เสขิยธรรม -
ประเด็นร้อน
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน | แผนผังไซต์

นานาทรรศนะ
อยากเห็นรัฐบาลชุดใหม่
ควรทำและไม่ทำอะไรใน ๔ ปี ?

ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ปีที่ ๒๘ ฉบับที่ ๓๖๖๐ (๒๘๖๐)

          "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจความเห็นนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ภาคประชาชน พระ และปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีต่อรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดจะเห็นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต้นมีนาคม หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกินต้นเมษายน แต่ก่อนที่รัฐบาลใหม่จะแถลงนโยบาย ควรรับฟังความเห็นของประชาชนผู้เสียภาษีดังต่อไปนี้

 

ศุภชัย เจียรวนนท์

ไม่อยากเห็นความเหลื่อมล้ำ

          นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ความต่อเนื่องในการบริหารงานมีความสำคัญมาก แม้หลายเรื่องที่ทำอยู่อาจไม่ ๑๐๐% แต่ถ้าไม่มีการสานต่ออาจชะงัก และทำให้โมเมนตัมที่สร้างมาชะลอตัว ทั้งนี้ตนมองว่ารัฐบาลวางนโยบายด้านเศรษฐกิจไว้ถูกต้องหมดแล้ว อยู่ที่ว่าจะทำต่อในเชิงปฏิบัติอย่างไร

          โดยส่วนตัวตนอยากให้รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนระบบการศึกษา อินเทอร์เน็ต และบรอดแบนด์ เนื่องจากเกี่ยวกับการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลของประชาชนทำให้สังคมไทยเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ และฐานข้อมูล ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ

          "ผมอยากเห็นรัฐบาลมีเสถียรภาพ ต่อไปเราอาจเห็นระบบบริหารที่เป็นรัฐบาล ๒ พรรค หรือ ๓-๔ พรรคก็ได้ แต่เยอะเกินไปคงไม่ดี"

          "สำหรับธุรกิจสื่อสารแม้จะมีการมองว่าธุรกิจนี้เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ผมมองว่าคงต้องแยกเรื่องการเมือง และอุตสาหกรรมออกจากกัน ซึ่ง กทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) จะแยกตรงนี้ได้ดีที่สุด ซึ่งรัฐบาลน่าจะดีใจ และสบายใจขึ้นที่มี กทช. ถ้าสนับสนุนได้ก็อยากให้สนับสนุน เพราะอุตสาหกรรมนี้มีส่วนทำให้ประเทศเจริญต่อไป เป็นสาธารณูปโภคที่จำเป็น ถ้าไม่มีจะเกิดความเหลื่อมล้ำ"

 

โชค บูลกุล นักธุรกิจรุ่นใหม่

"อยากเห็นนโยบายรัฐที่สอดคล้องกัน"

          นายโชค บูลกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นในรัฐบาลใหม่ คือ แนวนโยบายของประเทศที่สอดคล้องกันทุกกระทรวง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาได้ประสานงานกับกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ ปรากฏว่านโยบายของประเทศไทยไม่ไปด้วยกัน เช่น ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงโคนมแต่ขายไม่ได้ แข่งขันไม่ได้ ฯลฯ

          อีกอย่างหนึ่ง นโยบายแห่งรัฐต้องเอื้อประโยชน์กับคนหมู่มาก ในอดีตจะรู้สึกเฉยๆ กับเรื่องการเมือง แต่พอได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองในยุคนี้อย่างต่อเนื่อง ทายาทคนโน้นได้ประโยชน์ พรรคพวกคนนี้กวาดงานภาครัฐ เห็นแล้วไม่สบายใจจริงๆ การกลับมาของรัฐบาลชุดนี้จึงต้องระมัดระวังเรื่องนี้ให้มาก

          ไม่รู้ว่าในอนาคตอันใกล้คนส่วนใหญ่ของประเทศจะรู้สึกหรือเปล่าว่า นโยบายที่รัฐบาลดำเนินอยู่นั้นเป็นการเอาขนมไปล่อ เช่น กองทุนหมู่บ้าน ชาวบ้านอยู่กันแต่ในหมู่บ้านแต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่ในกระเป๋าพรรคพวก ซึ่งชาวบ้านไม่ได้ให้ความสนใจ แต่ให้ความสำคัญกับปากท้องมากกว่า

          ระยะสั้นอาจจะเห็นว่าดีแต่ในระยะยาวจะยั่งยืนหรือเปล่า หรือสิ่งที่รัฐบาลโปรยมาเป็นเพียงขนมเพื่อทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศลืมมองนโยบายใหญ่ๆ ไม่ไปคิดถึงผลประโยชน์ใหญ่ๆ ของประเทศ แล้วรัฐบาลก็ถือโอกาสตรงนี้กวาดผลประโยชน์ไปให้กับคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง เพราะถ้ารัฐบาลทำจริงกระจายผลประโยชน์ทั่วถึง อาจจะทำให้ชาวบ้านได้มากกว่าในวันนี้ก็เป็นได้

          แต่ถ้าถามว่าเศรษฐกิจในวันนี้ดีขึ้นหรือยัง ดีขึ้น แต่อาจจะเป็นเพราะว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยเข้ามาในช่วงวงจรธุรกิจขาขึ้นพอดี จึงติดกระแส

          สำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องจะอยู่ที่ศรัทธาของประชาชน คนใหม่เข้ามาแล้วสร้างศรัทธาให้เกิด ใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจก็ดี แต่จะดีอย่างยั่งยืนหรือไม่นั้นคงต้องรอดูในอีก ๔ ปีข้างหน้า เพราะทุกอย่างไม่ง่ายอย่างที่รัฐบาลพูด มองหน้า มองตาคนที่จะมาเป็นรัฐบาลแล้วยังไม่ได้เชื่อว่า จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตแบบยั่งยืนได้ มีที่ไหนคนเดียวนั่งบริหารงานได้ทุกกระทรวง อเมริกายังไม่มีคนเก่งขนาดนี้เลย ดูแลกระทรวงเกษตรฯได้ไม่กี่เดือนก็กระโดดไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปอยู่กระทรวงอุตสาห กรรมได้

 

หมอประเวศแนะรัฐบาลใหม่

ยึดมรรค ๘ "พัฒนาประเทศยั่งยืน"

          น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เสนอว่า ปี ๒๕๓๘ จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ถ้าบ้านเมืองขาดความถูกต้องเป็นธรรม เราจะเข้าไปสู่ความลำบากมาก จะเกิดวิกฤตและภัยพิบัตินานาประการ รวมทั้งความรุนแรงยืดเยื้อยาวนาน หมดโอกาสแห่งการพัฒนา ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรคำนึงถึงหลัก ๘ ประการที่จะกล่าวต่อไปนี้ สังคมไทยควรจะถามผู้ที่จะอาสาสมัครมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่า มีเจตนารมณ์ตามหลักมรรค ๘ ประเทศไทยดังต่อไปนี้มากน้อยเพียงใด

          ๑.สร้างความเป็นประชาสังคม ๒.เคารพเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ๓.กระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น ๔.เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ๕.การสร้างสัมมาอาชีพเต็มพื้นที่ ไม่ใช่จีดีพี ๖.สร้างสันติภาพ สันติวิธี และ อหิงสธรรม ๗.ต้องมีระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารที่ทำให้คนไทยรู้ความจริงถึงกันโดยทั่วถึง ๘.ตีประเด็นการศึกษาให้แตกและทำระบบการศึกษาให้ดีขึ้น

          ถ้าทุกฝ่ายเข้มแข็งและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสร้างสรรค์ การเมืองก็จะถูกต้องเป็นธรรมมากขึ้น ขอฝากมรรค ๘ ประเทศไทยไว้ให้สังคมไทยช่วยดูแลนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย ขอให้ค้นคว้าศึกษาประเด็นทั้ง ๘ กันให้ถ่องแท้อย่างกว้างขวางด้วยเถิด

 

พระกิตติศักดิ์ ย้ำชัด

"ยึดคุณธรรม-จริยธรรม สร้างเสถียรภาพ"

          พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ ประธานกลุ่มเสขิยธรรม กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศสิ่งแรกที่จะต้องคำนึงถึงคือคุณธรรมและจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมหรือการเป็นแบบอย่างในด้านมโนธรรมสำนึก

          นอกเหนือจากนั้น จะต้องมีความพยายามที่จะสร้างโครงสร้าง ให้รองรับกับการพัฒนาด้านคุณธรรมและจริยธรรม ไม่ใช่หวังเพียงแต่ว่าอาจจะมีภาคส่วนเล็กๆ เข้ามาประคับประคองเรื่องนี้ แต่รัฐบาลจะต้องใช้โครงสร้างไม่ว่าจะเป็นในทางกฎหมาย หรือว่าด้านอื่นๆ เข้ามารองรับให้มีการพัฒนาในเรื่องความดีงามของสังคม

          และในขณะเดียวกัน ไม่ควรที่จะใช้เครื่องมือของรัฐไปกระตุ้นให้ประชาชนมีแนวโน้มไปในทางที่เป็นอกุศล ไปส่งเสริมอบายมุข ไปส่งเสริมความโลภในทางเศรษฐกิจ

          หรือแม้กระทั่งไปส่งเสริมให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่างๆ ตรงนี้เป็นสิ่งที่รัฐควรทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ เพราะความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย แต่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือการอยู่ร่วมกันด้วยความสุข ความสงบ

          "๔ ปีที่ผ่านมา สังคมไทยถูกระตุ้นเร้าในเรื่องความเติบโตทางเศรษฐกิจ ถูกกระตุ้นเร้าเรื่องความสำเร็จ ซึ่งหมายถึงตัวเงินเป็นด้านหลัก จนละเลยคุณธรรม จริยธรรมในสังคมไทยไปหลายส่วน สังคมไทยถูกทำให้เชื่อว่าคนมีเงินคือผู้ที่ประสบความสำเร็จ คือ แนวทางที่จะเป็นเป้าหมายของทุกคน

          ในขณะเดียวกัน มีความพยายามเจือจานให้เห็นว่า ถ้าบางคนประสบความสำเร็จร่ำรวยแล้วจะสามารถเจือจานให้กับคนที่ด้อยโอกาส แต่ในเนื้อหาสาระที่เป็นจริงคือการเอาเศษเนื้อของผู้ที่ด้อยโอกาสมาเลี้ยงผู้ที่ด้อยโอกาสด้วยกันเอง นี่เป็นปัญหาใหญ่

          ฉะนั้น ๔ ปีข้างหน้าจะต้องไม่เป็นอย่างนี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบกับตัวรัฐบาลเอง รัฐบาลจะไม่มีความมั่นคง ไม่มีเสถียรภาพเอง เพราะเสถียรภาพที่สำคัญที่สุดคือเสถียรภาพของความถูกต้อง ไม่ใช่เสถียรภาพทางการเมืองเพียงอย่างเดียว" ประธานกลุ่มเสขิยธรรมกล่าว

 

นักวิชาการสะท้อน

ระวัง ! ผลประโยชน์ทับซ้อน

          รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จริงๆ แล้วแนวนโยบายของรัฐบาลนั้นชัดเจน แต่สิ่งที่กังวลคือกระบวนการทำงานมากกว่า การกลับมาอีกครั้งของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยอาจจะมีเรื่องของอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น

          ฉะนั้นการทำงานต่างๆ อาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่มีระบบการตรวจสอบในรัฐสภาอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลกับภาคประชาชน การปะทะกันจะมีมากขึ้น

          ฉะนั้นจะต้องระมัดระวังในการดำเนินนโยบายต่างๆ เพราะว่าแนวนโยบายของรัฐมีลักษณะที่พุ่งไปสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ในระบบทุนอย่างเต็มที่

          ส่วนภาคของประชาชนจะคล้ายๆ คนที่รับสงเคราะห์ แต่ไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่แนวของการพัฒนาที่จะสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนได้

          "ถ้าดูประชานิยมในรอบแรกนั้นน่ากลัว แต่ ๔ ปีที่ผ่านมาผลยังไม่ชัด ๔ ปีนับจากนี้ไปปัญหาจะเริ่มผุด ทั้งหนี้ครัวเรือน ความไม่เท่าเทียมของการกระจายรายได้ ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องระวัง เพราะสุดท้ายประเด็นเหล่านี้จะไปสร้างกระแสเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในรัฐบาล"

 

เครือข่ายภาคประชาชนเตือน

"ออก กม.ขัด รธน. รัฐบาลจะอยู่ไม่ได้"

          นางสาวรสนา โตสิตระกูล เลขาธิการ แกนนำเครือข่าย ๓๐ องค์กรเอกชนต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า เป็นที่แน่นอนแล้วว่าพรรคไทยรักไทยจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง แต่อย่าคิดว่าเสียงส่วนใหญ่ที่เข้ามาแล้วจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ โดยที่ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งโดยเจตนารมณ์และสาระ

          คนส่วนใหญ่ของประเทศอยากได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง ในการบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากรัฐบาลที่เข้ามาโดยเสียงส่วนใหญ่แล้วเข้มแข็งเกินไปจนไม่ฟังเสียงของประชาชน ตรงนี้จะเป็นอันตรายกับรัฐบาลเอง

          "กฎหมายหลายๆ อย่างที่จะทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญไม่ควรจะมีในรัฐบาลชุดนี้ นอกจาก พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว กฎหมายที่มีผลกระทบต่อสังคมมากๆ

          เช่น บ่อนเสรี ซ่องเสรี การขายรัฐวิสาหกิจที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน สิ่งเหล่านี้รัฐบาลจะต้องคิดให้ดีเหมือนกัน เพราะถ้าทำแล้วขัดแย้งกับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ รัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ พวกเราไม่อยากเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้อีก"

 

ลุงยงค์ แม็กไซไซ

อยากให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม

          นายประยงค์ รณรงค์ เกษตรกรรางวัลแม็กไซไซ สาขาผู้นำชุมชน เห็นว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลใหม่ก็ตาม ต่อจากนี้ไปควรทำให้ชาวบ้านรู้รายละเอียดในการนำนโยบายไปสนับสนุนและส่งเสริมชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะขาดในจุดนี้ ชาวบ้านจึงไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง อยู่ๆ ก็มี นโยบายลงไป โดยที่เขาไม่เข้าใจว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งตรงนี้ทำให้ที่ผ่านมาโครงการต่างๆ ของรัฐบาลมีปัญหาค่อนข้างเยอะ

          ดังนั้นรัฐบาลต้องทำนโยบายให้ชาวบ้านเข้าใจเป้าหมายที่แท้จริงของนโยบายว่าคืออะไร แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าเข้าใจตรงนี้จะช่วยลดปัญหาได้มาก

          นายประยงค์กล่าวว่า ในการพัฒนาชุมชนที่แท้จริงจะต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย เพราะชาวบ้านเองยังมีจุดอ่อน

          ในขณะที่ภาครัฐก็ไม่สามารถทำงานได้หากชาวบ้านไม่ร่วมมือ ที่ชอบพูดกันเสมอว่าอยากให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม.. .

หน้าแรก | กลุ่มเสขิยธรรม | ความเคลื่อนไหว |> ประเด็นร้อน | ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
นักบวชกับสังคมร่วมสมัย | จดหมายข่าวเสขิยธรรม | รวมเว็บน่าสนใจ | แผนผังไซต์
เสขิยธรรม skyd.org
สมุดเยี่ยม | แนะนำหน้านี้ให้เพื่อน

กลุ่มเสขิยธรรม ภายใต้มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๑๔/๖๓ หมู่บ้านสวยริมธาร ๒ ซอย ๕
ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง/เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐
โทร. ๐๒-๘๐๐-๖๕๒๖ ถึง ๘, ๐๖-๗๕๗-๕๑๕๖ โทรสาร ๐๒-๘๐๐-๖๕๔๙
... e-mail :