ไทยมีหนี้สาธารณะ
เกือบ ๓ ล้านล้านบาท
อาการน่าห่วงหรือเปล่า BBCThai.com
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังเปิดเผยตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้างของไทย ณ สิ้นไตรมาสที่สองปีนี้ว่ามีจำนวน เกือบ ๓ ล้านล้านบาท หรือร้อยละ ๔๕.๓๐ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ยังถกเถียงกันอยู่ว่า ภาระหนี้สาธารณะที่ว่านี้เป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของประเทศมากน้อยแค่ไหน
การใช้จ่ายของรัฐบาลก่อนหน้าการเลือกตั้ง ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา ถูกมองว่าจะสร้างภาระผูกพันในระยะยาว ที่ยังต้องอาศัยการจัดการที่ดี และวินัยทางการเงินการคลัง ซึ่งถ้าดูประวัติที่ผ่านมาแล้ว นักวิชาการบางกลุ่มชี้ว่า นี่ยังเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลอยู่
โครงการขนาดยักษ์ใช้เงินมาก
ตัวเลขล่าสุดของกระทรวงการคลัง ระบุว่า หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายนมีจำนวน ๒ ล้าน ๙ แสน ๓ หมื่น ๒ พัน ๒ ร้อย ๒๘ ล้านบาท
โครงการลงทุนใหญ่ๆ ของรัฐบาลที่ก่อให้เกิดหนี้ผูกพันในระยะยาว อย่างโครงการขนส่งมวลชนล่าสุดของ กระทรวงคมนาคม มูลค่าเกือบห้าแสนล้านบาท ตลอดจนโครงการที่ใช้เงินนอกงบประมาณ เช่น กองทุนน้ำมัน กองทุนหมู่บ้าน กองทุนฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร โครงการบ้านเอื้ออาทร ถูกยกมาเป็นตัวอย่างว่าอาจจะทำให้เกิดปัญหาการวางแผนจัดการหนี้ในอนาคต
ดร. อัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ บอกว่า กองทุนหมู่บ้านก็ดี เรื่องเอสเอ็มอีก็ดี นายกรัฐมนตรีเก่งแต่ด้านวิสัยทัศน์ แต่พอเอาไปปฏิบัติจริงๆ ความสามารถในการจัดการในระบบแทบจะไม่มี
ดร. อัมมาร์เสริมว่า เรื่องกองทุนน้ำมันก็เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจน รัฐบาลใช้เงินชนิดที่ไม่มีวันหวลกลับมา โดยเวลานี้นำเงินกองทุนไปใช้ก่อน ซึ่งรัฐบาลต้องหาเงินอุดส่วนที่ใช้ไปแล้วและเมื่อจะต้องหามา ก็ต้องสร้างหนี้ขึ้นมาอย่างน้อยๆ ๔-๕ หมื่นล้านบาท
จำเป็น
แต่ ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค และการกระจายรายได้ ของทีดีอาร์ไอ กลับเห็นว่าโครงการเหล่านี้มีความจำเป็น ถึงแม้ว่าอาจจะสร้างภาระการเงินของรัฐบ้างก็ตาม อย่างเช่น การปรับปรุงระบบจราจรซึ่งทุกวันนี้แย่ลงค่อนข้างเร็ว ถ้าหากไม่อยากให้ปัญหานี้ไปกระทบเศรษฐกิจในภาพรวมก็คงจะต้องทำ
ยังไงก็ดี ดร.สมชัยเสริมว่า เมื่อทำโครงการเหล่านี้ ก็ต้องดูว่านำเงินที่ไหนมาใช้ เพราะถ้าเอาเงินมาใช้แล้วก็จะเกิดแรงกดดันต่อดอกเบี้ยได้ เพราะฉะนั้น จังหวะในการนำเงินมาใช้หรือนำเงินมาจากส่วนไหน ก็จะต้องดูแลอย่างรอบคอบ
คุมอยู่
ดร. เชาว์ เก่งชน รองกรรมการผู้จัดการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรมองว่า หนี้สาธารณะในขณะนี้อยู่ในวิสัยที่จัดการได้ เพราะเศรษฐกิจโดยรวมตอนนี้ดีกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ บวกกับรัฐบาลเริ่มมีฐานะการคลังดีขึ้นในปี ๒๕๔๘ ซึ่งรัฐบาลมีงบสมดุลเป็นปีแรก และเศรษฐกิจยังมีการขยายตัว
ปัจจัยที่น่าจับตา
อัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น ประกอบกับหนี้บางส่วนไม่ได้ปรากฏในงบประมาณแผ่นดิน ทำให้ยังวางใจเรื่องเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศไม่ได้
ดร. อัมมาร์ สยามวาลา แห่งทีดีอาร์ไอเสริมว่า มีสถานบันการเงินของรัฐหลายแห่ง ที่ถูกมอบหมายให้ปล่อยกู้ให้ใครต่อใครทั่วไปหมด ธนาคารกรุงไทยก็มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในที่สุดรัฐบาลในฐานะที่เป็นเจ้าของก็คงมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนให้ ปัญหาต่างๆเหล่านี้จะมีส่วนในการเพิ่มหนี้ของรัฐบาลในที่สุด และอาจถึงขั้นต้องขึ้นภาษีอากร..
|