจำเป็นของการเมืองภาคประชาชน
นักการเมืองไทยที่มุ่งหวังขจัดลดทอนบทบาทการเมืองภาคประชาชนควรตระหนักว่า การเมืองรัฐสภา หรือการเมืองแบบผู้แทนกำลังลดบทบาทลง และตัวมันเองไม่พอเพียงที่จะตอบปัญหาทุกเรื่องแก่ผู้คนได้ การเมืองภาคประชาชนนับวันจะทวีความสำคัญขึ้นด้วยเหตุผลดังนี้คือ
๑) นักคิดเสรีนิยมใหม่เคยมีคำอธิบายว่า การเชื่อมโยงทางการเงิน วัฒนธรรม การติดต่อข่าวสาร ทำให้เกิดความเป็นโลกเดียว หรือโลกาภิวัตน์ แต่ช่วงหลังเริ่มตระหนักกันว่าไม่มีทางเกิดโลกเดียว วัฒนธรรมร่วมเดียวกันแบบตะวันตกครอบงำได้จะเป็นแบบหลังตะวันตกนิยม(Post Westernism) เป็นโลกาภิวัตน์หลายกระแสและท้องถิ่นนิยมหลายกระแสคละเคล้ากัน ซึ่งจะเรียกว่า โลกาภิวัฒน์(globalization) ก็ได้ บ่อยครั้งที่รัฐบาลของประเทศ หรือแม้แต่องค์กรระหว่างประเทศ ไม่สามารถจัดการกับความซ้ำซ้อนหลากหลายได้ดีพอ จึงได้เกิดองค์กรนิรโทษกรรมสากล องค์กรการช่วยเหลือแพทย์และอาหารข้ามพรมแดน กรีนพีซ การต่อต้านวัฒนธรรมอเมริกันภิวัฒน์ เป็นเครือข่ายทั่วโลก ในอนาคตจะเกิดองค์กรสนับสนุนวัฒนธรรม ศิลปะพื้นบ้านขึ้นอีกมาก ปัจจุบันองค์กร NGO ระหว่างประเทศ หรือ INGO ก็ถือเป็นกระแสใหญ่ที่มีบทบาททางมากขึ้น
ภายในแต่ละประเทศก็เกิดกลุ่มความเชื่อความคิดผลประโยชน์ที่หลากหลายซับซ้อน ต่างฝ่ายต่างแสวงหาประโยชน์และคามชอบธรรมให้กับตน จนการเมืองแบบตัวแทนและระบบราชการไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ต้องอาศัยการเมืองแบบปริมณฑลสาธารณะหรือประชาสังคมขับเคลื่อนให้ความขัดแย้งแตกต่างดังกล่าวลงตัวได้ หลายประเทศก็มอบการจัดการทรัพยากร สวัสดิการบางประเภท เช่น การเสริมสร้างคุณภาพชีวิต กีฬา ท่องเที่ยว สันทนาการแก่องค์กรท้องถิ่นหรือ NGO แต่รัฐบาลไทยรักไทยซึ่งอ้างว่าทันสมัยกลับสวนกระแสโลก พยายามทอน NGO และท้องถิ่นลง
๒) ยุคใหม่สุดนี้เกิดสิ่งที่เรียกว่า กระบวนการถอดถอย(disembeddedness) คือโลกถอดจากความเชื่อเดิมและถอยจากกรอบอำนาจและปฏิบัติเดิมๆ เช่น ความเป็นรัฐเริ่มถอดออกจากความเป็นชาติ ถอยออกจากอำนาจในการควบคุมอธิปไตยเหนือพรมแดนในบางเรื่อง เช่น รัฐในยุโรปถอดออกจากความเป็นชาติตน และถอยอำนาจในการควบคุมสกุลเงินตราเดิม อำนาจในการตั้งภาษี การตรากฎหมายบางด้าน เช่น มนุษยชน สภาพแวดล้อมจากอาณาเขตอธิปไตยเดิมของตนให้แก่สหภาพยุโรป(EU) รัฐบาลไทยก็กำลังถอดออกจากความเป็นรัฐของชาติไทยให้เป็นรัฐร่วมของความหลากหลาย ทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แม้ว่าคนที่รักชาติมากๆ เมื่อได้ยินจะมองว่าทำให้วัฒนธรรมไทยเสื่อมถอย แต่ไม่ใช่ เป็นความต้องการให้เกิดความหลากหลาย เพื่อเตรียมตัวตั้งรับกระแสเปลี่ยนแปลงได้ดีมาก ลัทธิสุดขั้วจะได้ลดลง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงเกิดขึ้นในสังคม
กับส่วนอื่นๆ ต้องถอยอำนาจการกำหนดภาษีแก่อาเซียน เป็นต้น องค์กรของรัฐ เช่น สถาบันการศึกษา แพทย์และสาธารณชนก็กำลังตกอยู่ในกระบวนการนี้ เมื่อรัฐ องค์กร สถาบันของรัฐถูกถดถอย สิ่งที่มาแทนมี ๒ ส่วนคือ ตลาดหรือภาคเอกชน กับภาคประชาชน ตลาดต้องการให้ธุรกิจเอกชนจัดการทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การศึกษาแพทย์ พลังงาน สื่อสาร ส่วนภาคประชาชนต้องการให้ภาคสังคม ชุมชนเป็นผู้จัดการกิจการเหล่านั้น ซึ่งในส่วนของสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน เดี๋ยวนี้นิยมทำมาตรฐานไอเอสโอ ๙๐๐๒ กันมาก แต่ผมมองว่าไม่ได้เรื่อง เป็นสิ่งห่วยๆ เหียกๆ ไม่ได้มีระบบตรวจสอบกันอย่างจริงจัง ควรจะมองคุณค่าทางด้านสังคมและวัฒนธรรมน่าจะดีกว่ามาก เรื่องนี้เป็นแฟชั่นที่ทำกันทั้งสถาบันศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน
ผู้ที่ต้องการให้ภาคสังคม ชุมชน ซึ่งควรจะเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศไทยเอื้ออาทรต่อคนไทยได้ดี ก็ควรสนับสนุนการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็ง ให้สังคมเข้มแข็ง วัฒนธรรมหลากหลายและเข้มแข็ง
เป็นที่น่าเสียดายที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งเริ่มต้นด้วยเจตนารมณ์ที่ดียิ่ง ถูกทำให้เป็นสามานย์ไปเกือบทุกองค์กรถึงกรรมการชุดต่างๆ อาทิ การสรรหา กสช.
๓) การเมืองในโลกจะขยายจากการเมืองอำนาจไปสู่การเมืองวัฒนธรรมและสังคมมากขึ้น
การเมืองแบบผู้แทนเป็นการเมืองแบบเก่าที่มุ่งเข้าสู่อำนาจซึ่งจะมีแรงกดดัน ๒ ทาง ทางแรกเป็นกระแสหลัก คือ เอื้อผลประโยชน์แก่ตลาดหรือภาคเอกชนโดยผ่านข้ออ้างการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทางคือแรงกดดันให้เกิดความยุติธรรมทางสังคมมากขึ้น ซึ่งรัฐไทยที่ผ่านมาทุกยุคมักสนใจสร้างความเติบโตทางธุรกิจของเอกชนเป็นหลัก การเมืองแบบเก่าจะผสมผสานภาคธุรกิจเข้ากับการเมือง โดยเฉพาะพรรคไทยรักไทยเป็นปรากฏการณ์ดังกล่าวชัดเจน และพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็น แต่เป็นภาคการเมืองผสมผสานกับภาคธุรกิจเกษตร ซึ่งเป็นคลื่นลูกที่ ๑ แต่ไทยรักไทยการเมืองผสมผสานกับภาคธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมที่เป็นคลื่นลูกที่ ๓ จึงสู้กันลำบาก
ในอนาคตซึ่งอาจจะยังห่างไกลแต่ก็คืบใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ประชาชนจะเพิกเฉย ละทิ้งการเมืองแบบเก่าแบบผู้แทน และหันมาสนใจสิ่งที่เรียกว่าการเมืองทางวัฒนธรรมและการเมืองทางสังคม (social politics และ cultural politics) มากขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากว่าตลาดมีความสามารถที่จะสนองความต้องการด้านแฟชั่น สุขภาพ บันเทิง วัฒนธรรมแก่คนได้กว้างขวาง และในท่ามกลางกระบวนการโลกาภิวัตน์ รัฐเองก็ถูกมัดมือมัดเท้าจากทุนการเงินโลก เพียงสามารถดำเนินนโยบายกว้างๆ ไม่สามารถสร้างระบบสวัสดิการหรือความสุขทางวัตถุแก่ประชาชนได้มาก คนจึงจะหันมาให้ความสำคัญกับการแสวงหาความหมาย ความต้องการของตัวเอง โดยผูกพันกับกลุ่มสัญลักษณ์หลายๆ กลุ่ม เพื่อสร้างตัวตน เพื่อการมีกลุ่มสังคม เพื่อการแข่งขันทางในสังคมหรือเศรษฐกิจมากขึ้นทุกทีๆ กลุ่มสัญลักษณ์นี้อาจเป็นชุมชนที่ใกล้ชิดกันหรือเป็นชุมชนที่ห่างไกลกัน เป็นเครือข่ายหลวมๆ วิถีชีวิตคนไทยปัจจุบันก็ถูกผูกติด ใช้เวลากับกลุ่มสัญญะดังกล่าวหลากหลาย เช่น เป็นสมาชิกชมรมมวยจีน แอโรบิก แดนซ์ ดนตรี เป็นแฟนคลับฟุตบอลแมน"ยูไนเต็ด ร่วมกลุ่มเกย์ เลสเบี้ยน สนับสนุนการอนุรักษ์ป่าทุ่งใหญ่ สมาชิกพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น การต่อสู้เพื่อสิทธิย่อยๆ ทางสังคม ชุมชน วิถีชีวิต ฯลฯ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความผูกดันจะกระจายไปอยู่กับสิ่งต่างๆ ที่หลากหลายมาก ความเป็นชาติจะลดความสำคัญลงโดยธรรมชาติ นัยะสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ในอนาคต แม้การเมืองตัวแทนจะยังมีอำนาจความชอบธรรมระดับประเทศอยู่ แต่พื้นที่เครือข่ายภายใน/นอกประเทศของการเมืองทางสังคม-วัฒนธรรม จะขยายตัวเพิ่มและกินพื้นที่ในใหญ่กว่าการเมืองตัวแทนในที่สุด
น่าสนใจว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยรักไทยทำ แทนที่จะเป็นการกระจายการเมืองเป็นหลายๆ ด้าน หรือทอนมิติการเมือง เพิ่มมิติสังคมวัฒนธรรม ไทยรักไทยกลับเพิ่มความเป็นการเมือง(politicized) คือดึงประชาชนมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยตรงมากขึ้น นี่ก็สะท้อนความมีมิติเดียวของไทยรักไทยอีกมุมหนึ่งเช่นกัน
คุณูปการของการเมืองภาคประชาชน : ตรีคุณของ NGO และกลุ่มเคลื่อนไหวชาวบ้านต่อสังคมไทย
ประเทศไทยมีลักษณะพิเศษตรงที่มีเหตุการณ์ต่อสู้เพื่อสิทธิ อำนาจ และความคิดการเมืองหลายหนคือ ๑๔ ตุลาคม ๑๖ ๖ ตุลาคม ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕ และการรณรงค์ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ จึงถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการเมืองภาคปริมณฑลสาธารณะ การเมืองภาคประชาสังคม และการเมืองภาคประชาชนหรือขบวนเคลื่อนไหวสังคมที่เข้มแข็ง มีบทบาทเป็นที่ยอมรับทั้งความคิดและการปฏิบัติ และถ้ากล่าวถึงกลุ่ม NGO และกลุ่มเคลื่อนไหวชาวบ้านของไทยโดยเฉพาะ ผู้เขียนแม้จะมีส่วนผลักดันประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคมมาหลายด้าน ก็ตระหนักและยอมรับคุณูปการ ๓ ด้านของกลุ่มเหล่านี้คือ
(๑) บทบาทของกลุ่ม NGO ขบวนการดังกล่าวไม่ใช่การปฏิวัติสังคมเช่นอดีต แต่เป็นกลุ่มที่จะแผ้วทางให้สังคมได้มองเห็นสังคมใหม่ได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นการปรับทิศทาง เตรียมตัวตนเองและครอบครัวไปสู่อนาคต ซึ่งจะเป็นอนาคตของการรวมอยู่ร่วมกันอย่างเคารพยอมรับความแตกต่างหลากหลายของวิถีชีวิต เพศ วัย ความคิด วัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันอย่างพยายามลดความเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บ วิกฤตเศรษฐกิจการเมือง และสภาพแวดล้อมร่วมกันมากขึ้น
(๒) NGO และขบวนการชาวบ้านยังมีบทบาทในการสร้างแผนภูมิทางความรู้ คุณธรรม และอำนาจแก่สังคม(cognitive and moral map) ก่อนการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นของ NGO และขบวนการชาวบ้าน คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือเอารัฐชาติหรือประเทศเป็นศูนย์กลาง โครงการต่างๆ สามารถทำได้ถ้าใช้ข้ออ้างทำเพื่อพัฒนาประเทศ แต่การต่อสู้อย่างเข้มข้นเสียสละของชาวบ้านในหลายๆ เรื่องทำให้สังคมเกิดแผนภูมิใหม่ทางปัญญา คุณธรรม และอำนาจว่า
ในประการแรก สังคมรับรู้ว่าแผนพัฒนาและโครงการต่างๆ ที่ทำกันมามักทำโดยการถืออำนาจความรู้อย่างหยาบๆ จากศูนย์กลางไปครอบลงบนท้องถิ่น โดยไม่ได้คำนึงถึงชะตากรรมการผันแปรของสภาพท้องถิ่นเท่าที่ควร เป้าของโครงการจึงต้องถอยร่นยินยอมตามเหตุผลของชาวบ้านมาตลอดทุกโครงการที่มีปัญหา
ในประการที่สอง จากที่เคยมองรัฐเป็นศูนย์กลาง สังคมได้ตระหนักและรับรู้ว่ามีวิถีชีวิตและอำนาจและสิทธิที่ทับซ้อนกันอยู่ ๓ วิถีชีวิต อำนาจและสิทธิ คือรัฐส่วนกลาง ชุมชนท้องถิ่น และบุคลากร การต่อสู้ที่แน่วแน่ของพวกเขาทำให้เราต้องยอมรับการดำรงอยู่ของวิถีชีวิต สิทธิ และอำนาจดังกล่าวซึ่งเราจำเป็นต้องเคารพ วิธีการแก้ปัญหาคือการสนทนาเจรจา ไม่ใช่การชี้นิ้วออกคำสั่ง หรือทุบโต๊ะจากส่วนกลางอีกต่อไป นี่คือการยกระดับคุณธรรมในใจของทุกคนในสังคมไทยซึ่งจะช่วยให้การกระจายอำนาจ สิทธิเหนือทรัพยากรและความยุติธรรมทางสังคมเป็นจริงมากขึ้น
ในประการที่สาม การต่อสู้ของ NGO และชาวบ้านเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญของการสร้างบรรทัดฐาน(norms) และกลไกการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างเป้าหมาย อุดมการณ์ ซึ่งบางครั้งไม่อาจลงรอยกันได้ การสร้างบรรทัดฐานและกลไกที่เป็นยอมรับและทำงานได้ผล(บางส่วนโดยไม่จำเป็นต้องทั้งหมด) ใช้เวลาและทำได้ยาก แต่ในที่สุดก็ต้องเกิดขึ้น อาทิ การเกิดมาตราว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สภาพแวดล้อม ทรัพยากร ฯลฯ ในรัฐธรรมนูญ ในกฎหมายเฉพาะ เกิดปฏิญญาต่างๆ เกิดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม การนำเอาข้อขัดแย้งขึ้นสู่ศาลในบางประเทศ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้สังคมเกิดความละเอียดอ่อนในการเคารพสิทธิ อำนาจ วิถีชีวิตซึ่งกันและกันมากขึ้น
เท่าที่ผมรับทราบ ชาวบ้านกลุ่ม NGO ที่ประสบความยากลำบากเนื่องจากเป็นผู้ที่วิถีชีวิตถูกกระทบโดยตรง พยายามสรุปเก็บรับบทเรียนในการต่อสู้และการถูกวิจารณ์ว่าดื้อรั้น ไม่รับฟังความเห็นคนอื่น รัฐบาลก็ควรเก็บรับบทเรียนไม่ใช่บทเล่ห์กระเท่ห์ที่จะแยกสลาย บั่นทอนบทบาทการทำงานของ NGO เพราะถึงอย่างไร อนาคตของโลกก็คือการก้าวไปสู่การเมืองใหม่ดังกล่าว ไม่ใช่การเมืองเก่าในรูปโฉมใหม่เท่านั้น สำหรับสังคมไทยโดยทั่วไปก็ควรมองว่า การต่อสู้อันยากลำบากของ NGO และชาวบ้านในหลายกรณีที่ผ่านมาได้มีส่วนยกระดับจิตใจของเราให้เคารพปัญหาและวิถีชีวิตของพวกเขา
แต่ไม่ใช่ลดระดับจิตใจของเราไปดูหมิ่นดูแคลนถากถางขาดแคลนความเอื้ออาทรต่อกัน!! ..
|