บทนำ
จุดประกาย เสาร์สวัสดี กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๑๒ เม.ย. ๒๕๔๖
ในฐานะผู้บริโภคข่าวสารคนหนึ่ง ผมเองก็คงมีอาการไม่ต่างจากคุณผู้อ่านท่านอื่นๆ ...คือมันเกิดอาการอึดอัดวางตัวไม่ถูกเวลาดูข่าวสงครามการรบราฆ่าฟัน ยิ่งเห็นข่าวว่าทหารฝ่ายอเมริกันบุกเข้าไปยึดแบกแดดได้อย่างเบ็ดเสร็จเตรียมสถาปนาให้เป็นรัฐหนึ่งของอเมริกา ท่ามกลางกองซากศพของทหารและประชาชนชาวอิรัก...มันก็ยิ่งกระอักกระอ่วน
ยังไม่ต้องพูดถึงอีกบทบาทในฐานะนักข่าว สงครามครั้งนี้ได้ย้ำอีกครั้งว่านักข่าวไม่ได้เป็นแค่ 'ผู้รายงาน' ข้อเท็จจริงอีกต่อไป แต่มันถูกบรรจุไปด้วยวาระซ่อนเร้นแฝงมากมายเต็มไปหมด ตั้งแต่การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง การกระหายข่าวเยี่ยงสัตว์สื่อสาร ที่ไม่ได้หวังอะไรมากไปกว่าแข่งขันช่วงชิงเรทติ้ง เพื่อตรึงผู้ชมให้อยู่หน้าจอโทรทัศน์
เมื่อเป็นเช่นนี้มันจึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไมนักข่าวจากตะวันตกหลายต่อหลายคนจึงถูกไล่ฆ่า ไม่สามารถอ้างสถานะ 'นักข่าว' ที่โดยปกติแล้วควรมีฐานะไม่ต่างอะไรกับรถพยาบาลที่มีเครื่องหมายกาชาดรับรองความปลอดภัยได้อีกต่อไป
ยังดี..ที่หลวงพี่ศิราณีประจำตัวผมอย่าง กระบี่ไม้ไผ่ ได้กรุณาส่งบทสนทนาระหว่าง พระไพศาล วิสาโล กับกลุ่มเสขิยธรรม ณ มูลนิธิโกมลคีมทอง เมื่อปลายเดือนก่อนมาให้อ่านเตือนสติและเป็นหลักยึดเหนี่ยว
พระไพศาล วิสาโล ได้เสนอประเด็นเกี่ยวกับสงครามไว้อย่างน่าสนใจหลายข้อ ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง เฉพาะข้อที่เน้นย้ำว่า เราควรวางท่าทีอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมาให้อ่านกันต่อ เนื้อหามีดังนี้ครับ
"การฆ่ากันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่ว่าคนตายจะเป็นทหารอเมริกันหรือทหารอิรักก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสลดใจทั้งสิ้น เราคงไม่มีกำลังที่จะไปยุติสงครามที่อิรักได้ด้วยตัวเราคนเดียว แต่เราสามารถช่วยกันสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพได้ อย่าเผลอปล่อยให้ความโกรธเกลียดหรือความสะใจเข้ามาครอบงำจิตใจของเรา ช่วยกันทำให้บ้านหรือครอบครัวของเรามีบรรยากาศแห่งสันติ เวลาดูข่าว ก็พยายามแนะนำลูกหลานหรือญาติพี่น้องให้มองเหตุการณ์นี้ด้วยท่าทีที่ถูกต้อง คือไม่สะใจไปกับการฆ่าฟันกัน ไม่สนุกตื่นเต้นไปกับการวิเคราะห์ยุทธวิธีทางการทหาร
"และที่น่าจะทำกันก็คือ พยายามเรียกร้องผลักดันให้สื่อมวลชนช่วยสร้างบรรยากาศแห่งสันติมากขึ้น เช่น ลงข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพให้มากขึ้น รวมทั้งให้เนื้อที่แก่ข่าวเกี่ยวกับความทุกข์ทรมานของคนที่ประสบภัยสงคราม ให้ผู้คนรู้ว่าสงครามไม่ใช่เรื่องสนุกหรือเป็นเกมประลองกลยุทธ์และอาวุธทันสมัย แต่เป็นเรื่องโศกนาฏกรรม ซึ่งสื่อส่วนใหญ่มองข้ามความจริงส่วนนี้ไป
"เราอาจทำให้สงครามยุติไม่ได้ด้วยตัวเราเอง แต่ว่าเราสามารถสร้างบรรยากาศแห่งสันติให้มาทดแทนบรรยากาศแห่งความเกลียดแค้นชิงชังได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรนิ่งเฉยหรืองอมืองอเท้า แต่ควรที่จะทำทุกอย่างที่จะทำได้อย่างที่พูดมา อย่าอยู่นิ่งเฉย อะไรที่ทำได้ควรจะทำกัน คนเดียวก็ได้ กับคนอื่นก็ได้ อย่างน้อยมันก็มีผลต่อตัวเราเอง คือช่วยหล่อเลี้ยงมโนธรรมสำนึกของเราให้คงอยู่
"คนเราถ้าปล่อยให้มโนธรรมสำนึกอยู่เฉยๆ ไม่กระตุ้นให้ออกมาทำอะไร มันก็เหี่ยวเฉาได้ง่ายในทำนองเดียวกัน เมตตาธรรมในใจของเรา ถ้าปล่อยให้เงียบงัน ใครจะตาย ก็ไม่รู้สึกทุกข์ร้อน เมตตาธรรมของเราจะฝ่อ กลายเป็นคนด้านชา ไร้ความเป็นมนุษย์ไปมากขึ้นทุกที
"เพราะฉะนั้นการที่เราลงมือทำอะไรบางอย่างด้วยเมตตาธรรม ด้วยมโนธรรมสำนึก มันจะช่วยให้เราเข้มแข็งในทางจริยธรรม และรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ได้ท่ามกลางกระแสสงคราม ที่กำลังบั่นทอนความเป็นมนุษย์ของเรามากขึ้นทุกที"
ข้อเสนอเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ เชยๆ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ผมเชื่อว่ามันเป็นหลักยึดเหนี่ยวที่แข็งแรงมาก ถ้าเรายังซีเรียสกับประเด็นถูกผิดดีชั่ว
อธิคม คุณาวุฒิ ..
|