"ดี" ได้..ไม่ต้อง "เดี๋ยว" จริงหรือ ?
พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
กลุ่มเสขิยธรรม skyd.org
๑
ระยะนี้คงไม่มีอะไรจากภาครัฐที่กระตุกหรือกระตุ้น "ต่อมสนใจ" ของลูกเด็กเล็กแดง มากไปกว่าการ์ตูนสัญลักษณ์ หรือ Mascot ขาวกับดำ ๒ ตัว ที่ชื่อ "ดี" และ "เดี๋ยว" ซึ่งปรากฏอยู่ในสื่อชนิดต่าง ๆ อย่างหนาหูหนาตา
ก็ไม่แน่นักว่าเป็นเพราะการ "ทำซ้ำ" และ "ทำให้ง่าย" ตลอดจน "ทำให้ชัด" อย่างเป็น "รูปธรรม" ซึ่งเป็นเสมือนกฎพื้นฐานทางการ โฆษณา-ประชาสัมพันธ์ หรือว่าเป็นเพราะ "ท่านนายกฯ" ออกมาเล่นบท "ผู้นำเสนอ" หรือ "พระเอกโฆษณา" เสียเองกันแน่ ที่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็น talk of the town แล้วค่อย ๆ แปรไปสู่ "วาระที่คนในกระแสทุกคนเห็นพ้องกันโดมิได้นัดหมายว่า
ต้องปฏิบัติ" ไปได้ในที่สุด
ทั้งที่ศูนย์คุณธรรมฯ และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง "แม่งานตัวจริงเสียงจริง" เพิ่งถอยร่นไม่เป็นกระบวนออกมาจากการเตรียมงาน "วิสาขบูชาแห่งโลก" เมื่อหยก ๆ นี้เอง
เรียกได้ว่า "มารดำ-มารขาว" หรือ เจ้า "ดี" เจ้า "เดี๋ยว" แท้ ๆ ที่เข้ามาช่วยไว้ได้ในนาทีท้ายสุด
จะอย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ สังคมเล็ก ๆ แคบ ๆ ทางวัฒนธรรมของเราก็มี "ของเล่นใหม่" ขึ้นมาอีก ๑ หรือ ๒ ตัวแล้ว
และกระแสแห่งความแปลกใหม่ตลอดจนภาวะที่ความสนใจถูกกระตุ้นเร้าขึ้นมานี้เอง ที่ด้านหนึ่งทำให้เกิดภาพหลอน หรืออุปทานหมู่ ชนิดรู้สึกว่าตนเอง "ไม่ร่วมไม่ได้แล้ว.."
โดยที่อีกด้านหนึ่ง ความฮือฮา หรือความอึกทึกที่ปรากฏ ทำให้เกิดปฏิกิริยาอะไรต่อมิอะไรชนิดที่ "มากมาย" และ "รวดเร็ว" จนเกินกว่า "คนทั่วไป" หรือ "เด็กและเยาวชน" จะใช้สติประกอบปัญญา "ยับยั้งชั่งใจ" หรือแม้แต่จะ "ชะลอไว้ศึกษาและเรียนรู้" เพื่อเพิ่มพูน "วิชชา" ให้กับตนเอง อย่างเพียงพอต่อการ "วางท่าทีที่เหมาะสม" บนพื้นฐานของความเป็น "พุทธศาสนิกชน"
ในทางปฏิบัติ เป็นที่ทราบกันดี ว่าเจ้าตัว Mascot "ขาว-ดำ" ที่ว่ามาข้างต้นนั้น ถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของกิจกรรม "๑ คน ๑ สัจจะ"
ซึ่งว่ากันว่าไอเดียเบื้องต้น มาจากท่านนายกรัฐมนตรีเองโดยตรงเลยทีเดียว
กล่าวคือ ภายใต้ความคิดรวบยอดว่า "๑ คน ๑ สัจจะ" และ "ทำดีได้ไม่ต้องเดี๋ยว" ตลอดจน "สัจจะอธิษฐาน" ซึ่งขยายความไว้ว่า "อธิษฐานไม่ใช่อ้อนวอนขอ แต่คือการตั้งใจมั่นที่จะทำให้สำเร็จ" รัฐบาล ภายใต้การนำของฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ภายใต้การนำของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้นำเสนอแนวคิดที่ว่ามาแล้วข้างต้นผ่าน Mascot "ดี" และ "เดี๋ยว" ร่วมกับการ "ส่งการ์ดสัจจะอธิษฐาน" ๙ แบบ (ซึ่งทุกแบบสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน เพื่อแยกส่งถึงคนที่ตนรัก แบ่งส่วนหนึ่งเก็บไว้กับตัว แล้วส่งส่วนที่เหลือถึงนายกรัฐมนตรี) โดยมีกรอบของเวลากำหนดไว้ว่า จะเชิญชวนให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ได้ร่วมกัน "ตั้งสัจจะอธิษฐาน" และ "ส่งการ์ดสัจจะอธิษฐาน" เป็นการปฏิบัติบูชา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา และจัดเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวโรกาสมหามงคลที่จะทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ในปี ๒๕๕๐ ที่กำลังจะมาถึง
ในที่นี้คงไม่ต้องกล่าวซ้ำ ว่าการกระทำที่คิดและทำกันข้างต้น เป็นการปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า หรือเป็นการ "ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" ในวโรกาสอันสำคัญยิ่งทั้ง ๒ กรณีได้อย่างไร เพราะเคยกล่าวถึงในโอกาสอื่น หรือมีท่านอื่น ๆ กล่าวถึงไปบ้างแล้ว
แต่อยากจะตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เจ้าการ์ตูน "ดี" และ "เดี๋ยว" เอาไว้พอเป็นสังเขป เผื่อผู้รู้และผู้ชำนาญการจะไปคิดต่อ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการเริ่ม "ธรรมสากัจฉา" หรือ "ธรรมวิจัย" ก่อนจะกระจายผลการแลกเปลี่ยนออกไปสู่วงกว้าง เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นลำดับต่อไป
๒
ก่อนอื่น ในฐานะชาวพุทธ หลาย ๆ คนคงพอจะทราบว่า "หัวใจพระพุทธศาสนา" ที่สำคัญประการหนึ่ง ก็คือ "โอวาทปฏิโมกข์" [โอ-วา-ทะ-ปา-ติ-โมก] ซึ่งได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่า วันมาฆบูชา (อรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนในเวลาต่อมา), คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน) นั้น มีรายละเอียด ดังนี้
สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
ซึ่งโดยอรรถะและพยัญชนะแล้ว หมายถึง การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตต์ของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต, ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิตต์ ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
อย่างไรก็ตาม ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส หรือที่บางท่านแปลว่า "ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องแผ้ว" นั่นเอง
๓
ดูเหมือนว่า ศูนย์คุณธรรมฯ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับแคมเปญนี้ จะพยายามทำให้ "คนทั่วไป" เข้าใจเอาง่าย ๆ ว่า "ความชั่ว" หรือ "เจ้ามารดำ" ที่ตั้งชื่อให้ว่า "เดี๋ยว" จะเป็นสาเหตุใหญ่ ให้ผู้คน "ไม่ยอมทำดี" หรือไม่ยอมให้ mascot สีขาว ชื่อเจ้า "ดี" ได้แสดงบทบาท การรณรงค์จึงเชิญชวนให้ทุกคนปฏิเสธ ไม่ต้องฟังเสียงทัก ชักชวน หรือห้ามปราม ของเจ้า "มารดำ" ชื่อ "เดี๋ยว" อย่างเด็ดขาด ด้วยการหันมาตั้งสัจจะและอธิษฐานให้เป็นรูปธรรม หาไม่แล้ว "เจ้าดี" จะไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้
นี่ออกจะเป็นการ "ลดทอน" หรือ "สรุปความ" อย่าง "แยกส่วนแบ่งซอย" ที่อันตรายต่อการรับรู้ หรือสร้างความสับสนต่อกระบวนการเรียนรู้ในทางพุทธศาสนาอยู่มิใช่น้อย
ประการแรก ที่ต้องกล่าวถึงก็คือ ใช่หรือไม่ว่า นี่เป็นการชี้ช่องให้เกิดความเข้าใจไปในทางที่ง่ายต่อการสรุปความแบบ "เป็นตัวเป็นตน" หรือเสมือนว่า "มีอะไรบางอย่างที่เป็น ตัว ๆ คอยบงการให้คนทำชั่ว-ทำดี" โดยปฏิเสธ หรือมิได้ไยดีต่อกฏอิทัปปัจจยตา-ปฏิจจสมุปบาท ที่ว่าทั้งเหตุและปัจจัยล้วนมีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน ทั้งฝ่ายเหตุ และฝ่ายผล ตลอดจนที่เนื่องกันทั้งสองฝ่าย อย่างเป็นกระบวนการ
ประการสอง ในทางพระพุทธศาสนานั้น ไม่ได้มุ่งเน้นไปในลักษณะเทวนิยม ว่ามี "พระเจ้า" อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ "มาร" หรือยอมรับว่ามี "เทวดาฝ่ายดี" และ "ซาตานฝ่ายชั่ว" คอยกำกับความเป็นไปของมนุษย์ หากชาวพุทธถือหลัก "กรรม" และ "กฏแห่งกรรม" เป็นที่ตั้ง ดังที่ว่า..ทำดีย่อมดี และทำชั่วก็ย่อมชั่ว ถ้าประสงค์จะได้รับผลกรรมที่เป็นกุศล ก็จำเป็นต้องสร้างกุศลกรรมให้เป็นเหตุ เช่นนี้เป็นต้น
ประการต่อมา โดยหลักพุทธธรรม การเกิด "สติ" "อนุสติ" หรือความระลึกได้ ความไม่เผลอ ว่าตนกำลังจะกระทำ หรือไม่กระทำสิ่งใด ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งนั้น หาใช่เป็นการชี้แนะของเจ้า "เดี๋ยว" หรือ "มารดำ" เพียงประการเดียวไม่ หากอาจหมายถึง "ความยับยั้งชั่งใจ" มิให้ "หลงดี" หรือ "ติดดี" ที่คอยเตือนให้ "รู้จักประมาณ" แม้ในการ "ทำดี" ให้ทำตามความเหมาะควร มิใช่มุ่งทำดีจนเกินกำลัง หรือ "หลงดี" จนละเลยข้อธรรมอื่น ๆ หรือ "ติดดี" จนเป็นเหตุให้ประมาทซึ่งเป็นเบื้องต้นแห่งทุกข์ในเบื้องหน้า และสามารก่อความเดือดร้อนขึ้นได้ในภายหลัง
กล่าวโดยสรุปก็คือ "เสียงแห่งธรรม" หรือ แม้แต่ "อุปสมานุสติ" ที่ชักชวนให้ระลึกถึงธรรมอันเป็นที่สงบระงับกิเลสและความทุกข์ (คือ นิพพาน) ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นแล้ว กรณีการส่งเสริมให้ทำบุญ (ชนิดหวังผล) โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการถวายทาน จนทำให้ผู้หลงผิดถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว ดังที่เคยเป็นข่าวอื้อฉาวของบางสำนัก หรือบางสายปฏิบัติ ก็จะหวนกลับมาเกิดขึ้นอีก เพียงเพราะรัฐหรือองค์กรของรัฐเพิ่มเชื้อไฟ หันไปชักชวนให้สังคมละทิ้งสติสัมปชัญญะ เพียงเพราะคิดกันง่าย ๆ ว่านั่นเป็นเสียงยับยั้ง หรือเสียงขัดขวางจากมารดำชื่อ "เดี๋ยว" ไปเสียหมด
นี่เป็นเพียงข้อสังเกตบางประการเท่านั้น ยังมิได้ขยายความให้เห็นถึงข้อบกพร่องของการหยิบฉวยข้อธรรมอันละเอียดประณีต มา "ทำให้" คนทั่วไปมองเห็น หรือรู้สึก ตลอดจนเข้าใจเอาว่า ธรรมะเป็นสิ่งตื้นเขิน หรือเป็นอะไรที่ใครจะทำ หรือจะปฏิบัติอย่างไร ก็สามารถทำได้ "ตามอำเภอใจ" โดยไม่จำเป็นต้องหาข้อยุติที่เหมาะควร กระทั่งดูเหมือนว่า "ธรรมวินัย" ของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเรื่องสามัญหรือสามานย์ ไปในที่สุด
๔
สิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คน" หรือ "องค์กรของรัฐ" ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านพระพุทธศาสนาจะต้องสำเหนียก หรือตระหนักให้มากไว้ ก็คือวิถีแห่งการศึกษาและปฏิบัติธรรม หรือไตรสิกขา ที่ประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา นั้นด้านหนึ่งก็เป็นไวพจน์กับ มรรค ซึ่งว่าโดยองค์ประกอบแล้ว ก็คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งเรียกเต็ม ๆ ว่า "อริยอัฏฐังคิกมรรค" ที่แปลว่า "ทางมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ" หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมีความละเอียดอ่อน และความเป็นองค์รวมควบคู่กันไป จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีและต้องใช้โยนิโสมนสิการเป็นบาทฐานในการเกี่ยวข้อง หรือในการที่จะหยิบฉวยมา "กล่าวถึง" และ "ใช้งาน" ให้มากเข้าไว้ หาไม่แล้ว นอกจากจะมิได้ส่งเสริม หรือทำนุบำรุง ตลอดจนอุปถัมภ์ค้ำจุนอย่างที่น่าจะพึงมี ก็กลับจะเป็นการทำลายไปเสียด้วยความมักง่าย หรือการใช้สติปัญญาไม่เพียงพอ ทั้งต่อคุณค่า และความดีงาม ที่พระบรมศาสดาประทานไว้ให้
หากจะถือว่ากรณี "๑ คน ๑ สัจจะ" หรือ กิจกรรม "สัจจะอธิษฐาน" เป็นงานเริ่มต้น ของการ "เสนอตัว" ในภาพกว้างของ "ศูนย์คุณธรรม" โดยมี "ดี" และ "เดี๋ยว" เป็นสัญลักษณ์ รัฐบาลโดยฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็คงต้องตั้งอกตั้งใจ "ทำการบ้าน" ให้มาก และให้หนักยิ่งขึ้น เพราะพระพุทธศาสนานั้นเป็น "ของสูง" และ "ของสำคัญ" โดยเนื้อหาและสาระ อีกทั้งยังเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับหลายฝ่าย มิใช่ "ของเล่น" ที่ใครจะหยิบฉวยมา "โฆษณาชวนเชื่อ" หรือ "หาเสียง" กันโดยง่าย ด้วยความใจเร็ว หรือด่วนได้ เช่นที่เคยกระทำกับสิ่งอื่น อันถือเป็นทักษะ ความถนัด หรือวิสัยคุ้นชินของ "นักการตลาด" หรือ "พ่อค้าคนกลาง-นักโฆษณาชวนเชื่อ" จะเคยมีหรือเคยกระทำมา
และจะว่าไปแล้ว หากกรอบคิด ยุทธศาสตร์ หรือโครงสร้างทางสังคม ทั้งของภาครัฐและฝ่ายทุน (ซึ่งดูเหมือนจะรวมตัวกันเป็น "รัฐบาล" ไปแล้วอย่างพร้อมสรรพ) ยังประกอบไปด้วยความโลภ โกรธ และหลง ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้คนมัวเมาในเงินทอง และผลประโยชน์ในรูปของอามิสสินจ้าง หรือรางวัล มากกว่าแนวทางที่กล่าวไว้ในข้อธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็ป่วยการที่จะแสวงหาแนวคิด "คล้ายธรรมะ" ชนิดง่าย ๆ พื้น ๆ ขึ้นมาเป็นน้ำตาล "ฉาบทา" ยาพิษที่ตนเองถ่ายทิ้ง หรือหว่านโปรยเอาไว้ในสังคม
จริงอยู่ ว่าการ "ทำดี" นั้น หาก "ดีจริง" และประกอบไปด้วย "สัมมาทิฏฐิ" ก็มิใช่เรื่องที่จะต้องมา "รอ" หรือมา "เดี๋ยว" กันให้เสียเวลา
ปัญหาคงอยู่ที่ว่า หาก "นายกรัฐมนตรีและคณะ" ไม่สามารถเพิ่มพูน "สติ ปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ" ให้บริบูรณ์ กระทั่งก้าวพ้น "บ่วง" หรือ "กับดัก" แห่ง โลภ โกรธ หลง ของความเป็น "นายทุน" หรือ "ฝ่ายทุน" ผู้มี "อำนาจรัฐ" ไปได้แล้ว การรอสักประเดี๋ยว หรือการรอสักครู่ ก็อาจมีคุณูปการแก่ผู้คนเป็นอันมาก
กล่าวคือ จะเป็นการ "ชะลอ" ความตกทุกข์ได้ยากในบั้นปลายของพวกเขา (และเธอ) ทั้งหลายไว้ได้สักนิดก็ยังดี
ไหน ๆ ประชาชีก็จะสิ้นเนื้อประดาตัวกันในที่สุดอยู่แล้วฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จะกรุณาลดหย่อนการเร่งรัด หรือสลัดการผลักไสไล่ส่ง ให้การตกลงไปสู่ห้วงเหวแห่ง "มิจฉาทิฏฐิ" ชะลอตัวลงเสียสักพัก หรือช้าลงสักครู่
ก็จะเป็นไรไป
|