ปรากฏการณ์ สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติเตรียมเสนองบประมาณกว่าพันล้านบาท (๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐) ถวายเป็นนิตยภัต (เงินประจำตำแหน่ง) ให้กับพระสังฆาธิการ (เจ้าอาวาส) และผู้ช่วยเจ้าอาวาสก่อนการเลือกตั้งใหญ่ปี ๔๘ พร้อมกับการเตรียมปรับลดเงินค่าสอนธรรมศึกษาอันกระจ้อยร่อยของพระหนุ่มธรรมดา ๆ ที่เป็นครูสอนทั้งหลาย ทำให้เห็นความลักลั่นของการสร้างชนชั้นขึ้นมาในสังคมสงฆ์ตะหงิด ๆ รัฐแสดงความลำเอียงเข้าข้างพระฝ่ายปกครองที่ตนเองครอบงำอยู่ มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับพระที่ทำหน้าที่ประกาศธรรม และสั่งสอนให้ประชาชนเยาวชน ที่ค่อนข้างมีอิสระในการนำผูงชนอย่างถูกต้อง ไม่หลงหลับในพิธีกรรมจอมปลอม และสยบยอมต่อกระแสโลกที่เน้นวัตถุการเสพย์และเงินตราเป็นใหญ่ เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่แน่ใจว่ามีเรื่องการเมืองแอบแฝงอยู่หรือเปล่า แต่เท่าที่ดูแล้ว สนง.พุทธศาสนาแห่งชาติน่าจะรับนโยบายมาจากรัฐบาล เพื่อใช้เงินซื้อใจเจ้าอาวาส และคงแอบหวังอยู่ลึก ๆ ว่า พระคงจะเทศน์ยกย่องพรรคไทยรักไทย ให้คนช่วยกันเลือกอีกครั้งเหตุที่ว่าเอาใจใส่ดูแลพระมากกว่าพรรคอื่น ๆ เช่น ปรับเงินประจำตำแหน่งขึ้น เป็นต้น
แม้ว่ารัฐจะไม่ได้ส่งเสริมศาสนาเท่าที่ควรจะเป็น ทำได้แค่พยายามจะเพิ่มเงินเดือนก็ตาม ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไร เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยได้สร้างสรรค์วิธีการเผยแผ่ หรือให้การสนับสนุนการทำงานของพระสงฆ์อยู่แล้ว และอย่าหาว่าผมมีอคติกับรัฐหรือไม่เห็นด้วยกับการปกครองคณะสงฆ์เลย ผมเพียงอยากตั้งข้อสังเกตว่า ในโลกใบนี้มีอะไรบ้างที่ไม่เนื่องด้วยผลประโยชน์ ถ้าอยู่ ๆ เขามาทำดีกับเราแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทีกรณีดีงามอื่น ๆ เช่น พระสงฆ์ต่อต้านการเรื่องกองทุนหวยหายนะ รัฐก็ไม่เอาด้วย พระสงฆ์ต่อต้านเรื่องถ่วงพรบ.คณะสงฆ์ไม่ยอมประกาศใช้เสียที รัฐก็เงียบ แล้วแบบนี้จะไม่ให้ระแวงได้ยังไง
มาดูเรื่องเงินถวายพระดีกว่าครับว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง นอกจากจะดีใจกับเขาแล้ว ท่านที่เป็นพระก็ควรที่จะระวังไว้ด้วย เพราะว่าความทุกข์ทำให้คนมีสติหาวิธีการที่จะดับทุกข์นั้น ส่วนความสุขมักทำให้คนหลงใหลและประมาท แน่นอนว่ามันจะนำปัญหามาให้อีกสาระพัด เมื่อเงินพุ่งมาเหมือนกระสุนปืนอย่างนี้ ถามว่าท่านมีวิธีการตั้งรับแล้วหรือยัง อย่าลืมนะครับสมัยก่อนคนเขาไม่ถวายเงินกัน เอาแค่ปัจจัยคือ จีวร อาหาร ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค ก็เพียงพอแล้ว เมื่อคนเริ่มไม่อดทนที่จะหาและจัดเตรียมของทำบุญ จึงเอาเงินใส่บาตรถวายพระไป นัยว่าจะได้สะดวกต่อท่านในการที่ซื้อสิ่งที่จำเป็นตามแต่ละรูป
อย่างไรก็ตาม "เงิน" มักจะเป็นปฏิปักษ์ต่อ "ศีล" ที่เป็นข้อปฏิบัติหลักของพระเสมอ เพราะพระต้องรักษาศีลทั้งหมด ๒๒๗ ข้อ ตามธรรมเนียมหรือกฎกติกาที่พระต้องทำ (วินัยบัญญัติ) กฎระเบียบอื่นใดที่เนื่องด้วยสงฆ์แต่นอกเหนือจากที่ปรากฏอยู่ในศีล ๒๒๗ ข้อนั้น เรียกกันว่า "อภิสมาจาร" หมายถึงข้อปฏิบัติที่ควรทำให้สม่ำเสมอเป็นธรรมเนียม และหากเทียบกับศีลแล้ว ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพียงแต่ต้องคล้อยตาม หรือคัดค้านในบางเรื่องตามธรรมเนียมในท้องถิ่นที่พุทธศาสนาแผ่เข้าไปเท่านั้น
เรื่องเงินนี่กระทบโดยตรง แต่ข่าวที่ออกมาบ่อย ๆ คือ พระต้องอาบัติปาราชิก ๔ ข้อใดข้อหนึ่ง หากตั้งใจทำลงไป ก็ไม่สามารถเป็นพระได้อีก หมายความว่า "ตาย" เพราะได้รับโทษประหารโดยอัตโนมัตินั่นเอง ส่วนมากเน้นเรื่องของการมีสัมพันธ์ทางเพศกับสตรีหรือบุรุษเป็นหลัก เพราะถือว่าพระไม่มีครอบครัว ไม่มีคู่ครอง จึงไม่ควรอยู่ใกล้หรือเกี่ยวข้องกับผู้หญิง พอเห็นพระสมัยใหม่ร่วมงานทำกิจกรรมร่วมกับผู้หญิง จึงมักถูกสังคมมองในแง่ลบไว้ก่อน ปาราชิกข้ออื่น ๆ เช่น เรื่องพระฆ่าคน นาน ๆ ถึงจะมีสักครั้ง แต่คนก็ไม่ให้ความสนใจเท่าไหร่นัก ยิ่งเรื่องพระเกี่ยวข้องกับเงิน ๆ ทอง ๆ ทั้งที่เป็นของคณะสงฆ์ ของวัดหรือส่วนตัว คนยิ่งพากันเมินเฉยไปใหญ่ ส่วนมากมักเข้าใจว่าเงินที่เป็นของวัด เจ้าอาวาสอาจมีสิทธิ์ใช้ได้ตามความเหมาะสม แต่มักไม่รู้ว่า แท้จริงของที่ชาวบ้านถวายวัดถ้าไม่ได้กล่าวเจาะจงว่าถวายให้รูปใดแน่นอน ของนั้น ๆ ต้องถือว่าเป็นของสงฆ์ไว้ก่อน ใครจะใช้โดยพลการไม่ได้ แม้แต่เจ้าอาวาสก็ตามเถอะ ถ้าคณะสงฆ์ภายในวัดไม่ยอม แต่ยังดื้อดึงทำตามความเห็นของตน ถือว่าไม่เคารพในอำนาจของสงฆ์ตามหลักพระวินัย มีความผิด แต่เป็นที่หน้าอนาจใจว่า การกระทำดังกล่าวไม่ผิดตามพรบ.คณะสงฆ์ ที่ให้อำนาจเจ้าอาวาสเป็นใหญ่ โดยไม่เห็นอำนาจคณะสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าประทานไว้อยู่ในสายตาแม้แต่น้อย พระลูกวัดจะไปตรวจสอบก็ไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ เผลอ ๆ อาจโดนเจ้าอาวาสไล่ออกจากวัดได้ฐานขัดขวางเจ้าพนักงาน
ผู้เขียนมีความเห็นว่า ในสมัยปัจจุบัน ผู้หญิงไม่ใช่ปัญหาสำคัญที่ทำให้พระต้องสึก หรือเป็นอันตรายต่อพระที่บวชมากนักตามที่พระรุ่นเก่า ๆ มักจะระแวง หรือตามที่หนังสือต่าง ๆ แนวศาสนาที่มักจะพรรณนาความเลวและความร้ายของสตรีเอาไว้ เพราะอย่างไรผู้หญิงก็คือคน จะมาหาหรือจะไปไหนก็มองเห็นสามารถหลบหลีกได้ แต่สิ่งที่ถือว่าน่าจะเป็นอันตรายกว่า เพราะไม่ว่าจะเห็นหรือไม่เห็นก็นำอันตรายมาให้ทั้งนั้น คือ "เงิน" มันผ่านมาและผ่านไปในชีวิตประจำวันเสมอ แต่เรามักไม่ค่อยสังเกตเภทภัยของมัน
ไม่ว่าจะเป็นเงินเหรียญ ธนบัตร บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต หรือใบปวารณา สิ่งเหล่านี้นำความทุกข์และความเสื่อมมาให้โดยที่พระนั้นโดยไม่ทันรู้ตัว หรือแม้จะรู้ก็มักเข้าใจว่าตนเองควบคุมได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือ ยิ่งบวชมาแล้วพยายามหากองทุนไว้ให้ตนเอง สอนหนังสือหรือทำงานต่าง ๆ โดยเน้นถึงจำนวนรายได้เป็นประการสำคัญ ยิ่งทำให้คิดไม่ได้ว่า การบวชที่ทำกันอยู่นี้เป็นการบวชเพื่อละจริงหรือ ? เจตนาแรกเริ่มอาจคิดว่า "ละวัตถุ ถือธรรมะเป็นใหญ่" แต่พอบวชมานาน ๆ เข้า ความคิดเปลี่ยนไปอาจเพราะเหตุปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ กลับถือว่า "วัตถุเป็นใหญ่ทิ้งธรรมะเสีย" ดู ๆ แล้วคล้ายกับเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยเมื่อปฏิญานก็กล่าวซะเต็มปากเต็มคำว่าซื่อสัตย์ สุจริต ปกป้องประชาชน พอได้ทำงานจริง ๆ สถานการณ์เปลี่ยนไปสิ่งที่กล่าวไว้ลืมเสียหมด เจ้าหน้าที่ที่ไม่ดีจึงปรากฏเป็นข่าวอยู่เรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่พวกชาวพุทธ หรือที่เรียกหรู ๆ ว่า "พุทธศาสนิกชน" นั่นแหละ ในประเทศไทยนี่ก็ไม่ต่ำกว่า ๙๐ % ในทะเบียนบ้านเป็นผู้นับถือพุทธศาสนาทั้งนั้น ตอนรับศีลหรือสมาทานตนเป็นพุทธบริษัทถือเอา พระพุทธเจ้า พระธรรมและพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่งเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิตชีวิต พอออกนอกวัด ศีลก็ร่วงแผละกองพะเนินเทินทึกอยู่หน้าวัดนั่นแหละ หลังจากนั้นไปแทนที่จะจับผิดความคิดหรือการกระทำของตัวเองกลับไปจับผิดคนอื่น ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งพระภิกษุ สามเณร และแม่ชี คนที่ทำงานในหน่วยงานพุทธศาสนาเอง คนพวกนี้ไม่เคยแลดูตัวเองเลย โดยเฉพาะตอนโกง กินเหล้า หรือโกหกคนอื่นว่าเป็นยังไงบ้าง แค่ศีลห้ารักษาได้หรือเปล่าก็ไม่รู้
ความเสื่อมโทรมของชาติและชุมชนก็เกิดขึ้นเพราะเหตุนี่แหละ ถ้าชาวบ้านที่บอกว่านับถือศาสนาพุทธไม่ยอมปรับตัวปรับใจตามวิธีการเป็นชาวพุทธที่ดีได้แล้วละก็ อย่าไปเรียกร้องจากกลุ่มที่เป็นนักบวชมากนัก ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณรหรือแม่ชีก็ตาม เพราะท่านเหล่านั้นก็เป็นคนธรรมดามาบวช พยายามที่จะละชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์เช่นเดียวกับชาวพุทธกลุ่มอื่น ๆ นั่นและ อย่าตั้งความหวังไว้กับผู้อื่น ให้ดูตัวเองก่อนว่าดีมากขึ้นกว่าวันที่ผ่านมายังไงบ้าง ถ้ายังกราบไหว้ตัวเองไม่ได้ อย่าไปหาเรื่องหรือจับผิดคนอื่น เดี๋ยวพอเขาจับผิดตัวเองบ้างจะหน้าแหกเอาเปล่า ๆ ..