เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

"วิษณุ" แจงร่างกฎเหล็กมส.ยังไม่สมบูรณ์
รัฐบาลไม่เกี่ยว-เป็นอำนาจคณะสงฆ์

นสพ.ข่าวสด วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๖ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๔๕๖๑ หน้า ๒๙

          ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ตนต้องการชี้แจงให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปเข้าใจว่า ร่างกฎมหาเถรสมาคมมีเรื่องต้องทำความเข้าใจอยู่ ๒-๓ เรื่อง หากจำเป็นคงต้องออกโทรทัศน์เพื่อชี้แจง แต่วันนี้ร่างกฎมหาเถรสมาคมยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งต้องขอทำความเข้าใจว่า ๑. การออกกฎ มส.เป็นอำนาจของคณะสงฆ์ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล พระสงฆ์เป็นผู้ออกและเสนอให้สมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้ลงนามหลายคนเข้าใจว่า เรื่องนี้ต้องเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ๒. กฎ มส.เป็นเรื่องการลงโทษพระสงฆ์ ในทางปกครอง ซึ่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับ ๒๕๐๕ แก้ไข ๒๕๓๕ ได้ให้อำนาจไว้ เสมือนดาบอาญาสิทธิ์ให้คณะสงฆ์ใช้กำกับดูแลตรวจสอบเล่นงานพระสงฆ์ที่ประพฤติตนเป็นอลัชชี ไม่อยู่ในศีลในธรรม ซึ่งขณะนี้มีดาบ ๒ เล่ม ได้แก่ กฎนิคหกรรม เช่น ใช้ลงโทษ พระยันตระ พระนิกร โดยประชาชนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับดาบเล่มนี้ ส่วนดาบเล่มที่ ๒ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ได้ให้อำนาจไว้ให้คณะสงฆ์ ออกกฎ มส.พิจารณาโทษในทางปกครองได้ ซึ่งหากพระสงฆ์กระทำผิดไม่ถึงขั้นผิดกฎหมาย

          รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า กฎมส.นี้ได้มีการปรับแก้มา ๒-๓ ครั้ง แต่คาดว่าคงจะมีการปรับแก้อีกหลายครั้ง เพราะการแก้ไขแต่ละครั้งแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของพระสงฆ์ในเรื่องกฎนี้ ส่วนในแง่ของชาวบ้านและสื่อมวลชนจะรู้สึกสะใจว่าต่อไปนี้มีการเอาผิด จับสึก พระสงฆ์ได้ง่ายขึ้น เช่น พระสงฆ์ที่เดินห้าง พระใช้โทรศัพท์ในที่สาธารณะ พระฉันข้าวเย็น คิดแต่ว่าจะจับสึกเพียงอย่างเดียว แต่ในกฎนี้ได้พูดถึงกระบวนการขั้นตอนที่ประกันความเป็นธรรมในการพิจารณาลงโทษไว้ ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่เคยมีพุทธประสงค์ให้พิจารณาลงโทษพระสงฆ์โดยไม่มีการไต่สวน และพระเถระชั้นผู้ใหญ่ก็ไม่คิดจะใช้กฎมส.ทำลายพระสงฆ์ โดยไม่ให้ความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม กฎนี้ได้รับการแก้ไขให้ความเป็นธรรมในการพิจารณาลงโทษมากขึ้น เนื่องจากต้องรักษาสมดุลใน ๒ เรื่องคือ ๑. ต้องไม่ให้พุทธศาสนามัวหมอง ๒. มีความเป็นธรรม แต่ไม่ใช่ปล่อยให้มีการไต่สวนจนใช้เวลา ๓-๗ เดือน จนสร้างความมัวหมองให้ศาสนา โดยร่างกฎมส.นี้กำหนดข้อหาว่าต้องเป็นผู้ที่สร้างความเสื่อมเสียต่อพุทธศาสนาหรือการปกครองของคณะสงฆ์ อาทิ ประพฤติตนที่เป็นโลกวัชชะ เช่น พระเดินห้าง เชียร์กีฬา ใช้โทรศัพท์ในสถานที่ไม่เหมาะสม เถียงพระอุปัชฌาย์ เที่ยวเตร็ดเตร่ไม่อยู่วัด แต่งพระพุทธพจน์ตามใจชอบ เมื่อมีข้อหาต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะให้พระสังฆาธิการ หรือหากทำผิดในวัดก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสดำเนินการไต่สวน หากพบว่ามีความผิดจริงและถูกลงโทษแค่ตักเตือน ก็สามารถดำเนินการตามกฎมส.ได้ทันที ซึ่งล่าสุดได้มีการแก้ไขให้มีบทลงโทษหนักสุดคือให้สึก รองลงมาคือขับไล่ออกนอกวัด ใช้ให้ทำงานบำเพ็ญประโยชน์แก่วัด และตำหนิโทษ ติดประจานหน้าวัด และตำหนิตักเตือน

          นายวิษณุ กล่าวต่อว่า แต่หากมีการพิจารณาลงโทษขั้นรุนแรง จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนโดยมีพระผู้ใหญ่เป็นประธาน ซึ่งต้องมีสมณศักดิ์สูงกว่าผู้ที่ถูกสอบสวนและกรรมการ ๔ รูป ตนเห็นว่าการกระทำเหล่านี้ยุติธรรมดี เป็นหลักประกันความเป็นธรรม ซึ่งหากมีการพิจารณาลงโทษไม่ถึงขั้นสึก ก็ให้คณะกรรมการสอบสวน ตัดสินลงโทษได้ หากมีโทษถึงขั้นสึก ให้ผู้ถูกสอบสวนอุทธรณ์ได้ภายใน ๗ วัน ไปยังคณะกรรมการชุดที่ ๒ ที่เปรียบเสมือนศาลอุทธรณ์ หากพิจารณาแล้วคณะกรรมการมีเสียงเป็นเอกฉันท์ ก็ให้สึกได้ทันที แต่หากคณะกรรมการสอบสวนชั้นอุทธรณ์รูปใดรูปหนึ่งทักท้วง ก็สามารถฎีกามายังมหาเถรสมาคม หรือคณะกรรมการกลางชุดหนึ่งซึ่งเป็นผู้ดูแลพระสงฆ์ทั่วประเทศ เป็นผู้รักษามาตรฐานกลางของคดีไว้ทั้งหมด โดยคณะกรรมการฎีกาประกอบด้วย พระราชาคณะชั้นกรรมการมหาเถรสมาคม ๑ รูป เป็นประธาน และกรรมการไม่น้อยกว่า ๘ รูป หากต้องการให้สึก ๙ รูปนี้ต้องออกเสียงไม่น้อยกว่า ๖ รูป หรือ ๒ใน๓ของทั้งหมด ซึ่งตนรับรองว่าทุกขั้นตอนมีความเป็นธรรม เนื่องจากหากให้แต่ละวัดพิจารณาลงโทษกันเอง อาจจะเกิดการลักหลั่นในเรื่องมาตรฐานการลงโทษได้ .. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :