นักวิชาการยำใหญ่ ไอทีวี
ฉวยโอกาสปรับผังทิ้งสาระโกยเงินเข้ากระเป๋า
โดย ผู้จัดการออนไลน์
ข่าวการเมือง วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗
นักวิชาการ ยำใหญ่ ไอทีวีฉวยโอกาสปรับผังรื้อทิ้งสาระช่วงไพร์มไทม์แฉพฤติกรรม แม้ว-อาณาจักรชินคอร์ป เข้าข่าย คอรัปชั่นเชิงนโยบาย เอื้ออาทรธุรกิจครอบครัว เปิดบัญชีรายได้ชี้ชัดโตพรวดพราดไม่ขาดทุน
ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโครงการสื่อสันติภาพ ได้จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ "จากปฎิรูปสื่อถึงค่าโง่ไอทีวี" โดยดร.พิรงรอง รามสูตรณะนันท์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง "ทีวีเสรี สู่ทีวีคนรุ่นใหม่(ที่ไม่รู้เท่าทัน)" โดยมีเนื้อหาว่าภาคแรกของไอทีวีจะเน้นการปฏิรูปด้านเนื้อหาอย่างที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน เช่นการเสริมสร้างแนวความคิดประชาธิปไตย หรือเน้นการเสนอข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ซึ่งถือว่าเป็นการ ปฏิรูปเชิงสาระแต่ยังไม่ใช่การปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง แต่เมื่อกลุ่มบริษัท ชินคอร์เปอร์เรชั่น จำกัด เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในไอทีวีจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง จากการเป็นสถานีข่าวสารที่เคยเน้นคุณภาพของรายการเป็นหลัก และเคยมองผู้บริโภคเป็นพลเมือง กลายมาเป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อหวังผลกำไรทางธุรกิจและมองประชาชนผู้บริโภคเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด และจากการพยายามปรับผังรายการใหม่ที่มีการประกาศนั้น เป็นการทำให้สื่อมีความร่ำรวย ประการแรกคือได้ประหยัดค่าสัมปทานเกือบ ๒ หมื่นล้าน และยังมีรายได้จากการโฆษณาเพิ่มมากขึ้น แต่จะทำให้ประชาธิปไตยจนลง
อัดทิ้งสาระเน้นโฆษณา-บันเทิงโกยเงิน
"ต่อไปไอทีวีจะไม่มีความหลากหลายของรายการแต่จะเน้นในเรื่องความบันเทิงในรูปแบบเดียว เกิดอาการร้อยช่องแต่ genre เดียว หมายถึงมีรูปแบบเดียว แต่มิติที่จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจะหดหายไป สิ่งที่สำคัญในสังคมประชาธิปไตยคือ ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลได้เท่าทันกับสื่อ แต่ถ้าไอทีวียังเน้นในรูปแบบนี้ผู้ชมก็จะไม่สามารถได้รับรู้ข่าวสารปัญหาของบ้านเมืองได้ ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งหากต่อไปประชาชนขาดการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร และเพิกเฉยต่อการมีส่วนร่วมทางสังคม ถือว่าเป็นเรื่องอันตรายมากในระยะยาว ทำไมเราต้องจ่ายเงินเกือบ ๒ หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นภาษีของประชาชนมาให้กับไอทีวีจึงเห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม คิดว่ารัฐบาลไม่ควรมาอุ้มหรือเอื้ออาทรสถานีนี้อีกต่อไป" ดร.พิรงรอง กล่าว
อาจารย์นิเทศศาสตร์ จุฬา กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอแนะในขณะนี้คือ อยากให้นายกรัฐมนตรีสนับสนุนในกรณีที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) ฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีไม่ทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการสะท้อนความอัปยศและถือว่านายกรัฐมนตรีหมดศักดิ์ศรี และอยากขอให้ประชาชนรวมทั้งสื่อมวลชนจับตาความเคลื่อนไหวของกรณีนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิในการรับรู้ของประชาชน
ดร.พิรงรอง กล่าวว่า ส่วนที่นายบุญคลี ปลั่งศิริ ผู้บริหารเครือชินคอร์ปอ้างว่า การบริหารสถานีโทรทัศน์ไอทีวีนั้นไม่แตกต่างกับการบริหารธุรกิจโทรศัพท์มือถือหรือดาวเทียมนั้น ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะว่า สัมปทานไอทีวีไม่เหมือนกับสัมปทานมือถือหรือดาวเทียม เพราะว่าไอทีวีนำเสนอในเรื่องเนื้อหาไม่ใช่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ ซึ่งเนื้อหาจากสื่อมวลชนมีผลต่อการรับรู้แลเะพฤติกรรมของประชาชน และยังมีส่วนในการสร้างเวทีทางวัฒนธรรมให้กับสังคมด้วย
จวกซ้ำเป็นการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย
"จากกรณีนี้เห็นว่าเป็นการคอร์รัปชั่นทางนโยบายของรัฐบาล ที่รัฐบาลพยายามจะเข้าควบคุมในเรื่องเนื้อหาของสื่อ หลังจากที่อาณาจักรชินฯ ได้เข้าครอบครองธุรกิจประเภทฟิกซ์ไลน์และได้ ขยายมาเป็นเจ้าของตลาดธุรกิจมือถือ ซึ่งเท่ากับชินฯสามารถยึดกุมเทคโนโลยีทางการสื่อสารไว้เรียบร้อยแล้ว และต่อไปกำลังเริ่มควบคุมเนื้อหาในการสื่อสารนั่นคือการปรับผังรายการของไอทีวี ซึ่งถือเป็นการครอบครองการสื่อสารอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร"อาจารย์นิเทศ จุฬาฯ กล่าว
ด้านนายพิทยา ว่องกุล รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) กล่าวว่า การเสียค่าโง่ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแต่รัฐบาลเท่านั้นที่ต้องเสียค่าโง่แต่ตนเห็นว่าเป็นการทำให้คนไทยโง่ทั้งประเทศ เพราะให้ข้อมูลกับประชาชนเพียงด้านเดียว ซึ่งไอทีวีขณะนี้ไม่ได้เป็นทีวีพันธุ์ใหม่ตามสโลแกน แต่กลับกำลังก้าวไปสู่ยุคเก่าที่เน้นนำเสนอเรื่องเกมโชว์ ตลก ละครน้ำเน่า ซึ่งแนวคิดในการนำเสนอรูปแบบรายการแบบนี้เรียกว่า media monopoly หรือการสื่อสารแบบผูกขาดไม่ปล่อยให้ประชาชนมีทางเลือกซึ่งรูปแบบของรายการเช่นนี้ อยู่ภายใต้เงื่อนไขของกลุ่มทุนใหญ่เหมือนที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการใช้สื่อครอบงำความคิดของประชาชน ให้หลงใหลในการบริโภคและค่านิยมตะวันตก สิ่งที่โทรทัศน์ใช้ในการนำเสนอ คือคำพูดที่เน้นวาทกรรมสวยหรูสร้างจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ ให้เป็นไปตามความต้องการของกล่มทุนเจ้าของสื่อ และรูปภาพก็จะนำเสนอแต่เรื่องไร้สาระหรือเรื่องเพศทำให้คนหมกมุ่น และหากไอทีวีเป็นเช่นนี้ทิศทางของการปฏิรูปสื่อในอนาคตตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของสื่อ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ก็จะทำไม่ได้ เพราะจะเกิดกระบวนการแย่งยึดสื่อซึ่งกลุ่มทุนจะยอมไม่ได้เด็ดขาด ความหวังของประชาชนจึงอยู่ที่ กสช.กับกทช.ดังนั้นกลุ่มทุนใหญ่จึงส่งคนเข้ามาเป็นตัวแทนใน ๒ กลุ่มดังกล่าว
ชี้ฝ่ายการเมืองพยายามครอบคลุมสื่อเป็นเครื่องมือ
"สิ่งที่ต้องพิจาณาในขณะนี้คือการที่ฝ่ายการเมืองมีความต้องการมีอิทธิพลครอบงำสื่อ เพราะต้องใช้เป็นเครื่องมือเพื่อโอบอุ้มรัฐบาลให้อยู่ได้หลายสมัย และใช้เป็นช่องทางในการถ่ายทอดข้อมูล และโฆษณานโยบายของรัฐบาลและพรรคการเมืองซ้ำๆ ทำให้ประชาชนที่รู้ไม่เท่าทันรัฐบาลอย่างคนในชนบทถูกหล่อหลอมแนวคิดไปตามที่รัฐบาลต้องการ ไอทีวีสะท้อนถึงความพยายามครั้งใหญ่ของพวกทุนนิยมที่ต้องการรักษาตัวรอดท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน ให้ได้นานที่สุด ดังนั้น วิธีการที่จะรักษาอำนาจนี้คือ การครอบงำความคิดของคนทั้งโลกให้มีแนวคิดแบบเดียวกัน" นายพิทยา กล่าว
นายพิทยา กล่าวว่า การปรับผังรายการของไอทีวี ที่สะท้อนสิ่งที่ไม่มีสาระ ไม่มีความคิดใหม่ๆ เป้นความคิดเดิมๆ ที่ไม่เสริมสร้างสติปัญญาให้คนไทยแต่จะทำให้ไอทีวีกลายเป็นคาสิโนทีวี คือมีแต่เกมโชว์นั้น เป็นการกระตุ้นให้คนแย่งชิงเงินรางวัลกัน แม้แต่เกมเศรษฐีของนายไตรภพ ลิมปพัทน์ นั้นแท้ที่จริงแล้วก็ถือว่าเป็นการพนันในรูปแบบหนึ่ง ภายหลังจากการที่รัฐบาลนำหวยใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดิน ต่อไปสภาพสังคมก็จะเป็นสังคมแห่งการพนัน การเสี่ยงโชค แล้วอนาคตของคนไทยจะอยู่ที่ไหน
"อยากถามว่าไอทีวีมีอำนาจอะไรในการเสนอผังรายการใหม่โดยไม่แคร์กับ สปน.และเป็นคำถามที่นายกรัฐมนตรีต้องตอบว่าจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร หากนายกฯไม่จัดการอะไรก็เท่ากับว่าอำนาจรัฐกับบริษัทไอทีวีเป็นอำหนึ่งอันเดียวกัน ทางออกของเรื่องนี้หากรัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหาก็สามารถฟ้องไอทีวีในทางแพ่งฐานผิดสัญญาได้ นายกฯจะได้ไม่ต้องพะว้าพะวังเพราะเรื่องนี้ถือเป็นความขัดแย้งที่ทับซ้อนกันอยู่ หากนายกฯหาทางออกผิดพลาดทุกอย่างก็จบทันทีภาพพจน์ของนายกฯก็เสียหาย ทางที่ดีที่สุดคือคืนไอทีวีให้กับประชาชน"
บก.เนชั่นอัดยับฉลาดมากฉกเงิน ๒ หมื่นล.
ขณะที่นายเทพชัย หย่อง บรรณาธิการเครือเนชั่น กล่าวว่า กรณีนี้ขอเรียกว่าเป็นค่าฉลาดมากกว่าค่าโง่ เพราะคนที่เอาเงินเกือบ ๒ หมื่นล้านบาทเข้ากระเป๋าตัวเองแทนที่จะเป็นของรัฐต้องนับว่าฉลาดและหน้าด้านมากทีเดียว
"เป็นเรื่องตลกที่สุดที่อยู่ดีๆประชาชนคนไทยจะต้องถูกบังคับให้สูญเสียเงินเกือบ ๒ หมื่นล้านบาทเพื่อให้ไอทีวีซึ่งเป็นบริษัทในครอบครัวของนักการเมืองใหญ่อยู่ได้ ให้คนที่เข้ามาทำลายจิตวิญญาณไอทีวีที่เป็นสถานีเสรีเป็นมรดกโดยตรงของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำลายตรงนี้ไปแล้วยังมาบอกประชาชนให้ต้องเสียเงินเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ และมาเป็นปากเสียงของรัฐบาลต่อไป" บรรณาธิการเครือเนชั่น กล่าว
อัดต่อนายกฯกลัวสื่อจึงปิดปาก
นายเทพชัย กล่าวว่า เดาได้เลยตั้งแต่วันแรกที่ชินคอร์ปตัดสินใจซื้อหุ้นไอทีวีว่าอนาคตไอทีวีคจะเป็นอย่างไร เพราะนายกฯได้ตัดสินใจแล้วว่าจะมาเล่นการเมืองและเป็นที่รู้กันว่า สิ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณ กลัวที่สุดในขณะนั้นคือสื่อ เนื่องจากทำให้ ๓ รัฐบาลก่อนหน้านั้นล้มไป ซึ่งหากสามารถคุมสื่อได้ก็เท่ากับคุมควบคิดของประชาชนได้ และไอทีวีก็เป็นสถานีเดียวที่มีอิสรภาพ มีความเป็นกลางนักการเมืองเข้าไปสั่งไม่ได้ซึ่งถือเป็นทางเดียวที่ง่าย และดูดีที่สุดของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะปิดปากสื่อนี้ได้คือการเข้าไปซื้อ
"นายบุญคลีเคยพูดถึงเหตุผลในการเข้ามาซื้อไอทีวีว่า ไม่อยากให้ธุรกิจนี้ตกอยู่ในมือต่างชาติและยังยืนยันว่าที่ผ่านมากลุ่มชินฯ ไม่เคยผิดสัญญากับภาครัฐแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนทางด้านเนื้อหาข่าวนั้นชินฯ และพ.ต.ท.ทักษิณจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยจะให้มืออาชีพเข้ามาบริหารแต่ ๓ ปีที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วทั้งเรื่องกบฏไอทีวี การขอแก้สัญญาสัมปทานและการปรับผังรายการซึ่งต้องถือเป็นเหตุผลทางประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ ถือว่าผิดสัญญาหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าเป็นการวางแผนที่แยบยลและชาญฉลาดมาก ที่เข้าซื้อไอทีวียิ่งหากมาดูผังรายการใหม่ยิ่งชัดเจนเข้าไปใหญ่" นายเทพชัย กล่าว
และว่า ส่วนเรื่องการปรับผังรายการโดยการเปลี่ยนแปลงรายการในช่วงไพร์มไทม์ ให้เป็นรายการบันเทิง แทนที่จะเป็นรายการข่าวนั้น แสดงว่าไม่เห็นความสำคัญของข่าวอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้ผู้ชมมีทักษะในการเรียนรู้น้อยลง และต่อไปประชาชนจะไม่มีทางเลือกอีกต่อไป ที่นายไตรภพประกาศว่าจะทำให้ไอทีวีเป็นอันดับหนึ่งในห้าปีนั้น ก็สามารถทำได้ถ้าดูในแง่ของโฆษณา ในแง่ของรายได้ แต่ไม่เน้นเนื้อหาสาระ แต่ห่วงว่าสถานีที่มีคนดูมากๆจะไม่คำนึงถึงสาระจะมีอิทธิพลสูงในการบิดเบือน ป้ายสี โน้มน้าวให้คนดูส่วนใหญ่เชื่อและนี่เป็นสาเหตุทำให้นักการเมืองหันไปครอบงำสื่อทุกประเภทเท่าที่จะทำได้ ก็เพื่อต้องการควบคุมความรู้สึกนึกคิดของประชาชน
"ความเชื่อของคนทำสื่อที่ผ่านมามักเชื่อว่าคนไทยไม่ชอบรายการสาระแต่ชอบดูละครน้ำเน่า ประชาชนถูกบังคับให้ได้รับสื่อเหล่านี้มาตลอด ไม่มีทางเลือกอื่น แต่ข่าวในสไตล์ที่ไอทีวีทำที่ผ่านมานั้นมีความหมายมีรูปแบบการนำเสนอที่ดี ถ้าหากว่าไอทีวีทำตามผังใหม่จริง ข่าวมาออกตอน ๖ โมงเย็นนั้นความหมายคืออะไร ถามว่าจะมีสักกี่คนที่จะกลับบ้านดูข่าวทัน แสดงว่าความหมายของไอทีวีขณะนี้คือว่ารายการข่าวคนไม่ต้องดูก็ได้ เพราะความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ข่าวอีกต่อไปแล้วและวินาทีแรกที่เริ่มไพร์มไทม์ก็จะเป็นรายการบันเทิง" บรรณาธิการเครือเนชั่น กล่าว
เรียกร้องให้มีการประมูลใหม่
อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะผู้ที่เข้าร่วมประมูลจะติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด และหากผลของศาลปกครองวินิจฉัยเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ จะต้องมีการหารือกันระหว่างกลุ่มผ้บริหารเครือเนชั่น ซึ่งอาจมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายโดยเฉพาะ เนื่องจากเห็นว่าขั้นตอนการประมูลที่เสนอเงินไว้สูงเพื่อขอต่อรองแล้วลดลงมาทีหลัง เป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ต้องถามว่าความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน ทางออกที่ดีคือ ล้มเลิกสัญญาสัมปทานไอทีวีเพื่อเปิดโอกาสให้มีการประมูลครั้งใหม่
ส่วนดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าจากข้อมูลของเอซี นีลสัน ระบุว่า ค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาที่ผ่านมาของไอทีวีมีการเติบโตในช่วงปี ๔๑-๔๕ เฉลี่ยร้อยละ ๔๐.๓ ต่อปี ในขณะที่อัตราการเติบโตของการโฆษณาโดยเฉลี่ยของทุกสถานีมีเพียงร้อยละ ๘.๙ ต่อปีรวมทั้งข้อมูลของไอทีวีในตลาดหลักทรัพย์ก็พบว่ารายได้หลักมาจากการโฆษณามีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ ๒๕.๔ ต่อปี ชี้ให้เห็นว่าไอทีวีมีความเติบโตทางด้านรายได้ สูงกว่าการขยายตัวของอัตรารายได้จากการโฆษณาของตลาดทั้งหมด
"สปน.ต้องพยายามฟ้องร้องเพื่อยกเลิกคำตัดสิน และไม่จำเป็นที่เอกชนที่เข้ามาร่วมสัมปทานกับรัฐจะต้องได้รับหลักประกันว่าจะไม่มีความเสี่ยง ซึ่งหากอ้างว่าขาดทุนก็ให้เลิกสัญญาสัมปทานออกไป" ดร.นวลน้อยกล่าว
เรียกร้องเปิดเผยคำวินิจฉัย
ด้านดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการนั้น ไม่อาจจะเป็นข้ออ้างในการแก้สัญญาของไอทีวีีได้ เนื่องจากกฎหมายยังเปิดช่องให้คู่กรณีฟ้องร้องเพิกถอนคำวินิจฉัยได้ สำหรับกระบวนการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ในกรณีที่เป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องผลประโยชน์ของสาธารณะนั้น ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้รายละเอียดของคำตัดสินและต้องเปิดให้ประชาชน สื่อมวลชนเข้าไปร่วมรับฟังการพิจารณาได้
"ในเรื่องของอนุญาโตตุลาการนั้น ไม่เห็นด้วยที่จะให้มาตัดสินในกรณีพิพาทในสัญญาทางปกครองระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งควรจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลปกครองมากกว่า และในอนาคตจำเป็นต้องมีการวางกรอบ กฎเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าอนุญาโตตุลาการจะมีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องใดบ้าง และมีขั้นตอนรวมทั้งการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นอนุญาโตตุลาการอย่างละเอียด รวมถึงความรับผิดของอนุญาโตตุลการได้"ดร.นันทวัฒน์ กล่าว
และว่า ส่วนกรณีที่หากไอทีวีดำเนินการปรับผังรายการโดยไม่รอผลชี้ขาดของศาลปกครองนั้น และสปน.ดำเนินการล่าช้านั้น หากดูในกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองก็สามารถฟ้องร้องได้ แต่ทั้งนี้ต้องให้พ้น ๙๐ วันหลังจากศาลปกครองมีคำตัดสินชี้ขาดออกมา และประชาชนจะสามารถฟ้องร้องสปน. ในฐานะที่ปล่อยให้ไอทีวีทำผิดสัญญานั้น ต้องดูในรายละเอียดว่าในกรณีนี้ใครเป็นผู้เสียหาย..
|