เสขิยธรรม
ประเด็นร้อน
-
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์
บริหารจัดการศาสนสมบัติ
ด้วยการแปลง 'สินวัด' ให้เป็นทุน

มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
คอลัมน์รายงานพิเศษ เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๕๗๙ วันที่ ๗ - ๑๓ ก.ค. ๒๕๔๖

          เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ บุญศรี พานะจิตต์ รองผู้อำนวยการและโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ชี้แจงว่า ทางสำนักงาน ได้สนองมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบแนวทางลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชน และให้มีผลในทางปฏิบัติก่อนเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

          การลดขั้นตอนข้อหนึ่งที่ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้สนองนโยบายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีก็คือการแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก เกี่ยวกับการที่รัฐจะเข้าไปแปลงศาสนสมบัติให้เป็นทุน สำหรับเอกชนผู้ต้องการเช่าที่ดินวัดทำมาหากินนั้นจะเป็นอย่างไร

          "ในส่วนนี้เริ่มต้นเราต้องเก็บข้อมูลวัดทุกวัดก่อน เพราะตอนนี้วัดบางวัดยังไม่มีโฉนด และวัดต้องมีโฉนดเพราะเป็นนิติบุคคล ตอนนี้เรากำลังรวบรวมข้อมูลตอนนี้รวบรวมได้ที่ดินประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าแปลง ที่ดินส.ป.ก.อีก ๕๐ กว่าแห่ง ทรัพย์สินของวัดที่บอกมูลค่าได้ ขั้นตอนที่นำไปเป็นเงื่อนไขของธนาคาร เมื่อรวบรวมแล้วต้องจัดทำอย่างโปร่งใส เราจะทำที่ดินวัดให้เหมาะสมกับพระธรรมวินัย แล้วนำเงินตรงนั้นมาบำรุงคณะสงฆ์"


จาก 'กรมการศาสนา'
สู่ 'สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ'
 

กฎกระทรวงฉบับที่สอง (พ.ศ.๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕

ข้อ ๑ การได้ทรัพย์สินมาเป็นศาสนสมบัติของวัด ให้ลงทะเบียนทรัพย์สินของวัดไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อต้องจำหน่ายทรัพย์สินนั้น ไม่ว่าด้วยใดให้จำหน่ายออกจากทะเบียนนั้น โดยระบุเหตุแห่งการจำหน่ายไว้ด้วย

การได้มาซึ่งที่ดินหรือสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน เมื่อได้จดทะเบียนการได้มาตามกฎหมายแล้ว สำหรับวัดในเขตจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ให้ส่งหลักฐานการได้มา ไปเก็บรักษาไว้ที่กรมการศาสนา (ปัจจุบันคือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) สำหรับวัดในเขตจังหวัดอื่น ให้ไปส่งเก็บรักษาไว้ ณ ที่ทำการวัฒนธรรมจังหวัด

ข้อ ๒ การกันที่ดินซึ่งเป็นที่วัดให้เป็นที่จัดประโยชน์ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นชอบ และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม

ข้อ ๓ การให้เช่าที่ดินหรืออาคาร ให้เจ้าอาวาสจัดให้ไวยาวัจกร หรือผู้จัดประโยชน์ของวัดซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้ง ทำทะเบียนทรัพย์สินที่จัดประโยชน์ ทะเบียนผู้เช่าหรือผู้อาศัยไว้ให้ถูกต้อง และให้เก็บรักษาทะเบียนและหนังสือสัญญาเช่า ไว้เป็นหลักฐานที่วัด หรือจะฝากสำนักพระพุทธศาสนา ให้เก็บรักษาไว้ก็ได้

ข้อ ๔ การให้เช่าธรณีสงฆ์ ที่กัลปนาหรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินสามปี จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบ จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ข้อ ๕ การเก็บรักษาเงินของวัด ในส่วนที่เกินสามพันบาทขึ้นไป ให้เก็บรักษาโดยฝากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จังหวัด อำเภอ หรือธนาคาร หรือนิติบุคคลที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ให้ฝากในนามของวัด การดูแลรักษาและจัดการเงินการกุศลที่มีผู้บริจาค ให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้บริจาค

ข้อ ๖ ให้เจ้าอาวาสจัดให้ไวยาวัจกร หรือผู้จัดประโยชน์ของวัด ซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้ง ทำบัญชีรับจ่ายเงินของวัด และเมื่อสิ้นปีปฏิทินให้ทำบัญชีแสดงเงินรับ เงินจ่าย และเงินคงเหลือ ทั้งนี้ ให้เจ้าอาวาสตรวจตราดูแล ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและถูกต้อง

ข้อ ๗ ในกรณีที่วัด เจ้าอาวาส ไวยาวัจกร หรือผู้จัดประโยชน์ของวัดถูกฟ้อง หรือถูกหมายเรียกเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ในเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลรักษา และจัดการศาสนสมบัติของวัด ให้เจ้าอาวาสแจ้งต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือวัฒนธรรมจังหวัด ที่วัดตั้งอยู่ทราบไม่กว่าห้าวัน นับแต่วันที่รับหมาย

ข้อ ๘ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กำหนดแบบทะเบียน บัญชี แบบสัญญา และแบบพิมพ์อื่นๆ และให้คำแนะนำการปฏิบัติแก่วัดเกี่ยวกับการดูแลรักษา และจัดการศาสนสมบัติของวัด ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้

          การจะทำที่ดินวัดให้เหมาะสมกับพระธรรมวินัย ก็ต้องกลับไปศึกษาพระธรรมวินัยว่า แท้จริงแล้วพระธรรมวินัยทุกข้อ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อวัตรปฏิบัติ สำหรับสมมติสงฆ์ ที่กำลังเดินทางไปสู่ความพ้นทุกข์ ดังนั้น ในเรื่องของวัตถุธรรมที่จะเอื้อให้กับสมมติสงฆ์ มีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นทั้งในด้านที่อยู่อาศัย วัดโอ่อ่าพาหนะสุดหรูหรา รวมทั้งปัจจัยที่เป็นในรูปของเงินทอง ที่ให้พระสงฆ์เก็บไว้ใช้ส่วนตัวก็คงไม่เหมาะ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นคล้ายดั่งงูพิษ ที่จะบั่นทอนการปฏิบัติธรรมไม่ให้ก้าวหน้าทั้งสิ้น รวมทั้งยังเป็นแหล่งดึงดูด ผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมในผลประโยชน์นั้น เข้ามาวุ่นวายในวัด แทนที่จะทำให้วัดเป็นที่พักผ่อนทางวิญญาณ ของผู้คนที่เป็นทุกข์มาสงบใจ มาทำบุญ ทำกุศล ฝึกสมาธิภาวนา หาทางคลายทุกข์ด้วยตนเอง เติมพลังแล้วกลับไปอยู่กับโลก กลับไปช่วยผู้อื่นต่อไป เป็นดังเทียนแห่งปัญญาที่จุดต่อเนื่องกันไปไม่สิ้นสุด ถ้าเป็นเช่นหลังนี้ วัดก็ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ทีเดียว

          วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาต ิอีกตำแหน่งหนึ่ง ได้กล่าวไว้ในงานเสวนาเรื่อง 'ปัญหาการบริหารจัดการศาสนสมบัติของวัด ทั่วราชอาณาจักร' เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๖ ตอนหนึ่งว่าการบริหารศาสนสมบัติของวัดทั่วประเทศ ก็ยังคงให้เจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแล แต่หากไม่สามารถดูแลปัญหาจัดการทรัพย์สินของวัดได้ ทางรัฐบาลก็ยินดีที่จะเข้าไปดูแลแทน โดยอาจจะจัดตั้ง สำนักงานบริหารกิจการศาสนสมบัติของวัด ที่มีฐานะเป็นหน่วยงานเอกชน และมีลักษณะเหมือนกับ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ขึ้นมาดูแลก็ได้

          ปัญหาก็คือว่าไม่ว่าจะให้ใครดูแลก็ตาม ผู้ที่ดูแลนั้นจะดูแลอย่างไร ศาสนสมบัตินั้น น่าจะได้คืนกลับไปช่วยผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากจริงๆ ได้อย่างไร อาจรวมทั้งช่วยเหลือสัตว์ที่ถูกทารุณกรรมด้วย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงน่าจะทำให้ศาสนสมบัตินั้น เป็นดั่งน้ำเย็น ที่ไหลไปดับทุกข์ที่ร้อนรนของเพื่อนร่วมโลก

          กองพุทธศาสนสถาน รวบรวมวัดที่มีพระสงฆ์อยู่ทั่วประเทศเมื่อปี ๒๕๔๕ ว่ามีวัดอยู่ ๓๓,๑๖๓ วัด และมีพระภิกษุทั่วประเทศ ๒๕๘,๖๔๐ รูป

          กับงบประมาณในปี ๒๕๔๖ จำนวนเงิน ๑,๖๔๗,๗๐๒,๙๐๐ บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับแผนงานศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม ๑,๑๕๖,๗๓๕,๑๐๐ บาท และแผนงานจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๔๙๐,๙๖๗,๘๐๐ บาท

          ทำอย่างไรเงินจำนวนดังกล่าวจึงจะเป็นดั่งน้ำเย็น ช่วยเหลือในการปฏิบัติธรรมสำหรับผู้เลิกยาเสพติด ผู้เลิกค้ายาเสพติด สถานสงเคราะห์ต่างๆ ตั้งโรงทานสำหรับผู้ตกงาน ให้นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่มาฝึกรับใช้ผู้คน ช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนให้มีที่พักพิงที่อบอุ่น ก็นับว่างบประมาณดังกล่าว ได้แปรเปลี่ยนเป็นน้ำเย็นชโลมไปยังผู้ทุกข์ยากได้แท้จริง สมดังเจตนาที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบสัจธรรมว่า เราต่างเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

          การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ให้ได้พบแสงสว่างจากอวิชชานั้น ถือว่าเป็นกุศลสูงสุด และทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือพระในวัดที่เป็นวัตถุมากๆ ได้มีโอกาสฟังธรรม อบรมและศึกษาธรรมจากพระป่าที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อที่จะเห็นทางแห่งการพ้นทุกข์ได้จริง

          "ตรงนี้ต้องมีความเห็นเป็นกระแสมาก่อน เราก็รับฟังความคิดเห็นอยู่ การทำงานของเราก็นึกถึงอยู่เสมอ และไม่ก้าวก่ายการปฏิบัติตามพระวินัยของคณะสงฆ์ แล้วตอนนี้เราก็ได้รับหนังสือจากคณะสงฆ์เข้ามาแล้ว เกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน เขาก็ไปสอบถามทั้งพระป่า พระบ้านมาจำนวนหนึ่ง" บุญศรีอธิบาย

          หากในเดือนตุลาคมปีนี้ที่จะเริ่มแปลงทรัพย์สินบางส่วนของวัดให้เป็นทุน เงินอีกจำนวนมหาศาล ซึ่งยังไม่ทราบเม็ดเงินนั้นจะไปอยู่ตรงไหน แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น บุญศรีอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรมการศาสนา ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นหน่วยงานอิสระนั้น ก็ใช้กฎกระทรวง และกฎมหาเถรสมาคมในการดูแลจัดการที่วัดอยู่แล้ว (ดูในล้อมกรอบ)

          "ทุกอย่างมีกฎเกณฑ์เงื่อนไขหมด แต่เรื่องการปฏิบัติก็ไม่ใช่พระทุกรูปเป็นอริยสงฆ์ ก็ยังมีปัญหาอยู่ ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์จึงมีรายละเอียดการได้มาและการใช้ศาสนสมบัติมีระเบียบอย่างไรบ้าง ซึ่งเราใช้กฎกระทรวงเดิม แต่เปลี่ยนชื่อจากกรมการศาสนาเป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และในส่วนของจังหวัดก็ยังเป็นวัฒนธรรมจังหวัดอยู่ แต่ในอนาคตจะเป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ถ้ามีได้ การเชื่อมโยงหรือการสนองงานคณะสงฆ์จะได้ไม่ไกลเกินเอื้อม"


          การสนองงานจะได้รวดเร็วไปได้ทั่วถึงก็จริง แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯก็ต้องศึกษาพระธรรมวินัย และเป็นผู้ที่มีจิตเมตตามีคุณธรรมและเป็นกุศลอยู่เป็นพื้นฐาน จึงจะทำให้งานพระศาสนาเป็นน้ำเย็นหล่อเลี้ยงไปทั่วผืนแผ่นดินไทย

"นั่นเป็นสิ่งที่เรารับฟังและประมวลเพื่อที่จะปฏิบัติต่อไป ตอนนี้สำหรับการแปลงทรัพย์สินวัดให้เป็นทุนนั้นยังไม่มีรายละเอียดอะไร เราเพิ่งเริ่มนำนโยบายของรัฐบาลมาเป็นกรอบ อันดับแรกคือทำฐานระบบข้อมูลก่อนและต้องให้เสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ เพราะต้องเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐ

          ส่วนในรายละเอียดว่าเมื่อรวบรวมที่ดินทั้งหมดแล้วจะไปให้ใครเช่าต่อ จะไปทำอะไรนั้น ก็จะมีระเบียบตามกฎกระทรวงนั้น แล้วก็สัญญาเช่าที่ไปเกี่ยวข้องกับธนาคารตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ แล้ว บอกไว้เสร็จว่า จะต้องได้รับอนุญาตจากมหาเถรสมาคม ส่วนวัดก็ต้องได้รับอนุญาตหรือเจ้าอาวาสยินยอม

          จำรัส เวียงสงค์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศาสนาฯ เคยพูดถึงเกี่ยวกับการแก้กฎหมายเรื่องการบริหารจัดการศาสนสมบัติว่า จะให้ผู้เช่าที่ดินวัดสามารถนำสัญญาเช่าไปกู้เงินธนาคารได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เช่าที่ดินนำเงินกู้ไปลงทุนประกอบอาชีพและนำผลประโยชน์ที่ได้รับมาแบ่งให้แก่วัด เพราะผู้เช่าที่ดิน และอาคารวัดเป็นที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจน

          สำหรับผู้เช่ามีฐานะยากจนนั้นไม่เป็นปัญหาอยู่แล้ว เพราะเป็นการเอื้ออาทรซึ่งกันและกันระหว่างวัดกับชาวบ้านในชุมชน เพื่อให้เขาสามารถลืมตาอ้าปากได้ หรืออาจนำไปตั้งเป็นสถานปฏิบัติธรรมสำหรับผู้ที่กำลังจะออกจากคุก ให้เขามีที่พึ่งทางใจ มีกำลังใจในการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองหันมาทำมาหากินที่สุจริต หรือตั้งโรงทานช่วยเหลือผู้ยากจน พร้อมทั้งตั้งศูนย์ฝึกอาชีพให้เขา หรือสร้างสถานสงเคราะห์สัตว์ก็เป็นประโยชน์ยิ่งดังที่กล่าวไปในตอนแรก

          แต่ปัญหาก็คือสำหรับธรณีสงฆ์ หรือที่ดินวัดรกร้างซึ่งอาจจะเป็นที่เล็งของนักธุรกิจ ทำโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ต่างหากที่จะเป็นปัญหาในอนาคต แทนที่ว่าเดิมที่ดินของวัดร้างนั้นยังเป็นประโยชน์ต่อสัตว์และต้นไม้ จะต้องมารับใช้นายทุนนั้นไม่สมควรเลย เพราะเป็นที่ดินซึ่งชาวบ้านถวายด้วยจิตที่เป็นกุศล

          สำหรับกรณีวัดบางแห่งมีปัญหาบริหารจัดการทรัพย์สิน อีกทั้งเจ้าอาวาสบางรูปมีทรัพย์สินเป็นจำนวนมากนั้น นายวิษณุกล่าวว่าในการแก้ปัญหาควรมีการตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อตรวจสอบปัญหาของวัดทั่วประเทศ และต้องมีการแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ

          และในส่วนเรื่องที่จะให้เจ้าอาวาสแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น รองนายกฯวิษณุเห็นว่าคงไม่เหมาะสม เพราะทรัพย์สินของพระพุทธศาสนาจะเอามาปะปนกับทรัพย์สินของราชการโดยจะมีวิธีคิดเหมือนกันไม่ได้ แต่ก็อยากให้หน่วยงานที่ดูแลพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนทุกคน ต้องช่วยกันย้ำกับเจ้าอาวาสและไวยาวัจกรว่า ในฐานะเจ้าพนักงาน หากบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดผิดพลาด ก็จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายบ้านเมืองเช่นเดียวกับฆราวาส

          ในประเด็นนี้ทางรองนายกฯวิษณุ และผู้บริหารสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติน่าจะไปศึกษาวัดป่าหลายๆ แห่งที่มีไวยาวัจกรที่ซื่อสัตย์และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ดูก็จะได้ความรู้ในการบริหารวัดโดยที่พระไม่ต้องแตะต้องเงินเลยก็ทำได้ และทำได้ดีด้วย อย่างเช่น สวนโมกขพลาราม วัดป่านานาชาติ เป็นต้น


          หน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในปัจจุบัน ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากกรมการศาสนานั้นก็ยังคงทำหน้าที่เดิมๆ คือ จัดการดูแลศาสนสมบัติ กฎเกณฑ์ระเบียบต่างๆ สนองงานคณะสงฆ์ ทั้งเรื่องการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่พระธรรม ถวายความรู้พระสงฆ์ สาธารณูสงเคราะห์ ส่งเสริมให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติหน้าที่ของท่านได้เต็มที่ ส่งเสริมอย่างไรจึงทำให้มีวัดมากกว่าครึ่งในประเทศไทย กลายเป็นวัดที่สะสมวัตถุเงินทองมากกว่าสละ ลด ละ กิเลส และพัฒนากิจการพระพุทธศาสนาอย่างไร จึงกลายเป็นว่ากลับมาสนองนโยบายของรัฐ แทนที่จะเป็นหน่วยงานเตือนสติให้ปัญญาแก่รัฐบาล

          "อันนี้เรากำลังสนับสนุนพระท่านอยู่ เรามีการถวายความรู้พระวิปัสสนาจารย์อยู่ โดยที่บางท่านก็มีแนวปฏิบัติที่เข้มแข็ง และพร้อมที่จะจัดตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม เราก็ประกาศจัดตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม ก็อยู่ที่ท่านจะเสนอเข้ามา ส่วนอื่นๆ เราก็ต้องช่วยกัน"

          การปฏิบัติธรรมคืออะไร จะทำอย่างไรให้มีการแปลงสินทรัพย์วัดให้เป็นทุนทางสังคมที่สงบเย็น เป็นหน้าที่โดยตรงของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งนางบุญศรีกล่าวกับเจ้าหน้าที่เสมอว่า คนทำงานในหน่วยงานนี้เป็นคนมีบุญ ที่รัฐบาลจ้างมาให้ทำบุญ เพราะฉะนั้นเราคนทำงานก็ต้องทำงานให้เกิดบุญกุศลต่อเนื่องสำหรับผู้อื่นต่อไป.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม https://skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ๑๒๔ ซอยวัดนพคุณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๓๑๑๑๘, ๐๖-๗๕๗๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๔๓๗๙๔๔๕
... e-mail :